วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ..มหาสารคามสร้างแหล่งเรียนรู้ นำดอกเตอร์เกี่ยวข้าวกับชาวนา

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรในพื้นที่ สร้างแหล่งเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต นำนักวิชาการระดับดอกเตอร์ร่วมเกี่ยวข้าวกับชาวนา เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานศึกษากับเกษตรกร ติดตามได้จากรายงาน

บนเนี้อที่กว่า 1 ไร่ ภายในโรงเรียนบ้านสมศรีมะแปบประชาบำรุง ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ได้จัดทำเป็นแปลงนาสาธิต ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับโรงเรียนบ้านสมศรีมะแปบประชาบำรุง สำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัยและเกษตรกรในพื้นที่ สร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้บริการทางวิชาการ และช่วยเหลือเกษตรกร โดยได้จัดทำโครงการเกษตรผสมผสาน ซึ่งมีกิจกรรม ดอกเตอร์โยนกล้ากับชาวนาชั้นนำ ที่ดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา และ เมื่อผ่านไป 3 เดือน กล้าข้าวในนา เริ่มเจริญงอกงาม อยู่ในระยะแก่ตัว พร้อมเก็บเกี่ยว จึงได้มาร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าว ร่วมกับนักศึกษาปริญญาเอกหรือดอกเตอร์ ในกิจกรรมดอกเตอร์เกี่ยวข้าวกับชาวนาชั้นนำ

ผศ.ดร.ประสงค์ ศรีหานาม จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกว่า กิจกรรมดอกเตอร์เกี่ยวข้าวกับชาวนา นี้ เป็นเสมือนพันธกิจในการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ทำให้นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการได้ซึมซับวิถีชีวิตของเกษตรกร เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับเกษตรกรในพื้นที่

ด้านนายอำพล ศิริคำ เกษตรอำเภอกันทรวิชัย กล่าวว่า การลงพื้นที่เกี่ยวข้าวกับชาวนาของนักวิชาการในครั้งนี้ เป็นเสมือนการบริการทางสังคม ผ่อนคลายจากการเรียนการสอน โดยสำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัย จะนำความรู้ในป้องกันการระบาดของโรคไหม้ข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งข้าวในแปลงนาสาธิตแห่งนี้ ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ควบคุมการระบาดของโรคไหม้ข้าว

ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งได้มาร่วมกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวกับดอกเตอร์ ในวันนี้ บอกเล่าด้วยความรู้สึกปลื้มใจ ที่เห็นสถานศึกษาให้ความสำคัญกับชุมชน ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่แปลงนาสาธิต แต่ก็เกิดความใกล้ชิด ผูกพัน และเมื่อเปรียบกันระหว่างข้าวนาหว่าน กับข้าวนาโยน เห็นว่าข้าวนาโยนจะให้ผลผลิตดีกว่าเช่นเดียวกับข้าวนาดำ

กิจกรรมดอกเตอร์เกี่ยวข้าวกับชาวนาชั้นนำในวันนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นักวิชาการ นักศึกษา ได้มีโอกาสซึมซับกับวิถีชีวิตของเกษตรกร จนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ในอนาคตหากได้มีการขยายไปสู่เครือข่ายในหมู่บ้าน หรือตำบลใกล้เคียง จะไม่เพียงแต่เป็นแหล่งเรียนรู้เท่านั้น ผลผลิตของข้าวในแปลงนาก็จะเจริญงอกงาม ปราศจากสารเคมี และเป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพดีของจังหวัดมหาสารคามในอนาคตด้วย



ทัศนัย ศรีมุลตรี/ถ่ายภาพ
ชนกพร โพธิสาร  สปชส.มหาสารคาม..รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น