วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จังหวัดศรีสะเกษพบสถิติผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า

จังหวัดศรีสะเกษพบสถิติผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือด ออก มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ขณะที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ เร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่พ่นยากำจัดยุงและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก

นายพินิจ  วงษ์โสภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ รายงานว่า  เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ก.ค.56 นายแพทย์ประวิ อ่ำพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบลอีเซ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์โรคไข้เลือดออกและพ่นยากันยุง ให้กับชาวบ้านในเขตพื้นที่ตำบลอีเซ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายพื้นที่จังหวัด ศรีสะเกษ อยู่ในขณะนี้
 
นายแพทย์ประวิ กล่าวว่า จากการสำรวจขณะนี้พบว่า ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ พบผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก มากขึ้นถึง 2 เท่า หากเทียบจากเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอโนนคูณ และ อำเภอกันทรลักษ์ จะพบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสูงกว่าในเขตพื้นที่อื่นๆในจังหวัดศรีสะเกษ สำหรับในเขตอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ถือว่ามีความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกในระดับปานกลาง ซึ่งถือว่าไม่รุนแรงมาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้เลือดออก คือ การกำจัดพาหะของโรคไข้เลือดออก นั่นก็คือ ยุงลาย ซึ่งอันดับแรก ก็คือการระวังตัวเพื่อไม่ให้ยุงสามารถกัดได้ ตลอดจนในพื้นที่ที่พักอาศัย บ้านเรือน และตามสถานศึกษา ควรป้องกันไม่ให้มียุง
 
นายแพทย์ประวิ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ได้สั่งการไปยังสาธารณสุขอำเภอ ทั้ง 22 อำเภอ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อส่งเจ้าหน้าที่พ่นยากันยุง และ ให้ความรู้ความเข้าใจ ในการป้องกันโรคไข้เลือกออก โดยใช้หลักมาตรการ4 ป. เพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์ยุงลายยังใช้ได้เสมอหากทำอย่างต่อเนื่องและจริง จัง ได้แก่1. ปิด ภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิดต้องมีฝาปิดอย่างมิดชิด 2. เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ จานรองขาตู้กับข้าว ต้องเปลี่ยนทุกสัปดาห์หรืออาจใส่เกลือแกง น้ำส้มสายชู เพื่อป้องกันยุงลายวางไข่3. ปล่อย ในโอ่งน้ำ บ่อน้ำ อ่างบัว ควรปล่อยปลาที่กินลูกน้ำเป็นอาหาร เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอด เพื่อป้องกันการเพาะพันธุ์ของยุงลาย4. ปรับปรุง ทุกบ้านในชุมชนควรดูแลปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทั้งภายในบ้าน นอกบ้าน ที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นที่ทิ้งขยะ ถนนหนทางที่มีแหล่งน้ำขัง ภาชนะต่าง ๆ ที่กักเก็บน้ำได้ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง และหากสงสัยว่าคนในบ้านป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกคือ มีไข้สูงโดยไม่มีอาการหวัดไม่มีอาการคัดจมูกหรือไม่มีน้ำมูก ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวและให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล ห้ามให้ยาลดไข้ชนิดอื่นเด็ดขาดเพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น หากดูแลเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น เด็กยังมีไข้เกิน 3 วัน ซึม อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย ผิวหนังเย็นชื้น เหงื่อออกมาก มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือไม่กินอาหารเลย แสดงว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะอันตรายควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน



 
จิรภัทร  หมายสุข / ภาพ/ข่าว

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น