วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

จังหวัดมุกดาหารประกาศผลการคัดเลือกพ่อตัวอย่างแห่งชาติ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๖

นายสกลสฤษฏ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า สมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาได้ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยให้แจ้งจังหวัดมุกดาหารพิจารณาคัดเลือกพ่อตัวอย่างแห่งชาติ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ ตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษากำหนด จำนวน ๒ คน

จังหวัดมุกดาหารได้พิจารณาคัดเลือกพ่อตัวอย่างแห่งชาติของจังหวัดตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว จำนวน ๒ คน คือ นายแวดล้อม คนหาญ อายุ ๗๒ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๓๘ หมู่ ๓ ตำบลนาโสก อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร นายเฉลิม น้อยทรง อายุ ๗๒ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๔๔ หมู่ ๒ ตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร




สุภาวดี อัมไพพันธ์ ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว

จังหวัดมุกดาหารประกาศเตือนภัย ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาย และดินถล่ม

นายสกลสฤษฏ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัยฉบับที่ ๘ วันที ๒๖ กันยายน ๒๕๕๖ เรื่อง ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย ว่า ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จะเลื่อนลงมาผ่านภาคกลางและภาคระวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วง วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ – วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ส่งผลให้ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักในระยะนี้

ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน ที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่เสี่ยงภัยอันเกิดจากฝนตกหนักและลมกระโชกแรงให้เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายอันเกิดจากภัยธรรมชาติ ในระยะ ๔ – ๕ วัน (๒๘ ก.ย. – ๒ ต.ค. ๕๖) เฝ้าระวังติดตามตรวจสอบเส้นทาง เขื่อน ฝาย อ่าง คันกั้นน้ำ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก พื้นที่เขตอุตสาหกรรม รวมทั้งพื้นที่ของเอกชน ถ้าไม่มีความมั่นคงแข็งแรงพิจารณาแล้วเป็นอันตรายให้แก้ไขโดยด่วน รวมทั้งให้ใช้ประโยชน์จาก " มิสเตอร์เตือนภัย” ที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านเสี่ยงภัย หากเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ให้รายงานสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นทันที่ ที่ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย โทร.๐๒-๒๔๑๗๔๕๐-๖(แฟกซ์อัตโนมัติ) สอบถาม โทร.๐๒-๒๔๑๗๔๕๗-๖๑ ให้แจ้งผู้บริหารเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดภัย ตำรวจที่สายด่วน ๑๙๑, บาดเจ็บฉุกเฉินสายด่วน ๑๖๖๙ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด โทร.๐๔๒-๖๓๓๑๐๑, ๐๔๒-๖๑๕๓๘๓, ๐๔๒-๖๑๒๒๔๓ หรือที่สายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง




สุภาวดี อัมไพพันธ์ ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว

จังหวัดมุกดาหารจัดประชุมสัมมนาสื่อมวลชนจังหวัดมุกดาหาร ประจำปี ๒๕๕๖

วันนี้ (๒๖ ก.ย.๕๖) ที่ห้องประชุมโรงแรมมุกดาหารแกรนด์ โฮเทล อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร นายสกลสฤษฏ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาสื่อมวลชนจังหวัดมุกดาหาร ประจำปี ๒๕๕๖ ซึ่งสื่อเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญนอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม สื่อยังมีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุน ต่อวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงของสังคมซึ่งยังขาดประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต

นายปราโมทย์ ชาวเมืองโขง วัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงสื่อประเภทต่างๆ ได้ในทุกพื้นที่อันส่งผลต่อพฤติกรรม ทัศนคติ ค่านิยม ของประชาชนในสังคม เพื่อให้การดำเนินงานด้านการพัฒนาสื่อในระดับภูมิภาคเกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการขยายพื้นที่สื่อที่ส่งเสริมการเรียนรู้โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นเวทีหนึ่งที่ให้ความรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ร่วมรับทราบแนวทางการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในพื้นที่ สามารถรู้เท่าทันการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับสภาพสังคม โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยคณะอนุกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จังหวัดมุกดาหาร สื่อมวลชนทุกแขนง นักจัดรายการวิทยุชุมชนในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร โดยเชื่อว่าการจัดสัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชน ให้ได้รู้จักในการพิจารณาเลือกบริโภคสื่อที่เหมาะสม สามารถรู้เท่าทันสื่ออย่างชาญฉลาดได้ในระดับหนึ่ง




สุภาวดี อัมไพพันธ์ ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว
พิพัฒน์ เพชรสังหาร สุระณรงค์ อ่อนสนิท/ภาพ

โรงพยาบาลมุกดาหารจัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางการเห็น

วันนี้ (๒๖ ก.ย.๕๖) เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ห้องประชุมศาลาเรารักมุกดาหาร ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร นายสกลสฤษฏ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางการเห็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเปิดโอกาสแก่ผู้พิการทางการเห็น ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นตัวแทนผู้พิการจากแต่ละตำบลเข้าร่วมรับการอบรมตามโครงการ ซึ่งจะก่อให้เกิดเครือข่ายกลุ่มย่อยในระดับตำบลและระดับอำเภอ

นายแพทย์ศุภชัย จรรยาผดุงพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพาบาลมุกดาหารกล่าวว่า ผู้พิการทางการเห็นเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการฟื้นฟูคนพิการตาบอดให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ซึ่งโรงพยาบาลมุกดาหารร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต ๑๐ อุบลราชธานี กลุ่มเป้าหมายครอบคลุมผู้พิการทางการเห็นเขตอำเภอเมือง อำเภอคำชะอี จำนวน ๑๔๐ คน เป็นผู้พิการที่ผ่านการอบรม O&M มาแล้ว ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้พิการทางการเห็นได้เข้าถึงบริการ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในระดับเครือข่ายในแต่ละตำบล พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตให้ผู้พิการทางการเห็นมีสังคมกว้างมากขึ้น



สุภาวดี อัมไพพันธ์ ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว
พิพัฒน์ เพชรสังหาร สุระณรงค์ อ่อนสนิท/ภาพ

จังหวัดมุกดาหาร เทศบาลเมืองมุกดาหาร เตรียมจัดงานประเพณีแข่งเรือออกพรรษาประจำปี ๒๕๕๖

ที่ห้องประชุมโรงแรมมุกดาหารแกรนด์ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร นายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานการประชุมเตรียมการจัดงานประเพณีแข่งเรือออกพรรษา ไทย-ลาว (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ประจำปี ๒๕๕๖ ซึ่งจังหวัดมุกดาหาร โดยสำนักงานเทศบาลเมืองมุกดาหารร่วมกับส่วนราชการภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดมุกดาหาร

นายถาวร คูณคำตา ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร กล่าวว่า จังหวัดมุกดาหารโดยเทศบาลเมืองมุกดาหาร ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดมุกดาหาร พร้อมชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาล ได้กำหนดจัดงานประเพณีแข่งเรือออกพรรษา ไทย-ลาว (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ประจำปี ๒๕๕๖ เพื่อชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างจังหวัดมุกดาหารกับแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ บริเวณท่าน้ำเขื่อริมโขงตลาดอินโดจีน อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพื่ออนุรักษ์ส่งเสริม ฟื้นฟู ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะจังหวัดมุกดาหารกับแขวงสะหวันนะเขต อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาทักษะการพายเรือ ส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหาร

ปลัดเทศบาลปฎิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การแข่งเรือของจังหวัดมุกดาหาร เป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่โบราณโดยจัดขึ้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี ในวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยมีการแข่งขันประเภทเรือเร็วและประเภทสวยงาม ในแต่ละปีจะมีเรือสมัครเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก ชาวจังหวัดมุกดาหารและประชาชนใกล้เคียงให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันเรือมิตรภาพ ไทยลาว โดยมีเรือจากแขวงสะหวันนะเขตร่วมแข่งขันเป็นประจำทุกปี สำหรับในปีก็ได้เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนทั้งสองประเทศเดินทางไปร่วมงานประเพณี โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ โดยเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนจากแขวงสะหวันนะเขตเดินทางมาร่วมงานได้ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ และประชาชนชาวจังหวัดมุกดาหารเดินทางไปร่วมงานประเพณีในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ ขอเชิญชวนประชาชนทั้งสองฝั่ง ตลอดจนประชาชนทั่วไปเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหารเที่ยวชมงาน บุญส่วงเฮือในวันออกพรรษา ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ โดยทั่วกัน




สุภาวดี อัมไพพันธ์ ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว
พิพัฒน์ เพชรสังหาร สุระณรงค์ อ่อนสนิท/ภาพ

สถานการณ์น้ำจังหวัดยโสธร

สถานการณ์น้ำจังหวัดยโสธรตามที่ได้มีพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและด้านตะวันออก ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๖ ทำให้มีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักในบางพื้นที่ของจังหวัดยโสธร ทำให้มีน้ำเอ่อท่วมที่ราบลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำชี ลำเซบาย และลำน้ำยังซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตร (นาข้าว) เป็นวงกว้าง และมีสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหาย จำนวน ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยโสธร, อำเภอป่าติ้ว, อำเภอไทยเจริญ, อำเภอคำเขื่อนแก้ว และอำเภอทรายมูล รวม ๒๓ ตำบล ๑๓๓ หมู่บ้าน การให้ความช่วยเหลือ อำเภอป่าติ้ว ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ถุงยังชีพ จำนวน ๑๙๔ ชุด จากสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดยโสธร สำนักงานสาธารณสุขอำเภอป่าติ้ว และโรงพยาบาลอำเภอป่าติ้ว มอบยาชุดรักษาพยาบาลจำนวน ๑๕0 ชุด สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้ม กรณีน้ำเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรหลายพันไร่ในที่ราบลุ่มและที่ลุ่มริมน้ำ แม่น้ำชี ลำยังและลำเซบาย ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองยโสธร อำเภอไทยเจริญ อำเภอป่าติ้วและอำเภอคำเขื่องแก้ว ระดับน้ำยังทรงตัวและขยายเพิ่มบางพื้นที่ จังหวัด อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนังในพื้นที่ ปริมาณน้ำที่เอ่อท่วมที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ลำน้ำดังกล่าว คาดว่าระดับน้ำจะลดกลับสู้ภาวะปกติภายใน ๕-๗ วัน หรือหากปริมาณน้ำลดลงช้าจนเกิดความเสียหายแก่นาข้าวและพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ซึ่งจังหวัดจะได้ประกาศเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป สำหรับพื้นที่อำเภออื่นๆ ได้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง หากอำเภอประเมินสถานการณ์แล้ว ประชาชนได้รับความเดือนร้อนหรือพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย อำเภอก็จะได้รายงานเหตุด่วนสาธารณภัยเพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป



วรรณทอง ภูโสภา. ส ปชส.ยโสธร...รายงาน

ยโสธรเชิญประชาชนทำบุญปฏิบัติธรรมและลงนามถวายพระพร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี

นายไพชยนต์ ชนะกาญจน์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า จังหวัดยโสธร ขอเชิญชวนประชาชนร่วมทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม และร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหา สังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระกุศลแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ขอเชิญประชาชนร่วมทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ที่วัดใกล้บ้าน และในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ขอเชิญร่วมทำบุญ ปฏิบัติธรรม และลงนามถวายพระพร ที่วัดที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย วัดบ้านบ่อ (ป่าแก), วัดดอนพระเจ้า, วัดชัยมงคล (บ้านสำราญ) , วัดบ้านหนองนางตุ้ม, สำนักปฏิบัติธรรมธุดงศสถานบ้านสำราญ ต.สำราญ อ.เมืองยโสธร

และร่วมลงนามถวายพระพร ที่วัดเข้าร่วมโครงการดังกล่าวและที่วิทยาลัยเทคนิคยโสธร , วิทยาลัยชุมชนยโสธร, วิทยาลัยอาชีวศึกษา,โรงเรียนเลิงนกทา, อบจ.ยโสธร,สาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธร, เทศบาลเมืองยโสธร และเทศบาลตำบลสำราญ



ส.ปชส.ยโสธร/ไพชยนต์ 26 ก.ย. 56

ร้อยเอ็ดชูข้าวหอมมะลิและยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักดิ์ภาพ ( Product Champion)

วันนี้ (26 ก.ย.56) เวลา 14.00 น.นายพศิน โกมลวิชญ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ประชุมคณะกรรมการสถิติระดับจังหวัด ภายใต้โครงการแปลงแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย สู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้องประชุมพระเวสสันดร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด การพิจารณาห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Critical Success Factor) ของผลิตภัณฑ์ที่มีศักดิ์ภาพ (Product Champion) ชุดข้าวหอมมะลิ

