วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พัฒนาธุรกิจการค้ามุกดาหารจัดโครงการ”ลดต้นทุนธุรกิจ SMEs”

นางสาวอสมา พรหมพูล หัวหน้าสำนักงานธุรกิจการค้าจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีว่าช่วยว่ากระทรวงพาณิชย์(นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ) ในการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ซึ่งถือเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้จัดทำโครงการ ”ลดต้นทุนธุรกิจ SMEs”เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ในการสนับสนุนการใช้แรงงานของผู้ต้องขังที่มีคุณภาพ เพื่อผลิตสินค้าและบริการให้แก่ธุรกิจ SMEs มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การใช้แรงงานผู้ต้องขังที่มีอยู่ทั่วประเทศ จะช่วยให้การบริหารจัดการขนส่งสินค้าที่ผลิตในพื้นที่ หรือใกล้แหล่งผู้บริโภค มีประสิทธิภาพ ทำให้ลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้า ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังให้มีงานทำเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ต้องขังก่อนกลับสู่สังคม ที่จะได้รับโอกาสในการฝึกฝนทักษะวิชาชีพ เพื่อสร้างความรู้ความชำนาญ สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวต่อไป นอกจากนี้ผู้ต้องขังจะได้รับรางวัลปันผลไว้ใช้ระหว่างต้องโทษหรือเป็นทุนประกอบอาชีพหลังจากพ้นโทษแล้ว ช่วยลดปัญหาสังคมและผู้ต้องขังไม่หวนกลับสู่สิ่งผิดกฎหมายซ้ำอีก

หัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดมุกดาหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวจักเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยขอรับใบสมัคร และยื่นความจำนงได้ที่สำนักงานธุรกิจการค้าจังหวัดมุกดาหาร และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ โทร 0-2547-5950,53-55สายด่วน 1570หรือ e-mail tradebusiness@dbd.go.thหรือส่วนบริหารแรงงานและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์กรมราชทัณฑ์ โทร 0-2967-3562-3 หรือ ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.dbd.go.th



สุภาวดี อัมไพพันธ์ ส.ปชส.มกดาหาร/ข่าว

นโยบายรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา

นายแสงทอง อนันตภักดิ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า จากปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราของไทยประสบปัญหาราคายางไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่พึ่งพารายได้จากการทำสวนยางอย่างเดียว ทำให้มีความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาที่ไม่แน่นอน ซึ่งปรับตัวขึ้นลงตามกลไกของตลาดโลก โดยเฉพาะช่วงราคาทรุดตัวทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน

จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลมีความห่วงใยและมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา รัฐบาลจึงได้จัดทำ "โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี ๒๕๕๗”โดยกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ในส่วนของแนวทางการช่วยเหลือระยะสั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เพื่อเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี ๒๕๕๗ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีประมาณ ๗๔%ของชาวสวนยางทั้งหมด โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีแผนเร่งดำเนินการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทุกแปลงทั่วประเทศ โดยขยายระยะเวลาออกไปอีกจากวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ โดยเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจะต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนด

ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตในรูปเงินสดแก่เกษตรกรที่มีใบรับรอง โดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)โดยจะให้ความช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่กรีดยางแล้วไม่เกิน ๒๕ ไร่ ตามพื้นที่เปิดกรีดจริงในอัตราไร่ละ ๒,๕๒๐ บาท จะสามารถช่วยลดภาระต้นทนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรได้

ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารายื่นความจำนงขอขึ้นทะเบียน และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านในพื้นที่ตั้งแปลงปลูก หรือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดมุกดาหาร โทร ๐๔๒ ๖๑๓๐๓๔, ๐๔๒ ๖๑๑๔๔๐



สุภาวดี อัมไพพันธ์ ส.ปชส.มกดาหาร/ข่าว

มุกดาหารจัดกิจกรรมฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระพระญานสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ที่ศาลาปฏิบัติธรรมวัดศรีมงคลใต้ พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร นายสกลสฤษฏ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารได้ เป็นประธานนำส่วนราชการพร้อมด้วยพี่น้องประชาชนชาวมุกดาหาร แต่งกายชุดขาว ร่วมกิจกรรมส่งเสริมศีลธรรมฉลองพระชันษา100ปี สมเด็จพระพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหารได้จัดขึ้น เนื่องในโอกาสมหามงคลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงพระเจริญพระชันษา 100ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยได้มีพิธีการสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพิธีถวายราชสักการะ เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก คณะสงฆ์นำสวดมนต์และสวด โพฌังคปริตร ถวายพระพรชัยมงคลจากนั้นนายปราโมทย์ ชาวเมืองโขง วัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร เป็นต้นเสียงนำอ่านคำประพันธ์ถวายพระพรสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมอ่านคำประพันธ์พร้อมกัน



พิพัฒน์ เพชรสังหาร ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว
สุระณรงค์ อ่อนสนิท ส.ปชส.มุกดาหาร/ภาพ

ร้อยเอ็ด เตรียมต้อนรับ น้องแนน นางสาวทัชดาว นึกแจ้ง นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย 4 ต.ค. นี้

วันนี้ 2 ตุลาคม 2556 เวลา 10.00 น. นายธัชชัย สีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมสรปผลการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 42 รอบคัดเลือกตัวแทนภาค 3 "ร้อยเอ็ดเกมส์" ระหว่างวันที่ 2 - 12 กันยายน ที่ผ่านมาและ เดินหน้าเตรียมต้อนรับและแสดงความยินดีนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย นางสาวทัชดาว นึกแจ้ง(น้องแนน) 4 ตุลาคม นี้ ณ สนามหน้าเทศบาลตำบลโคกล่ามและหอประชุม อำเภอจตุรพัตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด



กำหนดการรับน้องแนน  ในวันที่ 4 ตุลาคม 2556  ดังนี้

เวลา 13.00 น. ทุกภาคส่วนพร้อมกันที่  หอประชุม อ.จตุรพัตรพิมาน

เวลา 13.20 น.กับ น้องแนน  นางสาวทัชดาว นึกแจ้ง  นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย เดินทางถึง บริเวณงาน สักการะสิ่งศักดิ์สิทธ์ คู่บ้าน คู่เมือง ได้แก่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าปู่ชินราช ศาลท่านเท้ามหาพรหม

เวลา 14.00 น นายอำเภอจตุรพัตรพิมาน กล่าวต้อนรับ ชื่นชม ยินดีและมอบใบประกาศเกียรติคุณ น้องแนนพบปะพี่น้องประชาชน ขึ้นขบวนรถแห่รอบเมือง เดินทางสู่บ้านหนองสิม ตำบลโคกล่าม และเทศบาลตำบลโคกล่าม ประชาชนร่วมยินดี ต้อนรับนักกีฬา วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยและพิธีบายศรีสู่ขวัญ

เวลา 17.00 น.นายสมศักดิ์  ขำทวีพรหม  ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางมาร่วมเป็นเกียรติ ณ สนามหน้าเทศบาลตำบลโคกล่าม มอบช่อดอกไม้ ของที่ระลึก ร่วมแสดงความยินดี อย่างเป็นทางการ เสร็จแล้วร่วมรับประทานอาหาร จนเสร็จพิธี




คมกฤช  พวงศรีเคน  ข่าว/ภาพ

กมลพร  คำนึง  บก.ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ้ด 043-527117 

ปภ.ร้อยเอ็ด และชาวบ้าน 3 ตำบล จาก 2 อำเภอ นั่งเรือพาย ถกปัญหา เพื่อข้อยุติ การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงน้ำเสียว เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมนาข้าว หลายหมื่นไร่ เพือระบายน้ำลงลำน้ำมูลแทน

