วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หน่วยทันตกรรมพระราชทาน โดยคณะทันตแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ มาให้บริการชาวยโสธร 4 จุด

นายประวัติ ถีถะแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา 5 ธันวาคม 2556 หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับจังหวัดยโสธร กำหนดออกหน่วยให้บริการทันตกรรมแก่ประชาชน ฟรี โดยคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญจาก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 150 คน มาให้บริการ ถอนฟัน,อุดฟัน,ขุดหินปูน,รักษาคลองรากฟัน,ใส่ฟันเทียม และผ่าฟันคุด

มีกำหนดมาให้บริการ 4 จุด คือ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงเรียนมหาชนะชัยวิทยาคม วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงเรียนกุดชุมวิยาคม วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงเรียนเลิงนกทา วันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ ให้บริการตั้งแต่ เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ขอเชิญประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงไปรับบริการ ฟรี โดยทั่วกัน



ส.ปชส.ยโสธร/ไพชยนต์ 16 ต.ค.56

อุบลราชธานี มี โรงสี กว่า 30แห่ง เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557พร้อมให้หลายหน่วยงานร่วมดำเนินการเพื่อป้อกันการทุจริต

นายคันฉัตร ตันเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้มีมติครั้งที่ 7 / 2556 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 อนุมัติ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2556/2557 ซึ่งเริ่มดำเนินการรับจำนำ ครั้งที่ 1 นาปี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2667 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีมติเห็นชอบให้โรงสีเข้าร่วมโครงการ จำนวน 33 แห่ง ใน 10 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอบุณฑริก อำเภอเดชอุดม อำเภอเขมราฐ อำเภอตระการพืชผล อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอวารินชำราบ อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอเขื่องใน และอำเภอสำโรง

สำหรับอำเภอที่มีโรงสีเข้าร่วมโครงการ ให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตัวแทนข้าราชการ 1 คน ตำรวจ 2 คน เกษตรกร 3 คน ต่อวัน ร่วมปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดรับจำนำข้าว จัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ณ จุดชั่งน้ำหนัก จุดวัดความชื้น จุดออกใบประทวนและจุดที่ตัวแทนอำเภอปฏิบัติหน้าที่ในโรงสีทั้ง 33 แห่ง

นอกจากนี้ มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบกำลังการผลิตและกำลังเครื่องอบ ลด ความชื้น สำนักงานสาขา ชั่ง ตวง วัด เขต 2 – 4 อุบลราชธานี ตรวจสอบเครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความชื้นของโรงสีที่เป็นจุดรับจำนำนอกพื้นที่ และรายงานให้จังหวัดทราบทุกเดือน



กรกช ภูมี / สวท.อุบลฯ
สปข.2 รายงาน 16 ต.ค.56

ชาวอุบล เตรียมจัดงาน เชิดชูเกียรติหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา

กลุ่มสืบสานนำฮอยหม่อมเจียงคำและกองทุนเครือข่ายแห่งบุญหม่อมเจียงคำ เตรียมจัดงาน เชิดชูเกียรติหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ในวันที่ 20 ตุลาคม 2556

นางสาวสุมนา ศรีชลาชัย ประธานกลุ่มสืบสานนำฮอยหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ร่วมกับ นายขจร มุกมีค่า ประธานกองทุนเครือข่ายแห่งบุญหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เตรียมจัดงานเชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เพื่อรำลึกและเชิดชูเกียรติพร้อมทั้งศึกษาและเผยแพร่ประวัติ หม่อมเจียงคำ สนับสนุนให้เยาวชน ประชาชนทั่วไป ดำเนินชีวิตตามแบบของหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา รวมทั้งเป็นการหารายได้เพื่อจัดกิจกรรมรำลึกหม่อมเจียงคำ

สำหรับการจัดงานดังกล่าว จะมีขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2556 ที่วัดสุทัศนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป กิจกรรมประกอบด้วย พิธีทางพุทธศาสนา พิธีสดุดีและเชิดชูเกียรติ หม่อมเจียงคำ การจัดเวทีประชาคมขอตั้งชื่อถนน เจียงคำ จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ และผู้สนใจ ร่วมงานได้ตามวันเวลาดังกล่าว




กรกช ภูมี / สวท.อุบลฯ
สปข.2 รายงาน / 16 ต.ค.56 

คณะแพทย์ศาสตร์ ม.มหาสารคาม ขยายเวลาประกวดคำขวัญ

อุบลราชธานี : ขยายเวลาการประกวดคำขวัญและออกแบบโปสเตอร์รณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ออกไปถึงวันที่ 31 ต.ค.56 นี้

รองศาสตราจารย์ปราโมทย์ ทองกระจาย รองคณบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ รักษาราชการแทนคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า ตามที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดประกวดคำขวัญและโปสเตอร์ ระดับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย อุดมศึกษาและประชาชนภายในจังหวัดมหาสารคาม เพื่อใช้รณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาของจังหวัดมหาสารคาม ให้เกิดความตระหนัก รับรู้ถึงผลกระทบจากการตั้งครรภ์ในวัยเรียน

การประกวดคำขวัญ ผู้ส่งคำขวัญเข้าประกวดต้องเป็นจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย อุดมศึกษาและประชาชนภายทั่วไปในจังหวัดมหาสารคาม ส่วนการประกวดโปสเตอร์ เป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษาใน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดและดาวโหลดเอกสารโครงการ ใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.msu.ac.th หรือโทรศัพท์หมายเลข 043 – 712 – 992 ต่อ 6323 ในวันเวลาราชการ โดยส่งผลงานภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 นี้



พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ส.ปชส.อุบลราชธานี
081 924 8609 /ข่าว/ 16 ต.ค.56

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ แจ้งความเคลื่อนไหวราคาซื้อขายสินค้าเกษตร

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ แจ้งความเคลื่อนไหวราคาซื้อขายสินค้าเกษตร ประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือนตุลาคม 2556  ส่วนใหญ่ราคาทรงตัว

นายสิทธิพร บางแก้ว พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ ได้แจ้งราคาสินค้าเกษตรที่มีการซื้อขายในเขตอำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ ประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือนตุลาคม 2556 ดังนี้ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ (ใหม่) โรงสีรับซื้อ ตันละ 15,500 - 15,900 บาท, ข้าวสารหอมมะลิ 100 กก. โรงสีขาย ราคา 3,200 – 3,300 บาท ส่วนประเภทพืชไร่ มันสำปะหลัง-หัวมันสด (คละ) ลานมันซื้อ กก. ละ 1.50 - 1.60 บาท ปรับลดลง 0.60, ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพ 3 กก.ละ 76.61 บาท, ส่วนยางพาราคุณภาพ 4 กก.ละ 75.61 บาท

สำหรับราคาเนื้อสัตว์ ไก่มีชีวิต พันธุ์พื้นเมือง พ่อค้าขาย กก.ละ 65 - 70 บาท, ไก่บ้านชำแหละ (ไก่ทั้งตัวไม่รวมเครื่องใน) กก.ละ 120 - 130 บาท, ไก่ชำแหละ (ไก่ทั้งตัวไม่รวมเครื่องใน) กก.ละ 80 - 85 บาท, สุกรมีชีวิต พันธุ์พื้นเมือง นน. 90 - 100 กก.ๆ ละ 60 - 65 บาท, สุกรชำแหละเนื้อแดง กก.ละ 140 - 150 บาท และเนื้อสามชั้น 140 - 150 บาท, เนื้อโคชำแหละ กก. 220 - 240 บาท, และเนื้อกระบือชำแหละ กก. 200 - 220 บาท, ราคาปลาน้ำจืด ปลาช่อน กิโลกรัมละ 120 – 150 บาท , ปลานิล กิโลกรัมละ 75 – 80 บาท , ปลาทับทิม กิโลกรัมละ 100 – 110 บาท, ปลาดุก กิโลกรัมละ 65 - 70 บาท ส่วนไข่เป็ดสด คละ ขายปลีก 10 ฟอง 45 - 50 บาท, ไข่ไก่ เบอร์ 2 ขายปลีก 10 ฟอง 43 - 44 บาท, และเบอร์ 3 ราคา 42 - 43 บาท

ทั้งนี้ ราคาที่ซื้อขายในเขตอำเภออื่นๆ  อาจจะสูงหรือต่ำกว่านี้ขึ้นอยู่กับค่าขนส่ง  และราคาที่แจ้งนี้ไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย  แต่เพื่อผู้ซื้อขายใช้ประโยชน์ประกอบการตัดสินใจซื้อขายตามแนวโน้มราคาสินค้าในแต่ละช่วงเท่านั้น



สุวิทย์  เอี่ยมสอาด  /ข่าว

มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน ขอเชิญร่วมกิจกรรม “ร่วมการสร้างสวัสดิการการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย”

มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน ขอเชิญร่วมกิจกรรม "ร่วมการสร้างสวัสดิการการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัยและวัฒนธรรมผ้าป่าหนังสือสู่ชุมชน” ปีที่ 2 /2556

นางจันทร์เพ็ญ สินสอน ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประชาคมสุรินทร์สร้างสุข หน่วยงานภาครัฐเอกชนที่เกี่ยวข้องและเครือข่าย 32 ชุมชนเทศบาลเมืองสุรินทร์ ร่วมจัดกิจกรรม "ร่วมการสร้างสวัสดิการการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัยและวัฒนธรรมผ้าป่าหนังสือสู่ชุมชน” ปีที่ 2 /2556 และได้ตระหนักถึงการอ่านหนังสือส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เร่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านในสังคมสุรินทร์ตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2552 และในวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2556 มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จะเสนอเชิงนโยบายเรื่องสวัสดิการการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย มอบหนังสือให้แก่ชุมชน /โรงเรียนที่ขาดแคลน หมุนเวียนให้เกิดการอ่าน

ทั้งนี้ ในงานยังมีกิจกรรม การแสดงนิทรรศการการเรียนรู้ การประกวดเขียนเรื่องเล่า "อ่านเพื่อเปลี่ยน” การประกวดคำขวัญของชุมชนและยังมีการประกวดบนเวที อาทิ การประกวดเล่าเรื่องจากการอ่าน จากหนังสือที่ชอบอ่าน การประกวด "แดนซ์อ่าน” และสำหรับผู้ที่ส่งบทความ /คำขวัญ เข้าร่วมการประกวด ให้ส่งก่อนวันที่ 20 ตุลาคม 2556 ส่งได้ที่ ผู้นำชุมชน หรือติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์หมายเลข 084-8243751, 087-8803689



สุวิทย์  เอี่ยมสอาด  /ข่าว

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แจ้งขยายเวลาการประกวดคำขวัญรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มวัยนักเรียน นิสิตและนักศึกษา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดการประกวดคำขวัญ เพื่อใช้รณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มนักเรียน นิสิตและนักศึกษาของจังหวัดมหาสารคามเพื่อให้กลุ่มเยาวชนวัยเรียนทุกระดับชั้นได้เข้าใจ ตระหนัก รับรู้ถึงผลจากการตั้งครรภ์ในวัยเรียนผ่านงานการประกวดคำขวัญ โดยผู้ชนะการประกวดจะได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัลหรือทุนการศึกษา ผลงานที่ได้รับรางวัลที่เหมาะสม จะได้รับการพิจารณาจัดพิมพ์เป็นสื่อรณรงค์เผยแพร่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ขอเชิญชวนเข้าร่วมส่งผลงานประกวดได้ตามวันและเวลาดังกล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม โทรศัพท์ 0-4371-2992 โทรสาร 0-4371-2991

จ.สุรินทร์ เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องพบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 16 ราย จากการหาปลาแล้วจมน้ำ