จังหวัดร้อยเอ็ดได้ คัดเลือกข้าวหอมมะลิ และยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ (Product Champion) โดยมีคณะทำงานโครงการการแปลงแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย สู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่ พ.ศ.2555 จำนวน 2 ชุด ประกอบด้วยคณะทำงานเรื่องข้าวหอมมะ และคณะทำงานเรื่องยางพารา เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factor) และจัดทำ Key Indicator หรือ ตัวชี้วัด และผังสถิติทางการ เพื่อสนับสนุนปัจจัยแห่งความสำเร็จ เรื่อง ข้าวหอมมะลิ และยางพารา ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ จึงได้มีการพิจารณาห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Critical Success Factor) ของผลิตภัณฑ์ที่มีศักดิ์ภาพ (Product Champion) ชุดข้าวหอมมะลิ และพิจารณาตัวชี้วัด (KPI) และชุดข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ (Product Champion) ชุดข้าวหอมมะลิ ผังสถิติทางการระดับจังหวัด สถิตทางการมีอยู่ (Stock) สถิติ ทางการที่ต้องการจัดทำเพิ่มเติม และกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบ ของผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ (Product Champion) ชุดข้าวหอมมะลิ และการจัดทำร่างแผนพัฒนาสถิติระดับพื้นที่ จังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ.2557 – 2560



วิมล เร่งศึก/ข่าว
กมลพร คำนึง/บก.ข่าว
26 ก.ย. 56

ร้อยเอ็ด ออกให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. แ ละจังหวัดเคลื่อนที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขบำรุงสุขให้แก่ประชาชน ครั้งที่ 15 ประจำปี 2556

จังหวัดร้อยเอ็ดร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่  พอ.สว. ร้อยเอ็ดออกให้บริการประชาชน  ณ บ้านเมืองทอง  ต.เมืองทอง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ 26 ก.ย.2556  นายสมเกียรติ  รัตนเมธาธร ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เป็นประธานเปิดงานจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. เพื่อออกให้บริการบำบัดทุกข์บำรุงสุขบำรุงสุขให้แก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล ในถิ่นทุรกันดารด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ได้พระราชทานพระอนุญาตให้จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นจังหวัด แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทร์ บรมราชชนนี (ลำดับที่ 53) ได้ออก ให้บริการ ครั้งที่ 15  ประจำปี 2556  ที่ โรงเรียนบ้านเมืองทองวีระประชานุสรณ์  หมู่ 3  บ้านเมืองทอง ต.เมืองทอง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด โดยมีส่วนราชการในจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ นำข้าราชการเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องออกบริการประชาชนในพื้นที่ ประกอบด้วย การมอบจักยานแก่นักเรียน จำนวน 5 คัน ถุงยังชีพแก่ผู้สูงอายุ จำนวน 30 ถุง  มอบชุดนักเรียนแก่เด็กนักเรียน การตรวจรักษาโรคทั่วไป การบริการด้านทันตกรรม   การบริการด้านจักษุแพทย์   การให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย การจัดทำทะเบียนราษฎร์   การทำบัตรประจำตัวประชาชน การจำหน่ายสินค้าราคาโรงงานจากส่วนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด  เครื่องอุปโภค-บริโภค ราคาถูก จากสำนักงานพาณิชย์จังหวัด การให้คำแนะนำด้านอาชีพ โดยส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน และบริการอื่นๆ ซึ่งมีประชาชน – เยาวชน เข้ารับบริการจำนวนมาก



คมกฤช  พวงศรีเคน  ข่าว/ ภาพ

กมลพร  คำนึง  บก.ข่าว
สำนักงานประชาสำพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด
043-527117 ,086-2200865

เศรษฐกิจเลยบูมต่อเนื่อง บสย.หนุนผู้ประกอบการรายย่อย รับค้ำประกันเงินกู้สู้ตลาดอาเซียน

นายมโนฑ  ศรีพรมทอง  ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา บสย.สาขาอุดรธานี   เปิดเผยว่า บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานสาขาอุดรธานี  เปิดแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างหอการค้าจังหวัดเลย, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จังหวัดเลย     โดยมีนายวสันต์  แก้วศิริบัณฑิต  ประธานหอการค้าจังหวัดเลย,  นายสะอาด  พรหมภักดี  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย และนายไชยรัช  ตรียานุกูลมงคล,  นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเลย    ร่วมแถลงข่าว

นายมโนฑ  ศรีพรมทอง  กล่าวว่า  บสย.เล็งเห็นว่าจังหวัดเลยมีเศรษฐกิจกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากผลการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ที่เพิ่มขึ้นมากทุกปี ในปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปี 2554  เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีการขยายตัวด้านสินเชื่อการค้า การลงทุนมากขึ้น  ซึ่งในส่วนนี้ บสย.ได้เข้าไปช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ให้ได้รับสินเชื่อตามความต้องการ  ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันในจังหวัดเลยนั้น บสย.ได้ให้การค้ำประกันสินเชื่อรวมทุกโครงการ 582 ราย วงเงินอนุมัติค้ำประกัน 1,636 ล้านบาท  และพร้อมจะช่วยเหลือให้สมาชิกและผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการรายใหม่ของจังหวัดเลยให้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นต่อไป

นายวสันต์  แก้วศิริบัณฑิต  ประธานหอการค้าจังหวัดเลย  กล่าวว่า  ถือเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่จะได้เพิ่มศักยภาพด้านการลงทุนประกอบธุรกิจที่มีได้มี บสย.เข้ามาช่วยส่งเสริมค้ำประกันการกู้เงิน  ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการของจังหวัดเลยมีโอกาสขยายธุรกิจ  เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น    ขณะนี้จังหวัดเลยมีการขยายตัวด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง  ที่ผ่านมาหอการค้าจังหวัดเลย  ได้ร่วมมือกับ สปป.ลาว  ด้านการค้า  การลงทุน  ซึ่งการลงทุนของผู้ประกอบการของจังหวัดเลย จะคล่องตัวมากขึ้น  ส่งผลให้มูลค่าการค้าชายแดนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วย

วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญนำน้ำดื่มจำนวน 1,200 ขวดพร้อมนำนักเรียน นักศึกษาช่างไป ช่วยเหลือราษฎรบ้านดอนว่าน อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากน้ำท่วม

ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้ปริมาณน้ำในลำเซบายมีระดับสูงขึ้น และพนังกั้นน้ำลำเซบายที่บริเวณบ้านดอนว่าน ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เกิดพังทลายทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและไร่นาของราษฎร ในหลายหมู่บ้านของตำบลหัวตะพาน ได้แก่ บ้านดอนว่าน บ้านนาป่าแซง บ้านท่าวังหิน บ้านโสกสว่าง และบ้านหัวตะพาน ราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 260 ครัวเรือน และล่าสุดปริมาณน้ำได้ไหลท่วมพื้นที่เกษตรเกือบเต็มพื้นที่ประมาณ 3 หมื่นไร่ โดยเฉพาะที่บ้านดอนว่าน ทั้งหมู่บ้านและถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูงกว่า 80 เซนติเมตร รถเล็กไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้

วานนี้  (25 ก.ย. 56) นายเศรษฐศิษฎ์  ณุวงศ์ศรี  ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ พร้อมด้วยคณะครู นักเรียน นักศึกษา น้ำสะอาด ที่ผลิตจากวิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ จำนวน 1,200 ขวด ไปมอบให้กับราษฎรบ้านดอนว่าน จำนวน 62 ครัวเรือน ที่ได้รับความเดือดร้อน  นอกจากนี้ยังได้นำโครงการ ไปช่วยเหลือราษฎรที่เครื่องจักรกลทางการเกษตร  รถจักรยานยนต์ และระบบไฟฟ้าในบ้านเรือนเกิดการขัดข้องหรือเสียหาย

และในวันเดียวกันนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญยังได้นำฟางอัดแห้งไปมอบให้กับราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากสัตว์เลี้ยง วัว ควายไม่มีหญ้ากิน ทางด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญและโรงพยาบาลหัวตะพานได้นำรองเท้าบูท จำนวน 100 คู่ และยากันยุง ไปมอบให้กับราษฎรไว้ใช้เพื่อป้องกันโรคเท้าเปื่อย โรคฉี่หนู และกันยุงกัดเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก  สร้างความประทับใจให้แก่พี่น้องประชาชนชาวบ้านดอนหว่านเป็นอย่างยิ่ง




จรูญ  พิตะพันธ์/ข่าว

สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ“หลักสูตรผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์สำหรับข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับอำเภอ ระยะที่ 4

ที่ห้องประชุมคณาพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ  ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "หลักสูตรผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์สำหรับข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับอำเภอ ระยะที่ 4 เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ ให้มีความรู้และเข้าใจถึงวิธีการเก็บ ตรวจสอบและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ทั้งด้านการให้บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขด้วยระบบ Real time การดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรค และการส่งออกรายงาน รวมทั้งควบคุมกำกับการดำเนินงาน ซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้เป็นระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของหลักสูตร โดยมีวิทยากร สปสช. เขต 10 อุบลราชธานี ซึ่งผลจากการอบรมของหลักสูตรทั้ง 4 ระยะ จะทำให้จังหวัดอำนาจเจริญ มีผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ระดับอำเภอ  เป็น Smart Admin จะส่งผลให้ประชาชนชาวจังหวัดอำนาจเจริญมีโอกาสเข้าถึงการบริการและข้อมูลการบริการของหน่วยบริการในจังหวัดอำนาจเจริญ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีคุณภาพ




จรูญ  พิตะพันธ์ / ข่าว

อุบลราชธานี จัดเวทีประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน

อุบลราชธานี จัดเวทีประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน
อุบลราชธานี : เชิญหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ร่วมประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน ใน 5 ยุทธศาสตร์หลักด้านการบังคับใช้กฎหมาย, วิศวกรรมจราจร, การให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม,การบริการการแพทย์ฉุกเฉินและการประเมินผลและระบบสารสนเทศ โดยปรับแนวทางดำเนินการให้ อปท.พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมและเตรียมนำเสนอเป็นยุทธศาสตร์จังหวัด

เช้าวันนี้ (26 ก.ย.56) นางสาวกาญจนา ทองทั่ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานในการจัดเวทีประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน ตามโครงการกระบวนการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนของนักศึกษาและชุมชนรอบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระยะที่ 2 ที่ห้องประชุมโกเมน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ซึ่งโครงการดังกล่าวได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อประเด็นความปลอดภัยทางถนนจังหวัดอุบลราชธานี และจากผลของการระดมความคิดเห็นได้นำมาจัดทำเป็นร่างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน ใน 5 ประเด็นยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งได้แบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นและพิจารณาร่างยุทธศาสตร์และนำเสนอเพื่อพิจารณาร่วมกัน ซึ่งผู้ร่วมเวที ได้พิจารณาและเห็นควรปรับเปลี่ยนแนวทางดำเนินการในแต่ละประเด็น เช่น ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ให้ตำรวจภูธรจังหวัด,ตำรวจทางหลวง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องในมาตรการ 3 ม 2 ข 1 ร 1 ท ในทุกพื้นที่ อีกทั้งเข้มงวดในการต่อใบอนุญาตขับขี่ การกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในชุมชน,สถานประกอบการ,หน่วยงานภาครัฐและสถานศึกษา, ด้านวิศวกรรมจราจร ให้มีการติดตั้ง จัดระบบ ตรวจสอบไฟจราจร สัญญาณเตือน ป้ายเตือน ลูกระนาดชะลอความเร็วรถในจุดเสี่ยง จุดอันตราย ปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อความปลอดภัย สนับสนุนให้มีช่องทางหรือโครงข่ายเดินรถจักรยาน จัดหาจุดจอดรถ จัดระเบียบการจราจร ตามตลาด สถานศึกษาและเพิ่มบริการรถสาธารณะให้เพียงพอและมีความปลอดภัยรวมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะมากขึ้น

ด้านการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ ให้มีการจัดอบรมให้ความรู้ด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุในสถานศึกษารวมทั้งให้มีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนหรือรายวิชา การใช้รถใช้ถนนเพื่อความปลอดภัยในสถานศึกษาทุกระดับ การรณรงค์ใช่หมวกนิรภัย 100 % ส่งเสริม สนับสนุนให้ อปท. ใช้สื่อประชาสัมพันธ์ในชุมชนให้เหมาะสมกับสถานที่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การผลิตและเผยแพร่สื่อ โดยสื่อมวลชนทุกสาขา การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารความปลอดภัยในชุมชน, ด้านบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ดำเนินการที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพคลอบคลุมพื้นที่ตามมาตรฐาน ทั้งการให้บริการและการสั่งการและด้านการประเมินผลและระบบสารสนเทศ ให้มีระบบการรวบรวมข้อมูล รายงานผล นำสถิติการเกิดอุบัติเหตุมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและมีการพัฒนาระบบสารสนเทศให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งข่าวอุบัติเหตุ ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากการจัดเวทีประชาพิจารณ์ จะได้รวบรวมนำเสนอจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดและมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป



พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ส.ปชส.อุบลราชธานี
081 – 924 6809 /ข่าว/ 26 ก.ย. 56

ชมรมรามคำแหงสุรินทร์ ทอดผ้าป่าสามัคคีสร้างฐานเพื่อประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

