วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557

บีโอไอชี้อุตสาหกรรมสีเขียวขอนแก่นเพื่อการพัฒนาเมืองขอนแก่นอย่างยั่งยืน

ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่3จังหวัดขอนแก่นหรือบีโอไอมั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรมสีเขียวจ.ขอนแก่นเพื่อให้การพัฒนาเมืองเป็นไปอย่างยั่งยืน

น.ส.รัตนวิมล นารี ศุกรีเขตร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 จังหวัดขอนแก่น หรือบีโอไอ เปิดเผยว่านิคมอุตสาหกรรมสีเขียวซึ่งมีการผลักดันร่วมกันมาและมีนักลงทุนเอกชนของจีนมาลงทุนที่ ต.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น บนเนื้อที่กว่า 4,000 ไร่ ขณะนี้ขั้นตอนการยื่นเอกสารทุกอย่างครบหมดแล้ว เหลือเพียงรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น มั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรมสีเขียวจะเกิดขึ้นที่ จ.ขอนแก่นอย่างแน่นอน เพื่อให้การพัฒนาเมืองเป็นไปอย่างยั่งยืน ส่วน ปี 2556 บีโอไอภาค 3 ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 45 โครงการ เงินลงทุนรวม 13,047 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่อนุมัติทั้งสิ้น 71 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 27,076 ล้านบาท ยอดการลงทุนลดลง36.62%เงินลงทุนลดลง51.81% สาเหตุที่ยอดอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลดลงทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน เนื่องจากปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาจากพิษค่าแรง 300 บาท/วัน ทำให้ต้นทุนผลิตและค่าครองชีพสูง ขาดแคลนแรงงาน ทั้งภาวะเศรษฐกิจประเทศชะลอตัว กระทบภาคการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทที่ผันผวน ที่สำคัญความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนไว้ก่อน ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงงานที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศ พบว่าไม่ได้ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายกลับถิ่นฐาน แรงงานอีสานที่เคยทำงานที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงทำงานอยู่โรงงานเดิม จากความคุ้นเคยในการทำงานรวมถึงสวัสดิการต่างๆที่แรงงานเชื่อว่าโรงงานที่ส่วนกลางให้สวัสดิการดีกว่าโรงงานในต่างจังหวัด

โดยโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติปี 2556 ส่วนใหญ่ตั้งสถานประกอบการอยู่ในจังหวัดขอนแก่นได้รับส่งเสริม 14 โครงการ มูลค่าลงทุน 3,568 ล้านบาท รองลงมาคือ จ.อุดรธานีได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 11 โครงการแต่มีมูลค่าลงทุนถึง 6,537 ล้านบาท และกลุ่มที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมมากที่สุดเป็นประเภทเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 19 โครงการ เงินลงทุน 7,006 ล้านบาท รองลงมาเป็นประเภทบริการและสาธารณูปโภค 13 โครงการ มูลค่าลงทุน5,230ล้านบาท ทั้งนี้ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนกำลังได้รับความสนใจมาก เฉพาะไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 มีผู้ประกอบการยื่นขอรับการส่งเสริมถึง 36 โครงการ เงินลงทุน 7,306 ล้านบาท จ้างงาน 669 คน กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ของภาคอีสานตอนบน จากศักยภาพของพื้นที่ ที่มีทรัพยากรด้านพลังงานทดแทนจำนวนมาก รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแล้วขายให้การไฟฟ้าในรูปผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กโดยมีเงินสนับสนุนให้และได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี



ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ส.ปชส.ขอนแก่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น