จังหวัดมหาสารคามมีทำเลที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของภูมิภาค
จนได้รับการขนานนามว่าเป็นสะดือแห่งอีสาน
โดยเป็นศูนย์กลางของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางการค้า
การลงทุนและบริการ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา
พร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558
ติดตามได้จากรายงาน.........
จากศักยภาพของจังหวัดมหาสารคาม
ที่มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ โดยมีทำเลที่ตั้งอยู่จุดกึ่งกลางของภูมิภาค
หรือที่เรียกกันว่า เป็นสะดือแห่งอีสาน
เป็นศูนย์กลางของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางทางการค้า
การลงทุนและการบริการ เป็นศูนย์กลางของการศึกษา
ที่มีสถาบันการศึกษาทุกระดับ สามารถผลิตบัณฑิตสาขาที่สำคัญ
โดยเฉพาะสาขาทางการแพทย์และสาธารณสุข อีกทั้งยังมีพืชเศรษฐกิจ คือ ข้าว
อ้อย มันสำปะหลังและยางพารา ที่มีผลผลิตเป็นอันดับต้น ๆ ส่งออกไปจำหน่าย
ในอนาคต หากสามารถพัฒนาระบบเครือข่ายคมนาคม และขนส่ง
โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง
ที่จะสามารถเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างประเทศจีน ลาว และไทย ได้แล้ว
ยิ่งจะทำให้จังหวัดมหาสารคาม
มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม
กล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ของจังหวัดมหาสารคาม นั้น เรื่องของเศรษฐกิจ เป็น 1 ใน 3
เสาหลักของประชาคมอาเซียน ที่จังหวัดมหาสารคาม มีศักยภาพอย่างเพียงพอ
โดยได้ดำเนินการปรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
ที่ดูข้อมูลจากจุดแข็งด้านการเกษตรอาหารและเกษตรแปรรูป พร้อมกำหนดโซนนิ่ง
โดยเน้นข้าวหอมมะลิ เป็นหลัก เพื่อสร้างมาตรฐานด้านเกษตรอินทรีย์
เพิ่มมูลค่า ส่งจำหน่ายต่างประเทศ ด้านการศึกษา จังหวัดมหาสารคาม
เตรียมที่จะผลักดันให้เป็นศูนย์บริการทางการศึกษาในระดับภูมิภาค
เชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรื่องนี้
สามารถที่จะดำเนินการได้และมีผลทันที
ด้าน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต 3 ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
จากการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมโครงการสร้างทางรถไฟ ตาม พ.ร.บ.ไทยแลนด์ 2020
ของรัฐบาล ที่เชื่อมระหว่างอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น- อำเภอบรบือ
จังหวัดมหาสารคาม –จังหวัดมุกดาหาร จะเป็นการเสริมศักยภาพ
ตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งจะสามารถขนส่งสินค้าทางการเกษตร
โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลัง และอ้อย ของจังหวัดมหาสารคาม
และจังหวัดใกล้เคียง ออกไปจำหน่ายยังภูมิภาคอื่นได้โดยสะดวก
อย่างไรก็ตาม แม้จังหวัดมหาสารคาม
จะมีจุดแข็งและมีโอกาสในการพัฒนาเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาศักยภาพของประชากรก็เป็นสิ่งสำคัญ
โดยที่ทางจังหวัดเองก็ได้มีการปรับแผนเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว
ด้วยการให้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษ และภาษาของกลุ่มประเทศอาเซียน
การพัฒนาศักยภาพแรงงาน ทั้งแรงงานทั่วไปและแรงงานสตรี
เพื่อให้พร้อมที่จะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์
ชนกพร โพธิสาร / รายงาน
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดมหาสารคาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น