วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อำเภอเมืองมหาสารคาม นำร่อง อำเภอต้นแบบ ป้องกันและรักษาความพิการแต่กำเนิด

ศ.เกียรติคุณแพทย์หญิงพรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) กล่าวในการประชุมโครงการปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอำเภอต้นแบบ เพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในอำเภอเมืองมหาสารคาม ว่า สมาคมฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิด และมีความพยายามผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด(ประเทศไทย) โดยจัดทำคู่มือ "5 กลุ่มโรคพิการแต่กำเนิด" ที่พบบ่อย คือ 1.อาการดาวน์ซินโดรม 2.หลอดประสาทไม่ปิด 3.โรคปากแหว่งเพดานโหว่ 4.แขนขาพิการแต่กำเนิด และ 5.กล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมดูเชน เผยแพร่ความรู้ให้ประชาชน นำร่องใน 22 จังหวัด พร้อมทั้งสร้าง "อำเภอต้นแบบ" รวม 12 อำเภอ ให้ความรู้เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดร่วมกับท้องถิ่น โรงเรียน เพื่อนำไปสู่การจดทะเบียนความพิการตั้งแต่แรกเกิด และป้องกันความพิการตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ และอำเภอเมืองมหาสารคาม เป็น 1 ใน 12 อำเภอนำร่อง พัฒนาเป็นอำเภอต้นแบบ ป้องกันและรักษาความพิการแต่กำเนิด

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรทิน นาราภิรมย์ รองนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม กล่าวว่า ผู้พิการในเขตเทศบาลเมืองจากการสำรวจจำนวนประชากร ทั้งหมดราว 50,000 คน พบผู้พิการเพียง 320 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ซึ่งหมายถึงระบบการดูแลรักษาตั้งแต่แรกเกิดมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เทศบาลเมืองมหาสารคาม พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาอำเภอเมืองมหาสารคาม ให้เป็นอำเภอนำร่อง

ทั้งนี้ ในการจัดทำฐานข้อมูลผู้พิการ จะเริ่มสำรวจตั้งแต่ อายุ 0-7 ปี หากเกิดโรค ต้องนำเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งการดำเนินการเพื่อพัฒนาอำเภอต้นแบบ ป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิด นั้น สิ่งสำคัญคือ ผู้พิการสามารถพึ่งพาตนเองได้ และคนในสังคมไม่ทอดทิ้งกัน



ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น