นายพิทยา กุดหอม ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดร้อยเอ็ด และคณะ พร้อมด้วย แกนนำชุมชน ตำบลดอกไม้,ตำบลนาใหญ่ อ.สุวรรณภูมิ และ แกนนำชุมชนตำบลคูเมือง อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด นั่งเรือพาย ลงสำรวจและศึกษาหาทางแก้ปัญหาน้ำฝนที่ตกติดต่อกันในจังหวัดร้อยเอ็ด หลายวันติดต่อกัน จนเกิดการท่วมขังพื้นที่การเกษตรหรือนาข้าวของชาวบ้าน 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน เนื่องจากการระบายน้ำหลากลงในลำน้ำเสียว เพื่อระบายลงสู่ลำน้ำมูล ไม่สามารถระบายได้ทัน ส่งผลกระทบต่อนาข้าวของชาวบ้านจำนวนมาก

  การสำรวจข้อเท็จจริง ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง คือ ปลัดเทศบาล และนายช่างโยธา ของเทศบาลตำบลดอกไม้,กำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลนาใหญ่ อ.สุวรรณภูมิ,กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต.คูเมือง อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด ตรวจสอบสภาพการไหลของน้ำ ที่ชาวบ้านเชื่อว่าวัชพืชและผักปอดจำนวนมากในตำบลดอกไม้และสะพานเหนือฝายวังยาง ที่บ้านโคกทับเต่า มีท่อระบายน้ำเล็กเกินไป เป็นต้นเหตุของการระบายน้ำไม่ทัน ทำให้น้ำท่วมนาข้าวที่กำลังตั้งท้อง และออกรวง ในพื้นที่ 3ตำบล ใน 2 อำเภอ กว่า 6,000  ไร่ กำลังจะได้รับความเสียหาย ต้องการให้มีการเร่งแก้ไปด้วยการขุดลอกผักตบชวาออก พร้อมกับตัดถนนบริเวณคอสะพาน ที่บ้าน โคกทับเต่า ออกให้น้ำไหลระบายได้สะดวกยิ่งขึ้น

 และพร้อมกันนั้น ยังต้องการให้มีการตัดแนวกั้นน้ำใต้ฝายวังยาง ที่กั้นน้ำไม่ให้ไหลลงลำน้ำเสียว  ที่มีแนวยาว 800 เมตรกั้นน้ำอยู่  ออก 200 เมตร  เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ซึ่งท่วมขัง  เปิดทางให้น้ำสามาถไหลลงสู่ลำน้ำเสียว ระบายสู่ลำน้ำมูลต่อไป เพราะหากไม่มีการระบายออกไป ฝนที่ยังจะตกลงมาอีก ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับนาข้าว ขยายวงกว้าง สร้างความเสียหายให้กับนาข้าวอีกหลายหมื่นไร่ที่ยังเหลืออยู่ ของ 2 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจะเสียหายมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่นายพิทยา กุดหอม ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ว่า จากการรับฟังปัญหาและศึกษาสภาพสถานที่ทั้งหมดแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกี่ยวกับการชะลอน้ำของผักตบชวา หรือปัญหาการระบายน้ำของท่อลอดของน้ำได้สะพานตามที่เข้าใจ และการขัดคอสะพานเพื่อระบายน้ำ ก็มีชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะเกิดหลายปัญหานำไปสู่คามขัดแย้งตามมา

ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือต้องทำการขุดเจาะ หรือตัดแนวกั้นน้ำใต้ฝายวังยาง ตรงท้ายสุดใกล้ลำเสียวที่กั้นอยู่  ซึ่งมีแนวยาว 800  เมตร ด้วยการขุดออก 200 เมตร เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำน้ำเสียว เพื่อระบายออกไปสู่ลำน้ำมูล จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหา

ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้ ขอให้แกนนำชุมชนเร่งทำประชาพิจารณ์เพื่อรับความเห็นชอบ และในส่วนของป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ก็จะนำเสนอปัญหา และแนวทางแก้ปัญหาให้ นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับทราบและขอความเห็นชอบ เพื่อเร่งแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับ เจ้าของนาข้าวที่ได้รับผลกระทบต่อไปด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความรวดเร็วก่อนที่นาข้าวจะเสียทั้งหมด

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ผู้แทนพระองค์ มอบถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 500 ถุง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเขตตำบลหนองหัวช้าง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 ก.ย.56 ที่โรงเรียนบ้านลือชัยโนนศรีไคลร่องน้ำคำ ตำบลหนองหัวช้าง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายดำรง รัตนพานิช รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เป็นผู้แทนพระองค์ ในการมอบถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 500 ถุง ให้กับผู้ประสบอุทกภัย ในเขตตำบลหนองหัวช้าง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยพิบัติ โดยมีนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้การต้อนรับ

นายประทีป กล่าวว่า ตำบลหนองหัวช้าง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบจากมรสุมพัดผ่าน ทำให้พื้นที่ของตำบล เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำของห้วยขะยุงและห้วยผีถู เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเข้าขั้นวิกฤติและได้ไหลท่วมพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัยของราษฎร จำนวน 3409 คน 868 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย จำนวน 2667 ไร่ วัด 1 แห่ง โดยในช่วงที่ผ่านมา จังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน อาสาสมัคร มูลนิธิ ตลอดจนประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียง ต่างเข้าให้การช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎณ อย่างเร่งด่วนแล้ว

ทั้งนี้ ในการที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายดำรง รัตนพานิช รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เป็นผู้แทนพระองค์ ในการมอบถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 500 ถุง ให้กับผู้ประสบอุทกภัย ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อย่างยิ่ง ซึ่งพสกนิกรจังหวัดศรีสะเกษต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้พระราชทานถุงยังชีพให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้

ศรีสะเกษ ระดม ทุกภาคส่วน รับมือ โรคโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2012 และไข้หวัดนกสายพันธ์ A H7N9 และ H5N1 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ต.ค.56 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ นายสนิท ขาวสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการซ้อมแผนเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2012 และไข้หวัดนกสายพันธ์ A H7N9 และ H5N1 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศอยู่ในขณะนี้ โดยมีนายแพทย์ประวิ อ่ำพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวรายงานถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ และไข้หวัดนกสายพันธ์ A H7N9 และ H5N1 พร้อมด้วย ส่วนราชการทุกภาคส่วน ที่ร่วมประชุมในครั้งนี้

นายแพทย์ประวิ กล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธ์ใหม่ 2012 มีรายงานพบเชื้อตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1965 ซึ่งพบได้ทั่วโลกในเขตที่อบอุ่น ในช่วงฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิ โดยแพร่กระจายผ่านทางการสัมผัส กับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ หรือแพร่กระจายเชื้อจากฝอยละอองน้ำมูกน้ำลาย อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในระบบทางเดินหายใจ จะเกิดอาการไข้อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอ โดยในทารกที่มีอาการรุนแรงอาจมีลักษณะของปอดอักเสบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ ในเด็กโตอาจมีอาการของหอบหืด ส่วนในผู้ใหญ่อาจพบลักษณะปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง อาจเกิดอาการรุนแรงในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งผู้ติดเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการ หรือหากแสดงอาการมักพบร่วมกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ สำหรับการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลียหรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แล้วมีอาการไอหอบเหนื่อยอย่างรวดเร็ว ซึ่งอัตราจะสูงขึ้น ในผู้ป่วยสูงอายุหรือมีโรคประจำตัว ในส่วนของการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสในระบบทางเดินอาหาร มักพบบ่อยในเด็กแรกเกิดและทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี หรืออาจพบในผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยพบเชื้อได้ แม้ผู้ป่วยไม่แสดงอาการ และไม่มีฤดูกาลของโรคที่แน่นอน ซึ่งล่าสุดในส่วนของประเทศไทย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสนี้แต่อย่างใด

