ในปี 2538 สภากาชาดไทยได้จัดชุดจักษุแพทย์ เพื่อออกปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ป่วยโรคตาในท้องถิ่นทุรกันดาร ให้บริการตรวจรักษาและผ่าตัดผู้ป่วยที่เป็นโรคตาในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และพื้นที่ใกล้เคียง โดยออกปฏิบัติงานที่สถานีกาชาดที่ 6 อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และได้รับพระราชทานชื่อชุดปฏิบัติงานนี้จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า "หน่วยแพทย์จักษุศัลยกรรมสภากาชาดไทย ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติองค์อุปนายิกา ผู้อำนวยการสภากาชาดไทยในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา ครบ 40 พรรษา และให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคตา ในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่มีฐานะยากจนให้ได้รับบริการที่ดีเท่าเทียมกับผู้ป่วยในเมือง และไม่เสียเวลาในการเดินทางมารับการรักษาในเมือง นอกจากนี้ ยังเป็นการแบ่งเบาภาระการงานของจักษุแพทย์ในท้องถิ่น ซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคตา ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากตลอดจนเป็นการขยายงานของสภากาชาดไทย ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นสามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
โครงการหน่วยแพทย์จักษุศัลยกรรมสภากาชาดไทย ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สถานีกาชาดที่ 6 อรัญประเทศ ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยทุกวันเสาร์-อาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน และ ทำผ่าตัดผู้ป่วยที่นัดไว้ในวันพุธ-พฤหัสบดี-ศุกร์ทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มีผู้ป่วยโรคตาในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดใกล้เคียงมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจรักษาไปแล้ว 140,000 ราย และมีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดตาไปแล้ว 30,000 ราย นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ขยายออกมาจากโครงการหน่วยแพทย์จักษุ ฯ อีก 2 โครงการ คือ โครงการขยายงานหน่วยแพทย์จักษุศัลยกรรมสภากาชาดไทย ฯ ซึ่งเป็นโครงการที่สภากาชาดไทย นำรถเครื่องมือแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ไปตรวจรักษาผ่าตัดให้แก่ประชาชนในโรงพยาบาลชุมชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากอำเภอ 100 กิโลเมตรขึ้นไป และ โครงการรถคลินิกจักษุศัลยกรรมเคลื่อนที่ ฯ ซึ่งสภากาชาดไทยได้รับมอบรถผ่าตัดนี้จาก สโมสรโรตารีทุ่งคา เพื่อนำไปใช้ในการช่วยผ่าตัดรักษาประชาชนที่อยู่ในถิ่นห่างไกล ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในตัวเมืองเพื่อรับการรักษา แต่สภากาชาดไทยมีรถผ่าตัดเคลื่อนที่เข้าไปให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อความสะดวกของประชาชนที่จะไม่ต้องลำบากในการเดินทางด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น