วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

จ.สุรินทร์เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในช่วงฤดูแล้ง


นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดสุรินทร์มีระดับความรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง   ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน  โดยส่วนใหญ่ในพื้นที่ป่าชุมชน และไฟลามทุ่งจากการเผาตอซังข้าวของเกษตรกรเพื่อเตรียมดินในการเพาะปลูก  ขณะนี้จังหวัดสุรินทร์อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในช่วงฤดูแล้ง  และจัดทำแผนปฏิบัติการพร้อมสั่งการเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในช่วงฤดูแล้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ดังนี้  การป้องกันโดยเน้นวางมาตรการเชิงรุกไม่ให้มีการเผาในพื้นที่เสี่ยง พร้อมเร่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา  เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างเข้มข้นควบคู่ไปกับการระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วน   ในการเฝ้าระวังไฟป่า  โดยเฉพาะป่าชุมชนและไฟลามทุ่ง  การรับมือโดยให้อำเภอ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จโดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อวางแผนเตรียมการให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา  และการฟื้นฟูบูรณาการให้ทุกภาคส่วนบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากไฟป่าและหมอกควัน  และหากสถานการณ์รุนแรงให้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน


สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จ.สุรินทร์เตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรลดการทำนาปรังและปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย


นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า สภาพอากาศระยะนี้ อากาศเย็น สภาวะอากาศแห้งแล้ง ปริมาณน้ำที่เก็บกักในอ่างเก็บน้ำ  แม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาต่างๆ ที่สำคัญมีปริมาณน้ำลดลง  แต่ส่วนใหญ่สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำยังมีปริมาณน้ำมาก ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร อย่างไรก็ตามจังหวัดสุรินทร์ได้แจ้งให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง  และการจัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์  สำรวจ ซ่อม  และสร้างภาชนะเก็บน้ำประจำปี 2557  เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดเตรียมภาชนะเก็บน้ำในการสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอย่างเพียงพอ  และดูแล รักษา ซ่อม และสร้างภาชนะเก็บน้ำให้ถูกสุขลักษณะ  ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในฤดูแล้ง พร้อมทั้งการวางแผนการปลูกพืชฤดูแล้งให้เหมาะสมกับแหล่งน้ำในพื้นที่  เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค

ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าว่า ขณะนี้สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 18 แห่งของจังหวัดสุรินทร์ มีปริมาณน้ำวัดได้ 133.567 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 92.07 ของความจุอ่าง สำหรับปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง ที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำมูลระดับน้ำวัดได้ 0.92 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 5.38 ม.และลำน้ำชีน้อยระดับน้ำวัดได้ 1.63 ม. ต่ำกว่าตลิ่ง 5.27 ม. ระดับน้ำน้อยมากและแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรลดการทำนาปรังและปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่



สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จ.สุรินทร์ มีราษฎรประสบภัยหนาว 218,005 คน ต้องการเครื่องกันหนาว 204,485 ชิ้น



แจกจ่ายเครื่องกันหนาวแล้วจำนวน 15,543 ชิ้น

นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ได้เริ่มมีอากาศหนาวเย็นในบางช่วงของกลางเดือนพฤศจิกายน 2556 และมีอากาศหนาวเย็นอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2556 เป็นต้นมา โดยมีอากาศหนาวสลับอากาศอุ่น และร้อน  ซึ่งคาดว่าจะมีลักษณะเช่นนี้ไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดยในขณะนี้จังหวัดสุรินทร์ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยหนาว ครอบคลุม 17 อำเภอ 158 ตำบล 2,120 ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ สังขะ ศรีณรงค์ จอมพระ  เขวาสินรินทร์ ศีขรภูมิ ท่าตูม รัตนบุรี สำโรงทาบ ลำดวน บัวเชด กาบเชิง สนม ปราสาท โนนนารายณ์  ชุมพลบุรี และอำเภอพนมดงรัก

ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แจกจ่ายเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน  โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบททั้ง 17 อำเภอแล้วจำนวน 15,543 ชิ้น  และยังคงช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นจังหวัดสุรินทร์ยังได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวและจัดทำแผนปฏิบัติการ พร้อมทั้งแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว เพื่อเตรียมการช่วยเหลือประชาชน  การจัดเตรียมเครื่องกันหนาว การขอรับการสนับสนุนเครื่องกันหนาว ผ้าห่ม  เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภค-บริโภคตามความจำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่   รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวังอัคคีภัยจากสภาพอากาศแห้งแล้ง  และอุบัติเหตุจากการเดินทาง  เนื่องจากหลายพื้นที่มักมีหมอกเกิดขึ้น การดูแลรักษาสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ คนชรา คนพิการ เด็ก สตรีมีครรภ์  ซึ่งอาจเจ็บป่วยจากอากาศหนาวเย็น

ทั้งนี้  จังหวัดสุรินทร์ได้แจ้งให้อำเภอ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจเครื่องกันหนาวและ  ความต้องการเครื่องกันหนาว พบว่ามีราษฎรที่คาดว่าจะได้รับความเดือดร้อนจำนวน 218,005 คน ความต้องการเครื่องกันหนาว 204,485 ชิ้น  แยกประเภทได้ดังนี้  ประเภทผู้เดือดร้อน ได้แก่ สูงอายุ 101,605 คน, เด็กไร้ผู้อุปการะ 6,249 คน, คนพิการทุพพลภาพ 24,823 คน, ผู้มีรายได้น้อย 32,984 คน และผู้ประสบความเดือดร้อน 52,344 คน ชนิดของเครื่องกันหนาวที่ต้องการ ได้แก่ ผ้าห่มนวม 153,703 ชิ้น, ผ้าห่มไหมพรม 26,359 ชิ้น และเสื้อกันหนาว 24,387 ชิ้น


สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จ.สุรินทร์ เชิญชวนผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร เครือข่าย และชุมชน เข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน



นางสาวอรษา  โพธิทอง พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการส่งเสริมระบบมาตรฐานงานชุมชน  โดยใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้  และการพัฒนาตนเองของกลไกการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2548 เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นมาตรฐานการพัฒนาชุมชน และเป็นเครื่องมือในการประเมินความก้าวหน้าของการพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้อย่างจริงจังยั่งยืน โดยมีหลักการทำงานคือการมีส่วนร่วมของชุมชน ชุมชนเป็นเจ้าของ ประชาชนเป็นผู้รับประโยชน์ และชุมชนมีความสมัครใจในการพัฒนาตนเอง ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย 4 ประเภท คือ ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน และชุมชน โดยมาตรฐานผู้นำชุมชนประกอบด้วยภาวะผู้นำ 3 ด้าน คือ ด้านการบริหารตนเอง ด้านการบริหารสังคม ด้านการบริหารงาน ส่วนมาตรฐานกลุ่มองค์กรชุมชนประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ด้านโครงสร้างและกระบวนการทำงาน ด้านการบริหารเงินทุนและทรัพยากร ด้านการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กร และด้านผลประโยชน์ต่อสมาชิกและชุมชน

สำหรับมาตรฐานเครือข่ายองค์กรชุมชน ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ด้านโครงสร้างและกระบวนการทำงาน ด้านการบริหารงบประมาณและทรัพยากร ด้านขีดความสามารถของเครือข่าย และด้านผลประโยชน์ต่อสมาชิกและชุมชน และมาตรฐานชุมชนประกอบด้วย 7 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านการจัดการทรัพยากรในชุมชน ด้านสุขภาพอนามัย ด้านศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ด้านการพัฒนาคนในชุมชุน ด้านการบริหารจัดการชุมชน และด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น โดยในปี 2557 จังหวัดสุรินทร์จะพิจารณากลุ่มเป้าหมายในพื้นที่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 - 2557 ทั้ง 4 ประเภท โดยดำเนินการทุกอำเภอ ทุกอำเภอต้องดำเนินการครบทั้ง 4 ประเภท ๆ ละอย่างน้อย 1 หน่วยนับ

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่ผ่านเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชนจะส่งผลต่อการพัฒนาชุมชน  และการพัฒนาประเทศชาติ  เนื่องจากเกิดกระบวนการเรียนรู้ มีการพัฒนาศักยภาพ กลุ่ม/องค์กรชุมชน  มีการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์กรชุมชน เกิดการประสานการทำงานภายในและระหว่างเครือข่าย มีการพัฒนาศักยภาพและชุมชน เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาตนเองอย่างมีทิศทาง สามารถบริหารจัดการชุมชน โดยใช้ทุนทางสังคมของชุมชน และภาคีการพัฒนามีเครื่องมือเชื่อมประสานการทำงาน เป็นต้น ดังนั้นผู้ สนใจสมัครเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชนสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 28 มกราคม 2557


สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จ.สุรินทร์ผ่านเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน 1,609 ราย อำเภอปราสาทมากที่สุด142 ราย อำเภอลำดวนน้อยที่สุด 62 ราย



นางสาวอรษา  โพธิ์ทอง พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินงานระบบมาตรฐานงานชุมชนตั้งแต่ปี 2548 โดยมีกลุ่มเป้าหมายผ่านเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชนตั้งแต่ปี 2548-2556 รวม 1,609 ราย ประกอบด้วย ประเภทผู้นำชุมชน 1,158 ราย ประเภทกลุ่มองค์กร 192 กลุ่ม ประเภทเครือข่าย 95 เครือข่าย และประเภทชุมชน 164 ชุมชน โดยมีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบปี 2552-2556 ผ่านสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน 65 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 89 หมู่บ้าน

สำหรับอำเภอที่มีกลุ่มเป้าหมายผ่านเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชนมากที่สุดเรียงตามลำดับ ดังนี้ อำเภอปราสาท 142 ราย ศีขรภูมิ 138 ราย เมืองสุรินทร์ 132 ราย รัตนบุรี 123 ราย ชุมพลบุรี 119 ราย สังขะ 111 ราย ท่าตูม 101 ราย จอมพระ 98 ราย บัวเชด 80 ราย พนมดงรัก 78 ราย สนม 75 ราย กาบเชิง 75 ราย เขวาสินรินทร์ 72 ราย สำโรงทาบ 70 ราย ศรีณรงค์ 70 ราย โนนนารายณ์ 63 ราย และอำเภอลำดวน 62 ราย

พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายที่ผ่านเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน จะส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาประเทศชาติ เนื่องจากผู้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานงานชุมชนจะเป็นผู้นำที่สง่าผ่าเผยบนเวที และมีการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาชุมชน และสังคมไทย



สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

สภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ รุกหนักจัดฝึกอบรมวิทยากรแกนนำจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดเชื่อมโยงพัฒนาตำบลและอำเภอ


นายกอบสิน พ่อค้า ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า  พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสภาเกษตรกรจังหวัดดำเนินการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาการเกษตรกรระดับจังหวัดและระดับชาติ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย   โดยเป็นการเชื่อมโยงการทำแผนจากล่างสู่บนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด แล้วบูรณาการเป็นแผ่นแม่บทพัฒนาเกษตรกรรมแห่งชาติ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณากำหนดเป็นนโยบายและแบบแผนในการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งสาระสำคัญของแผนดังกล่าวอย่างน้อย  ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็งตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง   ด้านการส่งเสริมพัฒนาคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม การแก้ไขปัญหาดินและที่ดิน ด้านการสร้างความเป็นธรรม รักษาเสถียรภาพราคา และให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด   ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบชลประทานเพื่อเกษตรกรรม การอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการเกษตร การค้นคว้าการวิจัยและพัฒนาภูมิปัญญา พันธุกรรมพืช สัตว์ นวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสม การถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา   การแก้ไขปัญหาหนี้สินและการเข้าถึงแหล่งทุน การสร้างเครือข่ายองค์กรเกษตรกร การเชื่อมโยงและพัฒนาความร่วมมือในด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด การส่งเสริม การให้การศึกษาอบรม ถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม และด้านการจัดตั้ง   และการบริหารจัดการกองทุนต่างๆที่มีอยู่ให้สามารถรองรับและช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างครบวงจร

ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมของจังหวัดสุรินทร์  ดำเนินการบรรลุผลสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 จังหวัดสุรินทร์จึงร่วมกับสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ จัดฝึกอบรมวิทยากรแกนนำเพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลือสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ ในการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัด   เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบลและอำเภอ ทั้ง 17 อำเภอ จำนวน 50 คน โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและผู้มีส่วนร่วมได้เสีย โดยกำหนดจัดฝึกอบรมในวันที่ 20 มกราคม 2557 ณ ห้องประทุมรัตน์   ส่วนป่ารีสอร์ท ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์



สิดาพร  สำราญใจ ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว
สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / เรียบเรียง

กกต.สุรินทร์เตรียมจัดดีเจประชาธิปไตยชุมชน ในการเลือกตั้ง ส.ส.

พันตำรวจโทอุกฤษฏ์ ภู่หริย์วงศ์สุข ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์กำหนดจัดโครงการดีเจประชาธิปไตยชุมชน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ในวันที่ 23 มกราคม 2557 ณ ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์  โดยได้คัดเลือกนักจัดรายการวิทยุในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการเพื่อร่วมสนับสนุนการประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนให้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 โดยโครงการดีเจประชาธิปไตยชุมชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยสร้างสรรค์ด้วยมือเรา การสรุปแนวทางการเสวนา พร้อมมอบหมายภารกิจการประชาสัมพันธ์ข้อควรรู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เป็นต้น






สิดาพร  สำราญใจ ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว
สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / เรียบเรียง

กกต.สุรินทร์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์และออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70


พันตำรวจโทอุกฤษฏ์ ภู่หริย์วงศ์สุข ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์  กล่าวว่าตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 และได้มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และจังหวัดสุรินทร์ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจสนับสนุนและประสานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2557 จังหวัดสุรินทร์  และเพื่อสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์และคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์จึงขอความร่วมมือส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา  ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนให้ร่วมรณรงค์และออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่น้อยกว่าการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งจังหวัดสุรินทร์มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ70.76 และร่วมประชาสัมพันธ์ข้อควรรู้และข้อระมัดระวังไม่กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง   เพราะมีบทลงโทษเเละอาจถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง



สิดาพร  สำราญใจ ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว
สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / เรียบเรียง

จ.สุรินทร์เตรียมจัดอบรมมารยาทไทยงามอย่างไทยในความเป็นสากล


นายอุทัย พลพวก วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ กำหนดจัดโครงการอบรมมารยาทไทย “งามอย่างไทยในความเป็นสากล" จำนวน 2 รุ่น ๆ ละ 80 คน ระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2557 ณ ห้องกันเกรา โรงแรมทองธารินทร์ อำเมืองสุรินทร์ เพื่อให้บุคลากรที่ผ่านการอบรมมารยาทไทย ได้ถ่ายทอดมารยาทไทยให้แก่ นักเรียน นักศึกษา เยาวชนและประชาชนทั่วไป สามารถปฏิบัติมารยาทไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และมีส่วนร่วมสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ต่อไป  โดยจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของมารยาท บุคลิกภาพอย่างไทย  แบบแผนมารยาทไทยในสังคมไทย การพัฒนาบุคลิกภาพงามอย่างไทยในความเป็นสากล  มารยาทสังคมสากล มารยาทสำคัญในองค์กร  มารยาทไทยในการเป็นพิธีกร เป็นต้น



สิดาพร  สำราญใจ ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว
สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / เรียบเรียง

นายอำเภอแหวนเพชรลุยงานทันทีหลังรับตำแหน่งใหม่ เร่งแก้ปัญหายาเสพติดและอบายมุขในพื้นที่อย่างเร่งด่วน




วันนี้  (17 ม.ค.57)  ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองที อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายวัลลพ เรืองพรเจริญ นายอำเภอเมืองสุรินทร์ “นายอำเภอแหวนเพชร” ประจำปี 2556 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้นำชุมชน และผู้ประสานพลังแผ่นดิน 25 ตาสับปะรด เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้านของตนเองให้เป็นหมู่บ้านชุมชนเข็มแข็ง ชุมชนสีขาว ไม่มีผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่อำเภอเมืองสุรินทร์โดยเร่งด่วน

นายวัลลพ  เรืองพรเจริญ นายอำเภอเมืองสุรินทร์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับตำแหน่งนายอำเภอเมืองสุรินทร์แล้ว ได้เร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของชาติ ที่ทุกๆคนในสังคม ชุมชนและหมู่บ้าน จะต้องร่วมมือกันเป็นหูเป็นตาและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจ โดยเฉพาะทุกครอบครัวต้องช่วยกันระมัดระวังและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด  พร้อมกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสั่งการให้ ว่าที่ รต.เรวัต เครือบุดดีมหาโชค หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง   อำเภอเมืองสุรินทร์ ประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานตามโครงการ  25  ตาสับปะรดอย่างเร่งด่วน  และเร่งกวดขัน ปราบปรามอบายมุขในพื้นที่



สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ /ข่าว