วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ผู้แทนพระองค์ ถวายเทียนพรรษา แด่เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา

วันนี้ (29 ก.ค. 56) เวลา 08.00 น. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้แทนพระองค์ ถวายเทียนพรรษาประทาน แด่ พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ที่วัดพระนารายณ์วรวิหาร อ.เมือง จ.นครราชสีมา พร้อมกันนี้ ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ยังได้ถวายปัจจัย ที่พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมกันทำบุญ เนื่องในสัปดาห์พระพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา ที่ผ่านมา เป็น จำนวน 100,000 บาท แด่เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา อีกด้วย



29 กรกฎาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ 2556

วันนี้กูเกิลมาแปลก ปรากฏดูเดิลโชว์หราเป็นภาษาไทยเขียนคำว่า กูเกิล ตัวเบ้อเริ่มเลยทีเดียวเชียว ซึ่งสำหรับเด็ก ๆ วัยเรียนที่ในโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมหรือจัดบอร์ดทุก ๆ วันสำคัญแล้ว เชื่อว่าคงจะไม่ต้องลากเม้าส์ไปดูเฉลยก็คงรู้กันดีอยู่แล้วล่ะว่า นี่เป็นดูเดิลที่ทำขึ้นเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาตินั่นเอง กระปุกดอทคอมวันนี้ก็เลยขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับวันภาษาไทยแห่งชาติมาฝากกันหน่อย ไปดูกันดีกว่าว่าวันภาษาไทยแห่งชาตินั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรบ้าง


ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ

สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์, วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."

นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า"ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระวิริยอุตสาหะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้น ๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น

วัตถุประสงค์ในการจัดวันภาษาไทยแห่งชาติ มีดังต่อไปนี้

            1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษา ไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

            2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

            3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

            4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับ ให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

            5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชน ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ


ประโยชน์ที่คาดว่าได้รับจากการมีวันภาษาไทยแห่งชาติ

            1. วันภาษาไทยแห่งชาติ จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ "ภาษาประจำชาติ" ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ

           2. บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

           3. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ

กิจกรรมในวันนี้ ก็จะมีทั้งของสถาบันการศึกษา, หน่วยงานภาครัฐฯ และเอกชน ที่จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดนิทรรศการ,การอภิปรายทางวิชาการ, การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น

ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปให้ลูกหลานได้ศึกษา หากเราคนไทยไม่ช่วยกันรักษาไว้ สักวันหนึ่งอาจจะไม่มีภาษาไทยให้ลูกหลานใช้ก็เป็นได้




ข้อมูล : http://hilight.kapook.com/view/26275

จังหวัดนครราชสีมานำพสกนิกรร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์นพเคราะห์ สืบพรชะตา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 61 พรรษา

ที่วัดสมามิตร ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นำพสกนิกรทุกหมู่เหล่าร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ นพเคราะห์/สืบพระชะตา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 61 พรรษา เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ 61 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เห็นว่าตามโบราณประเพณีเมื่อบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือมีอายุครบปีนักษัตร หรือรอบปีที่เป็นวาระสำคัญๆ ควรที่จะได้มีการบำเพ็ญกุศลครั้งใหญ่เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลปราศจาก โรคาพยาธิ มีความเจริญรุ่งเรือง อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดีตามหลักธรรมของพุทธศาสนา จังหวัดนครราชสีมาจึงได้จัดโครงการเจริญพระพุทธมนต์นพเคราะห์/สืบพระชะตา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 61 พรรษา 28 กรกฎาคม 2556 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตลอดจนเพื่อความสุขความเจริญและความรุ่งเรืองแห่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่พุทธศาสนิกชนอันจะนำไปสู่ความสามัคคีปรองดอง ของคนในชาติต่อไป

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พัฒนาเครื่องต้นแบบระบบกำจัดขยะติดเชื้อโดยใช้เทคโนโลยีพลาสมาอาร์คฝีมือคนไทยเป็นผลสำเร็จ

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พัฒนาเครื่องต้นแบบระบบกำจัดขยะติดเชื้อโดยใช้เทคโนโลยีพลาสมาอาร์คฝีมือคน ไทยเป็นผลสำเร็จ มุ่งขยายผลสู่การนำไปใช้จริงในเชิงอุตสาหกรรม เชื่อเทคโนโลยีหากพัฒนาในประเทศจะสามารถลดต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่าง ประเทศได้มากกว่า 50 % พร้อมจับมือกับบริษัท High Temperature Technologies Corp (HTTC) จากประเทศแคนนาดา นำเทคโนโลยีพลาสมาอาร์คมาประยุกต์ใช้ในการกำจัดขยะติดเชื้อในระบบเตาผลิต ก๊าซชีวมวลเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
 

ศ.ดร. ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นประธานในการแถลงผลงานวิจัยเรื่อง การวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบกำจัดขยะติดเชื้อโดยใช้เทคโนโลยีพลาสมาอาร์ค ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี ผศ. ดร.ชาญชัย ทองโสภา ผู้อำนวยการเทคโนธานี ผศ. ดร.วีรชัย อาจหาญ รองผู้อำนวยการเทคโนธานี และคณะนักวิจัยร่วมแถลงความสำเร็จและความคืบหน้าของงานวิจัย ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า เปิดเผยว่า ผลการวิจัยในครั้งนี้แบ่งเป็นสองส่วนด้วยกัน คือ ส่วนแรกเป็นการพัฒนาเครื่องต้นแบบกำเนิดพลาสมาความร้อนสำหรับกำจัดขยะฝีมือ คนไทยเป็นผลสำเร็จ และส่วนที่สองเป็นการนำเทคโนโลยีพลาสมาอาร์คจากบริษัทชั้นนำคือ High Temperature Technologies Corp (HTTC) จากประเทศแคนนาดา มาประยุกต์ใช้ในการกำจัดขยะติดเชื้อในระบบเตาผลิตก๊าซชีวมวลเป็นแห่งแรกใน ประเทศไทย โดย มทส. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะในประเทศ ผศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา ผู้อำนวยการเทคโนธานี ในฐานะนักวิจัยผู้พัฒนาเครื่องต้นแบบระบบกำจัดขยะติดเชื้อโดยใช้เทคโนโลยี พลาสมาอาร์คฝีมือคนไทยเป็นผลสำเร็จ ได้อธิบายถึงหลักการทำงานของเทคโนโลยีพลาสมาอาร์คว่า เป็นการอาศัยหลักการปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อให้ความร้อนกับแก๊ส (เช่น ออกซิเจน ไนโตรเจน อากาศ เป็นต้น) เมื่อแก๊สได้รับพลังงานและร้อนขึ้นจึงส่งผลให้โมเลกุลของแก๊สบางส่วนแตกตัว เกิดเป็นพลังงานที่มีความร้อนสูงมาก ซึ่งมากกว่า 1,200 องศาเซลเซียส ด้วยความร้อนและอุณหภูมิที่สูงมากของแก๊สร้อนนี้ จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อกำจัดขยะติดเชื้อ หรือกากของเสียอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากคุณสมบัติการให้ความร้อนของพลาสมา ในหลายประเทศจึงได้มีการวิจัยและพัฒนาใช้ในการเผากำจัดขยะซึ่งสามารถกำจัด ขยะได้หลายรูปแบบเนื่องจากให้ความร้อนสูง และสามารถกำจัดสารพิษตกค้างในขยะได้ พลังงานที่ใช้ในการกำจัดขยะใช้เพียงพลังงานไฟฟ้าและลมเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันหรือก๊าซเชื้อเพลิงชนิดอื่น ซึ่งการกำจัดขยะนิยมเผาให้ความร้อนขยะในเตาเผาอย่างต่อเนื่องที่อุณหภูมิสูง จนขยะเปลี่ยนสภาพเป็นเถ้า โดยเถ้าที่ได้จะไม่มีสารพิษตกค้างและเป็นที่ยอมรับในสากล สามารถนำไปฝังกลบลงทะเลได้ ในหลายประเทศจึงได้มีการนำพลาสมา เผาขยะที่มีสารพิษตกค้างเช่น ขยะอุตสาหกรรม ขยะที่มีรังสีปนเปื้อน และขยะที่ติดเชื้อชนิดต่างๆ ส่วนประกอบของเครื่องกำเนิดพลาสมา สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ภาคส่วนของแหล่งจ่ายกำลัง ไฟฟ้าสำหรับทำให้เกิดเปลวพลาสมา และส่วนของอุปกรณ์เสริมที่ช่วยในการทำให้เกิดอาร์คพลาสมาขึ้นอย่างสมบูรณ์ ด้วยการกระตุ้นสัญญาณไฟฟ้าความถี่สูงแรงดันสูง แสดงในรูปที่ 3 โดยโครงสร้างดังกล่าวสามารถควบคุมอัตราการเกิดพลาสมาโดยการกำหนดกระแสไฟฟ้า เปลวพลาสมาที่ได้อยู่ตรงจุดอาร์คและมีลมเป็นตัวกลางในการเกิดพลาสมาหรืออาจ ใช้ก๊าซชนิดอื่นเป็นตัวกลางก็ได้ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการใช้งานในด้านต่างๆ ทั้งนี้ทีมนักวิจัยของ มทส. ได้พัฒนาเครื่องต้นแบบกำเนิดพลาสมาความร้อนสำหรับกำจัดขยะเป็นผลสำเร็จ โดยอุปกรณ์ต้นแบบดังกล่าวมีขนาด 1 กิโลวัตต์ และกำลังพัฒนาเครื่องต้นแบบขนาด 10 กิโลวัตต์ โดยคาดว่าจะสำเร็จภายในเดือนกันยายน 2556 นี้ ทั้งนี้ทีมงานตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะพัฒนางานวิจัยจนถึงระดับอุตสาหกรรมในขนาด 50 กิโลวัตต์ขึ้นไป ซึ่งหากทำได้จะสามารถลดต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยีพลาสมาอาร์คจากต่างประเทศ ได้มากกว่า 50 % ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วีรชัย อาจหาญ รองผู้อำนวยการเทคโนธานี หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทาง ชีวมวล มทส. ได้แถลงถึงงานวิจัยด้านการนำเทคโนโลยีพลาสมาอาร์คมาประยุกต์ใช้ในการกำจัด ขยะติดเชื้อในระบบเตาผลิตก๊าซชีวมวล ซึ่งถือว่าเป็นการนำสองเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เป็นแห่งแรกของประเทศไทยว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี พลาสมาอาร์คสำหรับการกำจัดขยะติดเชื้อ ขยะอันตราย ตลอดจนขยะมูลฝอย ที่มีความแปรปรวนทั้งด้านคุณสมบัติทางกายภาพ คุณสมบัติด้านเคมีสูง ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจาก 3 ส่วน คือ 1) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2554 1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี งบประมาณการวิจัยภายใต้สำนักงบประมาณ ปี 2555 และ ปี 2556 3) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ปีงบประมาณ 2556 โดยในขณะนี้ได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำคือ High Temperature Technologies Corp (HTTC) จากประเทศแคนนาดาโดยได้ทำการทดลองระบบดังกล่าวให้กับสื่อมวลชนสังเกตการ อย่างใกล้ชิด สำหรับงานวิจัยนี้มีความพิเศษคือ การนำเทคโนโลยีพลาสมาอาร์คมาประยุกต์ใช้ในงานด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับกำจัดขยะ ติดเชื้อ ขยะอันตราย ตลอดจนขยะมูลฝอย ที่มีความแปรปรวนทั้งด้านคุณสมบัติทางกายภาพ คุณสมบัติด้านเคมีสูง โดยกระบวนการพลาสมาอาร์คจะอาศัยหลักการปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อให้ความร้อนกับ แก๊ส (ไนโตรเจน, ออกซิเจน, อากาศ เป็นต้น) เพื่อสร้างอุณหภูมิเปลวแก๊สให้มีความร้อนสูงมากในช่วง 2,200-11,000 องศาเซลเซียส จึงสามารถกำจัดขยะติดเชื้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้นแบบฯ สามารถรองรับขยะติดเชื้อ ได้ถึง 200-300 กิโลกรัม/ชั่วโมง โดยมีอุปกรณ์หลัก คือ 1) ชุดพลาสมาอาร์ค ซึ่งประกอบด้วย หัวพลาสมา (Plasma Arc Torch) ซึ่งผลิตจากวัสดุทนอุณหภูมิสูง ชุดขั้วไฟฟ้า (Electrode) ชุดหัวฉีดแก๊ส (Gas injectors) ชุดจุดประกายไฟฟ้า (Sparker) ชุดลดอุณหภูมิของหัวพลาสมา (Water cooling system) ชุดอุปกรณ์จ่ายกระแส (Power Supply) และชุดควบคุมระบบ (Control Panel) 2) เทคโนโลยีเตาเผา ซึ่งพัฒนาขึ้นมา 2 ระบบ คือระบบเตาเผาไหม้โดยตรง (Plasma Incinerator) เพื่อกำจัดขยะติดเชื้อ ควบคู่กับการการผลิตความร้อน และระบบเตาแก๊สซิไฟเออร์ (Plasma Gasifier) เพื่อเปลี่ยนรูปสารอินทรีย์ในขยะติดเชื้อให้กลายเป็นแก๊สเชื้อเพลิงแล้วนำ แก๊สเชื้อเพลิงไปใช้ผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน ถือเป็นเทคโนโลยีการกำจัดขยะติดเชื้อควบคู่กับการผลิตพลังงานที่มี ประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผบ.มทบ.23 ตรวจเยี่ยม-ติดตามผลการดำเนินงานชมรมทหารกองหนุนจังหวัดมหาสารคาม

ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 23 ตรวจเยี่ยมสมาชิกชมรมทหารกองหนุนจังหวัดมหาสารคาม ตามโครงการติดตามและประเมินผลศูนย์ประสานงานมวลชน ปี 2556 พร้อมย้ำให้การดำเนินงานชมรมทหารกองหนุนต้องปราศจากการเมือง เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

(29-7-56) ที่หอประชุมจังหวัดมหาสารคาม พลตรีไชยพร รัตแพทย์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 23 ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสมาชิกชมรมทหารกองหนุนจังหวัดมหาสารคาม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่สมาชิกชมรมฯ ตามโครงการติดตามและประเมินผลศูนย์ประสานงานมวลชน ปี 2556 โดยมีนายยิ่งยศ ธนะจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม สัสดีจังหวัดมหาสารคาม หัวหน้าส่วนราชการ และสมาชิกชมรมทหารกองหนุนจังหวัดมหาสารคาม ร่วมให้การต้อนรับ  

ในการมาตรวจเยี่ยมครั้งนี้ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 23 ยังได้มอบนโยบายแก่สมาชิกชมรมทางกองหนุนจังหวัดมหาสารคาม ว่า ขอให้สมาชิกทุกคนดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของชมรมอย่างเคร่งครัด โดยต้องไม่นำสมาชิกไปรวมพลังทางการเมืองอย่างเด็ดขาด และที่สำคัญต้องยึดมั่นและเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์

สำหรับชมรมทหารกองหนุนจังหวัดมหาสารคาม จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 เพื่อให้เป็นศูนย์ประสานงานของสมาชิกทหารกองหนุน หน่วยงานราชการ เป็นศูนย์กลางในการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีในการสนับสนุนความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเพื่อเป็นการช่วยเหลือสวัสดิการแก่ทหารกองหนุนที่มีปัญหาได้รับความ เดือดร้อน และสงเคราะห์ช่วยเหลือเมื่อมีการเสียชีวิต ปัจจุบันมีสมาชิกจากทั้ง 13 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 3,012 นาย โดยมีพันจ่าเอกอดิศักดิ์ สมบัติคำ เป็นประธานชมรม




ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว

จังหวัดมุกดาหารเปิดงานออนซอนวัฒนธรรมสามแผ่นดินท่ามกลางสายฝนโปรยลงมาชุ่มฉ่ำ

ที่บริเวณสวนสาธารณเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก เทศบาลเมืองมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร นายสรสิทธิ์ ฤทธิ์สรไกร รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร พร้อมผู้แทนจาก ส.ป.ป.ลาว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้แทนจากเมืองกวางตรี สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นประธานเปิดงานออนซอนวัฒนธรรมสามแผ่นดิน โดยมีการแสดงประกอบแสง-เสียง ตำนานกลุ่มชนคนสองฝั่งโขง

นายปราโมทย์ ชาวเมืองโขง วัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า การจัดงานออนซอนวัฒนธรรมสามแผ่นดินในครั้งนี้ เพื่อจัดแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และเชื่อมกระชับความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ด้านการค้าและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ของกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยในงานมีการแสดงเสียง-เสียง ตำนานกลุ่มชนคนสองฝั่งโขงอย่างอลังการ การแสดงวิถีชีวิตและนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมชนเผ่าจังหวัดมุกดาหาร จำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาชนเผ่า การประกวดร้องเพลง รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลากลายมากมาย




สุภาวดี อัมไพพันธ์ ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว
พิพัฒน์ เพชรสังหาร สุระณรงค์ อ่อนสนิท/ภาพ

สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมุกดาหาร จัดประชุมชี้แจงหน่วยงาน องค์กร ในจังหวัด เตรียมตัวสมัครคัดเลือกเป็นคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.มุกดาหาร

วันนี้ (๒๙ ก.ค. ๕๖) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร นายสรสิทธิ์ ฤทธิ์สรไกร รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานการประชุมชี้แจงผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรในจังหวัด เพื่อเตรียมตัวสมัครคัดเลือกเป็นคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.มุกดาหาร ตามกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.จาก ๙ องค์กร ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย

นางสาวนุชนาถ ด้วงสงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดมุกดาหาร จึงได้จัดประชุมชี้แจงผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรในจังหวัดมุกดาหาร และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับจังหวัดมุกดาหาร กำหนดวันขึ้นทะเบียนของหน่วยงานหรือองค์กร เพื่อคัดเลือกกันเองเป็นกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.มุกดาหาร ระหว่างวันที่ ๑-๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ –๑๖.๓๐ น.ณ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดมุกดาหาร ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดมุกดาหาร อาคารฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบ ถนนวิวิธสุรการ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร โทรศัพท์ ๐๔๒ ๖๒๐๙๐๕ (สถานธนานุบาลจังหวัดมุกดาหาร) ไม่เว้นวันหยุดราชการ




สุภาวดี อัมไพพันธ์ ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว
พิพัฒน์ เพชรสังหาร สุระณรงค์ อ่อนสนิท/ภาพ

วิทยาลัยการอาชีพร้อยเอ็ดเปิดรับสมัครประชาชนทั่วไปเข้าฝึกอบรมวิชาชีพ

วิทยาลัยการอาชีพร้อยเอ็ด เปิดรับสมัครประชาชนทั่วไปเข้าฝึกอบรมวิชาชีพ ระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม – 1 กันยายน 2556

นายรังสิต วงษ์แก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า วิทยาลัยการอาชีพร้อยเอ็ด ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมอาชีพในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพประชาชนในจังหวัด ร้อยเอ็ด ตามนโยบายด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2556 สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีพศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนไม่มีงานทำ ผู้ถูกเลิกจ้างงาน ผู้กำลังอยู่ในข่ายเลิกจ้าง ผู้สำเร็จการศึกษาที่ยังไม่มีงานทำ ให้มีความรู้ ความชำนาญในวิชาชีพต่างๆ ตามความถนัดและความสนใจ เพื่อนำความรู้ในวิชาชีพไปสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับตนเองไม่เป็นภาระกับครอบครัวและสังคม หลักสูตรที่เปิดฝึกอบรม 2 อาชีพ คือ หลักสูตร เสื้อ AC บาติกเพื่อจำหน่าย และหลักสูตร ฮอร์โมนไข่หอยเชอรี่เพื่อเร่งผลผลิต ระยะเวลาฝึกอบรม 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2556 ไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ วิทยาลัยการอาชีพร้อยเอ็ด หลักฐานที่ประกอบการสมัคร ประกอบด้วย สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ใบ รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป

สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่วิทยาการอาชีพร้อยเอ็ด ฝ่ายวิชากร โทร.0-4351-1602,0-4315 -9808 หรือ อาจารย์ สิริวิมล 09—0417-5963 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



วิมล เร่งศึก/ข่าว
กมลพร คำนึง/บก.ข่าว

29 ก.ค. 56

ผู้ใหญ่บ้านนำลูกบ้านทำพิธีประชุมเพลิงเหล้า-เบียร์ งดดื่มเด็ดขาด เข้าพรรษา 3 เดือน

