วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

จังหวัดอำนาจเจริญประชุมชี้แจงเจ้าของที่ดินในเขตพื้นที่โครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดอำนาจเจริญ

ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญเป็นประธานประชุมชี้แจงโครงการจัดรูปที่ดินและพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการจัดรูปที่ให้กับประชาชนในพื้นที่

วันที่ 4 ก.ย. 56 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม โรงแรมฝ้ายขิดอำนาจ นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานการประชุมชี้แจงเจ้าของที่ดินในเขตพื้นที่โครงการจัดรูปที่ดินในการพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการจัดรูปที่ดิน และเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าของที่ดินที่สมัครเข้าร่วมโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดอำนาจเจริญ  โดยมี นายชิตชัย อินทรพานิชย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่จะนำผังเมืองไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ โดยการนำที่ดินหลายๆแปลงมารวมกันเพื่อจัดรูปแปลงใหม่ให้มีระเบียบ สวยงาม พร้อมทั้งมีถนนเข้าออกสะดวกทุกแปลงมีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่ครบครันและเพียงพอรวมถึงการบริการสาธารณะ เพื่อเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย โดยที่เจ้าของที่ดินทุกรายยังคงถือครองกรรมสิทธิ์อย่างสมบูรณ์บนที่ดินของตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยการร่วมกันเลียสละที่ดินบางส่วนเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อที่จะแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ภายใต้การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงประชาชนเจ้าของที่ดิน

ทั้งนี้ นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประชาชน ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในส่วนของโครงการจัดรูปที่ดิน ดังนั้น การประชุมชี้แจงในครั้งนี้ จะสามารถทำให้ประชาชนในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อจะได้เข้าใจถึงรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินการของโครงการและหลักการจัดแปลงที่ดินใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอันจะนำไปสู่การพัฒนาบ้านเมืองให้น่าอยู่ต่อไป



กฤษดา เนตรพันธ์ / ข่าว

อุดรธานีจัดพิธีเจริญจิตตภาวนาร่วมฟังพระธรรมเทศนา ถวายพระพรถวายพระราชกุศลในหลวงราชินี

พสกนิกรชาวจังหวัดอุดรธานี ร่วมใจร่วมเจริญพระพุทธมนต์เจริญจิตตภาวนาร่วมฟังพระธรรมเทศนาถวายพระพรชัยมงคล ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ขอให้ทั้ง 2 พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ เจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน

เมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้ ( 5 ก.ย.56 ) ที่ศาลาบุณสิงห์ วัดมัชฌิมาวาสพระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานพิธีเจริญพระพุทธมนต์เจริญจิตตภาวนาร่วมฟังพระธรรมเทศนาถวายพระพรชัยมงคล ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระธรรมิกามหาราชา พระธรรมิกมหาราชินี ผู้ถึงรัตนตรัยเป็นสรณะอันสูงสุด ทรงมีพระราชจริยวัตรประกอบด้วยธรรม ทรงบำเพ็ญสรรพพระราชกรณียกิจ ตามครรลองแห่งหลักทศพิราชธรรมและอิทธิบาทธรรม โดยมีพระครูธรรมสโมทาน รองเจ้าคณะอำเภอเมือง( ฝ่ายธรรมยุต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสพระอารามหลวงจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานฝายสงฆ์ พระสงฆ์ 9 รูปเจริญจิตภาวนา โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ร่วมประกอบพิธี

นายณัฐสิทธิ์ วงค์ตลาด ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ 27/2555 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กำหนดการจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เจริญจิตตภาวนาร่วมฟังพระธรรมเทศนาถวายพระพรชัยมงคลและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ประจำปีพุทธศักราช 2556 โดยให้จัดพิธีฯในทุกๆวันที่ 5 ของทุกเดือนตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน –4 ธันวาคม 2556 โดยจังหวัดอุดรธานี กำหนดจัดพิธีฯดังกล่าวขึ้น ในทุกวันที่ 5 ของทุกเดือนเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน –พฤศจิกายน 2556 และวันที่ 4 ธันวาคม 2556 เวลา 17.00 น.รวม 9 ครั้ง ซึ่งผู้มาร่วมพิธีฯจะได้กระทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว อันจะทำให้เป็นผู้ที่มีความสามารถพึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ รวมทั้งสามารถนำการบำเพ็ญกุศลในครั้งนี้ไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติโดยร่วมสืบไป

สำหรับการประกอบพิธีในครั้งที่ 7 ครั้งต่อไปกำหนดจัดวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2556 ที่ศาลาบุญสิงห์ วัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง ในการนี้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี จึงขอเชิญชวนชาวอุดรธานีทุกหมู่เหล่าร่วมน้อมจิตน้อมกาย ร่วมใจมาแสดงพลัง ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์เจริญจิตตภาวนาร่วมฟังพระธรรมเทศนาถวายพระพรชัยมงคลและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โดยพร้อมเพรียงกัน



ทีมข่าว ส.ปชส.อด. ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ข่าว/ภาพ

จับแล้วสาวประเภทสอง ชิงทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ สาขายูดี กลางเมืองอุดรธานี

จับได้แล้วสาวประเภทสอง บุกเดี่ยวพยายามชิงธนาคารกรุงเทพ สาขายูดีทาวน์อุดรธานี รับสารภาพต้องการเงินไปศัลกรรมแปลงเพศ

จากกรณี คนร้ายที่พยายามบุกชิงเงินธนาคาร กรุงเทพฯ สาขายูดีทาวน์ ถนนทองใหญ่ เขตเทศบาลนครอุดรธานี โดยคนร้ายเป็นสาวประเภทสอง แต่งหน้าเข้ม เดินเข้ามายังเคาน์เตอร์รับฝากเงิน พร้อมกับยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้พนักงานหน้าเคาน์เตอร์ ที่เขียนว่า "กรุณาอย่าส่งเสียงดัง ในกระเป๋ากูมีปืน ส่งเงิน 2 แสน ถ้าไม่อยากตาย” พนักงานตกใจจึงรีบวิ่งเข้าห้อง ด้านหลังธนาคาร คนร้าย เห็นท่าไม่ดีจึงวิ่งหนีออกจากธนาคารไปไม่ได้เงินสักบาท

ต่อมาเมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 5 ก.ย. 56 ที่ห้องประชุมฉัตรไพฑูรย์ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 พ.ต.อ.สุรินทร์ ชัยชมพู รองผบก.ภ.จ.อุดรธานี พ.ต.อ.โกวิท เจริญวัฒนศักดิ์ ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี แถลงข่าวจับกุม นายสุริยา หรือโม บุญชิต อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 148 หมู่ 17 ต.นาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี ผู้ต้องหาพยายามชิงทรัพย์ธนาคารดังกล่าว พร้อมของกลาง แผ่นกระดาษเขียนข้อความข่มขู่ กระเป๋าสะพายที่สีดำ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมตัวได้ที่ร้าน 652 ถนนนิตโย ต.หนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี

นายสุริยาฯ ให้การยอมรับสารภาพว่า เป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าวจริง โดยเห็นข่าวในทีวีที่คนร้ายใช้วิธีการเดียวกันนี้สามารถชิงทรัพย์เงินธนาคารได้ จึงได้นำมาเลียนแบบพฤติการณ์ เพื่อต้องการนำเงินมาทำศัลยกรรม ซึ่งตนเองมีแฟนเป็นชาวต่างชาติส่งเงินมาให้ใช้เป็นประจำ แต่มาระยะหลังไม่ได้ส่งเงินมาให้ใช้ 2-3 เดือนแล้ว ประกอบกับเงินไม่มีใช้จ่าย จึงได้คิดลงมือก่อเหตุดังกล่าว พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผบช.ภาค 4 กล่าวว่า เป็นการคิดสั้น อารมณ์ชั่ววูบ อยากที่จะได้เงินเร็ว เพื่อไปทำศัลยกรรมผ่าตัดแปลงเพศ โดยคิดว่าน่าจะทำได้โดยสะดวก เขียนหนังสือข่มขู่เอาเงิน เผอิญว่าทางเจ้าหน้าที่ธนาคารตกใจ คนร้ายก็ตกใจ ต่างคนต่างตกใจก็เลยโอละพ่อ ตำรวจติดตามจับกุมตัวได้ ก็คงจะนำตัวไปชี้ที่เกิดเหตุ พิมพ์ลายนิ้วมือไว้เป็นหลักฐาน ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป



เครือข่ายการประชาสัมพันธ์ ส.ปชส.อด.
ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เรียบเรียง

อบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงสุภาพบุรุษพลังแผ่นดิน

ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับ ชมรมแม่บ้านตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี นำเยาวชนกลุ่มเสี่ยงปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม อบรมโครงการสุภาพบุรุษพลังแผ่นดิน สร้างชุมชนอุ่นใจลูกหลานกลับคืน

ที่หอประชุมอินทรีย์ กองกำกับการ 4 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายเสนีย์รณยุทธจ.อุดรธานี พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เป็นประธานเปิดโครงการสุภาพบุรุษพลังแผ่นดิน สร้างชุมชนอุ่นใจลูกหลานกลับคืน ประจำปี 2556

พ.ต.อ.สุรินทร์ ชัยชมพู รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ร่วม กับ ชมรมแม่บ้านตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายของยาเสพติด ซึ่งมีแนวโน้มการแพร่ระบาดในหมู่บ้านและชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจากพฤติกรรมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด นอกจากจะเป็นผู้เสพเองแล้ว ยังถูกชักจูงให้เป็นเครื่องมือของกระบวนการค้ายาเสพติด ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัวอย่างรุนแรง จึงได้จัดทำโครงการสุภาพบุรุษพลังแผ่นดิน สร้างชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน ประจำปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง เข้าอบรมฝึกฝนให้มีวินัย มีความสามัคคี ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม และเปิดโอกาสให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้เข้ามาร่วมมือ ช่วยกันพัฒนาชุมชนให้เกิดความสงบสุข อันเป็นรากฐานที่จะทำให้สังคมเข้มแข็งต่อไป การอบรมครั้งนี้ มีเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เข้าอบรมจำนวนทั้งสิ้น 50 คน ระยะเวลาอบรม 28 สิงหาคม ถึง 16 กันยายน 2556 วิทยากรจากตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี กองกำกับการ 4 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



เครือข่าย ส.ปชส.อด. ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เรียบเรียง 

ประชุมระดมความคิดเห็นด้านการค้ามนุษย์ยาเสพติดและการสร้างสมานฉันท์

จังหวัดอุดรธานี จัดประชุมระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะนายจ้าง ลูกจ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และการสร้างความสมานฉันท์

ที่ห้องประชุมสำนักงานแรงงานจังหวัดอุดรธานี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี วันนี้ ( 5 ก.ย.56 ) นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็นจากนายจ้าง ลูกจ้าง โดยประเด็นที่ทำการพูดคุยกันในวันนี้มี 3 ประเด็นหลักอาทิ ประเด็นการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ,ปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ การสร้างโรงงานสีขาว รวมไปถึงการต่อยอดเข้าสู่โครงการ TO BE NUMBER ONE ,การสร้างสมานฉันท์เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์และการสร้างเครือข่ายคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้จากข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ณ เดือนสิงหาคม 2556 มีจำนวน 1,635 คน แยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฏหมายได้รับอนุญาตทำงาน มี 1,014 คน ประกอบด้วยคนต่างด้าว ตามมาตรา 9 จำนวน 593 คน คนต่างด้าว ตามมาตรา 12 (BOI) 24 คน ,คนต่างด้าว มาตรา 13 (พื้นที่สูง) 20 คน ,ประเภทพิสูจน์สัญชาติและได้รับอนุญาตทำงาน 294 คน ประเภทนำเข้าตาม MOU 83 คน ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มเข้าเมืองผิดกฏหมายแต่ได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราว ตามมติ ครม.15 มกราคม 2556 จำนวน 621 คน

นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลและขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูล สามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมกำกับดูแล และดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดกับนายจ้างที่ใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้าย เช่นกรณีการจ้างแรงงานเด็กตัดอ้อย ซึ่งในที่ประชุมมีการหารือในประเด็นดังกล่าวและมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะบริบทและวัฒนธรรมคนไทยเมื่อพ่อ แม่ไปรับจ้างตัดอ้อยลูกก็จะตามไปด้วยเพราะไม่มีคนคอยดูแลลูก อีกทั้งพ่อแม่ก็ไม่อยากให้ลูกอยู่ไกลหูไกลตา เมื่อเด็กเห็นพ่อแม่ทำก็อยากช่วยทำ ซึ่งในประเด็นที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นเรื่องเข้าใจผิด รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจ้งทำความเข้าใจกับนายจ้าง ผู้ปกครอง ว่าอย่าให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้น เพราะผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ที่ห้ามจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุก 1 ปี ปรับ 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ



ทีมข่าว ส.ปชส.อด. ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยะยา ข่าว/ภาพ

อุดรธานีประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทรัพยากรบุคคล

สำนักงานจังหวัดอุดรธานีจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทรัพยการบุคคลในพื้นที่ เสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน ความคาดหวังและความต้องการของประชาชน เตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

ที่โรงแรมประจักษ์ตราดีไซน์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทรัพยการบุคคลจังหวัดอุดรธานี

นายวินัย ตรงจิตพิทักษ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2551 และสำนักงาน ก.พ.ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าราชการพลเรือนขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อให้สอดรับกับพระราชบัญญัติฯดังกล่าวและกำหนดให้ทุกส่วนราชการใช้เป็นกรอบทิศทางในการดำเนินการพัฒนาข้าราชการของแต่ละหน่วยงานให้เป็นระบบและได้มาตรฐานเดียวกัน อันจะส่งผลให้ข้าราชการพลเรือนมีคุณภาพและคุณธรรมอย่างแท้จริง พร้อมกำหนดให้ทุกส่วนราชการถือปฏิบัติและดำเนินการจัดทำแผนกลยุทธ์พัฒนาข้าราชการให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี

สำนักงานจังหวัดอุดรธานี ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และยุทธศาสตร์กำลังคนของจังหวัด จึงจัดทำโครงการฝึกอบรมการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอุดรธานีขึ้น 2 กิจกรรม กิจกรรมแรกเป็นการประชุมชี้แจงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริการงานบุคคลและการพัฒนาองค์การ โดยจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการของจังหวัด ประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2556 ซึ่งดำเนินการไปแล้วในห้วงเดือนมีนาคม 2556 กิจกรรมที่ 2 เป็นการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทรัพยากรบุคคลจังหวัดอุดรธานี ซึ่งดำเนินการในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทรัพยากรบุคคลจังหวัดอุดรธานี ปี 2557-2560 ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการ 4 ปีจังหวัด และเตรียมการเข้าสู่อาเซียน ปี 2558 ให้งานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของจังหวัดได้รับการพัฒนายกระดับ โดยสามารถถ่ายทอดนโยบายผู้บริหารไปสู่ข้าราชการผู้ปฏิบัติในองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการบริหารทรัพยการบุคคลและด้ายุทธศาสตร์ของจังหวัดอุดรธานี จากหน่วยงานส่วนภูมิภาค 33 หน่วยงาน รวม 70 คน ช่วงเช้าเป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจ แนวทางการพัฒนาองค์การและบุคคลกร และช่วงบ่ายเป็นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทรัพยากรบุคคลจังหวัดอุดรธานี โดยมีดร.ธวัช สิทธิกุลสมบัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานบริหารบุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นวิทยากรให้ความรู้

นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่ง ที่ส่วนราชการจังหวัดอุดรธานี จะได้ร่วมมือกับวางแผนและพัฒนาบุคลากรไปพร้อมๆกัน ก่อนที่จะพัฒนางานด้านอื่นๆ ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน นั้นคือการพัฒนาข้าราชการทุกระดับให้มีคุณภาพและสามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ดี การพัฒนาบุคลากรเป็นการดำเนินงานที่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรได้รับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะตลอดจนมีทัศนคติที่ดีในการทำงานและต่อองค์การ อันจะเป็นผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน ความคาดหวังและความต้องของการบริการประชาชน พร้อมทั้งเตรียมรองรับการเข้าสู่อาเซียนต่อไป



ทีมข่าว ส.ปชส.อด. ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ข่าว/ภาพ

โครงการผู้ว่าฯพาทำบุญ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2556 ครั้งที่ 4

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นำพุทธศาสนิกชนชาวอุดรธานี ทำบุญทำทาน รักษาศีล ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พร้อมแนะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรับใช้ในชีวิต เพื่อฝ่าฟันปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ที่วัดสุวรรณุทการาม เทศบาลเมืองโนนสูงน้ำคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เช้าวันนี้ (4ก.ย.56) นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานพิธีทำบุญตักบาตรตามโครงการผู้ว่าฯพาทำบุญ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2556 ครั้งที่ 4 โดยมีนายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายมาลัยวรณ์ ตั้งอรุณสวัสดิ์ นายอำเภอเมือง หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ร่วมพิธี

นายมานิต แสงศิลา นายกเทศมนตรีเมืองโนนสูง-น้ำคำ กล่าวว่า วัดสุวรรณุทการาม (วัด–สุ-วัน-นุ-ทะ-กา-ราม) เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนเปรียบเสมือนเป็นวัดหลวงในเขตเทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ ปัจจุบันมีพระภิกษุ 18 รูป สามเณร 34 รูป มีท่านพระครูสุวรรณสิริคุณ เป็นเจ้าอาวาส วัดสุวรรณุทการาม ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2482 บนเนื้อที่ทั้งหมด 17 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา โดยมีพระบุญมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เมื่อปี พ.ศ.2517 มีพระอธิการพิลา ปสนฺโน (ปะ-สัน-โน) เป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะตำบลโนนสูง เมื่อท่านมรณภาพลง ในปี พ.ศ.2533ได้แต่งตั้งพระอธิการเก่ง สุตธมฺโม (สุด-ตะ-ทำ-โม) หรือท่านพระครูสุวรรณสิริคุณ เป็นเจ้าอาวาสถึงปัจจุบัน

นายณัฐสิทธิ์ วงค์ตลาด ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา กล่าวว่า นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เล็งเห็นความสำคัญของการบำเพ็ญกุศล โดยการเข้าวัดทำบุญตักบาตร และฟังพระธรรมเทศนาในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อให้ส่วนราชการ ข้าราชการ พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร ปัจจัยต่างๆ ตามหลักพุทธศาสนาพร้อมทั้งเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีทางพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาให้มั่นคงตลอดไป จึงได้มอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุดรธานี จัดทำโครงการผู้ว่าฯพาทำบุญ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2556 โดยกำหนดการดำเนินงานตามโครงการในช่วงฤดูเข้าพรรษา ในทุกวันแรม 15 ค่ำ และวันขึ้น 15 ค่ำ ในช่วงวันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ในโอกาสงานฉลองพระชันษา 100 ปี ร่วมฉลองการก่อตั้งเมืองอุดรธานี ครบ 121 ปี เพื่อให้พุทธศาสนิกชนในพื้นที่ได้ร่วมกิจกรรมทำบุญเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ร่วมระลึกถึงวันสำคัญและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีทางพุทธศาสนา

นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ในห้วงเทศกาลเข้าพรรษาอยากเห็นพุทธศาสนิกชนร่วมกันทำบุญตักบาตรรักษาศีล ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อเพิ่มความสุข เสริมมงคลให้กับชีวิต พร้อมฝากให้ประชาชนร่วมรับฟังรายการผู้ว่าพาโสเหล่ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดอุดรธานี ซึ่งอออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 06.00-07.00 น. ซึ่งในสัปดาห์นี้จะแนะวิธีนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขในยุคสินค้าขึ้นราคา สำหรับโครงการผู้ว่าฯ พาทำบุญครั้งที่ 5 กำหนดจัดในวันที่ 19 กันยายน 2556 ณ วัดป่าบ้านดานธรรมเจดีย์ เทศบาลเมืองหนองสำโรง อำเภอเมือง จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาวอุดรธานีทุกหมู่เหล่าร่วมโครงการผู้ว่าพาทำบุญในวันดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน



ทีมข่าว ส.ปชส.อด. ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ข่าว/ภาพ

รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้แทนพระองค์ในการมอบทุนการศึกษาจากมูลนิธิคุณพุ่มเด็กออทิสติกและเด็กพิการในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 188 คน

วันที่ 5 กันยายน 2556 ที่ห้องประชุมศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 10 อุบลราชธานี นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเป็นผู้แทนพระองค์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีในพิธีมอบทุนสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กออทิสติกและเด็กพิการในมูลนิธิคุณพุ่มของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทางมูลนิธิคุณพุ่มได้มอบหมายให้ศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นผู้ดำเนินการ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แทนพระองค์ในการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กพิการในจังหวัด โดยในปีการศึกษา 2556 นี้ จังหวัดอุบลราชธานีได้รับการพิจารณาอนุมัติทุนการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 188 ทุน ทุนละ 5,000 บาท รวม เป็นเงินทั้งสิ้น 940,000 บาท (เก้าแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) ซึ่งเด็กออทิสติกและเด็กพิการในพื้นที่ได้เข้ารับประทานทุนต่อหน้าพระรูปทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สืบเนื่องจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีได้ทรงมีเมตตาประทานทุนด้วยพระองค์เองให้กับเด็กพิการในเขตกรุงเทพมหานคร และในส่วนของต่างจังหวัดมูลนิธิคุณพุ่มได้ขอความอนุเคราะห์จากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เป็นผู้แทนพระองค์ในการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กพิการในจังหวัดนั้นๆ และได้มีเมตตาประทานทุนให้กับเด็กออทิสติกและเด็กพิการทุกประเภทในทุกจังหวัดเป็นประจำทุกปีเพื่อให้ผู้ปกครองของเด็กได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบุตรหลานที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อให้เด็กได้มีศักยภาพและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้

จังหวัดอุบลราชธานีประชุมคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานตามโครงการอาสาทำความดีเพื่อพ่อทำผิดบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556

ห้องกิตติกา โรงแรมกิจตรงวิลล์ รีสอร์ท ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบและพิจารณาแผนปฏิบัติการ แนวทางและวิธีการปฏิบัติงานตามโครงการทั้งนี้จากสถิติการจับกุมคดีจราจร ปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ที่ผ่านมาจังหวัดอุบลราชธานี เฉลี่ยประมาณเดือนละ 25,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งคดีไม่สวมหมวกนิรภัย คิดเป็นร้อยละ 80 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนที่จับกุมทั้งหมด

สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดจัดให้มีโครงการ อาสาทำความดีเพื่อพ่อ ทำผิดบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ โดยเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ความรู้เกี่ยวกับกฎจราจร และจิตสาธารณะ ให้แก่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่สมัครใจอาสาทำความดีเพื่อพ่อ และกลุ่มที่กระทำผิดกฎจราจร เพื่อสร้างวัฒนธรรมการขับขี่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา โดยตั้งเป้าหมายประกอบด้วยถานศึกษาทั้งอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 20 แห่ง มี 4 กิจกรรมหลักคือ การอบอาสาทำความดี การอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การบังคับใช้กฎหมาย และการให้ความรู้ประชาสัมพันธ์ อันมุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน อย่างเป็นรูปธรรมโดยมีเป้าหมายสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 20 แห่ง

สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ประชุมชี้แจงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตามมาตรการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตแก่ชาวสวนยาง จำนวนไม่เกิน 10 ไร่ ตามพื้นที่เปิดกรีดจริง