วันที่ 26 ก.ย.56 ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ในฐานะประธานชมรมรามคำแหงสุรินทร์ เป็นประธานการทอดผ้าป่าสามัคคี โดยชมรมรามคำแหงสุรินทร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสุรินทร์ จะจัดสร้างฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหงสุรินทร์ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสุรินทร์ ขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดสุรินทร์ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงอัจฉริยภาพทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนาและศิลปวิทยา และทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ดังนั้น จึงเป็นสิ่งมงคลอย่างยิ่งที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ที่ทรงคุณูปการแห่งประเทศไทย โดยยอดที่ทอดได้ในตอนต้นวันนี้ เป็นเงิน 888,244 (แปดแสนแปดหมื่นแปดพันสองร้อยสี่สิบสี่บาท) และจะรวบรวมให้มียอดทอดผ้าป่าในครั้ง เท่ากับประชากรของจังหวัดสุรินทร์ คือ 1,300,000 บาท (หนึ่งล้านสามสามแสนบาท)

ทั้งนี้ ชมรมรามคำแหงสุรินทร์ จึงได้จัดทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อหารายได้สมทบทุนก่อสร้างฯ โดยมีศิษย์เก่า นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ ผู้มีจิตศรัทธา ร่วมทำบุญสมทบทุนก่อสร้างฐานเพื่อประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ที่ยังสนใจและมีจิตศัทธาสามารถติดต่อร่วมบริจาคได้ที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสุรินทร์ ที่ทำการปกครองจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเทศบาลเมืองสุรินทร์ หรือที่สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ โทร.0-4451-5427 

กศน.มหาสารคาม เปิดงานมหกรรม OTOP Mini MBA (โอท๊อป มินิ เอ็มบีเอ)

กศน.มหาสารคาม จัดแสดงผลงานและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ จากศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน (OTOP Mini MBA) (โอท๊อป มินิ เอ็มบีเอ) เพื่อพัฒนาคุณภาพและยกระดับฐานะมาตรฐานด้านอาชีพของชุมชน ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน

(26-09-56) นางสาวนพกนก บุรุษนันทน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.มหาสารคาม พร้อมด้วยบุคลากร นักศึกษา กศน. และสมาชิกกลุ่มอาชีพศูนย์ฝึกชุมชน ทั้ง 13 อำเภอ รวมกว่า 300 คน เปิดงานโครงการมหกรรมศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน (OTOP Mini MBA) (โอท๊อป มินิ เอ็มบีเอ) ที่ห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด สาขามหาสารคาม (มหาชน) โดยมีนายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งมีกิจกรรมประกอบด้วย การจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษา กศน. และการวางจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ จากกลุ่มอาชีพศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน (OTOP Mini MBA) (โอท๊อป มินิ เอ็มบีเอ) ทั้ง 13 อำเภอ อาทิ ผลิตภัณฑ์กระติบข้าว มวยนึ่งข้าว ตะกร้าจากเส้นพลาสติก และกลุ่มอาชีพนวดฝ่าเท้าจากอำเภอโกสุมพิสัย ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ผ้าไหม เสื่อกก และผลิตภัณฑ์จากต้นกก อำเภอนาดูน อำเภอกุดรัง อำเภอนาเชือก ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าไทย ไม้กวาด ผ้าเช็ดเท้า ผ้าฝ้ายทอมือ พืชผัก และผลิตภัณฑ์ข้าวกล้อง จากอำเภอกันทรวิชัย อำเภอเมืองมหาสารคาม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดช่องทางการจำหน่ายสินค้า ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย ได้มีอาชีพ มีงานทำ และมีรายได้อย่างมั่นคง อีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพและยกระดับฐานะมาตรฐานด้านอาชีพของชุมชน ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนด้วย



ส.ปชส.มหาสารคาม / ข่าว

เทศบาลท่าขอนยาง อําเภอกันทรวิชัยจัดงานมหกรรมอาหารปลอดภัย ประจําปี 2556

26-09-56 ที่บริเวณถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตําบลท่าขอนยาง อําเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เทศบาลตําบลท่าขอนยางจัดงานมหกรรมอาหารปลอดภัยประจําปี 2556 เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่พัฒนาปรับปรุงร้านอาหารให้มีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีนายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามเป็นประธาน พร้อมมอบป้ายอาหารปลอดภัยแก่ร้านอาหารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร

นายสมชาติ บุตรราช นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองมหาสารคาม เปิดเผยว่าพื้นที่เขตเทศบาลท่าขอนยาง มีนิสิต นักศึกษาเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจํานวนมากเนื่อง ซึ่งต้องอาศัยการบริโภคอาหารจากร้านอาหารและแผงลอยจําหน่ายอาหารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ หารอาหารไม่สะอาดปลอดภัยก็จะทําให้เกิดการเจ็บป่วยได้ โดยเทศบาลฯได้ดําเนินได้ดําเนินงานตามโครงการเฝ้าระวังการตรวจอาหารให้ปลอดภัย เพื่อเฝ้าระวังให้คําแนะนําและพัฒนายกระดับสถานประกอบการด้านอาหาร แผงจําหน่ายอาหารให้ปลอดภัยและผ่านเกณฑ์มาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร ซึ่งมาตรการหนึ่งที่จะทําให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย

ด้านนายนพวัช สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่าการจัดงานครั้งนี้จะช่วยสร้างกระแสให้ผู้ประกอบการร้านอาหารได้พัฒนาปรับปรุงร้านอาหารให้มีคุณภาพอีกทางหนึ่ง และผู้บริโภคมีความมั่นใจในการรับประทานอาหาร โดยดูจากร้านอาหารที่ผ่านการรับรองและได้รับป้ายมาตรฐานอาหารสะอาดรสชาดอร่อย หรือ clean food good test เป็นหลัก จากนั้นได้มอบป้ายมาตรฐานอาหารสะอาดรสชาดอร่อย หรือ clean food good test แก่สถานประกอบการร้านอาหารขนาดใหญ่และขนาดเล็กจํานวนกว่า 30 สถานประกอบการ




สํานักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดมหาสารคาม/ข่าว

เกษตรจังหวัดมหาสารคาม เร่งขึ้นทะเบียนชาวสวนยาง ภายใน 30 กย.นี้

เกษตรจังหวัดมหาสารคาม เร่งรัดเจ้าหน้าที่ทุกอำเภอประชาสัมพันธ์ แนวทางการไห้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยเกษตรกรต้องเดินทางมายืนยันหรือแจ้งขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่เป็นที่ตั้งแปลงปลูก ระหว่างวันที่ 4 – 30 กันยายน 2556

ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่ให้จ่ายเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ไร่ละ 2,520 บาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือราคายางพาราในอัตรากิโลกรัมละ 12 บาท ในระยะเวลา 7 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน กันยายน 2556 ถึงเดือนมีนาคม 2557 โดยจำกัดปริมาณให้การช่วยเหลือรายละไม่เกิน 25 ไร่ พร้อมเร่งรัดจ่ายเงินให้ถึงมือเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรสามารถนำเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไปบริหารจัดการได้ตามความเหมาะสม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง

สำหรับจังหวัดมหาสารคามมีเกษตรกรชาวสวนยางที่จะเข้าร่วมโครงการ แจ้งขึ้นทะเบียนไปแล้ว 545 ราย พื้นที่ปลูก 4,486.30 ไร่ และมีเกษตรกรที่เปิดกรีดยางไปแล้ว 98 ราย พื้นที่ 949.30 ไร่ จากจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทุกอำเภอรวม 951 ราย พื้นที่ 8,192 ไร่

อย่างไรก็ตาม เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำชับให้เกษตรอำเภอเร่งประชาสัมพันธ์ ให้เกษตรกรมาแจ้งขึ้นทะเบียน เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบพื้นที่และจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเกษตรกรต้องเดินทางมายืนยันหรือแจ้งขึ้นทะเบียนด้วยตัวเอง ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่เป็นที่ตั้งแปลงปลูก ระหว่างวันที่ 4 – 30 กันยายน 2556 ขอทราบรายละเอียดได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด/สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษา โดยตรงกับกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข 043 777 387



ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว

ศาลปกครองสัญจรพบประชาชน สื่อมวลชนที่จังหวัดกาฬสินธุ์

ศาลปกครองจัดโครงการศาลปกครองพบประชาชนและเสริมสร้างเครือข่ายด้านสื่อมวลชนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำด้านกฎหมายแก่ประชาชน และจัดเสวนากับสื่อมวลชน "ศาลปกครองกับการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง” โดยจังหวัดกาฬสินธุ์มีสถิติคดีปกครองที่เข้าสู่การพิจาณากว่า 960 คดี

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 ที่ห้องทศพร โรงแรมริมปาว อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมด้วยคณะ ได้จัดโครงการศาลปกครองพบประชาชนและเสริมสร้างเครือข่ายด้านสื่อมวลชนจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชน และการเสวนากับสื่อมวลชนในพื้นที่ในหัวข้อ "ศาลปกครองกับการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง” โดยมีนายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย สื่อมวลชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ศาลปกครองได้เปิดทำการมาเมื่อปี 2544 มีคดีเข้าสู่ศาลปกครองจำนวน 90,056 คดี พิจารณาพิพากษาคดีเสร็จสิ้นไปแล้วประมาณ 71,044 คดี คิดเป็นร้อยละ 78.89 จากผลการศึกษาวิจัยและคาดการณ์พบว่า การฟ้องคดีปกครองมีแนวโน้มสูงขึ้นจึงจำเป็นต้องเร่งรัดการพิจารณาคดี ทั้งคดีที่อูยู่ในระหว่างการพิจารณาและคดีที่ฟ้องใหม่ ให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น ตามกรอบเวลาที่ศาลปกครองวางเอาไว้ในแผนยุทธศาสตร์การปกครอง ตลอดระยะเวลา 12 ปี ศาลปกครองได้ทำการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองและเยียวยาความเดือดร้อน หรือเสียหายให้แก่ประชาชนมาอย่างมากแล้ว ศาลปกครองก็ยังมีกระบวนการและวิธีในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอยู่ด้วย และการจัดโครงการศาลปกครองพบประชาชนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็จะช่วยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบถึงบทบาท ภารกิจหน้าที่ของศาลปกครองในการตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครอง ส่วนการยื่นฟ้องสามารถกระทำได้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ไม่ต้องมายื่นที่ศาล เสียค่าใช้จ่ายน้อย

สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองขอนแก่น ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และมุกดาหาร โดยมีปริมาณคดีเข้าสู่การพิจารณา จำนวน 6,011 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 5,713 คดี คิดเป็นร้อยละ 75.04 และอยู่ระหว่างการพิจารณาคงค้าง 298 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.96 ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์มีสถิติคดีปกครองที่มูลคดีเกิดขึ้นและเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองทั้งสิ้น 960 คดี



ดวงใจ หงษ์จันทร์ / ข่าว

ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ มอบประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการประจำปี 2556

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ มอบประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการประจำปี 2556และมอบรางวัลการประกวดชมรมผู้ประกอบการค้าอาหาร โดยตลาดสดทุ่งนาทอง ได้รับรางวัลชนะเลิศชมรมผู้ประกอบการค้าอาหารในตลาดสด ประจำปี 2556

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (26 กันยายน 2556) ที่ห้องประชุม 4/1 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ประจำเดือนกันยายน 2556 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรทุกแห่งเข้าร่วมประชุม โดยก่อนเข้าสู่การประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เป็นประธานมอบประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2556 เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชู ที่ได้ปฏิบัติราชการจนครบเกษียณอายุราชการ จากนั้นได้มอบรางวัลการประกวดชมรมผู้ประกอบการค้าอาหารจังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี 2556 ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างขวัญ และกำลังใจ และสร้างพลังความเข้มแข็งของชมรมในการพัฒนาคุณภาพความปลอดภัยด้านอาหาร โดยได้ดำเนินการประกวดระหว่างวันที่ 9-16 สิงหาคม 2556 ซึ่งผลการประกวดประเภทชมรมผู้ประกอบการค้าอาหารในตลาดสด รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ตลาดสดทุ่งนาทอง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ รองชนะเลิศอันดับ 1 ตลาดสดเทศบาลตำบลร่องคำ อำเภอร่องคำ รองชนะเลิศอันดับ 2 ตลาดสดเทศบาลตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด รางวัลชมเชย ตลาดสดเทศบาลตำบลกุดสิม อำเภอเขาวง, ตลาดสดเทศบาลตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท, ตลาดสดเทศบาลตำบลนาคู อำเภอนาคู และตลาดสดเทศบาลตำบลโนนบุรี ส่วนการประกวดชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร รางวัลชนะเลิศได้แก่ ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยเทศบาลตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย

ด้านนายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคน ขอยกย่อง เชิดชู ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ ที่ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และขอขอบคุณข้าราชการทุกท่าน ทุกส่วนราชการที่ได้ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ในปีงบประมาณ 2556 จากนี้ไปขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ช่วยกันขับเคลื่อนวาระจังหวัดกาฬสินธุ์เมืองคนดี สุขภาพดี รายได้ดี โดยเฉพาะงานบุญปลอดเหล้า ที่ผ่านมาถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงฝากถึงนายอำเภอทุกแห่ง แจ้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท.ในพื้นที่ในการกำหนดมาตรการงดเหล้าในงานบุญ ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย ลดการทะเลาะวิวาท ลดปัญหาได้มากทีเดียว



