วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

มารู้จักหลวงพ่อพวน วัดช้างหมอบ (วัดมงคลคชาราม) จังหวัดสุรินทร์

(ตอนที่ 1 ) ท่องเที่ยวนมัสการหลวงพ่อพวน วัดช้างหมอบ(วัดมงคลคชาราม) เกจิชื่อดังแห่งอีสานใต้

พระพิมลพัฒนาทร   (หลวงพ่อพวน วรมงฺคโล)  เจ้าคณะตำบลคอโคและเจ้าอาวาสวัดมงคลรัตน์ ตำบลคอโค อำเภอเมืองสุรินทร์ และเจ้าอาวาสวัดช้างหมอบ (วัดมงคลคชาราม) อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์เป็นพระสงฆ์ผู้มีพรหมวิหารธรรม เป็นพระสุปฏิปันโน เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อชาวจังหวัดสุรินทร์ พุทธศาสนิกชนทั่วไปนิยมไปกราบนมัสการ เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิต โดยไปไถ่ชีวิตโคกระบือที่วัดและรับมอบวัตถุมงคลจากหลวงพ่อเนื่องในเทศกาลต่าง ๆ เป็นประจำ

หลวงพ่อพวน เกิดเมื่อวันที่  15  เมษายน  พ.ศ. 2471  ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 5  ปีมะโรง อายุ 87 ปี  พรรษา  66   บวชเป็นสามเณรที่วัดคอโค (วัดสง่างาม) อำเภอเมือง ฯ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อครบอายุบรรพชา ได้หลวงปู่อวง  วัดสง่างาม(วัดคอโค) อำเภอเมืองสุรินทร์  เป็นพระอุปัชฌาย์ และศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ อวงและหลวงปู่มา นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สอนหนังสือการปฏิบัติธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ในจังหวัดสุรินทร์มาโดยตลอด หลวงพ่อพวนท่านชอบธรรมชาติ จึงชอบธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่าง  ๆ เป็นประจำ

ในสมัยก่อน ประมาณ ปี พ.ศ. 2517 พื้นที่ตามแนวชายแดน เป็นป่าทึบและยังเป็นดินแดนสีแดง หรือเรียกว่ากลุ่มคอมมิวนิสต์เข้ามาหลบอยู่ในป่า ทำให้ชาวบ้านไม่ค่อยกล้าเข้าในป่าลึก โดยเฉพาะตามแนวชายแดน  ท่านได้มาธุดงค์เข้าในในป่าบริเวณนี้ซึ่งอยู่บนเนินเขาพนมดงรัก ติดชายแดนไทย กัมพูชา ชอบความสงบตามธรรมชาติ ได้พำนักและมาปฏิบัติธรรมในถ้ำใกล้ ๆ บริเวณวัดช้างหมอบแห่งนี้ ในช่วงนั้น ได้เดินทาง  ไป ๆ  มา ระหว่างวัดคอโคและวัดแห่งนี้ มีความรู้สึกว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก หากชาวบ้านมาถางป่าทำไร่ก็น่าเสียดาย

ทุกวันนี้ หลวงพ่อพวน วรมังคโล เป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังของอีสานใต้ เป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูง ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด ใครที่เดือดร้อนมาขอให้ช่วยโดยหลวงพ่อจะสอนให้ยึดหลักธรรมะ ให้เก่งการทำงาน เก่งการประกอบอาชีพอย่างสุจริต ใช้อย่างประหยัดคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแม้จะมีอายุมากถึง 87 พรรษาแล้วก็ตาม สังขารเริ่มเจ็บป่วยตามวัยและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่หลวงพ่อพวนก็ยังสามารถปฏิบัติศาสนกิจเป็นประจำทุกวัน ญาติโยม ยังเลื่อมใส ในข้อวัตรปฏิบัติ ที่เคร่งครัดของหลวงพ่อ ได้เดินทางมากราบไหว้ ขอพร และขอบารมีคุ้มครองจากหลวงพ่อ และเป็นที่เชื่อกันว่า หากใครได้รับพร และน้ำมนต์จากหลวงพ่อ จะเป็นผู้โชคดี ได้สิ่งที่ปรารถนาดั่งใจ และหากญาติโยมท่านใดที่มีความประสงค์จะบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างพระปรางค์กุญชรมณี ศรีไตรยอดเพชร เพื่อเก็บบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็สามารถติดต่อได้ที่วัดช้างหมอบ(วัดมงคลคชาราม ) หมู่14 บ้านช้างหมอบ ต.แมงมุด     อ.กาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ 32210  หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุรินทร์ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี ก่อสร้างพระปรางค์กุญชรมณีศรีไตรยอดเพชร เลขที่ บัญชี 310-0-69691-3 ได้ตลอดเวลา

(ตอนที่ 2 ) ค้นพบรอยพระพุทธบาท

ท่านเจ้าคุณ พระพิมลพัฒนาทร (หลวงพ่อพวน) แห่งวัดมงคลคชาราม (วัดช้างหมอบ) อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เกจิอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า การเดินทางในช่วงแรกที่เดินทางเข้ามาถึงสถานที่แห่งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 จนถึง ปี พ.ศ. 2527 จะเดินทางไปมาระหว่างวัดมงคลรัตน์กับวัดช้างหมอบ จนคิดว่าถึงเวลาสมควรแล้ว จึงได้พำนักโดยจะสร้างเป็นวัดในการปฏิบัติธรรม และจากการปฏิบัติธรรมพบว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่เหนือถ้ำ เนื่องจากมีแสงสว่างขึ้นมาในช่วงกลางคืน เป็นแสงหลายสี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว เขียว แดง เหลือง ลำแสงสว่างอยู่เหนือยอดไม้  1 – 2  เมตร จนชาวเขมรต่ำ (ฝั่งกัมพูชาจะอยู่ใต้ลงไปของเขาพนมดงรัก ชาวสุรินทร์จึงเรียกว่าชาวเขมรต่ำ) ได้ เห็นแสงสว่างและคิดว่าที่วัดช้างหมอบมีไฟฟ้าใช้ จึงได้พากันขึ้นมาขอไฟฟ้าใช้บ้าง แต่เมื่อมาถึง ก็เห็นเป็นวัดเล็ก ๆ ไม่มีไฟฟ้าแต่อย่างใด

ต่อมาบริเวณรอยพระพุทธบาท ที่มีลำแสงให้เห็นยามค่ำคืนเป็นประจำ โดยเฉพาะวันพระลำแสงจะสุกสว่างยาวนานจนถึงประมาณตี 1 นั้น มีต้นตะเคียนใหญ่อยู่ใกล้ ๆ ได้โค่นลงมาทับก้อนหินแตก ทำให้เห็นรอยพระพุทธบาทชัดเจนขึ้น และรอยหินได้แยกออกประมาณ 1 เมตรเศษ ทำให้เห็นเป็นรอยพระพุทธบาทหันพระบาทไปทางทิศตะวันออก มีขนาดกว้าง  33 นิ้ว ยาว 56 นิ้ว จากการนั่งสมาธิได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จมาให้เห็นด้วยกายเนื้อทิพย์จีวรสีแดงเข้ม แล้วบอกหลวงพ่อพวนว่า รอยนั้นเป็นรอยพระพุทธบาทของพระปัจเจกพุทธเจ้า ด้านหน้าของรอยพระพุทธบาท มีช้างหินหันหน้ามาทางรอยพระพุทธบาท เหมือนคอยเฝ้ารอยพระพุทธบาทและมีถ้ำใต้รอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นถ้ำที่หลวงพ่อพวนนั่งสมาธิเป็นประจำ