นายแพทย์ประวิ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์การของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ A H7N9 และ H5N1 ในส่วนของประเทศไทย ยังไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด ซึ่งไข้หวัดนกสายพันธุ์ A H7N9 สถานการณ์ล่าสุดในประเทศจีนพบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ จำนวน 135 ราย เสียชีวิต 44 ราย ส่วนของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 รายงานล่าสุดพบว่า มีการแพร่ระบาดในประเทศกัมพูชา โดยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 4 ราย และเสียชีวิต 1 ราย อีกทั้งในห้วงของเดือน เมษายนที่ผ่านมา มีรายงานพบเชื้อไข้หวดนก H5N1 ในสัตว์ปีกธรรมชาติและฟาร์มสัตว์ปีก ในประเทศภูฎาน อินเดีย และกัมพูชา

ด้าน รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ในส่วนของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2012 และไข้หวัดนกสายพันธ์ A H7N9 และ H5N1 ทางจังหวัดศรีสะเกษ จะได้ประสานความร่วมมือไปยังสาธารณสุขอำเภอทั้ง 22 อำเภอ ของจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้ดำเนินการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะ

โรคไข้หวัดนกสายพันธ์ H5N1 ซึ่งในขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรา ดังนั้น
ผู้ที่จำเป็นเดินทางไปต่างประเทศ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก และไม่คลุกคลี กับผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงว่าจะติดโรค หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยตายโดยตรง ในการสัมผัสควรสวมเครื่องป้องกัน และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งตามาตรฐาน หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อ ดำเนินการตรวจสอบ และถ้ามีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสกับสัตว์ปีกหรือผู้ป่วยปอดอักเสบ ควรรีบพบแพทย์ให้ทำการรักษาอย่างเร่งด่วน 

นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำท่วมและมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 56 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ คณะ ประกอบด้วย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และมอบถุงยังชีพ ให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่

โดยเมื่อเวลา 13.00 น. ที่หอประชุมฑีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรรีสะเกษ นายกรัฐมนตรี และ คณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและพร้อมมอบถุงยังชีพ จำนวน 2,000 ชุด ให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ พร้อมมอบนโยบายให้กับหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวสรุปถึงสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน

หลังจากนั้น เวลา 14.00 น. ที่ว่าการอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ นายกรัฐมนตรี และ คณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและพร้อมมอบถุงยังชีพ จำนวน 1,000 ชุด ให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในเขตอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ

ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ จะได้เดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชานี เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่อไป

รองนายกรัฐมนตรี ตรวจน้ำท่วมและมอบถุงยังชีพ ขณะที่ รมว.คมนาคม เตรียมฟื้นฟูถนนหนทางที่ชำรุด หลังน้ำท่วมเร่งสำรวจ เพื่อซ่อมแซมด่วน

เมื่อวันที่ 29 ก.ย.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ได้เดินทางมาตรวจสถานการณ์น้ำท่วมของ จ.ศรีสะเกษ โดยมี นายประทีป กีรติเรขา ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายธเนศ เครือรัตน์ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคไทยรักไทย และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมและการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ทราบ จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางโดยรถบรรทุก 6 ล้อของทหาร เดินทางฝ่าน้ำท่วมเข้าไปตรวจสภาพบ้านเรือนของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมที่หมู่บ้านจตุรโชค ซึ่งพบว่า ระดับน้ำท่วมเริ่มลดลงแล้ว จากนั้น ได้เดินทางไปเยี่ยมชาวศรีสะเกษที่ถูกน้ำท่วมบ้าน และได้อพยพมาพักอยู่ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.ศรีสะเกษ พร้อมทั้งได้มอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ศูนย์อพยพแห่งนี้ด้วย

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วม จ.ศรีสะเกษ หากไม่มีพายุฝนเข้ามาเติมน้ำอีก คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ว ๆ นี้ ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของ จ.ศรีสะเกษ โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษในอนาคตนั้น จะมี 2 แนวทาง คือ 1. สร้างผนังกั้นน้ำตลอดลำน้ำห้วยสำราญ และลำน้ำมูลที่ไหลผ่านเมืองศรีสะเกษ 2. สร้างผนังกั้นน้ำเฉพาะรอบเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ซึ่งแนวทางที่ 2 มีความเป็นไปได้ เพราะว่าพื้นที่ไม่กว้างจนเกินไป ซึ่งในทางที่ 1 ระยะทางจะยาวมาก แต่ว่าเรื่องนี้ก็คงจะต้องมีคณะทำงานขึ้นมาพิจารณากันอย่างละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง และตนขอฝากถึงประชาชนชาว จ.ศรีสะเกษ ว่า รัฐบาลนำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนชาวศรีสะเกษ และชาวไทยทั่วประเทศที่ถูกน้ำท่วมทุกคน และได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องให้ลงไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้อย่างเต็มที่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า น้ำท่วมในครั้งนี้มีหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และหลังจากน้ำท่วมลดลงแล้ว ตนจะได้สั่งการให้ทำการสำรวจถนนหนทาง รวมทั้งสะพานต่าง ๆ ที่ชำรุด เพื่อจะได้ทำการซ่อมแซมให้สามารถใช้การได้เช่นเดิมโดยด่วน ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้เงินจำนวนหลายพันล้านบาทด้วยกัน แต่ว่าก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่จะใช้ถนนในการสัญจรไปมาให้สะดวกสบายเช่นเดิม โดยจะเริ่มทำการสำรวจถนนที่ชำรุดในเร็ว ๆ นี้

รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วม จังหวัดศรีสะเกษ ผุดแนวคิด แจกสมาร์ทโฟนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อใช้ในการประสานงานกับส่วนราชการ ยามเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ

วันที่ 29 ก.ย. 56 นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ในเขต 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอห้วยทับทัน อำเภอปรางค์กู่ เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำท่วม และมอบถุงยังชีพ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับประชาชนเพื่อให้กำลังใจกับประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ

โดย นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ได้กล่าวขณะที่กำลังมอบนโยบายให้กับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ว่า ในขณะนี้ตนมีแนวคิด ที่จะดำเนินการปรับฐานเงินเดือนให้กับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ โดย กำนัน จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท ปรับขึ่นเป็น เดือนละ 12,000 บาท ส่วนของผู้ใหญ่บ้าน จากเดิม 7,000 บาท ปรับขึ้นเป็น 9,000 บาท อีกทั้งตนยังมีแนวคิดที่จะ ทำนโยบายแจกสมาร์ทโฟนให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั่วประเทศ เพื่อให้การประสานงาน กับส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือชาวบ้าน เป็นไปด้วยความรวดเร็ว มากยิ่งขึ้น และทันเหตุการณ์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ คาดว่า ประมาณปลายปี 2556 ตนจะได้ดำเนินการทำเรื่องเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาตามลำดับต่อไป

สระแก้วมอบทุนแก่พระภิกษุที่สอบบาลี ประจำปี 2556

ที่วัดหนองกระพ้อ อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว จัดพิธีฉลองเปรียญธรรมประโยค 1-2-3-4 จังหวัดสระแก้ว พร้อมมอบทุนการศึกษาให้แก่พระภิกษุ สามเณรที่สอบบาลีสนามหลวงประจำปี 2556 ได้ โดยพระพรมสุธี เจ้าคณะภาค 12 ประธานฝ่ายสงฆ์เป็นประธานมอบทุนให้แก่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร และนายเสนาะ เทียนทอง ประธานฝ่ายฆารวาส โดยมมีนายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว หัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมพิธีในวันนี้

พระรัตนสราธิคุณ รองเจ้าคณะจังหวัดสระแก้วได้รับมอบหมายจากพระราชธรรมภาณี เจ้าคณะจังหวัดสระแก้วให้ดูแลในเรื่องการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรในจังหวัดสระแก้ว ในด้านนักธรรมและธรรมบาลี จัดการศึกษาให้แก่พระเณรในจังหวัดสระแก้วซึ่งในปีนี้พระเณรที่สอบบาลีได้ แยกเป็น 1-2 จำนวน 9 รูป ประโยค ป.ธ. 3 จำนวน 9 รูปและป.ธ.4 จำนวน 5 รูป ทุนละ 3,000 บาท จึงได้จัดพิธีมอบทุนการศึกษาให้แก่พระเณรที่สอบได้

สระแก้วจัดโครงการส่งเสริมศีลธรรม ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ที่วัดสระแก้ว พระอารามหลวง  ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว นายชูศักดิ์  ตรีสารและนายวินัย  วิทนายุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมศีลธรรม ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับ สำนักงานเจ้าคณะอำเภอเมืองสระแก้ว  จัดขึ้นเพื่อฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก โดยจัดให้มีกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 101 รูป การแข่งขันตอบปัญหาธรรมะของนักเรียน การประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะของนักเรียน

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกที่ทรงมีพระชนมพรรษายาวนานที่สุดในแผ่นดินสยามการจัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมถวายเป็นพระราชกุศลพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 

อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จัดกิจกรรมส่งเสริมศีลธรรมฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

เวลา ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่วัดอำนาจเจริญ ตำบลบุ่ง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ  เป็นประธานในพิธีถวายพระพร สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  และการจัดกิจกรรมส่งเสริมศีลธรรมฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี  ซึ่งทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกับอำเภอเมืองอำนาจเจริญ จัดขึ้น  เนื่องในโอกาสทรงมีพระชันษา ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖

นายสมศักดิ์ แสนหิรัณย์ นายอำเภอเมืองอำนาจเจริญ กล่าวว่า เนื่องจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  ทรงมีพระชันษา ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ นับเป็นมหามงคลยิ่ง ที่คนไทยและพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะได้มีโอกาสร่วมใจกันทำความดีในกิจกรรมต่างๆ ที่ทุกภาคส่วนจัดขึ้น รวมทั้งโครงการส่งเสริมศีลธรรมฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี  ซึ่งกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จัดขึ้นในครั้งนี้  โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเรียน เยาวชน ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป

กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ประกอบด้วยพิธีถวายพระพรโดยนายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ การร่วมกันเจริญจิตภาวนา การเจริญพระพุทธมนต์ การถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ การกล่าวบทอาเศียรวาท โดยครูจากโรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ นอกจากนี้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ขอประทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  ออกมาประดิษฐานยังสถานที่อันเป็นศูนย์กลางของชุมชน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าได้น้อมรำลึกถึงวันชาตกาล ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  ที่พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ยาวนานที่สุด ในบรรดาสมเด็จพระสังฆราชที่มีมาในแผ่นดินสยาม



สุรพล บุตรวงศ์ ปชส.อจ./ข่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญขอแรงงานผู้ต้องขังจากเรือนจำจังหวัดและเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองอำนาจเจริญรื้อขยะและวัชพืชในห้วยปลาแดกเปิดทางระบายน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ

วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่บริเวณลำห้วยปลาแดก ในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ ทางเรือนจำจังหวัดอำนาจเจริญ ได้นำแรงงานผู้ต้องขังชั้นดี ลงทำงานรื้อเศษขยะ วัชพืช และผักตบชวา ขึ้นจากลำห้วยปลาแดกซึ่งเป็นปัญหาขวางทางไหลของน้ำ เพื่อเป็นการเปิดทางให้น้ำจากกรณีฝนตกไหลระบายได้รวดเร็วขึ้น โดยทางเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ สนับสนุนเจ้าหน้าที่ และรถยนต์ในการเข้าดำเนินการ  เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ

เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้คลองระบายน้ำ และห้วยปลาแดกน้ำเอ่อล้นเข้าท่วม  ถนนและพื้นที่ตั้งชุมชนในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนหน้าโรงพยาบาลอำนาจเจริญ ถนนบายพาสด้านหมู่บ้านการเคหะ และในหมู่บ้านบุ่งพัฒนา ซึ่งนายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่สำรวจ พบว่าสาเหตุหนึ่งมาจากห้วยปลาแดกซึ่งลำห้วยหลัก ที่รองรับการระบายน้ำออกจากตัวเมืองระบายไม่ทันอันเนื่องมาจากคลองระบายน้ำมีความตื้นเขิน และเศษขยะอุดตัน  ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้ประชาชนและเป็นการป้องกันปัญหา ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ จึงขอสนับสนุนแรงงานจากผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกับทางเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ  เข้าดำเนินการ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเหล่านี้ออกไป เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ



สุรพล บุตรวงศ์ ปชส.อจ./ข่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญออกรายการวิทยุแจ้งการขยายเวลาให้เกษตรกรไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราถึงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖

เวลา ๐๖.๑๐ น. วันนี้ (๒ ตุลาคม ๒๕๕๖) นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ไปพูดออกอากาศในรายการ "นานาสาระกับผู้ว่าฯอำนาจเจริญ " ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นรายการวิทยุที่จัดทุกเช้าวันพุธ เวลา ๐๖.๑๐ ถึงเวลา ๐๗.๐๐ น.  โดยจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ไปร่วมออกรายการเพื่อชี้แจงและประชาสัมพันธ์การดำเนินงานให้ประชาชนชาวจังหวัดอำนาจเจริญรับทราบ ขณะเดียวกันก็รับฟังข้อคิดเห็นหรือเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนในรายการด้วย

เนื้อหารายการในวันนี้ นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้สนทนาและแจ้งข่าวในรายการเรื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขยายเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตามโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี ๒๕๕๗ ออกไปอีก ๑๕ วัน คือ ตั้งแต่วันที่ ๑ – ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ เพื่อให้เกษตรกรที่ยังตกหล่นได้ไปขึ้นทะเบียนผู้ปลูกยางพาราให้ครบทุกรายทุกพื้นที่

ซึ่งหลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านรายการวิทยุแล้ว ผู้สื่อข่าวได้ไปสังเกตุการณ์ที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอำนาจเจริญ พบว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ยังตกค้าง พากันไปลงทะเบียนกันบางตา เพราะส่วนใหญ่จะพากันไปขึ้นทะเบียนกันก่อนนี้แล้ว

โดยนายวสันต์ สวัสดิ์รัมย์ เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ  ได้สรุปการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตามโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี ๒๕๕๕/๒๕๕๖ ของจังหวัดอำนาจเจริญ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖  มีเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง ๗ อำเภอของจังหวัดอำนาจเจริญ ไปขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น ๘,๒๓๒ ครัวเรือน ที่สามารถบันทึกได้ จำนวน ๕,๓๖๔ ครัวเรือน เป็นสวนยางที่เปิดกรีดแล้ว ๔๐,๓๗๕ ไร่ ยังไม่เปิดกรีดจำนวน ๒๒,๘๕๗ ไร่ รวมทั้งสิ้น ๖๓,๒๓๓ ไร่ ซึ่งพื้นที่เปิดกรีดนั้น จะมีคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดระดับตำบลลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ส่วนพื้นที่ปลูกยางพาราที่ไม่สามารถบันทึกได้ เนื่องจากสาเหตุหลายอย่าง เช่น เอกสารไม่ครบ , มีการนำเอกสารสิทธิ์มาขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อนกับพืชอื่น , ใน ๑ ครัวเรือนเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนมากกว่า ๑ ราย , เกษตรกรบางรายยังไม่ไปขึ้นทะเบียนเกษตรกร  และบางรายขาดเอกสารของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ในโอกาสนี้ จึงขอประชาสัมพันธ์เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราไปขึ้นทะเบียนได้ ตามที่มีการขยายเวลา ตั้งแต่วันที่ ๑-๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ที่ปลูกยางพารา หรือตามสถานที่ที่ทางราชการกำหนด



