วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เทศบาลเมืองสุรินทร์ ระดมเจ้าหน้าที่ล้างทำความสะอาดเมืองหลังน้ำลด

นายวรรธนินทร์ ตั้งทวีสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสุรินทร์ กล่าวว่า จากที่ได้เกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ในช่วงที่ผ่านมา ภายหลังน้ำลดแล้ว พื้นที่ทั่วไปมีสภาพความเสียหาย บางจุดมีเศษขยะและน้ำเน่าเสีย จึงมอบหมายให้งานรักษาความสะอาด กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ออกปฏิบัติงานล้างและทำความสะอาดถนนหลังน้ำท่วม อันเนื่องมาจากเศษดิน เศษโคลน เกาะติดผิวการจราจร เพื่อความสะอาดของเมือง โดยกำหนดออกทำการล้างและทำความสะอาดพื้นถนนต่างๆ ของเขตเทศบาลเมือง ในช่วงกลางคืน เวลา 20.00 – 24.00 น. โดยในวันนี้(12 ต.ค) จะดำเนินการเส้นทางถนนในชุมชนดองกะเม็ด วันที่ 13 ตุลาคม 2556 ที่ถนนสระโบราณ และถนนทุกสายในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์

ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการล้างและทำความสะอาดถนน ทำงานได้คล่องตัว จึงขอให้ใช้เส้นทางอื่นที่สะดวกกว่า และขอความร่วมมือประชาชนที่จอดรถสองฝั่งถนน ได้เคลื่อนย้ายรถยนต์ และรถจักยานยนต์ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน



กิติวรรณ มณีล้ำ / ข่าว

กฟผ.มอบถุงยังชีพช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม ขณะที่น้ำเริ่มไหลเอ่อท่วมทางเข้าออกหมู่บ้านและพื้นที่การเกษตร

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นครราชสีมา นำถุงยังชีพมามอบให้ชาวบ้านช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมที่บ้านปรีง อ.ท่าตูม จำนวน 100 ชุด ในขณะสถานการณ์ แม่น้ำมูลน้ำจากจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ไหลเอ่อท่วม เส้นทางเข้าออกหมู่บ้านและพื้นที่การเกษตร เป็นครั้งที่สอง

นายพัชระณัฐ ดีล้อม หัวหน้าสำนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จังหวัดสุรินทร์ ได้นำถุงยังชีพมามอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นให้กับประชาชนชาวบ้านปรีง หมู่ที่11 ต.บะ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ จำนวน 100 ชุด ประกอบด้วย ข้าวสาร บะหมี่ อาหารกระป๋อง น้ำดื่ม รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ ต่างๆที่จำเป็น เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เทียนไข สบู่ ผ้าอนามัย โดยมีนายวิเชียร จำปาทอง ผู้ใหญ่บ้านบ้านปรีง และพี่น้องประชาชน ให้การต้อนรับและรับมอบสิ่งของในครั้งนี้

หัวหน้าสำนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวว่า กฟผ.แห่งประเทศไทย ได้นำถุงยังชีพ มามอบให้ประชาชนจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งในส่วนของจังหวัดสุรินทร์ ได้นำมามอบให้เป็นครั้งที่ 2 จากครั้งแรกได้นำมามอบให้พี่น้องประชาชนให้แก่หมู่บ้านท่าสว่าง, บ้านกระเพอสะกวม ต.ท่าสว่าง , บ้านฉางข้าว ,บ้านโคกหัวช้าง ต.คอโค อำเภอเมืองสุรินทร์ ,บ้านตลิ่งชัน อ.ชุมพลบุรี รวมถุงยังชีพที่นำมามอบให้จังหวัดสุรินทร์ ทั้ง 6 หมู่บ้าน จำนวนทั้งสิ้น 500 ชุด

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ล่าสุดในขณะนี้น้ำจากแม่น้ำมูล ซึ่งไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดสุรินทร์ ได้ไหลมาถึง อำเภอท่าตูมและอำเภอชุมพลบุรี แล้ว ส่งผลทำให้มีน้ำได้ไหลเอ่อท่วมทางเข้าออกหมู่บ้านและพื้นที่การเกษตร ของหมู่บ้านที่อยู่ตามลุ่มน้ำดังกล่าว โดยเฉพาะที่บ้านยางเก่า หมู่13 ตำบลบะ อ.ท่าตูม ผู้ใช้เส้นทางจากอ.ท่าตูมไปหมู่บ้านยางเก่า ช่วงสะพานทางเข้าหมู่บ้านได้ถูกน้ำเอ่อท่วมสูงรถเล็กสัญจรไปมาไม่ได้ เป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี



อุทัย มานาดี / ข่าว

ชลประทานสุรินทร์ เผย ปริมาณน้ำในอ่างทั้ง 18 แห่ง ระดับน้ำรวมเกินความจุกว่าร้อยละ 112

นายเจษฎา บุญสุยา ผู้อำนวยการโครงการสุรินทร์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเขตชลประทาน ทั้ง 18 แห่ง ปริมาณน้ำที่มีอยู่ปัจจุบันวัดได้ 163.84 ล้านลบ.ม. จากความจุที่กักเก็บได้ 145.07 ล้านลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 112.93 ของความจุทั้งหมด โดยเฉพาะ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ซึ่งมีความสำคัญในการอุปโภค-บริโภค และด้านการเกษตรของพื้นที่อำเภอเมือง ปริมาณน้ำวันนี้วัดได้ 26.62 ล้านลบ.ม. จากความจุที่กักเก็บได้ 20.02 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 132 ของความจุทั้งหมด

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม ขณะนี้ยังมีน้ำท่วมขังบริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูล ในพื้นที่ อำเภอชุมพลบุรี ท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี สาเหตุเนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลหลากมาจากจังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์บริเวณอำเภอชุมพลบุรี ท่าตูม และรัตนบุรี ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 10-20 ซม. และเอ่อล้นตลิ่งไหลท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎรบริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูลในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 3 อำเภอ 12 ตำบล 64 หมู่บ้าน

โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก/ลำน้ำ ที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำมูล จุดสถานีตรวจวัดน้ำ สะพานบ้านพงสวาย ต.ท่าตูม อ.ท่าตูม ระดับน้ำปัจจุบัน วัดได้ 7.62 ม. ระดับตลิ่ง 6.30 ม.ล้นตลิ่ง 1.32 เมตร ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกับ ลำน้ำชี จุดสถานีตรวจวัดน้ำ สะพานสุรินทร์-อ.กระสังระดับน้ำปัจจุบัน 10.66 ม. ระดับตลิ่ง 6.90 ม.ล้นตลิ่ง 3.76 เมตร เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนที่จุดสถานีตรวจวัดน้ำที่สะพานสุรินทร์-อ.สตึก ระดับน้ำปัจจุบัน 9.30 ม. ระดับตลิ่ง 11.30 ม. ขณะนี้ ระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ



กิติวรรณ มณีล้ำ /ข่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ประชาชนตรวจสอบกันเองในชุมชนก่อนยื่นขอความช่วยเหลือจากทางภาครัฐเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ในชุมชน

เช้าวันนี้ (12 ตุลาคม 2556 ) นายจารุพงษ์ เรื่องสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเปิดเผยหลัง เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ โรงเรียนบ้านท่าเมือง ต.ท่าเมือง อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี จำนวน 258 ครัวเรือน ว่าหลังน้ำลดลงแล้วให้ผู้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้สำรวจความเสียหายของตนเอง แล้ว แจ้งทาง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมกับต้องตรวจสอบกันเองในชุมชนเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการได้รับความช่วยเหลือไม่เท่าเทียมกันในชุมชน ก่อนส่งต่อให้ทางจังหวัดให้การช่วยเหลือ โดยทางกระทรวงมหาดไทยได้จัดงบประมาณช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดละ 30 ล้านบาท และงบประมาณในการซ่อมแซมสิ่งสาธารณะต่างๆอีก 20 ล้านบาท ทางด้านสถานการณ์ น้ำในแม่น้ำมูล ที่ สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี ระดับ น้ำลดลงเฉลี่ยวันละ 10-15 เซนติเมตร คาดว่าระดับน้ำจะลดลงสู่สภาวะปกติ ภายในวันที่ 15 ต.ค. นี้



