วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เกษตรกรสุรินทร์ปลูกมะนาวนอกฤดูกาล สร้างรายได้วันละ 9,000 บาท

ที่บริเวณสวนท้ายหมู่บ้านบ้านกะเพอโร ซึ่งเป็นบ้านของนายสมนึก  ชลารัตน์ อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 46 หมู่ที่ 1 บ้านโชค ต.ตาเบา อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ มีเนื้อที่ 5 ไร่   แบ่งเป็นที่พักอาศัย  สระน้ำ  โรงเรือนเพาะไส้เดือน  โรงเรือนเก็บเชื้อเห็ด และพื้นที่ปลูกต้นมะนาวจำนวน 300 ต้น เก็บผลผลิตได้วันละ 3,000 ลูก ขายหน้าสวนลูกละ 3 บาท สร้างรายได้วันละ 9,000 บาท   นอกจากนั้นยังมีรายได้จากการตอนกิ่งมะนาวขายกิ่งละ 100 บาท ซึ่งไม่พอกับความต้องการของตลาด

นายสมนึก  ชลารัตน์ กล่าวว่า เดิมมีอาชีพทำนา มีต้นมะนาวไม่กี่ต้นซึ่งมะนาวจะให้ผลผลิตได้เฉพาะฤดูกาลเท่านั้น จึงคิดหาวิธีการทำให้มะนาวออกลูกในช่วงหน้าแล้ง  จึงไปอบรมและศึกษาการปลูกมะมาวนอกฤดูกาล จากสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ จากนั้นได้ปลูกมะนาว โดยใช้ท่อซีเมนต์ ต้นละ 2 ท่อ สาเหตุที่ใช้ท่อซีเมนต์ 2 ท่อเพื่อเพิ่มอายุของต้นมะนาวให้มีอายุถึง 20 ปี ในช่วงแรกปลูกเพียง 100 ต้น โดยใช้ใส้เดือนช่วยพรวนดิน ทำให้ดินโปร่ง พร้อมปล่อยน้ำให้พอเหมาะ ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเวลา 10.00 น.  ถ้าต้องการให้มะนาวออกผลช่วงนอกฤดูกาล จะต้องมีกรรมวิธีในการบังคับให้มะนาวออกนอกฤดูกาลโดยใช้พสาติกคลุมบริเวณปากท่อซีเมนต์โคนต้นมะนาวให้มิดชิด ไม่ให้น้ำและแสงเข้าไป ใช้เวลาประมาณ 10 วัน แล้วให้หมั่นสังเกต หากต้นมะนาวเริ่มเหี่ยวเฉา ให้เปิดถุงพสาสติกออก แล้วเริ่มให้น้ำและบำรุงดูแลเป็นปกติ

นายสมนึก  ชลารัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของการเพาะไส้เดือนเพื่อเอามูลไส้เดือนเป็นปุ๋ยใส่ต้นมะนาวนั้น ช่วงแรกซื้อไส้เดือนราคากิโลกรัมละ 25 บาท แต่ปัจจุบันได้สร้างโรงเรือนเพาะไส้เดือนเอง โดยได้นำเอาก้อนเชื้อเห็ดเก่าที่เสียแล้วนำมาผสมน้ำหมักมันสำปะหลัง คลุกเคล้ากับกากมะพร้าวใส่ในบ่อซีเมนต์  จากนั้นใส่ไข่ไส้เดือนปิดคลุมด้วยผ้าพลาสติก  เมื่อไส้เดือนฟักตัวอ่อนจึงเอาไปใส่กาละมังและเก็บไว้ในโรงเรือน เพื่อให้ใส้เดือนเจริญเติบโตและถ่ายมูลในกาละมัง จะได้ปุ๋ยคุณภาพสูง ซึ่งขณะนี้มีกาละมังภาชนะใส่ไส้เดือนในโรงเรือนมากถึง 500 ใบ และในปีหน้าตั้งเป้าขยายให้ได้ถึง 2,000 ใบ กาละมังแต่ละใบบรรจุมูลไส้เดือนหนักประมาณ 40 กิโลกรัม  จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 8 บาท แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

ด้านนายวันชัย  ทิพย์อักษร เกษตรจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ได้นำหัวหน้ากลุ่มงานเข้าเยี่ยมชม และติดตามผลการดำเนินงาน  พร้อมให้กำลังใจเกษตรกรหลังจากที่ให้การสนับสนุนในด้านวิชาการแล้ว ซึ่งเกษตรกรประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  สร้างกำไรจากการทำการเกษตรอย่างมาก  นอกจากนั้นยังสามารถตอนกิ่งมะนาวพันธุ์พิจิตร  1 เพื่อจำหน่ายในราคากิ่งละ100 บาท โดยมีพ่อค้ามารับซื้อที่หน้าสวน ซึ่ง สำนักงานเกษตรสุรินทร์จะได้จัดโครงการให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เข้ามาศึกษาดูงานการปลูกมะนาวนอกฤดูกาล และการเพาะไส้เดือนขายต่อไป




นิ่มนวล  มานาดี / อปม.สุรินทร์ /รายงาน
สมทรง เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ /เรียบเรียง

ประชาชนจำนวนมากมารับบริการจากโครงการสุรินทร์สร้างสุขสร้างรอยยิ้ม

ประชาชนชาวตำบลหนองบัว อ. ศีขรภูมิ เป็นจำนวนมากรับบริการจากโครงการสุรินทร์สร้างสุข สร้างรอยยิ้ม

วันที่ 19 มิ.ย. 2556 ที่โรงเรียนบ้านสะโน ต. หนองบัว อ. ศีขรภูมิ จ. สุรินทร์ นายวิเชียร  จันทรโณทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในการเปิดงานโครงการสุรินทร์สร้างสุข สร้างรอยยิ้ม โดยจังหวัดสุรินทร์ ได้นำหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนออกให้บริการแก่ประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อยู่ห่างไกลไม่ต้องเดินทางเข้าไปรับบริการในตัวอำเภอ หรือจังหวัดเป็นการลดค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง พร้อมกันนี้ได้มอบทุนการศึกษา มอบรถจักรยาน ให้แก่นักเรียนทียังขาดแคลน มอบเครื่องอุปโภค บริโภคแก่ผู้ยากไร้และคนชรา มอบโฉลดที่ดินแก่เกษตรกร และมอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยก่อนหน้านั้นได้มอบบ้านตามโครงการบ้านธารน้ำใจให้แก่ครอบครัวของนายจิรายุ  นิลงาม อยู่บ้านเลขที่ 42 ม. 11 ต. หนองบัว อ. ศีขรภูมิ จ. สุรินทร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ยากไร้ได้รับการประชาคมหมู่บ้านให้ได้รับบ้านในครั้งนี้ โดยได้รับงบประมาณในการสร้างจากที่ทำการปกครองจังหวัดสุรินทร์ 50,000 บาท อบต.หนองบัว 40,000 บาท และหน่วยงานจากกระทรวงเกษตรฯมอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์มอบเครื่องอุปโภค บริโภค พร้อมกันนี้ได้รับความช่วยเหลือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ. ศีขรภูมในการมอบอุปกรณ์ไฟฟ้า และเดินระบบไฟฟ้าแสงสว่างให้ฟรีอีกด้วย  และในโอกาสเดียวกันนี้ได้มอบบ้านตามโครงการบ้านเทิดไท้ องค์ราชันย์ ให้กับผู้ยากไร้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ ให้กับนายยงยุทธ ดวงศรี บ้านสะโน ม. 5 ต. หนองบัว อ. ศีขรภูมิ จ. สุรินทร์ อีกดด้วย