สุรพล บุตรวงศ์/ข่าว

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ นำเครื่องอุปโภค บริโภค พระราชทานมอบให้ผู้ประสบอุทกภัยที่อุบลราชธานี

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ นำเครื่องอุปโภค บริโภค พระราชทานมอบให้ผู้ประสบอุทกภัยที่อุบลราชธานี อุบลราชธานี : นำเครื่องอุปโภค บริโภค พระราชทาน มอบให้ผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 3,000 ครอบครัว ในพื้นที่ อ.เมืองอุบลราชธานี, สว่างวีระวงศ์และพิบูลมังสาหาร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

เช้าวันนี้ (2 ต.ค. 56) นายพร อุดมพงษ์ รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ พร้อม นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำสิ่งของพระราชทาน มอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในเขต จ.อุบลราชธานี จำนวน 3.000 ชุด เพื่อเป็นการบรเทาความเดือดร้อนโดยในภาคเช้า มอบเครื่องอุปโภค บริโภค จำนวน 1,000 ชุด ให้แก่ผู้เดือดร้อนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ณ อาคารศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลนครอุบลราชธานี จากนั้นคณะได้เดินทางไปมอบถุงยังชีพพระราชทานแด่ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในเขต อำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 1.000 ชุด และอำเภอพิบูลมังสาหาร จำนวน 1,000 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนพร้อมทั้งเป็นขวัญและกำลังใจแก่ราษฎรที่กำลังประสบอุทกภัยและได้รับความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีกำลังไหลเชี่ยว และระดับน้ำมูลที่สะพานเสรีประชาธิปไตย เพิ่มขึ้นเมื่อเช้านี้ อยู่ที่ 9 เมตร 13 เซนติเมตร สูงกว่า ตลิ่ง 2 เมตร ส่งผลให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานีและเทศบาลเมืองวารินชำราบ ต้องอพยพไปอยู่ยังที่ปลอดภัย ซึ่งเทศบาลนครอุบลราชธานีและเทศบาลเมืองวารินชำราบได้จัดเตรียมไว้รองรับ



พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ส.ปชส.อุบลราชธานี
081 924 8609 /ข่าว/ 2 ต.ค. 56

จังหวัดอุบลราชธานี เผยผลการจับกุมยาเสพติด เดือน ก.ย. 56

อุบลราชธานี : ผลการจับกุมยาเสพติด ประจำเดือน กันยายน 56 จับยาบ้าได้ 8,577 เม็ด, กัญชา 1.3 กก.,พืชกระท่อม 5 กก., ยาไอซ์ 1.90 กรัม พร้อมยาอีและสารระเหย รวมผู้ต้องหา 771 คน บ่ายวันนี้ (30 ก.ย.56)

นายคันฉัตร ตันเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยส่วนภูมิภาค จังหวัดอุบลราชธานี ประจำเดือนกันยายน 2556 ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบการรายงานผลการจับกุมยาเสพติด ช่วงวันที่ 1-25 กันยายน 2556 โดยมีผลการจับกุมยาบ้า 730 ราย ผู้ต้องหา 741 คน ของกลางยาบ้า 8,577.50 เม็ด, ในข้อหาจำหน่าย 5 ราย ผู้ต้องหา 6 คน, ครอบครองเพื่อจำหน่าย 31 ราย ผู้ต้องหา 38 คน ครอบครอง 60 ราย ผู้ต้องหา 63 คน เสพยาบ้า 634 ราย ผู้ต้อวงหา 634 คน ปัสสาวะ 635 ขวด ส่วนการจับกุมกัญชา 15 ราย ผู้ต้องหา 15 คน ของกลางกัญชา 1.3 กิโลกรัม ปัสสาวะ 3 ขวด, พืชกระท่อม จับ 1 ราย ผู้ต้องหา 1 คน ของกลาง 5 กิโลกรัม, ยาไอซ์ รับ 3 ราย ผู้ต้องหา 3 คน ของกลาง 1.90 กิโลกรัม ปัสสาวะ 1 ขวด, ยาอี จับ 1 ราย ผู้ต้องหา 1 คน และสารระเหย จับ 11 ราย ผู้ต้องหา 10 คน ของกลาง กาว 9 กระป่อง ทินเนอร์ 2 ขวด

สำหรับพื้นที่ที่มีการจับกุมยาเสพติดมาก ได้แก่ อ.เมือง 153 ราย, อ.พิบูลมังสาหาร 62 ราย, อำเภอเขมราฐและวารินชำราบ อำเภอละ 51 ราย,อ.เดชอุดม 40 ราย ขณะที่ผลการจับกุมประจำเดือนสิงหาคม 56 จำนวน 1,145 คน ลดลง 351 คน



พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ส.ปชส.อุบลราชธานี
081 924 8609/ข่าว/ 30 ก.ย. 56

ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ ขอให้ประชาชนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์

นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เผยว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายในการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองในพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาลเมือง เทศบาลนคร เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ตามที่คณะกรรมการดำเนินการพัฒนาเมืองกำหนด ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ มีชุมชนเมืองที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 2 แห่ง คือ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และเทศบาลบัวขาว รวม 25 โครงการ งบประมาณ 29,689,942.-บาท ในพื้นที่เทศบาลเมือง 15 โครงการ, เทศบาลเมืองบัวขาว 10 โครงการ และแยกเป็นโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาด้านสุขภาพ 12 โครงการ โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อม 6 โครงการ โครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมประกอบอาชีพ 3 โครงการ และโครงการส่งเสริมความรู้ ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น 4 โครงการ

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้กล่าวอีกว่า แนวคิดการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองเพื่อเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งความเป็นพลเมืองในการที่จะร่วมคิด ร่วมทำ และแก้ปัญหาของชุมชนอย่างรับผิดชอบร่วมกันในวิถีประชาธิปไตย รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดเมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองแห่งสุขภาพ เมืองที่มีพื้นที่ที่สร้างสรรค์ เป็นแหล่งผ่อนคลายให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมือง ส่งเสริมเมืองให้น่าอยู่ ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ สัมพันธ์กับความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมชุมชน จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันใช้ประโยชน์และร่วมกันรับผิดชอบ ตรวจสอบอย่าปล่อยให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการฝ่ายเดียว เพราะอาจจะไม่สามารถดำเนินการตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้ตามเจตนารมณ์ของโครงการ



สุรพล คุณภักดี/ข่าว

เทศบาลตำบลกุมภวาปีจัดแข่งขันเรือยาวเทิดไท้องค์ราชัน ร่วมร้อยดวงในถวายพ่อ ชิงถ้วยพระราชทานฯ

นายพรเทพ จวงทอง นายกเทศมนตรีตำบลกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แจ้งกับสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า จังหวัดอุดรธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอกุมภวาปี และเทศบาลตำบลกุมภวาปี ได้กำหนดจัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาวเทิดไท้องค์ราชัน ร่วมร้อยดวงใจถวายพ่อ ชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2556 ขึ้นในระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณลำน้ำปาว ศาลเจ้าปู่-ย่า ตำบลกุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และเพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีส่วนร่วมในการจัดงาน แสดงออกถึงความเข้มแข็งของท้องถิ่น โดยแบ่งประเภทเรือที่เข้าร่วมการแข่งขันดังนี้ ประเภทเรือ 55 ฝีพายทั่วไป ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทเรือ 40 ฝีพายทั่วไป ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทเรือ 30 ฝีพายทั่วไป ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทเรือ 40 ฝีพายท้องถิ่น ชิงถ้วยพระราชทานพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประเภทเรือ 30 ฝีพายท้องถิ่น ชิงถ้วยพระราชทานพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และประเภทเรือสตรี ชิงถ้วยรางวัลเกียรติยศ

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพื่อเติมและสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ที่ เทศบาลตำบลกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โทร. 0-4233-4212 หรือที่เว็บไซต์ http://www.kumpawapi.go.th



สุวรรณ์ ศรีอาภรณ์ / ข่าว

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารปฏิบัติการพื้นฐานวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารปฏิบัติการพื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และทอดพระเนตรแบบจำลองอาคารฯ  โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และบุคลากร มทส. ถวายการต้อนรับ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556

 อาคารปฏิบัติการพื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์การก่อสร้างเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนรายวิชาปฏิบัติการด้านวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยตามสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ เช่น วิศวกรรมเครื่องกลยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม แมคคาทรอนิกส์ และวิศวกรรมวัสดุ เป็นต้น ตามแนวทางของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้รับการฝึกฝน เพิ่มพูนความชำนาญ สามารถปฏิบัติงานจริงได้ด้วยตนเอง และมีความรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการในระดับสากล โดยการใช้ประโยชน์ห้องปฏิบัติการพร้อมเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าทันสมัย โดยอาคารหลังนี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 25,000 ตารางเมตร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2559 จำนวน 420 ล้านบาท สามารถรองรับการจัดการเรียนการสอน    และการทำโครงงานของนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3,000 คนต่อปี  และสามารถรองรับการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 300 คนต่อปี  นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการที่ประกอบอยู่ในอาคารหลังนี้ยังสามารถใช้งานเพื่อให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยเฉพาะการเป็นแหล่งให้บริการการวิเคราะห์ ทดสอบ และสอบเทียบเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยใช้การควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพื่อตอบสนองความต้องการของภาครัฐ วิสาหกิจ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค เช่น เขตอุตสาหกรรมสุรนารี นวนคร และ เขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ได้เป็นอย่างดี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิต มทส.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕ จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสังคม แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และจากสถาบันการบินพลเรือน ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัย จำนวน ๒,๓๙๖ คน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ อาคารสุรพัฒน์ ๒  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงอาคารสุรพัฒน์ ๒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เฝ้าฯ รับเสด็จ
ในการนี้ มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 1 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อาวุธ ศรีศุกรี เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

สำหรับปีการศึกษา ๒๕๕๕ มีผู้สำเร็จการศึกษาจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสังคม แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และจากสถาบันการบินพลเรือน ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัย เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งสิ้น ๒,๓๙๖ คน ประกอบด้วย ดุษฎีบัณฑิต รุ่นที่ ๑๔ จำนวน ๕๕ คน มหาบัณฑิต รุ่นที่ ๑๕ จำนวน ๒๒๔ คน บัณฑิต มทส. รุ่นที่ ๑๗ จำนวน ๑,๘๐๘ คน และบัณฑิตจากสถาบันการบินพลเรือน รุ่นที่ ๑๓ จำนวน ๓๐๙ คน ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งและได้คะแนนยอดเยี่ยมเข้ารับพระราชทานเข็มทองคำ จำนวน ๒๐ คน

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า "...ถ้าบุคคลใดหมั่นนำหลักวิชามาพิจารณาเทียบเคียงใช้ในกิจประจำวัน โดยขวนขวายเพิ่มพูนความรู้ด้านต่าง ๆ ให้ยิ่งกว้างขวางลึกซึ้งขึ้น พร้อมทั้งติดตามศึกษาสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้ทันการณ์ทันโลกอยู่เสมอ บุคคลนั้นก็จะมีความสามารถจัดเจน ที่จะนำความรู้ในสาขาของตนไปประสานกับวิชาการด้านอื่น ๆ แล้วปรับใช้ให้เหมาะสมกับกิจที่ทำและสภาวการณ์ทุกอย่าง จนบังเกิดผลเป็นประโยชน์แก่ตนแก่ส่วนรวม” 

โครงการรถคลินิกจักษุศัลยกรรมเคลื่อนที่สภากาชาดไทย ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ออกตรวจสุขภาพตาให้กับพระภิกษุสงฆ์ ที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วันนี้ (2 ต.ค. 56) นายสวนิต คงศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการรถคลินิกจักษุศัลยกรรมเคลื่อนที่สภากาชาดไทย ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านการตรวจและผ่าตัดรักษาโรคตาให้ แก่ผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาส และปีนี้ เป็นปีมหากุศลเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 หน่วยแพทย์จักษุศัลยกรรมฯ จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยออกให้บริการตรวจรักษาโรคตาแก่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 300 รูป และผ่าตัดโรคต้อกระจกแก่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 50 รูป ตลอดจนทำการผ่าตัดโรคอื่นๆ เช่น ต้อเนื้อ ต้อหิน โรคของเปลือกตาในพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่จำเป็นต้องทำการรักษา 

กองทัพภาคที่ 2 กระทำพิธีรับ-ส่งหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 2 คนใหม่

วันนี้ (2 ต.ค. 56) ที่ลานอเนกประสงค์ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กองทัพภาคที่ 2 ได้กระทำพิธีรับ-ส่งหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 2 โดย พลเอก จีระศักดิ์ ชมประสพ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ได้ทำการส่งมอบหน้าที่แก่ พลโท ชาญชัย ภู่ทอง แม่ทัพภาคที่ 2 คนใหม่ อดีตรองแม่ทัพ 2 โดยมีการจัดกำลังพลของหมู่ธงประจำหน่วย สวนสนามอย่างสมเกียรติ สำหรับ พลโท ชาญชัย ภู่ทอง ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 คนที่ 36 เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2497 ที่กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 14 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25 เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 8,เสนาธิการกรมทหารราบที่ 8,รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8,เสนาธิการกองพลทหารราบที่ 3,ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 3,รองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสกลนคร,ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3,รองแม่ทัพภาคที่ 2 และได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป 

จังหวัดนครราชสีมา เตรียมความพร้อมจัดนิทรรศการและเสวนา ในงาน สร้างอนาคตไทย 2020 โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2556 นี้

วันนี้ (2 ต.ค. 56) เวลา10.00 น.  ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมการจัดนิทรรศการและ เสวนาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ภายใต้ชื่องาน สร้างอนาคตไทย 2020 โดยมี นายฐากูร บุนปาน ผู้จัดการทั่วไป บริษัทมติชน จำกัด ร่วมชี้แจงรายละเอียดในการจัดงาน ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้บริษัทมติชน จำกัด มหาชน และบริษัทสยามสปอร์ต ซินติเคท จำกัด มหาชน จัดนิทรรศการและเสวนาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ภายใต้ชื่องาน สร้างอนาคตไทย 2020 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อโครงการให้กับหน่วยงาน ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักธุรกิจ นักลงทุน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป และเพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งเป็ฯการแสดงความคิดเห็น แนวทางการพัฒนาประเทศของคนในพื้นที่ สำหรับจังหวัดนครราชสีมา กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประชุมอาคารเรียวรวมหลังใหม่ (อาคาร35) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อ.เมือง จ.นครราชสีมา 

จังหวัดนครราชสีมาประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-จ.นครราชสีมา) ประจำปีงบประมาณ 2556

วันนี้ (2 ต.ค. 56) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-จ.นครราชสีมา) ประจำปีงบประมาณ 2556ทั้งนี้การจัดประชุมดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานตามแผนแม่บท อพ.สธ ระยะ5 ปี อาทิ กิจกรรมปกปันพันธุกรรมพืช การสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรพืช กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุกรักษ์พันธุกรรมพืช และการจัดนิทรรศการ ทรัพยากรไทย นำสิ่งดีงามสู่ตาโลก เป็นต้น

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เปิดบ้านถล่ม ระยอง เอฟชี 5 -0


"นักรบปราสาทสายฟ้า" บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด โชว์ฟอร์มแกร่ง สมราคาแชมป์เก่า เปิดบ้านไล่ถล่ม "ม้าลำพอง" ระยอง เอฟซี ไปขาดลอย 5-0 รวมผล 2 นัด ชนะ 5-1 ผ่านเข้าไปป้องกันแชมป์กับทีมราชบุรี คู่ชิงเมื่อปีที่แล้ว ที่สนามกีฬากองทัพบก 23 พ.ย.นี้...

ศึกลูกหนังโตโยต้า ลีก คัพ 2013 รอบรองชนะเลิศ นัดที่ 2 วันพุธที่ 2 ตุลาคมเป็นการพบกันระหว่าง "นักรบปราสาทสายฟ้า" บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ว่าที่แชมป์โตโยต้า ไทยพรีเมียร์ลีก และเป็นแชมป์เก่ารายการนี้อยู่ด้วย โดยนัดนี้เปิดสนามไอ โมบาย สเตเดี้ยม รับการมาเยือนของ "ม้าลำพอง" ระยอง เอฟซี ทีมรองบ๊วยของศึกยามาฮ่า ลีก วัน ที่นัดแรก เอาชนะมาได้ก่อนแบบพลิกความคาดหมาย 1-0

เกมครึ่งแรกผ่านไป 5 นาที บุรีรัมย์ได้ประตูนำ 1-0 จากไค ฮิราโนะ กองหน้าชาวญี่ปุ่น ถึงนาทีที่ 16 บุรีรัมย์ได้จุดโทษ ออสมาร์ อิบาเนซ กองหลังชาวสเปน รับหน้าที่สังหารตุงตาข่ายให้แชมป์เก่าออกนำ 2-0 เกมยังเหนือกว่า นักรบปราสาทสายฟ้ายังบุกหนัก ถึงนาทีที่ 32 อนาวิน จูจีน ซัดให้เจ้าถิ่นนำห่าง 3-0

เริ่มครึ่งหลังไปได้ 2 นาที สุเชาว์ นุชนุ่ม ได้บอลในเขตโทษ ก่อนซัดตุงตาข่ายให้บุรีรัมย์นำห่าง 4-0 จากนั้นไฟฟ้าที่สนามไอโมบาย สเตเดี้ยม ดับเกือบหมด ทำให้เกมต้องหยุดลงชั่วคราว

พอไฟสนามกลับมาใช้งานได้ตามปกติ อีกไม่นาน บุรีรัมย์ก็มาได้ประตูนำห่าง 5-0 ในนาทีที่ 74 จากลูกยิงของเฆซุส กัมโปส จากนั้นฝนยังเทลงมาอย่างหนักหน่วง แต่ก็ไม่มีฝ่ายใดทำประตูเพิ่ม จบเกม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เปิดบ้านถล่ม ระยอง เอฟซี 5-0 รวมผล 2 นัด ชนะ 5-1 ผ่านเข้าไปป้องกันแชมป์อีกครั้ง




สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯมอบถุงยังชีพพระราชทานแก่ผู้ประสบอุทกภัยที่บุรีรัมย์

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์มอบถุงยังชีพพระราชทาน แก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอกระสังและอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

เมื่อเวลา14.00 น. วันนี้ (1 ต.ค.56) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้นายพร อุดมพงษ์ รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯและคณะจากส่วนกลาง พร้อมด้วยกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯประจำจังหวัดบุรีรัมย์ เดินทางมามอบเครื่องอุปโภคบริโภคและถุงยังชีพพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ณ ที่ว่าการอำเภอกระสัง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 1,000ครัวเรือน

ต่อจากนั้นเวลา16.00 น. นายพร อุดมพษ์ รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้เดินทางไปมอบเครื่องอุปโภคบริโภคและถุงยังชีพพระราชทาน แก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัย ณ ที่ว่าการอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 1,000 ครัวเรือน สำหรับจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ประสบอุทกภัยใน 16 อำเภอ 83ตำบล 737 หมู่บ้าน 10 ชุมชน 192,311 คน ราษฎรเดือดร้อนกว่า 38,676 ครัวเรือน ซึ่งในจำนวนนี้มีอำเภอกระสังและอำเภอสตึก รวมอยู่ด้วย นับเป็นพระมาหกรุณาธิคุณอันล้นพ้นในการพระราชทานถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้




สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์

ชาวบึงกาฬร่วมต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬท่านใหม่

วันนี้ ( 2 ตุลาคม 2556 ) เวลา 11.30 น. ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ชาวจังหวัดบึงกาฬจำนวนมาก ร่วมต้อนรับ นายชโลธร ผาโคตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬคนใหม่ โดยมีนายธวัชชัย รักขนาม ปลัดจังหวัดบึงกาฬเป็นผู้นำ กล่าวต้อนรับ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬคนใหม่ได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่มารอต้อนรับและบอกว่าคุ้นเคยกับการทำงานในภาคอีสานเป็นอย่างดีเพราะเคยทำงานในตำแหน่งต่างๆในภาคอีสานมามากกว่า 10 ปี และ และมีความรู้ในเรื่องที่สำคัญของจังหวัดคือเรื่องยางพาราเป็นอย่างดีเพราะเคยทำงานในเรื่องนี้มา ทั้งนี้ได้ให้นโยบายหลักๆที่สำคัญไว้ 3 ข้อ คือ 1 การจัดทำแผนชุมชน 2 นโยบายเรื่องความมั่น และ 3 นโยบายเรื่องยางพารา นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดน อีกทั้งในส่วนของการทำงานโครงการต่างๆตามนโยบายของรัฐบาลและได้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาเมืองบึงกาฬจังหวัดน้องใหม่ให้มีความเจริญรุ่งเรือง ทัดเทียมกับจังหวัดอื่นๆอันจะนำมาซึ่งความกินดี อยู่ดี มีความสุข ของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดบึงกาฬ

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พระราชทานถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

วันนี้ ( 2 ต.ค. 56 ) เวลา 09.30 น. ที่บริเวณศาลากลางหมู่บ้านตะเคียน ตำบลคอโค อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายดำรง รัตนพานิช รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ นำถุงยังชีพพระราชทานช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ของตำบลคอโค อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยมีราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมจำนวนทั้งสิ้น 12 หมู่บ้าน 500 ครัวเรือน โดยเมื่อเดินทางถึงศาลากลางหมู่บ้านตะเคียน ตำบลคอโค รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษประกอบพิธีเปิดกรวยถวายความเคารพพระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวรายงาน ถึงสถานการณ์การเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ว่า จังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทุกอำเภอ จำนวน 17 อำเภอ 139 ตำบล 1497 หมู่บ้าน จากนั้น นายดำรง รัตนพานิช รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ กล่าวถึงความห่วงใยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงมีต่อราษฎรผู้ประสบภัย และทำพิธีมอบถุงยังชีพพระราชทานให้แก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัย ก่อนที่จะเดินทางไปมอบถุงยังชีพพระราชทานต่อที่จังหวัดศรีสะเกษ 

ผู้ตรวจราชการแผ่นดินลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ สำรวจปัญหาเพื่อบูรณาการบริหารจัดการน้ำ

ผู้ตรวจราชการแผ่นดินลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ สำรวจปัญหาเพื่อบูรณาการบริหารจัดการน้ำ หลังหลายพื้นที่ของจังหวัดถูกน้ำท่วมหนักในรอบหลายสิบปี และจะสร้างจังหวัดสุรินทร์เป็นต้นแบบภาคอีสานในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

