วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เตือนประชาชนบริโภคเห็ดในช่วงฤดูฝนหากไม่แน่ใจไม่ควรเก็บเห็ดนั้นมาปรุงอาหาร โดยเฉพาะเห็ดป่าหรือเห็ดที่ไม่คุ้นเคย เพราะมีโอกาสเกิดพิษได้มากกว่าเห็ดทั่วไป

นายแพทย์สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชตระกูลเห็ด ทำให้มีเห็ดป่าหลายชนิดที่เติบโตในสภาพธรรมชาติ ทั้งที่ชนิดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ ประกอบกับคนไทยนิยมบริโภคเห็ดเนื่องจากเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยในแต่ละปีจะมีชาวบ้านนิยมรับประทานเห็ด ทั้งที่ซื้อตามตลาดและหาจากป่า จึงมักปรากฏข่าวและมีรายงานว่าพบผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ด พิษอยู่เป็นประจำ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556- 25 เมษายน 2556) พบผู้ป่วยจากการบริโภคเห็ดพิษ จำนวน 180 ราย จาก 32 จังหวัด ยังไม่มีผู้เสียชีวิต อาชีพที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือเกษตรกร รองลงมาคือนักเรียน แยกเป็นรายภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคกลาง จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ 5จังหวัดแรก ได้แก่ เชียงราย นครพนม ตาก จันทบุรีและภูเก็ต

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติม ปี 2556 ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา จังหวัดอุบลราชธานี ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษ แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ วิธีการบริโภคเห็ดอย่างปลอดภัย สามารถปฏิบัติได้ ไม่รับประทานเห็ดที่สงสัย ไม่รู้จัก และไม่แน่ใจ ควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่แน่ใจเท่านั้น การรับประทานอาหารที่ประกอบขึ้นด้วยเห็ด ควรรับประทานแต่พอควร อย่ารับประทานจนอิ่มมากเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจจะทำให้ผู้มีระบบย่อยอาหารที่อ่อนแอเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ อย่ารับประทานอาหารที่ปรุงขึ้นสุกๆดิบๆ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดยังจะมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้รับประทานจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ จนเมื่อรับประทานหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้น และเป็นพิษร้ายแรงถึงกับเสียชีวิตภายหลัง ผู้ที่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดบางชนิด หรือกับเห็ดทั้งหมด ซึ่งถ้ารับประทานเห็ดเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการเบื่อเมา หรืออาหารเป็นพิษ จึงควร หรือหลีกเลี่ยงรับประทานเห็ด และอย่ารับประทานเห็ดพร้อมดื่มสุรา เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที ถ้าหากดื่มสุราหลังจากรับประทานเห็ดแล้วภายใน 48 ชั่วโมง เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึกหรือเห็ดถั่ว แม้แต่เห็ดพิษอื่นทั่วไป จะเป็นการช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก


หากพบเห็นผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ด ให้ผู้ป่วยอาเจียนออกให้หมด โดยการล้วงคอหรือกรอกด้วยไข่ขาว แล้วนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที พร้อมนำเห็ดที่รับประทานส่งแพทย์เพื่อจะได้ตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โทร.045-262692-8 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น