โรงเรียนเพียงหลวง 12 ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี หรือ โรงเรียนบ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี อยู่บริเวณด้านล่างของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นหมู่บ้านสุดท้ายที่ติดชายแดน ไทย- ลาว มีเพียงแม่น้ำโขงขวางกั้นเท่านั้น ถึงแม้ที่นี่จะดูห่างไกลจากสังคมเมือง แต่นักเรียนโรงเรียนเพียงหลวง 12 หรือโรงเรียนบ้านท่าล้ง ต่างก็มีความสุขกับการเรียนรู้ด้านวิชาการ และการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากโครงการชีววิถี โดยกองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา
นางณัฐชนันท์พร วงษ์ละคร ครูโรงเรียนเพียงหลวง 12 เล่าว่า โรงเรียนทำการสอน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 40 คน ครูและบุคลากร 6 คน ซึ่งครูได้สอนให้นักเรียนทุกคนรู้จักในการอยู่อย่างพอเพียง ช่วยกันปลูกพืชผักที่กินได้ เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม นักเรียนในโรงเรียน จะช่วยกันนำผลผลิตที่ได้ภายในโรงเรียน เช่น พืชผักสวนครัว สัตว์เลี้ยง มาทำเป็นอาหารกลางวัน รับประทานทั้งโรงเรียน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5 ปีที่ 6 ช่วยในการติดตั้งไฟ และปรุงอาหาร ส่วนน้องๆที่ชั้นเล็กลงไป จะช่วยเก็บพืชผักสวนครัว ตามจำนวนที่ครูบอก ถือว่าเป็นการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ และรู้จักในการแยกประเภทพืชผักด้วย
นางณัฐชนันท์พร วงษ์ละคร บอกอีกว่า โรงเรียนอื่นเราอาจจะเห็นครูช่วยกันทำอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนรับประทาน แต่ที่นี่ ครูจะได้รับประทานอาหารวันจากฝีมือเด็กนักเรียน จากชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีครูเป็นพี่เลี้ยงแนะนำวิธีการทำและปรุงอาหาร ซึ่งอาหารจากเด็กนักเรียนเหล่านี้ ยังได้จัดวางขึ้นโต๊ะเพื่อต้อนรับผู้ที่มาเยี่ยมชมโรงเรียนด้วย
เด็กชายสมชาย พึ่งป่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 บอกว่า ตนเองเริ่มมาช่วยคุณครูทำอาหารตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จนถึงทุกวันนี้ ตนและเพื่อนๆ ยังได้ช่วยคุณครูทำอาหารกลางวันเป็นประจำ ทั้งติดไฟ จับปลา จับกบ ไม่เหนื่อยรู้สึกสนุกมากกว่า เมื่อกลับไปถึงบ้านช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านและช่วยทำอาหารด้วย
โรงเรียนเพียงหลวง 12 หรือโรงเรียนบ้านท่าล้ง นับเป็นสถานที่ในการสั่งสอนและให้ความรู้อย่างครบวงจร แก่เด็กๆที่นี่ นักเรียนรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักแบ่งปันช่วยเหลือสังคม มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน ไม่ให้เลือนหาย ซึ่งสิ่งที่ดีต่างๆเหล่านี้ ได้ถูกขยายทั่วทั้งหมู่บ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
กรกช ภูมี / สวท.อุบลฯ สปข.2
รายงาน / 27 ต.ค. 56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น