วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กรมควบคุมโรคห่วงใยแนะวิธีปฏิบัติ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อและขยะหลังน้ำลด

นางสาวกัญญรัตน์ เกียรติสุภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ ได้รับแจ้งจากกรมควบคุมโรคห่วงใยแนะวิธีปฏิบัติ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ ได้แก่ โรคติดต่อจากอาหารน้ำ และแมลงต่างๆ ดังนี้ การจัดการขยะหลังน้ำลด

1. เก็บรวบรวมขยะที่ถูกน้ำที่พัดเข้ามาในบ้านเรือนขณะน้ำท่วม รวมทั้งสิ่งของในบ้านเรือนที่เสียหายจากน้ำท่วม เช่น ที่นอน หมอน ฯลฯ เพื่อมิให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และเพาะพันธุ์สัตว์แมลงนำโรค

2. อาจจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ ทำความสะอาดในชุมชน (Big Cleaning Day) เพื่อรวมแรง ร่วมใจในการทำความสะอาดบ้านเรือน ชุมชน และสถานที่สาธารณะ

3. ประสานงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขอรับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ การขนและการนำไปกำจัด รวมทั้งอุปกรณ์ทำความสะอาด

4. ในกรณีสถานที่กำจัดขยะมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น และแมลงวัน อาจใช้จุลินทรีย์ช่วยในการแก้ไขปัญหา เช่น การใช้จุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติพิเศษขององค์การเภสัชกรรม (GPO Mekaklean Plus) ชนิดผงผสมในน้ำสะอาดทิ้งไว้อย่างน้อย 4 ชั่วโมง โดยใช้ในอัตราส่วน 1 กรัมต่อขยะ 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) นำไปฉีดพ่นให้ทั่วถึงบนกองขยะที่เข้ามาใหม่

5. ขยะถุงดำที่บรรจุสิ่งปฏิกูลต้องนำไปกำจัด โดยวิธีฝังกลบในหลุมฝังกลบหรือการขุดหลุมฝังในสถานที่เหมาะสม ด้านการจัดการสิ่งปฏิกูลหลังน้ำลด

1. หากพบว่าส้วมเต็มหรือราดน้ำไม่ลง ให้ทำการสูบสิ่งปฏิกูลในถังบำบัด นำไปกำจัดในสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งสามารถประสานขอรับการสนับสนุนได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่ หรืออาจใช้จุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติพิเศษขององค์การเภสัชกรรม (GPO Mekaklean Plus) ชนิดผงผสมในน้ำสะอาดทิ้งไว้อย่างน้อย 4 ชั่วโมง โดยใช้ในอัตราส่วน 5 กรัม โดยจุลินทรีย์จะช่วยในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูล และลดกลิ่นเหม็น

2. ล้างทำความสะอาดเก็บกวาดขยะ กิ่งไม้ ใบไม้ที่ตกค้างในบริเวณห้องส้วมด้วยน้ำผสมผงซักฟอก

3. ซ่อมแซมระบบเก็บกักสิ่งปฏิกูลของส้วมที่ชำรุดให้อยู่ในสภาพดีใช้งานได้

สำหรับการจัดการแหล่งน้ำท่วมขัง โดยการบำบัดน้ำเสียที่ท่วมขังหรือแหล่งน้ำสาธารณะเน่าเสียอาจใช้ EM หรือจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติพิเศษขององค์กรเภสัชกรรม (GPO Mekaklean Plus) ใส่ในแหล่งน้ำเสียในอัตราส่วน 1 กรัม ต่อ น้ำเสีย 1 ลูกบาศก์เมตรโดยอาจใช้ครั้งเดียวหรือใช้ซ้ำได้ทุก 7 วันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น หากต้องการกำจัดกลิ่นเหม็นอย่างเดียว อาจใช้เพียงครั้งเดียว ส่วนการคัดแยกขยะมูลฝอย 1. ขยะมูลฝอย ประเภทเศษอาหาร ที่เหลือจากการบริโภคแต่ละวัน (ขยะเปียก) กล่องโฟม ถุงพลาสติก ที่ใช้ใส่อาหารแล้ว ทิ้งลงในถุงดํา มัดปากถุงให้แน่นเพื่อป้องกันสัตว์และแมลงนําโรคลงไป รวบรวมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําไปกําจัด อย่างถูกหลักสุขาภิบาล ไม่ควรทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ 2. ขยะมูลฝอย ประเภทกระป๋องโลหะ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กล่องนม ให้เก็บแยก ไว้ ไม่ควรทิ้งลงในแหล่งน้ำ และนําออกขาย เมื่อสามารถขนออกมาได้หรือเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ และ 3. ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า โต๊ะ เตียง เก้าอี้-ชุดรับแขก ที่ชํารุด เศษไม้ เศษสิ่งก่อสร้าง ติดต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําไปจัดการอย่างเหมาะสม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น