วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สรุปสถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 18 กันยายน - 2 ตุลาคม 2556

ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย  และดินโคลนถล่ม จังหวัดสุรินทร์ ปี 2556

ณ ห้องประชุมสุรินทร์ภักดี  ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ โทร/โทรสาร 044-713004, 081-9219342


สรุปสถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 18 กันยายน - 2 ตุลาคม 2556

ตามที่ จังหวัดสุรินทร์ได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่น ทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556   เวลา 20.30 น. เป็นต้นมามีผลทำให้หลายพื้นที่ได้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก โดยปริมาณฝนตกในพื้นที่เริ่มลดลง ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2556 ดังนี้

1. พื้นที่ประสบภัย จำนวน 17 อำเภอ 139 ตำบล 1,497 หมู่บ้าน  ได้แก่
อำเภอเมืองสุรินทร์
สังขะ
ศรีณรงค์ จอมพระ
เขวาสินรินทร์
ศีขรภูมิ
ท่าตูม
รัตนบุรี
สำโรงทาบ
ลำดวน
บัวเชด
กาบเชิง
สนม
ปราสาท
โนนนารายณ์
ชุมพลบุรี
อำเภอพนมดงรัก


2. ความเสียหายในเบื้องต้น (อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย)

- ด้านชีวิต  ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 776,903 คน 252,541 ครัวเรือน เสียชีวิต 10 ราย

- ด้านทรัพย์สิน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 3,290 หลังคาเรือน

- ด้านการเกษตร นาข้าวคาดว่าจะเสียหาย 489,791,พืชไร่/ พืชสวน คาดว่าจะเสียหาย 16,418ไร่

- ด้านปศุสัตว์/ประมง บ่อ/ปลากุ้ง คาดว่าจะเสียหาย 200 แห่ง, จำนวนสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 856,964 ตัว

- ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ ถนน 456 สาย, สะพาน 12 แห่ง, ท่อระบายน้ำ 97 แห่ง ,ฝาย 25 แห่ง,    

วัด 11 แห่ง,โรงเรียน 83 แห่ง, สถานที่ราชการ 25 แห่ง,คันดิน/คันคลอง 74 แห่ง


3. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หน่วยงานราชการ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิฯ องค์การการกุศล และหน่วยงานอื่นๆ ได้ระดมสรรพกำลัง เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถบรรทุก เครื่องมือ-อุปกรณ์ สิ่งของบรรเทาทุกข์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ดังนี้

1) ด้านสิ่งของบรรเทาทุกข์ ได้แก่ ถุงยังชีพ 46,579 ชุด,ข้าวกล่อง 44,630 กล่อง,น้ำดื่ม 7,210 แพ๊ก, ยาเวชภัณฑ์ 2,900 ชุด

2) ด้านปศุสัตว์  ได้แก่ หญ้าแห้ง 3,000 ก้อน,แร่ธาตุ 200 ก้อน

3) ด้านเครื่องมือ-อุปกรณ์  เครื่องจักรกล ได้แก่ เรือท้องแบน 50 ลำ,เครื่องยนต์เรือ 10 เครื่อง, รถบรรทุก 38 คัน,รถกู้ภัยเอนกประสงค์ 6 คัน,รถบรรทุกน้ำดื่ม 6 คัน,เครื่องสูบน้ำอัตโนมัติใต้ดิน 4 เครื่อง,เครื่องสูบน้ำ 8,10,12 นิ้ว 16 เครื่อง,กำลังพลทหาร 100 นาย,อส. 30 นาย ,อปพร. 1,500 นาย,กระสอบทราย 8,000 ใบ, ทราย 19 คันรถบรรทุก


4) จังหวัดสุรินทร์ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ บริเวณหน้าสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน-1 ตุลาคม 2556 มีผู้บริจาคเงินสด 311,831.50 บาท,ข้าวสาร 503 ถุงๆละ 5 กก.,น้ำดื่ม 291 แพ็ก,ถุงยังชีพ 617 ถุง และอื่นๆ 12 รายการ


4. การประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย)

ขณะนี้จังหวัดสุรินทร์ได้ประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 และวันที่ 30 กันยายน 2556 จำนวน 15 อำเภอ 124 ตำบล 1,388 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ สังขะ จอมพระ เขวาสินรินทร์ สำโรงทาบ ศรีณรงค์ ปราสาท ท่าตูม ลำดวน โนนนารายณ์ บัวเชด ศีขรภูมิ สนม รัตนบุรี และอำเภอกาบเชิง สำหรับอำเภอที่ยังไม่ได้ประกาศ ฯ (อุทกภัย) ได้แก่ อำเภอพนมดงรัก และชุมพลบุรี  ซึ่งอยู่ระหว่างนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์พิจารณาประกาศภัยฯ



สถานการณ์อุทกภัยขณะนี้ (วันที่ 30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2556 เวลา  07.00  น.)

-โครงการชลประทานสุรินทร์ได้เปิดบานประตูระบายน้ำ 1.70 เมตร เพื่อระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง เนื่องจากเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2556 มีฝนตกหนักในบริเวณอ่างฯ และน้ำไหลหลากจากอำเภอปราสาทและอำเภอกาบเชิง (ขณะนี้ระดับน้ำในอ่างฯได้ลดลงต่อเนื่อง แต่ยังล้นสปริงเวย์ 3 ซม.)  ส่งผลให้หมู่บ้านที่อาศัยอยู่บริเวณท้ายอ่างฯ ตลอดแนวบริเวณสองฝั่งลำน้ำห้วยเสนงและลำน้ำชี ได้แก่ ตำบลเฉนียง นอกเมือง คอโค ท่าสว่าง จุดที่เคยเกิดน้ำท่วมขังมีระดับน้ำสูงขึ้น ประกอบกับช่วงนี้ต้องเฝ้าระวังน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลหลากมาจากจังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ บริเวณอำเภอชุมพลบุรี ท่าตูม และรัตนบุรี ซึ่งอาจมีมวลน้ำปริมาณมาก เอ่อล้นตลิ่งไหลท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎรบริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูลในพื้นที่ดังกล่าว

พื้นที่เฝ้าระวังและจุดที่ยังมีน้ำท่วมมาก

บริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูล อำเภอชุมพลบุรี ท่าตูม รัตนบุรี จำนวน 3 อำเภอ 9 ตำบล 60 หมู่บ้าน


1. อำเภอชุมพลบุรี ปริมาณน้ำจากแม่น้ำน้ำมูลได้เอ่อไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร

ตำบลหนองเรือหมู่ 2,3,4,7,8,ตำบลนาหนองไผ่ หมู่ 2,4,7,8,9,10,16,17 เป็นบริเวณกว้าง และบริเวณ หมู่ 8 ตำบลนาหนองไผ่ บ้านเรือนได้รับความเสียหายบางส่วน 2 หลัง ระดับน้ำทรงตัว

2. อำเภอท่าตูม บริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูลระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ไหลเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรบริเวณหมู่บ้านที่อาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูล สำหรับหมู่บ้านที่ยังมีน้ำท่วมขังบริเวณถนนทางเข้าหมู่บ้าน จำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านยางเก่า หมู่ 13 ตำบลบะ และบ้านหนองเรือ หมู่ 12 ตำบลโพนครก

3. อำเภอรัตนบุรี ระดับน้ำในแม่น้ำมูลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จุดที่ยังมีน้ำมากท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้างและบ้านเรือนบางส่วนที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำมูล ได้แก่ ตำบลดอนแรด หมู่ 6,7  สำหรับหมู่บ้านที่มีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรปานกลาง ได้แก่ ตำบลน้ำเขียว ได้แก่ หมู่ 5,11 ,ตำบลแก หมู่ 4,9,7,11, ตำบลกุดขาคีม หมู่ 1,2,6 ,ตำบลทับใหญ่ หมู่ 1,2,3,6,7,8,9,10 ,ตำบลหนองบัวทอง หมู่ 1,2,7,4 , ตำบลดอนแรด หมู่1,2,3,8,11,12



2) บริเวณสองฝั่งลำน้ำชีที่ยังมีปริมาณน้ำมาก แต่ระดับน้ำลดลงต่อเนื่องกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ จำนวน 2 อำเภอ 5 ตำบล 18 หมู่บ้าน ได้แก่

อำเภอเมืองสุรินทร์  จำนวน 4 ตำบล 15 หมู่บ้าน ได้แก่

- ตำบลเฉนียง ได้แก่ หมู่ 3 บ้านทำเนียบ,หมู่ 4 บ้านปราสาท,หมู่ 13 บ้านหนองเต่า,หมู่18 บ้านละเอาะ