นายพิภพ ดำทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จากการที่จังหวัดสุรินทร์ ประสบภัยนำพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งจังหวัด พื้นที่ประสบภัย จำนวน 17 อำเภอ 146 ตำบล 1,603 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 781,003 คน 252,780 ครัวเรือน เสียชีวิต 16 ราย ในขณะนี้จังหวัดสุรินทร์ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หน่วยงานราชการ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิฯ องค์การการกุศล และหน่วยงานอื่นๆ ได้ระดมสรรพกำลัง เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถบรรทุก เครื่องมือ-อุปกรณ์ สิ่งของบรรเทาทุกข์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ดังนี้ ด้านสิ่งของบรรเทาทุกข์ ได้แก่ ถุงยังชีพ 51,579 ชุด,ข้าวกล่อง 44,630 กล่อง,ข้าวสาร 17,000 ถุง น้ำดื่ม 7,210 แพ๊ก,ยาเวชภัณฑ์ 4,400 ชุด ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ หญ้าแห้ง 8,000 ก้อน,ฟางอัดก้อน 746 ก้อน,แร่ธาตุ 200 ก้อน ด้านเครื่องมือ-อุปกรณ์ เครื่องจักรกล ได้แก่ เรือท้องแบน 50 ลำ,เครื่องยนต์เรือ 10 เครื่อง, รถบรรทุก 38 คัน,รถกู้ภัยเอนกประสงค์ 6 คัน,รถบรรทุกน้ำดื่ม 6 คัน,เครื่องสูบน้ำอัตโนมัติใต้ดิน 4 เครื่อง,เครื่องสูบน้ำ 8,10,12 นิ้ว 16 เครื่อง,กำลังพลทหาร 100 นาย,อส. 30 นาย ,อปพร. 1,500 นาย,กระสอบทราย 15,000 ใบ,ทราย 19 คันรถบรรทุก

นอกจากนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ บริเวณหน้าสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ มีผู้บริจาคเงินสด 312,031.50 บาท,ข้าวสาร 503 ถุงๆละ 5 กก.,น้ำดื่ม 291 แพ็ก,ถุงยังชีพ 617 ถุง,อื่นๆ 12 รายการ,กรมศาสนา จำนวน 12,000 บาท ในการจัดซื้อเครื่องอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ที่ประสบภัย และกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดข้าวสารบรรจุถุง จำนวน 20,000 ถุงๆละ 4 กิโลกรัม โดยจะแจกจ่ายให้กับอำเภอๆละ1,000 ถุง(รวม 17,000 ถุง) และมอบให้สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 3,000 ถุง ส่วนผู้เสียชีวิต 16 รายส่วนใหญ่จะเป็นการเสียชีวีตจากการจมน้ำ จึงขอให้ประชาชนหากจะไปหาปลาหรือไปดูแลไร่นาที่จมน้ำ ขอให้ระมัดระวังน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก ควรมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตด้วย 

สศข.10 เคาะผลข้อมูลพืชภาคตะวันตกปี 56 เล็งต่อยอดด้านปศุสัตว์และประมงแน่นอนในปีถัดไป

ผลการจัดทำคุณภาพข้อมูลด้านพืชภาคตะวันตก ปี 56 ใน 6 พืชเศรษฐกิจหลักสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน พร้อมเสนอต่อคณะทำงานพัฒนาคุณภาพด้านพืชระดับประเทศและประกาศเป็นข้อมูลเอกภาพ เล็งเดินหน้าขยายคุณภาพข้อมูลให้เป็นเอกภาพไปสู่พืชชนิดอื่น รวมทั้งด้านปศุสัตว์ และประมงเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ได้กล่าวถึง ผลข้อมูลพืชเศรษฐกิจหลัก 6 ชนิดสินค้า ปี 2556 ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยผลการประชุมพิจารณาข้อมูลการเกษตรด้านพืชเศรษฐกิจหลักทั้ง 6 ชนิดสินค้า พบว่า ข้าวนาปี ปี 2555/56 มีเนื้อที่เพาะปลูก 1,545,465 ไร่ มีผลผลิตรวม 1,042,391 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2554/55 พบว่า เนื้อที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2555/56 มีเนื้อที่เพาะปลูก 104,839 ไร่ มีผลผลิตรวม 68,164 ตัน เมื่อเทียบกับปีเพาะปลูก 2554/55 เนื้อที่ลดลงร้อยละ 5 และผลผลิตลดลง ร้อยละ 4 มันสำปะหลังโรงงาน ปี 2555/56 มีเนื้อที่เพาะปลูก 531,838 ไร่ มีผลผลิตรวม 1,696,369 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2554/55 เนื้อที่ลดลง ร้อยละ 3 และผลผลิตลดลงร้อยละ 2 ข้าวนาปรัง ปี 2556 มีเนื้อที่เพาะปลูก 1,228,834 ไร่ มีผลผลิตรวม 923,533 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื้อที่และผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่ากันประมาณร้อยละ 1 ยางพารา ปี 2555 มีเนื้อที่ยืนต้น 372,125 ไร่ มีผลผลิตรวม 35,798 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2554 เนื้อที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ปาล์มน้ำมัน ปี 2555 มีเนื้อที่ยืนต้น 147,303 ไร่ มีผลผลิตรวม 258,056 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2554 เนื้อที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 และผลผลิตลดลงร้อยละ 9

สำหรับข้อมูลที่ได้ร่วมกันดังกล่าวนั้น ได้เสนอต่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลการเกษตรด้านพืช เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพด้านการเกษตรระดับประเทศอีกครั้ง เพื่อประกาศเป็นข้อมูลเอกภาพที่มีความถูกต้อง แม่นยำ เป็นที่ยอมรับ และมั่นใจได้ในข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ข้อมูลทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง ทั้งนี้ ในปีถัดไป จะมีการขยายและพัฒนา

ออกพรรษานี้ ระวังชุดสังฆทาน และชุดไทยธรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม แจ้งเตือนประชาชนร่วมเฝ้าระวังมิให้ผู้ประกอบการนำสินค้าไม่ได้คุณภาพมาจัดทำเป็นชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมพร้อมระบุเป็นสินค้าควบคุมฉลาก หากผู้ใดขายสินค้าที่มีประกาศควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลาก หรือมีฉลากแต่ฉลากนั้นไม่ถูกต้อง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลออกพรรษาที่มักจะมีการจัดกิจกรรมและงานประเพณีสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และพุทธศาสนิกชนมักจะทำบุญด้วยการถวายสังฆทานและชุดไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจบางราย อาจอาศัยช่วงเทศกาลดังกล่าว นำสินค้าที่ใกล้หมดอายุ ไม่มีคุณภาพ มาตรฐาน มาจัดทำเป็นชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรม เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ ได้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2550) ให้ ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรม เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก หากผู้ใดขายสินค้าที่มีประกาศควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลาก หรือมีฉลากแต่ฉลากนั้นไม่ถูกต้อง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจ นำสินค้าใกล้หมดอายุ ไม่มีคุณภาพ มาตรฐาน มาจัดทำเป็นชุดสังฆทานและชุดไทยธรรม ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นการกระทำดังกล่าวสามารถร่วมตรวจสอบและแจ้งข้อมูลได้ที่กลุ่มงานอำนวยการ สำนักงานจังหวัดมหาสารคาม โทร 043 7777356



ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว

สสจ.มหาสารคาม เตือนโรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา

สสจ.มหาสารคาม เตือนโรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ได้แก่ ไข้เลือดออก เลปโตสไปโรซีส ไข้หวัดใหญ่และปอดบวม หวั่นปลายฝน ต้นหนาวอาจมีการระบาดรุนแรง แนะประชาชนดูแลสุขภาพ

นายชยานนท์ สุคุณา นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม รายงานโรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 ตุลาคม 2556 ซึ่งประกอบด้วย โรคไข้เลือดออก ที่จังหวัดมหาสารคาม พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 2,446 ราย คิดเป็นอัตรป่วย 255.29 ต่อแสนประชากร มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยอำเภอที่พบผู้ป่วยสะสมสูงสุด 3 อำเภอคือ อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเมือง และอำเภอโกสุมพิสัย ส่วนโรคเลปโตสไปโรซีส หรือไข้ฉี่หนู พบผู้ป่วยแล้ว 40 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พื้นที่ของการเกิดโรคที่สูงสุดคือที่อำเภอวาปีปทุม อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอกันทรวิชัย จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2551-2555 พบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูสูงสุดในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝน ขณะที่สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ มีรายงานผู้ป่วยสะสมแล้ว 84 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงกลุ่มอายุ 0-4 ปี และโรคปอดบวม มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 3,569 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากคือ 0-4 ปี และ มากกว่า 65 ปี

สำหรับแนวทางในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว ประชาชนสามารถป้องกันโรค เหล่านี้ได้ ด้วยการดูแลสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ออกกำลังกาย รักษาความอบอุ่นของร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลไม่ให้พื้นที่หรือภาชนะในบ้านมีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ตลอดจนการกินร้อน ช้อนกลาง รับประทานอาหารที่สุกสะอาด ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดอยู่เสมอ



ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว

สสจ.มหาสารคาม เร่งขยายผลเพื่อจัดตั้งศูนย์ประสานงานตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรจังหวัดมหาสารคามให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดกลางสมุนไพรในทั่วประเท

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามประชุมคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดตั้งศูนย์ประสานงานตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรจังหวัดมหาสารคามและแต่งตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อออกติดตามประเมินผล

ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ได้จัดประชุมคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดตั้งศูนย์ประสานงานตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรจังหวัดมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชี้แจงรายละเอียดในการดำเนินงานและวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน ตามโครงการตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม ปีงบประมาณ 2556 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามได้รับเงินสนับสนุนจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการดำเนินงานตามโครงการตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม ปี 2556 ในการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลและเชิงพาณิชย์เพื่อจำหน่ายให้แกหน่วยงานที่มีความต้องการและส่งออกต่างประเทศ และยังเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรมากขึ้นเพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับหน่วยงานราชการที่ร่วมดำเนินงานตามโครงการตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม ปี 2556 โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานตามโครงการตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคามขึ้น เพื่อติดตามประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานตาม TOR ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามโครงการตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม

และในวันที่ 24 -25 ตุลาคม 2556 ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ การขับเคลื่อนภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่ระบบสุขภาพชุมชน ณ โรงแรมวสุ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยนายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมชมนิทรรศการ เครื่อข่ายหมอพื้นบ้าน 13 อำเภอ การประกวดซุ้มนิทรรศการ หน่วยราชการ ที่เกี่ยวข้อง การประกวดตระกร้าผักพื้นบ้านอีสานต้านโรค ประกวดอาหารพื้นบ้านอีสานต้านโรค การจัดซุ้มนิทรรศการตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม ส่วนในวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมวสุ จังหวัดมหาสารคาม มีการลงนามการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินงาน ตามโครงการตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กับหัวหน้างานระดับจังหวัด ผู้นำเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลและเชิงพาณิชย์ อันจะส่งผลให้ประชาชนในจังหวัดมหาสารคามมีการบริโภคพืชผัก และสมุนไพรที่ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี



ภาณุวัชร คนเชี่ยว ข่าว/ส.ปชส.มค

จ.กาฬสินธุ์จัดประกวดรถสกายแลปบริการนักท่องเที่ยวในงานวิจิตรแพรวาราชินีแห่งไหม ประจำปี 2556

นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า จังหวัดกาฬสินธุ์กำหนดงานวิจิตรแพรวาราชินีแห่งไหม ประจำปี 2556 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2556 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สนามหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อประชาสัมพันธ์ผ้าไหมแพรวาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ภายในงานปีนี้ได้จัดกิจกรรมการประกวดรถสกายแลปขึ้นเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะรถสกายแลปเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในการต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เกิดความประทับใจและเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อบริการให้กับนักท่องเที่ยว โดยจะมีการประกวดรถสกายแลปขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ สำหรับการสมัครไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งจะรับเพียง 15 คัน 15 คน เท่านั้นเอง ผู้เข้าประกวดต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี ต้องใช้รถสกายแลปของตนเอง, สภาพรถพร้อมใช้งาน, รับค่าตกแต่งรถและค่าน้ำมันคันละ 200 บาท

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์การให้คะแนน ประกอบด้วย การตกแต่งรถให้สวยงาม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความปลอดภัย เครื่องยนต์ต้องอยู่ในภาพดีพร้อมใช้งาน ขับขี่ตามกฎระเบียบจราจร แต่งกายสุภาพเรียบร้อย โดยรางวัลที่ 1 ได้รับเงินสด 3,000.-บาท, รางวัลที่ 2 เงินสด 2,000.-บาท รางวัลที่ 3 เงินสด 1,000.-บาท พร้อมเครื่องใช้ในครัวเรือน และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ๆ ละ 500.-บาท ผู้สนใจสมัครได้ที่กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 โทรศัพท์ 043-821354-6 ต่อ 210 พร้อมหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชน ในวัน เวลาราชการ



