วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

กาฬสินธุ์ประกาศผลการประกวดและตัดสินผลงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน กม.

นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เปิดเผยว่า ตามที่กรมการปกครองได้จัดให้มีโครงการประกวดผลงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ในหมู่บ้านที่มีผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ดีเด่น (A) ระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2556 ขึ้นเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) นั้น คณะกรรมการพิจารณาตรวจผลงานและตัดสินการประกวดผลงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ดีเด่น (A) ระดับจังหวัด ได้ออกตรวจผลงานแล้วผลปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศได้แก่ บ้านคำเมย หมูที่ 5 ตำบลนาบอน อำเภอคำม่วง และบ้านดอนหัน หมู่ที่ 13 ตำบลโพนงาม อำเภอกมลาไสย รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ บ้านนิคมหนองบัว หมู่ที่ 5 ตำบลหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง และบ้านดงสวาง หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยโพธิ์ อำเภอเมือง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ บ้านโนนทัน หมู่ที่ 13 ตำบลดงพยุง อำเภอดอนจาน และบ้านหนองลุมพุก หมู่ที่ 8 ตำบลหัวงัว อำเภอยางตลาด

รางวัลชมเชยได้แก่ บ้านโนนสามัคคี หมู่ที่ 4 ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ บ้านม่วงไข่ หมู่ที่ 5 ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง บ้านท่าคันโท หมู่ที่ 5 ตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท บ้านป่าหวาย หมู่ที่ 13 ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย บ้านหนองอิดุม หมู่ที่ 6 ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอสมเด็จ บ้านจันทร์ส่องหล้า หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยเม็ก อำเภอห้วยเม็ก บ้านโนนเที่ยงศิริมงคล หมู่ที่ 15 ตำบลนามน อำเภอนามน และบ้านสมสะอาด หมู่ที่ 2 ตำบลสมสะอาด อำเภอกุฉินารายณ์



สุวรรณ ศรีอาภรณ์ / ข่าว

กระทรวงพลังงานสัมมนาการปรับราคาก๊าซแอลพีจี LPG ก้าวที่กล้าพลังงานไทยครั้งที่ 6 ที่ขอนแก่น

ในวันนี้ (10 กันยายน 2556) ที่โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ขอนแก่น นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและพลังงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนา ปรับราคาก๊าซLPG ก้าวที่กล้าพลังงานไทย ครั้งที่ 6 ที่จังหวัดขอนแก่น โดยมีนายบัญชา ชุมชัยเวทย์ พิธีกรชื่อดังช่อง 3 เป็นพิธีกรดำเนินรายการ กระทรวงพลังงานลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือชี้แจงมาตรการปรับราคากาซแอลพีจีภาคครัวเรือน กระตุ้นประชาชนเข้าใจขั้นตอนการลงทะเบียน ยันร้านค้าก๊าซภาคอีสานพร้อมให้บริการผู้มีสิทธิซื้อก๊าซราคาเดิมอย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มประชาชนที่มีสิทธิ์ซื้อก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนไม่มาลงทะเบียนจึงจำเป็นต้องเร่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้ถึงขั้นตอนการลงทะเบียน ล่าสุดกระทรวงพลังงานมาที่ขอนแก่นแต่ละครั้งจะมีรศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต และรศ สุขุม นวลสุกล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาเป็นวิทยากรให้ข้อมูลรายละเอียดขั้นตอนการลงทะเบียนสิทธิ์แบบเข้าใจง่ายแก่ประชาชน ทั้งนี้ผู้ที่มีสิทธิ์ซื้อก๊าซในราคาเดิมที่ 18.13 บาท/กิโลกรัม คือกลุ่มผู้ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้และใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 90 หน่วย กลุ่มร้านค้าหาบเร่ แผลงอยอาหาร ผู้ที่ตกสำรวจสามารถขอใช้สิทธิ์ได้ฯ สำนักงานเขต เทศบาล และสำนักงานพลังงานจังหวัดตามที่อยู่ของท่าน ส่วน ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยก็ลงทะเบียนที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานการค้าภายในจังหวัด สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด สามารถสอบถามสิทธิ์ได้ที่ 0-2140-7000,02129-3344 หรือ www.lpg4u.net ต้อนนี้ร้านค้าขอนแก่นพร้อมให้บริการแล้ว ส่วนการปรับราคาก๊าซนั้นรัฐบาลขึ้นราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 ปรับขึ้น เดือนละ 50 สตางค์/กิโลกรัม จนถึงราคา 24.82 บาท/กิโลกรัม ในเดือนตุลาคม 2557

