วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เวทีสัมมนา กสม. รุมจวกตำรวจ จับผู้ต้องหาแถลงข่าว-ทำแผน ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า ทางกสม. ร่วมกับ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาเครื่องมือในการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิ มนุษยชนทางสื่อ แอมแนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย (เอไอ) จัดเวทีสาธารณะนำเสนอความคิดเห็นในหัวข้อ " ทำแผนฯ - แถลงข่าว อย่างไรให้ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน" โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สื่อมวลชน และนักวิชาการต่าง ๆ รวมกันแสดงความคิดเห็นก่อนที่จะสรุปทำเป็นข้อเสนอแนะแนวทางในการปฏิบัติ

โดย นพ.แท้จริง ศิริพานิช กสม.กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า เนื่องจากการเสนอข่าวอาชญากรรมในปัจจุบัน มีการเผยแพร่ภาพผู้ต้องหาในคดีอย่างชัดเจน ทั้งในการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวหรือนำผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และมีการรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหา เช่นในกรณีฆาตกรรมนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ซึ่งการปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นการแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัว ของผู้ต้องหา ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 และหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 ที่ระบุว่าก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ถือว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ทางคณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นว่าควรที่มีการระดมความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ก็เห็นว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรที่จะ มีการจัดแถลงข่าว และพาผู้ต้องหา หรือผู้เสียหาย ไปทำแผน เพราะเห็นว่ามีแนวทางอื่นสามารถที่จะดำเนินการได้ เช่น นายนายสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการ เอไอ กล่าวว่า ถ้ามีการรับสารภาพของจำเลยต่อหน้าพนักงานสอบสวนและทนายความของจำเลยก็น่าจะ เป็นหลักฐานเพียงพอที่น่ารับฟังได้ไม่น้อยไปกว่าการนำผู้ต้องไปทำแผนประกอบ คำรับสารภาพ ซึ่งการจัดทำแผนฯ ควรทำในเฉพาะกรณีที่เชื่อว่าจะสามารถทำให้ได้พยานหลักฐานเพิ่มเติม ส่วนการนำผู้กระทำผิดมาแถลงข่าวก็ไม่ควรที่จะนำเสนอถึงวิธีการของการกระทำ ความผิด แต่ควรมุ่งถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ผู้กระทำผิดก่ออาชญากรรมเพื่อเป็นการให้ ข้อมูลแก่สังคม เพราะถ้านำเสนอเรื่องวิธีการมาก อาจทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ โดยการนำเสนอข่าวอาชญากรรมในปัจจุบันของสื่อ ต้องยอมรับว่าเหมือนเป็นการสะท้อนว่าสังคมไทยยอมรับต่อการละเมิดสิทธิของผู้ ต้องหา ผู้ต้องหาในคดีมักจะถูกสังคมตัดสินว่ามีความผิด สื่อฯมักจะนำเสนอว่าผู้ต้องหามีความผิดแล้ว ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงอยากให้สื่อฯและสังคมไทยให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การปกครองแบบนิติรัฐได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น