สุวรรณ ศรีอาภรณ์ / ข่าว

ชมรมนกกรงหัวจุก จ.กาฬสินธุ์ ขอเชิญเข้าร่วมแข่งขันประชันเสียงนกกรงหัวจุก ครั้งที่ 1

นายวันโชค ชวดชัง ผู้ประสานงานชมรมนกกรงหัวจุกจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ชมรมนกกรงหัวจุกจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้กำหนดจัดการแข่งขันประชันเสียงนกกรงหัวจุก "ศึกจ้าวนับดอกเมืองน้ำดำต้านภัยยาเสพติด ครั้งที่ 1” เพื่อชิงถ้วยเกียรติยศ นางบุญรื่น ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายยงยุทธ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์, นายวิรัช ภูต้องใจ รองประธานสภา อบจ.กาฬสินธุ์ ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป ณ สนามวิทยาลัยนาฎศิลปกาฬสินธุ์ โดยเสียค่าลงทะเบียนนกละ 300.-บาท

จึงขอเชิญชวนผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก สมัครเข้าร่วมแข่งขันได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2556 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ชมรมนกกรุงหัวจุกจังหวัดกาฬสินธุ์ โทรศัพท์ 081-3694364 งานนี้อาหาร เครื่องดื่ม ฟรีตลอดงาน



ดวงใจ หงษ์จันทร์/ข่าว

มมส.ขอเชิญส่งผลงานเข้าประกวดคำขวัญรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับแจ้งจากรองศาสตราจารย์ปราโมทย์ ทองกระจาย รองคณบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่า ตามที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ได้กำหนดจัดการประกวดคำขวัญรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาของจังหวัดมหาสารคาม และการประกวดออกแบบโปสเตอร์ระดับอุดมศึกษา (20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เพื่อให้กลุ่มเยาวชนวัยเรียนทุกระดับได้เข้าใจ ตระหนัก รับรู้ถึงผลจากการตั้งครรภ์ในวัยเรียนชิงเงินรางวัลและทุนการศึกษา ซึ่งผลงานที่ชนะการประกวดจะได้รับการพิจารณาจัดพิมพ์เป็นสื่อรณรงค์เผยแพร่ทั่วประเทศ

โดยหมดเขตรับผลงานเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 นั้น และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้ส่งผลงานเข้าร่วม ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ขยายเวลารับสมัครการประกวดโปสเตอร์ และคำขวัญ ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2556 สามารถสอบถามรายละเอียดและดาวน์โหลดเอกสารประกอบโครงการพร้อมใบสมัครได้ที่ www.msu.ac.th หรือ ที่คุณชลิตา เพ็ชรน้อย ฝ่ายกิจการนิสิตและกิจการพิเศษ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม 44000 โทรศัพท์ 043-712992 ต่อ 6323 ในวัน เวลา ราชการ



ดวงใจ หงษ์จันทร์/ข่าว

จ.กาฬสินธุ์ประกวดธิดาแพรวาในงานวิจิตรแพรวาราชินีแห่งไหม ปี 2556

นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ได้กำหนดจัดงานวิจิตรแพรวาราชินีแห่งไหม ประจำปี 2556 ขึ้นในระหว่างวันที่ 1 – 7 พฤศจิกายน 2555 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สนามหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อประชาสัมพันธ์ผ้าไหมแพรวาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ภายในงานปีนี้ได้จัดการประกวดธิดาแพรวาขึ้นในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 โดยเปิดรับสมัครสตรีโสด สัญชาติไทย อายุระหว่างวันที่ 17-25 ปี มีความประพฤติเรียบร้อย มีภูมิลำเนาในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับถึงวันสมัคร ส่งเข้าประกวดในนามส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน บริษัทห้างร้าน รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน สมาคม ชมรม

โดยสาวงามที่คว้าตำแหน่งธิดาแพรวาจะได้รับเงินสด 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและสายสะพาย รองชนะเลิศจะได้รับรางวัลเงินสด 15,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับพร้อมโล่รางวัล ขวัญใจสื่อมวลชนจะได้รับรางวัลเงินสด 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและสายสะพาย รางวัลขวัญใจประชาชน พิจารณาจากการนับคะแนนจากดอกไม้ จะได้รับรางวัลเงินสด 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและสายสะพาย และรางวัลแต่งกายชุดแพรวาสวยงาม ได้รับรางวัลเงินสด 5,000 บาทพร้อมโล่รางวัล ผู้สนใจติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ที่สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ โทร.0-4382-1345 ต่อ 304-305



สุวรรณ ศรีอาภรณ์ / ข่าว

ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ นำพุทธศาสนิกชนทำบุญตักบาตรถนนสายบุญ

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นำพุทธศาสนิกชน นุ่งขาว ห่มขาว ทำบุญตักบาตรถนนสายบุญ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา โดยหลวงพ่อหนูอินทร์ให้ข้อคิดแก่ประชาชน เปรียบชีวิตคนเหมือนร้านค้า ทำดีมาก ก็ได้กำไรมาก คนชั่วมากก็ขาดทุน อยากให้ทุกคนทำดีเพื่อตัวเองและครอบครัว

เมื่อเวลา 06.30 น. วันนี้ (16 ตุลาคม 2556) นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ พุทธศาสนิกชน ประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรถนนสายบุญ ถนนภิรมย์ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร ถึงวงเวียนน้ำพุ หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามโครงการถนนสายบุญซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จัดขึ้นทุกวันพุธที่ 1 และ 3 ของเดือน เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล สืบทอดพระพุทธศาสนา โดยมีพระราชศีลโสภิต หรือ หลวงพ่อหนูอินทร์ เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธมงคล นำพระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ มารับบิณฑบาตในครั้งนี้ สำหรับการทำบุญตักบาตรถนนสายบุญครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 เวลา 06.30 น. เป็นต้นไป

พระราชศีลโสภิต ได้กล่าวสัมโมทนียคาถาแก่ผู้มาร่วมทำบุญตักบาตรในครั้งนี้ว่า ถนนสายบุญ เป็นเส้นทางที่จะให้ประชาชนได้ร่วมกันสร้างบุญ สร้างกุศล ทำบุญตักบาตร ให้กับตนเองและครอบครัว เสริมสร้างให้ประชาชนรู้จักการให้ การทำบุญ ช่วยให้ห่างไกลจากอบายมุขได้ หากเราไปหมกมุ่นกับสิ่งไม่ดีพลอยทำให้จิตใจเราไม่ดี ไปด้วย หากเปรียบชีวิตของคนเราก็เหมือนกับร้านค้า ธุรกิจ คือ หากเราทำความดีมาก ๆ ชีวิตเราก็ได้กำไรจากความดี หากเราทำชั่วมาก ๆ ชีวิตเราก็ขาดทุนนั่นเอง ดังนั้น จึงอยากฝากถึงประชาชนให้ทำดี คิดดี แล้วกำไรก็จะเกิดกับตัวเราและครอบครัว



ดวงใจ หงษ์จันทร์/ข่าว

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2556/57

จังหวัดกาฬสินธุ์ ประชุมเตรียมพร้อมดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2556/57 เริ่มรับจำนำ 1 ตุลาคม นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำข้าวระดับจังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 5/2556 เพื่อรับทราบและเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายประเสริฐ ลือชาธนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ คณะอนุกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เจ้าของโรงสี เข้าร่วมประชุม สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2556/57 รวมทั้งสิ้น 1,551,901 ไร่ แยกเป็นข้าวจ้าว 473,261 ไร่ (ข้าวหอมะลิ 105, กข.15, ชัยนาท) พื้นที่ปลูกข้าวเหนียว 978,604 ไร่ (กข.6 ข้าวกอเดียวและอื่น ๆ) ผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาด 591,595 ตัน แยกเป็นข้าวจ้าว 216,498 ตัน ข้าวเหนียว 375,098 ตัน มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวแล้ว จำนวน 75,062 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.59

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเปิดจุดรับจำนำข้าวในพื้นที่มี 4 จุด คือ 1) หจก.โรงสีไฟกาฬสินธุ์รุ่งเรือง 3, 2) บจก.โรงสีข้าวไทยเกษตร 2005, 3) บจก.อีสเทิร์นไรซ์มิลล์ และ 4) โรงสีเลิศธัญญา ส่วนจุดรับจำนำนอกพื้นที่ มีโรงสีในพื้นที่ จำนวน 3 โรงเปิดจุดรับจำนำ ทั้งสิ้น 19 จุด คือ
1. โรงสีไฟกาฬสินธุ์รุ่งเรือง 3 จำนวน 1 จุด ที่ท่าข้าว ต.รุ่งเรืองการเกษตร อ.ฆ้องชัย
2. บจก.โรงสีข้าวไทยเกษตร 2005 จำนวน 1 จุด ที่แก่นคูณท่าข้าว อ.ฆ้องชัย
3. บจก.อีสเทิร์นไรซ์มิลล์ จำนวน 17 จุด คือ ท่าข้าวฆ้องชัยการเกษตร อ.ฆ้องชัย, ท่าข้าวฆ้องชัยโชคถาวร อ.ฆ้องชัย, ท่าข้าว ส.รุ่งเรืองพืชผล อ.ฆ้องชัย, วิสาหกิจสภาชุมชนบ้านโนนแดง อ.ฆ้องชัย, สหกรณ์การเกษตรกมลาไสย จำกัด, ท่าข้าว ส.รุ่งเรืองพืชผล อ.กมลาไสย, ตลาดกลางข้าวและพืชไร่จังหวัดกาฬสินธุ์ อ.ยางตลาด, ท่าข้าว พ.เพิ่มทรัพย์ อ.ยางตลาด, ท่าข้าวใต้ฟ้าพืชผล อ.เมือง, ตลาดกลางพืชผลทางการเกษตรเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมือง, ท่าข้าวจันทร์เจริญพืชผล อ.ร่องคำ, ท่าข้าวพรชัยพืชผล อ.สมเด็จ, หจก.ดี.พี.เอส.ไรซ์ ซัพพลายเออร์ อ.สมเด็จ, ปูเป้ค้าข้าว อ.กุฉินารายณ์, ลานพรชัยพืชผล อ.ดอนจาน, สหกรณ์การเกษตรคำม่วง จำกัด, สหกรณ์การเกษตรฯ นิคมห้วยผึ้ง อ.ห้วยผึ้ง



ดวงใจ หงษ์จันทร์/ข่าว

ผลการประกวดเวรยามหมู่บ้านปี 2556

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดขอนแก่น (ศพส.จ.ขก.) จัดการประกวดเวรยามหมู่บ้านเข้มแข็งปี พ.ศ.2556 จังหวัดขอนแก่นไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชนจัดตั้งอาสาสมัครเวรยามและปฏิบัติภารกิจตรวจตราดูแลพื้นที่อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ผลการประกวดเวรยามหมู่บ้านเข็มแข็งยอดเยี่ยม ระดับจังหวัด ชนะเลิศได้แก่ บ้านหนองเกี่ยว หมู่ที่ 3 ตำบลโคกสำราญอำเภอบ้านแฮด รองชนะเลิศอันดับ 1 บ้านหนองม่วงน้อย หมู่ที่ 7 ตำบลหนองแวงนาเบ้า อำเภอพล รองชนะเลิศอันดับ 2 บ้านหนองแวงคู หมูที่ 6 ตำบลบ้านฝาง อำเภอกระนวน รองชนะเลิศอันดับ3 บ้านหนองคอง หมูที่ 8 ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ รองชนะเลิศอันดับ 4 บ้านดอนหัน หมู่ที่ 3ตำบลใหม่นาเพียง อ.แวงใหญ่ ชมเชย บ้านห้วยไร่เหนือหมู่ที่ 2 ตำบลโนนพะยอม อ.ชนบท บ้านหนองหอย หมู่ที่ 7 ตำบลแวงน้อย อ.แวงน้อย บ้านโพธิ์หมู่ที่ 3 ตำบลในเมือง อ.เวียงเก่า บ้านหนองฮี หมูที่ 4 ตำบลดอนช้าง อ.เมืองขอนแก่น



