วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จังหวัดอุดรธานีจัดพิธีเวียนเทียนเนื่องในวันวิสาขบูชาปี 56

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นำพุทธศาสนิกชนชาวอุดรธานี ร่วมเวียนเทียนเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2556 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อเวลา 19.30 น.วันนี้ (24 พ.ค.56 ) ที่ศาลาบุญสิงห์ วัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พระเทพรัตนมนี เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นำคณะสงฆ์ ร่วมสวดมนต์ทำวัตรเย็น โดยมีนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และมีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ประชาชน พุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีร่วมประกอบพิธี

พระเทพรัตนมุนี ได้แสดงสัมโมทนียกถา เรื่องความสำคัญของวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก แนะแนวทางพ้นทุก เราต้องระลึกเสมอว่าทุกๆเรื่องเปลี่ยนแปลงได้ ทุกๆเรื่องเป็นทุกข์ทั้งนั้น ทุกๆเรื่องไม่มีตัวตน จะบังคับให้เป็นไปตามใจเรานั้นไม่ได้ ซึ่งหากเราคิดได้ดังนี้ทุกคนจะมีความสุขและพ้นทุกข์ คนเราที่เกิดมาต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองและปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ เต็มกำลัง พ่อแม่คือ พระพรหมพระอินทร์พระอรหันต์ของลูก ลูกควรรักและเคารพ เชื่อฟัง การทำบุญไม่ใช่แค่ทำบุญตักบาตร แต่เราสามารถทำบุญได้ด้วยการเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนมีสัมมาคารวะ รู้กาละเทศะ ไม่มีความโกรธเกียจเดียดฉันท์ และให้อภัยซึ่งการให้อภัยเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่กว่าการให้ทั้งมวล เสร็จแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เป็นตัวแทนพุทธศาสนิกชนถวายเครื่องไทยธรรม ประธานฝ่ายสงฆ์อนุโมทนา ประธานฝ่ายสงฆ์นำถวายดอกไม้ ธูปเทียน และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีนำพุทธศาสนิกชนเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ ถวายสักการะหลวงพ่อนาค และพระประธานในพระอุโบสถ

วันวิสาขบูชา ในประเทศไทย ปรากฎหลักฐานว่า วันวิสาขบูชา เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา นั่นคือ เมื่อประมาณ พ.ศ.420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกา พระองค์อื่นๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา สำหรับการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศ สรุปได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน หลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากขึ้น ทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2360) ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรก ในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศล โดยทั่วหน้ากัน การรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ จึงถือเป็นแบบอย่างถือปฏิบัติในการประกอบพิธี วันวิสาขบูชา ต่อเนื่องมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน


ทีมข่าวส.ปชส.อด. ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น