วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หมอไทยฝีมือเยี่ยมผ่าตัดโรคต้อกระจกมาตรฐานอนามัยโลกและเกินเป้าหมายกำหนด

หมอไทยฝีมือเยี่ยมผ่าตัด ต้อกระจกได้ระดับมาตรฐานอนามัยโลก และปริมาณเกินเป้าที่กำหนด อนาคตวางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุขของอาเซียน
 
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและส่งเสริมการพัฒนาด้านสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรให้สัมภาษณ์ในโอกาสเดินทางมาร่วมโครงการ "ดวงตาสดใส ปลอดภัยจากโรคต้อกระจก ด้วยพระบารมีในหลวง” ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 เปิดเผยว่า จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นตัวอย่างของการรณรงค์ลดจำนวนคนตาบอดจากโรคต้อกระจก โดยนายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ได้ระดมบุคลากรด้านสาธารณสุข, ฝ่ายปกครองและส่วนท้องถิ่น ทำงานเชิงรุกจัดระบบค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยโรคต้อกระจกในทุกพื้นที่ของ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 เป็นต้นมา พบมีผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อโรคต้อกระจกมากกว่า 2 แสนคน คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคต้อกระจกที่เข้าเกณฑ์จะได้รับการผ่าตัดประมาณ 5,000 คน ซึ่งภาพรวมในระดับประเทศจากผลการประเมิน
เบื้องต้นพบว่าผลการผ่าตัดต้อกระจกในประเทศไทย ทั้งในโรงพยาบาลและการผ่าตัดเคลื่อนที่ (นอกสถานที่ปกติ) มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ในปี 2555 ตั้งเป้าผ่าตัด 100,000 ตา ผ่าได้จริง 140,000 ตา ในปี 2556 ตั้งเป้าผ่าตัด 100,000 ตา คาดว่าจะผ่าได้จริงไม่น้อยกว่า 140,000 ตา ในจำนวนต้อกระจกที่ได้รับการผ่าตัด มีสายตามัวในเกณฑ์ที่ถือว่าตาบอด (Blinding cataract) ประมาณ 20%
 
ซึ่งคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า มีจำนวนการผ่าตัดมากกว่าเป้าหมายมาก ซึ่งเป็นผลดีที่ทำให้สามารถลดคิวรอผ่าตัดต้อกระจกจาก 6 เดือน – 1 ปี เหลือไม่เกิน 3 เดือน สนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่ก็มีปัญหาด้านงบประมาณโครงการบริหารจัดการโรคเฉพาะ (โรคต้อกระจก) ของ สปสช.ติดลบต้องนำเงินจากโครงการอื่นมาใช้และยังต้องใช้เงินงบประมาณใน โครงการนี้ล่วงหน้าจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีจำนวนเงินค้างจ่าย จนมีผลกระทบถึงหน่วยให้บริการในโครงการแล้ว สมควรที่สำนักงบประมาณจะต้องพิจารณาให้การสนับสนุนโครงการนี้เป็นกรณีพิเศษ และเร่งด่วน

ส่วนปัญหาการเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข เมื่อประเทศไทยรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนนั้น นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ได้กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ได้มีการพูดคุยตกลงกันแล้วทางการแพทย์ในการให้ความร่วมมือในการศึกษา ควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะซึ่งการเคลื่อนย้ายบุคลากรคงไม่น่าจะมีปัญหา และทางประเทศไทยได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และ สาธารณสุขในอาเซียน




สุรพล คุณภักดี/ข่าว

พุทธศาสนิกชนชาวกาฬสินธุ์ร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ชาวศรีสังกา

พุทธศาสนิกชน ประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ชาวศรีลังกา จำนวน 50 รูป บริเวณถนนกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ที่มาปฏิบัติธรรมในจังหวัดกาฬสินธุ์

เมื่อเวลา 06.30 น. วันนี้ (5 กรกฎาคม 2556) บริเวณถนนกาฬสินธุ์ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง พระสงฆ์ชาวศรีลังกา จำนวน 50 รูป ตามโครงการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 260 ปี แห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา ที่เดินทางมาปฏิบัติธรรมในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และพำนักอยู่ ณ วัดป่ามัชฌิมาวาส (วัดบ้านดงเมือง) หมู่ที่ 10 ตำบลลำพาน อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเวลา 1 วัน 1 คืน ก่อนที่จะเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่จังหวัดอื่นต่อไป

ด้วยในปี พ.ศ. 2556 เป็นปีที่ครบรอบ 260 ปี แห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณูปการของพระอุบาลีมหาเถระจากกรุงศรีอยุธยา ผู้สถาปนานิกายสยามวงศ์อันเป็นหนึ่งในพระพุทธศาสนาเถวราทนิกายของประเทศ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีสังกาในปัจจุบัน และรัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือในการจัดโครงการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 260 ปี แห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา โดยได้มีการจัดบรรพชาอุปสมบทชาวศรีสังกา จำนวน 260 รูป ที่ประเทศไทย เพื่อเฉลิมฉลองงานดังกล่าว ซึ่งพระสงฆ์ชาวศรีลังกาจำนวน 50 รูป ได้เดินทางมาปฏิบัติธรรมและพำนักที่วัดป่ามัชฌิมาวาส จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ออกจาริกบิณฑบาตกับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ในเขตเทศบาล เมืองกาฬสินธุ์




ดวงใจ หงษ์จันทร์/ข่าว

เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์จัดอบรมความรู้ด้านกฎหมายให้กับประชาชน

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 ที่หอประชุมธรรมาภิบาล เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดโครงการเผยแพร่ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนในเขตเทศบาล เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งกองนิติกร เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายในชีวิตประจำวัน และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการชุมชนและตัวแทนคณะกรรมการจาก 36 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เข้ารับการอบรม

นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินชีวิตของคนเราต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต โดยกฎหมายนั้นถือว่าเป็นเครื่องมือควบคุมพฤติการณ์ในสังคมที่พัฒนามาจาก ศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ศาสนา และกฎเกณฑ์ข้อบังคับ เพื่อให้เกิดความสงบ เรียบร้อยในสังคม และเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกับ สำนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดทำโครงการเปิดศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน และศูนย์ไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2554 เปิดบริการในวันและเวลาราชการ แต่ก็พบว่าประชาชนบางส่วนไม่สามารถมาติดต่อขอความช่วยเหลือได้ในวัน เวลาราชการ หรือไม่สะดวก อีกทั้งประชาชนบางสวนก็ขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย

ดังนั้น เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์จึงได้จัดโครงการเผยแพร่ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ขึ้น โดยมุ่งหวังว่าจะช่วยให้ประชาชนที่เข้ารับการอบรมมีความรู้ด้านกฎหมายที่จำ เป็นในชีวิตประจำวัน อันจะส่งผลให้ชุมชนและสังคมเกิดความเรียบร้อย ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งมีวิทยากรจากศาลจังหวัดกาฬสินธุ์มาให้ความรู้เรื่อง การไกล่เกลี่ยคดีในชั้นศาล, สำนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน, การดำเนินคดีกับคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินล้าน และพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เรื่องการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับคดีจราจร
 



ดวงใจ หงษ์จันทร์/ข่าว

ตำรวจมั่นใจพยานหลักฐานชั้นสอบสวน สามารถส่งฟ้องผู้เกี่ยวข้องทุจจิตจำนำข้าวได้

ตำรวจชัยภูมิ ระดมนายตำรวจมือดี เร่งสอบสวน ปิดสำนวน ส่งอัยการ ฟ้องผู้เกี่ยวข้องกับการทุจจริตโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง มั่นใจหลักฐานพยานที่ได้มา เตรียมแจ้ง 3 ข้อหา ทั้งเจ้าของโรงสี และผู้เกี่ยวข้อง

พ.ต.อ. ไอศูรย์ สีหนาถ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยถึง ความคืบหน้า เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ปี 2555/2556 รอบ 2 (นาปรัง) ของโรงสี นพภร อ.บ้านเขว้า ว่า ขณะนี้ ได้มอบหมายให้นายตำรวจมือดี เข้ามารับผิดชอบ ทำคดีที่มีผู้แจ้งความเอาไว้ ที่ สภ.บ้านเขว้า แล้ว จำนวน 3 คดี คือ คดียักยอกข้าวเปลือก อคส.เป็นผู้เสียหาย โรงสีนพภร เป็นผู้ถูกกล่าวหา คดีปลอมแปลงและใช้เอกสารปลอม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดรับจำนำเป็นผู้เสียหาย และคดีสวมสิทธิ์ ฉ้อโกงทรัพย์ ตอนนี้สืบสวนพบมีมีผู้เกี่ยวข้อง 10 รายชื่อ แต่จากการขยายผลน่าจะมีมากกว่านี้

มั่นใจในผลการสืบสวน เอกสารหลักฐานทั้งในกล้องวงจรปิด ภาพถ่าย และพยานบุคคล สามารถดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องได้แน่นอน ในขณะนี้ผู้ต้องหา มอบตัวแล้ว 1 คดี คือ คดีปลอมแปลงและใช้เอกสารปลอม ส่วนคดีอื่นยังไม่มอบ ยอมรับว่าทุกอย่างต้องดำเนินไปด้วยความรอบคอบรัดกุม เมื่อได้พยานหลักฐานครบถ้วน จึงแจ้งให้โรงสี นพภร มามอบตัว



สุระพงค์ สวัสดิ์ผล /ข่าว

กีฬาแห่งชาติและคนพิการแห่งชาติที่โคราช ได้ภาพสัญลักษณ์ทั้งหมดแล้ว จากการคัดเลือกผลงานผู้เข้าประกวดมากกว่าครึ่งร้อย แต่ยังต้องรอการปรับแก้ตามมติที่ประชุมเพื่อความเหมาะสม ก่อนประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้งเพื่อเริ่มประชาสัมพันธ์