สำหรับความศักดิ์สิทธิ์นั้น พระในวัดทราบดีแต่ก็มีบางรูปไม่เชื่อมาหลบหลู่ ปีนขึ้นไปนั่ง ก็มีอันเป็นไป แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่เดือดร้อนจะมาขอโชคลาภเป็นประจำ บางคนก็มาขอลูก ขอตำแหน่ง ขอให้หายจากการเจ็บป่วย บางคนได้โชคลาภก็มาทำบุญที่วัดเป็นจำนวนมาก สำหรับการสร้างวัดช้างหมอบหรือวัดมงคลคชาราม เริ่มสร้างโบสถ์ ปี พ.ศ. 2527  โดยมีสามี ภรรยา คู่หนึ่ง มีหนี้สินกว่า 2 ล้านบาทไม่รู้จะหันหน้าไม่พึ่งใครก็มาขอโชคลาภจากรอยพระพุทธบาท เช่นเดียวกัน ปรากฏว่ากลับไปร่ำรวยและหอบเงินมาขอสร้างโบสถ์ให้วัดช้างหมอบ ปัจจุบันได้รับการตั้งชื่อเป็นทางการว่าวัดมงคลคชาราม ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 บ้านช้างหมอบ ตำบลแนงมุด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์

(ตอนที่ 3 ) การก่อสร้างพระปรางค์กุญชรมณีศรีไตรยอดเพชร

พระปรางค์ หรือ ปรางค์ เป็นสิ่งก่อสร้างประเภทหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมไทย เป็นหลักประธานในวัดเช่นเดียวกับพระเจดีย์ แต่เดิมถือว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบลักษณะเฉพาะของขอม โดยมีคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ว่าเป็นสัญลักษณ์ของ เขาพระสุเมรุ

ท่านเจ้าคุณ พระพิมลพัฒนาทร (หลวงพ่อพวน) แห่งวัดมงคลคชาราม (วัดช้างหมอบ) อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เกจิอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของจังหวัดสุรินทร์ กล่าวถึงการที่ได้ธุดงค์มาพำนักที่บนเนินเขาพนมดงรักแห่งนี้  ได้บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน นั่งสมาธินิมิตเห็นพระปรางค์รูปทรงตามที่ได้จัดสร้าง เป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีธรรมสภากว้างขวาง ใหญ่โตและเป็นสวรรค์ชั้นที่เทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกาสามารถขึ้นไปฟังพระธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมาโปรดพระพุทธมารดาตลอดไตรมาส ให้เทพดาในโลกธาตุที่ประชุมฟังธรรมอยู่ในที่นั้น ได้บรรลุมรรคผลสุดที่จะประมาณ ในอวสานกาลเป็นที่จบคัมภีร์มหาปัฎฐาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ 7 พระมหามายาเทวี พระพุทธมารดาได้บรรลุพระโสดาปัตติผล สมพระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ได้ทรงตั้งพระทัยเสด็จขึ้นมาสนองคุณพระพุทธมารดา

จากนิมิตรดังกล่าวหลวงพ่อพวนไม่รู้ว่าจะจัดสร้างได้อย่างไร คิดว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นดินแดนธรรมในอนาคต เทพ พรหมคงมากำหนดให้เห็นเป็นนิมิต จึงได้ทำพิธีบวงสรวงขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ให้มีคนมาช่วยให้การสร้างพระปรางค์ประสบผลสำเร็จเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสารีริกธาตุของพระอริยสงฆ์และพระธาตุที่เสด็จมาและเก็บไว้ที่วัดแห่งนี้เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาและให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพบูชาสักการะได้ตลอดไป

ต่อมาได้มีหญิงสาวผิวขาวร่างสันทัด อายุ 17 ปี มาพร้อมชายวัยกลางคน ประมาณ 50 ปี เศษ มาขอออกแบบพระปรางค์พร้อมแกะลายยอดพระปรางค์ให้ด้วย  โดยอาตมาบอกเขาตามนิมิตที่เห็น เขาทำงานกันทั้งวันไม่พูดจากับใคร  อาตมาก็ไม่กล้าเข้าไปซักถามจึงไม่ทราบว่ามาจากไหนโดยใช้เวลาเพียง 15 วัน ได้นำแบบทั้งหมดมาให้และบอกว่า ต่อไปจะมีคนมาสร้างให้ หลังจากนั้นเขาทั้ง 2 คนก็ออกจากวัดไป ไม่ได้เจอกันอีกเลยจนถึงปัจจุบันนี้

พระปรางค์กุญชรมณีศรีไตรยอดเพชร  เริ่มสร้าง เมื่อวันที่ 9  มีนาคม 2552 โดยจัดสร้างเป็นองค์ปรางค์ 3 ยอดอยู่ตรงกลาง และมีปรางค์บริวารโดยรอบทั้ง 8 ทิศ ตั้งอยู่บนยอดเขาเตี้ย ๆ  ซึ่งได้ปรับปรุงพื้นที่โดยการถมดินเป็นฐานมีขนาดกว้าง 70 เมตร ยาว 100 เมตร  สูงจากพื้นดินปกติ  5 เมตร มีความวิจิตรสวยงาม ตั้งอยู่ริมชายแดนไทย-กัมพูชา การดำเนินการได้จัดสร้างไปแล้วประมาณ  60 เปอร์เซ็นต์  สำหรับวัสดุ ที่เป็นทั้งหินศิลาแลง และปูนที่วางแบบเป็นรูปแบบสมัยประยุกต์ ทั้งลวดลาย ที่เป็นแบบลายไทย และลายผสม ไทยและอาณาจักรขอม

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555 นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้นำพุทธศาสนิกชนทั่วทุกหมู่เหล่า ร่วมกันอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วยพระพุทธรูปและพระไตรปิฎกฉบับภาษาลาว นั่งช้าง เวียนประทักษิณรอบพระปรางค์กุญชรมณีศรีไตรยอดเพชรเนื่องจากในปีนั้นเป็นปีพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเป็นการเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 85 พรรษา และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 99 ปี จังหวัดสุรินทร์ จึงได้ขอประทานพระบรมสารีริกธาตุ จากพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งพระองค์ทรงเมตตาประทาน พระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระปรางค์กุญชรมณีศรีไตรยอดเพชร วัดช้างหมอบหรือวัดมงคลคชาราม ที่ บ้านช้างหมอบ ต.แนงมุด อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เพื่อเป็นที่สักการะ บูชา เป็นที่ตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นกำลังใจแก่คณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา

สำหรับในครั้งนี้  นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ในฐานะประธานฝ่ายฆราวาส ได้กล่าวว่าจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับส่วนราชการจังหวัดสุรินทร์ ภาคเอกชน พ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ กำหนดจัดงานทอดผ้าป่าสามัคคี ในวันที่ 14 ก.พ. 2557 ซึ่งเป็นวันแห่งความรักและวันมาฆบูชา  ณ วัดมงคลคชาราม (วัดช้างหมอบ ) หมู่ที่ 14 บ้านช้างหมอบ ต. แนงมุด จ. สุรินทร์ เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างพระปรางค์กุญชรมณีศรีไตรยอดเพชร เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ และเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาและเพื่อพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดสุรินทร์ร่วมเป็นเจ้าภาพในการทอดผ้าป่าสามัคคีดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน

จังหวัดสุรินทร์จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าสามัคคีในครั้งนี้ โดยประสานรายละเอียดและส่งปัจจัยได้ที่ สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มงานอำนวยการ โทร 044-512039  (นายสันทัด แสนทอง หัวหน้ากลุ่มงานอำนวยการ โทร 086-7215312 ) ที่ทำการปกครองจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มงานการเงินและบัญชี โทร 044-511891 (นางสาวรัชนีภรณ์ สุยะ เสมียนตราจังหวัดสุรินทร์ โทร081-7534853 ) หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุรินทร์ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี ก่อสร้างพระปรางค์กุญชรมณีศรีไตรยอดเพชร เลขที่ บัญชี 310-0-69691-3 และขอความกรุณาแฟกซ์ใบโอนให้ทราบด้วย



กัญญรัตน์  เกียรติสุภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ รวบรวม / เรียบเรียง โทร 092 2468 343







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น