วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กลุ่มเกษตรกรมหาสารคาม สนใจการเลี้ยงไส้เดือนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ

กลุ่มอาสาสมัครเกษตรกร จากอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ศึกษาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือน ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผลิต เพื่อณรงค์ให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนในการผลิตพืช ด้านเกษตรกร ให้ความสนใจพร้อมต่อยอดขยายผลสู่ชุมชนต่อไป

อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ผู้นำกลุ่มและสมาชิกศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลประชาพัฒนา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม กว่า 50 คน เดินทางไปศึกษาดูงานการเลี้ยงไส้เดือนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ณ โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายอารีรัตน์ รักษาศิลป์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอำนวยการ กล่าวว่า วิธีการเลี้ยงไส้เดือน ไม่ยุ่งยาก โดยนำปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยคอก ใส่ลงในอ่างปูนให้สูงพอสมควร รดน้ำให้เปียกชุ่มจนทั่ว แล้วใช้น้ำหมักชีวภาพที่หมักจากพืชผักสีเขียวรดให้ทั่ว เพื่อให้จุลินทรีย์ ช่วยย่อยสลายปุ๋ยหมัก ให้สลายตัวเร็วยิ่งขึ้น โดยปกติก็จะใช้เวลาในการหมักประมาณ 7-10 วัน ในระหว่างนี้ ต้องคลุกเคล้า กองปุ๋ยไปมา 2-3 วันต่อครั้ง แล้วปล่อยไส้เดือนลงไป สักระยะหนึ่ง จากนั้นเริ่มให้อาหารเสริม เช่น เศษผัก เศษผลไม้สุก การให้อาหารเสริมนี้จะช่วยเร่งการเจริญเติบโต การเจริญพันธุ์ การขยายพันธุ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจะได้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนที่มีคุณภาพดีกว่าใช้ปุ๋ยคอกเป็นอาหารหลักอย่างเดียว

ด้านนายคนอง จุมพล ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรที่มาศึกษาดูงานในครั้งนี้ กล่าวว่า การ ได้มาศึกษาดูงานการเลี้ยงไส้เดือนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในครั้งนี้ ถือว่ามีประโยชน์มาก เพราะทางกลุ่มได้รับความรู้ เป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งเห็นขั้นตอน วิธีการทำตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการจนได้ปุ๋ยชีวภาพออกมาสำหรับใช้ประโยชน์ได้ ที่สำคัญคือสามารถนำไปทดลองใช้กับตนเองและทางกลุ่มได้ เพราะวิธีการไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งหลังจากนี้ ก็จะกลับไปทดลองทำตามขั้นตอนดังกล่าว หากได้ผลก็จะนำไปต่อยอดขยายผลสู่ชมชนของตนเองต่อไป



ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น