นายโกเมธ สุทธิรักษ์ ผู้ใหญ่บ้านกำเนิดเพชร พร้อมด้วยนายอาคม คณะศิริวงศ์ นายก อบต.เมือง นำชาวบ้านทำบุญตักบาตรเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ที่วัดป่าพุทธยาน บ้านกำเนิดเพชร ตำบลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเลย จากนั้นได้ทำพิธีกล่าวคำปฏิญาณตนของนักดื่มประจำหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มเยาวชน และผู้สมัครใจร่วมกิจกรรมกว่า 60 คน ต่อหน้าพระสงฆ์ว่าจะงดดื่มเหล้าช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน และจะร่วมกันบำเพ็ญกุศลช่วงเข้าพรรษา และได้ร่วมกันนำกล่องเหล้า เบียร์ ขึ้นเผาบนเมรุ พร้อมร่วมกันเทเหล้าและเบียร์ลงพื้นดินในบริเวณหลังเมรุ โดยมีพระภิกษุจำนวน 9 รูป สวดบังสุกุล คล้ายการทำพิธีฌาปนกิจศพ

ชาวสวนยางเลยสองพันคนชุมนุมประท้วงราคาตกต่ำ

ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเลย เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จังหวัดเลย จาก 14 อำเภอ จำนวนกว่า 2,000 คน นำโดยนายสง่า ขันคำ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดเลย, นายวิเวทย์ วิไชโย อดีตนายกเทศมนตรีตำบลนาอาน, นายชัยยุทธ พิศสถาน นายกเทศบาลตำบลนาโป่ง และ นายชาติชาย มังคละไชยยา นายกเทศมนตรีตำบลนาด้วง เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องหลังได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากราคายางพาราตกต่ำ โดยมีการเปิดเวทีปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลที่ผิดพลาด ไม่สนใจปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร มุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ทำให้สร้างความเสียหายกับระบบการซื้อขายยางพารา จนทำให้ราคาตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมยังได้ร่วมลงชื่อในหนังสือเรียกร้องต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในหนังสือเรียกร้องดังกล่าวระบุว่า ขอให้รัฐบาลกำหนดราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ไว้ที่ราคา กิโลกรัมละ 120 บาท , ราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ราคากิโลกรัมละ 111 บาท , ราคายางน้ำสด ราคากิโลกรัมละ 100 บาท และราคายางก้อนถ้วย กิโลกรัมละ 102 บาท หากภายใน 15 วัน รัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง จะพากันเดินทางไปชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลทันที จังหวัดเลยมีพื้นที่ปลูกยางพารา ปัจจุบันจำนวนประมาณ 750,000 ไร่ เกษตรกรจำนวน 60,000 ครัวเรือน มีพื้นที่ที่เปิดกรีดได้แล้ว 300,000 ไร่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรที่มาจากโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในปี 2547- 2549 สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลควรดูแลแก้ปัญหาให้เกษตรกรโดยเร็ว ซึ่งทางเครือข่ายฯ ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาราคาตำต่ำ คือ ให้รัฐบาลออกกฎหมายให้กระทรวงคมนาคม นำยางธรรมชาติไปเป็นส่วนผสมของยางมะตอยในการทำถนนลาดยางในประเทศ และให้รัฐบาลนำเอายางพาราธรรมชาติไปผลิตเป็นท่อน้ำ ใช้ในโครงการชลประทานระบบท่อในประเทศด้วย ต่อมา นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ลงมารับหนังสือเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยตนเอง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้รับปากว่า จะดำเนินการส่งเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรไปยังรัฐบาลอย่างเร่งด่วน และในส่วนการแก้ไขปัญหาภายในจังหวัดเบื้องต้น จะให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจความเดือดร้อน รวบรวมส่งให้รัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย หลังการรับข้อเรียกร้องจากผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความพอใจ และได้แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา รอฟังคำตอบต่อไป

อ่างเก็บน้ำ จังหวัดเลย เริ่มวิกฤติ ล้นความจุ 4 แห่ง จาก 12 อ่าง

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเลย รายงานว่า จังหวัดเลยในช่วงนี้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น จากรายงานปริมาณน้ำประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ของโครงการชลประทานเลย ระบุว่า อ่างเก็บน้ำทั้ง 12 แห่งของจังหวัดเลย มีปริมาณเกินความจุ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง อำเภอปากชม , อ่างเก็บน้ำห้วยชม อำเภอปากชม, อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ อำเภอปากชม และที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำสวย อำเภอนาด้วงมีปริมาณน้ำเกินความจุที่ร้อยละ 102.58 ขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมาน อำเภอเมืองเลย ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดมีปริมาณน้ำอยู่ที่18,765,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 70.81 ของความจุอ่าง

นายสรวุฒิ ปาลวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย เปิดเผยว่า จังหวัดเลยมีภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขา ดังนั้นทางจังหวัดและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย ได้แจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจังหวัดเลยมีทั้งหมด 900หมู่บ้าน มีพื้นที่เสียงภัยน้ำป่า และดินโคลนถล่มในระดับสูง จำนวน 60 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในหุบเขา อยู่ในอำเภอด่านซ้ายมากที่สุด คือ 14 หมู่บ้าน เพื่อเตรียมพร้อมอพยพออกจากบ้านเรือน หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

วังสะพุงผุดโครงการใหญ่ 200 ล้านบาท

เทศบาลเมืองวังสะพุงเดินหน้าโครงการปรับปรุงที่ดิน 93 ไร่ ริมแม่น้ำเลย ใช้งบ 200 ล้านบาท ผุดสวนสาธารณะ สนามกีฬา อุทยานเกจิอาจารย์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด ใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 4-5 ปี นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล นายกเทศมนตรีเมืองวังสะพุง เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองวังสะพุงได้ดำเนินการโครงการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเลย 93 ไร่ ประกอบด้วย สวนสาธารณะ สนามกีฬากลางอำเภอ อาคารสำนักงานเทศบาลเมืองวังสะพุง อ่างเก็บน้ำ เขื่อนป้องกันตลิ่ง และอุทยานเกจิอาจารย์ โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการทำการศึกษาออกแบบการใช้พื้นที่ ซึ่งดำเนินการออกแบบแปลนเสร็จแล้ว ความคืบหน้าของโครงการขณะนี้ได้ถมดินไปแล้วร้อยละ 20 โดยจะเริ่มในส่วนของสนามกีฬากลางก่อน เนื่องจากกรมพละศึกษาที่เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 24 ล้านบาท ได้อนุมัติงบประมาณแล้ว คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในต้นปี 2557 ส่วนการก่อสร้างโครงการอื่น ๆ จะทยอยเริ่มทำไปเรื่อย ๆ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ขณะที่อาคารสำนักงานเทศบาลเมืองวังสะพุง จะใช้งบประมาณของทางเทศบาล คาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 4 ปี รวมงบประมาณการก่อสร้าง 200 ล้านบาท หากโครงการนี้แล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอวังสะพุงอีกแห่งหนึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดเลย ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยแวะเที่ยวที่อำเภอวังสะพุง เป็นแค่เพียงทางผ่านไปเที่ยวที่อื่น ซึ่งจังหวัดเลย และอำเภอวังสะพุง มีพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จันทสาโร อุทยานเกจิอาจารย์จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะชม 

'ชาย เมืองสิงห์' ร่วมวางศิลาฤกษ์พระบรมธาตุวังผาพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระสังฆราช

นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ เจดีย์ "พระบรมธาตุวังผาพระชันษาร้อยปี" ณ บ้านวังผา ตำบลห้วยบ่อซืน อำเภอปากชม จังหวัดเลย เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เนื่องในโอกาสครบรอบพระชันษา 100 ปี ในปีพุทธศักราช 2556 การก่อสร้าง พระบรมธาตุดังกล่าว สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้มีพระเมตตาประทานพระบรมสารีริกธาตุ ประทานพระพุทธรูปพระพุทธชยันตรี ร้อยปีพระชันษา และประทานนามพระเจดีย์ว่า "พระบรมธาตุวังผา พระชันษาร้อยปี” โดยมีชาวบ้านวังผา พุทธศาสนิกชน ชาวอำเภอปากชม และจากต่างจังหวัดมาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าเส้นทางที่เข้าไปยังบริเวณพิธียากลำบาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้เกิดฝนตกทำให้ถนนลื่น ซึ่งภายหลังจากวางศิลาฤกษ์ ได้มีการปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ไว้เป็นพุทธบูชาบริเวณลานก่อสร้างเจดีย์ ภายในพิธีวางศิลาฤกษ์พระบรมธาตุ มี ชาย เมืองสิงห์ หรือชื่อจริง สมเศียร พานทอง ศิลปินแห่งชาติ และนายอู้ด เป็นต่อ หรือ อู้ด พี่น้องครับ เดินทางมาพิธีครั้งนี้ด้วย พร้อมกันนี้ชาย เมืองสิงห์ ยังได้ขับร้องเพลง ทำบุญร่วมชาติ ให้ประชาชนที่มาร่วมทำบุญ ฟังกันอีกด้วย

นักเรียนอำเภอวังสะพุงร้องอำเภอช่วยซ่อมถนน

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเลย รายงานว่า หน้าที่ว่าการอำเภอวังสะพุง มีนักเรียนชาย-หญิง จำนวน 200 คน จากโรงเรียนวรราชวิทยา เดินทางด้วยรถรับ-ส่งนักเรียนของโรงเรียนจำนวน 8 คัน มาร้องเรียนนายอำเภอวังสะพุง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากถนนเข้าโรงเรียนเป็นหลุมบ่อขนาดใหญ่ มีน้ำขังตลอดเวลา สร้างความเดือดร้อนให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง ที่สัญจรไปมาทุกวัน นายโสภณ สุวรรณรัตน์ นายอำเภอวังสะพุง ลงมารับเรื่องเรียน ทางอำเภอจึงติดต่อไปยังนายมั่น บัวระภา นายกเทศบาลตำบลศรีสงคราม เดินทางมาชี้แจงกับครูและนักเรียน แต่นายกฯ ติดประชุมที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ได้มอบหมายให้นายจำนงชัย แสงมะโน รองนายกฯ มาเจรจาแทน โดยทางโรงเรียนตั้งตัวแทนครู และนักเรียนเข้าร่วมฟังคำชี้แจง ที่ห้องรับรองนายอำเภอชั้น 2 บนที่ว่าการอำเภอวังสะพุง เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งรองนายกฯ ชี้แจงยอมรับว่า เป็นข้อบกพร่องของทางเทศบาลฯ เนื่องจากทางเทศบาลฯได้รับหนังสือทราบถึงความเดือดร้อนของครู ผู้ปกครอง และนักเรียน โรงเรียนวรราชวิทยาแล้ว และไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาเทศบาลฯ โดยสภาได้อนุมัติเงินจำนวน 478,000 บาท ทำท่อระบายน้ำถึงถนนทางหลวงเพื่อระบายน้ำ พร้อมถมบดอัดถนนให้แล้วเสร็จ คาดว่าจะดำเนินการได้ต้นเดือนสิงหาคมนี้ ระหว่างนี้จะให้เจ้าหน้าที่ไปซ่อมแซมให้ใช้ได้เฉพาะหน้าไปก่อน หลังได้รับฟังคำชี้แจงเป็นที่เรียบร้อยร้อยแล้วเป็นที่พอใจ จึงพร้อมใจกันเดินทางกลับไปเรียนหนังสือต่อไป ซึ่งผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าว ทราบว่าเป็นจริง เนื่องจากถนนเป็นหลุมลึกราว 20 ซ.ม.กว้างประมาณ 4 เมตร ระยะทาง 200 เมตร รถยนต์ไม่สามารถวิ่งสวนทางกันได้ ต้องรอไปมาทีละด้าน ทำให้การจราจรติดขัดในช่วงเร่งด่วนช่วงเวลาเข้าเรียนและเลิกเรียน

ขโมยงัดอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 3 จี ทรูมูฟ ทั่วจังหวัดเลย

นายสุขุม โพธิจันทร์ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 224/55 ถนนอุดรดุษฎี ตำบลหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี ตัวแทนบริษัท ทรูมูฟ จ.ก. เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.บุญชู มีศรี พนักงานสอบสวน สบ.3 สภ. ด่านซ้าย จังหวัดเลย ว่าได้มีคนร้ายขโมยงัดตู้อุปกรณ์โมดูลเล็คติฟาย (หม้อแปลง) ระบบส่งสัญญาณ 3 จี ในเสาสัญญาณทรูมูฟที่บ้านโป่งชี ตำบลโป่ง .อำเภอด่านซ้าย มูลค่าตัวละ 10,000 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1 เดือนที่ผ่านมา จังหวัดเลยในหลายอำเภอ ได้มีคนร้ายขโมยมางัดตู้เอาอุปกรณ์โมดูลเล็คติฟาย (หม้อแปลง) ระบบส่งสัญญาณ 3 จี ที่ติดตั้งอยู่ภายในเสาส่งสัญญาณไปกว่า 20 ตัวแล้ว คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 แสน ทำให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ทรูมูฟ 3 จี ไม่สามารถใช้งานได้ จนมาวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อุปกรณ์เสาส่งสัญญาณที่บ้านโพนสูง ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย โดนขโมยไปล่าสุดตู้อุปกรณ์เสาส่งสัญญาณที่บ้านโป่งชี ถูกคนร้ายงัดไปอีก 1 ตัว ทุกครั้งก็เข้าแจ้งความ แต่ยังไม่สามารถจับคนร้ายได้ เจ้าหน้าที่จึงลงบันทึกประวันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

เด็กท่าลี่ ป.6 ยอดกตัญญูดูแลพ่อป่วยเป็นอัมพาต

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเลย ได้รับแจ้งจาก นายศราวุธ อินทร์พินิจ ครูระดับ 3 โรงเรียนบ้านน้ำแคม อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ว่ามีเด็กนักเรียนชั้น ป.6 ดูแลพ่อที่เป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และไม่มีเงินรักษาตัว อยู่บ้านเลขที่ 91 หมู่ 2 บ้านห้วยหก ตำบลน้ำแคม อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบที่บ้านหลังดังกล่าว พบว่าเป็นบ้านปูนชั้นเดียว พบ ด.ช.ธนะวัฒน์ (น้องมิว) บริบูรณ์ อายุ 12 ปี กำลังใส่เสื้อผ้าให้พ่อชื่อนายประจวบ บริบูรณ์ อายุ 48 ปี ผู้พิการเป็นอัมพาต ไม่สามารถจะช่วยเหลือตัวเองได้ สอบถาม ด.ช.ธนะวัฒน์ (น้องมิว) เล่าว่า ตนเองเรียนอยู่ชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านน้ำแคม อำบลท่าลี่ จังหวัดเลย เดิมทีครอบครัวของตนมีพ่อ แม่ และตนเอง อาศัยอยู่ที่บ้านคกมาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งเป็นบ้านเพิงเล็ก ๆ ที่บ้านมีอาชีพรับจ้าง ส่วนพ่อทำงานที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง ส่วนตนเองอยู่กับแม่ จนมาเมื่อปี พ.ศ.2554 พ่อได้กลับมาเยี่ยมบ้าน และได้นั่งรถซาเล้ง จนเกิดอุบัติเหตุ จนพ่อเป็นอัมพาต เดินและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้เป็นภาระของครอบครัว โดยเฉพาะแม่ จนกระทั่งวันหนึ่งแม่ได้ตัดสินใจทิ้งพ่อและตนเอง ไปมีครอบครัวใหม่ ทำให้ตนเองต้องหยุดการเรียนเพื่อมาดูแลพ่อที่ป่วยเป็นอัมพาต นางกองสิน โสภาวัฒน์ อายุ 50 ปี ซึ่งเป็นพี่สาวของพ่อ ได้ไปรับพ่อและตนเองมาอยู่ด้วยกัน โดยที่ฐานะของอาสาว ก็ลำบากอยู่แล้ว มีอาชีพรับจ้างไปวัน ๆ แต่ก็ได้กำลังใจจากอาสาว ว่าถึงพ่อเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ แต่ด้วยพ่อเป็นน้องชาย และมีสายเลือดเดียวกัน ทิ้งกันไม่ได้ จึงทำให้ตนเองต้องสู้ชีวิตเพื่อพ่อ ในแต่ละวันตนเองต้องตื่นแต่เช้า อุ้มพ่อไปอาบน้ำโดยมีนายคำแพง โสภาวัฒน์ (อาเขย) คอยช่วยเหลือ หลังจากอาบน้ำเสร็จ อุ้มพ่อมาใส่เสื้อผ้า ทำกายภาพบำบัด โดยใช้เชือกไนล่อนผูกผ้าแขวนไว้ที่ขื่อ ทำกันแบบลวก ๆ ให้พ่อทำกายภาพโดยออกกำลังกาย ป้อนข้าวให้พ่อ เมื่อพ่อกินข้าวเสร็จแล้ว ก็อุ้มพ่อมาเดินออกกำลังกายด้วยคานไม้ไผ่ที่ทำขึ้นเองแบบง่ายๆ ที่หน้าบ้าน จากนั้นก็อุ้มพ่อมานอนที่ระเบียงหน้าบ้าน พร้อมจัดอาหารให้พ่อ แล้วตนเองก็ไปโรงเรียน ทำอย่างนี้เป็นกิจวัตรประจำวัน เลิกเรียนต้องรีบกลับบ้าน แม้กระทั่งวันหยุดก็ไม่ได้ไปเล่นกับเพื่อนตามประสาเด็ก ต้องคอยดูแลพ่อและเป็นเพื่อนคุยกับพ่อ พ่อเคยบ่นให้ฟังว่าอยากผูกคอตาย จะได้ไม่ต้องเป็นภาระให้ลูกและคนอื่นๆ แต่ตนเองพยายามพูดกับพ่อว่า ทุกวันนี้ตนเองอยู่ได้ก็เพราะมีพ่อ ถ้าพ่อตายไปตนเองจะอยู่กับใคร จึงทำให้พ่อสู้ชีวิตต่อไป อยากให้พ่อพ่อหาย และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถพาพ่อไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ เท่านั้นก็พอ ไม่เคยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเลย ร่วม 2 ปี แล้ว สาเหตุไม่มีเงินที่จะจ้างรถไปโรงพยาบาลเที่ยวละ 1,000-1,500 บาท และเงินติดตัวจ่ายค่ายารักษาโรค 30 บาท ยังไม่มีให้เลย ภายในครอบครัวทำงานได้เงินมา แบ่งเจียดค่าแรงไปซื้อยาแก้อักเสบ และคลายกล้ามเนื้อ ที่ร้านขายยา ครั้งละ 100 บาท ใช้ได้ประมาณ 10-15 วัน หมดก็ไปซื้อมาใหม่ เป็นอย่างนี้มาตลอด ส่วนใครที่จะช่วยเหลือน้องธนะวัฒน์และครอบครัว สามารถติดต่อได้ที่โรงเรียนบ้านน้ำแคม หรือที่นางบัวลอง โสมาศรี ส.อบต.บ้านน้ำแคม เบอร์โทร 087-2220735 , 083-3392307 (อาจจะติดต่อได้ลำบาก เพราะที่หมู่บ้านน้ำแคม ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์)

20 ปี ศูนย์ศิลป์สิรินธรจัดประกวดศิลปกรรม

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเลย รายงานว่า ที่ "ศูนย์ศิลป์สิรินธร” ภายในโรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จัดการประกวดศิลปกรรม "เส้นทางสู่อัจฉริยศิลป์เยาวชน” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1 โดยมีนายสังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร เป็นประธานตัดสินการประกวด โดยมีนักเรียนมัธยม ประถม และอนุบาล จากโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 300 คน สมัครเข้าร่วมการแข่งขันประกวดวาดภาพ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบ 20 ปี "ศูนย์ศิลป์สิรินธร” ศูนย์ศิลปะเยาวชนสมบูรณ์แบบแห่งแรกของอาเซียน โรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 19 เลย-หนองบัวลำภู การจัดการประกวดศิลปกรรม "เส้นทางสู่อัจฉริยศิลป์เยาวชน” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1 วาดภาพสดชิงทุนการศึกษา 60,000 บาท สนับสนุนโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเป็นการวาดภาพสด และให้เลือกใช้สีที่ตนเองถนัด แบ่งประเภทการแข่งขันเป็น 4 ประเภท คือระดับประถมศึกษาตอนต้น ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ภายใต้หัวข้อการประกวดว่า "มหัศจรรย์ประเทศไทย” (Amazing Thailand) ในวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2556 สำหรับผู้ที่ได้รางวัลยอดเยี่ยม ดีเด่น สร้างสรรค์ จะได้รับประกาศบัตรเชิดชูเกียรติของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2556 ส่วนภาพที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม จะได้รับคัดเลือกไปแสดงที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี ระหว่างวันที่ 9 - 20 สิงหาคม 2556 ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ "ศิลป์สิรินธร สู่ เยอรมันนี” ตั้งแต่วันที่ 15 – 31 กรกฎาคม 2556 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง 20 ปี ณ ศูนย์ศิลป์สิรินธร หลังจากสิ้นสุดการแสดงที่ศูนย์ศิลป์สิรินธรแล้ว ทางศูนย์ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก จากท่านทูตนงนุช เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เชิญผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร ไปสอนศิลปะให้เยาวชนไทย เยอรมนี และจัดแสดงนิทรรศการศิลปะนี้ในงาน "เทศกาลไทย” (Thai Festival) 10 – 11 สิงหาคม 2556 ณ เมืองบาดฮอมบูร์ก และต่อไปที่เมืองโบเดนซี จัดโดยสมาคมวัฒนธรรมไทย – เยอรมนี และสิ้นสุดที่กรุงเบอร์ลิน ระหว่างวันที่ 12 - 20 สิงหาคม 2556 

