วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

สุรินทร์อนุมัติแล้วราคาข้าวเปลือกที่หลุดจำนำยุ้งฉางสูงสุดตันละ 17,500 บาท ต่ำสุด ตันละ 14,600 บาท

จังหวัดสุรินทร์อนุมัติราคาจำหน่ายข้าวเปลือกหลุดจำนำยุ้งฉางเกษตรกรของ ธ.ก.ส. 7,609 ราย น้ำหนักรวม 42,486 ตัน ราคาประมูลสูงสุดตันละ 17,500 บาท ต่ำสุด ตันละ 14,600 บาท

วันที่ 3 ก.ย. 2556 ที่ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ นายพิภพ ดำทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำระดับจังหวัด จังหวัดสุรินทร์ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับการจำหน่ายข้าวเปลือกหลุดจำนำยุ้งฉางเกษตรกรของ ธ.ก.ส. ปีการผลิต 2555/56 รวม 7,609 ราย น้ำหนักรวม 42,486 ตัน ซึ่งได้เปิดการประมูลขายโดยแบ่งการประมูลเป็น 5 เขต ได้แก่

เขต 1 อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอลำดวน และอำเภอเขวาสินรินทร์ ปริมาณข้าว 12,058 ตัน ราคาประมูลตันละ 17,050 บาท

เขต 2 อำเภอ สังขะ และอำเภอศรีณรงค์ ปริมาณข้าว 11,802 ตัน ราคาประมูลตันละ 14,620 บาท

เขต 3 อำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี อำเภอจอมพระ อำเภอรัตนบุรี และอำเภอสนม ปริมาณข้าว 9,233 ตัน ราคาประมูลตันละ 17,500 บาท

เขต 4 อำเภอศีขรภูมิ และอำเภอสำโรงทาบ ปริมาณข้าว 2,294 ตัน ราคาประมูลตันละ 14,600 บาท

เขต 5 อำเภอปราสาท และอำเภอกาบเชิง ปริมาณข้าว 7,099 ตัน ราคาประมูลตันละ 14,620 บาท


ทั้งนี้ราคาประมูลจังหวัดใกล้เคียงได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ ราคาประมูลสูงสุด 14,700 บาท ต่ำสุด 14,600 บาท ส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ราคาประมุลสูงสุด 17,000 บาท ต่ำสุด 16,100 บาท

สำหรับราคาประมูลข้าวเปลือกแต่ละเขตที่มีความแตกต่างกันมากโดยเขต 3 ประมูลได้ราคาสูงถึง 17,500 บาท และเขต 1 ประมูลได้สูงถึง 17,050 บาท ในขณะที่เขต 2 เขต 4 และ เขต 5 ประมูลได้ราคาต่ำกว่า 15,000 บาท ราคาประมูลแตกต่างกันมากเกือบ 2,000 บาท นั้น นายณัฐวัฒน์ เศรษฐพัฒนชัย ประธานชมรมโรงสีจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เขต 1 อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอลำดวน และอำเภอเขวาสินรินทร์ และ เขต 3 อำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี อำเภอจอมพระ อำเภอรัตนบุรี และอำเภอสนม มีคุณภาพข้าวดีกว่าพื้นที่อื่น ๆ และคุณภาพข้าวสูงมากกว่าจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากเป็นข้าวหอมมะลิในเขตทุ่งกุลาร้องให้ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตข้าวถุงรายใหญ่ระดับประเทศ ได้ร่วมประมูลข้าวในเขต 1 และ เขต 3 ด้วย ส่วนเขตอื่น ๆ ข้าวมีคุณภาพด้อยลงมาและมีสิ่งเจือปนมาก อย่างไรก็ตามโรงสีผู้ชนะการประมูลทั้ง 5 เขต ล้วนมีตลาดข้าวที่จะจำหน่ายอยู่แล้ว แต่หากมีการระบายข้าวออกล่าช้า จะมีปัญหาการจัดเก็บข้าวฤดูกาลผลิตถัดไป ซึ่งเกษตรกรจะเริ่มทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตในปลายเดือนตุลาคม 2556 นี้

นายพิภพ ดำทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นการประมูล จังหวัดสุรินทร์จะได้เชิญบริษัทผู้ชนะการประมูลมาทำสัญญา และเร่งระบายข้าวออกสู่ท้องตลาดต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น