ประนนท์  ไม้หอม ส.ปชส.สุรินทร์ รายงาน

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สุรินทร์ ร่วมกับโรงเรียนมัธยมศึกษา 5 แห่งใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา จัดอบรมลูกเสืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับโรงเรียนมัธยมศึกษา 5 แห่งใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา จัดอบรมลูกเสืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำลูกเสือเข้าค่าย ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ดูพื้นที่ป่าจริง สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม้
วันนี้ (19 มิ.ย. 56) เวลา 10.30 น. นายนิรันดร์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุรินทร์ ได้เปิดการฝึกอบรมลูกเสืออนุรักษ์ทรัพย์กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้น ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียน 5 แห่ง ใกล้ป่าไม้ชายแดนไทย-กัมพูชา ในพื้นที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เข้าร่วมฝึกอบรมในครั้งนี้ จำนวน 100 คน ซึ่งนักเรียนลูกเสือ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้เรียนรู้และสัมผัสป่าไม้จริง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่มีความสมบูรณ์ มีไม้หลากหลายพันธุ์ให้นักเรียน ได้เรียนรู้ และเห็นคุณค่าของป่าไม้แหล่งต้นน้ำสายสำคัญของจังหวัดสุรินทร์ และได้มีจิตสำนึกในการหวงแหนและดูแลทรัพยากรป่าไม้ ให้สมบูรณ์ คู่กับชาติไทยตลอดไป



เกศริน ผดุงกิจ  ส.ปชส.สุรินทร์ รายงาน

ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคอีสาน เผย จังหวัดที่อยู่ในจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ยังคงประสบภัยแล้งอยู่

ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผย จังหวัดที่อยู่ในการปฏิบัติการทำฝนหลวง 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ยังคงประสบภัยแล้งอยู่ถึงแม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม

วันนี้ (19 มิ.ย. 56) นายปนิธิ เสมอวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกรมฝนหลวง และการบินเกษตร กล่าวภายหลังจาก การขึ้นบินสำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ทางการเกษตรที่อยู่ในความรับผิดชอบ ขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งในเขตจังหวัดชัยภูมิ-สุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ ถึงแม้ว่าในช่วงนี้จะเข้าสู่ฤดูฝน ว่า ฝนที่ตกส่วนใหญ่ ตกที่ท้ายอ่างจึงเป็นปัจจัย ที่ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำหลักๆ 4 จังหวัดนี้ น้อยกว่าเกณฑ์ ที่คาดการณ์เอาไว้ หากเปรียบเทียบกับทุกปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกัน รวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตร ยังเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งฝนทิ้งช่วง ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นทำการโปรยสารเคมีทำฝนหลวง ด้วยเครื่องบินลำเลียง แบบ บีที 67 ที่บรรทุกสารทำฝนหลวงได้ มากว่า 3 ตัน ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ถึงวันนี้ (19 มิ.ย.) รวม 81 เที่ยวบิน ซึ่งก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง โดยมีฝนตกเฉลี่ย 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในอ่าง และพื้นที่ทำการเกษตรได้ ดังนั้นทางศูนย์ปฏิบัติการทำฝนหลวงอาจจะมีการปรับแผนการทำงาน โดยเพิ่มจำนวนบิน จาก 2 เที่ยวต่อวัน เป็นวันละ 3 หรือ 4 เที่ยวบิน แต่ถึงอย่างไรก็ตามต้องดูสภาพอากาศ ว่า มีความเหมาะสมที่จะขึ้นปฏิบัติการหรือไม่



iNews NBT  รายงาน

วัฒนธรรมสุรินทร์ ติวเข้ม “1อำเภอ 1ร้านเกมส์สีขาว “

วันที่ 19 มิถุนายน 2556 ที่โรงแรมทองธารินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายพิภพ ดำทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย พลตำรวจตรีชัยทัต อินทนูจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ ร่วมเปิดงานตามโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแนวทางการปฎิบัติตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2556 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภาพนยตร์และวีดิทัศน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการกิจการในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ปฎิบัติตามระเบียบข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วยนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ปลัดเทศบาล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฎิบัติหน้าที่สายงานสืบสวนและงานป้องกันปราบปราม และผู้ประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 200 คน

จากนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้มอบใบประกาศนียบัตรให้แก่ร้านเกมส์ตัวอย่าง ตามโครงการ “1อำเภอ 1 ร้านเกมส์สีขาว “ซึ่งมีร้านเกมส์ จำนวน 17 อำเภอเข้ารับในครั้งนี้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านเกมส์ได้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนพัฒนาร้านเกมส์ เป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยของเด็กและเยาวชน นายอุทัย พลพวก วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันร้านเกมส์และร้านคาราโอเกะ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ทั้งยังเป็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติดการก่ออาชญากรรมต่างๆ อย่างที่เป็นข่าวปรากฎต่อสังคมอยู่เนื่องๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาสำคัญ ที่จะต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายได้ช่วยกันสอดส่องดูแลเด็กเยาวชนของเราที่เข้าไปใช้บริการ ตลอดจนผู้ประกอบกิจการได้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย เงือนไขการปฎิบัติอย่างเคร่งครัด และมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนพัฒนาร้านเกมส์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศรัยของเด็กและเยาวชน อีกด้วย



iNews NBT  รายงาน

สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด

นายวิเชียร  จันทรโณทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดเผยว่า ด้วยจังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ปี 2556/57 โดยรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 – 30 มิถุนายน 2557 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน – 31 ตุลาคม 2556 และมันสำปะหลัง ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2556 – 28 กุมพาพันธ์ 2557 เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการให้ความร่วมมือช่วยเหลือเกษตรกรภายใต้โครงการตามนโยบายของรัฐ สถานที่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ คือ สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่เป็นพื้นที่ตั้งของแปลงปลูก หรือ สถานที่สำนักงานเกษตรอำเภอนัดหมาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ เบอร์โทรศัพท์ 0-4451-6070



สุจิตรา สีคำ  รายงาน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กำหนดจัดการสัมมนา “ เวทีสาธารณะ กสม. พบประชาชนในภูมิภาค ” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กำหนดจัดการสัมมนา “ เวทีสาธารณะ กสม. พบประชาชนในภูมิภาค ” (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นเวทีให้กับกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงบทบาทในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามอำนาทหน้าที่ รวมทั้งให้ประชาชนในภูมิภาคได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่และหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานฯ กับทุกภาคส่วนในพื้นที่และประสานความร่วมมือ ในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  ทั้ง 7 องค์กร ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 กรกฎาคม 2556 ณ ห้องทับทิมสยาม โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จึงขอเรียนเชิญเข้าร่วมสัมมนาในวันและเวลาดังกล่าว โดยพร้อมเพรียงกัน



ศริณภาพร จันทสุข ส.ปชส.สุรินทร์ รายงาน

เรือนจำกลางสุรินทร์นำผู้ต้องขังทำนาเกษตรอินทรีย์ เนื้อที่กว่า 100 ไร่ โดยการน้อมนำแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาต่อยอดและขยายผล