พายุถล่มศรีสะเกษ ซัดต้นไม้อายุนับ 100 ปี โค่นทับถนน ส่งผลให้การจราจรอัมพาต เจ้าหน้าที่ เร่งทำการตัดต้นไม้ที่หักโค่น เพื่อระบายการจราจร

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 29 ก.ค.56 ที่บ้านอะลาง หมู่ที่ 4 ถนนศรีสะเกษ กันทรลักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่จากแขวงการทางจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างจิตศรีสะเกษธรรมสถาน และ อาสาสมัครรักษาดินแดน จากกองร้อยอาสารักษาดินแดน จังหวัดศรีสะเกษ ที่ 2 เร่งทำการตัดต้นอะลางยักษ์ ขนาดประมาณ 2 คนโอบ สูงประมาณ 10 เมตร ที่ถูกลมพายุซัดโค่นล้มทับปิดเส้นทางการจราจร ตั้งแต่เวลา ประมาณ 18.00 น. ส่งผลให้การจราจรบริเวณถนนเส้นศรีสะเกษ – กันทรลักษ์ เกิดการติดขัด ประชาชนที่เดินทางสัญจรไปมา ต้องใช้เส้นทางอย่างความระมัดระวัง ท่ามกลางพายุ ที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง

จากการสอบถามประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ต้นอะลางยักษ์ นี้เป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่สาธารณะ ซึ่งปลูกอยู่บริเวณริมถนนเส้นนี้ มานานนับ 100 ปี โดยก่อนเกิดเหตุ เวลาประมาณ 17.30 น. ขณะที่ตนนั่งอยู่ภายในบ้าน หลังจากนั้นก็เกิดฝนตกอย่างหนักและมีลมกรรโชกแรง สักพักได้ยินเสียงดัง คล้ายเสียงต้นไม้ล้ม จึงวิ่งออกมาดู พบว่า ต้นอะลางขนาดยักษ์ ล้มลงปิดการจราจร ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ นักเรียน นักศึกษา และประชาชน กำลังเดินทางสัญจรกลับบ้าน ทำให้การจราจรบริเวณนี้ต้องหยุดชะงักลง นานประมาณ 45 นาที รถไม่สามารถผ่านไปมาได้สะดวก ก่อนที่เจ้าหน้าที่ จะเดินทางมาเร่งดำเนินการตัดต้นอะลางยักษ์ออกจากเส้นทางจราจร เพื่อให้รถราสัญจรไปมาได้สะดวกเช่นเดิม ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ

ด้านนายสุขสันต์ บุญโทแสง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ ระบุว่า สืบเนื่องจากในช่วงนี้ จังหวัดศรีสะเกษ จะมีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยอุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-29 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ซึ่งประชาชนที่ต้องเดินทางสัญจรไปมาในช่วงนี้ ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และหากมีพื้นที่ใดประสบอุทกภัย ให้แจ้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ทราบ เพื่อจะได้ประสานงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน





จิรภัทร  หมายสุข / ภาพ / ข่าว

ชาวศรีสะเกษ ประกาศเจตนารมณ์ รวมใจ งดเหล้าเข้าพรรษา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจาสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร

เมื่อเวลา 10.00 น.  วันที่ 29 ก.ค. 56 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ นายพยม ธารีชาญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในการประกอบพิธีประกาศเจตนารมณ์ "ศรีสะเกษรวมใจ งดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันจัดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อ ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มของมึนเมา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจาสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมารโดยมี นายแพทย์ประวิทย์ อ่ำพันธุ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า และประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมประกอบพิธีในครั้งนี้ สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้รู้ถึงโทษและพิษภัยของยาเสพติด และเครื่องดื่มของมึนเมา ตลอดจนการจัดนิทรรศการของหน่วยงานต้นแบบการณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา และการมอบป้ายอำเภอต้นแบบปลอดเหล้าให้กับนายอำเภอทุกอำเภอ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ นายแพทย์ประวิทย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรีให้มีการจัดกิจกรรม "งดดื่มสุราแห่งชาติ ทำความดีถวายในหลวง” ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ประกอบกับวันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์สยามมงกุฎราชกุมาร เพื่อให้พสกนิกรชาวจังหวัดศรีสะเกษ ได้แสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รวมพลังทำความดี ด้วยการเริ่มต้นงดเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปฏิบัติความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร ผู้ทรงมีพระคุณอันใหญ่หลวงต่อปวงชนชาวไทย

จังหวัดศรีสะเกษ จัดแข่ง โชว์ SOLO พิณ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมอีสานไทย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 ก.ค. 56 ที่ศาลาประชาคม หอประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ จัดกิจกรรม การประกวดแข่งขันเดี่ยวเครื่องดนตรีพื้นเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงานมหกรรมวัฒนธรรมสู่ประชาคมอาเซียน ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26 – 3 สิงหาคม 2556 โดยการแข่งขันในวันนี้ เป็นการแข่งขันเดี่ยว โซโล่ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ประเภท พิณ โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทชั้นประถมศึกษา ประเภทชั้นมัธยมศึกษา และประเภทประชาชนทั่วไป โดยการแข่งขันในวันนี้ มีโรงเรียนที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมอวดฝีไม้ลายมือ ในการโซโล่พิณ จำนวน 10 คน


นางอุดมลักษณ์ ประชุมรักษ์ วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ระบุว่า การจัดการแข่งขันดนตรีพื้นบ้านในครั้งนี้ เพื่อต้องการที่จะให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงคุณค่าของดนตรีพื้นเมือง ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการที่เยาวชนจะได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์สืบสานดนตรีพื้น เมืองของภาคอีสาน เพื่อให้คงอยู่กับเยาวชนรุ่นหลังของชาวอีสานสืบไป สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้เงินรางวัล จำนวน 1,500 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้เงินรางวัลจำนวน 1,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้เงินรางวัล 800 บาท และผู้ที่ร่วมการแข่งขัน จะได้รับเงินรางวัลชมเชย จำนวน 300 บาท

สระแก้วมอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย

วันนี้ (29 ก.ค. 56) นายสรวงค์  เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการมอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ปี 2555 ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากอุทกภัยในครั้งนี้มีทั้งหมดจำนวน 16,521 ราย เพื่อให้เกษตรกรนำไปเป็นทุนทางด้านการเกษตร  

สืบเนื่องมาจากในช่วงเดือนกันยายน ปี 2555 ได้เกิดฝนตกหนักทำให้พื้นที่จังหวัดสระแก้วเกิดน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรปรากฎว่าเกษตรกรได้รับความเสียหาย และได้รับผลกระทบและพืชผลทางการเกษตรเสียหาย โดยพื้นที่ปลูกข้าวเสียหายจำนวน 91,140 ไร่ พื้นที่พืชไร่จำนวน 65,057ไร่ พื้นที่พืชสวนเสียหายจำนวน 2,992 ไร่ รวมพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายทั้งหมด จำนวน 159,190 ไร่ จากการเกิดอุทกภัยในครั้งนี้เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือเป็นจำนวน 280,717,781 บาท

นายสมจิตร  ธีระบุญชัยกุล เกษตรจังหวัดสระแก้วเปิดเผยว่า อัตราการช่วยเหลือมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ได้กำหนดอัตราการช่วยเหลือใหม่ต่อไร่ให้มากขึ้นดังนี้  ข้าวจากเดิมช่วยเหลือ 606 บาท/ไร่ เป็น 1,113 บาท/ไร่   พืชไร่ จากเดิม 837 บาท/ไร่เป็น 1,148 บาท/ไร่และพืชสวน จากเดิม 912 บาท/ไร่ เป็น 1,690 บาท/ไร่  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวจะเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากเข้าธนาคาร ธ.ก.ส. ของเกษตรกรแต่ละราย โดยได้จัดทำผนการเบิกจ่ายของแต่ละตำบล อำเภอ โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

พม.เร่งสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ที่จังหวัดสระแก้ว

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดอบรมสัมมนา "การค้ามนุษย์หยุดได้...สื่อมวลชนไทยสนับสนุน” ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมอรัญเมอร์เมด อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้กับสื่อมวลชนและผู้ปฏิบัติงานด้านการค้ามนุษย์ในพื้นที่จังหวัดสระแก้วและพื้นที่ใกล้เคียง รวม ๑๐๐ คน หวังเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารไปสู่ประชาชนและสังคม เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีนายสามารถชาย จอมวิญญา ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการอบรม นายสามารถชาย จอมวิญญา ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การค้ามนุษย์ในประเทศไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว เดิมเป็นการค้ามนุษย์ที่บังคับหญิงและเด็กไทยเข้าสู่การบริการทางเพศภายในประเทศ แต่เนื่องจากปัญหาโรคเอดส์และการดำเนินการป้องกันของไทย ทำให้เด็กและหญิงไทยที่ถูกค้าบริการทางเพศมีจำนวนลดลง กลับถูกบังคับนำไปขายบริการทางเพศในต่างประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีหญิงจากต่างชาติที่ถูกบังคับมาค้าบริการทางเพศในไทยมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้โลกมีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านคมนาคมและเทคโนโลยี ประเทศไทยจึงมีความเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ทั้ง ๓ สถานะ คือ เป็นประเทศต้นทาง ทางผ่าน และประเทศปลายทาง สำหรับรูปแบบการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบในประเทศไทย ได้แก่ การบังคับค้าบริการทางเพศ การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการนำคนมาขอทาน นายสามารถชาย กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยประสานงานหลัก ในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงหน่วยงานในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการค้ามนุษย์ ได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน ทั้งด้านการป้องกันเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงภัยของการค้ามนุษย์ ตลอดจนขอความร่วมมืออาสาสมัครและเครือข่ายช่วยเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาในชุมชน และให้ความคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างทันท่วงที โดยได้เปิดบริการ OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน โทร. ๑๓๐๐ เพื่อรับแจ้งเหตุและเบาะแส ตลอดจนได้ประสานงานกับหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ อย่างไรก็ตาม การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ไม่สามารถดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงได้โดยเพียงลำพัง จำเป็นต้องมีการประสานความเข้าใจ ความร่วมมือ และผนึกพลังในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จากทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นสำคัญ ซึ่งการจัดอบรมสัมมนา "การค้ามนุษย์หยุดได้...สื่อมวลชนไทยสนับสนุน” ครั้งนี้ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในมาตรการด้านการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ โดยการเสริมสร้างความรู้ ความตระหนัก และกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวัง และเข้าร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สื่อมวลชน” ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลภาคประชาชนที่มีศักยภาพและความสามารถในการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ไปสู่ประชาชนทั่วทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มเป้าหมาย ผ่านช่องทางการสื่อสารที่อยู่ในความรับผิดชอบของสื่อแขนงต่างๆ "ปัจจุบันสื่อมวลชนถือว่ามีบทบาทและอิทธิพลในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนในทุกพื้นที่ จึงหวังว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ประชาชน สังคม เกิดความตระหนักถึงภัยของการค้ามนุษย์ และร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาในชุมชน พร้อมทั้งแจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นการค้ามนุษย์ ผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง” นายสามารถชาย กล่าวตอนท้าย

จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี มอบเครื่องช่วยฟังโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตมอบหูทิพย์ให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชนมพรรษา 61 พรรษา

วันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ณ ห้องประชุมปทุมราชวงศา โรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิรางกรณ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานมอบเครื่องช่วยฟังโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตมอบหูทิพย์ให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ในวโรกาส พระชนมพรรษา ครบ 61 พรรษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บกพร่องทางการได้ยิน ให้สามารถรับฟังเสียงได้อย่างเป็นปกติสุข ทั้งนี้จังหวัดอุบลราชธานีมีผู้พิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย จำนวน 4,580 คนคิดเป็นร้อยละ 12.93 ของผู้พิการทุกประเภทและขอรับการช่วยเหลืออยู่ประมาณ 1,700 ราย ซึ่งผู้บกพร่องทางการได้ยินเหล่านี้ มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาทางการได้ยินด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกติสุขในสังคมเหมือนบุคคลทั่วไป

การจัดพิธีมอบเครื่องช่วยฟังในครั้งนี้ มีผู้เข้ารับมอบเครื่องช่วยฟังจำนวน 326 คน ซึ่งเป็นราษฎรตัวแทนจาก 14 อำเภอ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การได้ยินดีเมท สาขาจังหวัดอุบลราชธานี เหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี

สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพพนักงานขับรถของหน่วยงานราชการ เป็นเครือข่ายด้านความปลอดภัย รณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน

วันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ที่ห้องประชุมวนารมย์ โรงแรมกิจตรงวิลล์รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพพนักงานขับรถของหน่วยงานราชการ ประจำปี งบประมาณ 2556 ตามที่รัฐบาลได้กำหนด ให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนแนวทาง การดำเนินการของประเทศไทย ในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ให้สอดคล้องกับประเทศเจตนารมณ์ปฏิญญามอสโก โดย นายธีระพล อรุณกสิกร ขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ การจัดโครงการนี้ ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ที่จำเป็นสำหรับพนักงานขับรถ ปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ความมีน้ำใจและวินัยจราจรในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ให้พนักงานขับรถ ตระหนักในความสำคัญของการเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้รถใช้ถนน และขยายเครือข่ายด้านความปลอดภัยในการร่วมกันรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนน ทำให้การดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศบรรลุผลที่กำหนดไว้


สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ เป็นกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน ที่เป็นพนักงานขับรถของหน่วยงานราชการในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 200 คน โดยได้รับความรู้จากวิทยากรหลากหลายหน่วยงาน เช่น สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี และสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสุรินทณ์ เตือนอุบัติภัยจากไฟฟ้า ในช่วงฤดูฝน

นายธนัญชัย  ภักดีรัตน์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปี  มักมีลมแรงหรือมีพายุทั่วทุกภาคของประเทศและทำให้เกิดอุบัติภัยทางไฟฟ้า อาทิ กระแสไฟฟ้าขัดข้องจากสาเหตุเสาอากาศ ป้ายโฆษณา ต้นไม้หรือกิ่งไม้ล้มทับสายไฟฟ้าแรงสูงและบ้านเรือนที่พักอาศัย เป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง หรือเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นประจำ

จึงขอให้ทุกพื้นที่และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดพายุฝน ควรติดตามสภาวะอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าขัดข้องและหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่สภาพปกติ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าและประชาชนทั่วไป ดังนี้

1. อาคารสูง ควรติดตั้งสายล่อฟ้าป้องกันฟ้าผ่า ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย

2. เมื่อเกิดฟ้าคะนอง ไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และไม่สวมใส่เครื่องประดับโลหะ

3. ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

4. อย่าติดตั้งเสาอากาศวิทยุหรือเสาอากาศโทรทัศน์ใกล้สายไฟฟ้า

5. ตรวจสอบความมั่นคงของเสาอากาศวิทยุ เสาอากาศโทรทัศน์ และป้ายโฆษณา อาจเพิ่มการยึดโยงมากขึ้นเพื่อป้องกันการโค่นล้ม

6. ตรวจสอบต้นไม้ที่อยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้า หากมีกิ่งไม้อยู่ใกล้เกินไปหรือคาดว่าเมื่อมีลมพัดแรง อาจทำให้กิ่งไม้เอนไปแตะสายไฟฟ้า หรือต้นไม้หักโค่นล้มทับสายไฟฟ้า ให้แจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข

7. ให้ความร่วมมือในการตัดต้นไม้หรือตัดกิ่งไม้ที่กีดขวางแนวเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าและจุดปักเสาไฟฟ้า ไม่ควรตัดต้นไม้เอง เพราะอาจถูกกระแสไฟฟ้าดูดได้

8. หากพบระบบจำหน่ายหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด แจ้งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิคทราบทันที เพื่อดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมให้อยู่สภาพพร้อมใช้งานตามปกติ




กัญญรัตน์  เกียรติสุภา / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ จัดแถลงข่าวโครงการความร่วมมือด้านการสื่อสารการดำเนินงานจังหวัดดีเด่น จังหวัดสุรินทร์ 6 ส.ค.นี้

นางสาวกัญญรัตน์ เกียรติสุภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ตามที่จังหวัดสุรินทร์  ได้รับการคัดเลือก ให้เป็น 1 ใน 10 จังหวัดดีเด่น ในโครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่องครูสอนดี ภายใต้การดำเนินงาน ของคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจังหวัด พร้อมกันนี้ได้มีการจัดทำฐานข้อมูล ด้านการศึกษาเพื่อเห็นระดับความรุนแรงของปัญหาในแต่ละพื้นที่และเป็นพื้นที่นำร่องของการแก้ไขปัญหาโดยพบว่ามี เด็กจำนวน 564 คน ทั่วทั้งจังหวัดที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับด้วยเหตุนี้จังหวัดสุรินทร์ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคม แห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มอบหมายให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ จัดแถลงข่าวโครงการ ความร่วมมือด้านการสื่อสารการดำเนินงานจังหวัดดีเด่นจังหวัดสุรินทร์ สร้างโอกาสเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลการดำเนินการของคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษาจังหวัดสุรินทร์

ทั้งนี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ จึงขอเชิญสื่อมวลชนทุกท่านและผู้มีเกียรติร่วมงานแถลงข่าวโครงการดังกล่าว ในวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เวลา 13.00 น. ณ ห้องราชาวดี สวนป่ารีสอร์ท อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจะมีการแสดง ของเยาวชนโรงเรียนโสตศึกษา ฯ จังหวัดสุรินทร์ และการแถลงข่าว โดย นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายกิตติภัทร์ รุ่งธนเกียรติ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ นายทองสุข รวยสูงเนิน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป การเรียนรู้จังหวัดสุรินทร์ ผู้อำนวยการ กศน.จังหวัดสุรินทร์ วิทยาลัยการอาชีพปราสาท หรือวิทยาลัยการอาชีพสังขะ ร่วม แถลงข่าว ซึ่งดำเนินรายการโดยนายประนนท์ ไม้หอม นายช่างไฟฟ้าชำนาญงาน สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดสุรินทร์ จึงขอเชิญทุกท่านร่วมงานแถลงข่าว ตามวัน เวลาและสถานที่ดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน




กัญญรัตน์  เกียรติสุภา / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

สุรินทร์ ไป Road Show มหกรรมข้าวหอมมะลิและของดีกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์” 2-4 ส.ค.นี้

นายสิทธิพร  บางแก้ว พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้คัดเลือกจังหวัดสุรินทร์ ให้เป็นจังหวัดนำร่องในการขยายตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และกำหนดกลยุทธ์การส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย โดยการนำกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 หรือกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรเพาะปลูกข้าวหอมมะลิเป็นผลผลิตหลัก  ข้าวหอมมะลิเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้บริโภคว่าเป็นข้าวคุณภาพดี ขาวนุ่ม และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีสู่สากลขึ้น และมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการธุรกิจค้าข้าวและสินค้า OTOP ของนครชัยบุรินทร์ ไปจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดและกระจายสินค้า ชื่องาน “มหกรรมข้าวหอมมะลิ และของดีกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์” ระหว่างวันที่ 1-4 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์การค้าตลาดลีวัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและช่องทางการตลาดข้าวหอมมะลิและสินค้า OTOP ให้สามารถจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ข้าวหอมมะลิของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

โดยจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์และนักธุรกิจของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 2 สิงหาคม 2556 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมโรงแรมทวินโลตัส อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้น เวลา 17.00 น. นายนิรันดร์ กัลยารมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ จะเป็นประธานเปิดงาน“มหกรรมข้าวหอมมะลิ และของดีกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์” ที่ตลาดลีวัฒนา อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช โดยภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการการผลิตข้าวหอมมะลิ ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การสีแปรข้าวสาร การรมควันรักษาคุณภาพข้าว เพื่อให้ผู้บริโภคได้มั่นใจในคุณภาพ การจำหน่ายสินค้าของดีของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ จึงขอเชิญชวนชาวนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงร่วมชมงาน“มหกรรมข้าวหอมมะลิ และของดีกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์” ในช่วงดังกล่าวด้วย