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น

จังหวัดขอนแก่นจัดงานวันปิยมหาราช ปี 2556

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่าในวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าราชการพลเรือน ตุลาการ อัยการ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสมาคม ชมรม สโมสร มูลนิธิ สถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษา บริษัท ห้างร้าน พ่อค้า และประชาชนทุกหมู่เหล่าจะร่วมกันวางพวงมาลาถวายบังคม เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า พระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่สำคัญ ๆ อาทิ ด้านการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกรมขึ้นใหม่อีก 6 กรม รวมกับของเดิมเป็น12 กรม ต่อมาให้ยกฐานะเป็นกระทรวง ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2437 อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ด้านเศรษฐกิจและการคลัง มีการจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เพื่อเก็บรายได้ของแผ่นดินมารวมไว้แห่งเดียวกันและให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก รวมทั้งให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก ได้แก่ ธนาคารสยามกัมมาจล ด้านกฎหมายและการศาล ทรงสถาปนากระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ.2434 มีการชำระพระราชกำหนดกฎหมาย มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127๗ เป็นฉบับแรก ด้านการต่างประเทศ มีการส่งอัครราชทูตไปประจำต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ2424 และเสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ เพื่อนำความเจริญต่างๆ มาปรับปรุงบ้านเมืองให้พัฒนาก้าวหน้าอีกด้วย ด้านการทหารและการปกครองประเทศ ทรงนำแบบอย่างการวางรูปแบบทางการทหารของชาวยุโรป มาแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมใช้กับประเทศไทย ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารขึ้นในปี พ.ศ.2488 มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกเป็นครั้งแรก และก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกและโรงเรียนนายเรือด้วย ด้านการศึกษา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวังเมื่อปี พ.ศ.2414 แล้วขยายออกสู่ประชาชน โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม ด้านการศาสนา มีการสังคายนาและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรกรวมทั้ง ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์เป็นฉบับแรก นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นวัดเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อปวงชนชาวไทย จึงขอเชิญชวนพสกนิกรทุกหมู่เหล่าร่วมประกอบพิธีวันปิยมหาราช ในวันที่ 23 ตุลาคม 2556 เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยข้าราชการพลเรือน แต่งเครื่องแบบปกติขาว สวมหมวก ข้าราชการทหาร ตำรวจ แต่งเครื่องแบบปกติขาว กระบี่ ถุงมือ สวมหมวก บุคคลทั่วไป ชุดสากลนิยม/ชุดสุภาพ สมาคม ชมรม สโมสร แต่งกายด้วยเครื่องแบบตามสังกัด / ชุดสุภาพ



ข่าว/พิมพ์ คันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น

โครงการจังหวัดขอนแก่นสร้างสุขลดอบายมุข งานศพปลอดเหล้า ปลอดการพนัน

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเปิดเผยว่า โครงการ "จังหวัดขอนแก่นสร้างสุข ลดอบายมุข งานศพปลอดเหล้าปลอดการพนัน” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ มอบนโยบาย แนวทางปฏิบัติ วิธีการเชิงรุกใน การควบคุมและลดปริมาณบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเล่นการพนันในงานศพ อีกทั้ง เพื่อสร้างกระแสสังคมให้ประชาชน ใส่ใจในสุขภาพ โดยการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ระดับจังหวัด , อำเภอ , หมู่บ้าน และระดับครอบครัว มุ่งเน้นให้เกิดหมู่บ้านต้นแบบในการปลอดเหล้าปลอดการพนัน และสามารถขยายผลครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยระหว่างวันที่ 15-24ต.ค.56จังหวัดขอนแก่นออกติดตามนิเทศงานโครงการจังหวัดขอนแก่นสร้างสุข ลดอบายมุข งานศพปลอดเหล้า ปลอดการพนัน ในพื้นที่ 26อำเภอ

โครงการ จังหวัดขอนแก่นสร้างสุข ลดอบายมุข งานศพปลอดเหล้าปลอดการพนันจากสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรจังหวัดขอนแก่น มีปริมาณมากและทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยความชุกของนักดื่มในประชากรอายุ ๒๐ ปี ขึ้นไป ร้อยละ ๔๖.๙ สูงเป็นอันดับที่ ๖ ของประเทศ และเป็นอันดับที่ ๒ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉลี่ย ๔๐๕ บาท ต่อคนต่อเดือน รวมทั้งจังหวัดมากกว่าปีละ ๓,๔๐๐ ล้านบาท โดยมีพฤติกรรมดื่มจากงานประเพณีต่างๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นการดื่มประจำ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามปริมาณการบริโภคของสังคมจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น สมควรแก่การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลด ละ เลิกอบายมุข ซึ่งเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างยิ่ง โดยมีนัยสำคัญอยู่ที่ความพอประมาณมีเหตุผล มีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ต่อการได้รับผลกระทบจากภายในและภายนอก หากประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่นได้นำหลักการนี้มาปรับใช้ในการดำรงชีวิต โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของชุมชนและความเข้มแข็งของผู้นำ ย่อมส่งผลให้ปัญหาที่เกิดจากการพนันและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงได้ และส่งผลให้จังหวัดขอนแก่นได้รับการพัฒนาในทุกรูปแบบ เกิดเป็นผลดีกลับสู่ประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายให้งานประจำปีระดับจังหวัด งานประจำปีระดับอำเภอ เป็นงานประจำปีปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีหมู่บ้านงานศพปลอดเหล้าปลอดการพนันที่ได้รับการพัฒนาเป็น "หมู่บ้านต้นแบบปลอดเหล้าปลอดการพนัน”



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี
ส.ปชส.ขอนแก่น

จังหวัดขอนแก่นขอเชิญชมงานโรดโชว์นิทรรศการสร้างอนาคตไทย 2020 ของรัฐบาลภายใต้กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ลงทุนคมนาคม สร้างรายได้เชื่อมอาเซียน

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่าในระหว่างวันที่ 25 -27 ตุลาคม 2556 ทางรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะจัดงานโรดโชว์ นิทรรศการสร้างอนาคตไทย 2020 เพื่อจัดแสดงให้กับประชาชนในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงได้ชมโครงการดีๆ ของรัฐบาล ซึ่งจะจัดที่ศูนย์ประชุมเอนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยงานนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ว่าเป็นเงินลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ โดยเน้นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่เมืองต่อเมือง ซึ่งรัฐบาลมองว่า การออกเงินกู้ดังกล่าว ไม่ใช่การตอบโจทย์แค่เพียงโครงสร้างพื้นฐาน แต่สิ่งที่จะได้รับคือ การส่งเสริมสินค้าเกษตร สินค้าโอท็อป สินค้า SMEs และการท่องเที่ยว อีกทั้ง ยังเป็นการเชื่อมโยงสินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ    

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นกล่าวเพิ่มเติมว่างานนี้ถือว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของรัฐบาลเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ ภาคการลงทุน เพื่อให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และการเชื่อมโยงด่านตรวจแต่ละประเทศเป็นการเชื่อมไทยสู่อาเซียน สู่โลกด้วย ซึ่ง รัฐบาลได้จัดโรดโชว์ในภาคอีสานมาแล้ว 2 จังหวัดที่หนองคายและนครราชสีมา เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนได้รู้เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงินจำนวนดังกล่าวโดยมีคนสนใจเข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ อยากให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดภาพอนาคตไทย ในอีก 7 ปีข้างหน้า จึงขอเชิญส่วนราชการภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน นักเรียนนักศึกษาในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มาร่วมงานในครั้งนี้ 

รัฐบาล มีมติกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเติมกรณีพิเศษ 30 ธันวาคมนี้ ปีใหม่จะมีวันหยุดยาว 5 วัน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมมีมติกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2556 อีก 1 วัน ทำให้ช่วงปีใหม่เป็นวันหยุดยาวติดต่อกัน 5 วัน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2556 - 1 มกราคม 2557 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ และสนับสนุนภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน



ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์

น้ำท่วมขัง ระวังไฟฟ้าดูด หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้เสาเหล็กที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือปลั๊กไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ย้ายไม่ทัน

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง เพิ่มความระมัดระวังกระแสไฟฟ้าให้มากขึ้น หลังมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าดูด 2 คนที่จังหวัดชลบุรี ขณะออกหาปลาและเมื่อดูข้อมูลน้ำท่วมในปี 2554 เดือนสิงหาคม–ธันวาคม พบผู้เสียชีวิตจากถูกไฟฟ้าดูดทั้งสิ้น 155 คน จึงให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ช่วงน้ำท่วม ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้เสาเหล็กที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือปลั๊กไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ย้ายไม่ทันหรือยังแช่ในน้ำ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าจะกระจายเป็นวงกว้างในรัศมีไม่ต่ำกว่า 3-5 เมตร เมื่อกลับเข้าบ้านหลังจากน้ำลด ก่อนทำความสะอาดควรตรวจสอบความปลอดภัยก่อน โดยโทรศัพท์ตรวจสอบการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังสำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่ หากยังไม่มีการตัดการจ่ายกระแสไฟให้เพิ่มความระมัดระวัง ก่อนเข้าบ้านควรสวมรองเท้าและถุงมือยางที่กันน้ำได้ ดูร่องรอยของระดับน้ำที่ท่วมขังว่าสูงเกินกว่าปลั๊กหรือเมนสวิทซ์หรือไม่ หากสูงเกินปลั๊กไฟ อย่าเดินลุยน้ำ ให้หาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ลังไม้ กล่องพลาสติก เพื่อใช้เป็นทางเดิน ไม่ให้ร่างกายถูกน้ำ




ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก มอบถุงยังชีพพระราชทาน

รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มอบถุงยังชีพพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์

(๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๖) เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ ที่ว่าการอำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ นายยอภัย จันทนจุลกะ รองประธานมูลนิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และคณะ เดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพพระราชทานของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จำนวน ๒,๐๘๐ ชุด สำหรับช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์ ผู้สูงอายุ คนพิการ และราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวรายงานสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน เนื่องมาจากอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่น ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๖ เป็นต้นมา ทำให้เกิดอุทกภัย น้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมครอบคลุมพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดความเสียหายต่อที่อยู่อาศัย สิ่งสาธารณประโยชน์ และพื้นที่เกษตร จำนวน ๒๒ อำเภอ รวม ๑๒๐ ตำบล ๑,๐๕๑ หมู่บ้าน โดยอำเภอแคนดง มีพื้นที่ประสบภัย ๔ ตำบล ๓๙ หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๒,๗๑๖ คน



สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์

ผู้ว่าบึงกาฬคนใหม่ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชน

วันนี้ 16 ตุลาคม 2556 เวลา 09.00 น. นายชโลธร ผาโคตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นำทีมงานส่วนราชการลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนและออกให้บริการนอกพื้นที่ ตามโครงการ "หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน” ณ โรงเรียนประสานมิตรวิทยา ตำบลชัยพร อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ โดยมีนายชัยวัฒน์ สารสมบัติ นายอำเภอเมืองบึงกาฬกล่าวต้อนรับคณะ โดยกิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วยการมอบสิ่งของจากกาชาดจังหวัดบึงกาฬให้แก่ประชาชน มอบชุดนักเรียน และบริการอื่นๆ เช่นบริการตรวจสุขภาพประชาชน บริการตรวจสุขภาพสัตว์และรักษาสัตว์ แนะนำและให้คำปรึกษาและปัญหาต่างๆกับประชาชนโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีการจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด จำหน่ายไข่ไก่ราคาถูก ท่ามกลางบรรยากาศสายฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในการลงพื้นที่เยี่ยมและพบปะประชาชนในครั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบนโนบายและแนวทางการทำงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนชาวจังหวัดบึงกาฬ ว่าจะมีการทำแผนชุมชนอย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองให้ได้และเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง จะมีการสำรวจ มีการลงพื้นที่อย่างจริงจังและผู้ว่าบอกว่าจะมีโครงการเยี่ยมบ้านยามบ่ายเพื่อออกพบปะกับประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆในจังหวัดบึงกาฬเพราะชาวบึงกาฬประกอบอาชีพทำสวนยางเป็นส่วนมากในเวลาบ่ายจึงเป็นเวลาที่ประชาชนว่างจากการทำงานจึงจะลงพื้นที่พบปะพูดคุยเพื่อสอบถามปัญหาและดูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และแนะนำประชาชนให้ทำการเกษตรอย่างอื่นควบคู่กับการทำสวนยางไปด้วยและเน้นย้ำในเรื่องยาเสพติดว่าให้ทุกคนห่างไกลสิ่งต่างๆเหล่านี้และให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานภาครัฐถ้ามีอะไรก็ให้รายงานผู้นำหมู่บ้านหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

บึงกาฬจัดประชุมสภากาแฟเป็นครั้งแรกเพื่อเตรียมรองรับประชาคมอาเซียน

วันนี้ 15 ตุลาคม 2556 เวลา 07.00 น. ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ นายชโลธร ผาโคตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเช้าแก่หัวหน้าส่วน ข้าราชการ ลูกจ้างส่วนราชการและกลุ่มพ่อค้าในจังหวัดบึงกาฬ ตามโครงการสภากาแฟที่จะมีขึ้นเดือนละหนึ่งครั้งซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกของจังหวัดบึงกาฬ เพื่อเป็นการประชุม แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องงานแบบไม่เป็นทางการในบรรยากาศที่เป็นกันเอง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพของหน่วยงานและส่วนราชการต่างๆในจังหวัดบึงกาฬ อันจะนำไปสู่การบูรณาการการทำงานเพื่อพัฒนาบ้านเมืองต่อไป ซึ่งในวันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬได้ให้แนวทางในการจัดการประชุมสภากาแฟว่าอาหารที่นำมาเลี้ยงกันในตอนเช้าควรเป็นอาหารที่หลากหลายง่ายๆ อาจจะเป็นตามแผงลอย เพื่อช่วยอุดหนุนพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กๆและเป็นการแนะนำอาหารในท้องถิ่นด้วย และอยากให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานต่างๆที่มีข่าวคราวความคืบหน้าในการทำงานโครงการหรือเป็นกิจกรรมที่สำคัญต่างๆมาบอกเล่ากันในการประชุมสภากาแฟเพื่อจะได้ทราบความเคลื่อนไหวต่างๆในจังหวัดและเตรียมพร้อมในการทำงานตลอดเวลาเพราะเหลือเวลาอีกไม่มากก็จะเริ่มเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จังหวัดบึงกาฬเองเป็นจังหวัดที่มีแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านยิ่งต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆด้าน เช่น การพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ความมั่นคงตามแนวชายแดน การเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งในวันข้างหน้าบึงกาฬอาจเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศและเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญอีกด้วย

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบึงกาฬสกัดจับกัญชา 240 ก.ก. และผู้ต้องหา 1 ราย

นายชโลธร ผาโคตร ผวจ.บึงกาฬ พ.ต.อ.ชัยพร พานิชอัตรา รรท.ผบก.ภ.จว.บึงกาฬ ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมนายจักรพล นามบุตร อายุ 29 ปี บ้านเลขที่ 95 หมู่ 7 ต.นาทราย อ.เมือง จ.นครพนม พร้อมของกลางรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ สีเทาดำ หมายเลขทะเบียน ภร-286 กทม. และกัญชาแห้งอัดแท่งจำนวน 240 แท่ง น้ำหนัก 240 กก. หลังถูกเจ้าหน้าที่สกัดจับจอดรถวิ่งหนีเข้าป่าตามจับมาได้ 1 อีก 1 รอดไปได้ สารภาพรับจ้างขนไปส่งปทุมธานีได้เที่ยวละ 50,000 บาท

วันที่ 14 ต.ค. 56  เวลาประมาณ 04.00 น. พ.ต.ท.วัลลภ ขุนหมื่น สวญ.ตม.บึงกาฬ ได้รับแจ้งจากสายลับ ว่าจะมีการลำเลียงกัญชาผ่านถนนสายบึงกาฬ – ศรีวิไล จ.บึงกาฬ จึงได้รายงานให้ พ.ต.อ.ชาติชาย เอี่ยมแสง รรท.ผบก.ตม.4 ทราบและได้ทำการประสานกำลังกับตำรวจน้ำบึงกาฬ ทหารพรานที่ 2103 บึงกาฬ ตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดบึงกาฬ และตำรวจ สภ.พรเจริญ วางแผนจับกุมตามเส้นทางเพื่อสกัดกั้น และตั้งจุดตรวจสกัดกั้นเพื่อจับกุมบริเวณบ้านศรีมงคล ต.ป่าแฝก อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ จนกระทั่งเวลาประมาณ 04.30 น. เจ้าหน้าที่พบรถยนต์ต้องสงสัยขับมาจอดก่อนถึงจุดตรวจราว 50 เมตร และพยายามเลี้ยวกลับรถเพื่อหลบหนี เจ้าหน้าที่จึงไล่ติดตาม พบชาย 2 คน เปิดประตูรถวิ่งลงไปในทุ่งนา เจ้าหน้าที่จึงไล่ติดตามสามารถจับกุมได้ 1 คนอีก 1 คนอาศัยความมืดหลบหนีไปได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายจักรพลฯ กลับมาที่รถเพื่อตรวจค้น หลังตรวจค้นภายในรถปรากฏว่าพบกัญชาแห้งอัดแท่ง พันรอบด้วยเทปกาวสีใส บรรจุอยู่ในกระสอบปุ๋ยมีถุงพลาสติกสีดำห่อด้านนอก จำนวน 6 กระสอบ เมื่อเปิดออกนับจำนวนได้ 240 แท่ง น้ำหนักราว 240 กก.

จาการสอบสวนนายจักรพลฯ ให้การรับสารภาพว่า มีโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาให้ตนขับรถยนต์คันดังกล่าวมาจาก อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ซึ่งมีกลุ่มพ่อค้าคนไทยนำมาจอดทิ้งไว้ให้ แล้วให้ไปรับกัญชาจากชาวลาวไม่ทราบชื่อบริเวณริมถนนสาย อ.ศรีวิไล – พรเจริญ บริเวณจุดทิ้งขยะ เสร็จแล้วให้ตนขับรถนำไปส่งให้กลุ่มพ่อค้าชาวไทยที่จะรอรับอยู่ในเขตพื้นที่ อ.รังสิต จ.ปทุมธานี โดยให้จอดทิ้งไว้ในปั๊มน้ำมัน แล้วจะมีคนมาขับรถไป แล้วจะมีกลุ่มพ่อค้านำเงินมาให้ 50,000 บาท ส่วนเพื่อนอีกคนที่หลบหนีไปนั้นตนไม่ทราบว่าชื่ออะไรรู้เพียงว่าเป็นชาว สปป.ลาว มาช่วยขนกัญชาเท่านั้นเอง 

หน่วยทันตกรรมพระราชทาน โดยคณะทันตแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ มาให้บริการชาวยโสธร 4 จุด

นายประวัติ ถีถะแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา 5 ธันวาคม 2556 หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับจังหวัดยโสธร กำหนดออกหน่วยให้บริการทันตกรรมแก่ประชาชน ฟรี โดยคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญจาก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 150 คน มาให้บริการ ถอนฟัน,อุดฟัน,ขุดหินปูน,รักษาคลองรากฟัน,ใส่ฟันเทียม และผ่าฟันคุด

มีกำหนดมาให้บริการ 4 จุด คือ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงเรียนมหาชนะชัยวิทยาคม วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงเรียนกุดชุมวิยาคม วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงเรียนเลิงนกทา วันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ ให้บริการตั้งแต่ เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ขอเชิญประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงไปรับบริการ ฟรี โดยทั่วกัน

ประกาศหาบุคคลสูญหายเป็นหญิงอายุ 86 ปี

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยโสธร ได้รับหนังสือประสานจาก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดราชบุรี ได้รับแจ้งเรื่อง คนสูญหาย จำนวน 1 ราย คือ นางแสวง สอนเพ็ง อายุ 86 ปี อยู่บ้านเลขที่ 105/1 หมู่ 4 ตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้สูงอายุหลงลืม เดินไปไหนมาไหนได้แข็งแรง รูปร่างผอม ผมหงอก สูง 150 เซนติเมตร ชอบถือไม้ป้องกันสุนัข เกรงว่าอาจได้รับอันตรายและถูกล่อลวงไปในทางที่เสียหายหรือตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ หากท่านพบเห็นหรือสงสัยว่าจะเป็นบุคคลสูญหายดังกล่าว

กรุณาแจ้งข้อมูลได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยโสธร โทรศัพท์ 045-711579 หรือ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดยโสธร โทร.1300



ส.ปชส.ยโสธร/ไพชยนต์ 16 ต.ค.56

ประกาศหาบุคคลสูญหายเป็นหญิงอายุ 86 ปี

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยโสธร ได้รับหนังสือประสานจาก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดราชบุรี ได้รับแจ้งเรื่อง คนสูญหาย จำนวน 1 ราย คือ นางแสวง สอนเพ็ง อายุ 86 ปี อยู่บ้านเลขที่ 105/1 หมู่ 4 ตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้สูงอายุหลงลืม เดินไปไหนมาไหนได้แข็งแรง รูปร่างผอม ผมหงอก สูง 150 เซนติเมตร ชอบถือไม้ป้องกันสุนัข เกรงว่าอาจได้รับอันตรายและถูกล่อลวงไปในทางที่เสียหายหรือตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ หากท่านพบเห็นหรือสงสัยว่าจะเป็นบุคคลสูญหายดังกล่าว

กรุณาแจ้งข้อมูลได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยโสธร โทรศัพท์ 045-711579 หรือ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดยโสธร โทร.1300



ส.ปชส.ยโสธร/ไพชยนต์ 16 ต.ค.56

ร้อยเอ็ด ชูป่าชุมชนวัดโคกร้าง อ.ศรีสมเด็จ เข้าชิงรางวัลโลกลูกสีเขียว ปี 56

จังหวัดร้อยเอ็ด เสนอป่าชุมชนวัดโคกร้าง ต.สวนจิก อ.ศรีสมเด็จ เข้าชิงรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 15 ปี 2556 เผยเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนกว่าพันไร่และเป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน จนถึงปัจจุบัน

ช่วงเช้าที่ผ่านมา (16 ต.ค. 56) นายสมศักดิ์  ขำทวีพรหม  ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยคณะสงฆ์อำเภอศรีสมเด็จ 66 วัด นำหัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชน และประชาชนในชุมชน  ต.สวนจิก อ.ศรีสมเด็จ บันทึกการถ่ายทำรายการสารคดีผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอรับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 15 ปี 2556 ของพระครูกิตยานุรักษ์ หรือหลวงปู่อุทัย  กิตติโก เจ้าอาวาสวัดป่าศรีมงคล (วัดโคกร้าง) ต.สวนจิก และตำบลหนองใหญ่ อ.ศรีสมเด็จ ซึ่งเจ้าอาวาสวัดป่าโคกร้าง เป็นพระนักพัฒนาต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของจังหวัดร้อยเอ็ด นำพระสังฆาธิการในท้องที่อำเภอศรีสมเด็จ 66 วัด เป็นสถานที่เพาะชำกล้าไม้ให้ชุมชนไปปลูก เพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน จากเดิม 200 ไร่ เพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน 3 แห่ง กว่าพันไร่ ประกอบด้วย ป่าโคกร้าง 200 ไร่ ป่าดอนดู่ 500 ไร่ และป่าดงยาง 480 ไร่ ในจำนวนนี้ ป่าโคกร้างเป็นสถานที่วัดป่าโคกร้างและที่พักผู้ป่วยโรคเอดส์ สำหรับป่าดอนดู่และป่าดงยางเป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยบ้าน วัด โรงเรียน หรือ บวร โดยเจ้าอาวาสวัดป่าโคกร้าง เป็นแกนนำสำคัญในการบิณฑบาตพื้นที่ป่าของชุมชน โดยชุมชนเพื่อชุมชน

นายวิบูลย์  แพนพา  นายอำเภอศรีสมเด็จ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อ.ศรีสมเด็จ จึงได้ส่งเสริมสนับสนุนการปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าประชาอาสา 80 พรรษา 800 ล้านกล้า ในจำนวนนี้ อำเภอศรีสมเด็จปลูกป่าได้ไม้มะค่า, ต้นยางนา, ไม้พยุง ได้ 2 ล้านต้น คิดมูลค่า 4,000 ล้านบาท และปลูกศักดิ์สยามมินทร์มากที่สุดของจังหวัดร้อยเอ็ด กว่าพันต้น




กมลพร  คำนึง/ข่าว/บก.ข่าว
บุญมี  เพ็งรัตน์/ภาพ
อนงค์นาถ  ธุระพันธ์/พิมพ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด
16 ต.ค.56

ร้อยเอ็ดจัดงาน "มหกรรมอาหารและสินค้าชุมชน ชิม ชม ช็อป”เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จ.ร้อยเอ็ด

จังหวัดร้อยเอ็ด  โดยเครือข่าย OTOP  จังหวัดร้อยเอ็ด  จัดงาน "มหกรรมอาหารและสินค้าชุมชน ชิม ชม ช็อป”เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  ณ  บริเวณถนนรัชชูปการ  หน้าโรงเรียนเมืองร้อยเอ็ด  อำเภอเมือง  จังหวัดร้อยเอ็ด

นายนิพนธ์  แก้วกาหลง  ประธานเครือข่าย OTOP  จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ใน เวลา 19.00 น. วันที่16 ต.ค. 56 จังหวัดร้อยเอ็ด กำหนดเปิดงานมหกรรมอาหารและสินค้าชุมชน ชิม ชม ช็อป”เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  ณ  บริเวณถนนรัชชูปการ  ระหว่างวันที่ 15-21  ตุลาคม  2556  โดยการดำเนินงานของเครือข่าย OTOP  จังหวัดร้อยเอ็ด  การจัดงานครั้งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิม ชม ช็อป จ.ร้อยเอ็ด”  จากการที่รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนผู้ผลิต และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น ให้ใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรในชุมชนได้ผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน ตลอดจนกาสนับสนุนการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นอันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดร้อยเอ็ดอีกด้านหนึ่งที่จะนำไปสู่การสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น และประชาสัมพันธ์สินค้าอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น ยังได้ใช้เวทีนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์เรื่องการผลิตและการตลาด เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์และช่องทางการตลาดต่อไป

กิจกรรรมในงาน ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ 1) การจัดจำหน่ายอาหารอร่อย OTOP  จากทุกภาคทั่วประเทศ  2)การแสดง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีคุณภาพมีชื่อเสียง  อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตในแต่ละจังหวัด ทั่วประเทศ  โดยมีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นเข้าร่วมจำหน่าย จำนวน  140 ราย ขอเชิญชวนประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง  เข้าร่วมงานมหกรรมอาหารและสินค้าชุมชน ชิม ชม ช็อป”เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในวันและเวลาดังกล่าว




คมกฤช  พวงศรีเคน/ข่าว
อนงค์นาถ  ธุระพันธ์/พิมพ์
กมลพร  คำนึง/บก.ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด
16 ต.ค. 56

อุดรธานีจัดสัมมนาโครงการคุณธรรมตามรอยพระยุคลบาทชาติเข้มแข็งมั่นคง

สมาคมความมั่นคงปลอดภัยแห่งประเทศไทย ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี จัดสัมมนาคุณธรรมตามรอยพระยุคลบาทชาติเข้มแข็งมั่นคง เสริมสร้างความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึกและความตระหนักในน้ำพระทัยพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ แนะน้อมนำพระบรมราโชวาท หลักการทรงงานไปประพฤติปฎิบัติให้เกิดผลต่อตนเอง ชุมชน ชาติบ้านเมือง

ที่ห้องอุดรธานีโรงแรมบ้านเชียง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี วันนี้ (16 ต.ค.56) นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ นายกสมาคมความมั่นคงปลอดภัยแห่งประเทศไทย นายสายเมือง วิรยศิริ ที่ปรึกษาโครงการพระราชดำริ สำนักราชเลขาธิการ หม่อมหลวงปนัดดา ดิษกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันบรรยายพิเศษ เรื่องคุณธรรมตามรอยพระยุคลบาทชาติเข้มแข็งมั่งคง ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานีที่ 1 และสำนักงานการมัธยมศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี 20 คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดอุดรธานี รวม 600 คน โดยมีนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวต้อนรับ นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ร่วมสัมมนา

โครงการสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าได้ตระหนักถึงน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่และเปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย และตระหนึกถึงความสำคัญของพระบรมราโชวาทที่จะต้องนำไปประพฤติปฏิบัติให้บังเกิดผลต่อตนเอง ชุมชน และชาติบ้านเมืองเป็นส่วนร่วม เพื่อให้คนไทยยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมในการปฏิบัติงานที่มุ่งเพิ่มสมรรถนะ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยยึดหลักบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระยุคลบาท ตลอดจน เพื่อให้ประชาชนไทยได้รับทราบ หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้ง 25 ประการ ทั้งนี้ภายหลังการจัดสัมมนาคาดว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคนจะเกิดความรักความสามัคคี เกิดความห่วงใยในบ้านเมือง มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยพร้อมที่จะร่วมมือกันช่วยเหลือ ป้องกัน พร้อมแก้ไขปัญหาเพื่อนำพาชาติให้เข้มแข็งมั่งคง

นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ นายกสมาคมความมั่นคงปลอดภัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทุจริต บ่งบอกถึงความตกต่ำของศีลธรรมของคนในชาติ จากการศึกษาพบว่าอาชีพที่โกงมากที่สุดคือ นักการเมือง รองลงมาคือพ่อค้า นักธรุกิจ และข้าราชการ ระบบคุณธรรมคนดียังมีโอกาสเจริญกว้าหน้าตามขั้นตอนแต่อาจจะช้า ขอให้คนซื่อสัตย์สุจริตอย่างท้อใจ เกียรติและศักดิ์ศรี ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งใหญ่โต แต่อยู่ที่ได้รับการยอมรับทั้งต่อหน้าและลับหลัง พร้อมน้อมนำหลักคิดในการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแนะแนวทางการปฏิบัติแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า ในหลวงทรงมีหลักคิดในการทรงานคือทำงานอย่างผู้รู้จริง แก้ไขปัญหาในจุดเล็กๆ พึ่งตนเอง เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ทำให้ง่าย ตั้งใจจริงมีความเพียร อดทนมุ่งมั่น อดทนทำจนเป็นนิสัย พร้อมกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างแก่พสกนิกร พระองค์ทรงทำให้ดู และทรงอยู่ด้วยการให้ และเล่าถึงพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเทพฯ เกี่ยวกับหลักสายกลางและการครองตนอย่างสันโดด โดยให้พระราชธิดา มองว่าผู้อื่นเป็นเพื่อนเกิด แก่ ตาย มองทุกอย่างในความเป็นจริง เพื่อแก้ไขอย่างเหมาะสม พอใจตามมีตามได้ มีความมั่นคงแห่งจิต มองเห็นโทษของความเกียรจคร้าน และมองเห็นประโยชน์ของความเพียร



ทีมข่าว ส.ปชส.อด.
ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ข่าว/ภาพ 

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประชุมทำแผนบริหารจัดการน้ำที่อุบลราชธานี

อุบลราชธานี : เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนงาน/โครงการ เกี่ยวกับเรื่องน้ำในจังหวัด เข้าประชุมเพื่อรับทราบการทำโครงการจัดทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการจังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นแผนแม่บทของจังหวัดเพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำ

วันนี้ (16 ต.ค.56) นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมชี้แจงระดับจังหวัด ครั้งที่ 1 ตามโครงการจัดทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการจังหวัดอุบลราชธานี ที่ห้องประชุมจินดารัตน์ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย ดร.ยุทธพล ทวะชาลี ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ เป็นที่ปรึกษาโครงการ ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนงาน/โครงการเกี่ยวกับเรื่องน้ำในจังหวัด เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงขั้นตอนการดำเนินงานตามโครงการฯ ที่มีระยะเวลาทำงาน 6 เดือน พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด พร้อมนี้ได้ชี้แจงถึงเป้าหมายของการดำเนินโครงการ,ทิศทางและขั้นตอนการดำเนินงานของคณะทำงาน ในขั้นตอนต่างๆ เช่น การรวบรวมข้อมูลแผนงาน/โครงการ เกี่ยวกับการจัดการน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ,การจัดประชุมเพื่อชี้แจงโครงการและรับฟังความคิดเห็นในระดับพื้นที่,การพิจารณาเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของโครงการ โดยพิจารณาจากด้านวิศวกรรม,ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม, ด้านสังคมและความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา,ด้านเศรษฐศาสตร์/ความเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่และด้านการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง/น้ำท่วม ในพื้นที่

พร้อมนี้ได้รับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่ร่วมประชุม เช่น การนำข้อมูลพื้นฐานในพื้นที่,การบูรณาการข้อมูลจากจังหวัดในลุ่มน้ำเดียวกันมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินโครงการ,การให้ความสำคัญกับปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำ,ปริมาณน้ำใต้ดิน,ปัญหาทางสภาพภูมิศาสตร์ในพื้นที่,ปัญหาจากการก่อสร้างถนน,ระบบระบายน้ำ,ปัญหาเรื่องน้ำในเมืองกับชนบท,การจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะสามารถดำเนินการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้รวมทั้งโครงการที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐให้ดำเนินการ

ซึ่งการดำเนินงานตามขั้นตอนและกระบวนการของโครงการ จะทำให้รับทราบแผนงาน/โครงการ ที่จะดำเนินการในพื้นที่และนำมาบูรณาการให้เป็นแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดอุบลราชธานี ให้สามารถนำมาใช้ในการบริหาจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญที่จะบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้



พงษ์สถิตย์ อรอินทร์
ส.ปชส.อุบลราชธานี
081 924 8609 /ข่าว/ 16 ต.ค.56

เชิญสั่งซื้อดอกแก้วกัลยาดอกไม้สัญลัษณ์คนพิการ

นางอารยา  อรุณานนท์ชัย  ประธานคณะกรรมการฝ่ายจำหน่ายดอกแก้วกัลยาในคณะกรรมการจัดงานวันคนพิการ ครั้งที่ 48 ประจำปี 2556  เปิดเผยว่า  สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชครินทร์  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานชื่อดอกไม้ประดิษฐ์ ซึ่งประดิษฐ์โดยคนพิการในสำนักสงเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ  สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์ว่า "ดอกแก้วกัลยา”  และพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของคนพิการทั่วประเทศเพื่อเป็นสิริมงคลแก่คนพิการและองค์กรของคนพิการ  ทรงพระราชดำรัสให้ฝึกอบรมอาชีพคนพิการเพื่อประดิษฐ์ "ดอกแก้วกัลยา” และจำหน่ายเพื่อนำรายได้ไปดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาคนพิการในด้านต่างๆ  ตั้งแต่ปี 2547  จึงขอความร่วมมือพนักงานหรือสมาชิกในหน่วยงานร่วมกันติดดอกแก้วกัลยาที่เสื้อในระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2556 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  โดยสั่งซื้อได้ที่สำนักส่งเสริมอาชีพัฒนาคนพิการ (สสพ) โทรศัพท์ 0-2241-2841

ผลการเลือกตั้งนายกอบต.และสมาชิก อบต.นครพนม

เรือโท สมควร  มั่นคง  ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครพนม  เปิดเผยว่า  สำนักงานการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครพนม  ได้จัดการเลือกตั้งนายก อบต.และสมาชิก อบต.กรณีครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2556 ผลการนับคะแนน

นายก อบต. อำเภอเมือง

ต.กุรุคุ นายเกษมศักดิ์  หล้าอ่อน
ต.ขามเฒ่า  นายวีรเดช ชามาตร
ต.คำเตย     นายไพศาล  เคนจันทร์
ต.ดงขวาง  นายสมหวาน  ลาวงษ์
ต.ท่าค้อ  นายสฤษดิ์  บัวลง
ต.นาทราย  นายสุบรรณ์  โพคาพาณิชย์
ต.บ้านกลาง  นายสุนทา  บรรหาร
ต.บ้านผึ้ง  ดาบตำรวจพิทักษ์  ต่อยอด
ต.อาจสามารถ  นายสัญญา  จันทะโคตร



อำเภอนาแก

ต.สีชมพู  จ่าสิบเอกสมบูรณ์  ฤทธิธาดา
ต.หนองบ่อ  นายบุญทรง ไกยะฝ่าย
ต.หนองสังข์  นายลือ  พ่อศรียา  อำเภอท่าอุเทน
ต.โนนตาล  นายสุภวิทย์  พรรณวงศ์
ต.พนอม  นายปั่น ดงกันหา
ต.รามราช  นายพิจิตร  นิวงษา


อำเภอบ้านแพง

ต.ไผ่ล้อม  นายกฤษดา  ผาลี
ต.โพนทอง  นายกฤษดากร  เมืองมุงคุณ


อำเภอนาหว้า

ต.นาคูณใหญ่  นายชาญชัย  แมดมิ่งเหง้า
ต.เหล่าพัฒนา  นายฉลาด  โชคชัยศรีมนตรี


อำเภอศรีสงคราม

ต.เดื่อ  นายสมัย  ศิริวงศ์
ต.โพนทอง  พันตรีผดุง  ทิพย์วงษ์
ต.เรณู   นายคารมย์  จิตมาตย์
ต.โพนสว่าง  นายชาติชาย  หาทำ
ต.ศรีสงคราม  นายทรงเดช  นาชัยเวียง


อำเภอโพนสวรรค์

ต.นาหัวบ่อ  นางทัศนี  แสงศิริพงษ์
ต.โพนจาน นายสมพงษ์  มณีรัตน์
ต.โพนบก  นายธีรวัฒน์  ขันจันทร์


อำเภอวังยาง

ต.ยอดขาด  นายวิมล วันนาพ่อ
ต.วังยาง นายเรืองศักดิ์  วงศ์ศรีชา


อำเภอนาทม

ต.นาทม  นายชัชวาล  ภูติทิพย์
ต.หนองซน นายสนอง  โมธรรม


อำเภอนาแก

ต.ก้านเหลือง  นายละเอียด นวนคำวงศ์
ต.คำพี้  นายศิวเรศ  น้อยเภา
ต.นาแก  นายสุเทพ  รักษาพล
ต.นาคู่  นายพิฆะ  แสงมณี
ต.นาเลียง  นายสมพงษ์  ไชยศรี
ต.บ้านแก้ง  นายเกษม  วงศ์ตาหล้า
ต.พิมาน  นายบัญชา  ศรีชาหลวง
ต.พุ่มแก  นายยงยุทธ  พ่อบาล


อำเภอธาตุพนม

ต.ดอนนางหงส์  นายศุภกฤต  แสงวงศ์
ต.นาถ่อน  นายมอ  ดีพรหม
ต.โพนแพง  นายปิยะศักดิ์  สุริยนต์
ต.แสนพัน  นายสมศักดิ์  อุพร
ต.อุ่มเหม้า  นายเผย  คำมุงคุณ


อำเภอเรณูนคร

ต.โคกหินแฮ่  นายสันติ  ศรียะไชย
ต.นาขาม  นายเสถียน  ฝาระมี
ต.นางาม  นายพรมรินทร์  บุญก้อน


จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกัน

ผลการแข่งขันเรือกีบจังหวัดนครพนม

นายนิวัติ  เจียวิริยะบุญญา  เปิดเผยว่า  จังหวัดนครพนมจัดการแข่งขันเรือกีบ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ชาวนครพนม  มีเรือเข้าร่วมแข่งขัน 27 ลำ  ผลการแข่งขัน เรือชนะเลิศได้แก่  เรือแม่กิ่งก้อย  ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรือนางสาวสร้อยฟ้า  ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรือบุปผานาวา ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 เรือเทพนิรันดร  ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ

จังหวัดนครพนมจัดการแข่งขันเรือยาวชิงแชมป์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายคุมพล  บรรเทาทุกข์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม  กล่าวว่า   จังหวัดนครพนมจัดการแข่งขันเรือยาวชิงแชมป์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี   เพื่อเป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์ไว้ซึ่งเอกลักษณ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขง  ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นเกิดความรักสามัคคี  ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน  โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็นประเภทเรือชายรุ่นใหญ่ 50-55 ฝีพาย  เรือชายรุ่นเล็ก 28-35 ฝีพาย ชิงโล่พระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ประเภทเรือเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างเรือจากจังหวัดนครพนมและเรือจากต่างประเทศ 28-35 ฝีพาย  ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี   และการแข่งขันเรือกีบ 8-10 ฝีพาย เป็นการแข่งขันภายในจังหวัดนครพนม  ชิงถ้วยเกียรติยศจากนายกเทศมนตรีเมืองนครพนม  ทั้งนี้ การแข่งขันจะเริ่มที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณหน้าวัดโพธิ์ศรีถึงบริเวณหน้าวัดพระอินทร์แปลง  อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

ผลการประกวดร้องเพลงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอปท.ในงานประเพณีไหลเรือไฟและงานกาชาด

นายคุมพล  บรรเทาทุกข์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม  กล่าวว่า  จังหวัดนครพนมจัดการประกวดร้องเพลงของ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ในงานประเพณีไหลเรือไฟและงานกาชาดนครพนม  ประจำปี 2556 โดยให้อำเภอคัดเลือกตัวแทนส่งเข้าประกวด อำเภอละ 2 คน ฝ่ายชาย 1 คน ฝ่ายหญิง 1 คน  รวม 12 อำเภอ จำนวน 24 คน ผลการประกวดประเภทชาย  รางวัลชนะเลิศ ได้แก่  นายสมร  คำคนซื่อ  อ.เรณูนคร  ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท ถ้วยเกียรติยศผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม  โทรทัศน์สี 21 นิ้ว 1 เครื่อง  จาก ส.ส.ชูกัน  กุลวงษา  รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 นายถิ่น  บุตรสอน  อ.นาทม  ได้รับเงินรางวัล 7,500 บาท พร้อมถ้วยรางวัลจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และกระเป๋าเดินทาง  จากผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 นายนันทรัตน์  อินเทพ  อ.ธาตุพนม  ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม  รางวัลชมเชย นายชาตรี  จันทนะ  อ.ธาตุพนม  ได้รับเงินรางวัล 2,000  บาท  ประเภทหญิง รางวัลชนะเลิศ นางหนูตาล  ปิยะวงษ์  อ.เรณูนคร  ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท ถ้วยเกียรติยศนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม  โทรทัศน์สี 21 นิ้ว 1 เครื่อง  จาก ส.ส.ชูกัน  กุลวงษา  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  นางอุทัยรัตน์  เชื้อมอญยาง  อ.นาแก  ได้รับเงินรางวัล 7,500 บาท ถ้วยเกียรติยศรองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม และกระเป๋าเดินทางจากผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นางรานิกูล  บุญมาพึ่ง  อ.บ้านแพง  ได้รับเงินรางวัล  5,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลจากรองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม  รางวัลชมเชย  นางสวรรค์ คำอะดุล อ.นาทม  ได้รับเงินรางวัล 2,000 บาท  รางวัลขวัญใจมหาชน นายชาตรี  จันทนะ  ได้รับตู้เย็น ขนาด 5.9 คิว จำนวน 1 เครื่อง พร้อมถ้วยรางวัล

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ แจ้งความเคลื่อนไหวราคาซื้อขายสินค้าเกษตร

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ แจ้งความเคลื่อนไหวราคาซื้อขายสินค้าเกษตร ประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือนตุลาคม 2556  ส่วนใหญ่ราคาทรงตัว

นายสิทธิพร บางแก้ว พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ ได้แจ้งราคาสินค้าเกษตรที่มีการซื้อขายในเขตอำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ ประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือนตุลาคม 2556 ดังนี้ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ (ใหม่) โรงสีรับซื้อ ตันละ 15,500 - 15,900 บาท, ข้าวสารหอมมะลิ 100 กก. โรงสีขาย ราคา 3,200 – 3,300 บาท ส่วนประเภทพืชไร่ มันสำปะหลัง-หัวมันสด (คละ) ลานมันซื้อ กก. ละ 1.50 - 1.60 บาท ปรับลดลง 0.60, ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพ 3 กก.ละ 76.61 บาท, ส่วนยางพาราคุณภาพ 4 กก.ละ 75.61 บาท

สำหรับราคาเนื้อสัตว์ ไก่มีชีวิต พันธุ์พื้นเมือง พ่อค้าขาย กก.ละ 65 - 70 บาท, ไก่บ้านชำแหละ (ไก่ทั้งตัวไม่รวมเครื่องใน) กก.ละ 120 - 130 บาท, ไก่ชำแหละ (ไก่ทั้งตัวไม่รวมเครื่องใน) กก.ละ 80 - 85 บาท, สุกรมีชีวิต พันธุ์พื้นเมือง นน. 90 - 100 กก.ๆ ละ 60 - 65 บาท, สุกรชำแหละเนื้อแดง กก.ละ 140 - 150 บาท และเนื้อสามชั้น 140 - 150 บาท, เนื้อโคชำแหละ กก. 220 - 240 บาท, และเนื้อกระบือชำแหละ กก. 200 - 220 บาท, ราคาปลาน้ำจืด ปลาช่อน กิโลกรัมละ 120 – 150 บาท , ปลานิล กิโลกรัมละ 75 – 80 บาท , ปลาทับทิม กิโลกรัมละ 100 – 110 บาท, ปลาดุก กิโลกรัมละ 65 - 70 บาท ส่วนไข่เป็ดสด คละ ขายปลีก 10 ฟอง 45 - 50 บาท, ไข่ไก่ เบอร์ 2 ขายปลีก 10 ฟอง 43 - 44 บาท, และเบอร์ 3 ราคา 42 - 43 บาท

ทั้งนี้ ราคาที่ซื้อขายในเขตอำเภออื่นๆ  อาจจะสูงหรือต่ำกว่านี้ขึ้นอยู่กับค่าขนส่ง  และราคาที่แจ้งนี้ไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย  แต่เพื่อผู้ซื้อขายใช้ประโยชน์ประกอบการตัดสินใจซื้อขายตามแนวโน้มราคาสินค้าในแต่ละช่วงเท่านั้น



สุวิทย์  เอี่ยมสอาด  /ข่าว

มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน ขอเชิญร่วมกิจกรรม “ร่วมการสร้างสวัสดิการการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย”

มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน ขอเชิญร่วมกิจกรรม "ร่วมการสร้างสวัสดิการการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัยและวัฒนธรรมผ้าป่าหนังสือสู่ชุมชน” ปีที่ 2 /2556

นางจันทร์เพ็ญ สินสอน ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประชาคมสุรินทร์สร้างสุข หน่วยงานภาครัฐเอกชนที่เกี่ยวข้องและเครือข่าย 32 ชุมชนเทศบาลเมืองสุรินทร์ ร่วมจัดกิจกรรม "ร่วมการสร้างสวัสดิการการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัยและวัฒนธรรมผ้าป่าหนังสือสู่ชุมชน” ปีที่ 2 /2556 และได้ตระหนักถึงการอ่านหนังสือส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เร่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านในสังคมสุรินทร์ตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2552 และในวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2556 มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จะเสนอเชิงนโยบายเรื่องสวัสดิการการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย มอบหนังสือให้แก่ชุมชน /โรงเรียนที่ขาดแคลน หมุนเวียนให้เกิดการอ่าน

ทั้งนี้ ในงานยังมีกิจกรรม การแสดงนิทรรศการการเรียนรู้ การประกวดเขียนเรื่องเล่า "อ่านเพื่อเปลี่ยน” การประกวดคำขวัญของชุมชนและยังมีการประกวดบนเวที อาทิ การประกวดเล่าเรื่องจากการอ่าน จากหนังสือที่ชอบอ่าน การประกวด "แดนซ์อ่าน” และสำหรับผู้ที่ส่งบทความ /คำขวัญ เข้าร่วมการประกวด ให้ส่งก่อนวันที่ 20 ตุลาคม 2556 ส่งได้ที่ ผู้นำชุมชน หรือติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์หมายเลข 084-8243751, 087-8803689



สุวิทย์  เอี่ยมสอาด  /ข่าว

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แจ้งขยายเวลาการประกวดคำขวัญรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มวัยนักเรียน นิสิตและนักศึกษา