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เปิดเผยกับสื่อมวลชนขอนแก่นว่าอยากให้สื่อช่วยประชาสัมพันธ์การลงทะเบียน ผ่านทางสถานีวิทยุชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ เป็นไปตามเป้าหมาย ล่าสุดราคาก๊าซLPG –เวียดนาม 59บาท/กิโลกรัม ลาว 49 บาท/กิโลกรัม กัมพูชา 45 บาท/กิโลกรัม พม่า 34 บาท/กิโลกรัม อินโดนีเซีย 23 บาท/กิโลกรัม มาเลเซีย 20 บาท/กิโลกรัม ไทย 18.13 บาท/กิโลกรัม การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ของไทย 41 % ใช้ภาคครัวเรือน 35 % ปิโตรเคมี 14 % รถยนต์และ 8 % ภาคอุตสาหกรรม และสามารถลงทะเบียนได้ต่อเนื่อง




นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ข่าว/พิมพ์
ส.ปชส.ขอนแก่น 

กรมชลประทานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ

กรมชลประทานเดินหน้า สร้างความเข้าใจภาคประชาชนที่อาจยังไม่เข้าใจการทำงานภาครัฐและผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั้งหมด หลังผ่านขั้นตอนนี้ คาดว่าจะสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้

นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจ.ชัยภูมิ เปิดโครงการอบรมหลักสูตรการฝึกปฏิบัติการการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำชีบนตอนบน จ.ชัยภูมิ สำหรับอาสาสมัครชลประทาน เป็นรุ่นที่ 1 จำนวน 100 คน ณ โรงแรมทรัพย์มณีรีสอร์ท อ.เมืองชัยภูมิ ระหว่างวันที่ 9- 11 กันยายน 2556 ซึ่งนายมณชัย สวัสดิวารี ผู้จัดการโครงการชลประทานจ.ชัยภูมิ ร่วมกับชลประทาน เขต6 จัดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจ แก่ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบในพื้นที่จากการสร้างเขื่อน หลังรัฐบาลเห็นชอบในหลักการ และอนุมัติงบประมาณ ผ่าน กบอ. ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ 4 แห่ง ได้แก่ โปร่งขุนเพชร ในเขตอ.หนองบัวระเหว และอ.เทพสถิต มูลค่าการก่อสร้าง รวมค่าชดเชยที่ดิน 2 พัน 200 ล้านบาท, เขื่อนยางนาดี เขตรอยต่ออำเภอหนองบัวระเหว และอ.บ้านเขว้า มูลค่า 2 พัน700 ล้านบาท, เขื่อนลำสะพุงเหนือ ในเขตอ.หนองบัวแดง มูลค่า 2 พัน 700 ล้านบาท และที่เขื่อนชีบน อ.หนองบัวแดง อีกกว่า 5 พันล้านบาท

นายมณชัย สวัสดิวารี ผู้จัดการโครงการชลประทานจ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุดขณะนี้ ทราบว่า กบอ.ได้ถอน โครงการโปร่งขุนเพชร และโครงการลำสะพุง ออกไปแล้ว เหลือเฉพาะ โครงการยางนาดี กับโครงการชีบน กรมชลประทานจึงรับโครงการโปร่งขุนเพชร เข้ามาดำเนินการต่อ โดยใช้งบประมาณของกรมชลประทานเอง สรุปแล้ว ยังอยู่ ใน ความรับผิดชอบ ของ กบอ. จำนวน 2 โครงการ คือโครงการยางนาดี กับโครงการชีบน ขณะนี้ อยู่ระหว่างสร้างความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ ในส่วนของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ รวม 3 แห่ง คือ โปร่งขุนเพชร ยางนาดี และชีบน ส่วนลำสะพุง ก็กำลังศึกษาเพิ่มเติม เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา เนื่องจากมีพื้นที่น้ำท่วม ในเขตป่าอนุรักษ์ 1,100 ไร่ และในเขตป่าเศรษฐกิจ 1,000 ไร่ ถ้ากรมป่าไม้อนุญาต ให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ ก็สามารถดำเนินการก่อสร้างได้เลย

ด้านนายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาชัยภูมิเสียโอกาสไปมากพอแล้ว มีงบประมาณแต่ไม่สามารถดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำได้ ทำให้ชัยภูมิซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำชี ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง และน้ำท่วมในช่วงน้ำหลาก พืชผลทางการเกษตร ได้ผลไม่เต็มเม็ด เต็มหน่วย ประชากรซึ่งหลักๆ มีอาชีพทำนา ทำไร่อ้อย มันสำปะหลัง พริก ยางพารา มีรายได้ตกต่ำ เมื่อเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง ถึงเวลาแล้ว ที่ชาวชัยภูมิมุกภาคส่วน จะต้องรวมพลัง รวมจิตใจ ผลักดันให้เกิดการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ให้ได้ พบเห็นการฉวยโอกาส หรือทำให้เราเสียโอกาส ต้องช่วยกันต่อต้าน แก้ไข ไม่ใช่นิ่งดูดาย ปล่อยให้คนอื่น เข้าแสวงหาผลประโยชน์ โดยมิชอบ แล้ทิ้งความยาก ลำบากให้กับคนชัยภูมิ เจ้าของพื้นที่ เช่น กรณีการสร้างหมู่บ้านผี เป็นต้น หากมีเจตนาแอบบแฝงเรายอมไม่ได้



สุระพงค์ สวัสดิ์ผล /ข่าว

อบจ.ชัยภูมิ เร่งพัฒนาบทบาทสตรี

องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ สนับสนุนให้องค์กรพัฒนาสตรี มีขีดความสามารถ ด้านการบริหารจัดการกองทุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อ 10 กันยายน 2556 นายมนตรี ชาลีเครือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ จัดฝึกอบรมความรู้แก่คณะกรรมการกองทุนบทบาทสตรีระดับจังหวัด และสมาชิกณระดับตำบลทั้ง 16 อำเภอ 124 ตำบล จำนวน 680 คน ที่ โรงแรมชัยภูมิปาร์ค สนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นที่จะทำงานร่วมกับองค์กรสตรี ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ เป็นการเปิดโอกาสให้สตรีทุกพื้นที่ ทุกชุมชน เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาสตรีทุกคน โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรสตรีต่างๆ ในการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในระยะนี้ องค์กรสตรียังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในขั้นตอน กระบวนการทำงานร่วมกัน จึงร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชัยภูมิ จัดงานครั้งนี้ขึ้น


นายมนตรี ชาลีเครือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า อบจ.ชัยภูมิ พร้อมให้การสนับสนุน การพัฒนาบทบาทสตรี ให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยเพิ่มบทบาทให้สมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีอยู่ในทุกอำเภอ เข้าไปประสานงานกับองค์กรสตรีในพื้นที่ เพื่อรับปัญหา ความต้องการ ด้านต่างๆ ไม่ว่าสจะเป็นด้านการพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต จะได้จัดสรรงบประมาณลงไปถึงกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นเสริมจุดแข็งในแต่ละที่ ซึ่งมีความหลากหลาย เชื่อมกับนโยบายของรัฐบาล เชื่อการ ชัยภูมิจะโดดเด่น ในเรื่องของการใช้ ส.อบจ.เป็นตัวเชื่อมกับ องค์กรสตรี



สุระพงค์ สวัสดิ์ผล /ข่าว

มทส. จัดแบดมินตันเชื่อมเครือข่ายสุรนารี ครั้งที่ 2

ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัด การแข่งขันแบดมินตันเชื่อมสัมพันธ์เครือข่ายสุรนารี ครั้งที่ 2 สร้างสัมพันธ์พันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชมรมแบดมินตันในจังหวัดนครราชสีมาและใกล้เคียง

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. เป็นประธานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ณ สนามแบดมินตันสุรนารีภิรมย์ สถานกีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
จังหวัดนครราชสีมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารักษ์ ธีรอำพน รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มทส. ในฐานะประธานจัดการแข่งขันฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดแข่งขันครั้งนี้ว่า "เพื่อเป็นกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกับหน่วยงานภายนอก ผ่านทางกีฬาแบดมินตัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากจำนวนชมรมแบดมินตันที่ก่อตั้งขึ้นทั้งในจังหวัดนครราชสีมาและในประเทศไทย โดยผู้ที่เล่นกีฬาชนิดนี้มีหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน และเยาวชนทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นเลิศทางด้านกีฬา และวิทยาศาสตร์การกีฬา ในการส่งเสริมให้นักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัย นักกีฬาจากหน่วยงานภายนอก และเยาวชนทั่วไป ได้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี ห่างไกลยาเสพติด การใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา รวมถึงเป็นการคัดเลือกนักกีฬาของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมฝึกซ้อมเพื่อเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าทำการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยและกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การแข่งขันครั้งนี้มีชมรมแบดมินตันจาก มทส. ชมรมแบดมินตันภายในจังหวัดนครราชสีมาและใกล้เคียง เข้าร่วมการแข่งขัน รวม 12 ทีม ได้แก่ มทส. (A) มทส. (B) ม.วงษ์ชวลิตกุล ค่ายสุรนารี (ไร้สังกัด 1) ค่ายสุรนารี (ไร้สังกัด 2) สีมา สีคิ้ว SSKRU & SUT BADMINTON TEAM (A) SSKRU & SUT BADMINTON TEAM (B) ม.มหาสารคาม (A) ม.มหาสารคาม (B) และ Khonkaen Stars โดยเป็นการแข่งขันประเภททีมรวม ใน 1 ทีม ประกอบด้วย ประเภทคู่ 5 ประเภท คือ คู่ทั่วไป คู่ผสมทั่วไป คู่ทั่วไปอายุรวม 60 ปีขึ้นไป คู่ทั่วไปอายุรวม 70 ปีขึ้นไป และคู่ทั่วไปอายุรวม 80 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ มีการแข่งขันแบดมินตันคู่พิเศษระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอกอีกด้วย

จังหวัดนครราชสีมา จัดกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลำตะคอง สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี




จังหวัดนครราชสีมาจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศล



จังหวัดนครราชสีมา รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแล้ว ระหว่างวันที่ 4 –30 กันยายน 2556

ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า จังหวัดนครราชสีมา รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทุกรายที่มีพื้นที่ปลูกอยู่ในจังหวัด เกษตรกรสามารถแจ้งความจำนงได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่

นายบุญถิ่น เดชสูงเนิน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเป็นเงินสดอัตราไร่ละ 1,260 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา

สำนักงานเกษตรจังหวัดได้ประชุมเกษตรอำเภอชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแล้ว โดยการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในพื้นที่มาขึ้นทะเบียนเกษตรกร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 4 – 30 กันยายน 2556 โดยเกษตรกรหัวหน้าครัวเรือนหรือมอบอำนาจให้สมาชิกที่มีชื่ออยู่ในครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร(ทบก.)กับเกษตรอำเภอไว้แล้ว นำเอกสารหลักฐานประกอบด้วย ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน หลักฐานเอกสารสิทธิ์ที่ทำกินตามกฎหมายพร้อมสำเนา ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรรับขึ้นทะเบียนทุกแปลงทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์และพื้นที่นอกเหนือเอกสารสิทธิ์ จากนั้นคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดยางพารา จะออกตรวจสอบพื้นที่ปลูกยางพารา เกษตรอำเภอจะออกใบรับรองให้เกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดยางพารา และเกษตรกรจะนำใบรับรองไปขอขึ้นเงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์

ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) จังหวัดนครราชสีมา

วันนี้ (10 ก.ย. 56) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) จังหวัดนครราชสีมา นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

การประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามและสรุปผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2556 พร้อมทั้งกำหนดแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการ ฝึกอาชีพ ประจำปีงบประมาณ 2557 ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแรงงานและประสานการฝึกอาชีพแห่งชาติ 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย พัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ/มาตรฐานฝีมือแรงงาน. พัฒนาฐานข้อมูลด้านแรงงาน จัดทำแผนการพัฒนากำลังคน บริหารจัดการเครือข่ายการพัฒนาแรงงาน และการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเตรียมตัวรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีใน ASEAN ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 ทิศทางการพัฒนาฝีมือแรงงานมีแผนงาน แนวทางการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงานจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านภาษาให้แก่แรงงานไทยรองรับประชาคมอาเซียน และโครงการคลีนิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่เพื่อพัฒนาผลิตภาพแรงงาน

จังหวัดนครราชสีมา จัดสรรเงินรางวัลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

วันนี้ (10 ก.ย. 2556) เวลา 10.00 น. คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรเงินรางวัลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2556 ของที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมา สถานที่ห้องประชุมอำเภอเมืองนครราชสีมา ชั้น 3

นายประภาส รักษาทรัพย์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา ประธานการจัดสรรเงินรางวัลให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำกล่าวว่า การจัดสรรเงินรางวัลจะต้องโปร่งใสเป็นธรรม ไปตามเจนนารมณ์ของการจัดสรรสิ่งจููงใจ และสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่จังหวัดนครราชสีมากำหนด และที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเจ้าภาพหลักดำเนินการขับเคลื่อนตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ตัวชี้วัดที่ 2.2 ระดับความสำเร็จของการบริหารจัดการเพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน) ตัวชี้วัดที่ 3.2 ระดับความสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และตัวชี้วัดที่ 6 ระดับความสำเร็จของการพัฒนาศูนย์บริการร่วมหรือเคาน์เตอร์บริการประชาชน

ปลัดจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ทำการปกครองจังหวัด รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลัก จำนวน 3 ตัวชี้วัด เพื่อเป็นการประหยัดเวลา และเพื่อให้เป็นไปตามกำหนดการของจังหวัด จึงพิจารณาจัดสรรเงินรางวัลทั้ง 3 ตัวชี้วัด โดยพิจารณาเรียงตามลำดับตัวชี้วัดเป็นวาระไป และมีคณะกรรมการผู้มีหน้าที่พิจารณาแต่ละตัวชี้วัด เป็นคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรเงินรางวัลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

จังหวัดสุรินทร์อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน 1,142,200 บาท และอนุมัติเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลจำนวน 76 กองทุน

พระมหาวีระ  กิตติวัณโณ  ประธานเครือข่ายกองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ได้จัดประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ 9 กันยายน 2556 ที่ห้องประชุมสุรินทร์ภักดี  ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์  เพื่อสรุปรายงานผลการดำเนินงานการจัดสวัสดิการชุมชนรอบ ปี 2556 โดยผู้แทน 4 เขตพื้นที่ได้แก่  เขตพื้นที่แม่มูลทุ่งกุลา ประกอบด้วย อำเภอจอมพระ  ท่าตูม  รัตนบุรี และชุมพลบุรี   เขตพื้นที่วัฒนธรรมดั้งเดิมสุรินทร์ ประกอบด้วย อำเภอเมือสุรินทร์  ลำดวน  สังขะ  และอำเภอเขวาสินรินทร์   เขตอู่ข้าวอู่น้ำห้วยทับทัน  ประกอบด้วย อำเภอศีขรภูมิ  สำโรงทาบ  สนม  โนนนารายณ์  และเขตพื้นที่สามัคคีร่มเย็น  ประกอบด้วย อำเภอปราสาท  บัวเชด  กาบเชิง  และพนมดงรัก

จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชน ประจำปี 2556 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555- กันยายน 2556  รวม 1,142,200  บาท  รวมทั้งพิจารณาอนุมัติเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล รอบ 1 – 4 จำนวน  76 กองทุน  จากจำนวนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลที่มีสิทธิเสนอขอรับการอนุมัติเงินทั้งหมด 92 กองทุน



สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดตามการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสานของเทศบาลตำบลศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

วันนี้ (10 กันยายน 2556)  เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมสุรินทร์ภักดี  ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์  นายนิรันดร์  พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนพร้อมคณะ  ได้เดินทางไปตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน ของเทศบาลตำบลศีขรภูมิ  จังหวัดสุรินทร์ งบประมาณ 59 ล้านบาท  ซึ่งก่อสร้างบริเวณที่ทิ้งขยะเดิม โดยมีการทำบันทึกข้อตกลง หรือ ทำ MOU ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 24 แห่ง ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอศีขรภูมิ 16  แห่ง  อำเภอสำโรงทาบ  5 แห่ง  และอำเภอศรีณรงค์  3 แห่ง

ทั้งนี้ การก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน ของเทศบาลตำบลศีขรภูมิ  จะมีการกำจัดขยะแบบผสมผสานโดยมีการระบบคัดแยกขยะเป็นขยะรีไซเคิลร้อยละ 20  ระบบการทำปุ๋ยหมักร้อยละ 60 ระบบการฝังกลบร้อยละ 20  ผลผลิตปุ๋ยจากขยะมูลฝอยคาดว่าจะมีมูลค่า 1,000 บาท ต่อตัน  ตลอดโครงการ 20 ปี คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 70,166 ตัน คิดเป็นมูลค่าการขายปุ๋ยเป็นเงิน 70 ล้านบาท  ภายหลังดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ  จะมีมาตรการตรวจสอบปีละ 2 ครั้ง ในช่วง 3-5 ปี แรก  และหลังจากนั้นจะมีมาตรการตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นเวลา  10 -20 ปี

อย่างไรก็ตาม  นายพิภพ สงครามพล  กำนันตำบลยาง  อำเภอศีขรภูมิ  ได้ร้องเรียนให้เทศบาลศีขรภูมิ ยุติโครงการ  และให้หาที่ทิ้งขยะใหม่ เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน โดยอ้างว่าสถานที่ดังกล่าวใกล้ชุมชน  สถานที่ราชการ วิทยาลัยการอาชีพศีขรภูมิ  โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย  โรงพยาบาลศีขรภูมิ  ปราสาทหินศีขรภูมิ    สารพิษจากขยะมูลฝอยไหลซึมลงแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำลำพอก  ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ชุมชนใช้ในการอุปโภค - บริโภค  เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา  มีแมลงวันรบกวน  และเป็นแหล่งพาหะโรค ก่อให้เกิดผลเสียต่อทัศนียภาพโดยรวมของชุมชน   และการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยดังกล่าวเป็นการนำขยะมูลฝอยจากแหล่งอื่นมาทิ้งในเขตเทศบาลตำบลศีขรภูมิ  ทำให้ชุมชนได้รับผลกระระทบ  จึงเสนอให้ย้ายสถานที่ก่อสร้าง  และยกเลิกการทำบันทึกข้อตกลงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  24  แห่ง  ให้แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการขยะด้วยตนเอง  ทั้งจากการหารือร่วมกัน ระหว่างส่วนราชการและผู้นำชุมชนในพื้นที่อำเภอศีขรภูมิ  ที่ประชุมเห็นร่วมกันในการให้เทศบาลตำบลศีขรภูมิดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ  ให้กำหนดเงื่อนไข กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง  24 แห่ง  รณรงค์การลดขยะโดยใช้หลัก  3 Rs ได้แก่ Reduce  Reuse  Recycle  ส่งเสริมกิจกรรมประกวดสิ่งประดิษฐ์ จากวัสดุเหลือใช้  ธนาคารขยะ  ชุมชนปลอดถังขยะ  การทำน้ำหมัก  และปุ๋ยชีวภาพ    พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจติดตามการดำเนินงาน โครงการเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต่อชุมชน

ภายหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้ว นายนิรันดร์  พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนพร้อมคณะ  ได้สรุปผลการตรวจติดตาม  โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนพิจารณาเพิ่มเติม  และให้เทศบาลตำบลศีขรภูมิ  ชลอโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน ไว้ก่อน




สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์บันทึก MOU ด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยบิลไบร์ท ประเทศกัมพูชา

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์บันทึก MOU กับมหาวิทยาลัยบิลไบร์ท ประเทศกัมพูชา ด้านการศึกษาร่วมกัน

วันที่ 10 ก.ย. 2556 ที่ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารล้านช้าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในการร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ กับ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย บิลด์ ไบรท์ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฉลอง สุขทอง รักษาการแทน คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ กับ นายชฮวน เปียรัน( Chhoun Phearun ) รองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยบิลด์ ไบรท์ ราชอาณาจักรกัมพูชา ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษา บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย ผู้ประกอบการ นักศึกษาออกฝึกประสบการณ์อาชีพ ข้อมูลทางการศึกษา ตลอดจนการวิจัย เพื่อเชื่อมโยงประสิทธิภาพทางการศึกษา ระหว่างทั้งสองสถาบันฯเป็นการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาร่วมกันในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์ทางวิชาการ ระหว่างคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรต่อไป




ประนนท์ ไม้หอม / ส.ปชส. สุรินทร์ /รายงาน