กัญญรัตน์  เกียรติสุภา / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จ.สุรินทร์ร่วมกับ สสค.เร่งพัฒนาคนร่วมแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา

นายทองสุข รวยสูงเนิน ประธานกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้เลือกจังหวัดสุรินทร์ เป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นจังหวัดที่มีกระบวนการคัดเลือกครูสอนดี ดีเด่น ประจำปี 2554 โดยได้รับรางวัลเป็นงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จำนวน 3,000,000 บาท เพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาและเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ด้วยกลไกบริหารยุทธศาสตร์ของจังหวัดอันเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพที่จะดำเนินงานต่อเนื่องไปในระยะยาว ผนวกกับปัญหาเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นปัญหาที่ถูกละเลยไม่ได้รับการป้องกันแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นระบบมาช้านาน

จากข้อมูลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา  เขต 33 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1, 2 และ 3 พบว่า ปีการศึกษา 2554 มีนักเรียนออกกลางคันก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 564 คน จำแนกตามสาเหตุ คือ ฐานะยากจน 82 คน มีปัญหาครอบครัว 121 คน สมรสแล้ว 24 คน มีปัญหาในการ ปรับตัว 129 คน ต้องคดีถูกจับ 2 คน เจ็บป่วยอุบัติเหตุ 5 คน อพยพตามผู้ปกครอง 54 คน หาเลี้ยงครอบครัว 30 คน และกรณีอื่นๆ 117 คน ดังนั้น เมื่อพบกลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อการออกกลางคันแล้ว ไม่ได้มีแนวทางการดำเนินการหรือส่งต่อเด็กกลุ่มนี้ให้ไปในทิศทางใด จึงส่งผลให้นักเรียนที่ออกกลางคันจำนวนมากใช้ชีวิตอย่างไม่มีเป้าหมาย และมีแนวโน้มกระทำความผิด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเด็กที่ออกกลางคันมีแนวโน้มที่ถูกชักนำเข้าสู่วงจรปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด ก่ออาชญากรรม ฯลฯ

ด้วยเหตุดังกล่าว จังหวัดสุรินทร์ได้ร่วมกับ สสค.และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ จัดให้มีการแถลงข่าว โครงการความร่วมมือด้านการสื่อสารการดำเนินงานจังหวัดดีเด่นจังหวัดสุรินทร์ สร้างโอกาสเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลการดำเนินการของคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ในวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องราชาวดี สวนป่ารีสอร์ท อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้สื่อมวลชนร่วมขยายผลและเป็นเครือข่ายประชาสัมพันธ์ร่วมแก้ไขปัญหาเยาวชนที่ออกกลางคันได้มีโอกาสเข้าเรียน กศน.และฝึกอาชีพเพื่อเป็นช่างมีฝีมือรองรับประชาคมอาเซียนในโอกาสต่อไป




กัญญรัตน์  เกียรติสุภา / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

เทศบาลเมืองสุรินทร์ เปิดธนาคารขยะรีไซเคิลร่วมแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองอย่างเป็นระบบ

วันนี้ (29 ก.ค. 56) นายสมเมือง ตัณฑเลขา รองนายกเทศมนตรีฝ่ายโยธา เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารขยะรีไซเคิล เทศบาลเมืองสุรินทร์ ที่ธนาคารขยะรีไซเคิล เทศบาลเมืองสุรินทร์ โดยมี นายอัครพนธ์ เกตุสังข์พันธ์ ปลัดเทศบาล นายธนธัช รุ่งธนเกียรติ รองนายกเทศมนตรีฝ่ายการศึกษา สมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าส่วนการงาน คณะกรรมการชุมชน อสม. ร่วมเป็นเกียรติ

สำหรับธนาคารขยะรีไซเคิล เทศบาลเมืองสุรินทร์ เปิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองจากความเจริญเติบโตของเมืองสุรินทร์ ที่มีชุมชนอยู่อาศัยมากขึ้น ทำให้ปริมาณขยะมากขึ้นตามลำดับ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและสร้างระบบสังคมเมือง จึงได้ร่วมกับสถานศึกษาในเขตเทศบาลเมืองและชุมชนต่างๆ ให้นำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ มาขายที่ธนาคารขยะรีไซเคิล โดยจะทำการเปิดรับฝาก ทุกวันจันทร์ เวลา 08.30 – 12.00 น. ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถมาสมัครเป็นสมาชิก และฝากได้ โดยจะนำไปเป็นสิ่งประดิษฐลดโลกร้อนได้




กัญญรัตน์  เกียรติสุภา / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จังหวัดสุรินทร์ ขอเชิญทุกภาคส่วนร่วมชมรมช้างทอง 500 เพื่อร่วมบูรณาการทำงานเพื่อชุมชน

นายถาวร กุลโชติ  ปลัดจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ ได้ตั้งชมรมช้างทอง 500 เพื่อร่วมจัดกิจกรรมสร้างความสามัคคี โดยการพบปะสังสรรค์และปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการ (ช่วงเย็น) ตลอดจนได้ผ่อนคลายความเครียดจากการปฏิบัติงาน โดยทำกิจกรรมร่วมกันบ้างอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง จึงได้เชิญชวนหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดสุรินทร์และหัวหน้ากลุ่มงานในหน่วยงานของจังหวัดสุรินทร์ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งได้ดำเนินการเป็นประจำเดือนละ 1 ครั้ง

สำหรับ “ชมรมช้างทอง 500” มีผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ทั้ง 3 ท่าน เป็นที่ปรึกษาชมรม และคณะกรรมการบริหารชมรม ดังนี้ 1. ปลัดจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานชมรม 2. สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสุรินทร์ เป็นรองประธานฝ่ายชาย 3. สถิติจังหวัดสุรินทร์ เป็นรองประธานฝ่ายหญิง 4. สรรพากรพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นเหรัญญิก 5. พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ เป็นเลขานุการ ทั้งนี้จึงขอเชิญชวนหัวหน้าส่วนราชการร่วมสมัครเป็นสมาชิกช้างทอง ได้ที่ ที่ทำการปกครองจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป




กัญญรัตน์  เกียรติสุภา / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จ.สุรินทร์มีพื้นที่ป่าเหลือเพียงร้อยละ 11.50 เร่งจัดทำแผนส่งเสริมฟื้นฟูการปลูกป่า และป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้

นายถาวร  กุลโชติ  ปลัดจังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า จ.สุรินทร์มีพื้นที่ทั้งหมด  5.07 ล้านไร่ มีพื้นที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ตามแนวชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา ได้แก่ พื้นที่อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ  อำเภอกาบเชิง  และอำเภอพนมดงรัก  โดย จ.สุรินทร์ได้มีการประกาศเป็นเขตป่าจำนวน 1.11 ล้านไร่  ได้แก่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ และพื้นที่ป่าสวนแห่งชาติ 29 ป่า แต่มีพื้นที่เหลือเพียงร้อยละ 11.50 หรือประมาณ 5.8 แสนไร่เท่านั้น จ.สุรินทร์ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้  เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน  มาตรการส่งเสริมฟื้นฟูการปลูกป่า และการป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เป็นผู้อำนวยการศูนย์  และปลัดจังหวัดสุรินทร์เป็นเลขานุการศูนย์  ทำหน้าที่ กำหนดแนวทางการดำเนินงาน และมาตรการฟื้นฟูการปลูกป่าและป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ

นอกจากนั้น  จ.สุรินทร์ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ จังหวัดสุรินทร์  โดยกำหนดดำเนินการรวม 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้  มาตรการปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้  มาตรการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้  และมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ  โดยกำหนดดำเนินการทั้งแผนระยะสั้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม – กันยายน 2556 แผนระยะกลางตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2558  และแผนระยะยาวตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2560  โดยทุกแผนทุกหน่วยงานจะต้องร่วมบูรณาการการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน   เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์  เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และเพื่อช่วยบรรเทาภัยพิบัติจากปัญหาดินถล่ม  เป็นต้น




สมทรง   เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จังหวัดสุรินทร์ มีผู้บริจาคเงินสร้างหรือซ่อมแซมบ้านธารน้ำใจสร้างสุข สร้างรอยยิ้ม กว่า 1 แสนบาท

นายถาวร กุลโชติ  ปลัดจังวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ตามที่จังหวัดสุรินทร์  ได้ดำเนินการก่อสร้าง/ซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ตามโครงการบ้านธารน้ำใจ สร้างรอยยิ้ม จังหวัดสุรินทร์ ประจำปีงบประมาณ 2556 เดือนละ 1 หลัง ในแต่ละอำเภอ โดยมีการทำประชาคมหมู่บ้าน คัดเลือกผู้ที่ยากจน ผู้สูงอายุ ผู้ที่เจ็บป่วย ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือมีแต่บ้านหลังเล็ก เป็นกระต๊อบไม่สามารถคุ้มแดดคุ้มฝนได้ ซึ่งจังหวัดสุรินทร์ได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนในการก่อสร้าง/ซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ ตามโครงการดังกล่าวได้ตลอดเวลา และช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคได้ 2 ช่องทาง คือโอนเงินเข้าชื่อบัญชี "โครงการบ้านธารน้ำใจสร้างสุข สร้างรอยยิ้มจังหวัดสุรินทร์” หมายเลขบัญชี 310-0-47227-6 ธนาคารกรุงไทย สาขาสุรินทร์ แล้วกรุณาแจ้งให้จังหวัดทราบด้วยทางโทรสาร 044-515472 และบริจาคโดยตรงได้ที่ ที่ทำการปกครองจังหวัดสุรินทร์ (กลุ่มงานปกครอง) ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ โทร 044-515472 นั้น ปรากฏว่าในขณะนี้ มีส่วนราชการ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมบริจาคเงินแล้ว จํานวน 82 ราย รวมเป็นเงิน 113,369 บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสามพันสามร้อยหกสิบเก้าบาทถ้วน)

สำหรับในรอบเดือนกรกฎาคม 2556 ได้มีผู้บริจาค จํานวน 2 ราย ดังนี้ 1) บริษัท โรงสีประเสริฐผล สุรินทร์ ตําบลจอมพระ อําเภอจอมพระ โดยคุณเกียรติศักดิ์ เต็งพิพัฒน์ จํานวน 10,000 บาท และ 2) ห้างหุ้นส่วนจํากัดสมบัติยนตรการ ตําบลจอมพระ อําเภอจอมพระ โดยคุณสมบัติ เงางาม จํานวน 5,000 บาท ซึ่งจังหวัดได้มอบเกียรติบัตรเพื่อเป็นการขอบคุณเรียบร้อยแล้ว