นางสาวกัญญรัตน์ เกียรติสุภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ ได้รับแจ้งจาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดการประกวดคำขวัญ เพื่อใช้รณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มนักเรียน นิสิตและนักศึกษาของจังหวัดมหาสารคามเพื่อให้กลุ่มเยาวชนวัยเรียนทุกระดับ ชั้นได้เข้าใจ ตระหนัก รับรู้ถึงผลจากการตั้งครรภ์ในวัยเรียนผ่านงานการประกวดคำขวัญ โดยผู้ชนะการประกวดจะได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัลหรือทุนการศึกษา ผลงานที่ได้รับรางวัลที่เหมาะสม จะได้รับการพิจารณาจัดพิมพ์เป็นสื่อรณรงค์เผยแพร่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ขอเชิญชวนเข้าร่วมส่งผลงานประกวดได้ตามวันและเวลาดังกล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม โทรศัพท์ 0-4371-2992 โทรสาร 0-4371-2991 

จ.สุรินทร์ เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องพบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 16 ราย จากการหาปลาแล้วจมน้ำ

นายพิภพ ดำทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จากการที่จังหวัดสุรินทร์ ประสบภัยนำพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งจังหวัด พื้นที่ประสบภัย จำนวน 17 อำเภอ 146 ตำบล 1,603 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 781,003 คน 252,780 ครัวเรือน เสียชีวิต 16 ราย ในขณะนี้จังหวัดสุรินทร์ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หน่วยงานราชการ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิฯ องค์การการกุศล และหน่วยงานอื่นๆ ได้ระดมสรรพกำลัง เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถบรรทุก เครื่องมือ-อุปกรณ์ สิ่งของบรรเทาทุกข์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ดังนี้ ด้านสิ่งของบรรเทาทุกข์ ได้แก่ ถุงยังชีพ 51,579 ชุด,ข้าวกล่อง 44,630 กล่อง,ข้าวสาร 17,000 ถุง น้ำดื่ม 7,210 แพ๊ก,ยาเวชภัณฑ์ 4,400 ชุด ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ หญ้าแห้ง 8,000 ก้อน,ฟางอัดก้อน 746 ก้อน,แร่ธาตุ 200 ก้อน ด้านเครื่องมือ-อุปกรณ์ เครื่องจักรกล ได้แก่ เรือท้องแบน 50 ลำ,เครื่องยนต์เรือ 10 เครื่อง, รถบรรทุก 38 คัน,รถกู้ภัยเอนกประสงค์ 6 คัน,รถบรรทุกน้ำดื่ม 6 คัน,เครื่องสูบน้ำอัตโนมัติใต้ดิน 4 เครื่อง,เครื่องสูบน้ำ 8,10,12 นิ้ว 16 เครื่อง,กำลังพลทหาร 100 นาย,อส. 30 นาย ,อปพร. 1,500 นาย,กระสอบทราย 15,000 ใบ,ทราย 19 คันรถบรรทุก

นอกจากนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ บริเวณหน้าสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ มีผู้บริจาคเงินสด 312,031.50 บาท,ข้าวสาร 503 ถุงๆละ 5 กก.,น้ำดื่ม 291 แพ็ก,ถุงยังชีพ 617 ถุง,อื่นๆ 12 รายการ,กรมศาสนา จำนวน 12,000 บาท ในการจัดซื้อเครื่องอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ที่ประสบภัย และกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดข้าวสารบรรจุถุง จำนวน 20,000 ถุงๆละ 4 กิโลกรัม โดยจะแจกจ่ายให้กับอำเภอๆละ1,000 ถุง(รวม 17,000 ถุง) และมอบให้สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 3,000 ถุง ส่วนผู้เสียชีวิต 16 รายส่วนใหญ่จะเป็นการเสียชีวีตจากการจมน้ำ จึงขอให้ประชาชนหากจะไปหาปลาหรือไปดูแลไร่นาที่จมน้ำ ขอให้ระมัดระวังน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก ควรมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตด้วย 

จ.สุรินทร์ เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องพบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 16 ราย จากการหาปลาแล้วจมน้ำ

นายพิภพ ดำทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จากการที่จังหวัดสุรินทร์ ประสบภัยนำพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งจังหวัด พื้นที่ประสบภัย จำนวน 17 อำเภอ 146 ตำบล 1,603 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 781,003 คน 252,780 ครัวเรือน เสียชีวิต 16 ราย ในขณะนี้จังหวัดสุรินทร์ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หน่วยงานราชการ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิฯ องค์การการกุศล และหน่วยงานอื่นๆ ได้ระดมสรรพกำลัง เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถบรรทุก เครื่องมือ-อุปกรณ์ สิ่งของบรรเทาทุกข์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ดังนี้ ด้านสิ่งของบรรเทาทุกข์ ได้แก่ ถุงยังชีพ 51,579 ชุด,ข้าวกล่อง 44,630 กล่อง,ข้าวสาร 17,000 ถุง น้ำดื่ม 7,210 แพ๊ก,ยาเวชภัณฑ์ 4,400 ชุด ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ หญ้าแห้ง 8,000 ก้อน,ฟางอัดก้อน 746 ก้อน,แร่ธาตุ 200 ก้อน ด้านเครื่องมือ-อุปกรณ์ เครื่องจักรกล ได้แก่ เรือท้องแบน 50 ลำ,เครื่องยนต์เรือ 10 เครื่อง, รถบรรทุก 38 คัน,รถกู้ภัยเอนกประสงค์ 6 คัน,รถบรรทุกน้ำดื่ม 6 คัน,เครื่องสูบน้ำอัตโนมัติใต้ดิน 4 เครื่อง,เครื่องสูบน้ำ 8,10,12 นิ้ว 16 เครื่อง,กำลังพลทหาร 100 นาย,อส. 30 นาย ,อปพร. 1,500 นาย,กระสอบทราย 15,000 ใบ,ทราย 19 คันรถบรรทุก

นอกจากนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ บริเวณหน้าสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ มีผู้บริจาคเงินสด 312,031.50 บาท,ข้าวสาร 503 ถุงๆละ 5 กก.,น้ำดื่ม 291 แพ็ก,ถุงยังชีพ 617 ถุง,อื่นๆ 12 รายการ,กรมศาสนา จำนวน 12,000 บาท ในการจัดซื้อเครื่องอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ที่ประสบภัย และกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดข้าวสารบรรจุถุง จำนวน 20,000 ถุงๆละ 4 กิโลกรัม โดยจะแจกจ่ายให้กับอำเภอๆละ1,000 ถุง(รวม 17,000 ถุง) และมอบให้สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 3,000 ถุง ส่วนผู้เสียชีวิต 16 รายส่วนใหญ่จะเป็นการเสียชีวีตจากการจมน้ำ จึงขอให้ประชาชนหากจะไปหาปลาหรือไปดูแลไร่นาที่จมน้ำ ขอให้ระมัดระวังน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก ควรมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตด้วย 

จ.สุรินทร์มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 16 ราย

นายนิรันดร์ บุญสิงห์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ปี 2556 จังหวัดสุรินทร์ รายงานสภาพอากาศของจังหวัดสุรินทร์ 7 วันข้างหน้าในช่วงวันที่ 14-17 ตุลาคม 2556 อากาศเย็นและมีหมอกบางในตอนเช้าบางพื้นที่ ท้องฟ้ามีเมฆเป็นส่วนมากและมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "นารี” (NARI) จังหวัดสุรินทร์มีฝนเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 จนถึงปัจจุบันวัดได้ 1,463.6 มม. คิดเป็นร้อยละ 108.30 ของฝนเฉลี่ยจังหวัดสุรินทร์ 40 ปี เฉลี่ย 1,351.6 มม.

ทั้งนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่น ทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556 เป็นต้นมา มีผลทำให้หลายพื้นที่ได้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก โดยปริมาณฝนตกในพื้นที่เริ่มลดลง พื้นที่ประสบภัย จำนวน 17 อำเภอ 146 ตำบล 1,603 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ สังขะ ศรีณรงค์ จอมพระ เขวาสินรินทร์ ศีขรภูมิ ท่าตูม รัตนบุรี สำโรงทาบ ลำดวน บัวเชด กาบเชิง สนม ปราสาท โนนนารายณ์ ชุมพลบุรี และอำเภอพนมดงรัก ความเสียหายในเบื้องต้นอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย สำหรับราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 781,003 คน 252,780 ครัวเรือน เสียชีวิต 16 ราย บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 3,326 หลังคาเรือน คาดว่านาข้าวเสียหาย 620,978, คาดว่าพืชไร่เสียหาย 17,131 ไร่ คาดว่าพืชสวน เสียหาย 5,382 ไร่ ด้านปศุสัตว์/ประมง บ่อ/ปลากุ้ง คาดว่าจะเสียหาย 2,126 แห่ง, ปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 21,174 ตัว สัตว์ปีกที่ได้รับผลกระทบ 58,038 ตัว ถนนเสียหาย 486 สาย, สะพานเสียหาย 12 แห่ง, ท่อระบายน้ำเสียหาย 97 แห่ง ,ฝายเสียหาย 25 แห่ง, วัดเสียหาย 11 แห่ง, โรงเรียนเสียหาย 132 แห่ง, สถานที่ราชการเสียหาย 29 แห่ง สถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 525 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 6,339 คน สถานบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้รับผลกระทบ 50 แห่ง 

สศข.10 เคาะผลข้อมูลพืชภาคตะวันตกปี 56 เล็งต่อยอดด้านปศุสัตว์และประมงแน่นอนในปีถัดไป

ผลการจัดทำคุณภาพข้อมูลด้านพืชภาคตะวันตก ปี 56 ใน 6 พืชเศรษฐกิจหลักสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน พร้อมเสนอต่อคณะทำงานพัฒนาคุณภาพด้านพืชระดับประเทศและประกาศเป็นข้อมูลเอกภาพ เล็งเดินหน้าขยายคุณภาพข้อมูลให้เป็นเอกภาพไปสู่พืชชนิดอื่น รวมทั้งด้านปศุสัตว์ และประมงเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ได้กล่าวถึง ผลข้อมูลพืชเศรษฐกิจหลัก 6 ชนิดสินค้า ปี 2556 ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยผลการประชุมพิจารณาข้อมูลการเกษตรด้านพืชเศรษฐกิจหลักทั้ง 6 ชนิดสินค้า พบว่า ข้าวนาปี ปี 2555/56 มีเนื้อที่เพาะปลูก 1,545,465 ไร่ มีผลผลิตรวม 1,042,391 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2554/55 พบว่า เนื้อที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2555/56 มีเนื้อที่เพาะปลูก 104,839 ไร่ มีผลผลิตรวม 68,164 ตัน เมื่อเทียบกับปีเพาะปลูก 2554/55 เนื้อที่ลดลงร้อยละ 5 และผลผลิตลดลง ร้อยละ 4 มันสำปะหลังโรงงาน ปี 2555/56 มีเนื้อที่เพาะปลูก 531,838 ไร่ มีผลผลิตรวม 1,696,369 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2554/55 เนื้อที่ลดลง ร้อยละ 3 และผลผลิตลดลงร้อยละ 2 ข้าวนาปรัง ปี 2556 มีเนื้อที่เพาะปลูก 1,228,834 ไร่ มีผลผลิตรวม 923,533 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื้อที่และผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่ากันประมาณร้อยละ 1 ยางพารา ปี 2555 มีเนื้อที่ยืนต้น 372,125 ไร่ มีผลผลิตรวม 35,798 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2554 เนื้อที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ปาล์มน้ำมัน ปี 2555 มีเนื้อที่ยืนต้น 147,303 ไร่ มีผลผลิตรวม 258,056 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2554 เนื้อที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 และผลผลิตลดลงร้อยละ 9

สำหรับข้อมูลที่ได้ร่วมกันดังกล่าวนั้น ได้เสนอต่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลการเกษตรด้านพืช เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพด้านการเกษตรระดับประเทศอีกครั้ง เพื่อประกาศเป็นข้อมูลเอกภาพที่มีความถูกต้อง แม่นยำ เป็นที่ยอมรับ และมั่นใจได้ในข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ข้อมูลทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง ทั้งนี้ ในปีถัดไป จะมีการขยายและพัฒนา