อังกฤษ ทองสัมฤทธิ์
08-0625-2538 ทีมข่าว สวท.อุบลราชธานี
สปข.2 /12 ตุลาคม 2556

เทศบาลตำบล.เขมราฐ จัดการแข่งขันเรือยาวนานาชาติสู่อาเซียน ไทย-ลาว

เทศบาลตำบลเขมราฐ จัดการแข่งขันเรือยาวนานาชาติสู่อาเซียน ไทย-ลาว เทศบาลตำบลเขมราฐ จัดการแข่งขันเรือยาวนานาชาติสู่อาเซียน ไทย-ลาว เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามและเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวไทยและชาวลาวริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อรองรับการเข้าสู่อาเซียน วันนี้ (12 ตุลาคม 2556) ที่ ลานเอนกประสงค์ริมแม่น้ำโขงหน้าสำนักงานเทศบาลเขมราฐ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันเรือยาวนานาชาติสู่อาเซียน ประจำปี 2556 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลเขมราฐ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามที่สืบทอดกันมาในท้องถิ่นให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความสนุกสนาน ความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวไทยและชาวลาวริมฝั่งแม่น้ำโขงในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดต่อกัน ซึ่งมีท้าวสิริ บัวพัน รองเจ้าเมืองสองคอน แขวงสะหวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเดินทางมาร่วมเป็นเกียรติ พร้อมนำเรือเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 4 ลำ และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาวไทยและชาวลาว ร่วมชมและเชียร์การแข่งขันเรือยาวในครั้งนี้ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก สำหรับการแข่งขันเรือยาวนานาชาติในครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เรือยาวขนาดเล็กไม่เกิน 18 ฝีพาย จำนวน 18 ลำ เรือยาวขนาดกลางไม่เกิน 40 ฝีพาย จำนวน 18 ลำ และเรือยาวมิตรภาพ 4 ลำคือ เรือมิตรภาพ 1,มิตรภาพ 2,เรือสิงห์สะบูไชย1 และเรือสิงห์สะบูไชย 2 ซึ่งเป็นเรือยาวจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้าร่วมแข่งขันด้วย



Rewriter.....อังกฤษ ทองสัมฤทธิ์
08-0625-2538 ทีมข่าว สวท.อุบลราชธานี
สปข.2 /12 ตุลาคม 2556

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะสำรวจพื้นที่ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว บ้านหินโหง่น ต.พะลาน อ.นาตาล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะสำรวจพื้นที่ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว บ้านหินโหง่น ต.พะลาน อ.นาตาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ สำรวจพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณบ้านนาหินโหง่น ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพิจารณาก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายพิสิษฐ์ สันตพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยและ นายสมบัติ รัตโน เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ เดินทางมาสำรวจพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณบ้านนาหินโหง่น ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเตรียมกำหนดจุดในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 สำหรับบริเวณบ้านนาหินโหง่น มีเนื้อที่ประมาณ 155 ไร่ ด้านหน้าติดฝั่งแม่น้ำโขงความกว้าง 900 เมตร เป็น 1 ใน 3 จุดที่ทางรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศกำลังพิจารณาคัดเลือกเพื่อใช้ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว เชื่อมต่อระหว่าง อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ราชอาณาจักรไทย กับ เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2555 ที่จังหวัดสุรินทร์ มีมติเห็นชอบในหลักการของกรอบข้อเสนอแผน โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ช่วงอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี กับเมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อเป็นการพัฒนาร่วมกันในการเตรียมความพร้อมการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้นทั้ง 2 ประเทศจึงได้มีการประชุมร่วมกัน ผ่านคณะกรรมการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนไทย-ลาว ขณะนี้ได้พิจารณาความเป็นไปได้อยู่ 3 จุด คือ จุดที่ 1 ที่บริเวณบ้านปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล ห่างจากด่านพรมแดนถาวรบ้านปากแซง 1 กิโลเมตรจุดที่ 2 ที่บริเวณ บ้านปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล ห่างจากด่านพรมแดนถาวรบ้านปากแซง 1.8 กิโลเมตรและจุดที่ 3 ที่บ้านนาหินโหง่น ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นเพียงการสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลนำไปประกอบการพิจารณาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเท่านั้น ซึ่งการพิจารณาจะต้องทำการศึกษาว่าจุดใดคือจุดที่ก่อสร้างแล้วประชาชนของทั้ง 2 ประเทศจะได้ประโยชน์สูงสุด