ดวงใจ หงษ์จันทร์ / ข่าว

กาฬสินธุ์แถลงข่าวการจัดงาน Kalasin Car Free Day 2013

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 25 กันยายน 2556) ที่วงเวียนโปงลาง เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นายชนินทร์ สังข์วิเศษ ประธานหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ และ นาย นพสิทธิ์ กุลเจริญวิรัตน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันแถลงข่าว การจัดงาน Kalasin Car Free Day 2013 โดยกล่าวถึงความเป็นมาของงานว่า เริ่มจัดครั้งแรกที่ในปี พ.ศ. 2548 และมีการจัดต่อเนื่องในเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อกระตุ้นให้เยาวชน ประชาชนทั่วไป สนใจการปั่นจักรยาน หรือ เดินทางในระยะใกล้ๆ ด้วยจักรยาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน และลดภาวะโลกร้อน ปีที่ผ่านมาKalasin Car Free Day มีประชาชนทั้งในกาฬสินธุ์และต่างจังหวัดให้ความสนใจมาร่วมงาน กว่า 1,000 คน

และในปีนี้ จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ได้ร่วมกับหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ชมรมจักรยานไดโนไบค์กาฬสินธุ์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้กำหนดจัดงาน Kalasin Car Free Day 2013 ในวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556 ณ ลานคอนกรีตหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อการประหยัดพลังงาน ลดภาวะโลกร้อน และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี กิจกรรมในงานเริ่มตั้งแต่เวลา 7.00 น.ก่อนปล่อยขบวนจักรยาน จะมีการโชว์ กีฬาเอ็กซ์ตรีม พารามอเตอร์ แอโรบิค จากชมรมต่างๆ และการแปรขบวนจักรยานเป็นรูปธงชาติไทยขนาดใหญ่ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดจากนั้นจะเคลื่อนตัวไปยังถนนสายต่างๆในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง หรือผู้มีความสนใจจากทั่วประเทศมาร่วมงานโดยทั่วกัน



วิภาดา รัตนโรจนา / ข่าว

มข.ร่วมกับกองทัพอากาศวิจัยพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์ด้วยกระบวนการไฮโดรโฟเฟสซิ่ง

รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เดินทางไปเยี่ยมชม"โครงการวิจัยและพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์ด้วยกระบวนการไฮโดรโพรเซสซิ่ง” และให้การต้อนรับคณะนายทหารจากกองทัพอากาศที่เดินทางมาตรวจรับครุภัณฑ์ระบบผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอากาศยานของกองทัพอากาศ ผศ.ดร.ผกาวดี แก้วกันเนตร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและผู้ประสานงานฝ่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่าเป็นการร่วมมือวิจัยพัฒนาและแลกเปลี่ยนกันระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับกองทัพอากาศฯ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะประกอบด้วยนักวิจัยจากคณะเทคโนโลยี ได้แก่ ผศ.ดร.ผกาวดี แก้วกันเนตร รศ.ดร.พรเทพ ถนนแก้ว และผศ.ดร. ศรัญญา พรหมโคตร์ ร่วมกับนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร.อาทิตย์ เนรมิตตกพงศ์ ดร.ทินกร คำแสน ดร.กิติโรจน์ หวันตาหลา และ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ คือ นาวาอากาศเอก สุพิส สว่างศรี และนาวาอากาศโท อมรพงศ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้ากองส่งกำลังบำรุง กองบังคับการ กรมช่างอากาศ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยของกองทัพอากาศ ร่วมกันดำเนินการวิจัยและการพัฒนาโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์ด้วยกระบวนการไฮโดรโพรเซสซิ่ง เพื่อใช้กับอากาศยานให้กับกองทัพอากาศ กระทรวงกลาโหม โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 2 ปี ศึกษาการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์จากน้ำมันปาล์ม โดยใช้ปฏิกิริยาเคมีไฮโดรโพรเซสซิ่ง ภายใต้การพัฒนาระบบการผลิตต้นแบบขนาด 50 ลิตร/รอบการทำงาน ขณะนี้คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินการวิจัยในห้องปฏิบัติการเสร็จสิ้น และประสบผลสำเร็จจนสามารถพัฒนาระบบการผลิตต้นแบบในระดับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งคณะนายทหารจากกองทัพอากาศ ได้เดินทางมาตรวจรับครุภัณฑ์ระบบการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์ฯ เพื่อให้ทางกองทัพอากาศไปใช้ประโยชน์เพื่อความมั่นคงของประเทศต่อไป ทั้งนี้โครงการวิจัยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนภายในประเทศ ตลอดจนเป็นการสนับสนุนโครงการวิจัยตามแนวพระราชดำริ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากอุตสาหกรรมเกษตรภายในประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น

เทศบาลตำบลบ้านแฮดชะลอการสร้างคลังเวลดิ์แก๊สหลังชาวบ้านร้องคัดค้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีบริษัท เวิลด์แก๊ส ประเทศไทย จำกัด ขออนุญาตต่อเทศบาลตำบลบ้านแฮด อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อก่อสร้างคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลวบนที่ดินกว่า 30 ไร่บริเวณถนนมิตรภาพ ช่วง อ.บ้านไผ่-อ.บ้านแฮด และขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างฐานราก โดยโครงการดังกล่าวชาวบ้านไม่เห็นด้วย และคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องนั้น นายทวี ไชยชาติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บ้านแฮด กล่าวว่า ปัจจุบัน ต.บ้านแฮดแทบจะเรียกได้ว่าเป็นคลังแสงของก๊าซไปแล้ว เพราะเดิมก็มีคลังก๊าซที่หมู่ 10 และขยายกิจการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันในตำบลมีสถานีบริการก๊าซแอลพีจี 3 แห่ง และสถานีบริการเอ็นจีวี 1 แห่ง ส่วนคลังก๊าซที่กำลังก่อสร้างตั้งอยู่ในหมู่ 1 มี 20 ถัง ถังละ 30,000 ลิตร รวมแล้วเกือบ 1 ล้านลิตร ทั้งนี้ คลังก๊าซตั้งอยู่ห่างจากบ้านเรือนประชาชนไม่ถึง 1 กิโลเมตร ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ก๊าซระเบิดจะมีรัศมีการทำลายล้างเป็นบริเวณกว้างกว่า 10 กิโลเมตร เท่ากับว่าอำเภอบ้านแฮด และพื้นที่ใกล้เคียงกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านแฮดจึงไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ที่สำคัญไม่เคยจัดทำประชาพิจารณ์เลย ล่าสุดวานนี้ (24 ก.ย.) ผู้นำชุมชนพร้อมด้วยชาวบ้านจาก 4 หมู่บ้านใน ต.บ้านแฮด ประมาณ 200 คน นัดชุมนุมกันที่เทศบาลตำบลบ้านแฮดเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการ พร้อมยื่นหนังสือต่อนายกเทศมนตรีเพื่อขอสำเนาเอกสารการอนุญาตให้บริษัทตั้งคลังก๊าซ และแนบผลการทำประชาคมหมู่บ้านหมู่ที่ 1 ที่ลงมติเป็นเอกฉันท์ไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างด้วย ขณะที่นายศิริพงษ์ อรุณเดชาชัย นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแฮด กล่าวว่า โครงการการก่อสร้างในเทศบาลฯ ทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่กรณีคลังก๊าซถือเป็นธุรกิจเฉพาะ ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตในท้องถิ่นก็จริง แต่กระบวนการติดตั้งถัง ระบบจ่ายก๊าซไม่ได้ผ่านท้องถิ่น เป็นอำนาจของกรมธุรกิจพลังงาน อย่างไรก็ตาม ได้หารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเห็นพ้องกันว่าจะให้มีการชะลอโครงการไว้ก่อน พร้อมทำหนังสือขอหารือไปยังจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกต่อไป



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น

โครงการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายในครัวเรือนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

โครงการลดรายจ่ายครัวเรือนเกษตรกรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอกระนวน

นายสมศักดิ์สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานพิธีมอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ในโครงการลดรายจ่ายครัวเรือนเกษตรกรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ หอประชุมอำเภอกระนวน อำเภอกระนวน โดยมีนางนิภา สุวรรณสุจริต นายอำเภอกระนวน กล่าวรายงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนขอนแก่นอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน มุ่งเน้นการพัฒนาในการเกษตรโดยเป็นการลดรายจ่ายให้ภาคครัวเรือนในชนบทเป็นสำคัญ โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน โดยมีหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการมี 2 หมู่บ้าน คือ บ้านโป่งแค หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยโจด จำนวน 30 ครัวเรือน และบ้านหัวหนอง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านฝาง จำนวน 30 ครัวเรือน รวม 60 ครัวเรือน จากนั้นประธานได้กล่าวให้โอวาทและมอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตามลำดับ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้สนับสนุนปัจจัยการผลิต (เมล็ดพันธุ์ผัก) จำนวน 11 รายการ เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นกล่าวว่าตามโครงการลดรายจ่ายครัวเรือนเกษตรกรตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมทั้งร่วมเปิดโครงการ คนกระนวนฮักแพง ซึ่งเป็นโครงการของอำเภอกระนวนในการช่วยเหลือครอบครัวผู้ยากจนที่ไม่ผ่าน จปฐ.เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตและทุนทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้โดยใช้กลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของอำเภอ ซึ่งมีทีมงานลงพื้นที่ไปสำรวจและค้นหาจนพบว่าอำเภอมีครัวเรือนที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือจำนวน146 ครัวเรือนจาก 9 ตำบลโดยมีการร่วมแรงร่วมใจกันทั้งภาครัฐภาคเอกชนในอำเภอกระนวน สนับสนุนโครงการคนกระนวนฮักแพง เพื่อช่วยเหลือทั้ง 146 ครัวเรือนโดยมีการให้ความช่วยเหลือ ในการช่วยซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การให้ปัจจัยการประกอบอาชีพ มอบอุปกรณ์ช่างช่วยพัฒนาอาชีพ มอบปัจจัยการเลี้ยงเลี้ยงหมูรวมทั้งมอบพันธุ์ผัก รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 450,000 บาท



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น 

ผู้ว่าฯ สั่งขุดคันดินกั้นน้ำชีเปิดทางน้ำช่วยนาข้าวตำบลส้มป่อย-หนองบัวบาน

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอจัตุรัส ยังไม่คลี่คลาย น้ำในลำน้ำชียังคงเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร บ้านเรือนชาวบ้าน ผู้ว่าฯต้องสั่งขุดคันดิน ขวางทางน้ำ เพื่อระบายน้ำออกจากนาข้าว เป็นการเร่งด่วน

วันนี้ 26 กันยายน 2556 นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้สั่งใช้รถแบ๊คโฮ เข้าไปขุดคันดิน เปิดช่องทางเดินน้ำของคันดิน บริเวณบ้านหนองบัวบาน เป็นช่องกว้างประมาณ 3 เมตร จำนวน 4 ช่อง เพื่อเปิดทางให้น้ำจำนวนมาก ซึ่งไหลลงจากลำคันฉู และห้วยส้มป่อย ไหลมารวมกันที่ตำบลส้มป่อย อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ แต่ไม่สามารถไหลลงแม่น้ำชีได้ เนื่องจากติดคันดิน ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ สร้างไว้ ป้องกันน้ำชีเอ่อ ชาวบ้านเล่าว่า ปีที่แล้วน้ำไม่มากเหมือนปีนี้ สาเหตุเพราะน้ำระบายไม่ทัน จึงร้องผู้ว่าฯ ให้มาช่วยเปิดทางน้ำให้ ทำให้น้ำจำนวนมาก สามารถไหลลงคลองใยแก้ว ลงบึงละหาน และลงสู่แม่น้ำชีที่อยู่ด้านล่าง เป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ของชาวบ้านที่อยู่ด้านบน หลังชาวบ้านได้เรียกร้องให้ผู้ว่าฯ ช่วยเหลือ เพื่อระบายน้ำออกจากนาข้าว หลาย 1,000 ไร่ หากไม่เปิดทางน้ำตรงนี้ ชาวบ้านกว่า 800 ครอบครัว ในตำบลหนองบัวบานและตำบลส้มป่อย จะเดือดร้อนอีกนาน

นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ ชัยภูมิมีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และอยู่ในภาวะต้องดูแลและควบคุม รวม 8 อำเภอ 21 ตำบล พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมประมาณ 2 หมื่นไร่ ซึ่งมีพื้นที่อยู่ติดกับลำน้ำชี การขุดเปิดทางน้ำวันนี้ นอกจากช่วยนาข้าวจมน้ำแล้ว ยังเพิ่มพื้นที่รับน้ำฝน ที่อาจจะตกลงมาอีก ช่วง 27-28 กันยายนนี้ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ไว้ว่า ช่วงนี้จังหวัดชัยภูมิ จะได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศต่ำ จึงต้องเตรียมรับสถานการณ์เอาไว้ล่วงหน้า นอกจากจุดนี้แล้ว คันดินที่ อบจ.ชัยภูมิสร้างเอาไว้ ถูกน้ำกัดเซาะขาดอีกหลายจุด ทำให้น้ำจำนวนมหาศาล จากลำน้ำชี ไหลผ่านคันดิน เข้าท่วมพื้นที่อำเภอจัตุรัส และอำเภอเมืองชัยภูมิ ในเขตตำบลบ้านค่าย อาจท่วมขังถนนสี่เลนส์ สาย 201 ได้

จึงขอเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศ หรือคอยฟังเสียงตามสายของหมู่บ้าน อย่างใกล้ชิด ซึ่งทางราชการจะส่งข่าวผ่านเสียงตามสายอย่างต่อเนื่อง และให้เตรียมระวังภาวะน้ำท่วมในช่วงนี้ด้วย ด้านการให้ความช่วยเหลือ ยอมรับว่าขณะนี้ในพื้นที่อำเภอบ้านเขว้าหลายจุด ที่ระดับน้ำยังสูงกว่าหมู่บ้านประมาณ 2 เมตร ได้เน้นให้องค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมสร้างระบบแจ้งเตือนชาวบ้านจุดเสี่ยง หากระดับน้ำเพิ่มสูง น่าจะเป็นอันตราย สามารถสั่งอพยพได้ทันที เพื่อลดความสูญเสีย พร้อมเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค เข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที



สุระพงค์ สวัสดิ์ผล /ข่าว

น้ำจากลำน้ำชี ฝั่งติดกับตำบลส้มป่อย อ.จัตุรัส เอ่อท่วมหมู่บ้านถนนสูงเกือบ 1 เมตร

ชาวตำบลส้มป่อย อำเภอจัตุรัส กว่า 600 ครอบครัว เดือดร้อนหนัก หลังถูกน้ำชีเอ่อเข้าท่วม ถนนระหว่างหมู่บ้านสูงเกือบ 1 เมตร รถวิ่งผ่านไม่ได้ ต้องใช้เรือท้องแบนสัญจรแทน

ฝนที่ตกลงมาสะสมหลายวันที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำชีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เอ่อล้นฝั่งเข้าท่วมถนน พื้นที่การเกษตร บ้านเรือนราษฎรเป็นบริเวณกว้าง ล่าสุด ไหลเอ่อเข้าท่วมถนน เชื่อมหมู่บ้าน สูง 50-70 ซ.ม. รถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ชาวบ้านต้องใช้รถไถ รถยกสูง และเรือท้องแบน ตั้งแต่บ้านโนนเชือก หมู่ 3 – ไปบ้านบุตามี ม. 7 กุดตูม หมู่ 5 บ้านซาด ม. 6 ห้วยน้อย หมู่ 5 ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 600 ครอบครัว พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้างนับ 1,000 ไร่ โรงเรียนบ้านโนนเชือก ต้องสั่งปิดโรงเรียนหนีน้ำ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เกรงเด็กจะได้รับอันตราย ขณะเดินทางไปเรียนหนังสือ ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย น้ำยังคงมีท่าทีจะเพิ่มสูงขึ้น

นายอำนาจ จรแก้ว ตำบลส้มป่อย กล่าวว่า ช่วงนี้มีทางอำเภอนำข้าวกล่องมาบรรเทาครอบครัวที่เดือดร้อน กำลังประสานถุงยังชีพ สาเหตุที่น้ำท่วมหนัก เนื่องจาก น้ำชีจำนวนมากไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเล็กๆ ซึ่งเก็บน้ำได้ไม่มาก อยู่ท้ายหมู่บ้าน น้ำจำนวนมหาศาล จึงล้น ไหลบ่าเข้าท่วมหมู่บ้าน ซึ่งเปรียบเสมือนแก้มลิงขนาดใหญ่ อยากให้กรมชลประทาน นำงบประมาณมาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ให้ใหญ่บ้าน และทำฝายกั้นน้ำในลำน้ำชี ไม่ให้เอ่อเข้ามาท่วมอีก แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ทุกปีช่วงน้ำหลาก น้ำท่วมเป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้ แรงน้ำในลำน้ำชี ยังกัดเซาะ คันดินกั้นลำน้ำชี ซึ่ง อบจ.ชัยภูมิ สร้างกันน้ำชีล้นฝั่ง แต่ทนแรงดันน้ำไม่ไหว เกิดพังลงมา ขาดเป็นทางยาวประมาณ 30 เมตร ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนราษฎร บ้านหนองโสมง ตำบลทุ่งทอง อ.บ้านเขว้า เสียหาย กว่า 100 หลังเรือน ขณะนี้ หน่วยงานต่างๆกำลังเร่งลงไปแก้ไขและให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน




สุระพงค์ สวัสดิ์ผล /ข่าว

มท. 3 ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มอบนโยบายการบูรณการงานพัฒนาท้องถิ่นระหว่งาหน่วยงานท้องถิ่น และฝ่ายปกครอง ตามนโยบายของรัฐบาล

วันนี้ (26 ก.ย. 56) ที่อาคารชาติชาย ฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.3) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา โดยมี ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ ทั้งนี้เพื่อซักซ้อมความเข้าใจด้านการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารฝ่ายปกครอง ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน หมู่บ้าน ในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อบูรณการงานพัฒนาท้องถิ่นระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น และฝ่ายปกครอง ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ เพิ่มพูนวิสัยทัศน์ เสริมสร้างทัศนคติที่ดีระหว่างกันของฝ่ายปกครองและท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน โดยในการมอบนโยบายในครั้งนี้ได้มี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารฝ่ายปกครอง ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน หมู่บ้าน ในจังหวัดนครราชสีมาทั้ง 32 อำเภอ เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 4,473 คน



บึงกาฬเตรียมความพร้อมให้ผู้สมัคร “SMAST LADY THAI LAND”

วันนี้ (26 กันยายน 2556 ) เวลา 14.30 น. สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดบึงกาฬ นำโดย นางดาหวัน คนขยัน ประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ นำโดยนายมนัส สุขรุ่งเรือง พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ ได้จัดการประชุมเตรียมความพร้อมผู้สมัครเข้าร่วมโครงการคัดเลือกผู้นำสตรีรุ่นใหม่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี "SMAST LADY THAI LAND ผู้หญิงสวยด้วย....ความคิด” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ศูนย์การศึกษาจังหวัดบึงกาฬ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองกว่า 150 คน

การจัดประชุมในครั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้สมัครโครงการดังกล่าวและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและบทบาทสตรีผู้นำสตรีรุ่นใหม่ ให้เป็นพลังสร้างสรรค์พัฒนาประเทศและส่งเสริมบทบาทผู้นำสตรีในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายหน่วยงานมาให้ความรู้แก่ผู้สมัครได้แก่ พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬบรรยายในหัวข้อความเป็นมาของโครงการฯและการเตรียมความพร้อมของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯและวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดบึงกาฬบรรยายในหัวข้อ "ศูนย์ช่วยเหลือสังคม(OSCC)” วิทยากรจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬบรรยายในหัวข้อ "คุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามของสังคม วิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ศูนย์การศึกษาจังหวัดบึงกาฬ บรรยายในหัวข้อ "การเตรียมความพร้อมสตรีเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การสร้างเสริมบุคลิกภาพและการดำเนินชีวิตในสถาบันการศึกษา” และหัวข้อ "กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” โดยหัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมฯสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ ซี่งผู้สมัครจะได้นำความรู้ที่ได้ในวันนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและการประกวดที่กำลังจะเกิดขึ้น

กาชาดบึงกาฬมอบบ้านกาชาดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ

วันนี้ (26 กันยายน 2556) เวลา 10.00 น. นางประภาศิริ สัจจชลพันธ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬเป็นประธานในพิธีมอบบ้านกาชาดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 81 พรรษา 12 สิงหาคม 2556 ให้แก่นางทองม้วน สังฆนาม อยู่บ้านเลขที่ 222 บ้านศรีรุ่งเรือง ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ โดยมีนายนายโอภาส ชูฤทธิ์ นายอำเภอปากคาด กล่าวรายงานและต้อนรับ

เหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬ ได้จัดทำโครงการบ้านกาชาดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 81 พรรษา 12 สิงหาคม 2556 โดยสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ผู้ยากจน ที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย อำเภอละ 1 หลัง ราคาหลังละไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับอำเภอปากคาดได้คัดเลือกสร้างบ้านให้กับ นางม้วน สังฆนาม อายุ 60 ปี มีอาชีพรับจ้างทั่วไป อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 222 บ้านศรีรุ่งเรือง ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ บ้านเกิดอยู่ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านก้านเหลือง ปี 2505 สามีชื่อนายมี สังฆนาม มีอาชีพเป็นนักมวย เลียชีวิตมาประมาณ 8 ปี ด้วยโรคปอด และมีบุตรชายด้วยกัน 1คน อายุ 40ปี มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และมีหลานสาว 1คน อายุ 19ปีเป็นเด็กที่เรียนดี กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีที่ 2 ด้วยทุนของรัฐบาล สำหรับการก่อสร้างบ้านหลังนี้ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 อาทิตย์ ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านร่วมกันสร้างบ้านหลังนี้ด้วยความรวดเร็ว ทั้งนี้นายสา แสงสว่าง ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบึงกาฬ และนายมนัส สุขรุ่งเรือง พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ ได้มอบเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับยายทองม้วนอีกด้วย

จังหวัดบึงกาฬจัดงานฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระสังฆราช

วันนี้ (26 กันยายน 2556) เวลา 06.30 น. นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมศีลธรรมฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสฉลองพระชันษา 100 ปี 3 ตุลาคม เพื่อเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระกุศล ในฐานะที่ทรงมีคุณุปการต่อพุทธศาสนิกชนและประเทศชาติ ณ วัดโชติรสธรรมากร อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ โดยมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมพิธีจำนวนมาก

โครงการส่งเสริมศีลธรรมฉลองพระชันษา 100 ปี กรมศาสนาได้สั่งการให้วัดทั่วประเทศที่ได้รับประทานพระบรมสารีริกธาตุจากสมเด็จพระสังฆราช จัดงานสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ รวมทั้งกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ระหว่างวันที่ 29 กันยายนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2556 และให้ถือช่วงวันเวลาดังกล่าวของทุกปี เป็นเทศกาลฉลองสมโภชพระบรมสารีริกธาตุประจำประเทศไทย นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการพระประวัติ พระศาสนกิจ และพระเกียรติคุณของสมเด็จพระสังฆราชฯ วิดิทัศน์ และพระสุระเสียงพระธรรมกถาและลงนามถวายพระพร ณ วัดที่ได้รับประทานพระบรมสารีริกธาตุจากสมเด็จพระสังฆราชและจัดงานสมโภชพระบรมสารีริกธาตุทั่วประเทศ

ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดสระแก้วจัดพิธีมอบทุนมูลนิธิคุณพุ่ม

วันที่  25 ก.ย. 2556  ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสระแก้ว  นายภัครธรณ์  เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบทุนการศึกษามูลนิธิคุณพุ่มแก่เด็กออทิสติกและเด็กพิการในจังหวัดสระแก้ว จำนวน 103 ทุน ๆ ละ 5,000 บาท โดยศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดสระแก้วนำผู้ปกครองเด็กออทิสติกและเด็กพิการ เข้ารับทุนการศึกษาจากพระรูปของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีพร้อมทั้งมอบสื่อสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อบริการและความช่วยเหลืออื่นๆในด้านทางการศึกษา

สืบด้วยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีที่ทรงเข้าใจในฐานะพระมารดาที่ดูแลเอาใจใส่และพัฒนาการเรียนรู้ของพระโอรสอย่างใกล้ชิด ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ผู้ประทานกำเนิดมูลนิธิคุณพุ่ม ทรงเล็งเห็นว่าบุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้หรือบุคคลออทิสติกยังไม่ได้รับโอกาสอย่างทั่วถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าประทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นเงินทุนเริ่มสำหรับจดทะเบียนก่อตั้งเป็นมูลนิธิคุณพุ่มทะเบียนเลขที่ กท 1410 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2548 เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณพุ่ม พระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดีและทรงมีพระเมตตาประทานทุนให้เด็กที่เรียนในระบบ เด็กที่ขาดโอกาสเรียน เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษประเภทออทิสติก สติปัญญาและเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ ซึ่งมีฐานะยากจนเพื่อการดำรงชีวิตต่อไป

ประมงจังหวัดสระแก้วจัดโครงการปล่อยสัตว์น้ำ เนื่องในวันประมงแห่งชาติประจำปี 2556

วันที่ 24 ก.ย. 56  ที่ หมู่ที่2 หนองทุ่งทะเล ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2556

นายภัครธรณ์  เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมขึ้นในครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในแหล่งน้ำให้มากขึ้น เพราะจากการสำรวจทางสถิติพบว่า ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศในขณะนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะสาเหตุต่างๆหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรมีมากขึ้นกว่าอดีต แหล่งน้ำมีสภาพตื้นเขิน ไม่เหมาะที่จะเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำ และที่สำคัญมีประชาชนบางคนยังมีการใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายจับสัตว์น้ำ โดยการใช้กระแสไฟฟ้าในการจับปลาเป็นต้น

นายประเสริฐ มั่นศิริ ประมงจังหวัดสระแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมประมงมีนโยบายให้ทุกจังหวัดปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงในแหล่งน้ำสาธารณะที่มีความเหมาะสม เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรสัตว์น้ำ และเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้จับปลามาบริโภคเป็นการลดค่าใช้จ่าย และยังสามารถจับปลามาจำหน่ายเป็นรายได้เสริม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในชุมชนต่อไป และครั้งนี้สำนักงานประมงจังหวัดสระแก้ว ได้คัดเลือกแหล่งน้ำทุ่งทะเล หมู่ที่ 2 ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา เป็นแหล่งปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อให้ประชาชนที่อยู่รอบๆแหล่งน้ำทุ่งทะเล หมู่ที่ 2 ได้รับประโยชน์จากการปล่อยพันธุ์ปลาในครั้งนี้

สระแก้วป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปลอดจากเชื้อสุนัขบ้าทั้งคนและสัตว์

วันนี้ (24 ก.ย. 56) เวลา 09.00 น. ที่หอประชุมโรงเรียนทัพราชวิทยา คม อำเภอ ตาพระยา จังหวัดสระแก้ว นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานพิธีเปิดงาน "วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ประจำปี 2556 จังหวัดสระแก้ว” โดยมีนายยุทธนา นุชนารถ นายอำเภอตาพระยา หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ซึ่งจัดโดยสำนักงาน ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากวันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโล ก ทั้งนี้เพื่อควบคุมและป้องกันโร คพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดก ับคนอย่างต่อเนื่อง เป็นการลดการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ในสัตว์ และลดโอกาสแพร่เชื้อไวรัสโรคพิษสุนัข บ้าสู่คนด้วย ดังนั้น จังหวัดสระแก้ว โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแ ก้ว ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวั ดสระแก้ว องค์การบริหารส่วนตำบลทัพราช โรงเรียนทัพราชวิทยาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภา ครัฐและเอกชน จัดกิจกรรม "วันป้องกันพิษสุนัขบ้าโลก” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส ร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนให้มี ความรับผิดชอบในการนำสัตว์เลี้ย งของตนเองไปรับวัคซีนป้องกันโรค พิษสุนัขบ้าประจำปี และให้มีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า และเพื่อสามารถป้องกันตนเองและส ัตว์เลี้ยงจากโรคพิษสุนัขบ้าได้  รวมถึงเพื่อส่งเสริมการมีบทบาทแ ละการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระ ในการทำงานร่วมกันในการป้องกันก ารแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการให้บ ริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุน ัขบ้า การผ่าตัดทำหมัน การฉีดยาคุมกำเนิดสุนัขและแมว (ฟรี) การบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับพิ ษภัยของโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนแ ละสัตว์เลี้ยง และการจัดแสดงนิทรรศการทางวิชาก ารให้ความรู้เรื่อง โรคพิษสุนัขบ้า และในโอกาสเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมหัวหน้าส่วนราชการร่วมปล่อยขบวนรถรณรงค์ป้องกั นโรคพิษสุนัขบ้า อีกด้วย

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแ ก้วจึงขอเชิญพี่น้องประชาชนที่มีสุนัขและแมว นำไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในระหว่างวันที่ 25-30 กันยายน 2556โดยรับบริการได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแก้วและสำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกแห่ง

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์พระราชทานอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 54 จังหวัดอำนาจเจริญ

วันที่ 25 กันยายน 2556 เวลา 10.00 น. มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ได้มอบอุปกรณ์การเรียนพระราชทานแก่นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 54 จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมี นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธาน

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 54 จังหวัดอำนาจเจริญ เดิมชื่อ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์อำนาจเจริญ ได้รับการประกาศเปลี่ยนชื่อ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสพระชนมายุครบ 84 พรรษาปัจจุบันโรงเรียนจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2556 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 704 คน ชาย 312 คน หญิง 392 คน จัดการศึกษาทั้งระบบให้อยู่ประจำ และไป-กลับ โดยมีนักเรียนอยู่ประจำภายในโรงเรียน จำนวน 537 คน นักเรียนไป-กลับ จำนวน 167 คน คณะครู จำนวน 35 คน พนักงานราชการ จำนวน 15 คน มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในการรับนักเรียนเข้าเรียนทั้งจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดมุกดาหาร การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมุ่งเน้นที่จะพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตของนักเรียนให้สามารถออกไปดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และไม่เป็นภาระกับผู้อื่น

นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 54 จังหวัดอำนาจเจริญผ่านทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดอำนาจเจริญขอขอบคุณ หัวหน้าส่วนราชการ กรรมการสถานศึกษา คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านที่ได้ช่วยกำกับดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 54 แห่งนี้ มาเป็นอย่างดี เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองเป็นคนดีของบ้านเมืองในอนาคต พร้อมทั้งขอให้นักเรียนที่ได้รับพระราชทานอุปกรณ์การศึกษาในครั้งนี้ จงใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์การเรียนที่ได้รับพระราชทานในวันนี้ให้คุ้มค่าที่สุด เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป



สุรพล  บุตรวงศ์/ข่าว

ม.มหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ จัดพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ  นายวีระวัฒน์  ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ  พร้อมด้วยผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ  ข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ  คณาจารย์ บุคลากร และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ  ประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต  และวันมหิดล

วันนี้ (24 ก.ย. 56) เวลา 08.00 น.  ณ บริเวณห้องโถงอาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ นายวีระวัฒน์  ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก  และวันมหิดล   เพื่อเป็นการน้อมเกล้าถวายความกตัญญูกตเวทีและเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณให้ไพศาล แห่งพระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ซึ่งในระหว่างที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศ มาตราบจนทุกวันนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกและแสดงความกตัญญูกตเวที ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญพร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าส่วนราชการ   ข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ  คณาจารย์ บุคลากร และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ  จึงได้จัดพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในวันนี้



จรูญ  พิตะพันธ์ / ข่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญเรียกประชุมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ

เวลา ๑๓.๓๐ น. วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายอำเภอเมืองอำนาจเจริญ  องค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด แขวงการทางจังหวัด ทางหลวงชนบทจังหวัด โยธาธิการจังหวัด และเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ

การเรียกประชุมหารือครั้งนี้ เนื่องในช่วงหน้าฝนเกือบทุกปี จะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมถนนและพื้นที่ตั้งชุมชนในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนหน้าโรงพยาบาลอำนาจเจริญ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่สำรวจ พบว่ามีสาเหตุมาจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยานของชลประทานจังหวัดเอ่อล้นสปรินเวย์ ไหลล้นคลองระบายผ่านเข้าตัวเมือง และระบายไม่ทันอันเนื่องมาจากคลองระบายน้ำมีความตื้นเขิน และเศษขยะอุดตัน ประกอบกับประชาชนในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ มีการถมที่เพื่อปลูกสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างและมีดินบางส่วนไหลทับถมกินเนื้อที่คลองหรือลำห้วยที่ใช้ในการระบายน้ำมีความแคบลง โดยเฉพาะห้วยปลาแดก ซึ่งเป็นลำห้วยหลักที่จะระบายน้ำลงสู่ลำเซบก  หากเกิดฝนตกหนักหลายวัน จึงเป็นสาเหตุให้ปริมาณน้ำเอ่อท่วมถนนบางสาย เช่น ถนนบายพาส ถนนหน้าโรงพยาบาล และบางหมู่บ้านชุมชน เช่น บ้านบุ่งพัฒนา ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นประจำทุกปี

ซึ่งในที่ประชุมได้ข้อสรุปการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน คือการใช้แรงงานจากเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ และแรงงานจากผู้ต้องขังเรือนจำอำนาจเจริญ ลงทำการรื้อเศษขยะ และวัชพืช ผักตบชวา ขึ้นไม่ให้เป็นอุปสรรคขวางการไหลของน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำสามารถไหลรวดเร็วและคล่องตัวยิ่งขึ้น  ส่วนการแก้ไขในระยะยาวอย่างยั่งยืนนั้น ได้มอบหมายให้ทางเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหางบประมาณดำเนินการสร้างคลองระบายน้ำให้มีความถาวร ขณะเดียวกันให้พิจารณาออกกฎหมายเทศบาลเพื่อควบคุมการถมที่ของประชาชน โดยไม่ให้มีการรุกล้ำแม่น้ำลำคลองตามธรรมชาติ  รวมทั้งการสร้างถนนหนทางภายในเขตเทศบาลที่ขวางทางน้ำ ต้องมีการวางท่อระบายน้ำให้เพียงพอและมีขนาดตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในอนาคตต่อไป



สุรพล บุตรวงศ์ ปชส.อจ./ข่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญพร้อมด้วยเหล่ากาชาดจังหวัดเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพราษฎรบ้านดอนว่าน อ.หัวตะพาน ที่เดือดร้อนถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูงกว่า ๘๐ เซนติเมตรพื้นที่ทำการเกษตรอีกกว่า ๓ หมื่นไร่

ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยเหล่ากาชาดจังหวัดอำนาจเจริญ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและนำถุงยังชีพมอบช่วยเหลือราษฎรบ้านดอนว่าน ๖๒ ครัวเรือน ที่เดือดร้อนถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูงกว่า ๘๐ เซนติเมตร พร้อมสั่งการให้หน่วยงาน ปภ.และท้องถิ่นอำเภอ จัดเจ้าหน้าที่พร้อมตั้งศูนย์ช่วยเหลือประจำที่หมู่บ้าน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยการสนับสนุนจากหน่วยทหาร นพค.๕๑ จัดเตรียมเรือและรถบรรทุกสูงคอยอำนวยความสะดวกประชาชน

หลังจากที่เกิดฝนตกหนักหลายวันทำให้ปริมาณน้ำในลำเซบายมีระดับสูงขึ้น และพนังกั้นน้ำลำเซบายที่บริเวณบ้านดอนว่านตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เกิดพังทลายทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและไร่นาของราษฎร ในหลายหมู่บ้านของตำบลหัวตะพาน ได้แก่ บ้านดอนว่าน บ้านนาป่าแซง บ้านท่าวังหิน บ้านโสกสว่าง และบ้านหัวตะพาน ราษฎรได้รับผลกระทบกว่า ๒๖๐ ครัวเรือน และล่าสุดปริมาณน้ำได้ไหลท่วมพื้นที่เกษตรแผ่กว้างเกือบเต็มพื้นที่ประมาณ ๓ หมื่นกว่าไร่  โดยเฉพาะบ้านดอนว่าน ถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูงกว่า ๘๐ เซนติเมตร รถเล็กไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้  และ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๖ นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วย นางนิภาภรณ์ ชื่นวาริน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอำนาจเจริญ และส่วนราชการหลายหน่วยงาน ได้เดินทางโดยรถบรรทุกสูงของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๕๑ ลงไปพบปะเยี่ยมให้กำลังใจกับราษฎรพร้อมนำสิ่งของเครื่องใช้ ถุงยังชีพ ไปมอบช่วยเหลือในเบื้องต้น และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหัวตะพานได้จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปบริการตรวจสุขภาพ และเฝ้าระวังรักษาโรคระบาดที่มากับน้ำ เช่น โรคไข้หวัด และโรคเท้าเปื่อย  ขณะเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญสั่งการ ทาง ปภ.จังหวัด  อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดเจ้าหน้าที่  อปพร. อส. อยู่เวรยามเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย คอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนตลอด ๒๔ ชั่วโมง นอกจากนี้ทางหน่วยงานทหาร นพค.๕๑ อำนาจเจริญ ให้การสนับสนุน เรือ ๔ ลำ และรถบรรทุกสูง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ประจำในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือในการเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านของชาวบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมงเช่นกัน

ในการลงพื้นที่บ้านดอนว่านของผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญและคณะในครั้งนี้ ได้สร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก และขอบคุณทางราชการที่เอาใจใส่ดูแล คอยช่วยเหลือบำบัดทุกข์ จากปัญหาสาธารณภัยอย่างทันท่วงที มาโดยตลอด จึงทำให้ชาวบ้านที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ มีความอบอุ่นใจเป็นอย่างมากและฝากขอบคุณมายังทุกภาคส่วนที่คอยเป็นห่วงใยและส่งกำลังใจไปช่วยอยู่ตลอดเวลา



สุรพล บุตรวงศ์ ปชส.อจ./ข่าว

จังหวัดอำนาจเจริญประชุมคณะกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 35 ประจำปี 2557 “อำนาจเจริญเกมส์”