ที่ห้องประชุมศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัด นครราชสีมา ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมการประกวดภาพสัญลักษณ์ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 43 นครราชสีมาเกมส์ และกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 33 โคราชเกมส์ ท่ามกลางคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและการออกแบบจาก สถานศึกษาหลายแห่ง และผู้เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม เพื่อทำการพิจารณาผลงานที่มีผู้ส่งเข้าประกวดจากทั่วประเทศ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น โดยหลังการใช้เวลาพิจารณาและคัดเลือกร่วม 4 ชั่วโมง ผลการคัดเลือกในเบื้องต้นปรากฏว่า ในรายการกีฬาแห่งชาติ สัญลักษณ์การแข่งขันหรือออฟฟิเชียลโลโก้ ที่มีผู้ส่งประกวดจำนวน 14 ชิ้น คณะกรรมการเลือกผลงานของนายธัญกมล แพเกาะ ที่มีรูปย่าโมเด่นสง่า และมีแบ็คกราวด์เป็นปราสาทหินพิมาย ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่ที่ประชุมเสนอให้มีการปรับแก้ตัวเลขจำนวนครั้งที่ 43 ให้เป็นเลขไทยแทนเลขอารบิค ,ปรับเปลี่ยนลายปราสาทหินพิมายให้มีความชัดเจนในการสื่อความหมาย และปรับฟอนท์ตัวหนังสือชื่อการแข่งขันให้มีความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น ส่วนแมสคอตหรือสัตว์นำโชค มีผู้ส่งประกวด 8 ชิ้น น้องสาธร ผลงานของนายนิพิฐพล อุดดง ที่ใช้แมวสีสวาทในการออกแบบ ด้วยการถือคบเพลิงมีเหรียญรางวัลห้อยคอ ในอาการร่าเริงดีใจ ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยที่ประชุมเสนอให้ปรับแก้ให้สวมเสื้อผ้าในโทนแสดฟ้า และเพิ่มรายละเอียดเช่น สัญยลักษณ์การแข่งขันเข้าไปในเสื้อและเหรียญรางวัล และสุดท้ายคำขวัญ หรือสโลแกน มีผู้ส่งเข้าประกวด 9ชิ้น คณะกรรมการเลือกผลงานของนายศุภชัย วงษ์บุตร ที่ใช้คำว่า กีฬาดี มีสามัคคี มีมิตรไมตรี มีพลัง และใช้ภาษาอังกฤษว่า เกรทออฟเดอะสปิริตเกมส์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่ให้ปรับแก้เป็น กีฬา สามัคคี มิตรไมตรี มีพลัง พร้อมให้ดำเนินการตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอีกครั้ง ว่าภาษาไทยกับอังกฤษเหมาะสมกันหรือไม่ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศเป็นผลงานของนายธัญกมล แพเกาะ ที่ใช้คำว่า มิตรภาพสู่ความสำเร็จ เฟรนด์ชิพรีเลย์ชั่นซัคเซส ขณะที่ในรายการกีฬาคนพิการแห่งชาติ สัญลักษณ์การแข่งขันหรือออฟฟิเชียลโลโก้ ที่มีผู้ส่งประกวดจำนวน 20 ชิ้น คณะกรรมการเลือกผลงานของนายพิษณุ พัฒนสุทธิชลกุล ชนะเลิศ ซึ่งมีย่าโมเป็นจุดเด่น พร้อมทั้งริ้วเส้นด้านล่างที่เป็นลายผ้าไหม และมีลายเส้นพริ้วไหวเป็นเลขสามสิบสามที่หมายถึงจำนวนครั้งของการแข่งขัน และมีลักษณะเป็นนักกีฬาอยู่บนวีลแชร์ โดยที่ประชุมได้เสนอให้ปรับแก้ฟอนท์ให้มีความเป็นไทยมากขึ้น ปรับสีให้เข้ากับสีจังหวัดและสีของการแข่งขัน รวมทั้งนำภาพริ้วสีที่ประกอบเป็นนักกีฬาบนวีลแชร์ มาใส่เพิ่มเติมลงในเลขสามสิบสามให้กลมกลืนกัน ด้านแมสคอตมีผู้ส่งเข้าประกวด 4 ชิ้น ผลงานชนะเลิศชื่อ เจ้าคารม เป็นของนายนิพิฐพล อุดดง ที่นำนกเขาคารม นกเขาที่มีถิ่นกำเนิดจากนครราชสีมา มาใช้ออกแบบ ในท่าทางดีใจ มีเหรียญรางวัลห้อยที่คอ แต่ยังต้องปรับแก้ให้สามารถถือคบเพลิงไว้ในมือได้ เพื่อให้สื่อถึงเกมการแข่งขันมากขึ้น และปรับลักษณะท่าทางให้เหมาสะมต่อการนำไปใช้งานจริงมากกว่านี้ และสุดท้ายคำขวัญประจำการแข่งขัน มีผู้ส่งประกวด 4 ชิ้น ชนะเลิศเป็นของ นายธัญกมล แพเกาะ ใช้คำว่า แรงกาย แรงใจ แรงศรัทธา และภาษาอังกฤษว่า เวย์ทูเดอะเฟธฟูล ซึ่งคณะกรรมการกำชับให้ดำเนินการตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญทางภาษาอีกครั้งว่า ทั้งสองภาษาเหมาะสมกันหรือไม่ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศไม่มีผู้ได้รับเลือก เนื่องจากยังไม่ผ่านเกณฑ์ของคระกรรมการ โดยหลังจากนี้จะได้มีการเชิญเจ้าของผลงานที่ได้รับเลือกมารับทราบผลการ ตัดสิน และแนวทางการปรับแก้ให้เป็นไปตามมติที่ประชุม พร้อมนำเรื่องรายงานต่อที่ประชุมคระกรรมการกีฬาจังหวัด เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน ก่อนจะประกาศผลการตัดสิน และรูปแบบของภาพสัญลักษณ์ทั้งหมดที่สมบูรณ์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง จากนั้นจึงจะสามารถนำเสนอเพื่อประชาสัมพันธ์ได้

ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ รับรางวัล เกียรติยศ “ระฆังทอง” สาขาผู้บริหาร และนักพัฒนา ระดับประเทศดีเด่น ประจำปี 2556

ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า ในปี 2556 นี้ ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้รับรางวัลดีเด่น ถึง 2 รางวัล โดยรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 1 รางวัล และ รับประทานรางวัลจากนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี อีก 1 รางวัล

ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้ารับพระราชทานรางวัล "เสาเสมาธรรมจักร” จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๕.๐๐ น. ที่ พลับพลามณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ประจำปี ๒๕๕๖ ด้วยผลงานในการส่งเสริมพระพุทธศาสนา และนำหลักการสอนของพระพุทธศาสนามาจัดทำโครงการรณรงค์ป้องกันยาเสพติดและการ ดำรงชีวิตของเยาวชนในสถานศึกษา นอกสถานศึกษา รวมทั้งการสงเคราะห์ประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ให้ยึดหลักพระพุทธศาสนา และดำรงตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมนำหลักทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มายึดถือเป็นคุณธรรมประจำตนในการบริหารงานราชการและดูแลความเป็นอยู่ของ ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา อาทิ การจัดทำโครงการเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อต่อสถาบัน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน ไปทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

ส่วนรางวัล "ระฆังทอง” ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้ารับประทานรางวัลจาก ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดี-รังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีนางราตรี บัวประดิษฐ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา ไปร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีด้วย

