วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ : “ร้อยมือ สร้างเมือง” จากโครงการของรัฐบาลสู่เรียลลิตี้ทีวี

ความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ  ส่งผลให้พื้นที่เมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว  รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะดำเนินโครงการพัฒนาเมือง เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันเสนอ และช่วยกันทำ ตามวิถีประชาธิปไตย ในการพัฒนาชุมชนเมืองของตนเอง ให้น่าอยู่ ปลอดภัย เป็นเมืองแห่งสุขภาพ เมืองที่มีพื้นที่สร้างสรรค์ และเป็นแหล่งผ่อนคลายของสมาชิกในชุมชน ที่สำคัญคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้ดีขึ้น ภายใต้โครงการ “ปฏิบัติการร้อยมือ สร้างเมือง” โดยเปิดโอกาสให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมือง เทศบาลนคร เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเอง

นายนที ขลิบทอง  ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการพัฒนาเมืองเป็นโครงการที่รัฐบาลตั้งขึ้น เพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชน จากโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน หรือ เอสเอ็มแอล ที่มีข้อจำกัดมากมาย และเน้นการพัฒนาพื้นที่ในชนบทเป็นสำคัญ ซึ่งจากการดำเนินโครงการพัฒนาเมือง ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เสนอโครงการแล้วกว่า 300 โครงการ จาก 50 จังหวัดทั่วประเทศ โดยโครงการที่เสนอมีความหลากหลายทั้งด้านการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การแก้ปัญหาคนเร่ร่อน การป้องกันอัคคีภัย แก้ปัญหาหมอกควัน และการพัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการที่ประชาชนต้องการให้ภาครัฐช่วยแก้ไข

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ต่อยอดโครงการพัฒนาเมือง โดยคัดเลือกโครงการที่น่าสนใจสามารถสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้เรียนรู้ ถ่ายทำในรูปแบบรายการเรียลริตี้ แนวสาระบันเทิง ภายใต้ชื่อ “รายการร้อยมือ สร้างเมือง” ออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี หรือ ช่อง 9 ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 20.30 – 21.30 น. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคมนี้ (2556) เป็นต้นไป ซึ่งในรายการจะมีคณะกรรมการและตัวแทนประชาชนร่วมให้คะแนน เพื่อหาโครงการที่เป็นสุดยอดต้นแบบโครงการร้อยมือ สร้างเมืองแห่งปีต่อไป โดยโครงการที่ได้รับคะแนนสูงที่สุดจะได้รับเงินรางวัล 2 ล้านบาท รางวัลที่ 2 จำนวน 1 ล้านบาท และรางวัลที่ 3 จำนวน 5 แสนบาท

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาเมือง จะต้องรวมกลุ่มกันในหมู่บ้านหรือชุมชนตั้งแต่ 100 หลังคาเรือนขึ้นไป หรือกลุ่มประชาชนในพื้นที่ชุมชนเมือง ตั้งแต่ 50 หลังคาเรือนขึ้นไป และนำเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตั้งแต่ 500,000 - 2,000,000 บาท ได้ที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดทุกจังหวัด ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้(2556) หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 1111 และดูข้อมูลที่ www.ร้อยมือ สร้างเมือง .com




ฐิตาวัลย์ ลาภขจรสงวน /รายงาน

สคร.5 แนะผู้ป่วยเบาหวาน ควรหันมาให้ความสำคัญกับอาหารประเภทปลา ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารมาก ทั้งในปลาน้ำจืดและปลาทะเล