Rewriter.....อังกฤษ ทองสัมฤทธิ์
08-0625-2538 ทีมข่าว สวท.อุบลราชธานี
สปข.2 /12 ตุลาคม 2556

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาทุกข์ ให้กับประชาชน อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมระหว่างเดือนกันยายน ที่ผ่านมา


รมช. มหาดไทย เปิดงานประเพณีทอดเทียนโฮม อ.เสลภูมิ สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น

เมื่อ เวลา 09.00น. วันที่ 11 ตุลาคม 2556 นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะเดินทางไป เป็นประธานเปิดงาน "ประเพณีทอดเทียนโฮม" ณ โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยง ต.นางาม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เพื่ออนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2556   ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลนางาม ตำบลนาเลิง ตำบลขวาว ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน จัดขึ้น ณ โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยง ตำบลนางาม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยมี นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ส.ส.นิรันดร์ นาเมืองรักษ์ นายอำเภอเสลภูมิ หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า ประชาชน ให้การต้อนรับ

หลังจากนั้น ได้มอบถุงยังชีพให้กับตัวแทนราษฎรผู้ประสบภัยน้ำท่วมตำบลนางาม จำนวน 16 หมู่บ้าน 1,607 ครอบครัว  ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ประมาณ 8,000 คน  ที่นาข้าวถูกน้ำชีและน้ำยังล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมนาข้าวเสียหายสิ้นเชิง กว่า 25,000 ไร่



คมกฤช  พวงศรีเคน  ข่าว/ภาพ
กมลพร  คำนึง  บก.ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด
043-527117

รมช.มหาดไทย เตรียมทุ่มงบ 51 ล้านบาท สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง บ้านโพธิ์ตาก และบ้านโพธิ์ชัน อ.เสลภูมิ

เมื่อเวลา 10.30 น. 11 ตุลาคม 2556 นายวิสาร  เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

และคณะเดินทางไปตรวจโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง ด้านหลังวัดบ้านโพธิ์ตาก หมู 6 ต.นางาม  เตรียมทุ่มงบประมาณ 51 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างพนังคอนกรีต ความยาว  460 เมตร หลังจากนั้นเดินทาง ตรวจพื้นที่ประสบอุทกภัย บ้านโพธิ์ชัน หมู่ 5,14, และ 16 ต.นางาม ตรวจโครงการเขื่อน สร้างเขื่อนดินพนังกั้นน้ำ ระยะทาง 3 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้างกว่า 3.6 ล้าน บาท และพื้นที่บ้านคุ้งสะอาด หมู่ 5 ต.นาเลิง อ.เสลภูมิ  ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ลำน้ำชีกัดเซาะตลิ่งจนเกือบจะถึงบ้านเรือนราษฎร จำเป็นที่จะต้องสร้างพนังกั้นน้ำเช่นเดียวกันโดยได้มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ดำเนินการโดยเร่งด่วน



คมกฤช  พวงศรีเคน  ข่าว/ภาพ

กมลพร  คำนึง  บก.ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด
086-2200865

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบนโยบายกำนันผู้ใหญ่บ้านที่หอประชุมอำเภอเสลภูมิและหอประชุมอำเภอทุ่งเขาหลวง

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบนโยบายกำนันผู้ใหญ่บ้านที่หอประชุมอำเภอเสลภูมิและหอประชุมอำเภอทุ่งเขาหลวง  หวังเอาชนะยาเสพติดในพื้นที่

เมื่อเวลา 13.30 น. 11 ตุลาคม 2556 นายวิสาร  เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางไปมอบนโยบายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่หอประชุมอำเภอเสลภูมิ  จำนวน 789 คน โดยนายเธียรชัย พุทธรังสี นายอำเภอเสลภูมิ นำเสนอข้อมูล  น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทำการเกษตรเป็นจำนวนมากตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2556 ได้เกิดฝนตกติดต่อกันในพื้นที่อำเภอเสลภูมิ และมีน้ำจากทางตอนเหนือไหลลงสู่ลำน้ำยัง และบึงเกลือ เป็นปริมาณมากจึงทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำดังกล่าว เพิ่มปริมาณขึ้นจนล้นตลิ่ง ละได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรและบ้านที่อยู่อาศัยของราษฎร โดยพื้นที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก รวมพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย จำนวน 11 ตำบล 78 หมู่บ้าน มีเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 3,343 ราย พื้นที่ทำการเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย จำนวน  6  หมื่นไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ปริมาณน้ำเริ่มลดลง แต่ยังคงท่วมขังในพื้นที่การเกษตรอีกจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะลดระดับลงสู่ภาวะปกติในไม่ช้า