การจัดพิธีประทานรางวัลเกียรติยศ ระฆังทอง (บุคคลแห่งปี) ปีนี้ (ปี 2556 ) นับเป็นครั้งที่ 6 โดย สมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สว.นท.) เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกและติดตามดูผลงานย้อนหลังหลายปี ตั้งแต่ครั้งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการ จังหวัดอีก หลายจังหวัด ซึ่งมีผลงานเป็นที่เด่นชัดมาตลอดและมากยิ่งขึ้น เมื่อมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา อาทิ การใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงในการบริหารงานและสร้างความรู้ความเข้าใจและความ ใกล้ชิดกับประชาชน ด้วยการจัดทำราย ครั้งละ 55 นาที (เกือบ 1 ชั่วโมง) ไม่เคยขาดในรายการ "ผู้ว่าฯ วินัย พบชาวโคราช” ทุกสัปดาห์ โดยมีสถานีวิทยุกองทัพภาคที่ 2 และเครือข่ายวิทยุชุมชน,หอกระจายข่าวร่วมถ่ายทอดทุกครั้ง ด้วย นอกจากนั้นยังชี้แจงการทำงานและการบริหารราชการผ่านสื่อทุกชนิด ไม่ว่าสื่อหนังสือพิมพ์ สื่ออินเทอร์เน็ต สื่อโปสเตอร์ แผ่นปลิว หรือคัทเอาท์ และซีดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สื่อมวลชนได้เข้าพบและสัมภาษณ์ได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นสื่อส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค ตลอดจนการให้ความร่วมมือในการจัดทำรายการต่างๆ ของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องแม้แต่สื่อโทรทัศน์ดาวเทียมที่เดินทางมาถ่ายทำใน พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้อำนวยความสะดวกและให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง จนข่าวสาร และสารคดีเกี่ยวกับจังหวัดนครราชสีมาได้รับการแพร่หลายอย่างต่อเนื่องตลอด เวลา รวมทั้งยังใช้หลักการประชาสัมพันธ์ในการใช้สื่อเพื่อปฏิบัติงานและการบริหาร งานกับอำเภอทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา อาทิ การแบ่งกลุ่มอำเภอตามยุทธศาสตร์พื้นที่ ออกเป็น 6 กลุ่มอำเภอ มีการจัดตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มอำเภอ”ในการบูรณาการการทำงาน มีการประสานงานในการร่วมกันเสนอแนะ แก้ไขแบบประชาชนมีส่วนร่วมในทุกประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้ให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีการบริหารงานกับหัวหน้าส่วนราชการภายในจังหวัด ด้วยระบบ Social Network (โซเชียล เน็ตเวิร์ด) อาทิ e-mail และ line เป็นต้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการประกวด web site ของส่วนราชการต่างๆจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้หน่วยงานราชการในจังหวัดนครราชสีมา มีการพัฒนา web site อีกด้วย
 
จากผลงานที่หลากหลาย และมีความมุ่งมั่นสม่ำเสมอ สมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สว.นท.) จึงได้เสนอชื่อให้เป็นบุคคลแห่งปีนี้ (ปี 2556 ) เข้ารับรางวัล "ระฆังทอง” โดยมี สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ คณะผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ประธาน เสด็จฯ มาประทานเกียรติบัตร และ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ (องคมนตรี) เป็นผู้มอบรางวัล "ระฆังทอง” แก่ผู้เข้ารับรางวัล เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดี-รังสิต กรุงเทพมหานคร
 
รางวัล "ระฆังทอง” เป็นรางวัลที่ มอบให้แก่ บุคคลที่ทำประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม และสมควรควรได้รับการยกย่อง ชมเชย สนับสนุน ให้เป็นบุคคลตัวอย่างแก่สังคม และเสริมสร้างขวัญกำลังใจ เพื่อที่จรรโลงให้สังคมน่าอยู่ มากด้วยผู้มีคุณต่อสังคม บุคคลที่ประกอบคุณงามความดี และมีผลงานดี ควรได้รับมอบรางวัล "ระฆังทอง” เป็นเกียรติ และกำลังใจ สำหรับตัวเอง ครอบครัว และผู้ที่เกี่ยวข้อง ปี 2556 สืบไป
 

ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลนี้ ได้กล่าวว่า รางวัลที่ได้รับเป็นความภูมิใจ และ เป็นเกียรติยศของตนและครอบครัวเป็นอย่างยิ่งและชาวจังหวัดนครราชสีมาด้วย เพราะผลงานที่ทำให้ได้รับรางวัลเกิดจากความร่วมมือ ร่วมใจในการทำงานของทุกคน ไม่ว่าจะเพื่อนข้าราชการ ผู้ใต้บังคับบัญชา ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนทุกคน ที่ช่วยให้การทำงานประสบผลสำเร็จ และโดยเฉพาะสื่อมวลชนทุกสาขา ที่ทำให้ข่าวสารข้อมูล การแก้ปัญหา การทำงานราชการ สู่ประชาชนอย่างรวดเร็วถูกต้อง และแพร่หลาย และ ว่ารางวัลที่ได้รับทั้ง 2 รางวัลนี้ นอกจากจะเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของตนและครอบครัวแล้ว ขอให้ชาวจังหวัดนครราชสีมาได้ภูมิใจด้วย เพราะเป็นรางวัลที่ได้จากความร่วมมือของทุกคน ทั้งข้าราชการ เอกชน และประชาชน พร้อมขอบคุณทุกๆคนที่ให้ร่วมมือในการทำงาน ซึ่งรางวัลที่ได้รับนี้ ก็จะเป็นกำลังใจให้ตนมีความมุ่งมั่นทำงานเพื่อการเป็นข้าราชการที่ดี เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้บริหารที่ยึดหลักพระพุทธศาสนา และดำรงตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอน้อมนำหลักทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มายึดถือเป็นคุณธรรมประจำตนในการบริหารงานราชการและดูแลความเป็นอยู่ของ ประชาชน ตลอดไป

ไข้เลือดออกที่มหาสารคามระบาดหนัก ผู้ป่วยเกือบ 1000 ราย ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 1

การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ล่าสุดมีผู้ป่วยสะสมแล้ว 969 ราย โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เป็นเด็กชาย อายุ 12 ปี ทีม SRRT ลงพื้นที่สอบสวนโรค สร้างความตระหนักให้เกิดการเฝ้าระวังร่วมกัน

นายแพทย์สุริยา รัตนปริญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม นำผู้เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งจังหวัดมหาสารคามมีแนวโน้มการระบาดค่อนข้างรุนแรง จนต้องประกาศเป็นภัยพิบัติ โดยข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2556 มีผู้ป่วยสะสม แล้ว 969 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 101.14 ต่อแสนประชากร และในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 12 ปี ซึ่งเป็นเด็กที่มีภาวะอ้วน อาศัยอยู่ที่บ้านลาด หมู่ 2 ตำบลลาดพัฒนา อำเภอเมืองมหาสารคาม โดยเริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2556 ส่งตัวเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาสารคามเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม อาการไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตวันที่ 2 กรกฎาคม เวลา 03.20 น.

