วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ผู้ช่วยรัฐมนตรี สธ. นำขบวนปั่นจักรยานรณรงค์ไข้เลือดออกตลาดอรัญประเทศ

เมื่อ23 กรกฎาคม 2556 นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการสาธารณสุข เครือข่ายบริการที่ 6 และคณะผู้บริหารจากจังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ได้ปั่นจักรยานนำขบวนรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกภายในตลาดอรัญประเทศ ไปยังบ้านนายสมยศ โชติสวัสดิ์ ประธานชุมชนบ้านวัดหลวง ซึ่งเป็นตัวอย่างปลอดลูกน้ำยุงลาย โดยมีนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอรัญญประเทศ และชาวบ้านในชุมชนให้การต้อนรับ

นาย แพทย์วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับทุกจังหวัดเข้มข้นการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกโดยใช้ มาตรการ 3-3-1 คือ หลังโรงพยาบาลพบผู้ป่วยให้รายงานโรคให้หน่วยควบคุมโรคของพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง และให้หน่วยควบคุมโรคกำชับให้อสม.ลงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่ บ้าน ชุมชนผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง และส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือเอสอาร์อาร์ที ลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 1 วัน เพื่อจำกัดวงแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น ทำให้สามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือพื้นที่พิเศษคือที่โรงเรียน โรงพยาบาล ผลสำรวจล่าสุดพบมีโรงเรียนร้อยละ 45 และโรงพยาบาลร้อยละ 29 ยังมีลูกน้ำยุงลาย ได้กำชับให้ทุกจังหวัดเร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ลดจำนวนยุงลาย ซึ่งเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง หากทุกภาคส่วน ทั้งที่บ้าน โรงเรียน วัด ที่ทำงาน ร่วมมือกัน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มั่นใจว่าจะลดจำนวนการป่วยของประชาชนได้อย่างแน่นอน

นาย แพทย์สมยศ ศรีจารนัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดสระแก้ว ว่า ช่วงเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง พบจำนวนผู้ป่วยในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 22 ก.ค. 56 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 326 ราย อัตราป่วย 59.75 ต่อแสนประชากร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ที่อำเภอโคกสูง รองลงมาได้แก่ อำเภออรัญประเทศ วัฒนานคร วังสมบูรณ์ และอำเภอตาพระยา กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี ทั้งนี้ อยากจะขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้เลือดออก ด้วยมาตรการ 5ป 1ข ได้แก่ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปฏิบัติเป็นประจำให้เป็นนิสัย และ 1ข คือ ขัดภาชนะที่อาจมีคราบไข่ยุงเกาะอยู่ ยุงลายเป็นยุงที่ออกหากินเวลากลางวัน ดังนั้นผู้ที่นอนในช่วงช่วงกลางวันต้องนอนในมุ้ง หรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวดไม่ว่าจะอยู่บนตึกสูงหลายชั้นหรือที่บ้าน เพื่อป้องกันยุงลายกัด สำหรับการพ่นสารเคมีนั้น จะใช้เมื่อมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เพื่อฆ่าทำลายกำจัดยุงลายตัวโตเต็มวัยที่มีเชื้อไข้เลือดออก โดยพ่นในรัศมี 100 เมตรรอบๆบ้านผู้ป่วยและชุมชน ป้องกันไม่ให้ไปกัดคนอื่นและไม่ให้ไปวางไข่แพร่พันธุ์ต่อ ในส่วนการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น มีการจัด Dengue Conner รวมผู้ป่วยไข้เลือดออกไว้บริเวณเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการดูแลผู้ป่วย แยกผู้ป่วยตามความรุนแรง โดยใช้ธงสีเป็นสัญลักษณ์ เหลือง แดง เขียว ธงเหลือง หมายถึงผู้ป่วยระยะแรก ธงแดง หมายถึง ผู้ป่วยระยะที่ 2 หรือปลายระยะที่ 1 ธงเขียว หมายถึง ผู้ป่วยระยะพักฟื้น และทายากันยุงให้ผู้ป่วย เพื่อป้องกันยุงมากัดผู้ป่วยแล้วแพร่เชื้อไปยังคนอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น