- ตำบลนอกเมือง ได้แก่ หมู่ 21 บ้านเฉลิมพระเกียรติ

- ตำบลคอโค ได้แก่ หมู่ 1 บ้านแสงตะวัน,หมู่ 6 บ้านฉางข้าว,หมู่ 9 บ้านลำชี

- ตำบลท่าสว่าง ได้แก่ หมู่ 17 บ้านกะเพอสก็วม,หมู่ 13 บ้านอาม็อง

อำเภอจอมพระ จำนวน 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน  ได้แก่ ตำบลเมืองลีง บ้านทุ่งนาค หมู่ 7 , บ้านหลุมดิน หมู่ 9 และบ้านหนองซำ หมู่ 6



3) บริเวณสองฝั่งลำห้วยทับทันที่ยังมีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร และท่วมบ้านเรือนบางส่วน ขณะนี้ระดับน้ำลดลง บางจุดเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ จำนวน 2 ตำบล 10 หมู่บ้าน ได้แก่

- ตำบลเบิด ได้แก่ หมู่ 1, 4, 8, 9, 12

- ตำบลยางสว่าง ได้แก่ หมู่ 3, 4, 6, 8, 11

๒. อำเภอที่มีระดับน้ำลดลงกำลังจะเข้าสู่ภาวะปกติ บางพื้นที่มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร จำนวน  14 อำเภอ 121 ตำบล 1,307 หมู่บ้าน  ได้แก่  อำเภอเมืองสุรินทร์ สังขะ จอมพระ เขวาสินรินทร์  สำโรงทาบ ศรีณรงค์ ปราสาท ลำดวน ศีขรภูมิ กาบเชิง บัวเชด พนมดงรัก โนนนารายณ์ และอำเภอสนม



3.  ถนนสายหลักที่ยังมีน้ำท่วมไหลพาดทางจำนวน 2 แห่ง ได้แก่

1) ทางหลวงหมายเลข 226 ตอนลำชี-สุรินทร์ กม.163-165 น้ำสูงประมาณ 5 เซนติเมตร การจราจรผ่านได้

2) ทางหลวงหมายเลข 2077 ตอนสังขะ-บัวเชด กม.49-50 น้ำสูงประมาณ 5 เซนติเมตร การจราจรผ่านได้



4. การดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน - 2 ตุลาคม 2556

1)  จังหวัดจัดตั้งศูนย์ประสานงานรับแจ้งสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ ห้องประชุมสุรินทร์ภักดี ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ สนง.ปภ.สุรินทร์ ประจำศูนย์ และดำเนินการประชุมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือ เวลา 09.30 น เป็นประจำทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะยุติ  หมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร 044-713004, 081-9219342

2)  จัดตั้งโรงครัวประกอบเลี้ยง  จำนวน 5 จุด  ได้แก่

-  จุดที่ 1 สถานีกาชาดที่ 1 จังหวัดสุรินทร์ (ปิดโรงครัวเนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว)

-  จุดที่  2 อาคารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนง.เทศบาลเมืองสุรินทร์ (ปิดโรงครัวเนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว)

-  จุดที่ 3  มูลนิธิจิ้บเต็กเซี่ยงตึ้ง   (ปิดโรงครัวเนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว)

-  จุดที่ 4  อบต.นอกเมือง   (ปิดโรงครัวเนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว)

-  จุดที่ 5  อบต.เฉนียง บริเวณเกาะลางถนน สี่แยกหนองเต่า (ปิดโรงครัวเนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว)

3)  จัดตั้งศูนย์พักพิงเพื่อช่วยผู้ประสบภัย

-  ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) จังหวัดทหารบกสุรินทร์ (อาคารสโมสรนายทหาร)        

0-4451-1844 ต่อ 20043, 20044 (ปิดศูนย์ฯเนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว)

-  ตชด.21  (ปิดศูนย์ฯเนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว)

-  ที่ว่าการอำเภอที่ประสบอุทกภัย   (ปิดศูนย์ฯเนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว)

-  อาจารจอมสุรินทร์  มหาราชภัฏสุรินทร์  (ปิดศูนย์ฯเนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว)

- บ้านพัก ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวะศึกษาสุรินทร์  (ปิดศูนย์ฯเนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว)

4) จัดตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

-  บริเวณหน้าสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์

-  บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปิดรับบริจาคแล้ว)

5) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสุรินทร์ แจ้งจุดการดับไฟฟ้าในพื้นที่น้ำท่วมสูง(ไฟฟ้าเพื่อการเกษตร) ในเขตอำเภอสำโรงทาบ ได้แก่ บ้านแซม หมู่ 6 ตำบลสะโน และบ้านโนนสำราญ ตำบลประดู่ จำนวน 70 ราย




---------------------------------------------------------------------------

 (นายนิรันดร์ บุญสิงห์)
หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์
 เลขานุการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ปี 2556 จังหวัดสุรินทร์

จังหวัดมุกดาหารเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปร่วมประกวดคลิปวีดีโอความปลอดภัยทางถนน ๒๕๕๖

นายสกลสฤษฏ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รับการประสานจากสมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย องค์กรภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ภาคเอกชน ได้กำหนดจัดให้มีการประกวดการจัดทำคลิปวีดีโอ ความปลอดภัยทางถนน ๒๕๕๖ (Clip VDO. Road Safety Contest ๒๐๑๓) ระหว่างวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ชิงเงินรางวัลกว่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์รณรงค์ส่งเสริมการใช้รถใช้ถนนที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้อง D๒๐๑/๑๒ ถนนรัชดาภิเษกตัดใหม่ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ๑๐๑๑๐ โทรศัพท์ ๐๒ ๒๒๙ ๓๑๔๗ E-mail ; tmea@tmea.or.th




สุภาวดี อัมไพพันธ์ ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดตรวจโรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 วันแรกของการรับจำนำ พบว่าโรงสีที่เข้าร่วมโครงการมีความพร้อมที่จะรับจำนำข้าวตามโครงการดังกล่าว

วันนี้ (1 ต.ค. 56) เวลา 15.00 น. นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ไปตรวจสภาพความพร้อมของโรงสีข้าว จุดรับจำนำข้าวเปลือก โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ณ โรงสีข้าวไทยเพิ่มพูน อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดมีจุดรับจำนำข้าวเปลือก โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ค่อนข้างมาก วันนี้ (1 ต.ค.56) ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดจุดรับจำนำข้าวเปลือก จึงได้ออกตรวจสอบสภาพความพร้อมของโรงสีข้าวซึ่งเป็นจุดรับจำนำในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการด้วยดี และได้รับการยืนยันว่าทางโรงสีมีความพร้อมที่จะดำเนินการแล้ว



วิมล เร่งศึก/ข่าว
กมลพร คำนึง/บก.ข่าว
1 ต.ค. 56

จังหวัดร้อยเอ็ดจัดโครงการส่งเสริมศีลธรรม ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วันนี้ (1 ต.ค. 56) จังหวัดร้อยเอ็ดโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอเมืองร้อยเอ็ด ได้จัดโครงการส่งเสริมศีลธรรม ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ ศาลาการเปรียญวัดสระทอง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเฉลิมฉลองปีพุทธยันตีที่จะสิ้นสุดในปี 2556 และเพื่อฉลองพระชันษา 100 ปี เนื่องในวโรกาสมหามงคล สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุครบ 100 พรรษา ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 และเพื่อเป็นการเผยแพร่พระประวัติ พระศานกิจ และพระเกียรติคุณ

กิจกรรมในภาคเช้า เวลา 06.30 น. นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 101 รูป ณ ศาลาการเปรียญวัดสระทอง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด และเวลา 09.00 น. พิธีเปิดโครงการส่งเสริมศีลธรรม ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยนายพศิน โกมลวิชญ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธาน เปิดโครงการ กิจกรรมในพิธีมีการสาธยายพระไตรปิฏก การอ่าน การแผลความหมาย การสวด และการตอบบัญหาพระไตรปิฏก 3 ฉบับ โดยมีข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมในพิธีจำนวนมาก




วิมล เร่งศึก/ข่าว
 กมลพร คำนึง/บก.ข่าว
 1 ต.ค. 56

ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดรับมอบเงินและข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย มูลค่ากว่า 3 แสนบาท

วันนี้ (1 ต.ค. 56) เวลา 11.00 น.  ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับมอบเงินและข้าวสาร อาหารแห้ง จากพ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อนำไปมอบให้กับมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมประจำปี 2557

นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้กล่าวขอบคุณผู้ที่นำเงินสดและข้าวสาร อาหารแห้ง มามอบให้กับจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อนำไปมอบให้กับมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมประจำปี 2557 ครั้งนี้ ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดจะนำไปมอบให้กับมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ประจำปี 2557 ตามความประสงค์ของผู้บริจาคต่อไป สำหรับยอดเงินและมูลค่าข้าวสารหอมมะลิที่ได้รับบริจาค ครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนบาท



วิมล เร่งศึก/ข่าว
กมลพร คำนึง/บก.
ข่าว 1 ต.ค. 56

ส่ง ผวจ.หนองบัวลำภู

นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดธานี พร้อมส่วนราชการ ประชาชนชาวอุดรธานี ร่วมส่งผู้ว่าราชการหนองบัวลำภู เดินทางไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการหนองบัวลำภู ท่ามกลางความชุ่มฉ่ำของสายฝนที่โปรยปราย

เช้าวันนี้ ( 1 ต.ค. 56 ) ที่บ้านพักนายชยพล ธิติศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ข้างสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยข้าราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีและส่งนายชยพล ธิติศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูคนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556

โดยนายชยพล ธิติศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูคนใหม่ ถือเอาเวลา 08.19 น. ออกจากบ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เดินทางไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีข้าราชการ ประชาชนร่วมนำกระเช้าดอกไม้ สิ่งของมาร่วมแสดงความยินดี พร้อมอวยชัยให้พรท่านและครอบครัวในโอกาสเดินทางไปรับตำแหน่งในวันนี้ ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายมาเป็นระยะเหมือนปะพรมน้ำมนต์

นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ในโอกาสที่จะเดินทางไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น สิ่งสำคัญคือแรงกำลังใจ เพราะตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นต้องทำหน้าที่อย่างหนัก และมั่นใจว่าท่านจะทำหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดี และทำให้พี่น้องชาวหนองบัวลำภูมีความสุข ช่วยกันบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องชาวหนองบัวลำภู พวกเราจะเป็นแรงกำลังใจให้ท่านปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิ วันใดท้อแท้ชาวจังหวัดอุดรธานีก็ยินดีจะให้มาเที่ยว มาพักผ่อนหย่อนใจ มาระลึกถึงเพื่อนเก่าๆ กลับไปจะได้ทำงานอย่างมีความสุขต่อไป สิ่งหนี่งประกาศใดก็ตามเป็นสิ่งที่ดีก็ขอให้ผู้ว่าชยพล นำไปปฏิบัติ สิ่งใดที่ทำยังไม่สำเร็จก็ขอให้ทำหน้าที่ผู้ว่าราชการได้สำเร็จลุล่วงต่อไป ขอให้สุขภาพแข็งแรง พวกเรายังเป็นกำลัง กำลังใจให้เสมอและจะได้ช่วยสนับสนุนให้ดีที่สุด ในหน้าที่เป็นพี่ด้วยและเป็นผู้ที่ร่วมงานกันมาก่อน และขอให้เดินทางโดยปลอดภัย



ทีมข่าว ส.ปชส.อด. ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา / ข่าว

รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบ ยังชีพให้กับประชาชนที่ประอุทกภัย น้ำท่วม ในพื้น อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อเช้าวันนี้ (1 . ต.ค. 56) นางนภา ศกุนตนาค รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางไปมอบถุงยังชีพ ประกอบด้วย ยารักษาโรค และน้ำดื่ม ให้กับประชาชนที่ประอุทกภัย ในพื้น บ้านท่าบ่อแบง หมู่ที่ 3 บ้านโนนท่าบ่อแบง หมู่ 11 และบ้านบ่อเสียว หมุ่ที่ 5 ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล ที่ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งประสบอุทกภัยน้ำท่วมบ้าน 83 ครัวเรือน ทำให้ประชาชน บางครัวเรือนต้องอาศัย ชั้น อยู่บนชั้น 2 ของบ้าน เป็นที่อาศัย ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำใน ลำเซบก น้ำยังท่วมขังในพื้นที และคาดว่าระดับน้ำ น่าจะลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 สัปดาห์ ด้านการให้ความช่วยเหลือ อำเภอตระการพืชผล ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอพยพประชาชนไปอยู่ในที่ปลอดภัยจัด จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ อปพร. สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ให้ความช่วยเหลือ ตลอด 24 ชั่วโมง



จักรกฤษณ์ มาลาสาย/ข่าว
ทองปัก ทวีสุข/ภาพ

เหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานีฯ ออกช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

อุบลราชธานี : เตรียมนำชุดบรรเทาทุกข์ เครื่องอุปโภค บริโภค ออกช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ อ.วารินชำราบ,เดชอุดมและพิบูลมังสาหาร ในวันที่ 3,4 และ 7 ต.ค.56 นี้

นางมัณฑะนา สุทธิวรชัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่าจากการที่จังหวัดอุบลราชธานี ประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ 23 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการสัญจรและขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็น เหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี ได้กำหนดนำชุดบรรเทาทุกข์ เครื่องอุปโภค บริโภค ออกไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ดังนี้ วันที่ 3 ตุลาคม 2556 เวลา 09.00 น. ที่ชุมชนท่าข้องเหล็ก, บ้านหนองกินเพล อ.วารินชำราบ เวลา 14.00 น. ที่บ้านท่าโพธิ์ศรี อ.เดชอุดม วันที่ 4 ตุลาคม 2556 เวลา 09.00 น. ที่หมู่ 8 ต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร และในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 เวลา 09.00 น. ที่ศาลาประชาวาริน อ.วารินชำราบ จึงแจ้งให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ดังกล่าว มารับชุดบรรเทาทุกข์ เครื่องอุปโภค บริโภค จากเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี ตามวัน เวลาและสถานที่ทีกำหนด

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากอุทกภัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางไปรยา บุญมี รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี นางราวดี วัฒนวงศ์สิงห์ ภริยาปลัดจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำชุดบรรเทาทุกข์ อุปโภค บริโภค เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 600 ชุด ในพื้นที่ อำเภอนาเยีย เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา



พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ส.ปชส.อุบลราชธานี
081 924 8609 /ข่าว/ 1 ต.ค. 56

ทสจ.อุบลราชธานี มอบรางวัลการประกวดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้

อุบลราชธานี : สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี มอบรางวัลให้ผู้ชนะการประกวดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ทั้งนักเรียน,นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ในประเภทเครื่องแต่งกาย,สิ่งประดิษฐ์และของใช้ภายในบ้าน จากวัสดุเหลือใช้ รางวัลละ 5,000.-, 3,000.- และ 2,000.-บาท ตามลำดับ

นายคันฉัตร ตันเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานมอบรางวัลการประกวดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ ประจำปี 256 ซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี จัดประกวด ใน 3 ประเภท 5 ระดับ โดยมีผลการประกวดในแต่ละประเภท ดังนี้ ประเภทเครื่องแต่งกายจากวัสดุเหลือใช้ ชนะเลิศได้แก่ ราตรีสีชมพู ผลงานชุมชนวัดสารพัดนึก, รองชนะเลิศอันดับ 1 ไวนิลแซบเวอร์ ผลงานโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านโพธิ์กลาง) รองชนะเลิศอันดับ 2 แฟนซีรีไซเคิล ผลงานโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ, ประเภทสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้สู้ภัยธรรมชาติ ชนะเลิศ ได้แก่เครื่องเตือนภัยน้ำท่วม ผลงานโรงเรียนเอือดใหญ่พิทยา รองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงานชุดชูชีพจากวัสดุเหลือใช้ , รองชนะเลิศอันดับ 2 ผลงานแพขวดช่วยภัยพิบัติ โรงเรียนเขมราฐพิทยาคม