วันที่ 2 ต.ค. 56 ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานสุรินทร์ ศาสตราจารย์ ดร.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายปราโมทย์ ไม้กลัด ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะผู้ตรวจ ได้ประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดสุรินทร์ หลังจากจังหวัดสุรินทร์ ต้องเผชิญกับสภาพปัญหาอุทกภัยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และ บางพื้นที่ของจังหวัดยังมีน้ำท่วมขังอยู่ ซึ่งการเดินทางมาก็เพื่อที่จะรับทราบข้อมูลและสภาพปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่ การรุกล้ำลำรางน้ำสาธารณะ และ หาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต          เนื่องจากผู้ตรวจราชการแผ่นดินที่ได้รับหนังสือร้องเรียนจาก ดร.ฟาริดา สุไลมาน สาระสำคัญโดยสรุปว่า พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของโลก มีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ โดยเฉพาะหน้าแล้ง ที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ และในช่วงฤดูน้ำก็ท่วมขังจนทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ซึ่งจากการศึกษาปัญหาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ พบว่าในช่วงฤดูน้ำหลากบางพื้นที่มีน้ำท่วมมาก แต่ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภค - บริโภคในฤดูได้ หากสามารถประสานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างกรมชลประทาน และ หน่วยงานต่างๆ ทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมเจ้าท่า หน่วยงานทางทหาร เพื่อร่วมสนับกำลังพล และ เครื่องจักร ในการแก้ไข พัฒนา แหล่งน้ำในพื้นที่

จากนั้นคณะทั้งหมดได้ลงพื้นที่บริเวณท้ายเทศบาลเมืองสุรินทร์ ซึ่งเป็นจุดระบายน้ำและผันน้ำออกจากตัวเขตเทศบาล ครั้งที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ เพื่อให้มองเห็นสภาพทางกายภาพของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตเทศบาลที่ผ่านมา และ ลงพื้นที่อีกหลายจุดของจังหวัดสุรินทร์ โดยคณะผู้ตรวจราชการแผ่นดิน มีกำหนดลงพื้นที่หลายจุด อาทิ พื้นที่แก้มลิง ฝาย และอ่างเก็บน้ำของจังหวัดสุรินทร์ เพื่อติดตามปัญหาการจัดการน้ำ เพื่อศักยภาพในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งซ้ำซากของจังหวัดสุรินทร์ในคราวเดียวกันอย่างยั่งยืนต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน กล่าวว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องทำ ซึ่งการมาครั้งนี้ก็เพื่อที่จะร่วมมือกับจังหวัดสุรินทร์และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ช่วยกันรณรงค์ให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงมากขึ้้น ตนคิดว่าคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะร่วมมือกัน ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ อย่างน้อยให้จังหวัดสุรินทร์ เป็นจังหวัดต้นแบบของภาคอีสานที่จะสำริดผล



ส.ปชส.สุรินทร์

ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีต รมต.ฯประธานชมรมเสียงสตรีแห่งประเทศไทย และสมาชิกชมรมเสียงสตรี 20 จังหวัดภาคอีสาน ลงพื้นที่สุรินทร์ช่วยน้ำท่วม

สุรินทร์-วันนี้ (2 ต.ค. 56) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีต รมต.กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม พรรคไทยรักไทย (บ้านเลขที่ 111) ประธานชมรมเสียงสตรีแห่งประเทศไทย แกนนำชมรมเสียงสตรีจากจังหวัดสระบุรี ระยอง และสมาชิกชมรมเสียงสตรี 20 จังหวัดภาคอีสาน เดินทางเข้าพบนายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ติดตามข้อมูลสถานการณ์อุทกภัย ก่อนที่ออกเดินทางไปมอบถุงยังชีพ จำนวน 400 ชุด ให้ชาวบ้านที่ประสบอุทุกภัยหมู่บ้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอกกว่า 2 สัปดาห์ คือบ้านป่าเวย ต.เกาะแก้ว อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ และ ตำบลดอนแรด อ.รัตนะบุรี จ.สุรินทร์

นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ประธานชมรมเสียงสตรีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาชิกชมรมเสียง 20 จังหวัดภาคอีสาน และอีกหลายจังหวัดเดินทางมาช่วยพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย เพราะว่านางศิริกาญจน์ สายแก้วรัศมี ประธานชมรมเสียงสตรีจังหวัดสุรินทร์ แจ้งมาว่า อ.สำโรงทาบและ อ.รัตนะบุรี มีบางส่วนที่ความช่วยเหลือยังไม่พอเพียง ความช่วยเหลือก็คงจะตามมา มาแล้วก็เห็นความน่าสงสารมากๆ ภาคอีสานก็จนอยู่แล้วรายได้กำลังจะดีขึ้นข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายจำนวนมาก ส่งเสียงไปยังฝ่ายที่พยายามคัดค้านหน่วงเหนี่ยวงบประมาณที่จะมาบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร  350,000 ล้านบาทของรัฐบาล ที่จะให้โครงการนี้ผ่านอย่างราบรื่นสะที เพื่อนำงบประมาณมาแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างถาวร ให้กับพี่น้องชาวอีสานและพี่น้องทั่วประเทศโดยเร็ว  ถ้าไม่เห็นกับตาก็จะไม่รู้ว่ามันเสียหาย เพราะฉะนั้นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายที่คัดขวาง  ตนอยากจะให้เห็นแก่ความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชน  อยากให้เป็นเพียงเกมการเมือง เพื่อให้ตัวเองก้าวสู่อำนาจ

คณะได้เดินทางไปยัง บ้านป่าเวย ต.เกาะแก้ว อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ พบว่ายังถูกน้ำท่วมขัง ทางเข้าหมูบ้าน ระดับสูง 30-50 เชนติเมตร บางหมู่บ้านถนนเป็นดินเหนียว การสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องเดินทางเข้าออกหมู่บ้านด้วยไถนาขนาดใหญ่หรือรถแทรคเตอร์ เท่านั้น ระหว่างทางยังพบ ต้นข้าว ต้นอ้อย ถูกน้ำท่วมขังนาน และเริ่มส่งกลิ่นเน่าแล้ว

นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ประธานชมรมเสียงสตรีแห่งประเทศไทย และคณะ มอบเงินสดจำนวน 50,000 บาท เพื่อนำไปปรับปรุงฟื้นฟูหมู่บ้านหลังน้ำลด และยังมอบถุงยังชีพ จำนวน 200 ชุด ให้กับชาวบ้าน ที่ถูกน้ำท่วม  สร้างความดีใจเป็นอย่างมาก ที่มีคนมาให้กำลังใจและพร้อมสู้ชีวิตต่อไป

นางศิริกาญจน์ สายแก้วรัศมี ประธานชมรมเสียงสตรีจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เป็นความรู้สึกที่ภาคภูมิใจที่ได้มีโอการมาช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบอุทกภัย มีความภูมิใจในความเป็นชมรมเสียงสตรี ด้วยหลักการ การเมืองเป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจเข้มแข็ง สังคมคุณภาพ อยู่กันคนละภาคต่างระดมทุนด้วยจิตอาสาเพื่อมาช่วยเหลือชาวสุรินทร์ที่น้ำท่วม
-จากนั้นได้เดินทางไปมอบสิ่งของช่วยภัยน้ำท่วมที่ตำบลเบิด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เพื่อมอบเงินสดจำนวน 50,000 บาท เพื่อนำไปปรับปรุงฟื้นฟูหมู่บ้านหลังน้ำลด และยังมอบถุงยังชีพ จำนวน 200 ชุด ให้กับชาวบ้าน ที่ถูกน้ำท่วม ต่อไป