การถ่ายทอดเรื่องราวนิทานพื้นบ้านที่มีคติสอนใจ ผ่านหุ่นละครโรงเล็ก
ด้วยท่วงทำนองกลอนลำที่เป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน
โดยกลุ่มเยาวชนคณะเด็กเทวดา จากโรงเรียนบ้านหนองโนใต้ อำเภอนาดูน
จังหวัดมหาสารคาม ได้ถ่ายทอดออกมานั้น
นับเป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
ติดตามได้จากรายงาน.....
บรรยากาศการแสดงหมอลำหุ่นละคร เรื่อง องคุลีมาล
ที่กลุ่มเยาวชนซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองว่า "คณะเด็กเทวดา”
กำลังจัดแสดงให้ผู้คนที่มาเฝ้ารอชมการแสดงได้ชมอยู่ในขณะนี้
เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมยามว่างที่คณะเด็กเทวดา
ที่มีตั้งแต่นักเรียนชั้นอนุบาลจนถึงป.6 คณะครู ของโรงเรียนบ้านหนองโนใต้
กลุ่มเยาชนในท้องถิ่น ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น
โดยมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจที่ผู้บริหารโรงเรียนฯ
ต้องการจะถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างการร้องหมอลำให้กับเด็กและเยาวชน
ผ่านตัวละครหุ่นซึ่งเป็นโครงการด้านการใช้สื่อศิลปะเปลี่ยนแปลงทัศนคติ
ค่านิยม ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม
ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ศสส.)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายอดิเทพ บุรีมาศ
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
นักแสดงหุ่นหมอลำคณะเด็กเทวดารุ่นแรก ๆ ที่ตอนนี้วางมือ มาทำหน้าที่สอนน้อง
ๆ ในคณะ เล่าให้ฟังว่า
จากจุดเริ่มต้นที่เห็นว่าในชุมชนมีพ่อครูที่เป็นหมอลำกลอน
จึงอยากจะนำหมอลำกลอนนี้มาประยุกต์ให้มีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ
จึงได้ริเริ่มการสร้างหุ่นละคร ที่ทำมาจากกระติ้บข้าว
โดยให้พ่อครูกลอนลำมาสอนให้เด็ก ๆ ในคณะได้ร่วมกันฝึกขับร้อง
พร้อมกับฝึกการเชิดหุ่น ซึ่งน้อง ๆ
คณะเด็กเทวดาสามารถแสดงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นที่ประทับใจของผู้ที่มารอชมการแสดงอย่างมาก
นางสาวเกตุวลี ดาวันนา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เยาวชนในชุมชนที่มาช่วยดูแลน้อง ๆ คณะเด็กเทวดา พร้อม ๆ
กับการทำหน้าที่โฆษกประจำคณะ เล่าว่า
ในการฝึกซ้อมแต่ละครั้งจะเป็นการเข้าค่าย โดยไม่ได้รบกวนเวลาเรียน
เริ่มด้วยการฝึกย้อมผ้าเพื่อนำมาตัดเย็บเป็นชุดของหมอลำหุ่น
ฝึกการประกอบหุ่น โดยมีพ่อครู แม่ครูที่เป็นกลอนลำ มาสอนให้เด็ก ๆ ฝึกร้อง
จนมาถึงวันนี้ภูมิใจที่ได้ร่วมฝึกฝนให้การแสดงหมอลำหุ่นคณะเด็กเทวดา
ได้มีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เด็ก ๆ มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด
หมอลำหุ่นละครโรงเล็ก คณะเด็กเทวดา
โรงเรียนบ้านหนองโนใต้ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า
ที่กลุ่มเยาวชนในท้องถิ่นได้ร่วมกันสืบสาน
จนเป็นที่ยอมรับในเวทีการแสดงหุ่นอาเซียนในงาน"ละครหุ่นตระการตาอาเซียน”
ที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ซึ่งพวกเขาได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงร่วมกับนักแสดงละครหุ่นที่มาจากทุก
ภูมิภาคทั้งในและต่างประเทศ
สิงหา โพธิแท่น / ถ่ายภาพ
ชนกพร โพธิสาร สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดมหาสารคาม...รายงาน