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว หรือ SRRT ลงพื้นที่หาข้อมูล พร้อมสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักให้เกิดแก่ประชาชนในชุมชน โรงเรียน โดยเฉพาะทีม อสม.ในพื้นที่ ให้ลงไปให้ความรู้แก่ประชาชน เน้นการกำจัดลูกน้ำ ยุงลาย รวมทั้งยุงตัวแก่ ด้วยแนวทาง 5 ป 1 ข คือ คือ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ และขัดไข่ยุงลาย

ด้านนายแพทย์สถาพร ณ ราชสีมา กุมารแพทย์โรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า การสังเกตอาการหากมีไข้สูง ให้รับประทานยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอน ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย หากมีอาการรุนแรง ไข้สูง ไข้ไม่ลด ให้รีบน้ำผู้ป่วยมาพบแพทย์ทันที ทั้งนี้หากมีโรคประจำตัวหรือโรคอ้วนต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ ผู้ป่วยอาจช็อคและเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้ประกาศเป็นภัยพิบัติไข้เลือดออก นั้นมีจำนวน 5 อำเภอที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงได้แก่ กันทรวิชัย เมือง วาปีปทุม พยัคฆภูมิพิสัยและโกสุมพิสัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน สถานศึกษาต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือด ออก




ส.แชส.มหาสารคาม/ข่าว

ส่วนราชการมหาสารคามร่วม Big Cleaning Day

ส่วนราชการ 28หน่วยงาน ภายในศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกิจกรรมเปิดตัว Big Cleaning Day ที่ทำงานน่าอยู่ตามหลักการ 5ส.

หัวหน้าส่วนราชการ ภายในศูนย์ราชการ ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม รวม28หน่วยงาน นำบุคลากรร่วมกันทำความสะอาด สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย ภายในสำนักงานของตนเองให้น่าอยู่ น่ามอง ตามโครงการ Big Cleaning Day ที่ทำงานน่าอยู่ตามหลักการ 5ส. หวังสร้างความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนผู้มารับบริการเกิดความประทับใจ โดยมีนายยิ่งยศ ธนะจันทร์ รองผู้ว่าราชการตังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมมอบอุปกรณ์ทำความสะอาด และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากร

ทั้งนี้กิจกรรม Big Cleaning Day. ตามหลักการ5 ส ของส่วนราชการในจังหวัดมหาสารคาม ยังได้ขยายครอบคลุมถึงส่วนราชการอื่นในแต่ละอำเภอ ซึ่งก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่ออกตรวจประเมิน มอบรางวัลเป็นขวัญกำลังใจแก่หน่วยงานด้วย




ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว

นรข.มุกดาหารสกัดแก๊งขนหมูเถื่อนไปประเทศเพื่อนบ้าน

พลเรือตรี รังสรรค์ โตอรุณ ผู้บัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตนครพนม พร้อมด้วย พ.อ.ยุทธนา ม่วงพลูสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดมุกดาหาร (กอ.รมน.) ได้รับรายงาน จากสายว่า จะมีกลุ่มนายทุนลักลอบนำสุกรส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ผ่านพิธีทางศุลกากร ที่บริเวณบ้านทรายทอง ตำบลบางทรายน้อย อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร สั่งการให้ นาวาตรีกรภัทร ศรีพิพัฒน์ หัวหน้าสถานีเรือมุกดาหาร พันตำรวจเอก พัลลภ สุริยกุล ณ อยุธยา พร้อมาเจ้าหน้าที่ นรข.มุกดาหาร เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.มุกดาหาร ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมุกดาหารนำกำลังซุ่มเฝ้าตรวจบบริเวณดังกล่าว กระทั่งพบเรือหางยางแล่นจากฝั่งลาวมุ่งหน้ามาริมฝั่งแม่น้ำโขง บ้านทรายทอง ตำบลบางทรายน้อย อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ระหว่างนั้นมีกลุ่มคนประมาณ 15คน บรรทุกสุกรไปยังเรือลำดังกล่าว พร้อมกับยกขึ้นเรือ เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวขอตรวจสอบ เมื่อกลุ่มคนดังกล่าวเห็นเจ้าหน้าที่ได้วิ่งหลบหนี ผลตรวจสอบเบื้องต้น พบสุกรขังอยู่ในกรงเหล็ก 2กรง อยู่บนเรือหางยาว เตรียมส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เจ้าหน้าที่ได้ยึดสุกร และเรือหางยาวพร้อมเครื่องยนต์ จากนั้นนำของกลางส่งศุลกากรมุกดาหารเพื่อบันทึกตรวจยึดสุกรนำส่งด่านกักกัน สัตว์มุกดาหาร เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป




ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว

ตำรวจ สภ.ดอนตาล จังหวัดมุกดาหารตรวจยึดยาบ้าเกือบ 37,747 เม็ดจากแก๊งค้ายาบ้าข้ามชาติ

ณ กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร พ.ต.อ.สรุศักดิ์ นาถวิลย์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วย พ.ต.อ.พิษณุ บรรละศิลป์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรดอนตาล พ.อ.อ.ภณกช หรรษา ผู้กำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร ได้แถลงข่าวการจับกุมแก๊งค้ายาเสพติดข้ามชาติ ในข้อหานำเข้ายาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภทหนึ่งเพื่อจำหน่ายและความผิดเช่น มีอาวุธปืน เครื่องวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมของกลาง ยาบ้า จำนวน 37,747 เม็ด ระเบิดสังหาร จำนวน 1 ลูก ปืนลูกซองสั้นจำนวน 1กระบอก และกระสุนปืน 5นัดและผู้ต้องหา 2คน คือท้าวคำพา ไม่มีนามสกุล อายุ 50 ปี ราษฎรชาวลาวและนายอำนาจ สาสาย อายุ 26 ปี อยู่หมู่ที่ 7 ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ชุดป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตำรวจภูธรอำเภอดอนตาลจับกุมท้าวคำพา และขยายผลจับกุม นายอำนาจ สาสายเพิ่มได้ 1คน ส่วนที่เหลือ 2คนซึ่งเป็นชาวลาวหลบหนีไปได้ สอบสวนเบื้องต้นทั้ง 2คนให้การสารภาพว่าเป็นเพียงผู้รับจ้างขนเท่านั้น โดยท้าวคำพา ได้ 20,000 บาท/เที่ยว นายอำนาจ ได้ 5,000 บาท/เที่ยว และทำมาแล้ว 2 ครั้ง โดยขนยาบ้าจะนำไปส่งที่อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ โดยจะมีผู้มารับอีกทอดหนึ่ง ซึ่งภายหลังจากแถลงข่าว ได้ควบคุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางทั้งหมด ส่งพนักงานสอบสวน สภ.ดอนตาล สอบสวนขยายผลและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป




ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว

ตำรวจ ศปทส. เข้าตรวจสอบสัตว์ในมุกดาสวนเสือฟาร์มที่มุกดาหาร

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ที่ปรึกษา (ปป4) ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติงานและป้องกันปราบปรามการกระทำความ ผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ พ.ต.อ. มนตรี ยิ้มแย้ม หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 2 (ศปทส.ตร) พ.ต.ท.ณัฐวัฒน์ ด้วงพูลอนันต์ สารวัตชุดปฎิบัติการ (ศปทส.ตร.) นำกำลังเข้าตรวจสอบอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีกำแพงล้อมรอบ ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร สถานที่ดังกล่าวมีพื้นที่อยู่ราว 15ไร่ มีลูกจ้างชาวลาว รับจ้างดูแล ส่วนภายในมีอาคาร และกรงสัตว์อยู่จำนวนมากและอาคารที่อยู่ระหว่างปลูกสร้างอีก 2 หลัง โดยเจ้าหน้าที่สำรวจพบว่าภายในมีสัตว์ป่าจำนวนมาก ประกอบด้วย เสือโคร่ง 28 ตัว เสือดาว 7 ตัว เสือดำ 1 ตัว จระเข้ 70ตัว และสิงโตอีก 3 ตัว โดยเสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ และสิงโต ถูกแยกขังไว้ในกรง ส่วนจระเข้ ปล่อยอยู่ในบ่อน้ำที่อยู่ท้ายไร่ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่านายสมดิษฐ์ ธรรมเวช บ้านเลขที่ 2 ซอย 2 ถนนนาเกลือ ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นชาวจังหวัดปัตตานีเป็นเจ้าของ และแจ้งว่ามีเอกสารหลักฐานการครอบครอง ขนย้ายถูกต้อง โดยสัตว์เหล่านี้อยู่ระหว่างขอจัดตั้งเป็นสวนสัตว์ และขณะนี้นายสมดิษฐ์ เดินทางกลับปัตตานีไปแล้ว ได้มอบหมายให้ลูกจ้างเป็นผู้ดูแล

พันตำรวจโทณัฐวัฒน์ ด้วงพลูอนันต์ สารวัตรชุดปฏิบัติการ เปิดเผยว่าเสือทั้งหมด และสิงโตอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ทั้งจำนวน และการครอบครองว่าถูกต้อง ครบ หรือเกินตามจำนวนที่แจ้งไว้หรือไม่ขณะนี้อยู่ระหว่างขอตรวจสอบเอกสาร ส่วนจระเข้ทั้ง 70 ตัว นายประพันธ์ ลีมายะคุณ ประมงจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมาร่วมตรวจสอบ ระบุว่าเอกสารถูกต้องและจระเข้ครบตามจำนวน แต่หลักฐานอื่นๆอยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม




 ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว

ยโสธรปลูกยางพารา 75,000 ไร่ ได้ผลผลิตมูลค่าปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท

ยโสธรเปิดสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ครอบคลุมพื้นที่ดูแล 2 จังหวัด ยโสธรและอำนาจเจริญ ปัจจุบันมูลค่าการผลิตยางปีละ ประมาณ 1,000 ล้านบาท

(4 ก.ค. 56) นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พร้อมด้วย นายนิรันดร์ สมสมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิด สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดยโสธร อย่างเป็นทางการ ตั้งอยู่เลขที่ 257 หมู่ที่ 13 ถ.วารีราชเดช ต.ห้วยแก้ง อ.กุดชุม จ.ยโสธร ยโสธร – กุดชุม (คืออยู่ริมถนนสายยโสธร – กุดชุม ระยะทาง 30 กม.) ในพื้นที่ 4 ไร่ มีนายธัญญะ สมสุข เป็นผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดยโสธร มีภารกิจสำคัญ 3 เรื่อง คือ การสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร , การพัฒนาระบบตลาดยางพาราและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

จังหวัดยโสธร เริ่มมีการส่งเสริมการปลูกยางพารามาตั้งแต่ปี 2532 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยาง 75,000 ไร่ มีกลุ่มชาวสวนยาง 44 กลุ่ม มีสมาชิก 2,293 คน สมารถกรีดยางได้แล้ว จำนวน 43,000 ไร่ ได้ผลผลิตยางปีละประมาณ 12,000 ตัน มูลค่าปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท เฉลี่ยมีรายได้ครอบครัวละประมาณ 200,000 บาท/ปี

สำหรับประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 18 ล้านไร่ ทำรายได้ปีละ 4 แสนล้านบาท และประเทศจีนเป็นประเทศที่ต้องการใช้ยางพารามากที่สุดในโลก ประมาณ 70% และประมาณ 40% เป็นยางพาราส่งไปจากประเทศไทย

หากเกษตรกรต้องการปลูกยางพาราหรือขอคำปรึกษา,คำแนะนำ ติดต่อได้ที่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดยโสธร โทร.045-979805




ส.ปชส.ยโสธร/ไพชยนต์ 5 ก.ค. 56

ร้อยเอ็ดเผยผลการเก็บข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช.2) พบตัวชี้วัดที่มีปัญหามากที่สุด คือ ด้านกีฬา

นาย สมพร อรุณรัตน์ พัฒนาการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า จังหวัดร้อยเอ็ดได้จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน หรือ กชช.2 ค ปี 2556 เสร็จสิ้นแล้ว โดยพบว่า มีหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 1 จำนวน 40 หมู่บ้าน หมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 2จำนวน 773 หมู่บ้าน และหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 3 จำนวน 1,492 หมู่บ้าน ตัวชี้วัดที่มีปัญหามาก 5 อันดับแรก ได้แก่ ด้านการกีฬา พบว่า มีการแข่งขันกีฬาภายในหมู่บ้านหรือระหว่างหมู่บ้าน น้อยกว่า 3 ครั้งต่อปีหรือไม่มีแข่งขันกีฬาเลย 1,233 หมู่บ้าน ด้านคุณภาพน้ำ พบว่ามีหมู่บ้านที่มีแหล่งน้ำผิวดินที่มีคุณภาพไม่เหมาะสม จำนวน 1,019 หมู่บ้าน ด้านระดับการศึกษาของประชาชน พบว่า คนที่พลาดโอกาสจากการศึกษาภาคบังคับหรือในระบบโรงเรียน ได้รับบริการหลักสูตรของการศึกษานอกโรงเรียนน้อยกว่าร้อยละ 50 จำนวน 756 หมู่บ้าน ด้านการเข้าถึงแหล่งทุน พบว่า ครัวเรือนที่เป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ และได้รับเงินทุนหรือเงินกู้ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพหรือการศึกษา น้อยกว่าร้อยละ 50 ของครัวเรือนที่เป็นสมาชิก จำนวน 883 หมู่บ้าน ด้านการเรียนรู้โดยชุมชน พบว่า ครัวเรือนที่มีการเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้ชุมชน หรือปราชญ์ชาวบ้าน น้อยกว่าร้อยละ 50 ของบครัวเรือนทั้งหมดหรือไม่มีเลย 854 หมู่บ้าน




วิมล เร่งศึก/ข่าว
กมพล คำนึง/บก.ข่าว
5 ก.ค.56

ร้อยเอ็ดเผยผลการเก็บข้อมูล จปฐ. พบเด็กจบการศึกษาภาคบังคับที่ไม่ได้เรียนต่อและไม่ได้ฝึกอบรมด้านอาชีพ คิดเป็นร้อยละ 20

นาย สมพร อรุณรันต์ พัฒนาการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลขั้นพื้นฐาน หรือ จปฐ.ประจำปี 2556 ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่ามีตัวชี้วัดที่ตกเกณฑ์มากที่สุด 5 อัน ได้แก่ เด็กจบการศึกษาภาคบังคับที่ไม่ได้เรียนและไม่ได้ฝึกอบรมด้านอาชีพ จำนวน 50 คน คิดเป็นร้อยละ 20.29 มีคนในครัวเรือนสูบบุรี จำนวน 45,551 คน คิดเป็นร้อยละ 5.52 มีคนในครัวเรือนดื่มสุราเฉลี่ยเกินเดือนละ 1 ครั้ง จำนวน 26,577 คน คิดเป็นร้อยละ 3.22 เด็กแรกเกิดไม่ได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน จำนวน 154 คน คิดเป็นร้อยละ 2.62 เด็กจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไม่ได้เรียนต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่า จำนวน 236 คน คิดเป็นร้อยละ 2.07 คนในจังหวัดร้อยเอ็ด มีรายได้เฉลี่ยคนละ 59,633 บาทต่อปี มีรายจ่ายเฉลี่ยคนละ 34,521 บาทต่อปี และพบว่ามีครัวเรือนที่ตกเกณฑ์ เรื่องรายได้เฉลี่ยหรือครัวเรือนยากจน คนละ 30,000 บาทต่อปี จำนวน 1,292 ครัวเรือน




 วิมล เร่งศึก/ข่าว
 กมลพร คำนึง/บก.ข่าว
 5 ก.ค. 56

สมัชชาเกษตรกรรายย่อย ภาคอีสานยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดขอให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร

วันนี้ (5 ก.ค. 56) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน นำโดยนายธีรภัทร เอี่ยมไกรสร ผู้ทรงคุณวุฒิสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน และ นายอัตรนันต์ แย้มอันตชัย ผู้แทนเกษตรกรภาคกลาง ได้นำสมาชิกสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน กว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายธัชชัย สีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับหนังสือดังกล่าว

นายธีรภัทร เอี่ยมไกรสร กล่าวว่า นับจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ให้จำหน่ายหนี้สูญให้แก่สมาชิกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในกรณีที่เสียชีวิตและพิการ จนถึงปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาตามที่กล่าวมายังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ ตนและคณะจึงเข้ายื่นหนังสือขอให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของเกษตรกร ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร่งรัดดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานร่วม ระหว่างผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนสมัชชาเกษตรกรรายย่อย เพื่อทำการยกร่องแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งสมัชชาเกษตรกรรายย่อยพร้อมสมาชิกจะรอฟังคำตอบอยู่ในพื้นที่ จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2556 หากยังไม่รับคำตอบใดๆ สมัชชาเกษตรรายย่อยพร้อมสมาชิก จะไปทวงถามกับรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล

นายธัชชัย สีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดร้อยเอ็ดได้ดำเนินการช่วยเหลือสมัชชารายย่อยภาคอีสานไปบ้าง แล้วบางส่วน และจะเร่งส่งหนังสือถึงรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังโดยเร็วที่สุด จากนั้น กลุ่มผู้เข้ายื่นหนังสือฯ ได้เดินทางกลับ โดยสงบ




วิมล เร่งศึก/ข่าว
คมกฤช พวงศรีเคน/ภาพ

กมลพร คำนึง/บก.ข่าว 5 ก.ค. 56

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต13 ลงพื้นที่ศรีสะเกษ ไขปัญหา 2 กองทุน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 4 ก.ค.56 นายเตือนใจ สินธุวนิก ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต13 พร้อมด้วย นายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย เขต 13 และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อตรวจติดตามโครงการนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 2 โครงการ ประกอบด้วย 1 .โครงการกองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน SML ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2.กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมี นายสนิท ขาวสอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปถึงการดำเนินงานโครงการในขณะนี้ ด้าน นายเตือนใจ กล่าวว่า จากการประชุมในวันนี้ได้ข้อสรุปว่า จะต้องมีการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นแบบเดียวกัน เพราะในขณะนี้ปัญหาที่มีลักษณะคล้ายกันหลายจังหวัด คือ การนำเสนอข้อมูลงานก่อนการโอนงบประมาณมาให้ ซึ่งจะต้องมีการจัดสรรและพิจารณาให้เหมาะสม โดยจะต้องมีการตั้งสร้างข้อมูลพื้นที่ฐานในแต่ละพื้นที่ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ซึงจะได้นำเรื่องนี้ เสนอไปทาง ส่วนกลาง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมต่อไป


ด้านนายสนิท กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการพัฒนาบทบาทสตรีว่า จังหวัดศรีสะเกษ มีความมุ่งหวังให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เข้ามาทำงานร่วมกัน และมีส่วนร่วมในการทำงานในลักษณะ ร่วมรับ ร่วมคิด แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำงานเป็นระบบ ซึ่งในการพัฒนาความรู้ความสามารถ ต้องใช้งบประมาณในการจัดโครงการเพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพสตรีในพื้นที่จังหวัด ศรีสะเกษ รวมไปถึงเรื่องระยะเวลาในการดำเนินงาน ควรจะมีระยะเวลาที่มากขึ้นกว่านี้ จาก 2 ปี เป็นประมาณ 3 -4 ปี ซึ่งจะทำให้โครงการมีความต่อเนื่อง และคุ้มค่างบประมาณในการดำเนินงาน

สนง.วัฒนธรมมสระแก้วจัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้งานศาสนพิธี เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้ชุมชนสามารถร่วมปฏิบัติพิธีได้อย่างถูกต้องตามหลักศาสนพิธี

( 3 ก.ค. 54 ) ณ วิหารหลวงพ่อใหญ่ วัดหนองกะพ้อ ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว นายสมเกียรติ พันธรรม วัฒนาธรรมจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมก ารเรียนรู้งานศาสนพิธี จังหวัดสระแก้ว ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ควา มเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับงานพ ระ ราชพิธี พระราชกุศล รัฐพิธีและ ศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนา และประเพณีวัฒนธรรมไทย ทุกชุมชนสามารถร่วมปฏิบัติพิธี อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้อย่างถูกต้องตามหลักศาสนพิธี  และสืบทอดการเป็นศาสนพิธีกรที่ถูกต้อง และเป็นไปแนวทางเดียวกัน ในการอบรมครั้งนี้ ประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมายที่เข้า รับการอบรมมาจากผู้แทนหน่วยงานภ าครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไวยาวัจกร ครู นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่ว ไปในจังหวัดสระแก้ว รวมทั้งสิ้นจำนวน ๕๔ คน โดยมีนายสมชัย เกื้อกูล อดีตหัวหน้าฝ่ายพิธี กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นวิทยากรในการให้ความรู้ในครั้งนี้

นายสมเกียรติ พันธรรม วัฒนาธรรมจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า พระพุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนไทย ในฐานะเป็นสถาบันที่สำคัญ คือ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอัน หนึ่ง อันเดียวกันของชนในชาติ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว  มี ภารกิจในการทำนุบำรุง ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ และรับสนองงานของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยการปฏิบัติศาสนพิธีในงานต่าง ๆ เพื่อให้มีการสืบทอดและพัฒนาอย่ างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันที่สำคัญทั้ง ๓ สถาบันดังกล่าว ตลอดจนเพื่อรักษาเอกลักษณ์ทางวั ฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น การปฏิบัติงานในนามของกระทรวงวั ฒนธรรม ด้วยศาสนพิธีเป็นวัฒนธรรมของชาติที่มีความสำคัญต่อสังคมชาวพุทธ  เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกั บความ รู้สึกนึกคิด ระเบียบ แบบแผน สังคม จารีต ประเพณี พิธีกรรม และวิธีการปฏิบัติต่างๆ ซึ่งสืบทอดมายาวนาน ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้า ใจในการปฏิบัติที่ถูกต้องตามโบร าณ ประเพณี และวัฒนธรรมประเพณี



ดุลยศักดิ์/ข่าว

คณะกรรมการมูลนิธิไทยคม มอบตู้หนังสือหนอนน้อยนักอ่านและอุปกรณ์การเรียนในโครงการ “อ่านสนุก สุขใจ ได้ปัญญา”โรงเรียนบ้านเหล่าคำ อำเภอเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี

วันนี้ 5 กรกฏาคม 2556 นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายพานทองแท้ ชินวัตร คณะกรรมการมูลนิธิไทยคม พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา อุบลราชธานีเขต 1 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมมอบตู้หนังสือหนอนน้อยนักอ่านและอุปกรณ์การเรียนในโครงการ "อ่านสนุก สุขใจ ได้ปัญญา”โรงเรียนบ้านเหล่าคำ อำเภอเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อส่งเสริมสนับสนุน อุปกรณ์ทางการศึกษาให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการศึกษาและส่งเสริม ให้เด็กนักเรียนได้มีกิจกรรม โอกาสศึกษาที่หลากหลายจากเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้มี คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและชุมชน ร่วมรับมอบหนังสือ และอุปกณ์ดังกล่าวจากในครั้งนี้อีกด้วย


จากนั้น นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีนายพานทองแท้ ชินวัตร พร้อมด้วยคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านที่กำลังดำนาที่บ้านเป้า ตำบลเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี และได้ช่วยดำนากับชาวบ้าน และสร้างความสนุกสนานให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก

จังหวัดสุรินทร์เตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 12 สิงหา 81 พรรษามหาราชินี ประจำปี 2556

นายยุทธนา  วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติ 12 สิงหา 81 พรรษามหาราชินี ประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 9 –11 สิงหาคม 2556 ณ บริเวณศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพอีสานใต้  ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2556 สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ  นิทรรศการเกษตรอินทรีย์ องค์ความรู้ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านและการจำหน่ายผลผลิตการเกษตร  การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์  OTOP  นิทรรศการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนและผ้าไหม  สาธิตการผลิตไหมครบวงจร  การประกวดสาวไหมด้วยมือ การประกวดผ้าไหม  การแสดงพื้นบ้าน  การแสดงดนตรี  การแข่งขันวิ่งซุปเปอร์มินิมาราธอน  การประกวดการแต่งกายพื้นเมืองประยุกต์  การประกวดดนตรีเยาวชนต่อต้านยาเสพติด  การชกมวย  การประกวดครอบครัวแรลลี่  การประกวดบทความ  การจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด  และการออกร้านของส่วนราชการ เป็นต้น

จังหวัดสุรินทร์จึงขอเชิญผู้สนใจร่วมงานเฉลิมพระเกียรติ 12 สิงหา 81 พรรษามหาราชินี ประจำปี 2556 วันที่ 9 –11 สิงหาคม นี้ ที่บริเวณศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพอีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์ โดยพร้อมเพรียงกัน




สมทรง  เผือกผล  ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว