วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หมอไทยฝีมือเยี่ยมผ่าตัดโรคต้อกระจกมาตรฐานอนามัยโลกและเกินเป้าหมายกำหนด

หมอไทยฝีมือเยี่ยมผ่าตัด ต้อกระจกได้ระดับมาตรฐานอนามัยโลก และปริมาณเกินเป้าที่กำหนด อนาคตวางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุขของอาเซียน
 
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและส่งเสริมการพัฒนาด้านสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรให้สัมภาษณ์ในโอกาสเดินทางมาร่วมโครงการ "ดวงตาสดใส ปลอดภัยจากโรคต้อกระจก ด้วยพระบารมีในหลวง” ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 เปิดเผยว่า จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นตัวอย่างของการรณรงค์ลดจำนวนคนตาบอดจากโรคต้อกระจก โดยนายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ได้ระดมบุคลากรด้านสาธารณสุข, ฝ่ายปกครองและส่วนท้องถิ่น ทำงานเชิงรุกจัดระบบค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยโรคต้อกระจกในทุกพื้นที่ของ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 เป็นต้นมา พบมีผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อโรคต้อกระจกมากกว่า 2 แสนคน คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคต้อกระจกที่เข้าเกณฑ์จะได้รับการผ่าตัดประมาณ 5,000 คน ซึ่งภาพรวมในระดับประเทศจากผลการประเมิน
เบื้องต้นพบว่าผลการผ่าตัดต้อกระจกในประเทศไทย ทั้งในโรงพยาบาลและการผ่าตัดเคลื่อนที่ (นอกสถานที่ปกติ) มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ในปี 2555 ตั้งเป้าผ่าตัด 100,000 ตา ผ่าได้จริง 140,000 ตา ในปี 2556 ตั้งเป้าผ่าตัด 100,000 ตา คาดว่าจะผ่าได้จริงไม่น้อยกว่า 140,000 ตา ในจำนวนต้อกระจกที่ได้รับการผ่าตัด มีสายตามัวในเกณฑ์ที่ถือว่าตาบอด (Blinding cataract) ประมาณ 20%
 
ซึ่งคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า มีจำนวนการผ่าตัดมากกว่าเป้าหมายมาก ซึ่งเป็นผลดีที่ทำให้สามารถลดคิวรอผ่าตัดต้อกระจกจาก 6 เดือน – 1 ปี เหลือไม่เกิน 3 เดือน สนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่ก็มีปัญหาด้านงบประมาณโครงการบริหารจัดการโรคเฉพาะ (โรคต้อกระจก) ของ สปสช.ติดลบต้องนำเงินจากโครงการอื่นมาใช้และยังต้องใช้เงินงบประมาณใน โครงการนี้ล่วงหน้าจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีจำนวนเงินค้างจ่าย จนมีผลกระทบถึงหน่วยให้บริการในโครงการแล้ว สมควรที่สำนักงบประมาณจะต้องพิจารณาให้การสนับสนุนโครงการนี้เป็นกรณีพิเศษ และเร่งด่วน

ส่วนปัญหาการเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข เมื่อประเทศไทยรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนนั้น นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ได้กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ได้มีการพูดคุยตกลงกันแล้วทางการแพทย์ในการให้ความร่วมมือในการศึกษา ควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะซึ่งการเคลื่อนย้ายบุคลากรคงไม่น่าจะมีปัญหา และทางประเทศไทยได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และ สาธารณสุขในอาเซียน




สุรพล คุณภักดี/ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น