นางสาวกัญญรัตน์ เกียรติสุภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ ได้รับแจ้งจาก สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา ว่า เบาหวานโรคอันดับต้นๆ ที่คนไทยเป็นกันมาก และเป็นโรคที่ต้องดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการบริโภคอาหารเป็นสำคัญ ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติ ต้องควบคุมอาหารและน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผู้ป่วยเบาหวาน ควรหันมาให้ความสำคัญกับอาหารประเภทปลา ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารมาก ไม่ทำให้อ้วน และราคาไม่แพงอีกด้วย ปลาเป็นหนึ่งในอาหารที่มีโคเรสโตรอลต่ำ ย่อยง่าย และเนื้อปลาเป็นโปรตีนคุณภาพดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง นอกจากเนื้อปลาแล้ว ไขมันปลาก็ยังมีประโยชน์ เป็นแหล่ง โอเมก้า – 3 ที่หลายคนคิดว่ามีแต่ในปลาทะเลเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมีอยู่ทั้งในปลาน้ำจืดและปลาทะเล โดยโอเมก้า – 3 จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน การเลือกบริโภคปลาจะต่างจากการเลือกเนื้อสัตว์อื่นๆ โดยการเลือกซื้อเนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ เราจะเลือกที่มีมันน้อยๆ แต่ถ้าเราเลือกปลาเราต้องเลือกที่ตัวใหญ่ๆ มีไขมันมาก เพราะไขมันเหล่านั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น ส่วนชนิดของปลาที่ให้ประโยชน์มากที่สุดคือ ปลาสวาย มีโอเมก้า 3 สูงถึง 2,570 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ซึ่งมากกว่าปลาทะเล จึงอยากแนะนำให้หันมาบริโภคปลาน้ำจืดในบ้านเรา เพราะมีราคาถูกแต่มีคุณประโยชน์ที่สูง แถมช่วยลดการบริโภคปลานำเข้า ที่คุณค่าทางอาหารจะลดลงไปเมื่อถูกแช่แข็ง และที่สำคัญยังไม่พบการแพ้ปลาน้ำจืด เหมือนกับปลาทะเลอีกด้วย สำหรับการปรุงเมนูปลาที่มีคุณประโยชน์ที่สุดอยู่ที่การต้มหรือนึ่ง ที่จะทำให้ได้คุณค่าทางอาหารอย่างครบถ้วนที่สุด โดยให้หลีกเลี่ยงเมนูทอดให้มากที่สุด ทั้งนี้ควรมีการบริโภคอาหารที่มีเมนูปลาอย่างน้อย 2 มื้อต่อสัปดาห์ แต่หากบริโภคได้ทุกวันก็จะดีที่สุด




กัญญรัตน์ เกียรติสุภา ส.ปชส.สุรินทร์ /รายงาน

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดสุรินทร์ได้รับอนุมัติแล้ว 124 โครงการพร้อมเร่งประชาสัมพันธ์จัดทำโครงการให้มากขึ้น

นางชนมณี  จารุธนิตกุล ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า การดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของจังหวัดสุรินทร์ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าคณะกรรมการและสมาชิกของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในชุมชนส่วนใหญ่ ยังขาดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ การบริหารจัดการกองทุนฯ นอกจากนี้ ยังขาดทักษะในการเขียนและเสนอโครงการ ขั้นตอนการขอกู้ยืมที่มีความซับซ้อน รวมทั้งหลักเกณฑ์การเขียนโครงการขอรับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการฯ ทำให้มีหลายโครงการไม่ผ่านการอนุมัติ เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบของกองทุนฯ บางโครงการไม่ชัดเจน ขาดเอกสาร หลักฐานในการประกอบยื่นขอเสนองบประมาณ จึงจำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจในแนวทางการบริหารจัดการและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกอย่างทั่วถึงให้มากขึ้น สำหรับผลการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 196,071 คน คิดเป็นร้อยละ 35 ของจำนวนเป้าหมายหญิงอายุ 15 ปี ที่มีอยู่กว่า 551,000 คน โดยได้รับการจัดสรรเงินสนับสนุนการดำเนินงานรวม 134 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินอุดหนุน 26 ล้านบาท ได้อนุมัติเพื่อดำเนินการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีและจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทสตรีแล้ว 124 โครงการ เป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41 ของเงินจัดสรร และงบทุนหมุนเวียน จำนวน 104 ล้านบาท เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมไปพัฒนาอาชีพ ซึ่งได้พิจารณาอนุมัติโครงการไปแล้ว 1,421 โครงการ รวมเป็นเงินกว่า 80 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77 ของเงินจัดสรร คาดว่าในอนาคตจะได้รับการอนุมัติเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน




กัญญรัตน์ เกียรติสุภา ส.ปชส.สุรินทร์ /รายงาน

ขอเชิญซื้อข้าวหอมมะลิผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดสุรินทร์ หอม ยาว ขาว นุ่ม อุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์

นางธนณฐ์วรรย์  แสงหวัง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรปราสาท จังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์เป็น  1 ใน 5 จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งพื้นที่มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นแอ่งกระทะ  สภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายมีความเค็ม  มีความอุดมสมบูรณ์พอเหมาะ และอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เหมาะสมต่อการปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวมะลิ 105 ให้มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่ง  ทำให้ข้าวหอมสุรินทร์มีลักษณะเด่นกว่าแหล่งอื่น  คือ หอม  ยาว ขาว  นุ่ม ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ ได้คัดเลือกจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีให้เป็นจังหวัดนำร่องในการขยายตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และจังหวัดสุรินทร์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์สุรินทร์ ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกรเห็นความสำคัญและคุณค่าของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ ประเมินความพร้อมของเกษตรกร รวมทั้งความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูกก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ อีกทั้งสนับสนุนให้มีการนำระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้ในการควบคุมกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ มีจุดเด่นที่แตกต่างจากข้าวหอมมะลิทั่วไป  ทั้งในแง่ของ เกษตรกรมีความรู้ ความชำนาญในการปลูกข้าวหอมมะลิมาอย่างยาวนาน มีภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาการผลิตสืบต่อกันมา จนสามารถผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีได้ เช่น ข้าวหอมมะลิโกเมนสุรินทร์ และมะลินิลสุรินทร์ เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์, ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร, สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว, คณะเทคโนโลยีและคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นข้าวเจ้าหอมต่างสี ซึ่งได้จากการคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ข้าวเจ้าต่างสี พันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสง 3 พันธุ์ คือ มะลิแดง เบอร์ 54  มะลิพื้นเมือง (ข้าวแดง) และมะลิดำ เบอร์ 53 จากแปลงแสดงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ในปี พ.ศ. 2548 จนได้พันธุ์บริสุทธิ์ จำนวน 12 สายพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง จำนวน 5 พันธุ์ คือ มะลิโกเมนสุรินทร์ 1-5 และกลุ่มที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีดำ จำนวน 7 พันธุ์ คือ มะลินิลสุรินทร์ 1-7 มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็ง ขยายเส้นเลือด สามารถสนองต่อการเรียกหาของคนรักสุขภาพ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ประกอบด้วย สารประกอบฟีโนลิก และแอนโทไซยานิน ที่มีผลทำให้ผิวหนังของเราไม่เหี่ยวแห้งเร็วก่อนวัยอันควร แถมยังช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็งและยังออกฤทธิ์ในการขยายเส้นเลือด ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดอุดตันในสมอง และโรคอัมพาตอีกด้วย




สมทรง  เผือกผล   ส.ปชส.สุรินทร์ /รายงาน

เชิญซื้อจักสานหวายผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดสุรินทร์

นายกสิณ  นวลโคกสูง  พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์มีหวายที่พบในจังหวัดสุรินทร์และตามแนวชายแดนประเทศกัมพูชา เช่น  หวายหางหนูซึ่งเป็นหวายที่มีความเหนียว เส้นเล็กมีผิวมันในตัว และหวายน้ำลำต้นใหญ่เท่านิ้วก้อย ชอบขึ้นริมน้ำ ชาวบ้านนำมาจักสานเช่นกัน โดยเฉพาะชาวบ้านบุทม จังหวัดสุรินทร์ นำหวายหางหนูและหวายน้ำ มาทำจักสานตะกร้าชนิดต่าง ๆ เนื่องจากหวายมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถดัดได้ มีความเหนียวเป็นลักษณะเฉพาะ มีลำต้นขนาดเท่ากันตามชนิด มีความมันในระดับผิว จึงเหมาะต่อการจักสาน ทำเฟอร์นิเจอร์ รูปแบบต่างๆ
โดยจังหวัดสุรินทร์มีการจักสานหวายครั้งแรก ที่บ้านบุทม ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์  จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้ยึดเป็นอาชีพเสริมหลังการทำนา มาตั้งแต่ปี 2473  ประมาณ 80 ปี โดยชาวบ้านได้เรียนรู้การจักสานหวายจากเรือนจำสุรินทร์ และถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในหมู่บ้านได้ยึดเป็นอาชีพ ที่สามารถทำได้ตลอดฤดูกาล ซึ่งในปัจจุบันมีครัวเรือนที่ผลิตจักสานหวาย จำนวน 510 ราย ผลิตได้ 3,000 ชิ้น ต่อเดือน

งานจักสานหวาย ชาวบ้านได้ผลิตตะกร้าหวาย ด้วยลวดลายแบบดั้งเดิม  ซึ่งหวายหางหนูมีความเหนียว แข็งแรงเป็นเงาตามธรรมชาติ  ชาวบ้านจะผลิตตะกร้าหลายบ้าน  ทุกครัวเรือนหลายรูปแบบ เช่น ตะกร้าไปจ่ายตลาด  ไปวัด ตะกร้าทรงเหลี่ยม ทรงกลม ทรงรี ทรงรูปไข่ ตะกร้าผัก ตะกร้าหมาก ตะกร้าใส่เสื้อผ้า โตกผลไม้ กระเช้าของขวัญ งานจักสานทุกชิ้นทำด้วยมือ ยึดความคงทนประณีต  และใน ปี 2527 สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้ริเริ่มฟื้นฟูหมู่บ้านพัฒนาอาชีพ ชาวบ้านบุทมจึงได้รับการส่งเสริมจักสานหวายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน เพื่อเสริมรายได้ให้กับครอบครัว โดยการถ่ายทอดความรู้จาก 3 ครอบครัว ขยายสู่ครอบครัวในชุมชนทุกหลังคาเรือน

ปัจจุบัน "กลุ่มหัตถกรรมหวายบ้านบุทม" มีสมาชิกเพิ่มขึ้นไม่เพียงเฉพาะบ้านบุทมเท่านั้น แต่ยังมีเครือข่ายอีก 3 ตำบล ในจังหวัดสุรินทร์ หลังจากทำเสร็จแล้วก็จะนำมาฝากขายที่กลุ่ม โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการ OTOP ผลิตสินค้าจักสานหวายจำนวน 6 กลุ่ม  รวม 510 คน มีความสามารถในการผลิตจำนวน 3,000 ชิ้น/เดือน และ 36,000 ชื้น/ปี  มีการผลิตสม่ำเสมอตลอดทั้งปี  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา




สมทรง  เผือกผล   ส.ปชส.สุรินทร์ /รายงาน

ประธานเครือข่าย OTOP สุรินทร์ ขอเชิญซื้อผ้าไหมสุรินทร์ ลวดลายหลากหลาย คงทน เงางาม เนื้อผ้าละเอียดนุ่ม ทอด้วยฝีมือประณีต หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง

นางประนอม  ขาวงาม ประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า  จังหวัดสุรินทร์ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีการทอผ้าไหมที่สวยงามและมีการทอผ้าไหมทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ในจังหวัดสุรินทร์  และเหตุผลที่ใช้ชื่อว่าผ้าไหมสุรินทร์ เพราะว่า ผ้าไหมสุรินทร์ มีลวดลายผ้าไหมที่หลากหลาย จนได้ชื่อว่า ร้อยสีพันลาย สุดยอดผ้าไหมสุรินทร์  ผ้าไหมเมืองสุรินทร์มีความโดดเด่นทั้งด้านคุณภาพคือ ความคงทน ความเป็นเงางามของเส้นไหม เนื้อผ้าละเอียดนุ่ม ทอด้วยฝีมือประณีต สีไม่ตก และด้านสุนทรียภาพคือ ความงามจากลวดลายที่มีการจัดวางองค์ประกอบที่ประสานสัมพันธ์กันระหว่างโครงสร้างสีที่กลมกลืนกับลวดลายธรรมชาติ มีการตัดทอนอย่างลงตัวสอดคล้องกับรูปแบบของผ้า ความลงตัวที่พอดีเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาที่ผ่านการสั่งสมประสบการณ์มาหลายชั่วอายุคน และมีการสืบทอดต่อกันมาจนเป็นภูมิปัญญาของชุมชนในการมองเห็นความงามร่วมกัน   แต่เดิมนั้นการทอผ้าไหมของชาวสุรินทร์ทำเพื่อไว้ใช้เอง และสวมใส่ในงานบุญและงานพิธีต่างๆ การทอจะทำหลังจากสิ้นสุดฤดูทำนา มิได้มีการทอเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด จนมีคำกล่าวทั่วไปว่าพอหมดหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก

ผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์มีลักษณะเด่นที่สำคัญ 4 ประการคือ ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกัมพูชา ลวดลายที่บรรจงประดิษฐ์ขึ้นล้วนมีที่มาและมีความหมายอันเป็นมงคล  ในการทอนิยมใช้ไหมน้อย ซึ่งเป็นไหมที่สาวมาจากเส้นใยภายในรังไหม มีลักษณะนุ่ม เรียบ เป็นเงางาม  นิยมใช้สีธรรมชาติ ทำให้สีไม่ฉูดฉาด มีสีสันที่มีลักษณะเฉพาะคือ สีจะออกโทนขรึม เช่น น้ำตาล แดง เขียว ดำ เหลือง  ฝีมือการทอ มีความแน่นและละเอียดอ่อนประณีต ผสมผสานลวดลายต่างๆ เข้าด้วยกัน แสดงถึงศิลปะอันงดงาม  ผ้าไหมสุรินทร์มีจำนวนหลากหลาย  เช่น  ผ้าไหมลายยกทองโบราณ  ผ้าไหมลายมัดหมี่โฮลหรือราชินีผ้าไหมสุรินทร์  ผ้าไหมลายมัดหมี่  ผ้าไหมลายโสร่ง/ผ้าขาวม้าหางกระรอก  ผ้าไหมลายยกดอก  ผ้าไหมลายลูกแก้ว

สนใจสั่งซื้อ  สอบถามรายละเอียดที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ  และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์




สมทรง  เผือกผล   ส.ปชส.สุรินทร์ /รายงาน

จ.สุรินทร์เลือกผ้าไหมสุรินทร์ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ และจักสานหวายเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นของจังหวัด

นายกสิณ  นวลโคกสูง  พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า ในปี 2556 กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดให้มีการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น จังหวัด (Provincial Star OTOP : PSO) ปี พ.ศ. 2556  เพื่อคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางการตลาดแก่ผลิตภัณฑ์ OTOP และนำผลิตภัณฑ์เด่นเข้าสู่กระบวนการส่งเสริมและพัฒนา  ซึ่งในปี  2549  จังหวัดสุรินทร์ได้เคยมีการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นของจังหวัด 3 ผลิตภัณฑ์  ได้แก่ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์  ผ้าไหมยกทองโบราณ  และผ้าไหมมัดหมี่โฮล

พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์  กล่าวว่า  ในปี 2556 ทุกจังหวัดจะต้องพิจารณาคัดเลือกผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดจากผลิตภัณฑ์ 5 ประเภท  ได้แก่ ประเภทอาหาร ประเภทเครื่องดื่ม ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย  ประเภทของใช้/ ของตกแต่ง/ของที่ระลึก ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งคณะกรรมการฯได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นจังหวัดสุรินทร์ จากผลิตภัณฑ์เด่นของ 17 อำเภอ ผลการคัดเลือก เป็นดังนี้  อันดับหนึ่งผ้าไหมสุรินทร์  อันดับสองข้าวหอมมะลิสุรินทร์  และอันดับสามจักสานหวาย




สมทรง  เผือกผล   ส.ปชส.สุรินทร์ /รายงาน

เวที “พูดจาหาทางออกประเทศไทย” จังหวัดสุรินทร์ เรียกร้องให้เคารพเสียงส่วนใหญ่ เคารพกติกา ตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม และสื่อต้องมีความเป็นกลาง ระบุความเป็นธรรมทำให้สังคมเป็นสุข

จังหวัดสุรินทร์ได้จัดเวที “พูดจาหาทางออกประเทศไทย” 2  เวที  ระหว่างวันที่  22-23  มิถุนายน  2556  ที่ห้องประชุมโรงแรมเพชรเกษม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์   เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกประเทศไทย โดยมี ผศ.กฤษณา วงษาสันต์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์เป็นหัวหน้าคณะวิทยากร พร้อมด้วยคณะวิทยากรกระบวนการจากจังหวัดบุรีรัมย์และศรีสะเกษ ร่วมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งบรรยากาศการจัดเวทีทั้ง  2  เวที เป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนจากทุกภาคส่วนร่วมเวทีกว่า  1,600  คน

โดยคณะวิทยากรได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเวที “พูดจาหาทางออกประเทศไทย” ทั้ง 2  เวที  ได้เสนอความคิดเห็น ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ประชาชนสุรินทร์ไม่ใช่คู่ขัดแย้งแต่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งโดยตรง  เนื่องจากคู่ขัดแย้งมีการสร้างกลุ่มเพื่อรักษาอำนาจของกลุ่มตนเอง ในขณะที่สังคมมีความหลากหลายทางความคิด มีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม  การไม่ยอมรับกติกา  ปัญหาระบบอุปถัมภ์  ความไม่เป็นธรรมทางกฎหมาย  การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง   ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเศรษฐกิจ  ปัญหาสื่อเลือกข้างและขาดการควบคุม  การแอบอ้างสถาบันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง  เป็นต้น

ส่วนทางออกที่แต่ละกลุ่มนำเสนอ ได้แก่ นักการเมืองต้องมีคุณธรรม  เคารพเสียงส่วนใหญ่  เคารพกติกา  ยอมรับความเห็นของประชาชนและความคิดเห็นที่แตกต่าง ผู้นำชุมชนควรเป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง  การดำเนินการของภาครัฐควรสอบถามความต้องการของประชาชน  ประชาชนควรมีการรวมกลุ่มเพื่อให้มีอำนาจต่อรอง  ส่วนการบัญญัติกฎหมายต้องมีความชัดเจน  ไม่ต้องมีการตีความ  ต้องตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม  ควรมีการปฎิรูปสื่อให้มีความเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และย้ำว่าความเป็นธรรมทำให้สังคมเป็นสุข




สมทรง  เผือกผล   ส.ปชส.สุรินทร์ /รายงาน

จังหวัดสุรินทร์รวมพลกว่า 1000 คน เวทีประชาเสวนาหาทางออกประเทศไทยวันที่ 2 เป็นไปอย่างคึกคัก

วันนี้ (23 มิ.ย.2556) ที่โรงแรมเพชรเกษม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้จัดเวทีประชาเสวนาหาทางออกประเทศไทย  เวทีที่ 2 โดยมี ผศ.กฤษณา  วงษาสันต์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์เป็นหัวหน้าคณะวิทยากร พร้อมด้วยคณะวิทยากรกระบวนการจากจังหวัดบุรีรัมย์และศรีสะเกษ ร่วมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งบรรยากาศการจัดเวทีในวันนี้เป็นวันที่ 2 เป็นไปด้วยความคึกคัก เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมเวทีซึ่งเป็นตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ จากเขตเลือกตั้งที่ 5 - 8  จำนวนกว่า  1,000 คน โดยมี นายพิภพ  ดำทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสังเกตการณ์
สำหรับการจัดเวทีประชาเสวนาหาทางออกประเทศไทยของจังหวัดสุรินทร์ กำหนดจัดขึ้น 2 เวที เพื่อพูดจาหาทางออกประเทศไทย  ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2549 – 2553 นำมาซึ่งการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ความสูญเสียทางวัตถุ ทรัพย์สิน สถานที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง ประชาชนไม่สามารถพูดคุยเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองการเมืองกันได้ทั่วไป

การเสวนาในครั้งนี้  เพื่อต้องการเปิดพื้นที่หรือสร้างช่องทางให้ประชนได้สื่อสาร  ทำความเข้าใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งแสวงหาทางออกร่วมกัน  การรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอันเป็นช่องทางในการลดความไม่ไว้วางใจกัน สร้างความประนีประนอมต่อกัน นำไปสู่ความเข้าร่วมกันเพื่ออยู่ในสังคมเดียวกันได้อย่างสันติสุข เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกประเทศไทย สร้างความเข้าใจร่วมกันของสังคมต่อแนวทางหาทางออกประเทศไทย และหาข้อเสนอที่สร้างสรรค์ในการยุติความขัดแย้งในสังคม โดยมีการถ่ายทอดเสียงทาง สวท.สุรินทร์ ระบบ F.M.93.5 MHz. และวิทยุชุมชนให้ประชาชนได้รับฟังตลอดการจัดกิจกรรมด้วย




กัญญรัตน์ เกียรติสุภา ส.ปชส.สุรินทร์ /รายงาน