วันที่ 4 กันยายน 2556 ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี นายอุดร ชมาฤกษ์ เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานประชุมชี้แจงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตามโครงการแก้ไขปัญหายาพาราทั้งระบบ ปี 2557 ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ได้เชิญเกษตรอำเภอทั้ง 25 อำเภอ เจ้าหน้าที่จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมประชุม ที่ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อชี้แจงการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ และการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตามมาตรการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา เช่น ปุ๋ยเคมี เป็นเงินสดในอัตราไร่ละ 1,260 บาท ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยจะสนับสนุนแก่เกษตรกรจำนวนไม่เกิน 10 ไร่ ตามพื้นที่เปิดกรีดจริง การดำเนินดังกล่าวฯ เป็นการบูรณาการทำงาน จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาแก่เกษตรกรชาวสวนยาง มีความสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 4 -30 กันยายนนี้ ก่อนที่คณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ตรวจกรีดยางระดับตำบลจะลงพื้นที่ตรวจสอบสวนยางจริง ภายใน 30 วัน หลังรับคำร้องขอขึ้นทะเบียน และออกใบรับรองแก่เกษตรกร ภายใน 15 วัน หลังผ่านการตรวจสอบ ส่วนที่มีเกษตรกร ร้องขอให้ขยายมาตรการช่วยเหลือจากไม่เกิน 10 ไร่ เป็น 25 ไร่ รวมถึงการช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือ กนย. ในวันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายนนี้ ก่อนนำมติเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตี เพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า

รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประชุมหารือเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมหากมีการผู้ชุมนุมปิดถนนจากกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธร

วันที่ 4 ก.ย. 56 ที่ห้องประชุม กองบังการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประชุมหารือตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาหากมีการเรียกร้องปิดถนน ในวันที่ 5 กันยายน 2556 อำเภอสิรินธรบริเวณหน้าเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี จากกรณีกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากการสร้างเขื่อนสิรินธร ประกอบด้วย อำเภอสิรินธร อำเภอโขงเจียมและอำเภอบุณฑริก ซึ่งตามที่ มติ ครม. วันที่ 27 สิงหาคม 2556 ให้ช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธร โดยที่มติพิจารณา ครม. ได้ให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบตกสำรวจจาการสร้างเขื่อน จำนวน 43 ราย โดยได้รับการช่วยเหลือครอบครัวละ 480,000 บาท (สี่แสนแปดหมื่นบาทถ้วน) และใช้เงินกองทุนเกษตรกรช่วยเหลือประมาณ 20 ล้านบาท แต่ยังมีกลุ่มที่เป็นทายาทที่เป็นบุตรหลาน ไม่พอใจมติของ ครม. ซึ่งตามหลักเกณฑ์ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับและไม่มีผลกระทบต่อการสร้างเขื่อน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ประชุมหารือเจ้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนรักษาความเรียบร้อยให้กับผู้ชุมนุมหากมีการชุมนุมเกิดขึ้นจริง โดยประชาชนสามารถชุมนุมได้ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ต้องชุมนุมโดยสงบปลอดภัยจากอาวุธ และไม่ผิดกฎหมายเส้นทางจราจร

พ.ต.อ.พัชระ จันทบาล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ได้มีการวางแผนเพื่อรักษาความสงบให้กับผู้ชุมนุมมีความปลอดภัย โดยขอให้การชุมนุมอยู่ในภายใต้กฎหมาย ไม่มีอาวุธ และไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนต่อประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนในการสัญจรระหว่างเส้นทางบริเวณหน้าเขื่อนสิริธร ตลอดจนการเฝ้าระวังรักษาความสงบและไม่ให้เกิดมือที่สามในการก่อเหตุในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย ทั้งนี้จังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสังกัดกระทรวงมหาดไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตร ได้จัดทำโครงการฝึกอาชีพให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยสามารถยืนความประสงค์ ได้ที่อำเภอสิรินธร พิบูลมังสาหารและอำเภอโขงเจียม ตามหลักเกณฑ์ระเบียบทางราชการและนโยบายรัฐบาลต่อไป

การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นการสร้างทางรถไฟสายอีสาน ที่มหาสารคาม

การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเวทีชี้แจงรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นจากประชาชนที่จังหวัดมหาสารคาม

ที่ห้องประชุมโรงแรมตักสิลา จังหวัดมหาสารคาม นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 ต่อโครงการสำรวจออกแบบทางวิศวกรรมและการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ -มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร - นครพนม ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขึ้น โดยมีหัวหน้าหน่วยงานราชการระดับจังหวัด อำเภอ นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน เข้าร่วมรับฟังข้อมูลและเสนอความคิดเห็นกว่า 250 คน ทั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบขอบเขตและรายละเอียดของโครงการ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการสำรวจออกแบบ โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้เริ่มศึกษาความเหมาะสมมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เพื่อเป็นการทบทวนผลการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2555 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทบทวนผลการศึกษาและคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม คือ เส้นทางสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร - นครพนม รวมระยะทางประมาณ 356.7 กิโลเมตร ออกแบบเป็นระบบรางคู่ขนาดความกว้างทาง 1,000 มิลลิเมตร ความเร็วสูงสุดในการออกแบบ 160 กม./ชม. เงินลงทุนประมาณ 42,000 ล้านบาท โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อสำรวจออกแบบทางวิศวกรรมและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดระยะเวลาไว้ 15 เดือน และเปิดให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

และจากรายงานข้อมูลการศึกษาเส้นทางรถไฟดังกล่าว ระบุว่า เส้นทางสายนี้ มีความเหมาะสมสูงสุด ทั้งด้านวิศวกรรมและจราจร รวมทั้งเป็นเส้นทางที่ปริมาณสินค้าและผู้โดยสารจำนวนมาก ส่วนด้านเศรษฐกิจและการลงทุนก็ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเส้นทางอื่นๆ โดยแนวเส้นทางนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และจังหวัดนครพนม มีสถานีในเบื้องต้น 15 สถานี ประกอบด้วยสถานีบ้านไผ่ กุดรัง บรบือ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เชียงขวัญ โพนทอง หนองพอก เลิงนกทา นิคมคำสร้อย มุกดาหาร หว้านใหญ่ ธาตุพนม เรณูนคร และสถานีนครพนม รวมระยะทางประมาณ 356.7 กิโลเมตร ซึ่งนอกจากจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ยังเป็นการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม และจีนด้วย




ส.ปชส.มหาสารคาม / ข่าว

มหาสารคาม เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางแก้ไขปัญหาการเลี้ยงปลากระชังพันธสัญญา

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรเกษตรกรและนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเลี้ยงปลากระชังพันธสัญญาของเกษตรกรลุ่มน้ำ ชี

ที่ห้องประชุมแม่น้ำของ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม นำเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังลุ่มน้ำชีในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลเชิงวิชาการ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังพันธสัญญา โดยมีนายธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดโครงการ จัดโดยความร่วมมือของสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม กับหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกิจกรรมการนำเสนอผลการศึกษาข้อมูลปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาใน กระชัง จากคณะทำงานศึกษาข้อมูลปัญหาเกษตรกรพันธสัญญาจังหวัดมหาสารคาม และมีการเสวนาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรกรพันธสัญญา โดยนายอำนวย ปะติเส สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาจารย์เจิมศักดิ์ ภวภูตานนท์ เลขาธิการสภาฮักแพงเบิ่งแงงคนมหาสารคาม นายอุบล อยู่หว้า คณะทำงานติดตามนโยบายเกษตรกรพันธสัญญา และนายสุรศักดิ์ วานิชกิจ ตัวแทนองค์กรเกษตรกรด้านประมง สภาเกษตรกรแห่งชาติ จากการศึกษาข้อมูลของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังเขตพื้นที่จังหวัด มหาสารคามโดยสรุปพบว่ามีจำนวนผู้เลี้ยงจำนวน 285 ราย จำนวนกระชังปลากว่า 4,900 กระชัง พื้นที่กระชังรวมกว่า 44,000 ตารางเมตร มีการเลี้ยงมากที่สุดในอำเภอโกสุมพิสัย รองลงมาเป็นเขตอำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมือง ผลผลิตปลากระชังประมาณ 5,900 ตันต่อปี มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท แต่เกษตรกรร้อยละ 90 อยู่ในระบบพันธสัญญา ต้องรับปัจจัยการผลิตทุกอย่างจากบริษัท ทำให้เกษตรกรไม่มีอิสระในการเลือกซื้อและขาย ซึ่งเกษตรกรต้องขายปลาให้กับบริษัทเท่านั้น ทั้งที่เกษตรกร เป็นผู้ลงทุนจัดหาโครงสร้างทั้งหมด เช่น กระชัง โรงเรือน และแรงงาน จึงเกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม เผชิญความเสี่ยงการเลี้ยง การตลาด การขาดทุน การไร้อำนาจต่อรอง และผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค เนื่องจากพบว่ามีการแนะนำให้เกษตรกรใช้ยาปฏิชีวนะควบคุมโรค ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามักไม่ได้ผล และเกิดการตกค้างในเนื้อปลาและสิ่งแวดล้อม

สำหรับข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหา ต้องมีการรวมกลุ่มสร้างอำนาจการต่อรองในระดับจังหวัดและระดับแระเทศ ต้องมีกลไกระดับท้องถิ่น และระดับจังหวัดเข้ามาช่วยควบคุมดูแลการเลี้ยงปลาในกระชัง ทั้งปัญหาของเกษตรกรและปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนข้อเสนอระดับนโยบายต้องมีระบบกฏหมายใหม่ เข้ามาจัดระบบความสัมพันธ์ภายใต้ระบบเกษตรกรรมแบบพันธสัญญาที่ไม่เป็นธรรม



ส.ปชส.มหาสารคาม / ข่าว

จัดหางานกาฬสินธุ์แจงแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้วยหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา

นางสาวพริมณฐอร วังศิริทวี จัดหางานจังหวัดกาฬสินธุ์แจ้งว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เห็นชอบแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา หลังวันที่ 11 สิงหาคม 2556 ซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีราชื่อไว้กับสำนักงานจัดหางานจังหวัดกาฬสินธุ์แล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 แต่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลจากประเทศต้นทาง โดยผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 1 ปี

จัดหางานจังหวัดกาฬสินธุ์แจ้งอีกว่า เพื่อให้การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเพื่อให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการจ้างงานที่ถูกต้อง จึงขอให้นายจ้างไปยื่นคำร้องขอตรวจสอบเอกสารเพื่อนำไปดำเนินการจดทะเบียนประวัติ ( ท.ร.18/1) ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดกาฬสินธุ์โดยด่วน ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 20 กันยายน 2556 ในวันและเวลาราชการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดกาฬสินธุ์ เลขที่ 6/8 ถ.บายพาสทุ่งมน ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โทร. 043-813228-9



สุวรรณ ศรีอาภรณ์ / ข่าว

อำเภอฆ้องชัยเชิญชมและเชียร์การแข่งขันเรือยาวสายสัมพันธ์กาฬสินธุ์มหาสารคามชิงถ้วยพระราชทานฯ

นายเกรียงไกร กิริวรรณา นายอำเภอฆ้องชัย แจ้งว่า อำเภอฆ้องชัย ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ และตำบลลาดพัฒนา อำเภอเมืองมหาสารคาม สภาวัฒนธรรมอำเภอฆ้องชัย ตลอดจนสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้กำหนดจัดการแข่งขันเรือยาวสายสัมพันธ์กาฬสินธุ์มหาสารคาม ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2556 ขึ้นในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน 2556 ณ สนามลำน้ำชี บ้านท่าแห่ หมู่ที่ 1 , 10 ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานสายสัมพันธ์พี่น้องชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมหาสารคาม และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสองฝั่งลำน้ำชี ตลอดจนเพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

นายอำเภอฆ้องชัย แจ้งอีกว่า การแข่งขันเรือยาวสายสัมพันธ์กาฬสินธุ์มหาสารคามในปีนี้แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เรือยาวกลางทั่วไปไม่เกิน 40 ฝีพายมีเรือสมัครเข้าร่วมแข่งขันแล้ว 8 ลำ และประเภทเรือท้องถิ่น ไม่เกิน 5 ฝีพาย มีเรือสมัครเข้าร่วมแข่งขันแล้วจำนวน 12 ลำ จึงขอเชิญชวนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม และจังหวัดใกล้เคียงร่วมชมและเชียร์การแข่งขันเรือยาวสายสัมพันธ์กาฬสินธุ์มหาสารคามในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน 2556นี้ ณ สนามลำน้ำชี บ้านท่าแห่ ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์



สุวรรณ ศรีอาภรณ์ / ข่าว

นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่นชนะเลิศการแข่งขันงานคอนกรีต ระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ

นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ชนะเลิศอันดับ 1 ทั้ง 2 ประเภทในการแข่งขันคอนกรีตพลังช้าง อุดมศึกษา ระดับประเทศ ครั้งที่ 14

ปูนตราช้าง ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดการแข่งขันคอนกรีตพลังช้างอุดมศึกษาระดับประเทศ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2556 ขึ้น ในวันที่ 29 – 30 สิงหาคม 2556 ณ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีนักศึกษาจำนวน 90 ทีม จาก 40 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ การแข่งขันจัดแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทกำลังสูงตามเป้าหมาย และ ประเภทกำลังตามเป้าหมายรักษ์โลก โดยการแข่งขันจะเน้นให้เกิดการสร้างสรรค์สูตรการผสมคอนกรีต ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุผสมคอนกรีตชนิดต่างๆ อาทิ ปูนตราช้าง ทราย หิน และน้ำ และวัสดุเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อให้ได้ค่ากำลังอัดที่ใกล้เคียงค่าที่กำหนดไว้ที่สุดดังนั้นในการแข่งขันจึงต้องมีการออกแบบส่วนผสม การตรวจส่วนผสม วิธีการหล่อก้อนปูนเทคนิคการบ่มก้อนปูนตลอดจนการกดก้อนปูนเพื่อหาค่ากำลังอัดแล้วนำมาตัดสินหาผู้ชนะในการแข่งขันรวมไปถึงการสร้างสรรค์ส่วนผสมที่เป็นวัสดุเหลือใช้ (Recycled) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เข้ามาใช้ในการแข่งขันประเภทกำลังอัดตามเป้าหมายรักษ์โลก ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ SCG ในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.เจริญชัย ฤทธิรุทธ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ผู้ควบคุมทีมได้เปิดเผยว่า ผลการแข่งขันคอนกรีตพลังช้าง ครั้งที่ 14 ปรากฏว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 มาได้ทั้ง 2 ประเภท พร้อมรับโลห์รางวัลและเงินรางวัลๆ 50,000 บาท นักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันมีดังต่อไปนี้

1. นายนฤพล ป้องคำสิงห์

2.นายนพรัตน์ นาพรม

3.นายพงษ์พัชร โพธิ์หล้า

4.ปวริศ สารสวัสดิ์

5.นายกฤษดา เคหาสัย

6.นายภานุวัฒน์ คำมูลตรี


ทั้งหมดเป็นนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ชั้นปีที่ 3



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ส.ปชส.ขอนแก่น

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่นสรุปยอดจำหน่ายสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิคภัณฑ์ ปี 2556 ยอด 2,273 ล้าน

จ.ขอนแก่นสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ปี 2556 ยอดจำหน่ายรวม ปี 2556 จำนวนเงิน 2,273,850,000 บาท เฉพาะเดือนสิงหาคม 2556 189,785 บาท        

นางเพ็ญสุภา ศิริสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น กล่าวจังหวัดขอนแก่นโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่นสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ปี 2556 ยอดจำหน่ายรวม ปี 2556 2,273,850,000 บาท เฉพาะเดือนสิงหาคม 2556 จำนวน เงิน 189,785 บาท เดือนสิงหาคม 2556 มีสินค้า OTOP ปี 2556ที่จำหน่ายได้มาก 5 อันดับ ประกอบด้วย อาหาร 55,090,890 บาท เครื่องดื่ม 9,195,140 บาท ผ้าและเครื่องแต่งกาย 81,331,750 บาท ของใช้ของตกแต่ง/ของที่ระลึก 29,044,727 บาท สมุนไพร 15,123,210บาท เป็นการสร้างรายได้ ขยายโอกาสด้านการตลาดแก่กลุ่มอาชีพในระดับชุมชน และขยายผลไปสู่ระดับภาค และระดับประเทศ จะมีสินค้าจากทุกภาคมาจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 130 ราย ประกอบด้วยกลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP ของจังหวัดขอนแก่น และสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับ 3-5 ดาว ตลอดจนของดี 4 ภาค อาทิ หมูยอ แคปหมู กุนเชียง น้ำพริก ผ้าไหม-ผ้าฝ้าย เครื่องประดับ เครื่องเงิน กระเป๋าหนัง รองเท้าหนัง และเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ส.ปชส.ขอนแก่น

จังหวัดขอนแก่น จัดงาน เปิดบ้านงานวิจัยเกษตรวิศวกรรมเพื่อพัฒนาอีสาน ระหว่าง 5 – 6 กันยายน นี้

จังหวัดขอนแก่น โดยศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น ขอเชิญชมงานเปิดบ้านวานวิจัยเกษตรวิศวกรรม เพื่อพัฒนาอีสาน มีการนำเครื่องจักร เครื่องกล และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาแสดง ระหว่าง 5 – 6 กันยายน 2556 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

เมื่อเช้าวันนี้ ( 5 ก.ย.56 ) นายดำรง จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เป็นประธานเปิดงาน เปิดบ้านวิจัยเกษตรวิศวกรรมเพื่อพัฒนาอีสาน ซึ่งจังหวัดขอนแก่น โดยศูนย์วิจัยเกษตรขอนแก่น ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ได้จัดขึ้น "ภายใต้แนวคิด เทคโนโลยีก้าวไกล นำไทยสู่ AEC” ณ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อเผยแพร่ความรู้การใช้ ซ่อม สร้าง และบำรุงรักษา เครื่องจักรกลเกษตร เพื่อการผลิตพืชอย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ สร้างความเข้าใจ และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตพืชระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC และเพื่อส่งเสริมการใช้การบริหารจัดการเครื่องจักรกลเกษตรเพื่อผลิตพันธุ์พืชพันธุ์ดีสู่เกษตรกร

นายอนุสร เวชสิทธิ์ ผู้อำนวยการศึกษาวิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในงานจะมีการนำผลงานการวิจัยเกี่ยวกับเครื่องจักรกลเกษตรเพื่อการผลิตพืช ของกรมวิชาการ มาแสดงสาธิต โชว์ มีการแสดงนิทรรศการ ประวัติความเป็นมา และผลงานของศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น การแสดงแปลงสาธิตด้านการเกษตรของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เช่น พันธุ์ถั่วเหลือง พันธุ์พืชไร่เศรษฐกิจ เครื่องจักรกลการเกษตร การสาธิตการแปรรูปผลผลิตการเกษตรของภาครัฐ เอกชน การประกวดผลิตภัณฑ์แปรรูปผลผลิตการเกษตร และการเสวนา "ทิศทางการวิจัย และพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรอย่างไรถึงจะนำไทยสู่ AEC” จังหวัดขอนแก่นจึงขอเชิญเกษตรกร ผู้สนใจ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรเข้าชมงาน ระหว่างวันที่ 5 – 6 กันยายน 2556 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น



สมพงษ์ ปัตตานี/ข่าว/สุรเดช/พิมพ์

จังหวัดขอนแก่นรับรางวัลชมเชยการประกวดเครือข่ายองค์ความรู้ OTOP ปี 2556 ระดับปะเทศ

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ตามที่จังหวัดขอนแก่นได้คัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนารีแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ม.2 ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ และกลุ่มทอผ้าฝ้ายบ้านคึมชาด ม.8 ต.ขนวน อ.หนองนาคำ ให้เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเครือข่าย KBO จังหวัด และได้นำผลิตภัณฑ์เข้าประกวดผลงานเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge - Based OTOP : KBO) จังหวัดดีเด่น (OTOP KBO CONTEST) ปี 2556 โดยส่งผลงาน "ผ้าขาวม้าทรงเครื่อง" ภายใต้แนวคิด "ภูมิปัญญาไทย-เทศเสกสรร ผ้าขาวม้าทรงเครื่อง จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ" ผลการประกวดปรากฎว่า ผลงานของเครือข่าย KBO จังหวัดขอนแก่น ได้รับรางวัลชมเชย ประจำปี 2556 รับโล่รางวัลและเงิน 30,000 บาท




ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ส.ปชส.ขอนแก่น

งานแฟคทอรี่แฟร์ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดขอนแก่น ประธานพิธีเปิดงานกล่าวว่า การจัดงานแสดงสินค้า แฟคทอรี่ แฟร์เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมภาคส่วนการผลิตสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ผลิตโดยตรง เพิ่งช่องทางการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น จะก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มศักยภาพการแข่งขันอันเกิดมาจากการเรียนรู้จากผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าทั้งกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น กลุ่มเครื่องครัว และผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เข็มขัด รองเท้า กระเป๋า กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ สปา สมุนไพร กลุ่มโอทอป 5 ดาว รวม 400 บูธ 250 โรงงาน มากกว่า 1000 ผลิตภัณฑ์ งาน แฟคทอรี่ แฟร์ 2013 ที่มีขึ้น ระหว่างวันที่ 3 – 8 กันยายน นี้ ณ หอประชุมกาญจนาภิเษก มข.จะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่กระตุ้นเศรษฐกิจ และเงินหมุนเวียน ในจังหวัดขอนแก่นให้ดีขึ้น



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ส.ปชส.ขอนแก่น

ขอนแก่นเตรียมพร้อมรับการลงทะเบียนเกษตรกรปลูกยางพารารองรับการช่วยเหลือรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเปิดขึ้นทะเบียนเกษตรกรยางพาราวันแรกในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นยังไม่ค่อยคึกคักสักเท่าใดนัก โดยเฉพาะที่สำนักงานเกษตรอำเภอกระนวน เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้เดินทางมาลงทะเบียนผู้ปลูกยางพาราตามโครงการเพื่อแก้ไขยางพาราทั้งระบบ ปี 2557อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องผิดหวังเมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ายังไม่สามารถเปิดให้ขึ้นทะเบียนได้ ต้องรอทางสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่นจะได้ทำการประชุมเกษตรอำเภอทั้ง 26 อำเภอ เพื่อหาความชัดเจน กำหนดแนวทางปฏิบัติให้ตรงกัน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำซ้อน โดยหลังจากได้ข้อสรุปจากที่ประชุมแล้วจะได้ประสานผู้นำชุมชนแจ้งให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทราบภายหลัง นายสมยศ ตุ้มทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ชำนาญการอำเภอกระนวน กล่าวว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ผู้ปลูกยางพาราขึ้นทะเบียนผู้ปลูกยางพาราเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่อำเภอกระนวน โดยมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 1,800 ราย รวมเนื้อที่ 31,500 ไร่ ถือว่ามีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดในจังหวัดขอนแก่น คาสดว่าจะรับขึ้นทะเบียนได้วันที่ 5 กันยายน 2556 นี้



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ส.ปชส.ขอนแก่น

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยวิทยาเขตอีสานจัดงานเฉลิมฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

งานนี้จัดที่ศูนย์ประชุมวิทยบริการสิรินธร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน จังหวัดขอนแก่นโดยมีพระเทพปริยัติวิมล ประธานคณะอนุกรรมการจัดงานฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานและได้มอบโล่และเกียรติบัตรให้กับหน่วยงาน โรงเรียน พระวิทยากรและนักเรียนแกนนำที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายแกนนำคนดีศรีอีสาน ประจำปี 2556 จากทั้ง 20 จังหวัดที่ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถรวมทั้งพระบรมราชวงศ์ทุกพระองศ์ และผู้ที่ร่วมจัดงานถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกที่ทรงเจริญพระชันษา ครบ 100 ปี ในงานมีการจัดนิทรรศการพระประวัติ รวมทั้งพระกรณียกิจที่พระองค์ปฏิบัติตามหน้าที่ตามตำแหน่งที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประเทศชาติและประชาชน เป็นอเนกประการ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยวิทยาเขตอีสานจะจัดนิทรรศการให้ผู้สนใจได้เข้าชมตลอดทั้งปี 2556นี้ผู้ที่สนใจก็ไปเยี่ยมชมได้ทุกวัน

จังหวัดขอนแก่นจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนรองรับประชาคมอาเซียน ปี 2558

จังหวัดขอนแก่นจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนของจังหวัดขอนแก่น

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเปิดเผยว่า จังหวัดขอนแก่นเตรียมการดำเนินงานเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 โดยเชิญหัวหน้าส่วนราชการประชุมหารือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อตั้งโดยปฎิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ปัจจุบันมีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา และไทย ทั้งนี้จากบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา มีมติ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558ประกอบ ด้วย 3 ด้านหลัก ประชาคมการเมืองและความมันคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างพลังในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของจังหวัดขอนแก่นให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุผลสัมฤทธิ์จังหวัดขอนแก่นจึงจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนจังหวัดขอนแก่น ณ ห้องศูนย์ปฏิบัติการ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ /โทรสาร 0-4333-1515มท.401-54เว็ปไซด์ www.khonkaenpoc.com,ww.khonkaen.go.thและe-mail :khonkaen@ moi.go.th



ข่าว/พิมพ์   นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ส.ปชส.ขอนแก่น

เทศบาลนครขอนแก่นเตรียมปรับภูมิทัศน์บึงทุ่งสร้างเป็นพื้นที่ออกกำลังกายชาวขอนแก่น

เทศบาลนครขอนแก่นเตรียมปรับภูมิทัศน์บึงทุ่งสร้าง เป็นพื้นที่พักผ่อนออกกำลังกาย

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น ลงพื้นที่บึงทุ่งสร้าง ด้านหลังสำนักงานประมงขอนแก่น เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนที่บุกรุกที่ดินบึงทุ่งสร้าง ปลูกสร้างบ้านพักอาศัยรวมกว่า 30 หลังคาเรือน พร้อมกับขอความร่วมมือให้รื้อถอนหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ทั้งนี้เทศบาลนครขอนแก่น จะปรับภูมิทัศน์บึงทุ่งสร้างขอนแก่น ให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงามเหมาะต่อการพักผ่อนออกกำลังกาย ถือเป็นปอดที่สำคัญของชาวเมืองขอนแก่น ทั้งเป็นพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนมาใช้พื้นที่บึงทุ่งสร้างออกกำลังกายในช่วงเช้า-เย็น จำนวนมาก แต่พื้นที่บางส่วนมีผู้บุกรุกปลูกสิ่งก่อสร้างมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว โดยเทศบาลนครขอนแก่นได้ปักป้ายขอให้ผู้บุกรุกบึงทุ่งสร้าง ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ เทศบาลนครขอนแก่น มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่บึงทุ่งสร้างขอนแก่น ปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะต่อการเป็นสถานที่พักผ่อนออกกำลังกายของชาวเมืองขอนแก่น ซึ่งที่ผ่านมาเทศบาลนครขอนแก่น ได้ให้ผู้บุกรุกอยู่อาศัยชั่วคราว ทำความเข้าใจกับผู้บุกรุกพร้อมทำหนังสือข้อตกลงยินยอมไว้แล้ว กรณีที่เทศบาลนครขอนแก่นจะใช้ประโยชน์ ชาวบ้านที่บุกรุกจะต้องยอมให้รื้อถอนและหาที่อยู่แห่งใหม่ทันที

เทศบาลนครขอนแก่นในฐานะเจ้าของพื้นที่ หากไม่ดำเนินการให้ผู้บุกรุกออกจากสถานที่บึงทุ่งสร้าง ถือว่ามีความผิดละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการรื้อถอนจะดำเนินการด้วยความละมุนละม่อมกับผู้บุกรุก โดยกำหนดให้รื้อถอนภายในวันที่ 3 กันยายนผู้บุกรุกจะได้รับค่าขนย้ายจำนวน 3,000 บาท และหากรื้อถอนภายหลังวันที่ 25 ตุลาคมผู้บุกรุกจะไม่ได้รับค่าขนย้าย และเทศบาลนครขอนแก่นจำเป็นต้องรื้อถอนออกทั้งหมด




ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ส.ปชส.ขอนแก่น

นายอำเภอพระยืนนำทีมเข้าตรวจสอบไม้ยางนายักษ์หลังขบวนการมอดไม้ลักลอบตัด

นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล นายอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และตำรวจ สภ.พระยืน เข้าไปตรวจสอบและร่วมกับตรวจยึดไม้ยางนายักษ์ อายุกว่า 100 ปี ขนาด 4 คนโอบ ที่ถูกคนร้ายลักลอบตัดโค่นลง ริมฝั่งแม่น้ำชี คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนบาท สำหรับต้นยางยักษ์อายุกว่า 100 ปีในบริเวณตามฝั่งลำน้ำชีมีอยู่หลายต้นและช่วงนี้ไม้ในเมืองไทยมีการขาดแคลนทำให้มีขบวนการลักลอบตัดไม้มีมากขึ้นซึ่งอาจเป็นการรู้เห็นกันระหว่างขบวนการตัดไม้ที่เป็นชาวบ้านและเจ้าของโรงเลื่อยต่างๆที่ไม่ซื่อสัตย์ หวังแต่ประโยชน์ส่วนตนมากเกินไปไม่รักษาไม้ที่อยู่ในเมืองไทยที่นับวันจะมีอยู่เหลือน้อยมาก ดังนั้นประชาชนที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำชีหากพบเห็นขบวนการตัดไม้เข้ามาตัดไม้ในพื้นที่ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่อย่างรวดเร็วเหมือนกับการตรวจยึดไม้ในครั้งนี้แม้จะไม่ได้ขบวนการตัดไม้แต่ขบวนการตัดไม้ก็เอาไม้ออกไปไม่ได้ 

อำเภอมัญจาคีรีและอำเภอบ้านฝางจังหวัดขอนแก่นต้นแบบการค้นหาผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา ตามโครงการจังหวัดขอนแก่นไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด

อำเภอมัญจาคีรีและบ้านฝางต้นแบบค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู โดยการตรวจหาสารเสพติดเคาะประตูบ้านให้ความรู้ ชักชวนโน้มน้าว                          

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจงหวัดขอนแก่นเปิดเผยว่า งานด้านการบำบัดรักษาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดโดยสมัครใจ ประสบปัญหาที่การค้นหากลุ่มเป้าหมาย ศพส.อ.มัญจาคีรี ได้ค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู โดยการตรวจหาสารเสพติด ในปัสสาวะ เด็กและเยาวชน (13-25 ปี) ในหมู่บ้านทุกราย โดยใช้งบประมาณจัดซื้อชุดตรวจฯ จากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล ซึ่งเป็นกองทุนที่อยู่ในความรับผิดชอบชององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้การค้นหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดประสบผลสำเร็จปรากฏภาพการบูรณาการการทำงานในพื้นที่อย่างชัดเจน

บ้านฝางโมเดล งานด้านการบำบัดรักษาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดโดยสมัครใจ ประสบปัญหาที่การค้นหากลุ่มเป้าหมาย ศพส.อ.บ้านฝาง ได้ค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู โดยการปิดล้อมหมู่บ้าน/ชุมชนเชิญเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านทุกรายมาตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ ปรากฏภาพของการไม่เลือกปฏิบัติ สามารถนำผู้ใช้สารเสพติดเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ได้ตามเป้าหมายการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2556 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลใช้ในการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เทศบาลเมืองบ้านทุ่ม อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ได้ค้นหาและคัดกรองผู้เสพผู้ติดเข้ารับการบำบัดรักษาโดยการ เคาะประตูบ้านให้ความรู้ ชักชวนโน้มน้าว และคัดกรองผู้เสพ/ผู้ติดเข้ารับการบำบัดรักษา หลักสูตร 8 คืน 9 วัน ประสบผลสำเร็จเป็นท้องถิ่นแรกๆของจังหวัดขอนแก่น




ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ส.ปชส.ขอนแก่น

ราษฎรจาก 3 หมู่บ้าน สนับสนุนการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร

วันนี้ เวลา 15.00 น. ตัวแทนราษฏรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร จาก 3 หมู่บ้าน จำนวน 50 คน ได้แก่ บ้านโคกกระโดน บ้านใหม่ห้วยหินฝน อำเภอหนองบัวระเหว และบ้านบุ่งเวียน อำเภอเทพสถิต ได้เข้าพบ นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และ นายมนต์ชัย สวัสดิวารี ชลประทานจังหวัดชัยภูมิ เพื่อสนับสนุนให้มีการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร และต้องการทราบความชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งภายหลังจากที่มีการชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว ผู้ร่วมประชุมยอมรับตามข้อเสนอของทางราชการทั้ง 4 ข้อ คือ 1).ค่าชดเชยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ 2).จะไม่รับค่าชดเชยบ้านผีที่ทางราชการไปตรวจสอบแล้วว่ามีเจตนาฉ้อฉลปลูกสร้างแล้วมาเรียกค่าชดเชย 3).ยอมรับค่ารื้อย้ายตามหลักเกณฑ์ของกรมชลประทานกำหนดตามมติ ครม.เมื่อปี 2532 และ 4).ยอมให้กรมชลประทานเข้าไปดำเนินการก่อสร้างได้ทุกกรณีเมื่อได้รับค่าชดเชยแล้ว หากตกหล่นเปิดโอกาสให้ร้องคัดค้านหรือแจ้งพิสูนจ์สิทธิได้ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่จ่ายเงินค่าชดเชย



เพชรรินทร์ เขียวเขว้า...ข่าว

ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา ร่วมเปิดคลีนิควัยรุ่นเคลื่อนที่ในงาน รักเป็น ปลอดภัยพบวัยโจ๋

กรมอนามัย โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ บริษัท ไบเออร์-ไทย จำกัด องค์การแพทย์ประจำประเทศไทย มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และไทยทีวีสีช่อง 3 รายการ "ผู้หญิงถึงผู้หญิง” ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ "รักเป็น ปลอดภัย : Young Love” พร้อมดึงศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา เปิดบูธคลีนิควัยรุ่นเคลื่อนที่ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคอีสาน จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา

นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา กล่าวว่า วัยรุ่น เป็นวัยที่เชื่อมต่อระหว่างวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ ถือเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่สำคัญ เด็กวัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนเพศ เริ่มมองบทบาทของตนเองที่แยกออกจากครอบครัวมากขึ้น เริ่มไม่ยอมรับความเห็นของพ่อแม่ ต้องการความเป็นส่วนตัว ขณะเดียวกันอารมณ์จะยิงสับสน วู่วาม ขึ้นๆ ลง และมีเรื่องของความต้องการทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัจจุบันถือว่าเป็นปัญหาอันดับ 1ของวัยรุ่นไทยที่ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆตามมา ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา จึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะสอดแทรกความรู้ในเรื่องของความรัก หวังอยากให้วัยรุ่นมีความเข้าใจในเรื่องของความรัก เรื่องเพศ รวมถึงเรื่องความรักอย่างถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้นด้วย

สำหรับกิจกรรม "รักเป็น ปลอดภัย : Young Love” จัดเพื่อให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการชะลอการมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และวางแผนการมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้อง ให้เยาวชนสามารถป้องกันและลดปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงด้านเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม โรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ งานนี้จึงได้เห็นภาพวัยรุ่น วัยโจ๋ แห่ขอรับคำปรึกษาจากมุมเพื่อนใจวัยรุ่นของศูนย์อนามัยที่ 5 ค่อนข้างหนาตาเลยทีเดียว 

รพ.ศิริราช เชิญร่วมใจ เป็นผู้ให้ เฉลิมพระเกียรติ ในโอกาส “วันมหิดล” 24 ก.ย.นี้

ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอเชิญร่วมใจ เป็นผู้ให้ เฉลิมพระเกียรติ ในโอกาส "วันมหิดล” 24 กันยายน 2556 นี้ พร้อมขอเชิญชมรายการเฉลิมพระเกียรติทาง ททบ.5 ในวันเสาร์ที่ 21 กันยายน นี้ ตั้งแต่เวลา 22.30 – 00.20 น.

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล แจ้งว่า วันที่ 24 กันยายน เป็น "วันมหิดล” วันสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพ ทรงอุทิศพระองค์เป็นแบบอย่างในการ "ให้” อย่างแท้จริง ทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์และพระสติปัญญาในการวางรากฐานการพัฒนาทางการแพทย์และการสาธารณสุขไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ อีกทั้งช่วยผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทุกรอบวันคล้ายวันสวรรคต คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเป็นประจำทุกปี ปีนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณารับเป็นองค์ประธานจัดงานหารายได้ช่วยผู้ป่วยยากไร้และด้อยโอกาส

กิจกรรมประกอบด้วย นักศึกษาวิทยาเขตบางกอกน้อย ออกรับบริจาคพร้อมมอบธงวันมหิดลเป็นที่ระลึก ในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง โดยในปีนี้ธงเป็นสีชมพู และมีการจัดรายการเฉลิมพระเกียรติทาง ททบ.5 ในวันเสาร์ที่ 21 กันยายน นี้ เวลา 22.30 – 00.20 น. ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณรพระราชทานสัมภาษณ์พิเศษ ร่วมด้วยสาระควบคู่ความบันเทิง ภายใต้หัวข้อ "เปิดดวงตาด้วยดวงใจ เรื่องปัญหาสุขภาพตา”การรับบริจาคดวงตา "รู้เท่าทันโรคตา” มีสมบัติ เมทะนี และ เพชราเชาวราษฎร์ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากปัญหาสุขภาพดวงตา และ "ดวงตา กับ ชีวิต” โดยจักษุแพทย์ให้ความรู้เกี่ยวกับ การดูแลดวงตาตั้งแต่ก่อนเกิดไปจนถึงวัยชรา ปัญหา ความเสี่ยง การป้องกัน โดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งในปัจจุบันมีภาวะสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพตา อาทิ เรื่องของบิ๊กอาย น้ำยาหยอดยา ขนตาปลอม พร้อมทั้งร่วมพูดคุยกับผู้ป่วย นอกและการแสดงบทเพลงร่วมกันระหว่างศิลปินดาราและศิลปินผู้พิการทางสายตา และศิลปินคนตาบอดวง Diamond (ทางเลือก) ติดตามชมและเชิญร่วมบริจาคในรายการ โทร. 0 2270 2233 (100 คู่สาย) พร้อมสอบถามปัญหาสุขภาพ โดยแพทย์เฉพาะทาง ทุกสาขา โทร. 0 2278 5959 (20 คู่สาย)

โอกาสนี้ ขอเชิญชวนท่านผู้มีจิตกุศล ร่วมสานต่อพระราชปณิธาน ด้วยการเป็นผู้ให้ แก่ผู้ป่วยยากไร้และด้อยโอกาส โรงพยาบาลศิริราช บริจาคโดยตรงที่ ศิริราชมูลนิธิ ตึกมหิดลบำเพ็ญ ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช โทร.0 2419 7658-60 , 0 2419 7688 หรือบริจาคผ่านธนาคารทุกสาขาทั่วประเทศ ชื่อบัญชี "ศิริราชมูลนิธิ” (ธงวันมหิดล) ประเภทออมทรัพย์ สอบถามเพิ่มเติม งานประชาสัมพันธ์ฯ โทร. 0 2 419 7646-8

จังหวัดนครราชสีมาประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

วันนี้ (5 ก.ย. 56) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อวางแนวทางการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามแผนแม่บทเร่งด่วนขับเคลื่อนการป้องกันการค้ามนุษย์ ตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ในการประชุมสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมารายงานถึงสถานการณ์การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไตรมาสที่ 1 ตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2555 มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน 76 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 70 คน มีอายุต่ำกว่า 18 ปี 56 คน รองลงมา อายุ 18-25 ปี 14 คน อายุ 36-45 ปี 4 คน และอายุ 45 ปี ขึ้นไป 2 คน โดยได้รับการช่วยเหลือในการส่งกลับภูมิลำเนา การคุ้มครองสวัสดิภาพบ้านพัก การแจ้งความและส่งกลับประเทศต้นทาง ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ สัญชาติไทย 64 คน ลาว 12 คน รูปแบบการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่เป็นการค้าประเวณี

ไตรมาสที่ 2 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2556 มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน 88 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 84 คน มีอายุต่ำกว่า 18 ปี 70 คน รองลงมา อายุ 18-25 ปี 14 คน อายุ 36-45 ปี 4 คน โดยได้รับการช่วยเหลือในการ การคุ้มครองสวัสดิภาพบ้านพัก การแจ้งความและฝึกอาชีพ 6 คน ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ สัญชาติไทย 25 คน ลาว 63 คน รูปแบบการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่ยังเป็นการค้าประเวณี

ไตรมาสที่ 3 ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2556 มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ได้รับการช่วยเหลือ 56 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 55 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 54 คน อายุ 18 - 25 ปี 2 คน ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย 4 คน ทางสังคมให้การคุ้มครองสวัสดิภาพที่บ้านพัก 7 คน ส่งสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ 49 คน มีสัญชาติไทย 49 คน สัญชาติลาว 7 คน ค้าประเวณี 52 คน ขอทาน 2 คน บังคับใช้แรงงานหรือบริการ 2 คน

นางสาววารินทร์ พักเกาะ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ส่งผลกระทบในทางลบให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก รัฐบาลภายใต้การน้ำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการค้ามนุษย์ และกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ความสำคัญใน 4 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาการค้ามนุษย์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การใช้แรงงานเด็ก และการกระทำต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ 

คณะ จนท.สปข.1 ศึกษาดูงาน ณ "โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา" นครราชสีมา

นางชนัดดา แฮร์รีส ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 ขอนแก่น ไปศึกษาดูงานที่ "โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา" อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2556

"โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา" เป็นโรงไฟฟ้าที่พัฒนาแสงไฟด้วยสายน้ำ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ที่ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างเพียง 2 ตารางกิโลเมตรแต่สามารถผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงถึง 1,000 เมกะวัตต์/วัน ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หลักการทำงานของโรงไฟฟ้าลำตะคองฯ คือ ในช่วงกลางคืนถึงเช้า โรงไฟฟ้าจะสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง ขึ้นไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำด้านบนของเขายายเที่ยง และในช่วงกลางวันถึงค่ำซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง จะปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าลงไปสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเหมือนเดิม สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้เมื่อปี 2545 โรงไฟฟ้าลำตะคองฯ ได้กลายเป็นโรงไฟฟ้าสำคัญที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

"โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา" นับเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย โดยมีโรงไฟฟ้าอยู่ใต้ดิน คืออยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 350 เมตร ติดตั้งเครื่องกําเนิดไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจำนวน 2 เครื่อง กําลังผลิตเครื่องละ 250 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ บนเขายายเที่ยง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังได้ดำเนินโครงการติดตั้งกังหันลมขนาน 1.25 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง เมื่อ 8 ตุลาคม 2552 เพื่อเป็นแห่งผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกังหันลม และมีัโครงการจะทำการติดตั้งเพิ่มเติมอีก 12 ตัว

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ฯ ทรงเปิดป้ายโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน พล.ท.     จีระศักดิ์ ชมประสพ แม่ทัพภาคที่ 2 ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พล.ต.ท.เชิด   ชูเวช ผบช.ตร.ภาค 3 และนายสุทัศน์ ปัทมศิริวัฒน์ ผวก.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึง    ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ถวายการต้อนรับ และนำเสด็จทอดพระเนตรชมอุปกรณ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ด้วย 

โครงการปั่นปันรัก เพื่อน้องและสิ่งแวดล้อม

ข่าวที่ 1047/2556

วันนี้ (5 ก.ย. 56) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอำเภอเมืองนครราชสีมา ชั้น 3 นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมเพื่อสรุปการเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการดีแทคปั่นปันรัก เพื่อน้องและสิ่งแวดล้อม ปี 5 จังหวัดนครราชสีมาร่วมกับร่วมด้วยช่วยกันและดีแทค กำหนดจัดโครงการดีแทคปั่นปันรัก เพื่อน้องและสิ่งแวดล้อม ปี 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์การลดใช้พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในวันที่ 15 กันยายน 2556 ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา กิจกรรมประกอบด้วย การปั่นจักรยานในระยะใกล้ 15 กิโลเมตร และระยะไกล 60 กิโลเมตร การมอบจักรยานให้แก่น้องนักเรียน จำนวน 100 คน พร้อมร่วมปั่นจักรยานในระยะใกล้ด้วย ส่วนกิจกรรมรณรงค์ดูแลสิ่งแวดล้อม ได้รับความร่วมมือจากกองพลพัฒนาที่ 2 ผลิตลูกบอล EM เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมโยนลงบ่อน้ำคูเมือง เพื่อเป็นการบำบัดน้ำ และกิจกรรม Battery for Life ให้ผู้ร่วมกิจกรรมนำแบตเตอรี่มือถือหรืออุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพ เป็นขยะอิเล็คทรอนิก มาทิ้งลงกล่อง "Battery for Life” ร่วมลุ้นรับรางวัลด้วย



สุวาพร/เรียบเรียง 5 ก.ย. 56/Com2

การเตรียมความพร้อมเด็กไทยสู่เวทีอาเซียน

ยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมเด็กไทยสู่เวทีอาเซียน จัดโดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ 306-308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 ศธ.จึงได้มีแนวทางการเตรียมความพร้อมของเด็กไทยสู่เวทีอาเซียน ดังนี้

● การคิดวิเคราะห์ โลก ยุคปัจจุบันเราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีสิ่งใหม่เกิด ขึ้นอย่างไม่คาดฝัน เด็กยุคใหม่จึงควรเป็นเด็กที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เพื่อปรับเปลี่ยนและเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีมากกว่าเด็กที่สามารถท่องจำได้ดี ดังนั้นในระบบการศึกษาใหม่จึงไม่ควรให้เด็กท่องจำในสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ปัจจุบันมีข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกชั่วโมง ทุกวัน ทุกปี ไม่มีใครสามารถจำได้ทั้งหมด แต่จะทำอย่างไรให้เด็กของเราใฝ่รู้ รู้วิธีการหาความรู้ และวิเคราะห์ข้อมูลตามลำดับขั้นตอนได้ ส่วนการท่องจำก็คงจะยังต้องมีบ้างในส่วนหลักๆ หรือจำเฉพาะเรื่องพื้นฐานที่ต้องใช้ประโยชน์ ขณะนี้ ศธ.กำลังพิจารณาว่า สิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้ควรมีแค่ไหนอย่างไร

● การปฏิรูปหลักสูตร ปัจจุบันเด็กไทยใช้เวลาเรียนถึง 1,200 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น และมากกว่ามาตรฐานของยูเนสโก คือ 800 ชั่วโมง แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เด็กไทยยังรู้น้อยกว่า ศธ.จึงมีการปฏิรูปหลักสูตรเพื่อลดจำนวนชั่วโมงเรียน ในห้องเรียน เพราะหลายประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีกว่าไทย แต่เด็กใช้เวลาเรียนน้อยกว่ามาก จึงต้องการให้เด็กไทยเรียนเท่าที่จำเป็นในแต่ละระดับชั้น แต่ก็จะสอดแทรกและกระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ลงไปในทุกรายวิชา

● ภาษา การ เข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงคือ ภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางของอาเซียนและเป็นภาษาที่ทั่วโลกใช้สื่อ สารกัน หากเราสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีก็จะเป็นการเปิดโอกาสของเรากว้างขึ้นแม้ว่า จะอยู่ในประเทศไทยก็ตาม นอกจากนี้ปัจจุบันมีนักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศทั่วโลก เช่น โรงถลุงเหล็กในอังกฤษ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เยอรมัน ธุรกิจเครื่องดื่มขนาดใหญ่ในสิงคโปร์ ฉะนั้นเมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียน ก็จะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 600 ล้านคน และจะมีนักธุรกิจไทยอีกจำนวนมากขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ หรือมีคนไทยออกไปทำงานในบริษัทหรือธุรกิจของไทยในต่างประเทศ ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่มีความสำคัญต่อคนไทยอย่างมาก ทั้ง นี้ ศธ.ได้มีการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ แต่ต้องยอมรับว่าครูไทยที่สอนภาษาอังกฤษมีไม่เพียงพอและครูไทยก็ไม่ได้เรียน ภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษา นอกจากนี้คนไทยส่วนใหญ่จะถนัดการใช้ภาษาอังกฤษในการเขียนและอ่านมากกว่า จึงมีปัญหาเรื่องการฟังและพูด ทั้งที่ในการใช้งานจริงจะใช้การพูดกับการฟังมากกว่าเขียนและอ่าน ดังนั้น ศธ.จึงพยายามพัฒนาทักษะการพูดและฟังภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น โดยมีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลายหลักสูตร เช่น English Program : EP โดยใช้ครูต่างประเทศที่มีความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ ภูฏาน หรือ Mini English Program : MEP โดยให้ครูไทยใช้ภาษาอังกฤษในการสอนวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมี English for Integrated Study : EIS ให้ ครูไทยสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ครูและเด็กสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น เพราะวิชาเหล่านี้ไม่ต้องใช้การอธิบายมาก ทำให้ครูพูดน้อยลง และเด็กจะมีโอกาสคิดมากขึ้น

สำหรับ โรงเรียนที่สามารถจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้อย่างดีมาก คือ โรงเรียนนานาชาติ แต่เราก็ไม่สามารถยกระดับนักเรียนไทยจำนวนประมาณ 7-8 ล้านคนให้มีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษเท่าโรงเรียนนานาชาติได้ แต่หลักสูตรดังกล่าวข้างต้นจะมีส่วนช่วยให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้ ฟังรู้เรื่อง แม้ว่าสำเนียงจะไม่ไพเราะเท่าสำเนียงของชาวอังกฤษหรืออเมริกัน แต่อย่างน้อยเด็กเหล่านี้ก็จะสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ และอาจพัฒนาสำเนียงการพูดได้ในภายหลัง นอก จากคนไทยจะต้องรู้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว จะต้องรู้ภาษาอื่นเพิ่มอีก 1 ภาษา เพื่อให้ /..เกิดการได้เปรียบ เกิดการได้เปรียบ เพราะภาษาอังกฤษไม่ได้ทำให้เราได้เปรียบ แต่หากเราไม่รู้จะเสียเปรียบ ภาษาอื่นอีก 1 ภาษาจะเป็นจุดที่ทำให้เราได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็นภาษาบาฮาซ่า ซึ่งมีการใช้ในพื้นที่ที่ติดต่อกับภาคใต้ของไทยกว่า 300 ล้านคน หรือภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ฯลฯ โดย ศธ.พยายามจะส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างๆ ให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น

● การเตรียมคนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การ เข้าสู่ประชาคมอาเซียนมีทั้งวิกฤตและโอกาส มีการเปลี่ยนแปลงที่หากเราตั้งตัวรับไม่ดีก็อาจจะมีผลกระทบ สิ่งที่ต้องเตรียมคนคือ ต้องรู้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนความเปลี่ยนแปลงนี้ให้เป็นโอกาส รวมทั้งต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติม อะไรที่จะเป็นช่องทาง เป็นโอกาส อะไรที่ต้องระมัดระวังเพื่อป้องกันตัวเอง อีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นประชาคมอาเซียนได้ ต้องมีความรับรู้และจิตสำนึกในการขับเคลื่อนร่วมกัน ศธ.จึงกระตุ้นให้เด็กได้รู้ว่าจาก 1 ประเทศของเราจะกลายเป็น 10 ประเทศ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนในการทำงานร่วมกัน และทำให้สามารถขับเคลื่อนอาเซียนซึ่งมีสมาชิก 600 ล้านคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

● การเตรียมคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เรา จะจัดการศึกษาเพื่อทำให้คนไทยเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างไร ปัจจุบัน ศธ.ผลิตคนเพื่อให้ประกอบอาชีพได้ และอีกส่วนหนึ่งเพื่อเข้าสู่ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการเกษตร และภาคการบริการ ซึ่งขณะนี้มีเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจเกี่ยวกับการทำงานว่า ผู้เรียนที่จบออกไปจะต้องใช้เวลาอีกกว่า 1 ปีจึงจะทำงานให้ได้ตามความต้องการ จึงมีคำถามกลับมายัง ศธ.ว่า เหตุใดจึงจะต้องใช้เวลามาฝึกเด็กที่เรียนจบอีก

สิ่งที่เห็นคือไม่มีการจัดการศึกษาใดที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ได้ดี เท่ากับผู้ใช้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ประเทศที่เป็นแม่แบบเรื่องทวิภาคีได้ดี ได้แก่ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย โดยเฉพาะในเยอรมัน ผู้ใช้จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างคนตั้งแต่กำลังศึกษา มีการคัดเลือกคนเพื่อเป็นลูกมือฝึกหัด ทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาคน โดยเรียนภาคทฤษฎีในสถาบันการศึกษา ไปฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริงโดยได้รับเงินเดือน และเมื่อจบการศึกษาแล้วจะไปทำงานที่ใดก็ได้ แต่เด็กส่วนใหญ่ก็เข้าทำงานในสถานประกอบการที่ตนเองฝึกปฏิบัติ เพราะเด็กได้เรียนในสาขาที่ต้องการ ได้รับเงินเดือนระหว่างฝึกงาน และมีงานทำแน่นอนเมื่อจบการศึกษา

ในส่วนของสถานประกอบการ ก็จะได้คนที่ตรงตามความต้องการ และทำให้สถาบันการศึกษาเกิดการแลกเปลี่ยนครูและความรู้ระหว่างผู้สอนกับผู้ ประกอบการ ทำให้การศึกษามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความร่วมมือด้านต่างๆ ที่สถาบันการศึกษาจะให้แก่ภาคธุรกิจ เช่น งานวิจัย นอกจากนี้ที่ประเทศอังกฤษได้มีการพัฒนาเครื่องยนต์ของเครื่องบิน แอร์บัส A350 ระหว่างบริษัท Rolls-Royce กับ สถาบันการศึกษา ส่วน /... ประเทศจีน ประเทศจีนก็มีความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจ เช่น โรงแรมส่งกุ๊กมาสอนในโรงเรียน และ รับเด็กจากโรงเรียนไปฝึกงานในโรงแรม ส่วนครูจีนจะสอนในโรงเรียนประมาณ 5 ปี จากนั้นให้ออกไปทำงานข้างนอกเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วจึงกลับมาสอน อย่างไรก็ตาม ศธ.ก็มีการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจ การโรงแรม ธุรกิจอาหาร และเบเกอรี่ เช่น ร่วมกับ S&P บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องรถไฟฟ้ามีความต้องการคนจำนวนมากในการวางระบบราง หรือบริษัทจากเยอรมัน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท B.Grimm บริษัทBosch และบริษัท BMW ซึ่งภาคธุรกิจเหล่านี้ต้องการคนทั้งสิ้น และเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเด็กของเราจะต้องมีความพร้อมในการทำงานมากขึ้น

● การเทียบคุณวุฒิวิชาชีพ มี คนจำนวนมากประกอบอาชีพโดยที่ไม่ได้มีความรู้มากมาย แต่สามารถดำเนินธุรกิจ จนบางรายขยายธุรกิจจนเติบโต คนเหล่านี้มีประสบการณ์จากการทำงานจริง เมื่อเทียบความรู้สามารถไปสอนคนที่เรียนระดับปริญญาเอกได้เลย เพราะมีความเก่งกว่าผู้ที่จบปริญญาเอกมาก และก็มีผู้ที่จบปริญญาเอกมาจ้างผู้มีประสบการณ์ไปทำงานให้ด้วย ศธ.จึงมีระบบเพื่อใช้วัดเทียบโอนประสบการณ์ต่างๆ กับการศึกษาในระบบทางการ ซึ่งเรียกว่า กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ที่เป็นตัวกำหนดเชื่อมต่อระหว่างคุณวุฒิทางการศึกษากับคุณวุฒิทางการทำ งาน โดยได้ดำเนินการปีนี้เป็นปีแรก และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำกรอบรายละเอียดการวัดในแต่ละอาชีพ เมื่อเสร็จเรียบร้อยกรอบนี้ก็จะเชื่อมโยงไปยังอาเซียนด้วย เพราะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะมีการเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ใช้ฝีมือแรงงานภาย ในอาเซียน กรอบนี้จะเป็นตัวกำหนด เช่น นักบัญชีชั้น 5 จะต้องมีมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน คนในอาเซียนก็ต้องรู้ว่าตนเองอยู่ชั้นใด เข้าเงื่อนไขการรับสมัครหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศต่างๆ ในอาเซียน

● คุณธรรมจริยธรรม ศีลธรรม และจิตสำนึกประชาธิปไตย การสอนคนไม่ใช่สอนเพื่อให้มีความรู้ สามารถคิดวิเคราะห์ หรือมีความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ต้องสอนความมีคุณธรรมจริยธรรม ศีลธรรม จิตสำนึกประชาธิปไตยด้วย ขณะนี้ ศธ.มีครูพระสอนศีลธรรม มีการนำเด็กและครูไปฝึกอบรมบ่มนิสัยด้านศาสนาอย่างต่อเนื่อง แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็น คือ การปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ให้กับเด็ก ไม่ใช่การสอนเฉพาะในห้องเรียน แต่ต้องปลูกฝังด้วยวิธีการปฏิบัติในทุกๆ วัน ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กจนเติบโต ให้เกิดการซึมซับจนกลายเป็นนิสัย

จังหวัดนครราชสีมา ประชุมเตรียมการจัดแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ ๑๗

ข่าวที่ 1040 /2556

จังหวัดนครราชสีมา ประชุมเตรียมการจัดแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ ๑๗ ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการแข่งขัน " ช้าง” วอลเลย์บอลหญิง ชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 17 ปี 2556 จังหวัดนครราชสีมาร่วมกับสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย กำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน "ช้าง” วอลเลย์บอลหญิง ชิมแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 13 – 21 กันยายน 2556 ณ อาคารชาติชาย สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และ เอ็มซีซี ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา โดยมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 16 ทีม ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย อินเดีย อิหร่าน ญี่ปุ่น คาซัคสถาน เกาหลีใต้ มอลโกเลีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไต้หวัน และเวียดนาม จังหวัดนครราชสีมา ขอเชิญชมการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์แห่งเอเชีย ครั้งที่ 17 ปี 2556 ของทีมนักตบกว่า 16 ประเทศทั่วทวีปเอเชีย ระหว่างวันที่ 13 – 21 กันยายน 2556 ณ อาคารชาติชาย สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และ เอ็มซีซี ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา ผู้สนใจเข้าชมสามารถซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันได้ดังนี้ 1. บัตรชมการแข่งขันได้ทุกคู่ทั้งสองสนามตลอดการแข่งขัน ตั้งแต่วันที่ 13 – 21 กันยายน 2556 กำหนดเลขที่นั่ง บัตรราคา 800.-บาท ซื้อบัตรล่วงหน้าได้ที่ศูนย์ประสานงานเพื่อสาธารณประโยชน์จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ 0-4425-9988 และประชาสัมพันธ์ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา โทรศัพท์ 0-4423-1000 ต่อ 121 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 2. บัตรชมการแข่งขันเฉพาะที่อาคารชาติชาย สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 วันที่ 19 – 21 กันยายน 2556 วันใดวันหนึ่ง VIP ราคาฉบับละ 200-บาท (จำนวน 400 ที่นั่ง) กำหนดเลขที่นั่ง ซื้อบัตรล่วงหน้าหรือซื้อในวันแข่งขัน 3. บัตรทั่วไป ผู้ใหญ่ราคา 100.-บาท เด็กราคา 50.-บาท ซื้อได้ที่หน้าสนามที่จัดการแข่งขัน



สุวาพร/เรียบเรียง 3 ก.ย. 56/Com2

จังหวัดนครราชสีมาอบรมพัฒนาศักยภาพครูเพื่อร่วมเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมสู่การเป็นจังหวัดปลอดบุหรี่

วันที่ 4 ก.ย. 56 เวลา 09.00 น. ที่โรงเรียนบุญวัฒนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการอบรมพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งมีครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่เข้าร่วมอบรมจำนวน 120 คน ด้านนายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ทุกฝ่ายในสังคมต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อสุขภาพของเยาวชน โดยหน่วยงานด้านการศึกษา ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลนครนครราชสีมา ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญในการณรงค์ป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่ โดยสนับสนุนให้โรงเรียนปฏิบัติตามกฏกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ พศ 2555-2557 ในสถานศึกษา มีนโยบายสำคัญในการจัดให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย เพื่อลดโอกาสการติดบุหรี่ของนักเรียนทั้งก่อนและหลังออกจากโรงเรียน 

ที่ปรึกษา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เดินหน้าโครงการบ้านมั่งคงให้กับประชาชน

วันนี้ (4 ก.ย. 56) เวลา 10.00 น. ที่ชุมชนราชนิกูล 3 อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย พร้อมตรวจสอบพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการบ้านมั่นคงให้กับประชาชน ที่ประสบปัญหาที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สำหรับ ในพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เริ่มดำเนินโครงการบ้านมั่นคง มาตั้งแต่ปี 2546 มีชุมชนนำร่อง 9 แห่ง รวม 425 ครัวเรือน ปัจจุบันมีประชาชนที่มีปัญหาที่อยู่อาศัย และเข้ารวมโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 21 ชุมชน จากทั้งหมด 88 ชุมชน รวมทั้งสิ้น 1,809 ครัวเรือน ซึ่งทั้ง 21 ชุมชน ได้รับจัดสรรงบประมาณตามแผนงานแก้ไขปัญหาแล้ว ที่เหลือจะเร่งเสนอรัฐบาลเพื่อขยายโครงการบ้านมั่งคงให้ครอบคลุมทุกชุมชน

เชิญผู้มีอาชีพวิทยุและนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ สมัครเข้างานหลักสูตรผู้ประกาศ ที่ กปส. ร่วมกับ กสทช. ร่วมจัดขึ้นรวม 3 ระดับ ในเดือน ตุลาคม 56, ธันวาคม 56, กุมภาพันธ์ 57

นางชนัดดา แฮรีส ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือ แจ้งอนุญาตให้ กรมประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเขต 1-8, สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด 76 จังหวัด และสถาบันการประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานฝึกอบรมหลักสูตรบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง โดยได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงในการจัดอบรมหลักสูตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เรียบร้อยแล้วนั้น

ในการนี้ นายเสรี จูบุญส่ง ผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น กล่าวว่า สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 กำหนดจัดอบรมหลักสูตรบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ดังนี้

ระดับต้น ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2556 ณ โรงแรมเจริญธานีขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 รุ่น รับจำนวนจำกัดเพียง 50 คน โดยเก็บค่าลงทะเบียนคนละ 4,000.- บาท

ส่วนระดับกลาง กำหนดจัดอบรม จำนวน 1 รุ่น ๆ ละ 50 คน ระหว่างวันที่ 17 – 20 ธันวาคม 2556 เก็บค่าลงทะเบียนคนละ 5,000.- บาท

และระดับสูง วันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2557 จำนวน 1 รุ่น ๆ ละ 50 คน เก็บค่าลงทะเบียนคนละ 6,000.- บาท ณ โรงแรมเจริญธานีขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ทั้งนี้ การจัดฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ในการประกอบอาชีพด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์มืออาชีพ ผู้เข้ารับการอบรมฯ หากเป็นข้าราชการสามารถเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบกระทนรวงการคลัง

สำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป หรือผู้มีหน้าที่เป็นผู้ประกาศรายการวิทยุ และโทรทัศน์ ประสงค์สมัครเข้าฝึกอบรมหลักสูตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ระดับต้น ที่สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 จัดที่จังหวัดขอนแก่น สามารถ ดาวน์โหลดใบสมัครที่ เว็บไซต์สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 http://region1.prd.go.th หรือ ติดต่อขอรับได้ที่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด ที่ตั้งจังหวัดของท่าน และจัดส่งใบสมัครไปที่ส่วนข่าวและรายงานภูมิภาค สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 เลขที่ 20/1 ถนนนิกรสำราญ (ริมบึงแก่นนคร) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์/โทรสาร 0-4322-7406 โดยโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี” เงินสะสม สปข.1” บัญชีเลขที่ 405-0-42271-9 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาขอนแก่น ได้ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป 

มทส. คว้ารางวัลชนะเลิศจัดแสดงผลงานวิจัย 2 ปีซ้อนในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2556”

รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) (ลำดับที่สองจากซ้าย) ขึ้นรับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี รางวัลชนะเลิศ (Platinum Award) ในการประกวดบูธแสดงนิทรรศการ โดย ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) (ที่สามจากซ้าย) ประธานพิธี ในงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2556” (Thailand Research Expo 2013) ซึ่ง มทส. ได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยเกี่ยวกับงานวิจัยเชิงประยุกต์ด้านเศรษฐกิจ จำนวน 6 เรื่อง ระหว่างวันที่ 23 - 27 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

AEC : ASEAN Economic Community และ AEC คืออะไร

AEC คืออะไร ตอบ อาเซียนให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากการดำเนินการไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ได้บรรลุเป้าหมายในปี 2546 ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ได้เห็นชอบให้อาเซียนกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community: EEC) และให้อาเซียนปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2546 ผู้นำอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ Bali Concord II
เห็นชอบให้มีการรวมตัวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ภายในปี 2563 และให้เร่งรัด
การรวมกลุ่มเพื่อเปิดเสรีสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขา (priority sectors) ได้แก่ การท่องเที่ยว การบิน
ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร ประมง เทคโนโลยีสารสนเทศและ สุขภาพ

อาเซียน (ASEAN) ประกอบด้วย 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย (2510) สิงคโปร์ (2510) อินโดนีเซีย (2510) มาเลเซีย (2510) ฟิลิปปินส์ (2510) บรูไน (2527) เวียดนาม (2538) ลาว (2540) พม่า (2540) กัมพูชา (2542)

ไทยจะได้ประโยชน์อะไร จาก AEC ถามว่าทำไมต้องสร้างประชาคมอาเซียนและเมื่อสร้างแล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไร อาเซียนเป็นกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคกลุ่มแรกๆ ของโลกที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ ปี 2510 โดยที่ผ่านมา แม้ภูมิภาคนี้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่หลากหลาย ตั้งแต่ภัยคอมมิวนิสต์ สงครามอินโดจีน การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจเพื่อเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคในยุคสงครามเย็น แต่ความร่วมมือในกรอบอาเซียนก็ทำให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคนี้มีความสงบสุข มั่นคง ปราศจากการใช้อาวุธเพื่อทำสงครามมาเป็นเวลากว่า 40 ปีโดยมีผลทำให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการพัฒนาของประเทศสมาชิกทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน โลกยุคโลกาภิวัตน์เป็นโลกของความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า และต่อต้านภัยคุกคามต่างๆ ประเทศในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ยุโรป อเมริกา เอเชีย และแอฟริกาต่างก็รวมกลุ่มกันเพื่อสร้างโอกาสและอำนาจต่อรอง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและการลงทุน ทั้งสหภาพยุโรป (EU) เขตการค้าเสรีในภูมิภาคอเมริกาเหนือ (NAFTA) สหภาพแอฟริกา (AU) เป็นต้น

ในบริบทเช่นนี้ ประเทศไทยประเทศเดียวมีประชากรแค่ 60 กว่าล้านคน มี GDP 4 พันกว่าล้านบาท คงไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ หรือมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างจีนหรืออินเดียได้ แต่ถ้ารวมกันเป็นประชาคมอาเซียนที่เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวสำเร็จ เราจะมีประชากรรวมเกือบ 600 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 ของประชากรโลก ที่มี GDP รวมเกือบ 30,000 ล้านบาท นับเป็นตลาดและแหล่งเงินทุนที่มีศักยภาพมหาศาล และยังเป็นฐานของไทยในการค้าขายกับตลาดอื่นๆ นอกภูมิภาคอีกด้วย นับตั้งแต่มีการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนในปี 2535 เป็นต้นมา มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จนขณะนี้คิดเป็นเกือบ 20% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และทำให้อาเซียนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยแซงหน้าสหรัฐฯ และยุโรปไปแล้ว

การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนยังจะช่วยกระชับความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ปัญหาความยากจน โรคติดต่อ ยาเสพติด สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แรงงาน ผู้ด้อยโอกาส โดยสิ่งเหล่านี้จะนำให้ประชาชนไทยและอาเซียนจะอยู่ในสังคมที่มีความแข็งแกร่ง มีจริยธรรมและธรรมาภิบาล และก่อให้เกิดความพอเพียงในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

ไทยเสียประโยชน์อย่างไร กับการก่อตั้ง AEC

1. การศึกษาในภาพใหญ่ของโลก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ต้องไม่ให้การเปลี่ยนแปลงนี้มากระชากลากเราไปอย่างทุลักทุเล เราต้องเตรียมความพร้อมทันที ตลอดเวลา โดยเฉพาะบุคลากรต้องตามให้ทันและยืดหยุ่นปรับตัวให้รับสถานะการณ์ได้

2. ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษากลางของ ASEAN บุคลากรและนักศึกษา ต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ให้สามารถสื่อสารได้

3. ปรับปรุงความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ เพื่อลดข้อขัดแย้งในภูมิภาคอาเซียน (Conflict Management) จึงต้องคำนึงถึงการสร้างบัณฑิตให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง ASEAN ให้มากขึ้น

4. สร้างบัณฑิตให้สามารถแข่งขันได้ใน ASEAN เพิ่มโอกาสในการทำงาน ไม่เช่นนั้น จะถูกแย่งงานเพราะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน/บริการอย่างเสรี คณะกรรมการวิชาชีพ สภาวิชาชีพ ต้องเตรียมการรองรับผลกระทบนี้อย่างเร่งด่วน

5. โอกาสในการเป็น Education Hub โดยอาศัยความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศไทย แต่ต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพการศึกษาเป็นตัวนำ

6. เราต้องการเครื่องมือในการ Transform คน การเรียนแบบ PBL หรือ Project Based Learning น่าจะได้มีการวิจัยอย่างจริงจังและนำมาปรับใช้ ห้องเรียนไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆอีกต่อไป ต้องเพิ่มการเรียนจากชีวิตจริง ลงมือทำเป็นทีม อยู่คนละประเทศก็ทำร่วมกันได้ด้วยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ประเด็นนี้ อาจารย์จะสอนได้ยากขึ้น แต่เป็นผู้ที่ช่วยให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ แสดงว่า อาจารย์ต้องมีความพร้อมมากกว่าเดิมและเก่งจริงๆMRAs

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 เมื่อ 7 ตุลาคม 2546 ที่บาหลี อินโดนีเซีย ได้กำหนดจัดทำข้อตกลงร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements : MRAs)เกี่ยวกับคุณสมบัติของวิชาชีพหลัก แรงงานเชี่ยวชาญ หรือผู้มีความสามารถพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี โดยจะเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2558 ในเบื้องต้น ได้ทำข้อตกลงร่วมกันแล้ว 7 สาขา คือ

1. วิศวกรรม (Engineering Services)

2. พยาบาล (Nursing Services)

3. สถาปัตยกรรม (Architectural Services)

4. การสำรวจ (Surveying Qualifications)

5. แพทย์ (Medical Practitioners)

6. ทันตแพทย์ (Dental Practitioners)

7. บัญชี (Accountancy Services)



ที่มา ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
http://www.gracezone.org/index.php/knowlage/307-2009-02-21-15-31-11
http://www.aseantalk.com/index.php?topic=7.0 http://www2.oae.go.th
http://variety.siam55.com/data/6/0443-1.html