ประเภทสิ่งประดิษฐ์ของใช้ภายในบ้านจากวัสดุเหลือใช้ ระดับประถมศึกษา ชนะเลิศอันดับ 1 กรอบรูปรีไซเคิล ผลงานโรงเรียนบ้านหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ 5, รองชนะเลิศอันดับ 1 กุหลาบกล่องนมร่วมสืบสานภูมิปัญญาเทียนพรรษาอุบลราชธานี ผลงานโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 32, รองชนะเลิศอันดับ 2 สารพัดเครื่องใช้จากเส้นพลาสติก ผลงานโรงเรียนกุดระงุม, ระดับมัธยมศึกษา ชนะเลิศอันดับ 1 ชุดเก้าอี้รักษ์โลก ผลงานวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี รองชนะเลิศอันดับ 1 ไฟฉายจากแบตเตอร์รี่เก่าโทรศัพท์มือถือ ผลงานโรงเรียนศรีแสงธรรม รองชนะเลิศอันดับ 2 โคมไฟพลาสติกลดมลพิษภาวะโลกร้อน ผลงานโรงเรียนเทศบาลวารินวิชาชาติ, ระดับอุดมศึกษา/อาชีวศึกษา (ปวส) ชนะเลิศ ตู้ผลไม้สะดวกใช้งาน ผลงานวิทยาลัยเทคนิคตระการพืชผล รองชนะเลิศอันดับ 1 เตาหุงต้มชีวมวลประหยัดพลังงาน ผลงานวิทยาลัยการอาชีพวารินชำราบ และรองชนะเลิศอันดับ 2 โคมไฟจากเส้นพลาสติก ผลงาน วิทยาลัยการอาชีพวารินชำราบ ผู้ชนะในแต่ละประเภทได้รับเงินรางวัลชนะเลิศ รางวัลชนะเลิศรางวัลละ 5,000.-บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลละ 3,000.-บาท และ รองชนะเลิศอันดับราวัลละ 2,000.-บาท พร้อมประกาศเกียรติบัตร ซึ่งการประกวดได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ที่ศาลาประชาวาริน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี




พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ส.ปชส.อุบลราชธานี
081 924 8609 /ข่าว/ 1 ต.ค. 56

สุรินทร์จัดงานสืบสานประเพณีแซนโฏนตา บูชาบรรพบุรุษ ของชุมชนชาวพื้นเมืองสุรินทร์ ประจำปี 2556

สุรินทร์จัดงานสืบสานประเพณีแซนโฏนตา บูชาบรรพบุรุษ ของชุมชนชาวพื้นเมืองสุรินทร์อย่างยิ่งใหญ่ มีชุมชนทั้ง 17 อำเภอ และชุมชนเทศบาลเมืองสุรินทร์ กว่า 20 ขบวน และขบวนช้าง ร่วมขบวนแห่อัญเชิญเครื่องเซ่นไหว้ ไปรอบเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ก่อนจะประกอบพิธีเซ่นใหว้พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางเจ้าเมืองคนแรก

วันที่ 1 ต.ค. 2555 เวลา 13.30 น. ประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ ที่พูดภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น ทั้ง 17 อำเภอ และชุมชนเทศบาลเมืองสุรินทร์ กว่า 20 ขบวน และขบวนช้าง ร่วมขบวนแห่อัญเชิญเครื่องแซนโฎนตา (เครื่องเซ่นไหว้ )ที่สวยงามตระการตา ซึ่งผู้เข้าร่วมขบวนต่างก็แต่งชุดผ้าไหมพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ร่วมขบวนอันยาวเหยียด พร้อมทั้งขบวนขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะกันตรึมที่เป็นการเล่นพื้นบ้านสุรินทร์ร่วมในขบวน โดยเคลื่อนขบวนจากบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ไปรอบเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ และมารวมตัวกันที่บริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม ) เพื่อร่วมงาน"ประเพณีแซนโฎนตา บูชาบรรพบุรุษ ” ต่อหน้าอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีรงค์จางวาง ซึ่งเป็นพ่อเมืองคนแรก โดยมีนายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และบุคคลที่ชาวจังหวัดสุรินทร์ให้ความเคารพนับถือร่วมประกอบพิธีเซ่นไหว้ ในครั้งนี้ สำหรับประเพณีแซนโฎนตา เป็นประเพณีที่มีความสำคัญ และปฏิบัติสืบทอดกันมานับร้อยปีของชาวพื้นเมืองสุรินทร์ที่พูดภาษาเขมร เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู กตเวทีต่อผู้มีพระคุณ แสดงออกถึงความรัก ความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว เครือญาติรวมถึงชุมชนต่างๆ โดยจะประกอบพิธีตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยลูกหลานชาวพื้นเมืองสุรินทร์ ที่ไปทำงานยังต่างถิ่นหรือตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล จะเดินทางกลับมารวมญาติเพื่อทำพิธีแซนโฎนตา คือการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน ในส่วนการแซนโฎนตาของแต่ละบ้าน แต่ละชุมชนซึ่งในปีนี้

สกู๊ปพิเศษประเพณีแซนโฏนตา บูชาบรรพบุรุษ ตำนานที่สืบทอดนานกว่า 1,000 ปี ของชาวเขมรพื้นเมืองสุรินทร์

ประเพณีแซนโฎนตา คืออีกประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญและปฏิบัติสืบทอดติดต่อกันมายาวนานนับพันปีของชาวเขมรพื้นเมืองสุรินทร์ ที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ความรัก ความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว เครือญาติรวมถึงชุมชนต่างๆ โดยจะประกอบพิธีกรรมตรงกับวันแรม14 ค่ำเดือน10 ของทุกปีเมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำเดือน 10 สายเลือดลูกหลานชาวพื้นเมืองเขมรสุรินทร์ที่ไปทำงานหรือตั้งถิ่นฐานที่อื่น ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลหลายหมื่นหรือนับแสนคน ต่างพร้อมใจกันเดินทางกลับมารวมญาติเพื่อทำพิธีแซนโฎนตา อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันทุกหมู่บ้าน คำว่า"แซนโฏนตา"มาจากไหน แซน หมายถึงการเซ่นไหว้ การบวงสรวง โฎนตา หมายถึง การทำบุญให้ยาย และตา ปู่และย่าหรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ คำว่า "โฎน " เป็นภาษาเขมรใช้เรียกยายหรือย่า ส่วนตาใช้เรียนแทนตาและปู่ ว โดยทั่วไปแล้วมักเขียนว่า "โดนตา" ซึ่งถือว่าผิด เนื่องจากเป็นประเพณีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวเขมร ที่ไม่มีตัวอักษร "ด" อยู่ในพยัญชนะ แต่ใช้ตัว "ฏ" สืบทอดมาเป็นระยะเวลานาน การเตรียมอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้ การเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน การเซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน การประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน การประกอบพิธีกรรมบายเบ็ญ (เครื่องเซ่นไหว้) การประกอบพิธีกรรมที่วัด ประกอบด้วย อาหารคาว – หวาน ผลไม้ เครื่องดื่ม ได้แก่ ปลานึ่ง ปลาย่าง หมูย่าง ไก่ย่าง แกงวุ้นเส้น แกงกล้วย ต้มยำไก่ ลาบหมู ไก่นึ่ง ซึ่งต้องเป็นไก่ทั้งตัวเอาเครื่องในออก อาหารหวาน ได้แก่ ข้าวต้มมัดใบมะพร้าว ขนมเทียน ขนมนางเล็ด ขนมโชค(ขนมดอกบัว) ขนมโกรด ข้าวกระยาสารท ผลไม้ ได้แก่ มะพร้าวอ่อน กล้วย ส้ม ละมุด พุทรา องุ่น เป็นต้น เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำเปล่า เหล้าขาว น้ำอัดลม เหล้าสีต่างๆเป็นต้น อุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ เสื่อหวาย ที่นอนแบบพับ หมอน ผ้าขาว ผ้าไหม ผ้าโสร่ง อาภรณ์ต่าง ๆ พาน ธูป เทียน กรวย 5 ช่อ ที่ทำจากใบตองสดม้วนเป็นกรวย แล้วสอดด้วย ธูป และใบกรุยการจัดกรวย5ช่อคือ ขันธ์ 5 หมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ประเพณีแซนโฎนตามีความเป็นมายาวนานนับพันปี ต้นกำเนิดของแนวความคิดประเพณี โดยชาวเขมรเห็นแนวทางในการที่จะอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ให้ได้รับผลบุญกุศลที่อุทิศไป ทำให้ทุกข์เวทนาจากบวงกรรมมีความบรรเทาเบาบางลง จึงให้มีการจัดพิธีแซนโฎนตาขึ้น และให้มีการสืบทอดต่อ ๆ กันมา ซึ่งเชื่อว่าถ้าในยุคของตนได้แซนโฎนตาให้แก่ ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ไปแล้ว รุ่นลูกจะต้องแซนโฎนตาให้ตนเหมือนกัน เพื่อให้ลูกหลานต้องปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันไปไม่สิ้นสุด เช่น ถ้าญาติหรือลูกหลานประกอบพิธีแซนโฎนตา และทำบุญอุทิศให้ ก็จะอวยพรให้ญาติหรือลูกหลานมีความสุขความเจริญ ประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จมีเงินมีทองใช้ แต่ถ้าไม่ทำพิธีแซนโฎนตาก็จะโกรธและสาปแช่งญาติหรือลูกหลานไม่ให้มีความสุขความเจริญ ประกอบอาชีพฝืดเคือง ไม่ราบรื่น ดังนั้นลูกหลานของชาวไทยเขมรทุกรุ่นจึงต้องประกอบพิธีแซนโฎนตา หรือพิธีกราบไหว้ เซ่นไหว้บรรพบุรุษ มาตราบจนทุกวันนี้ โดยงานประเพณีแซนโฎนตา บูชาบรรพบุรุษ ของพี่น้องชาวเขมรพื้นเมืองสุรินทร์ร่วมไปถึงชนชาวกูยหรือส่วยอีกด้วย ซึ่งไม่เฉพาะชนชาวเขมรพื้นเมืองที่ จ.สุรินทร์ ที่จัดพิธี "สารทเล็ก " หรือ "เบ็ญตู๊จ" ในวันที่ 14 กันยายน หรือ ตรงกับขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 และ "สารทใหญ่" หรือ "เบ็ญธม" ในวันที่ 29 กันยายน 2551 หรือ ตรงกับ แรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งถือเป็น วันแซนโฎนตาที่แท้จริง ส่วนการจูนโฎนตา เป็นการนำอาหารคาว หวาน ของสด ผลไม้ ไปไหว้ แก่ผู้อาวุโสในครอบครัว ซึ่งลูกหลานทุกคนจะเตรียมไปไหว้ขอพรจากผู้ใหญ่ การแซนโฎนตา เป็นการเตรียมสำรับอาหารคาว หวาน ขนม ข้าวต้มมัด กระยาสารท ฯลฯ นำมาจัดในกระเชอหรือกระด้ง หรือเรียกว่า "กระจือโฎนตา” ซึ่งเป็นการเตรียมไว้สำหรับการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และจะเตรียมอาหารคาว หวาน ของสด ผลไม้ไปวัดในเช้าของ วันแรม 15 เดือน 10 เพื่อเป็นการทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว



ประนนท์ ไม้หอม / ส.ปชส. สุรินทร์/รายงาน

รายงานพิเศษ..มหาสารคามสร้างแหล่งเรียนรู้ นำดอกเตอร์เกี่ยวข้าวกับชาวนา

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรในพื้นที่ สร้างแหล่งเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต นำนักวิชาการระดับดอกเตอร์ร่วมเกี่ยวข้าวกับชาวนา เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานศึกษากับเกษตรกร ติดตามได้จากรายงาน

บนเนี้อที่กว่า 1 ไร่ ภายในโรงเรียนบ้านสมศรีมะแปบประชาบำรุง ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ได้จัดทำเป็นแปลงนาสาธิต ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับโรงเรียนบ้านสมศรีมะแปบประชาบำรุง สำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัยและเกษตรกรในพื้นที่ สร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้บริการทางวิชาการ และช่วยเหลือเกษตรกร โดยได้จัดทำโครงการเกษตรผสมผสาน ซึ่งมีกิจกรรม ดอกเตอร์โยนกล้ากับชาวนาชั้นนำ ที่ดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา และ เมื่อผ่านไป 3 เดือน กล้าข้าวในนา เริ่มเจริญงอกงาม อยู่ในระยะแก่ตัว พร้อมเก็บเกี่ยว จึงได้มาร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าว ร่วมกับนักศึกษาปริญญาเอกหรือดอกเตอร์ ในกิจกรรมดอกเตอร์เกี่ยวข้าวกับชาวนาชั้นนำ

ผศ.ดร.ประสงค์ ศรีหานาม จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกว่า กิจกรรมดอกเตอร์เกี่ยวข้าวกับชาวนา นี้ เป็นเสมือนพันธกิจในการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ทำให้นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการได้ซึมซับวิถีชีวิตของเกษตรกร เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับเกษตรกรในพื้นที่

ด้านนายอำพล ศิริคำ เกษตรอำเภอกันทรวิชัย กล่าวว่า การลงพื้นที่เกี่ยวข้าวกับชาวนาของนักวิชาการในครั้งนี้ เป็นเสมือนการบริการทางสังคม ผ่อนคลายจากการเรียนการสอน โดยสำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัย จะนำความรู้ในป้องกันการระบาดของโรคไหม้ข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งข้าวในแปลงนาสาธิตแห่งนี้ ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ควบคุมการระบาดของโรคไหม้ข้าว

ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งได้มาร่วมกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวกับดอกเตอร์ ในวันนี้ บอกเล่าด้วยความรู้สึกปลื้มใจ ที่เห็นสถานศึกษาให้ความสำคัญกับชุมชน ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่แปลงนาสาธิต แต่ก็เกิดความใกล้ชิด ผูกพัน และเมื่อเปรียบกันระหว่างข้าวนาหว่าน กับข้าวนาโยน เห็นว่าข้าวนาโยนจะให้ผลผลิตดีกว่าเช่นเดียวกับข้าวนาดำ

กิจกรรมดอกเตอร์เกี่ยวข้าวกับชาวนาชั้นนำในวันนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นักวิชาการ นักศึกษา ได้มีโอกาสซึมซับกับวิถีชีวิตของเกษตรกร จนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ในอนาคตหากได้มีการขยายไปสู่เครือข่ายในหมู่บ้าน หรือตำบลใกล้เคียง จะไม่เพียงแต่เป็นแหล่งเรียนรู้เท่านั้น ผลผลิตของข้าวในแปลงนาก็จะเจริญงอกงาม ปราศจากสารเคมี และเป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพดีของจังหวัดมหาสารคามในอนาคตด้วย



ทัศนัย ศรีมุลตรี/ถ่ายภาพ
ชนกพร โพธิสาร  สปชส.มหาสารคาม..รายงาน

ชาวบ้านหินลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม รวมพลังสร้างสะพานไม้ แก้ปัญหาการขนส่งพืชผลทางการเกษตร

ชาวบ้านหินลาด หมู่ที่ 2 ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม รวมพลังสร้างสะพานไม้ข้ามลำห้วย แก้ปัญหาการขนส่งพืชผลทางการเกษตร โดยใช้เงินบริจาคและกำลังแรงกายของชาวบ้าน

นายพิชิต รัตนเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหินลาดหมู่ที่ 2 ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม กล่าวว่า พื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านหินลาดอยู่ห่างจากหมู่บ้าน ในช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านหินลาด เพื่อนำไปเก็บไว้ตามยุ้งฉางหรือนำไปขาย เส้นทางในการขนส่งต้องผ่านลำห้วยซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ และไม่มีสะพานข้าม ชาวบ้านต้องขนส่งทางเรือหางยาวและขัวไม้ไผ่หรือสะพานไม้ไผ่ลำเดียว ทำให้เกิดความยากลำบากในการขนย้ายผลผลิตทางการเกษตร ชาวบ้านหินลาดจึงเปิดเวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา และสรุปได้ว่าจะช่วยกันก่อสร้างสะพานไม้ขึ้นเอง โดยพร้อมใจกันบริจาคทรัพย์สิน เงิน วัสดุ อุปกรณ์ และต้นไม้ เพื่อนำมาก่อสร้างสะพานไม้ข้ามลำห้วย โดยได้รับเงินบริจาคทั้งสิ้น 42,000 บาท ต้นไม้ จำนวน 28 ต้น และอาหารตามกำลังศรัทธาเพื่อนำมาเลี้ยงคนที่ทำงานทุกมื้อ ตลอดระยะเวลาก่อสร้างสะพานไม้จนแล้วเสร็จ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ภายใต้ชื่อ "สะพานร่วมใจสามัคคี” มีขนาด ความยาวประมาณ 30 เมตร กว้าง 2.50 เมตร รถยนต์และเครื่องจักรทางการเกษตรสามารถวิ่งผ่านได้โดยสะดวก

ด้านนายสิทธิ พิพัฒน์ชัยกร นายอำเภอเมืองมหาสารคาม กล่าวว่า การรวมพลังก่อสร้างสะพานไม้ข้ามลำห้วยในครั้งนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของชุมชนเข้มแข็งในการช่วยเหลือตนเอง เป็นการรวมกลุ่ม รวมพลัง ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมกำลังทรัพย์ของชาวบ้านหินลาดทุกคน โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการแม้แต่บาทเดียว เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของตนเองและชุมชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน



ส.ปชส.มหาสารคาม / ข่าว

การค้าภายในมหาสารคามแจ้งเปิดรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57

การค้าภายในจังหวัดมหาสารคาม แจ้งเปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ข้าวนาปี ครั้งที่ 1 ตามมติ กขช. ระยะเวลาจำนำ 1 ต.ค. 56 - 28 ก.พ. 57 ย้ำเกษตรกรต้องนำข้าวมาจำนำด้วยตนเอง หากพบมีการสวมสิทธิ์ มีโทษตามกฎหมาย

นางมรกต เบญจวรรณ อิ่มวิเศษ หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 เปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ข้าวนาปี ครั้งที่ 1 โดยมีเป้าหมายทั้งปี จำนวน 16.5 ล้านตัน วงเงิน 270,000 ล้านบาท เกษตรกรที่มีความประสงค์จะนำข้าวมาจำนำตามโครงการ จะต้องมีใบรับรองผู้ปลูกข้าวปี 2556/57 ที่ได้มีการลงทะเบียนไว้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามแล้ว สำหรับการรับจำนำมีทั้งการจำนำใบประทวนและจำนำที่ยุ้งฉาง โดย ธ.ก.ส. โดยจะต้องเป็นข้าวเปลือกที่เกษตรกรเพาะปลูกได้เองในปี 2556/57 เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของข้าวจะต้องมาจำนำด้วยตนเอง จำนำได้เฉพาะในพื้นที่เพาะปลูก กรณีมีการจำนำข้ามเขต ต้องได้รับอนุมัติจากจังหวัดพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเสียก่อน ทั้งนี้เกษตรกรที่จะนำข้าวมาจำนำจะต้องเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. กำหนดระยะเวลาจำนำตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556-28 กุมภาพันธ์ 2557 ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือนนับจากเดือนที่รับจำนำ โดยมีราคารับจำนำ ณ ความชื้นไม่เกิน 15 %

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้เปิดรับสมัครโรงสีเข้าร่วมโครงการแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจประเมิน และในการรับจำนำข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ข้าวที่นำมาจำนำจะต้องเป็นผลผลิตของเกษตรกร กรณีนำข้าวเปลือกของบุคคลอื่นมาสวมสิทธิ์ มีความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ




ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว

พุทธศาสนิกชนชาวมหาสารคาม ทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระกุศล 100 ปี สมเด็จพระสังฆราช

ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นำพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดมหาสารคาม จากคุ้มวัดต่าง ๆ ร่วมพิธีสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 101 รูป ในวโรกาสฉลองพระชันษา 100 ปี ถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช

(1-10-56) ที่บริเวณศาลาการเปรียญ วัดศรีสวัสดิ์ ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยนางพูลทรัพย์ สิงห์ศักดา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม นำข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ที่มาจากคุ้มวัดต่าง ๆ ร่วมพิธีสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ถวายสักการะสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังคปริณายก ตามโครงการส่งเสริมศีลธรรม ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังคปริณายก โดยมีพระเทพสิทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม เจ้าอาวาสวัดมหาชัย พระอารามหลวง เป็นองค์แสดงสัมโมทนียกถา และมีพระภิกษุ สามเณร จากวัดต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม จำนวน 101 รูป ออกรับบิณฑบาตจากพุทธศาสนิกชน

และเพื่อเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน พร้อมใจประดับธงตราสัญลักษณ์งานฉลอง 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ตามอาคารของหน่วยงานและบ้านเรือนในบริเวณที่เหมาะสม ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556



ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว

เขื่อนอุบลรัตน์เร่งระบายน้ำหลังปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าระดับการควบคุม

(1 ต.ค. 2556) เวลา 14.00 น. นายภิญโญ ทองสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริหารทำการแทน ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดแถลงข่าวสื่อมวลชนขอนแก่นถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ที่ห้องประชุมเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งปัจจุบันน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 มีปริมาณ1,595 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 66 %ของความจุอ่างสามารถรับน้ำได้อีก 836 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยเมื่อ 1 ต.ค. มีน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวน 77 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการระบายน้ำออก 13.45 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อพิจารณาสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ในปัจจุบันพบมีหลายปัจจัยซึ่งนำมาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจะมีปริมาณใกล้เคียงกับสถานการณ์น้ำในเดือนตุลาคมปี 2553และ 2554 ซึ่งเป็นช่วงน้ำท่วมใหญ่ดังนั้นทางเขื่อนอุบลรัตน์จึงได้นำเรื่องเข้าประชุมคณะกรรมการบริหารน้ำจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาโดยทางเขื่อนมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำโดยเปิดประตูระบายน้ำล้นควบคู่กับการระบายน้ำผ่านโรงไฟฟ้าเพื่อควบคุมระดับน้ำในเขื่อนและจากการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องพายุ หวู่ติ๊บ ที่จะมีผลทำให้ผลตกชุกหนาแน่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนเป็นจำนวนมากและมีผลทำให้ระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมและเส้นควบคุมน้ำหลากมากกว่าปัจจุบันขึ้นไปอีก ดังนั้นทางเขื่อนอุบลรัตน์จึงขอเพิ่มการระบายน้ำออกจากเขื่อนอยู่ในช่วง 16 – 25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันโดยจะเริ่มปรับพิ่มจาก 13 ล้านลูกบาศก์เมตรอีกวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร จนถึงวันศุกร์แล้วจะมีเการประเมินสถานการณ์ใหม่ซึ่งการระบายน้ำในช่วงดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อลำน้ำพองเพราะการปล่อยน้ำในระดับที่จะล้นตลิ่งลำน้ำพองได้ต้องอยู่ที่ประมาณวันละ 35 ล้านลูกบาศก์ ซึ่งหากสถานการณ์น้ำจากชัยภูมิไหลผ่านลำน้ำเชิญ และน้ำจากหนองบัวลำภูและจังหวัดเลยมาทางลำน้ำพะเนียงไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ในช่วงสิบวันจากนี้ไปอยู่ที่ปริมาณ 60 – 70 ล้านลูกบาศก์เมตรก็จะทำให้น้ำเต็มเขื่อนอุบลรัตน์ได้ดังนั้นช่วงนี้ต้องเร่งการระบายน้ำออกท้ายเขื่อนแต่จะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และเสนอต่อคณะกรรมการบริหารน้ำจังหวัดขอนแก่นทุกวัน

สถานกงศุลจีนประจำจังหวัดขอนแก่น จัดงานครบรอบ 64 ปี วันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นางนิภา สุวรรณสุจริต นายกเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น หัวหน้าสำนักงานจังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานภาคราชการ เข้ามอบแจกันดอกไม้ ร่วมแสดงความยินดีกับ นายเซีย ฝูเกิน กงศุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดขอนแก่น เนื่องในวันฉลองครบรอบ 64 ปี แห่งการสถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น โดยมีแขกผู้มีเกียรติจากภาครัฐและเอกชน เช่น กงศุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิไตยประชาชนลาว กงศุลใหญ่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคอีสาน สมาคม สโมสร ชาวไทยเชื้อสายจีน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม เข้าร่วมงานแสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก




ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น

งาน OTOP ขอนแก่นสก้าวไกลสู่อาเซียน

นายสมเกียรติ ปันจันตา ประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดขอนแก่นเปิดเผยว่า นายเสน่ห์ นนทะโชติ ปลัดจังหวัดขอนแก่น เดินทางมาเปิดงาน "OTOPไทยก้าวไกลสู่อาเซียน"(OTOP CITY IN KHON KAEN) ครั้งที่ 11 ประจำปี 2556 การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า OTOP สร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOPสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชน สร้างสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่สากล และพัฒนาให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOPได้มีทักษะด้านการบริหารจัดการ และการตลาด โดยงานครั้งนี้มีผลิตภัณฑ์เครื่องอุปโภค-บริโภค จัดจำหน่ายมากมาย จากกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP กว่า 80 ร้าน งาน "OTOP CITY IN KHON KAEN" นี้จะมีระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2556 ณ บริเวณสวนรัชดานุสรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น

โครงการ TO BE NUMBER ONE ในสถานประกอบการ

นายสุทธิ สุโกศล แรงงานจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่าทุกภาคส่วนและหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดขอนแก่น ได้เชิญชวนชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานประกอบการจังหวัดขอนแก่นดำเนินกิจกรรมจังหวัดขอนแก่นไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการประชุมโครงการ TO BE NUMBER ONE ในสถานประกอบการ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไปในชุมชน รวมทั้งพนักงาน หรือลูกจ้างในสถานประกอบการ สำหรับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดขอนแก่น ได้เชิญชวนชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานประกอบการจังหวัดขอนแ่ก่นที่เป็นต้นแบบดำเนินกิจกรรมเข้าร่วมแสดงผลงาน จัดนิทรรศการ รวบรวมองค์ความรู้ นวัตกรรมส่งเข้าประกวด TO BE NUMBER ONE ประเภทสถานประกอบการ โดยในการประชุมครั้งนี้มีสถานประกอบการต่างๆ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เข้าร่วมประชุมกว่า 40 คน



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น

จังหวัดขอนแก่นประชุมผู้นำเกษตรกรเตรียมสู่อาเซียน

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่าสภาเกษตรกรจัดการอบรมสัมมนาและพบปะกลุ่มเกษตรกรในงานสัมมนาเตรียมความพร้อมของผู้นำเกษตรกรก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ณ อาคารแสวงการ มหาวิทยาลัยอีสาน ต.บ้านทุ่ม อ.เมืองขอนแก่น ดำเนินการโดยสำนักงานสภาเกษตรจังหวัดขอนแก่น โดยมีนายสมศักดิ์ คุณเงิน ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่นให้การต้อนรับการจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่นทุกระดับให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขั้นพื้นฐาน การพัฒนาสมาชิกฯ ให้พร้อมต่อการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการปฏิบัติงานและเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรสำนักงานสภาเกษตรกร สมาชิกสภาฯ และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมเรียนรู้และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพงานเป็นเครือข่ายได้ รวมทั้งเพื่อเตรียมบุคลากรของสภาเกษตรกรฯ รองรับการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนในอนาคต กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จำนวน 1,346 คน ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 125 คน รวมทั้งสิ้น 1,471 คน กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ฯ การเสวนาหัวข้อ “เตรียมความพร้อมของผู้นำเกษตรกรก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น

จังหวัดขอนแก่นปลูกต้นราชพฤกษ์เฉลิมพระเกียรติ ปี 2557-2559

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นำส่วนราชการ จัดกิจกรรมปลูกต้นราชพฤกษ์เฉลิมพระเกียรติ ปี 2557-2559 ณ บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำค่ายเปรมติณสูลานนท์ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กิจกรรมดังกล่าวเป็นการร่วมดำเนินการโดยจังหวัดขอนแก่น มูลนิธิหอเกียรติยศรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กองพลทหารม้าที่ 3 โรงแรมโฆษะ และหน่วยงานราชการ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และการสร้างเมืองขอนแก่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เป็นการลดภาวะโลกร้อน โดยจะปลูกต้นราชพฤกษ์บริเวณสองข้างทางตามเส้นทางท่องเที่ยวเส้นที่ 1 (ถนนศรีจันทร์-ทางหลวงหมายเลข 2183-ถนนหมายเลข 2039) โดยเริ่มต้นตั้งแต่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองไปตามสิมอีสานวัดป่าแสงอรุณ ศูนย์เรียนรู้มูลนิธิชัยพัฒนา (บ้านเหมือดแอ่ ต.หนองตูม อ.เมืองฯ) พระธาตุขามแก่น หมู่บ้านงูจงอาง มายังสวนป่าคูนเฉลิมพระเกียรติ ณ ค่ายเปรมติณสูลานนท์ ต้องใช้ต้นคูนหรือต้นราชพฤกษ์ทั้งสิ้น 19,999 ต้น โดยในเบื้องต้นโรงแรมโฆษะได้สนับสนุนต้นราชพฤกษ์ขนาดความสูง 2-2.5 เมตร จำนวน 9,999 ต้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลุกกระแสให้ภาคประชาชนหันมาให้ความสนในและร่วมแรงร่วมใจกัน ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น และร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อลดปัญหาโลกร้อนกันอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ได้มีการจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) และพิธีมอบต้นราชพฤกษ์ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดขอนแก่น 20 แห่ง เพื่อนำไปปลูกในเส้นทางท่องเที่ยวที่กำหนด



ข่าว-พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น

ด้วยรักและผูกพันในวันอำลาชีวิตราชการของนายทรงพล จำปาพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

นายทรงพล จำปาพันธุ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นซึ่งเกษียนอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 โดยมีข้าราชการเจ้าหน้าที่ ลูกจ้างที่ทำงานบนศาลากลางจังหวัดขอนแก่นมาร่วมมอบดอกกุหลาบและส่งจำนวนมากนำโดยนายวินัย  สิทธิมณฑล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ชาวขอนแก่นก็ขอเป็นกำลังใจให้กับท่านและครอบครัวและท่านก็จะอยู่ในใจของชาวขอนแก่นตลอดปี สำหรับนายทรงพล จำปาพันธุ์ จบการศึกษาปริญญาตรี-ปริญญาโท ด้านรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภรรยานางภัทราธร จำปาพันธุ์ มีลูกชาย 1 คนลูกสาว 2 คน ทำงานกันทุกคนแล้ว เริ่มรับราชการเมื่อ 2 มกราคม 2519 นับถึงวัเกษียนอายุรวม 37 ปี 7 เดือน 29 วัน เป็นปลัดอำเภอ 17 ปี เป็นนายอำเภอ 11 ปี เป็นปลัดจังหวัดหนองคาย สุรินทร์ เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด 7 ปี ที่จังหวัดขอนแก่น 2 รอบ จังหวัดชลบุรี จังหวัดกาฬสินธุ์ รวมรับราชการใน 10 อำเภอ 7 จังหวัด โยกย้าย 20 ครั้งอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดมา 23 คน นายทรงพล จำปาพันธ์ กล่าวว่า ตำแหน่งหน้าที่เป็นเพียงหัวโขน ชีวิตครอบครัวญาติมิตรเป็นนิรันดร์ ผมเล่นตามบทอย่าง มืออาชีพ ไม่เคยลืมญาติมิตรและครอบครัวผมลงจากเวทีอย่างภาคภูมิใจและพร้อมที่จะเผชิญกับเวทีแห่งชีวิตใหม่อย่างสงบ มีสติและเชื่อมั่น มิติต่อไปนี้คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง ขอขอบคุณทุกท่านที่มีน้ำใจกับผมเสมอมา มีสิ่งใดที่ผมทำให้ท่าน ผิดพ้องหมองใจ ผมกราบขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ชัยภูมิ

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ชัยภูมิ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ โปรดให้ นายอภัย จันทนจุลกะ รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นผู้แทนพระองค์มอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ที่ศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองชัยภูมิ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด ที่เทศบาลตำบลชีลอง ๑,๐๐๐ ชุด และที่เทศบาลตำบลบ้านค่าย อำเภอเมือง อีก ๑,๐๐๐ ชุด ยังความปลาบปลื้มแก่ผู้ประสบภัยที่ได้รับพระราชทานความช่วยเหลือในครั้งนี้

ด้านนายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิมีพื้นที่ประสบภัยแล้วใน ๑๔ อำเภอ ๘๔ ตำบล พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๒๓๖,๖๑๔ ไร่ บ่อกุ้ง/ บ่อปลา ๒,๑๒๖ บ่อ สิ่งสาธารณประโยชน์เสียหาย ๘๖๐ แห่ง และมีแนวโน้มว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นใน ๔ อำเภอ คือ อำเภอบ้านเขว้า จัตุรัส เนินสง่าและอำเภอเมือง ส่วนสถานการณ์น้ำยังทรงตัวใน ๔ อำเภอ คือ อำเภอภูเขียว บ้านแท่น หนองบัวระเหว และอำเภอแก้งคร้อ ส่วนอำเภอที่เหลือสถานการณ์น้ำมีแนวโน้มลดลงและเริ่มคลี่คลายแล้ว สำหรับในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ตามถนนสายต่าง ๆ ได้เข้าสู่ภาวะปกติ รถสามารถสัญจรไปมาได้แล้ว คงเหลือท่วมขังในชุมชนที่เป็นที่ลุ่มต่ำ.



เพชรรินทร์ เขียวเขว้า
ทีมข่าว ส.ปชส.ชัยภูมิ

กลุ่มชาวคอนสารไม่เอาโรงงานผลิตยางพารา บุกศาลากลาง ขอทราบผลคืบหน้าการอนุญาตตั้งโรงงาน

ชาวอำเภอคอนสาร กลุ่มรักษ์คอนสาร ต้านโรงงานยางพารา เดินหน้าคัดค้าน และขอทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง พร้อมเรียกร้องให้ เพิ่มตัวแทนฝ่ายชาวบ้านร่วมเป็นกรรมการด้วย

ช่วงบ่ายวันนี้ 30 ก.ย. 56 ได้มีชาวอำเภอคอนสาร ประมาณ 500 คน เดินทางมาชุมนุม ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อขอทราบผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตยางพาราของบริษัทศรีตรังแอโกอินตัสทรี จำกัด(มหาชน) ซึ่งเตรียมที่จะลงมือก่อสร้างโรงงานผลิตยางพาราอัดแท่ง ในพื้นที่บ้านหินร่องเมย หมู่ 8 ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 12,000 ตันต่อเดือน ซึ่งทราบว่า วันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ จึงเดินทางมา รับทราบผลการประชุม และติดตามการดำเนินการ ตามข้อเรียกร้อง ที่ได้ยื่นต่อ ประธานคณะกรรมการ เมื่อ วันที่ 24 กันยายน 2556 ที่อำเภอคอนสาร รวม 3 ข้อ ได้แก่ ชาวคอนสารไม่ยอมรับคณะกรรมการที่แต่งตั้งครั้งนี้ เพราะชาวบ้านไม่ได้รับรู้ ข้อ 2 ขอคัดค้านการตั้งโรงงาน และจะติดตามผล หากไม่เห็นผล จะนำมวลชนเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันไม่ให้โรงงานเกิดขึ้น ที่อำเภอคอนสารได้ เนื่องจากชาวบ้าน ได้รู้ ได้เห็นโรงงานที่ตั้งในจังหวัดใกล้เคียง ชาวบ้านแถบนั้น ประสบปัญหาเรื่องน้ำเสียจากโรงงาน แต่ประเด็นสำคัญมากกว่านั้นคือ ผลที่มันไปกระทบกับบริบทความเป็นอยู่ ทั้งกลิ่นเน่าเห็น ชาวคอนสารอยู่กับธรรมชาติที่นี่ มานานจะเอาโรงงานมาตั้ง มองเฉพาะความสะดวกด้านการขนส่ง คมนาคม แต่ไม่ได้มองเรื่องความเป็นอยู่ของคนที่นี่ ตรงนี้ชาวบ้านจึงยอมไม่ได้

ต่อมานายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งติดภารกิจ ตรวจสภาพน้ำท่วม ได้มอบหมายให้นายนิพนธ์ สาธิตสมิตพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไอศูรย์ สิงหนาท รอง ผบก.ภจว.ชัยภูมิ และคณะกรรมการ พบกับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ โดยได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนได้ให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็น จากนั้นนายนิพนธ์ สาธิตสมิตพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้สรุปว่า เดิมทีวันนี้ได้นัดประชุมคณะกรรมการ แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ประกอบกับคณะกรรมการหลายท่าน ติดราชการสำคัญกับกระทรวงมหาดไทย จึงเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปไม่มีกำหนด และจะรับข้อเรียกร้อง ที่กลุ่มคัดค้านเดินทางมาครั้งนี้ ดำเนินการต่อไป



สุระพงค์ สวัสดิ์ผล /ข่าว

จังหวัดนครราชสีมา จัดโครงการอบรมเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดนครราชสีมา ประจำปี 2556

นายบัณฑิต ตั้งประเสริฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประธานพิธีจัดโครงการอบรมเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดนครราชสีมา ประจำปี 2556 ณ ห้องประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา สืบเนื่องจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีนโยบายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดทุกจังหวัด จักตั้งชมรมคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลด้านการคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดนครราชสีมาได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ผลการดำเนินงานในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2555 - เดือนกันยายน 2556 ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 170 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 110 เรื่อง อยุ่ในระหว่างดำเนินการ 60 เรื่อง สำนักงานคระอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดนครราชสีมาได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด ร่วมรณรงค์จัดตั้งอาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคระดับอำเภอ และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นสำหรับดำเนินการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่แลเป็นกลไกสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน จังหวัดนครราชสีมาจึงได้จัดทำโครงการอบรมเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดนครราชสีมา ประจำปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัด และพัฒนาขีดความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยความเป็นธรรมอำเภอ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค และการดำเนินคดีตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนให้ประชาชนโดยฝ่านเครือข่ายผู้บริโภคได้รับทราบสิทธิและเจ้าหน้าที่ของตนตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งให้ผู้บริโภคประกอบธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม การประชุมสัมมนาฯ ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากดร.บัณฑิต ตั้งประเสริฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มาบรรยาพิเศษในหัวข้อ "แนวนโยบายภาครัฐกับการคุ้มครองผู้บริโภค” ร่วมกับนายพิฆเนศ ต๊ะปวงผู้อำนวยการสำนักแผนและพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภค และมีวิทยากรจากสำนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมบรรยายให้ความรู้ เกี่ยวกับข้อกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคและการดำเนินคดีตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาจำนวนประมาณ 450 คน 

ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา จับมือ สสจ.ชัยภูมิ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมสำรวจอนามัยสิ่งแวดล้อม

ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิได้ออกพื้นที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดชัยภูมิ จากเหตุการณ์น้ำเริ่มเอ่อเข้าท่วมขังตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2556 ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ถนน และชุมชนบางส่วน โดยอำเภอที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบ้านเขว้า อำเภอจตุรัส อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอเนินสง่า




ทั้งนี้ทางศูนย์อนามัยที่ 5 ได้เดินทางไปช่วยเหลือ ณ จุดศูนย์ปฏิบัติการผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมบ้านค่ายหมื่นแผ้ว เทศบาลตำบลบ้านค่ายหมื่นแผ้ว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนถึง 2,000 หลังคาเรือน อยู่ในเขตเทศบาล 1,000 หลังคาเรือน และในเขตรอบนอก 1,000 หลังคาเรือน ความสูงของน้ำประมาณ 1 เมตร ในส่วนกิจกรรมดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยไม่ว่าจะเป็นการมอบสิ่งของสนับสนุน อาทิ คลอรีนน้ำหยดทิพย์ คลอรีนเม็ด น้ำยาล้างจาน ถุงดำ สารส้มฯ เป็นต้น รวมทั้งสำรวจสภาพอนามัยสิ่งแวดล้อมและการดำเนินการในพื้นที่ ด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย การจัดการขยะ ฯ พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในช่วงน้ำท่วมกับคนในชุมชนอีกด้วย

จังหวัดนครราชสีมาระดมความคิดเห็นวางแผนพัฒนาจังหวัด ระยะ 4 ปี เตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558

วันนี้ (1 ต.ค. 56) เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมซิตี้พาร์ค อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมการประชาคมเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาจังหวัด ระยะ 4 ปี (พศ.2558-2561) ซึ่งจัดโดยกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายนภดล ปราศราคี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงาน ทั้งนี้การจัดการประชุมการประชาคมเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาจังหวัด ระยะ 4 ปี ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อ ให้จังหวัดกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนใช้ประกอบการทบทวนยุทธศาสตร์จังหวัด รวมทั้งเพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ของประเทศ นโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อจังหวัด และเพื่อสร้างกระบวนการให้กระทรวง กรม มีส่วนร่วมพัฒนาตัวชี้วัดและทบทวนยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อสนับสนุนแผนงานโครงการตามความต้องการของจังหวัด สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้มี ส่วนราชการ องค์กรภาคเอกชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 100 คน

ด้านายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา มีมูลค่า GPP รวม 202,014 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปี (พศ.2550-2554) ร้อยละ 2.6 โดย GPP ของจังหวัดอยู่อันดับที่ 10 ของประเทศ มูลค่า GPP ต่อหัว 71,405 บาทต่อคนต่อปี คิดเป็นอันดับที่ 45 ของประเทศ อัตราเงินเฟ้อ 3.1 สูงกว่าประเทศในอัตรา 0.1 รายได้ของจังหวัดขึ้นอยู่กับเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เป้าหมายในการพัฒนาจังหวัด เพื่อเตรียมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 จังหวัดนครราชสีมา ตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัยและพลังงานสะอาดใหญ่ที่สุดของอาเซียน เป็นแหล่งอุตสาหกรรมการเกษ๖รและเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นประตูเชื่อมโยงระบบ โลจิสติก และการกระจายสินค้าสำคัญในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสีเขียว ประวัติศาสตร์ อารยธรรมขอม และภูมิปัญญาท้องถิ่น นายชยาวุธ กล่าว