ที่หอประชุมอำเภอทุ่งเขาหลวง นายธวัชชัย ยาหิรัญ นายอำเภอทุ่งเขาหลวง ได้รายงาน สภาพพื้นที่ของอำเภอทุ่งเขาหลวง  ว่าในช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน ที่ผ่านมาทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมาก เอ่อล้นลำห้วย ท่วมไร่นาเกษตรกร เปิดปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมขังในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 4 ตำบล 32 หมูบ้าน พื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหาย 1,260 ไร่ ในวันนี้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ของอำเภอทุ่งเขาหลวง  จำนวน 500 คน มารับมอบนโยบาย

นายวิสาร  เตชะธีราวัฒน์  กล่าวมอบนโยบายว่า จะผลักดันด้านค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มากขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่  ในการขับเคลื่นนโยบายรัฐบาล,การรณรงค์เอาชนะยาเสพติด,การแจ้งเหตุร้าย,การบุกรุกป่าธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของแม่น้ำชีและแม่น้ำยังและการเยียวยาเกษตรกรในพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะนาข้าวจะได้รับการเยียวยาให้เร็วขึ้น หลังจากนั้นได้มอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 400 ชุด ที่ หอประชุม อำเภอทุ่งเขาหลวง จุดสุดท้ายได้เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันชกมวยการกุศล เพื่อหารายได้สมทบกองทุนชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอเสลภูมิ ณ เวทีมวยชั่วคราว บ้านสวน ทองทวีฟาร์ม  พักแรมที่บ้านพัก ส.ส.นิรันดร์ นาเมืองรักษ์ เป็นเสร็จภารกิจที่จังหวัดร้อยเอ็ด



คมกฤช  พวงศรีเคน  ข่าว/ภาพ
กมลพร  คำนึง  บก.ข่าว
ส.ปชส.ร้อยเอ็ด
086-2200865

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่เยี่ยมราษฎรผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

วันนี้ (12 ต.ค. 56) เวลา 08.30 น. นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเดินทางไปที่บ้านท่านางเลื่อน ตำบลชนบท อำเภอชนบท เพื่อไปเยี่ยมให้กำลังใจกับผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมตามนโยบายของรัฐบาลที่เป็นห่วงเป็นใยผู้ที่ประสบภัย โดยมีนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นนำคณะต้อนรับและกล่าวบรรยายสรุปภาพรวมของจังหวัดขอนแก่นที่เจอกับน้ำท่วมจากการเอ่อล้นของลำน้ำชีซึ่งมีอยู่ 6 อำเภอ แวงน้อย แวงใหญ่ มัญจาคีรี โคกโพธิ์ไชย ชนบทและบ้านไผ่ พื้นที่นาข้าวเสียหายกว่า 4 หมื่นไร่พืชไร่เสียหายหมื่นกว่าไร่ ขณะนี้ต้นน้ำมวลใหญ่ไหลเข้าพื้นที่อำเภอบ้านไผ่แล้วและจะไปที่อำเภอบ้านแฮดและอำเภอเมืองในช่วงอาทิตย์หน้า จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นร่วมกันมอบถุงยังชีพจำนวน 300 ถุงให้กับชาวบ้านท่านางเลื่อน ที่ประสบภัยน้ำท่วมหมู่บ้านมาแล้วอาทิตย์กว่าในส่วนของอำเภอชนบทมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 4 ตำบล 28 หมู่บ้าน 4,485 ครัวเรือนราษฎรเดือดร้อน 14,822 คน มีถนนถูกตัดขาดสัญจรทางบกไม่ได้ต้องใช้เรือในการสัญจรอย่างเดียว 4 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมๆที่น้ำท่วมทุกปีโดยขณะนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นมอบหมายให้ท้องถิ่นจังหวัดและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนำเรือมาบริการฟรีให้กับชาวบ้านแล้ว 20 ลำ ซึ่งราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมฝากถึงรัฐบาลอยากให้ช่วยขุดลอกหนองกรองแก้วกว่า 7,400 ไร่เพื่อรองรับน้ำ รวมทั้งทำพนังกั้นลำน้ำชี เมล็ดพันธุ์พืชหลังน้ำลดเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพราะหลายหมู่บ้านน้ำท่วมอยู่เป็นเดือนโดยเฉพาะที่บ้านท่าข่อย บ้านกุดหล่ม และบ้านท่าม่วง อำเภอชนบท