ตามที่จังหวัดอำนาจเจริญได้รับเกียรติจากกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 35 ประจำปี 2557 รอบคัดเลือกนักกีฬาตัวแทนเขต 3 ภาคอีสานตอนล่าง ระหว่างวันที่ 16 – 24 พฤศจิกายน 2556  ณ  จังหวัดอำนาจเจริญ  ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม จังหวัดอำนาจเจริญจึงได้ประชุมคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 35 ประจำปี 2557 ขึ้น ณ ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีนายวิฑูรย์  ศิริบูลย์ภักดี  รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธาน โดยประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า นอกจากจังหวัดอำนาจเจริญจะเป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 35 ประจำปี 2557 รอบคัดเลือกนักกีฬาตัวแทนเขต 3 แล้ว จังหวัดอำนาจเจริญ ยังได้รับมอบหมายจากกรมพละศึกษา ให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอำนาจเจริญร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 29 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ จัดการแข่งขันมหกรรมกีฬานักเรียน นักศึกษา ฉลอง 2 ทศวรรษ จังหวัดอำนาจเจริญ ประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 1 – 15 ตุลาคม 2556  ณ สนามกีฬาจังหวัดอำนาจเจริญ  โดยจัดให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาจำนวน 3 รุ่น คือ รุ่น อายุ 12 ปี 15 ปี และ 18 ปี ซึ่งรุ่นอายุ 12 ปี 15 ปี จะจบลงแค่รอบจังหวัด ส่วนรุ่น 18 ปี ทีมชนะเลิศจะได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนจังหวัดอำนาจเจริญไปเข้าร่วมการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 35 ประจำปี 2557 รอบคัดเลือกนักกีฬาตัวแทนเขต 3 ภาคอีสานตอนล่าง ระหว่างวันที่ 16 – 24 พฤศจิกายน 2556    สำหรับพิธีเปิดการแข่งขันมหกรรมกีฬานักเรียน นักศึกษา ฉลอง 2 ทศวรรษ จังหวัดอำนาจเจริญ ประจำปี 2556 จะมีขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 เวลา 14.00 น.  ณ สนามกีฬาจังหวัดอำนาจเจริญ  โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สมบัติ  คุรุพันธ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด

สำหรับการเตรียมความพร้อมในเรื่องของสนามกีฬา อุปกรณ์การแข่งขัน คณะกรรมการตัดสิน ที่พักนักกีฬา  ผู้ฝึกสอน และผู้ดูแลนักกีฬา  รวมถึงการจัดแพทย์ พยาบาลประจำตามสนามแข่งขันกีฬา และประจำตามที่พักนักกีฬา และการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลรักษาความสงบและความปลอดภัยตามสนามแข่งขันและที่พักนักกีฬาได้มีการเตรียมความพร้อมและประสานงานไว้ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว



จรูญ  พิตะพันธ์ / ข่าว

นายวิฑูรย์ นามบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัติพร้อมด้วย ผ.อ.สำนักงานสร้างทางที่ 2 กรมทางหลวงลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ

ตามที่ได้เกิดน้ำท่วมขังบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประจำทุกปีเมื่ออย่างเข้าสู่ฤดูฝน  ทำให้ประชาชนที่เดินทางสัญจรผ่านไปมาได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก  มาเป็นเวลากว่า 10 ปี   รถเล็ก รถเก๋ง รถกระบะ ไม่สามารถผ่านได้ โดยความสูงของน้ำประมาณ 70 – 90 เซนติเมตร และบ้านเรือนร้านค้า  ของชาวบ้านบริเวณสองข้างทางก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมากเช่นกันโดยเฉพาะบ้านชั้นเดียวไม่สามารถอยู่อาศัยได้เลย ต้องขนย้ายข้าวของไปอาศัยหลับนอนอยู่กับบ้านข้างเคียงที่เป็นสองชั้นขึ้นไป  ด้วยเหตุนี้  วันนี้ (23 ก.ย. 56) เวลา 14.30 น. ส.ส.วิฑูรย์  นามบุตร ซึ่งได้รับการร้องขอจากประชาชนชาวจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีความห่วงใย  จึงได้เชิญ นายสุทธิชัย  สนธิมูล ผ.อ.สำนักงานสร้างทางที่ 2 กรมทางหลวง เดินทางมาดูปัญหาและข้อเท็จจริงพร้อมทั้งร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด  นายกเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ และผู้นำชุมชนเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

ส.ส.วิฑูรย์  นามบุตร กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากต้องมีการสำรวจและวางแผนออกแบบในการก่อสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องของทางเทคนิค และทางด้านวิศกรรม อีกทั้งต้องมีการประชาสังคมว่าประชาชนต้องการแบบไหน ซึ่งขณะนี้มีงบประมาณอยู่แล้วประมาณ 1,700 ล้านบาท



จรูญ  พิตะพันธ์/ข่าว

พนังดินกั้นน้ำลำเซบายที่บ้านดอนว่าน อ.หัวพานพังทลาย น้ำไหลบ่าเข้าท่วมนาข้าวกว่า ๑ พันไร่

ที่จังหวัดอำนาจเจริญ รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณเช้ามืด วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๖ พนังกั้นน้ำ ที่ตั้งอาคารปิด-เปิด ระบายน้ำ กิโลเมตรที่ ๑๘ (คันได A) ที่บ้านดอนว่าน ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ของชลประทาน ได้เกิดพังทลายเป็นทางกว้างประมาณ ๓๐ เมตร ทำให้น้ำจากลำเซบายไหลทะลักเข้าท่วมที่นา และพื้นที่ทำการเกษตร  ประมาณ ๕๐๐ ไร่ หลังรับแจ้งเหตุ นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้เดินทางเข้าพื้นที่บัญชาการ พร้อมด้วยนายอำเภอหัวตะพาน หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอำนาจเจริญ  ชลประทานจังหวัดอำนาจเจริญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเบื้องต้นผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้สั่งการให้ทางอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการสำรวจความเสียหาย  และเตรียมแผนอพยพประชาชนบ้านดอนว่าน ๖๔ ครัวเรือน  ซึ่งขณะรายงานข่าวน้ำได้ไหลบ่าเข้าท่วมนาข้าวในที่ลุ่มของบ้านดอนว่าน หมู่ ๙  ทุ่งนาบ้านหัวตะพาน หมู่ ๑ และหมู่ ๗ บ้านโสกสว่าง หมู่ ๕ และบ้านท่าวังหิน หมู่ ๓ ประมาณ ๕๐๐ – ๑,๐๐๐ ไร่ ส่วนการช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นทางอำเภอหัวตะพานได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือขึ้นที่บ้านดอนว่าน โดยมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่บรรจุกระสอบทรายเสริมจุดพนังที่ทรุดตัวก่อนหน้านี้อย่างเร่งด่วน ส่วนทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับมอบหมายจัดเจ้าหน้าที่ อปพร.ให้เฝ้าระวังตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งการจัดเตรียมการอพยพประชาชนหากมีการท่วมรุนแรง โดยได้รับการสนับสนุนเรือท้องแบน รถบรรทุกสูง จากหน่วยทหาร นพค.๕๑ จังหวัดอำนาจเจริญ เข้าประจำการตลอด ๒๔ ชั่วโมง

สำหรับการแก้ไขซ่อมแซมพนังดินที่พังทลายนั้น นายเกียรติศักดิ์ ผัดวัง หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมชลประทานจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า เนื่องจากระดับน้ำของลำเซบายมีความสูงจากพื้นที่นอกพนังอยู่ประมาณ ๑ เมตร จึงต้องปล่อยให้น้ำที่ทะลักเข้ามาไหลเลาะไปตามนอกเขตพนัง ลงพักในหนองกุดนาแซง และหนองดูดเอี่ยนก่อน เมื่อระดับน้ำทั้ง ๒ ด้านมีระดับใกล้เคียงกัน จึงจะทำการปิดจุดที่พนังพังทลายเพื่อซ่อมแซม และระดมเครื่องสูบน้ำกลับลงลำเซบายโดยเร็ว เพื่อให้น้ำท่วมขังเป็นเวลาน้อยที่สุด  เพื่อความเสียหายกับข้าวในไร่นา จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกและคอยติดตามข่าวสารจากทางราชการและติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการออกหาปลาในบริเวณน้ำที่ไหลเชี่ยวเพราะอาจเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตได้



สุรพล บุตรวงศ์ ปชส.อจ./ข่าว/ภาพ

มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญจัดโครงการสัมนาเตรียมความพร้อมแผนชุมชนคนอำนาจเจริญสู่สังคมเข้มแข็ง

ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญเป็นประธานเปิดโครงการสัมนาเตรียมความพร้อมแผนชุมชนคนอำนาจเจริญสู่สังคมเข้มแข็ง

วันที่ 23 ก.ย. 56  เวลา 09.15 น. ที่ห้องประชุม100 ที่นั่ง อาคารดลเมธา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานเปิดโครงการสัมนาเตรียมความพร้อมแผนชุมชนคนอำนาจเจริญสู่สังคมเข้มแข็ง สืบเนื่องจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการสัมมนาขึ้น เพื่อระดมความคิดของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารจังหวัด และภาคประชาชน จนได้ข้อสรุปและเกิดเป็นยุทธศาสตร์ของวิทยาเขตอำนาจเจริญ คือ ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยของท้องถิ่นและในการที่จะดำเนินงานตามยุทธศาสตร์นั้นจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกภาคส่วน รวมถึงสร้างความเข้าใจในแนวทาง การพัฒนาแผนชุมชนเพื่อขับเคลื่อนชุมชนและเกิดประโยชน์ต่อชุมชนในวงกว้าง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นคร เหมะ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่า เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน จึงได้จัดโครงการสัมนาเตรียมความพร้อมแผนชุมชนคนอำนาจเจริญสู่สังคมเข้มแข็งขึ้น เพื่อที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะสร้างความเข้าใจในการพัฒนาแผนชุมชนกับภาคีเครือข่าย และร่วมกันหาแนวทางขับเคลื่อนแผนชุมชน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนอย่างยั่งยืน

ในการสัมมนาครั้งนี้ มีวิทยากร โดย ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ มาให้ความรู้ในเรื่อง "การเรียนรู้และการสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น”และมีการแบ่งการสนทนาออกเป็นกลุ่มย่อย ในหัวข้อ "แนวความคิดและแผนการปฏิบัติการชุมชนเข้มแข็ง เพื่อสร้างสุขภาวะชุมชน สุขภาวะสังคม และสร้างมหาวิทยาลัยวิจัยของท้องถิ่น ตามแนวคิดของคนอำนาจเจริญ เป็นอย่างไร ?” และนำเสนอข้อสรุปของแต่ละกลุ่มย่อย โดยตัวแทนของแต่ละกลุ่มเพื่อ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเวที และเป็นแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนคนอำนาจเจริญสู่สังคมเข้มแข็งต่อไป



กฤษดา เนตรพันธ์ / ข่าว/ภาพ

อุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนฝนตกหนักในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง

อุบลราชธานี : แจ้งเตือนประชาชนให้ระวังฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงช่วงวันที่ ๒๘-๒๙ ก.ย.๕๖ จากอิทธิพลของร่องมรสุม ส่วนวันที่ ๓๐ ก.ย. – ๑ ต.ค.๕๖ จะมีฝนมากขึ้นจากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำจากทะเลจีนใต้ซึ่งจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ ๔ ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๖ บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ร่องมรสุมมีกำลังแรงขึ้นและพาดผ่านประเทศไทย ดังนี้ ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๖ จะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน แพร่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬและนครพนม ในช่วงวันที่ ๒๖ – ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖ จะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัด ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหารและยโสธร ส่วนช่วงวันที่ ๒๘-๒๙ กันยายน ๒๕๕๖ จะพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษและอุบลราชธานี ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝนเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงได้บางพื้นที่ตามแนวร่องมรสุม จึงให้ประชาชนตามบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักไว้ด้วย และพร้อมนี้หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่นและเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งประเทศเวียดนามในช่วงวันที่ ๓๐ ก.ย. – ๑ ต.ค.๕๖ นี้ ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง

ส่วนสถานการณ์น้ำในลำน้ำมูลที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี ระดับน้ำล้นตลิ่ง เวลา ๐๓.๐๐ น. เมื่อวันที่ ๒๒ ก.ย.๕๖ วัดได้ ๗.๐๒ เมตร และเวลา ๐๖.๐๐ น. วันที่ ๒๕ ก.ย.๕๖ วัดได้ ๘.๐๐ ม. ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง ๑.๐๐ ม. ปริมาณน้ำ ๓,๐๔๐ ลบ.ม./วินาที คาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น ๓,๐๐๐ – ๓,๕๐๐ ลบ.ม/วินาที ในวันที่ ๒๕-๒๗ ก.ย.๕๖ ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ประสบภัย ๑๙ อำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองอุบลราชธานี,ดอนมดแดง,ตระการพืชผล,สำโรง,น้ำยืน,ตาลสุม,บุณฑริก,สิรินธร,พิบูลมังสาหาร,เดชอุดม,ศรีเมืองใหม่, นาเยีย,วารินชำราบ,นาจะหลวย,เหล่าเสือโก้ก,โขงเจียม,สว่างวีระวงศ์,ม่วงสามสิบ,เขื่องใน และหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน ๑๔ วัน



พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ส.ปชส.อุบลราชธานี
๐๘๑ – ๙๒๔ ๘๖๐๙ /ข่าว/ ๒๕ ก.ย.๕๖ 

พัฒนาชุมชนอุบลราชธานี ประชุมรับรองผลการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP

อุบลราชธานี : เชิญคณะกรรมการฯ ประชุมพิจารณารับรองผลการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเครือข่ายองค์ความรู้ KOB ที่พัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตชุมชน จำนวน ๑๕๘ กลุ่มและกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้ระดับ ๑-๒ ดาว อีก ๒๓ กลุ่ม จำนวน ๑๘๑ ผลิตภัณฑ์

เช้าวันนี้ (๒๕ ก.ย.๕๖) นายฉลอง ประดับสุข พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้ระดับจังหวัด (Knowledge – Based OTOP : KOB) ที่โรงแรมรีเจนท์พาเลช อำเภอเมืองอุบลราชธานี เพื่อพิจารณารับรองผลการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ทั้งนี้เนื่องจากในปีงบประมาณ ๒๕๕๖ กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตชุมชน โดยเครือข่ายองค์ความรู้ระดับจังหวัด (Knowledge – Based OTOP : KOB) ซึ่งได้ดำเนินกิจกรมหลัก ๒ กิจกรรม ได้แก่การพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตชุมชน จำนวน ๑๕๘ กลุ่มและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ได้คะแนนระดับ ๑-๒ ดาว อีก ๒๓ กลุ่ม ซึ่งได้จัดฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์, การตลาด, การสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์, การวิพากษ์ผลงานที่ได้รับการพัฒนา ซึ่งกลุ่มฯ ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งด้านคุณภาพ,รูปแบบ,ฉลาก,บรรจุภัณฑ์, ในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน ๗๐ ผลิตภัณฑ์,ประเภทของใช้ ๘๙ ผลิตภัณฑ์, ประเภทอาหาร ๑๙ ผลิตภัณฑ์, ประเภทเครื่องดื่ม ๒ ผลิตภัณฑ์และประเภทสมุนไพร ๑ ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น ๑๘๑ ผลิตภัณฑ์

และจากการพิจารณาคณะกรรมการฯ ได้ให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการปรับปรุงและพัฒนา ทั้ง ๑๘๑ ผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพิ่มเติมในบางส่วนเพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์,การใช้สี การสื่อความหมายของผลิตภัณฑ์ต่อกลุ่มผู้ใช้,วัสดุที่ใช้และประโยชน์คุ้มค่าของการนำไปใช้งาน ซึ่งเครือข่ายองค์ความรู้ระดับจังหวัด (Knowledge – Based OTOP : KOB) จะได้นำไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้นต่อไป



พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ส.ปชส.อุบลราชธานี
๐๘๑ – ๙๒๔ ๘๖๐๙ /ข่าว/ ๒๕ ก.ย.๕๖ 

รองประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์เคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดอุบลราชธานี มอบ ชุดอุปกรณ์การเรียนพระราชทานให้กับนักเรียนในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อเช้าวันที่ 24 ก.ย. 56   เมื่อเวลา 10.00 น. นางนภา ศกุนตนาค รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะ รอง ประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์เคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ เดินทางมามอบชุดอุปกรณ์การเรียนพระราชทานให้กับนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 32 ที่ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 733 ชุด เนื่องจากนักเรียนยังขาดแคลนอุปกรณ์การการเรียนการสอน โดยโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 32 จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโรงเรียนแบบสหศึกษาที่รับเด็กนักเรียนในพื้นที่จังหวัดอุบลหรือใกล้เคียง ที่กำพร้าเร่ร่อน ขาดผู้อุปการะ หรือผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่ยากไร้ทางเศรษฐกิจ เข้ามาศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้ หลังจากนั้นได้เดินทางไปชุดอุปกรณ์การเรียนพระราชทานให้กับนักเรียน โรงเรียนเบ็ตตี้ดูเมน 2 ช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จำนวน 821 ชุด และโรงเรียนเสาวนิต อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 155 ชุด

รองประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์เคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ กล่าวให้โอวาทแก่นักเรียน ได้ตระหนัก ในพระมหา กรุณาธิคุณแห่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและขอให้ตั้งปณิธานปฏิบัติตนเป็นพลเมือของชาติเพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตาคุณและแสดงความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม จริยธรรม และคนเป็นคนดีของสังคม




จักรกฤษณ์ มาลาสาย /ข่าว
ทองปัก ทวีสุข/ภาพ

สสจ.อุบลราชธานี สรุปผลการดำเนินงานอาหารปลอดภัยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ปี ๕๖

อุบลราชธานี : สรุปผลการดำเนินงาน ประจำปี ๒๕๕๖ ด้านการตรวจสอบสถานประกอบการแปรรูปอาหารที่บรรจุภาชนะพร้อมจำหน่าย (สำหรับสินค้า OTOP) ตลาดสด,ตลาดนัดน่าซื้อ,ร้านอาหารและแผงลอย,โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขผ่านเกณฑ์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการขั้นพื้นฐานและการสุ่มตัวอย่างอาหารเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยจากแหล่งจำหน่าย ทุกด้านล้วนผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย

นางศิริวิทย์ หลิ่มโตประเสริฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาหารปลอดภัยจังหวัดอุบลราชธานี ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการดำเนินงานอาหารปลอดภัยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการอาหารปลอดภัยจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายหน่วยงาน และได้ดำเนินการตามภารกิจที่เกี่ยวข้องในด้าน การตรวจสอบสถานประกอบการแปรรูปอาหารที่บรรจุภาชนะพร้อมจำหน่าย (สำหรับสินค้า OTOP) ได้รับการอบรมและตรวจประเมินตามเกณฑ์ Primary GMP เป้าหมายดำเนินการ ๓๐ แห่ง ดำเนินการ ๓๖ แห่ง ผ่านเกณฑ์ ๓๓ แห่ง, ด้านตลาดประเภทที่ ๑ (ตลาดสด) เป้าหมายดำเนินการ ๓๗ แห่ง ผ่านเกณฑ์ทุกแห่ง, ด้านตลาดประเภทที่ ๒ (ตลาดนัด) เป้าหมายดำเนินการ ๔ แห่ง ผ่านเกณฑ์ทุกแห่ง,ด้านร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารผ่านเกณฑ์ Clean Food Good Test เป้าหมายดำเนินการ ๓,๙๐๓ ร้าน ผ่านเกณฑ์ ๓,๓๓๘ แห่ง,ด้านโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขผ่านเกณฑ์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการขั้นพื้นฐาน เป้าหมายดำเนินการ ๒๒ แห่ง ผ่านเกณฑ์ ๑๖ แห่งและที่เหลืออยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลรายงานผลและมีการสุ่มตัวอย่างอาหารเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยจากแหล่งจำหน่าย ซึ่งมีเป้าหมายการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบ ๒๔,๙๓๓ ตัวอย่าง สามารถดำเนินการได้ ๕๖,๗๓๑ ตัวอย่างและ ผ่านเกณฑ์ จำนวน ๕๖,๗๒๖ ตัวอย่าง ซึ่งมีการตรวจสอบอาหารที่ปนเปื้อนจุลินทรีย์ เช่น สารเร่งเนื้อแดง บอแรกซ์ สารฟอกขาว ฟอร์มารีน น้ำมันทอดซ้ำ น้ำบริโภค อาหารพร้อมบริโภค นมโรงเรียน เส้นก๋วยเตี๋ยว ไม่พบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ แต่ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในพริก ซึ่งในการตรวจสอบดังกล่าว ได้ตรวจสอบตามรถเร่, โรงพยาบาลและในโรงเรียน

ส่วนการดำเนินโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเป้าหมายในปี ๒๕๕๖ ดำเนินการไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๓๖๕ โรงเรียน ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน ๑๔๔ แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๒๖๔ แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ๑๐๖ แห่ง ส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานส่วนมากมีสาเหตุจากข้อจำกัดด้านอาคาร สถานที่ ที่ไม่สามารถขยายพื้นที่ให้ห่างจากแหล่งที่ไม่ปลอดภัย เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม และในปี ๒๕๕๖ มีเป้าหมายดำเนินการไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ของโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่มีในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี



พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ส.ปชส.อุบลราชธานี
๐๘๑ – ๙๒๔ ๘๖๐๙ /ข่าว/ ๒๔ ก.ย.๕๖ 

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี นำน้ำดื่มสะอาด แจกจ่ายให้ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่อำเภอเดชอุดม และอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี

วันที่ 23 ก.ย. 56  นายสุเมธ อำภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี มอบ น้ำดื่ม สะอาดบรรจุขวด จำนวน 5,000 ขวด ผ่านนาย คำรบ เครือณรงค์ นายอำ เภอนาเยีย และนายเศรษฐการย์ ทิพย์สุวรรณ นายอำเภอเดชอุดม เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลนาเยีย อำเภอนาเยีย และตำบลโพนงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยประชาชนประสบปัญหาน้ำดื่ม สะอาดไม่เพียงพอ

ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้น โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมจะผลิตน้ำดื่ม สะอาด จำนวน 1 หมื่นขวด และนำรถผลิตน้ำดื่ม สะอาดที่สามารถผลิตน้ำได้ 100 ลิตร/ชั่วโมง และเครื่องสูบน้ำ จำนวน 5 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชน และ ให้กับหน่วยงาน ภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต้องการความช่วย เหลือจน และจะดำเนินการผลิต น้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายผู้ประสบภัยน้ำท่วมไป จนสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ



จักรกฤษณ์ มาลาสาย/ข่าว
ทองปัก ทวีสุข/ภาพ

อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ๑๕ อำเภอ ราษฎรเดือดร้อน ๑๘๑,๖๒๕ คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย

อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ๑๕ อำเภอ ราษฎรเดือดร้อน ๑๘๑,๖๒๕ คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๔๕,๒๙๗ ไร่

อุบลราชธานี : สำรวจความเสียหายเบื้องต้นจากอุทกภัยพบ ๑๕ อำเภอได้รับผลกระทบ จำนวน ๔๘ ตำบล ๔๐๒ หมู่บ้าน ๓๘,๘๔๙ ครัวเรือน ราษฎรเดือดร้อน ๑๘๑,๖๒๕ คน ครัวเรือนเสียหายบางส่วน ๓๑๒ หลัง ถนนเสียหาย ๗๐ สาย สะพาน ๑๒ แห่ง โรงเรียน ๓ แห่ง พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๔๕,๒๙๗ ไร่ บ่อปลา ๒,๐๓๐ บ่อ ขณะที่จังหวัดเร่งบูรณาการหน่วยงานให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากการที่จังหวัดอุบลราชธานี มีฝนตกคลอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๖ เป็นต้นมา จากพายุไต้ฝุ่น อุซางิ ที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี ได้เร่งสำรวจความเสียหายเบื้องต้น พบว่า มี ๑๕ อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่อำเภอเมืองอุบลราชธานี,ดอนมดแดง,ตระการพืชผล,สำโรง,น้ำยืน,ตาลสุม,บุณฑริก,สิรินธร,พิบูลมังสาหาร,เดชอุดม,ศรีเมืองใหม่,นาเยีย,วารินชำราบ,นาจะหลวยและโขงเจียม ซึ่งมีราษฎรได้รับผลกระทบใน ๔๘ ตำบล ๔๐๒ หมู่บ้าน ๓๘,๘๔๙ ครัวเรือน ราษฎรเดือดร้อน ๑๘๑,๖๒๕ คน ครัวเรือนเสียหายบางส่วน ๓๑๒ หลัง ราษฎรอพยพ ๑๗ ครัวเรือน จำนวน ๓๒ ราย ถนนเสียหาย ๗๐ สาย สะพาน ๑๒ แห่ง โรงเรียน ๓ แห่ง พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๔๕,๒๙๗ ไร่ บ่อปลา ๒,๐๓๐ บ่อ

ในด้านการให้ความช่วยเหลือนั้น จังหวัดอุบลราชธานี โดยศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี สนับสนุนเรือท้องแบนสำหรับช่วยเหลือประชาชน ๕๐ ลำ ห้องน้ำเคลื่อนที่ ๕ ห้อง เต็นท์สนาม ๑๕ หลังเสื้อชูชีพ ๑๐ ตัว รถกู้ภัย ๓ คัน รถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก ๖ คัน รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ ๖ คัน รถยนต์บรรทุกเทท้าย ๒ คัน รถยนต์บรรทุกสัมภาระ ๑ คัน รถขุดตัก ๑ คันและรุยนต์บรรทุกลากจูงพ่วงชานต่ำ ๑ คัน กำลังพลปฏิบัติงานกว่า ๕๐๐ นาย นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานในพื้นที่ให้การช่วยเหลือราษฎร เช่นหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๓๖ อำเภอเดชอุดม สนับสนุนยานพาหนะช่วยเหลือราษฎรในการเดินทางในพื้นที่ถนนถูกน้ำท่วมและการซ่อมแซมถนนที่เสียหาย,กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๒ สนับสนุนยานพาหนะและเรือท้องแบนช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่อำเภอโขงเจียม,สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด จัดเตรียมสถานที่และหญ้าแห้งรองรับการเคลื่อนย้ายสัตย์,สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สนับสนุนน้ำดื่มบรรจุขวดและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทุกพื้นที่เตรียมให้การช่วยเหลือผู้ป่วยและฟื้นฟูภายหลังน้ำลด



พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ส.ปชส.อุบลราชธานี
๐๘๑ – ๙๒๔ ๘๖๐๙ /ข่าว/ ๒๓ ก.ย. ๕๖