นายวิชัย  โชติปฎิเวช ผู้บัญชาเรือนจำกลางจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า เรือนจำกลางสุรินทร์  ได้นำผู้ต้องขังชั้นดีที่เคยเป็นเกษตรกร จำนวน 50 คน ออกมาทำนาปลูกข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ ที่มีคุณภาพสูง ไม่ใช้สารเคมี ในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวโคกตะบัน และพื้นที่บ้านไทย หมู่ที่ 3 ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ในพื้นที่กว่า 100 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งบริการความรู้การปลูกข้าวให้กับผู้ต้องขัง หลังพ้นโทษ และขยายผลในพื้นที่สู่พื้นที่ใกล้เคียง เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ และเอกชนขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาสังคม ซึ่งสังคมเกิดการรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงของผู้ต้องขัง นำไปสู่การเห็นใจและยอมรับพร้อมให้โอกาสเมื่อผู้ต้องขังกลับสู่สังคม โดยเฉพาะการน้อมนำแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาต่อยอดและขยายผล เพื่อให้ชาวนาสามารถพึ่งตนเอง และสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน ด้านนายวรรณรัก ไชยตามาตย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านไทย ต.นอกเมือง อ.เมืองสุรินทร์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ทางเรือนจำกลางสุรินทร์ เห็นความสำคัญ และเลือกพื้นที่บ้านไทย เป็นพื้นที่ดำเนินการ ซึ่งจะใช้ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ มาปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ทางเกษตรกรในหมู่บ้านไทยทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือและร่วมลงแปลงทำนา อีกด้วย สำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ ได้มาจากการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ของโครงการการปลูกข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช ในปี 2555 ณ.ตำบลธรรมามูล อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท และคาดว่าจะเป็นแบบอย่างและแนวทางที่ดีสำหรับนักโทษเมื่อพ้นโทษออกไปเป็นคนดีของสังคมต่อไป



กัญญรัตน์ เกียรติสุภา  ส.ปชส.สุรินทร์ รายงาน

สสจ.สุรินทร์แนะนำวิธีทำน้ำยากำจัดยุงป้องกันโรคไข้เลือดออก

นายแพทย์สอาด  วีระเจริญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้อากาศแปรปรวนมากและมีการระบาดโรคไข้เลือดออกมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่กำลังจะระบาด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ได้เน้นหนักกำจัดลูกน้ำยุงที่ยังอยู่ในแหล่งน้ำขังต่างๆ และกำจัดยุงตัวเต็มวัย เพื่อตัดวงจรและลดจำนวนยุงไม่ให้เป็นตัวการแพร่เชื้อไปสู่คนได้ กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือกลุ่มเด็กเล็กทั้งในศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนและอนุบาล เนื่องจากยุงลายจะกัดในเวลากลางวันต้องให้เด็กนอนในมุ้ง มาตรการปราบยุงลาย ที่เน้นหนักคือ 5 ป. ได้แก่ ปิดฝาตุ่มน้ำ เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำหรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะกักเก็บน้ำ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและปฏิบัติเป็นประจำ

นอกจากนี้ยังให้ อสม. แนะนำประชาชนสามารถทำน้ำยากำจัดยุงด้วยวิธีง่ายๆ และประหยัด ด้วยการเจือจางน้ำยาล้างจานกับน้ำเปล่า ในอัตราส่วนน้ำยาล้างจาน 1 ช้อนชา ผสมน้ำ 1 ลิตร และนำไปฉีดพ่นบริเวณที่มียุงเกาะอยู่ตามมุมผนังในห้องน้ำหรือ ในภาชนะและวัสดุที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้ผล พบยุงตกลงมาตายทันที นอกจากนี้ขอให้เจ้าหน้าที่และ อสม.ในพื้นที่แนะนำการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองหรือผู้ใกล้ชิดเจ็บป่วยโดยขอความร่วมมือ สื่อมวลชนทุกแขนง สื่อวิทยุหลัก วิทยุชุมชน เสียงตามสาย และหน่วยงานราชการในท้องที่ในการช่วยเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก และหากพบบุตรหลานหรือประชาชนในพื้นที่เจ็บป่วยขอให้นำส่งโรงพยาบาลทันที



กัญญรัตน์ เกียรติสุภา  ส.ปชส.สุรินทร์ รายงาน

ศาลจังหวัดสุรินทร์ จัดโครงการ “ร่วมใจไกล่เกลี่ยและสมานฉันท์”

นายสุเมศร์ พันธุ์โชติ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ศาลจังหวัดสุรินทร์ ศาลแขวงสุรินทร์ และศาลเยาวชนและครอบคัวจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดโครงการ “ร่วมใจไกล่เกลี่ยและสมารนฉันท์” ประจำปี 2556 ขึ้น เพื่อให้ผู้มีอรรถคดีในศาล ได้มีโอกาสเจรจายุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง สะดวก รวดเร็ว ประหยัด เป็นธรรม โดยกำหนดให้มีพิธีเปิดโครงการ ในวันพุธที่ 19 มิถุนายน 2556 เวลา 08.30 น. ณ บริเวณพิธีด้านหน้าอาคาร ศาลจังหวัดสุรินทร์ ในงานมีกิจกรรมที่สำคัญ  เช่น  เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา เยี่ยมชมบอร์ดกิจกรรมของศาลทั้งสามศาล ฟังการบรรยายกฎหมาย และชมการไกล่เกลี่ยจำลอง เป็นต้น

ทั้งนี้ ศาลจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดโครงการ “ร่วมใจไกล่เกลี่ยและสมานฉันท์” ระหว่างเดือนมิถุนายน 2556 ถึง กรกฎาคม 2556 เพื่อให้คู่ความที่มีอรรถคดีในศาลจังหวัดสุรินทร์ ได้มีโอกาสเจรจายุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นด้วยตนเองด้วยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเป็นธรรม โดยมีผู้ประนีประนอมทั้งเป็นบุคลากรในศาลและบุคลากรภายนอกที่มีความรู้ ความสามารถแนะนำช่วยเหลือให้คู่ความได้เจรจากันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและยุติข้อพิพาทให้แก่คู่ความ นอกจากนี้ ยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาลให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดสุรินทร์ โทรศัพท์ 0-4451-1633 ต่อ 222



สมทรง เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ รายงาน

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมมือระหว่างพันธมิตรขับเคลื่อน เอสเอ็มอี เสริมสภาพคล่องธุรกิจ จังหวัดสุรินทร์

วันนี้ (19  มิถุนายน  2556) ที่ห้องพนมดงรัก  โรงแรมทองธารินทร์ จังหวัดสุรินทร์ นางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้ช่วยผู้จัดการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม สำนักงานสาขานครราชสีมา พร้อมด้วยประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์  และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ ร่วมแถลงข่าวบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กับการขับเคลื่อน เอสเอ็มอี เสริมสภาพคล่องธุรกิจ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี สมาชิกหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ รวมถึงผู้ประกอบการ SME s จังหวัดสุรินทร์ รับฟังการแถลงข่าว กว่า 50 คน

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม  หรือ บสย. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ให้การค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอต่อการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ปัจจุบัน บสย.ได้รับอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อจากคณะรัฐมนตรี ตามโครงการค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 240,000 ล้านบาท โดย บสย.สำนักงานสาขานครราชสีมา รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ  ผลการดำเนินการ ณ สิ้นปี 2555 บยส.สำนักงานสาขานครราชสีมาให้การค้ำประกันชินเชื่อในพื้นที่รวม 6,998  ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 18,322  ล้านบาท โดยค้ำประกันให้ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ 355 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 1,325 ล้านบาท

นายเกรียงศักดิ์ ปาลีคุปต์  ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์  กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SME สุรินทร์ ใช้บริการ บสย. น้อยมาก  เนื่องจากยังมีความเข้าใจภารกิจของ บสย.คลาดเคลื่อน  จึงอยากให้นักธุรกิจทราบเกี่ยวกับการใช้บริการของ บยส.ให้มากขึ้น  เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากสิทธิที่พึงมีพึงได้  ดังนั้นหอการค้าจังหวัดสุรินทร์จึงมีแนวคิดจัดประชุมพบปะระหว่างสมาชิกหอการค้าจังหวัดสุรินทร์  ผู้ประกอบการ และธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง  เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  เพื่อลดขั้นตอน  และลดปัญหาการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์  เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น  เพื่อสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดสุรินทร์ให้มีความเข้มแข็งต่อไป