กัญญรัตน์  เกียรติสุภา  / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จ.สุรินทร์ยังคงมีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดมาจากจังหวัดใกล้เคียงที่ติดแนวชายแดน

นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องรวมพลังร่วมแรงร่วมใจ เร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดสุรินทร์ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหายาเสพติด และผลการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด  พบว่าในเดือนกรกฎาคม 2556 สถานการณ์ยาเสพติดของจังหวัดสุรินทร์ยังคงปรากฏความเคลื่อนไหวด้านการค้าและการแพร่ระบาดของยาเสพติด   ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักค้ารายย่อยในพื้นที่ลักลอบนำเข้ายาเสพติดมาจากจังหวัดใกล้เคียงที่ติดแนวชายแดน   นำเข้ามาจำหน่ายให้กับกลุ่มอาชีพรับจ้าง กลุ่มว่างงาน กลุ่มนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์  กล่าวอีกว่า ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์   ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติด ได้แก่ ที่สาธารณะ สถานบันเทิง โต๊ะสนุกเกอร์ ห้องพัก/ห้องเช่า โรงแรม รีสอร์ท หน้าโรงเรียนในเขตเทศบาล และเขตพื้นที่อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอปราสาท อำเภอศีขรภูมิ อำเภอกาบเชิง อำเภอรัตนบุรี  อำเภอสังขะ  อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม และอำเภอจอมพระ โดยตัวยาที่มีแนวโน้มแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นและกำลังเข้ามาทดแทนยาบ้า คือ ไอซ์

สำหรับการจับกุมยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ในเดือนกรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา มีการจับกุมจำนวน 157 ราย ผู้ต้องหาจำนวน 201 คน โดยจับกุมคดีเกี่ยวกับยาบ้ามากที่สุด 184 ราย ผู้ต้องหา 188 คน ของกลาง   8,616 เม็ด จับกุมได้มากที่สุดที่อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอปราสาท อำเภอศีขรภูมิ อำเภอกาบเชิง และอำเภอรัตนบุรี  จับกุมผู้ต้องหาได้ 80 ราย 38 ราย 14 ราย 13  ราย และ 8 ราย ตามลำดับ





สมทรง เผือกผล / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

สุรินทร์ เปิดโครงการปลูกข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช รับทราบกระบวนการปลูกข้าวแบบปลอดสารเคมี เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวจากแปลงนา

นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า เรือนจำจังหวัดสุรินทร์ร่วมกับบริษัท ชิน คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินโครงการปลูกข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช มุ่งเน้นการสนับสนุนองค์ความรู้ และกระบวนการปลูกข้าวแบบปลอดสารเคมี เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว และยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา อีกทั้งมุ่งส่งเสริมให้ชาวนาสามารถพึ่งพาตนเอง สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ไปสู่ชุมชนปลูกข้าวในพื้นที่อื่นๆของประเทศไทยต่อไป โดยในปี 2555 อินทัชได้ส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวพันธ์ไรซ์เบอร์รี่ในชุมชนบ้านดักคะนน ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท

สำหรับในปีนี้ ได้ขยายผลองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทางการตลาดในพื้นที่เดิม รวมถึงส่งเสริมการปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมกับเรือนจำกลาง จ.สุรินทร์ ด้วยการสนับสนุน และจัดการกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ต้องขัง เป็นทางเลือกในการใช้ชีวิตในสังคมภายหลังพ้นโทษ รวมถึงกลุ่มชาวนา และผู้ที่สนใจพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป ซึ่งกำหนดจัดในวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2556 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ พร้อมทั้งมีการเสวนา หัวข้อ การปลูกข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช จากนั้นจะมีการเยี่ยมชมแปลงนาในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวโคกตาบัน จ.สุรินทร์ การชมพิธีเลี้ยงผีตาแฮก และร่วมดำนาข้าวไรซ์เบอร์รี่ จึงขอเชิญชวนผู้มีเกียรติและคณะสื่อมวลชนร่วมงานดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน





กัญญรัตน์  เกียรติสุภา / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

สภาเกษตรกรจ.สุรินทร์ จัดเสวนาขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรจังหวัดสู่การปฏิบัติ

วันนี้ (29 ก.ค. 56) นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดการเสวนาและบรรยายพิเศษยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านเกษตรกรรมของจังหวัดสุรินทร์ และกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ที่โรงเรียนบ้านยางกระจับ ตำบลพรมเทพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ โดยมีประชาชนและสมาชิกสภาเกษตรกรในพื้นที่ตำบลพรมเทพร่วมเสวนากว่า 200 คน

ด้านนายทองคำ  ปิ่นแก้ว หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า การจัดเวทีเสวนาขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรจังหวัดสู่การปฏิบัติในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติเกษตรกรแห่งชาติ  พ.ศ. 2553 ในภารกิจ อำนาจหน้าที่ นโยบาย แผนงานและผลการดำเนินงานของสภาเกษตรกรในระดับต่างๆ รวมทั้งเรียนรู้นโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และแนวทางการพัฒนาเกษตรกร และองค์กรเกษตรกรของภาคีเครือข่ายและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไปสู่ความเข้มแข็ง

นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ลงพื้นที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปฏิบัติการทำฝนหลวง และการบินสำรวจข้อมูลแก้วิกฤติภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ พร้อมจัดแสดงนิทรรศการการทำฝนหลวง และการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนได้ชมด้วย




กิติวรรณ มณีล้ำ / สวท.สุรินทร์ / ข่าว

สุรินทร์ เตรียมประชุมการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเหล่ากาชาดจังหวัด ภาค 5 ครั้งที่ 3

นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์  เปิดเผยว่า เหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์  ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเหล่ากาชาดจังหวัด  ภาค 5 ประกอบด้วย จังหวัดมหาสารคาม ชัยภูมิ นครราสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ ครั้งที่3/2556  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบการปฏิบัติงาน การพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างสภากาชาดไทย เหล่ากาชาดจังหวัด คณะกรรมการและสมาชิกเหล่ากาชาดในวันที่ 15-16 สิงหาคม 2556 ณ ห้องรัตนสยามมงคล โรงแรมทองธารินทร์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์   ทั้งนี้ จึงขอเชิญคณะกรรมการเข้าร่วมเพื่อเตรียมการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเหล่ากาชาดจังหวัด ภาค 5 ครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 สิงหาคม 2556 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมศรีณรงค์ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ จึงขอเชิญประชุมในวันและเวลาดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน





กัญญรัตน์  เกียรติสุภา / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จังหวัดสุรินทร์ มีฝนตกในบางพื้นที่เตือนประชาชนระวังพายุฤดูร้อนในช่วงนี้

นายวิเชียร  จันทร์โณทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้รับการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในระยะ 1-2 วันนี้ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 80 ของพื้นที่ สำหรับจังหวัดสุรินทร์ มีฝนตกและลมกรรโชกแรงในบางพื้นที่แต่ไม่มากนัก

จึงขอแจ้งเตือนประชาชนได้ระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สิน จากพายุ ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในช่วงนี้ โดยการตรวจสอบ สิ่งก่อสร้างและบ้านอยู่ในลักษณะแข็งแรง รวมถึงงดใช้เครื่องมือสื่อสาร โทรศัพท์มือถือในที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง ในขณะเดียวกันขอให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบสิ่งก่อสร้างป้ายโฆษณาในแต่ละพื้นที่ โดยประชาชนที่ประสบภัยดังกล่าว ขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วนเช่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจที่สายด่วน 191 บาดเจ็บฉุกเฉินสายด่วน 1669 หรือสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจังหวัดสุรินทร์ โทร 0-4414-3059 หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง




กัญญรัตน์  เกียรติสุภา  / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

จ.สุรินทร์ ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รับมือสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้

นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์  กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ฤดูฝนของประเทศไทยในปี 2556 ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2556 จะมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ด้านตะวันตกหรือทะเลจีนใต้ และมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นกับจะมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ ประกอบกับในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน ของทุกปี ระดับน้ำในแม่น้ำมูล/ลำน้ำชีน้อย ลำน้ำสาขาต่างๆ และอ่างเก็บน้ำที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ จะมีปริมาณน้ำมาก อาจจะเกิดสภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก

จังหวัดสุรินทร์ จึงได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ปี 2556 พร้อมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่มที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนปีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและทันต่อสถานการณ์





กิติวรรณ  มณีล้ำ / สวท.สุรินทร์ / ข่าว

เหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ กำหนดแผนออกรับบริจาคโลหิตเดือนสิงหาคม

นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์  กล่าวว่า เหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์  ได้ร่วมกับสถานีกาชาดที่ 1 จังหวัดสุรินทร์ และธนาคารเลือดโรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ จัดทำแผนรับบริจาคโลหิตเป็นประจำทุก 3 เดือน เพื่อออกรับบริจาคโลหิตตามหน่วยงานราชการ อำเภอ และสถานศึกษาต่างๆ ตามพื้นที่จังหวัด จึงขอเชิญชวนผู้บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ

สำหรับกำหนดการออกรับบริจาคโลหิต ประจำเดือนสิงหาคม 2556 มีดังนี้

วันที่ 2 สิงหาคม 2556 ที่หอประชุมโรงเรียนสังขะ

วันที่ 6 สิงหาคม 2556 ที่หอประชุมอำเภอเขวาสินรินทร์

วันที่ 7 สิงหาคม 2556 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

วันที่ 12 สิงหาคม 2556 ที่หอประชุมจังหวัดสุรินทร์

วันที่ 14 สิงหาคม 2556 ที่หอประชุมอำเภอสังขะ

วันที่ 20 สิงหาคม 2556 ที่หอประชุมโรงเรียนรัตนบุรี

วันที่ 21 สิงหาคม 2556 ที่หอประชุมอำเภอชุมพลบุรี

วันที่ 22 สิงหาคม 2556 ที่หอประชุมโรงเรียนประสาทวิทยาคาร

วันที่ 27 สิงหาคม 2556 ที่หอประชุมโรงเรียนสุรพินทร์พิทยา

และวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ที่หอประชุมโรงเรียนสุรวิทยาคาร




กัญญรัตน์  เกียรติสุภา / ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว