วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

สหภาพยุโรป ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี แถลงข่าวเปิดตัวโครงการเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์

เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อยจังหวัดอุบลราชธานี ที่ห้องประชุมพิบูลมังสาหาร อาคารวิจัยเครือข่ายและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางอรุณศิริ โพธิ์ทอง ผู้ประสานงานโครงการสหภาพยุโรป นายแพทย์สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และ ดอกเตอร์อินทิรา ซาฮีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกันแถลงข่าว "การเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบัน เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของเกษตรกร จากสภาพปัญหาดังกล่าว โครงการดังกล่าวได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลดีของการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับบุคคล องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุน จากสหภาพยุโรปเป็นระยะเวลา 48 เดือน โดยเริ่มดำเนินโครงการแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2556 ในเขตพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย 11 ตำบล 11 อำเภอ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม ตำบล โนนกลาง อำเภอสำโรง ตำบลอ่างศิลา อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอสว่างวีระวงศ์ ตำบลม่วงใหญ่ อำเภอโพธิ์ไทร ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง และกลุ่มเกษตรกรบ้านคูเมือง ตำบล คูเมือง อำเภอวารินชำราบ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรจากสารเคมีเป็นอินทรีย์ จำนวน 200 ครัวเรือน ให้ได้ภายในปี 2560 เนื่องจากปัจจุบัน เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 

จังหวัดนครราชสีมา ประชุมรับมือ ม็อบสวนยางที่จะชุมชมใหญ่วันที่ 3 กย 56 นี้

วันนี้ (1 ก.ย. 56) เวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายอุกริช พึ่งโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 20 คน อาทิ ตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา, ตำรวจสันติบาลจังหวัดฯ , แขวงการทางจังหวัดจังหวัดฯ, เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฯ, เกษตรจังหวัดฯ และตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดฯ ทั้งนี้ พ.ต.ท.ชัชวาลย์ หมั่นนอก หัวหน้าตำรวจสันติบาลจังหวัดนครราชสีมา รายงานในที่ประชุมว่า ขณะนี้กลุ่มมวลชนจากจังหวัดเลย และจังหวัดบึงกาฬ ประกาศแล้วว่าจะไม่เข้ามาร่วมชุมนุมปิดถนนที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ในวันที่ 3 กันยายนนี้ แต่ยังมีกลุ่มมวลชนในพื้นที่บางจังหวัด โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ ยังยืนยันที่จะเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมตามแผนเดิม ซึ่งทางตำรวจสันติบาลคาดว่าจะมีผู้เข้ามาร่วมชุมนุมไม่เกิน 2,000 คน เนื่องจากส่วนหนึ่งไม่มีงบประมาณในการเดินทาง และยังลังเลว่าหากมาชุมนุมจำนวนไม่มากก็จะไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้ ดังนั้นทางตำรวจสันติบาล ได้จัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่มแล้ว พ.ต.ท.ชัชวาลย์ฯ กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.บุญเลิศ ว่องวัจนะ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ได้ตั้งจุดตรวจรอบตัวอำเภอสีคิ้วไว้ 7 จุด ได้แก่ จุดตรวจ อ.ปากช่อง, อ.ด่านขุนทด, อ.ลำทะเมนชัย, อ.สีดา, อ.หนองบุญมาก, อ.ประทาย และ อ.วังน้ำเขียว แต่ละจุดจะมีนายตำรวจสัญญาบัตร 1 นาย ชั้นประทวน 10 นาย ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไปตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสิ่งผิดกฎหมาย และตรวจนับจำนวนผู้ที่จะเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย พ.ต.อ.บุญเลิศฯ กล่าว

ขณะที่นายอุกริช พึ่งโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงกรณีที่มีการ์ดของเกษตรกรชาวสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช ถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งอาจจะทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเกิดปฏิกิริยาต่อต้านเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน และขอให้หน่วยงานอื่นๆ อาทิ อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อปพร.), อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และหน่วยกู้ภัยต่างๆ ได้ตรวจสอบอาวุธ และประวัติของเจ้าหน้าที่ทุกคน เพื่อป้องกันกรณีที่เคยมีเรื่องบาดหมางส่วนตัวอาจจะใช้อคติก่อเหตุรุนแรงตามมาภายหลังได้ นายอุกริชฯ กล่าว