วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุรินทร์ เตือนภัยแมลงวันผลไม้ในมะม่วง

นายนพรัตน์  พงศ์กิตติโชติ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุรินทร์ เผยว่า จากข้อมูลจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งเตือนภัยแมลงวันผลไม้ในมะม่วง ในบางพื้นที่มีมะม่วงอยู่ระหว่างผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว แมลงศัตรูที่สำคัญ คือ แมลงวันผลไม้ ซึ่งทำความเสียหายโดยเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปในผลมะม่วง ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะอาศัยและชอนไชอยู่ภายใน ทำให้ผลเน่าเสียหรือร่วงหล่น ตัวหนอนจะเข้าดักแด้ในดินแล้วออกเป็นตัวเต็มวัย แมลงวันผลไม้ชอบวางไข่ใน ผลมะม่วงที่ใกล้สุกหรือมีเปลือกบาง ผลมะม่วงที่ถูกทำลายนี้มักจะมีโรครวมถึงแมลงชนิดอื่นๆ เข้าทำลายซ้ำ ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ ตัวห้ำ เช่น มดคันไฟ และตัวเบียน เช่น แตนเบียนหนอน-ดักแด้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

1. ทำความสะอาดบริเวณสวน โดยรวบรวมทำลายมะม่วงที่เน่าเสียจากการถูกแมลงวันผลไม้เข้าทำลาย ไปเผานอกแปลงปลูก เพื่อลดการเพิ่มจำนวนประชากรของแมลงวันผลไม้

2. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของแมลงวันผลไม้ เช่น การใช้สารเคมีที่ถูกวิธีตรงกับชนิดศัตรูพืชพ่นเฉพาะจุดที่มีศัตรูพืช ไม่ทำลายตัวห้ำตัวเบียน

3. กำจัดแมลงวันผลไม้เพศผู้ด้วยเมทธิล ยูจินอล ผสม มาลาไทออน 83 เปอร์เซ็นต์ อีซี 2:1 ต่อน้ำ 20 ลิตร ชุบสำลี วางไว้ในขวดพลาสติกหรือกระบอกน้ำ แขวนไว้โดยรอบแปลงมะม่วง

4. การใช้เหยื่อโปรตีน โดยการนำเอายีสต์โปรตีนออโตไลเสท(Protein autolysate) ผสมกับสารฆ่าแมลงมาเป็นเหยื่อล่อแมลงวันผลไม้ โดยใช้ยีสต์โปรตีนออโตไลเสท 800 ซีซี ผสมสารฆ่าแมลง malathion 83 เปอร์เซ็นต์ จานวน 280 ซีซี ผสมน้ำ20 ลิตริ พ่นเป็นจุดๆ เท่านั้น วิธีการนี้ให้ผลที่ดีมาก นอกจากจะประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้สารฆ่าแมลงและแรงงานแล้ว ยังเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม แมลงผสมเกสร รวมทั้งตัวห้ำตัวเบียนน้อยลง ที่สำคัญคือสารนี้สามารถดึงดูดได้ทั้งแมลงวันผลไม้ตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ได้อย่างดี



ศริณภาพร  จันทสุข  ส.ปชส.สุรินทร์  / ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น