วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เขื่อนลำปาวน้ำมีไม่เพียงพอจึงจำกัดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเพียง 180,000 ไร่ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายและขาดทุน

วันที่ 16 ธันวาคม 2556 ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มีการประชุมคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2556/2557 โดยมี นายสุรพจน์ รัชชุศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นประธาน

นายสุรพจน์ รัชชุศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในพื้นที่ใช้น้ำจากเขื่อนลำปาวในอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย และฆ้องชัย ขอให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังและเลี้ยงสัตว์น้ำ ปี 2556/2557 ลง หรือเปลี่ยนไปทำกิจกรรมการเกษตรอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่า เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง หรือเห็ดฟางทดแทน เพราะปริมาณน้ำเขื่อนลำปาวมีจำกัดเพียง 1,013 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51.17 ของปริมาณน้ำเก็บกัก ซึ่งมีไม่เพียงพอในการทำการเกษตรอย่างเต็มที่ หากเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังและเลี้ยงสัตว์น้ำเต็มพื้นที่ อาจได้รับความเสียหายจากการขาดน้ำช่วงหน้าแล้งและขาดทุนได้

นายปิยปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2556 มีปริมาณน้ำเพียง 1,013 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51.17 ของปริมาณน้ำเก็บกัก และปริมาณน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเพียง 338.57 ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้ง 180,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 58.64 ของพื้นที่ในเขตชลประทานลำปาวทั้งหมดที่ 306,963 ไร่ โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวกำหนดส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตร ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2556 และจะหยุดส่งน้ำในวันที่18 เมษายน 2557

นายสมบูรณ์ ซารัมย์ เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวอีกว่า เกษตรกรผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรจากเขื่อนลำปาวโดยเฉพาะผู้อยู่ท้ายน้ำ อาจได้รับน้ำไม่เพียงพอในการทำนาปรังปีนี้ ข้าวอาจขาดน้ำในช่วงให้ผลผลิตและได้รับความเสียหาย เกษตรกรจะประสบปัญหาการขาดทุนได้ ดังนี้ เกษตรกรควรเปลี่ยนไปปลูกพืชอายุสั้นและใช้น้ำน้อยกว่าข้าวนาปรัง เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง หรือเห็ดฟางแทน หรือหากพืชที่มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่ เช่น อ้อยโรงงาน เกษตรกรก็อาจเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานแทนได้ เพื่อหลีกเหลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

ด้านนายปกรณ์ อุ่นประเสริฐ ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับเกษตรชาวประมงที่ใช้น้ำจากเขื่อนลำปาว ก็ขอให้เกษตรกรลดพื้นที่การเลี้ยงสัตว์น้ำ กุ้ง ปลา ลงด้วย เพราะถ้าหากน้ำมีกำจัดและไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ได้รับความเสียหายและประสบขาดทุนเช่นกัน



สุรพล คุณภักดี / ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น