เปิดประตูเมืองพญาแลรับก๊อกแก๊กทัวร์

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 12 ตุลาคม 2556 นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นั่งขบวนรถม้า นำคณะผู้บริหาร ททท. สื่อมวลชน และตัวแทนผู้ประกอบการท่องเที่ยว กว่า 200 ชีวิต มาเคาะประตูเมืองพญาแล ณ บริเวณซุ้มประตูเมือง หน้าอุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ตามโดยมีนายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เปิดประตูต้อนรับ เข้าเมืองอย่างเป็นทางการ พร้อมนำสักการะ อนุสาวีย์พระยาภักดีชุมพล หรือเจ้าพ่อพญาแล เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ชมการแสดงวิถีชีวิตชาวมอญโบราณ เผ่าฮัญกูร ที่ยังคงอนุรักษ์สืบสานไว้ และการศิลปวัฒนธรรม ของดีคู่เมืองชัยภูมิ ต้นกำเนิดรำวงสาวบ้านแต้ ของชาวอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ขุนเพลงเพลงได้นำไปแต่ง ขับร้องโด่งดังไปทั่วประเทศ

ก่อนที่จะรับประทานอาหารเย็น ชมสินค้าโอทอป ที่ชาวชัยภูมิยกของดี ของเด่น สินค้าโอทอปชื่อดัง มา แสดง และนำอาหารพื้นเมือง ชื่อดัง เช่น หม่ำ ไส้กรอก ทอดมันปลากรายบึงละหาน ลาบปลาตอง และผลไม้ มาให้รับประทานด้วย และที่ตื่นตา ตื่นใจของงานนนี้เห็นจะเป็น การแข่งขันตีคลีไฟ การละเล่นพื้นบ้านแห่งเดียวในโลก ของชาวตำบลกุดตุ้ม อ.เมืองชัยภูมิ เป็นการละเล่นท้องถิ่น ในสมัยก่อนชาวบ้านจะเดินทางไปอาบน้ำหลังจากไปทำนา ทำไร่มาแล้ว ซึ่งอากาศในพื้นที่แถบนั้น มีอากาศหนาวเย็นจึงได้คิดค้น การเล่น "คลีไฟ” ลูกคลี หรือลูกไฟ ทำจากไม้นุ่นหรือไม้จากต้นงิ้วที่แห้งแล้วขนาด 10 - 15 เซนติเมตร หั่นเป็นท่อนๆ ก่อนนำมาเผาไฟเพื่อตีแข่งกีฬากัน ส่วนไม้ตีใช้เหง้าไม้ไผ่ ตรงปลายงอ ด้ามยาวประมาณ 1 เมตร ใช้ไม้นุ่นเป็นไม้ตีกันอย่างสนุกสนาน ต่อมาได้รับการแพร่หลาย และพัฒนามาเป็นกิจกรรมประเพณีที่นำมาเล่นในช่วงงานบุญออกพรรษา เป็นประจำของทุกปี โดยแบ่งเป็นการแข่งขันข้างละ 7 -11 คน แข่งขันและกำหนดเวลา คล้ายกับกีฬาฮอกกี้

นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า โครงการ ก๊อกแก๊กทัวร์ เป็นโครงการ ที่ ททท. จัดขึ้น ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เกิดการกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเข้าไปยกระดับ Unseen ตามแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่เคยมี ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จัก และมาท่องเที่ยว ที่สำคัญกิจกรรมนี้ ได้เชิญสื่อมวลชน ทุกสื่อ เดินทางมาสัมผัสด้วยตนเอง จะได้ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และได้สัมผัส สู่สาธารณะชนให้สังคมเข้าใจมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะได้เลือกที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว เมืองไทยมากยิ่งขึ้น