สมทรง เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ รายงาน

จ.สุรินทร์ เตรียมประชุมโต๊ะข่าวแก้ปัญหายาเสพติด

นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ เพื่อดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และกลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งกำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด จังหวัดสุรินทร์ ในที่ 27  มิถุนายน 2556 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมศรีณรงค์ ชั้นที่ 2 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ โดยจะมีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ จากการประชุมโต๊ะข่าวยาเสพติด การดำเนินการตามแผนสร้างพลังสังคม และพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด การดำเนินการหมู่บ้าน ชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดิน การดำเนินการตามแผนแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด การดำเนินการตามแผนสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา สถานประกอบการ การจัดระเบียบสังคมในพื้นที่เสี่ยง หอพักห้องเช่าเชิงพาณิชย์ การดำเนินการตามแผนปราบปรามยาเสพติดและบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินการตามแผนความร่วมมือระหว่างประเทศและการสกัดกั้นยาเสพติด เป็นต้น



สมทรง เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ รายงาน

จ.สุรินทร์รวมพลังคนไทยหัวใจสีขาว ร่วมต้านภัยยาเสพติด วันที่ 26 มิถุนายน นี้

นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ตามมติการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนมิถุนายน 2530 ได้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติด ซึ่งประเทศไทยได้ยึดถือปฏิบัติในการรณรงค์ต่อต้านเสพติด   โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนร่วมกันจัดกิจกรรม

สำหรับจังหวัดสุรินทร์ กำหนดจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์  กิจกรรมสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดให้กับเยาวชนวัยเสี่ยงในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา  ในสถานประกอบการ  ชุมชน  และกิจกรรมทางเลือกเชิงสร้างสรรค์ในวันต่อต้านยาเสพติด วันที่ 26  มิถุนายน 2556  ณ บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชน ชุมชน  เยาวชน  รับรู้ และเห็นถึงความสำคัญของวันต่อต้านยาเสพติด  ในการที่จะร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด  โดยใช้คำขวัญรณรงค์ว่ายาเสพติดจะพินาศ  คนไทยทั้งชาติต้องร่วมมือกัน  มีแนวคิดการจัดกิจกรรม คือ คนไทยหัวใจสีขาว  ร่วมต้านยาเสพติด  และรณรงค์ให้ทุกคนสวมใส่เสื้อสีขาวร่วมแสดงพลังต่อต้านยาเสพติด   โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย นิทรรศการ  การแสดงของนักเรียน  นักศึกษา กิจกรรมการประกวด TO BE NUMBER ONE  DANCERCISE

นอกจากนั้นยังมีการเดินรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด โดยมีเป้าหมายข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักเรียน นักศึกษา ร่วมเดินรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด กว่า 2,700 คน   เดินรณรงค์จาก 3 มุมเมือง  คือ บริเวณหน้าสถานีรถไฟสุรินทร์  หน้าวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์  และหน้าจังหวัดทหารบกสุรินทร์  เคลื่อนขบวนไปสิ้นสุดที่บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์   จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์  อ่านคำปราศรัยนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติด  และนำพลังมวลชนประกาศเจตนารมณ์รวมพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดต่อหน้าพระบรมสาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด



สมทรง  เผือกผล ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จังหวัดสุรินทร์เตรียมจัดงานมหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง เน้น สวยงาม ยิ่งใหญ่ อลังการ ด้วยขบวนช้างกว่า 86 เชือก

นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์เป็นดินแดนที่มีความรุ่งเรืองทางอารยธรรมมาช้านาน โดยมีชาวสุรินทร์ที่มีเชื้อสายเขมร ลาว กวยและจีนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขภายใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์   ประกอบกับช้างมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น การแห่เทียนพรรษา การบวชนาค โกนจุก เป็นต้น จังหวัดสุรินทร์ตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่มีต่อปวงชนชาวไทยและเห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะงานประเพณีเข้าพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชน จังหวัดสุรินทร์จึงได้จัดงาน “มหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง” ประจำปี  2556 ขึ้น

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์   กล่าวว่า  การจัดงานมหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง เป็นงานประจำปีที่มีความสำคัญอีกงานหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ จัดขึ้นเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ให้คงอยู่สืบไป และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ในการเผยแพร่งานให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ   โดยในปีนี้จังหวัดสุรินทร์กำหนดจัดงานมหกรรมแห่เทียนพรรษาและงานตักบาตรบนหลังช้างอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2556 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และบริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง  ในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย  พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากวัดกลางสุรินทร์ไปประดิษฐานบนมณฑปบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์  พิธีเจริญพระพุทธมนต์และอธิษฐานจิตถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   การจัดขบวนแห่เทียนพรรษาด้วยขบวนช้างที่ประดับด้วยแสงไฟสวยงาม 86 เชือก โดยมีผู้ร่วมขบวนจาก 12 คุ้มวัด กว่า 1,500 คน แห่จากบริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวางสิ้นสุด ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นอกจากนั้น ยังมีการประกวดขบวนแห่  ประกวดเทียนพรรษา ประกวดโต๊ะหมู่บูชา การตอบปัญหาธรรมะ  รวมทั้งนิทรรศการทางศาสนา  และพิธีตักบาตรบนหลังช้างหนึ่งเดียวในโลก

จังหวัดสุรินทร์จึงขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกคนร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสาร  อาหารแห้ง  ในงานมหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง วันที่  21-22 กรกฎาคม 2556 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และบริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง



สมทรง  เผือกผล / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จังหวัดสุรินทร์เตรียมจัดงานมหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง เน้น สวยงาม ยิ่งใหญ่ อลังการ ด้วยขบวนช้างกว่า 86 เชือก

นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์เป็นดินแดนที่มีความรุ่งเรืองทางอารยธรรมมาช้านาน โดยมีชาวสุรินทร์ที่มีเชื้อสายเขมร ลาว กวยและจีนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขภายใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์   ประกอบกับช้างมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น การแห่เทียนพรรษา การบวชนาค โกนจุก เป็นต้น จังหวัดสุรินทร์ตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่มีต่อปวงชนชาวไทยและเห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะงานประเพณีเข้าพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชน จังหวัดสุรินทร์จึงได้จัดงาน “มหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง” ประจำปี  2556 ขึ้น

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์   กล่าวว่า  การจัดงานมหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง เป็นงานประจำปีที่มีความสำคัญอีกงานหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ จัดขึ้นเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ให้คงอยู่สืบไป และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ในการเผยแพร่งานให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ   โดยในปีนี้จังหวัดสุรินทร์กำหนดจัดงานมหกรรมแห่เทียนพรรษาและงานตักบาตรบนหลังช้างอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2556 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และบริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง  ในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย  พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากวัดกลางสุรินทร์ไปประดิษฐานบนมณฑปบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์  พิธีเจริญพระพุทธมนต์และอธิษฐานจิตถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   การจัดขบวนแห่เทียนพรรษาด้วยขบวนช้างที่ประดับด้วยแสงไฟสวยงาม 86 เชือก โดยมีผู้ร่วมขบวนจาก 12 คุ้มวัด กว่า 1,500 คน แห่จากบริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวางสิ้นสุด ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นอกจากนั้น ยังมีการประกวดขบวนแห่  ประกวดเทียนพรรษา ประกวดโต๊ะหมู่บูชา การตอบปัญหาธรรมะ  รวมทั้งนิทรรศการทางศาสนา  และพิธีตักบาตรบนหลังช้างหนึ่งเดียวในโลก

จังหวัดสุรินทร์จึงขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกคนร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสาร  อาหารแห้ง  ในงานมหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง วันที่  21-22 กรกฎาคม 2556 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และบริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง



สมทรง  เผือกผล / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว