วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

มูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย มอบแว่นตาแก่ผู้สูงอายุอำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์

มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดโครงการแว่นตาผู้วัยในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ออกบริการตรวจวัดสายตาประกอบแว่นให้กับผู้สูงวัยอำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 400 ราย

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 ที่หอประชุมโรงเรียนสามชัย อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย ร่วมกับห้างแว่นท๊อปเจริญ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดโครงการ "แว่นตาผู้สูงวัยในสมเด็จพระเทพรัตนฯ” มีนายสุชาติ ต่ายทรัพย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาฬสินธุ์ ประธานในพิธีได้เปิดกรวยถวายเครื่องราชสักการะต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากนั้น คุณติรวัฒน์ สุจริตกุล ที่ปรึกษากองงานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นางเปียทิพย์ สมรส รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้แทนมูลนิธิเด็กสงเคราะห์สภากาชาดไทย, นายสุชาติ ต่ายทรัพย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันมอบแว่นสายตาให้กับผู้สูงวัยที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

นางเปียทิพย์ สมรส รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นว่าหากผู้สูงวัยต้องเลี้ยงดูเด็กกำพร้า หรือต้องเลี้ยงหลานแต่ตามองไม่เห็นชัดเจนก็จะเป็นอุปสรรคต่อการดูแลสมาชิกในครอบครัว และการประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงตนเอง ดังนั้น มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย ร่วมกับ ห้างแว่นท๊อปเจริญ จึงได้จัดทำโครงการแว่นสายตาผู้สูงวัยในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 เพื่อช่วยเหลือตรวจวัดแว่นสายตาประกอบแว่นให้กับผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปที่ยากไร้ ด้อยโอกาส อยู่ในถิ่นทุรกันดาร สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ ทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 3 จังหวัดกาฬสินธุ์  ได้พิจารณาคัดเลือกผู้สูงวัยในพื้นที่อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้บริการผู้สูงวัยในพื้นที่อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 400 คน เข้ารับบริการดังกล่าว




ดวงใจ หงษ์จันทร์ / ข่าว

ศพทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ถูกนำกลับมาบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดจังหวัดขอนแก่น

ปลัดจังหวัดขอนแก่น นำข้าราชการ ,ทหาร, ตำรวจ ประชาชน รับศพทหารที่เสียชีวิตจากการมาบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดจังหวัดขอนแก่น

เมื่อเวลา 15.50 น. วันนี้ (18 กันยายน 2556) ที่ท่าอากาศยานขอนแก่น นายเสน่ห์ นนทโชติ ปลัดจังหวัดขอนแก่น ได้เป็นประธานนำข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ เดินทางไปรอรับศพพลทหาร ธาริน ปิสิน ทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 8 อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ที่เสียชีวิตขณะไปปฏิบัติหน้าที่ที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 1   กันยายน 2556 ที่ผ่านมา          

โดยศพของพลทหาร ธาริน ปิสิน จะถูกนำกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าอภัยวัน บ้านทุ่ม หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านเกิดก่อนที่จะจัดให้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพต่อไป


ตามข่าว เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (18 ก.ย.) ที่วัดสุวรรณากร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พล.ต.เบญจรงค์ เจริญพร รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานรดน้ำศพ พลทหารธาริน ปิสิน อายุ 23 ปี สังกัด ร้อย ร.8032 ฉก.ปัตตานี 21 ที่ถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดขณะเดินทางด้วยรถยนต์ยูนิม็อก เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่งานมวลชนสัมพันธ์ที่ ม.5 บ.ตูปะ ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จนได้รับบาดเจ็บสาหัส และพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 กันยายน โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นยังทำให้ทหารเสียชีวิตก่อนแล้ว 2 นาย และได้รับบาดเจ็บ 3 นาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา


สมพงษ์ ปัตตานี/ข่าว

จังหวัดขอนแก่น จัดพิธีลงนามถวายพระพร และจัดนิทรรศการ “100 ปี สังฆราชา” ที่ห้องโถงศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ชั้น 1

จังหวัดขอนแก่น จัดสถานที่ลงนามถวายพระพรและนิทรรศการสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ณ ห้องโถงศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เปิดโอกาสให้ประชาชนลงนามถวายพระพร

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้นำหัวหน้าส่วนราชการ ,เจ้าหน้าที่กล่าวถวายพระพร ลงนามถวายพระพร และชมนิทรรศการสมเด็จพระสังฆราช "100 ปี สังฆราชา”
ณ ห้องโถงชั้นล่าง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ศูนย์ราชการจังหวัดขอนแก่น เมื่อเช้าวันนี้ (18 กันยายน 2556 ) ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดขอนแก่นจัดขึ้น

นายบัญชายุทธ นาคมุจลินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า  ในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลกที่ประเทศไทย เป็น 1 ใน 2 ประเทศในโลกที่มีสมเด็จพระสังฆราช คือ ไทย และกัมพูชา ตลอดระยะเวลา 86 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจในการส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เกิดความมั่นคงในประเทศไทยและนานาชาติ จนได้ชื่อว่า เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก รัฐบาลได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นทั่วประเทศ ในส่วนของจังหวัดขอนแก่น สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น และสมัชชาชาวพุทธจังหวัดขอนแก่น ได้จัดพิธีถวายพระพรและนิทรรศการสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อเฉลิมฉลองที่พระองค์ท่านทรงเจริญพระชันษา 100 ปี และเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณที่ทรงปฏิบัติศาสนกิจมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน พุทธศาสนิกชน ได้มาลงนามถวายพระพรที่บริเวณห้องโถงชั้นล่าง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ศูนย์ราชการจังหวัดขอนแก่น




สมพงษ์ ปัตตานี/ข่าว

โครงการเพิ่มรายได้ชาวไร่อ้อยปลูกข้าวหลังเก็บเกี่ยวตออ้อยในจังหวัดขอนแก่นนำร่อง 6 อำเภอ

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นกล่าวในรายการผู้ว่าพบประชาชน วันที่ 18 กันยายน 2556 ว่าจังหวัดขอนแก่นจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวไร่หลังรื้อตออ้อย ที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง การจัดงานครั้งนี้เป็นการให้ความรู้กับเกษตรกรที่ปลูกอ้อยครบ 3 ตอหลังรอปลูกอ้อยอีกรอบก็พักดินไว้โดยการปลูกข้าวไร่เพื่อเพิ่มรายได้ซึ่งจะต้องปลูกช่วงเดือนมิถุนายน และเก็บเกี่ยวปลายเดือนตุลาคมจากนั้นก็ทำการปลูกอ้อยได้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีก เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มรายได้ชาวไร่อ้อยโดยการปลูกข้าวไร่เป็นความคิดของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นที่เห็นว่าการทำไร่อ้อยโรงงานหลังอ้อยครบสามตอจะมีเวลาการพักแปลงประมาณ 6 เดือนซึ่งอยู่ในช่วงหน้าฝนจึงได้ประสานกรมการข้าวนำข้าวไร่มาให้เกษตรกรปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวไร่ของจังหวัดขอนแก่นที่เป็นจังหวัดที่เพาะพันธุ์ข้าวไร่มากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทยมีการปลูกข้าวไร่นำร่องใน 6 อำเภอจาก 26 อำเภอคือ อำเภอบ้านแฮด ชนบท ซำสูง กระนวน อุบลรัตน์และอำเภอเขาสวนกวาง โดยใช้พันธุ์ข้าวสกลนครที่ผลิตที่แปลงปลูกข้าวไร่อำเภอบ้านแฮดพื้นที่ปลูกข้าวไร่แหล่งใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวไร่ของจังหวัดขอนแก่นมีประมาณ 13,000 ไร่โดยได้ผลผลิต 300-450 กิโลกรัมต่อไร่ และเกษตรกรยังมีที่จำหน่ายและโรงสีแย่งกันรับจำนำด้วยโดยปีที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ 16 -18 บาทต่อกิโลกรัมทำให้เกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังรอปลูกอ้อย รายได้หักต้นทุนแล้ว จาก 5,600 บาท เหลือ ไร่ละ 2,350 บาท/ไร่ และที่ท่าน้ำบ้านแก่งศิลา ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์โมอบพันธุ์ปลาน้ำจืดให้กับตัวแทนหมู่บ้านรอบๆเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อนำไปปล่อยในหนองน้ำสาธารณะของหมู่บ้านปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดจำนวน 6 แสนตัวลงในเขื่อนอุบลรัตน์ สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่มีหลากหลายชนิดมีเนื้อที่ 256,250 ไร่ เป็นแหล่งจับปลาสร้างรายได้ให้กับชาวประมงที่อยู่รอบเขื่อนได้ปริมาณปีละ 1,300 ตันสร้างมูลค่าได้ปีละ 65 ล้านบาท โดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ขอให้ชาวบ้านที่อยู่รอบๆเขื่อนอุบลรัตน์ ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์และทำประมงให้ถูกวิธีจะได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน






ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเปิดเผยผ่านรายการผู้ว่าพบประชาชนเรื่องเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคาราวะ

ผู้วาราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยผ่ายรายการผู้ว่าพบประชาชน เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคาราวะผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยผ่านรายการผู้ว่าพบประชาชนเช้าวันนี้ 18 กันยายน 2556 ว่า จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหัวหน้าสำนักงานจังหวัดขอนแก่น พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น รองประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น นายกสมาคมธุรกิจการโรงแรม และการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น ร่วมให้การต้อนรับ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย นายโทนี่ ลินซ์ และคณะเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2556 ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้การต้อนรับ นายโทนี่ ลินซ์ (H.E. Tony Lynch) เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทยและคณะ ในโอกาสเดินทางมาเยือนจังหวัดขอนแก่น ณ ห้องรับรองพงษ์พานิช ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยมีหัวหน้าหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ในจังหวัดขอนแก่นร่วมให้การต้อนรับด้วยในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นพร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันของจังหวัดขอนแก่นรวมทั้งของประเทศไทย ตลอดจนได้สนทนาเกี่ยวกับเรื่องทิศทางการพัฒนาและความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ กับเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทยด้วย ซึ่งเดินทางมาขอเข้าเยี่ยมคาราวะผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับจังหวัดขอนแก่นในด้านต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องการศึกษา การเรียนรู้ในด้านภาษาอังกฤษ การจัดวิทยากรมาสอยภาษาอังกฤษให้จังหวัดขอนแก่น รายการออกอกาศ 13 สถานีหลักและเคทีวี



ข่าว/พิมพ์ /นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น

ผวจ.นครราชสีมา ขอแฟนคลับวอลเลย์บอล อย่าซื้อตั๋วเกินราคา

นางชนัดดา แฮร์รีส ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า ตามที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน "วอลเล่ย์บอลหญิง อายุต่ำกว่า 18 ปี ชิงแชมป์โลก ปี 2556 ” (GIRLS’ U 18 WORLD CHAMPIONSHIP Thailand 2013) ขณะนี้ ได้รับความสนใจจากแฟนวอลเลย์บอลมากมายจนที่นั่งเต็มเกือบทุกนัดที่ทีมไทยแข่งขัน จนเป็นที่มาของปัญหาการจำหน่ายตั๋วเกินราคานั้น

ดร. วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ประชุมคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ฯ เพื่อแก้ปัญหาเมื่อบ่ายวันนี้ (18 กย.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา

สืบเนื่องมาจากทุกนัดที่ทีมไทยแข่งขันจะมีแฟนวอลเลย์บอลไปเชียรกันอย่างคับคั่ง จนทำให้มีผู้คิดหาช่องทางค้ากำไร ด้วยวิธีไปซื้อตั๋วก่อนแล้วมาเวียนเดินขายหน้าสนามเกินราคา เรียกว่าจำหน่ายในราคาแพงมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับแฟนวอลเลย์บอลเป็นอย่างมาก

ดร. วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงประชุมแก้ปัญหาเรื่องนี้ รวมทั้งการจัดรถบริการผู้ชม/ผู้เชียร โดยรับจากในเมืองไปที่สนามแข่งขัน คือ อาคารโคราชชาติชาย ฮอลล์ ใน สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม และขอแจ้งแฟนวอลเลย์บอลหญิง ชิงแชมป์เอเชีย 2013 อย่าซื้อตั๋วเวียน หรือ ตั๋วจากผู้เดินจำหน่ายหน้างานที่ขายเกินราคา เพราะเป็นการถูกเอาเปรียบ

และขอเรียนว่า หากท่านใดไปแล้วบัตรหมดก็สามารถดูและเชียรได้มันเหมือนในสนาม เพราะจังหวัดนครราชสีมา ได้ตั้งจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ไว้หน้าสนามถึง 2 แห่ง ๆ ละ 2 จอยักษ์ ทั้งด้านหน้าภายใน และภายนอกสนาม เรียกว่าดูได้เต็มอิ่มเหมือนในสนามเหมือนกัน โดยอย่าไปซื้อพวกเดินขายเกินราคา

สุดท้าย ยังย้ำอีกว่าอย่าไปสนับสนุนผู้เอาเปรียบประชาชน ส่วนผู้เอาเปรียบหาตั๋วไปขายค้ากำไร จะมีเจ้าหน้าที่แอบสังเกตพฤติกรรม หากพบการกระทำที่เอาเปรียบประชาชน จะถูกดำเนินการ

บุรีรัมย์ปล่อยปลาเนื่องในวันประมงแห่งชาติ

ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ นำข้าราชการประชาชนปล่อยปลาหนึ่งล้านตัว เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2556 เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

ที่ สระวังประหูด บ้านหนองไม้งาม หมู่ที่ 9 ตำบลหนองไม้งาม อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์เป็นประธานในพิธีปล่อยปลาหนึ่งล้านตัว เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2556 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2549 อนุมัติให้ 21 กันยายน ของทุกปี เป็นวันประมงแห่งชาติ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรสัตว์น้ำ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งส่งผลให้เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำ มีสัตว์น้ำบริโภคเพิ่มขึ้น และขอความร่วมมือจากชาวประมง และประชาชนทุกคน งดจับสัตว์น้ำทุกชนิด ในวันที่ 21 กันยายน ของทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน





สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์

ผู้ว่าบึงกาฬนำทีมออกหน่วยบริการประชาชน

วันนี้ (18 สิงหาคม 2556) เวลา 08.30 น. นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้นำหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ออกบริการประชาชนตามโครงการ "หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน” ณ โรงเรียนบ้านเหล่าทองหลาง ตำบลเหล่าทอง อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ทั้งนี้โดยมีนายชัยวัฒน์ โอชนานนท์ นายอำเภอโซ่พิสัย พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในระดับอำเภอพรเจริญทุกหน่วยงาน และ พี่น้องประชาชนชาวตำบลเหล่าทอง อำเภอโซ่พิสัย จำนวนประมาณ1,000 คน มาร่วมต้อนรับและมารับบริการต่างๆ จากหน่วยงานของจังหวัดบึงกาฬ

นายอำเภอโซ่พิสัยได้รายงานข้อมูลของอำเภอโซ่พิสัยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬรับทราบว่า อำเภอโซ่พิสัยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงไต้ของจังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่ประมาณ 98,5262ตารางกิโลเมตรอยู่ห่างจากจังหวัดบึงกาฬ 92 กิโลเมตร ประวัติความเป็นมาของอำเภอคำว่า "โซ่” หมายถึงชนเผ่าหนึ่งที่อพยพจากทางภาคเหนือของสปป.ลาว ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน ประมาณ 250 ปี โดยชนกลุ่มดังกล่าวเรียกตนเองว่าชาวโซ่หรือไทโซ่ เดิมบ้านโซ่ขึ้นตรงต่อเมืองโพนพิสัย จนสมัยรัชกาลที่ 5 บ้านโซ่ได้รับยกระดับฐานะเป็นตำบลและเป็นกิ่งอำเภอโซ่พิสัยจนปัจจุบันเป็นอำเภอโซ่พิสัย ตามลำดับ ประชากรทั้งหมดของอำเภอโซ่พิสัย 68,434 คน ชาย 36,625 คน หญิง 31,809 คน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 ตำบล 95 หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น 250,504 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำนา 92,000 ไร่ พื้นที่ปลูกยางพารา 126,000 ไร่ พื้นที่เปิดกรีดแล้ว 85,000 ไร่ จากผลการทำ SWOT analysis อำเภอโซ่พิสัย มีจุดแข็งคือ มีการปลูกพืชเศรษฐกิจยางพาราจำนวนมาก มีเงินหมุนเวียนในชุมชนจำนวนมาก ประชาชนมีความรัก ความสามัคคี และขยันขันแข็ง มีสถาบันการศึกษาในพื้นที่อย่างทั่วถึง มีกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน(OTOP) มีจุดอ่อนคือ ระบบชลประทานไม่เพียงพอ มีการบุกรุกที่สาธารณะ ขาดที่ดินทำกิน/ไม่มีเอกสารสิทธิ การคมนาคม การเดินทางและการขนส่งไม่สะดวก เกษตรกรขาดความรู้ในการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรอย่างถูกวิธี คุณภาพและมาตรฐานการเกษตรยังต่ำ โอกาสในการพัฒนาคือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพารา นโยบายส่งเสริมพัฒนาอาชีพและผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ภัยคุกคามและอุปสรรคในการพัฒนาคือ ราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ภัยธรรมชาติ ค่านิยมในการบริโภค ปัญหาการติดยาเสพติด นอกจากนี้แล้วยังได้นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนคือ ขาดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง ถนนชำรุด การเดินทาง/ขนส่งสินค้าไม่สะดวก ขาดที่ดินทำกิน/ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ การว่างงาน/การอพยพแรงงานในฤดูแล้ง ค่านิยมวัฒนธรรมประเพณี ขัดต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬรับที่จะนำปัญหาความเดือนร้อนต่างๆ ของราษฎรไปแก้ไขกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬยังได้ฝากพี่น้องราษฎรให้ร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน โดยอาศัย "แผนชุมชน” ในการเข้าจัดการภายในหมู่บ้านแผนชุมชน คือ แผนที่รวบรวมข้อมูลความต้องการ ปัญหา ทางแก้ไขที่ประชาชนทุกคนจะต้องระดมสมองคิดขึ้นมา ทุกคนต้องยอมรับว่า ในหมู่บ้านมีปัญหา และต้องหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน โดยการนำมาคุยกันในชุมชนว่า ตัวเราเองจะทำอะไรได้บ้างในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หากเกินกำลังจึงค่อยขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้โดยยึดหลักการประชาธิปไตยในการจัดทำ แผนชุมชน