สุระพงค์ สวัสดิ์ผล /ข่าว

มท3.ลงพื้นที่ช่วยภัยน้ำท่วม ที่ชัยภูมิ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 ตุลาคม 2556 นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะได้เดินทางไปเยี่ยมราษฎร ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่โรงพยาบาลลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนน้อย ต.ลุ่มลำชี อ.บ้านเขว้า และวัดศาลาลอย ต.ส้มป่อย อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ พร้อมมอบถุงยังชีพ แก่ครอบครัวผู้ประสพภัย จำนวน 1,000 ชุด โดยมีนายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นำหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ ซึ่งราษฎรใน พื้นที่ดังกล่าว ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำในลำน้ำชี ล้นเอ่อ เข้า ท่วมพื้นที่การเกษตร ที่อยู่อาศัย และสิ่ง่งสาธารณูปโภค ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นบริเวณกว้าง สถานการณ์ปัจจุบันระดับท่วมท่วมขังได้ ลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือเฉพาะพื้นที่ลุ่ม ยังคงมีน้ำท่วมท่วมขังนาข้าวเน่าเสียหาย

นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จังหวัดชัยภูมิถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก พื้นที่การเกษตร นาข้าว ที่ถูกน้ำได้รับความเสียหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการป้องกันเรื่องน้ำท่วมในระยะยาวจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ดกำชับให้ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยใช้งบประมาณจากวงเงิน 3 แสน 8 หมื่นล้านบาท ทำฝายทำนบ แก้มลิง และในส่วนของจังหวัดชัยภูมิ ได้กำหนดจัดเวทีประชาพิจารณ์ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2556 นี้ เพื่อรับฟัง ความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ประสบภัย หากจะสร้างทำนบ ฝาย หรือทำแก้มลิง สร้างจุดไหนสร้างได้ โดยไม่สร้างความเดือดร้อน เมื่อได้ข้อสรุป จะนำเสนอรัฐบาล ของบประมาณมาดำเนินการต่อไป

ส่วนการจ่ายเงินค่าชดเชยน้ำท่วม ได้กำชับได้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เร่งงสำรวจข้อมูล เพื่อนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งจ่ายเงินทดรองฉุกเฉิน ให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย



สุระพงค์ สวัสดิ์ผล /ข่าว

จังหวัดมหาสารคาม จัดพิธีทอดเทียนโฮม ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระสังฆราชฯ

จังหวัดมหาสารคามร่วมกับสํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคามจัดพิธีทอดเทียนโฮม ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก

12-10-56 ที่ศาลาปฏิบัติธรรม พระบรมธาตุนาดูน อําเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคามร่วมกับจังหวัดมหาสารคามจัดพิธีทอดเทียนโฮม เนื่องในโอกาสสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงมีพระชันษาครบ 100 ปี โดยมีนายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานจากนั้นได้ร่วมกันถวายต้นเทียน ต้นเงิน พร้อมจตุปัจจัยไทยธรรมแด่คณะสงฆ์ ในโอกาสสําคัญเพื่อถวายเป็นพระกุศลฯ

สืบเนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็มเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงมีพระชันษา ครบ 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 นั้นจังหวัดมหาสารคามจึงได้จัดโครงการทําบุญทอดเทียนโฮมขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมการทําความดีให้เกิดขึ้น อันเป็นการแสดงมุฑิตาจิตของสมเด็จพระสังฆราชในโอกาสอันสําคัญดังกล่าว ซึ่งมีพุทธาศาสนิกชนชาวจังหวัดมหาสารคาม ทั้ง 13 อําเภอจํานวนกว่า 500 คน นําต้นเทียน ต้นเงินตลอดจนจตุปัจจัยไทยธรรมมาทอดถวายแด่คณะสงฆ์และฟังพระธรรมเทศนาจากพระเทพสิทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคามเกี่ยวกับพระประวัติ พระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกจากนั้นได้ร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อถวายเป็นพระกุศลในโอกาสสําคัญดังกล่าว



ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว