วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เลขา สพฐ.เตรียมยกร่างระเบียนกระทรวงศึกษาธิการให้มีการซ้ำชั้นหากไม่ผ่านวิชาใดวิชาหนึ่งในระดับประถมศึกษา ส่วนมัธยมศึกษาให้ลงเรียนใหม่ในภาคเรียนถัดไป

เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เตรียมยกร่างระเบียนกระทรวงศึกษาธิการให้มีการซ้ำชั้นหากไม่ผ่านวิชาใดวิชาหนึ่งในระดับประถมศึกษา ส่วนมัธยมศึกษาให้ลงเรียนใหม่ในภาคเรียนถัดไป
นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึง แนวนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้มีการจัดทดสอบวัดผลกลางโดยใช้ข้อสอบชุดเดียวกันทั้งประเทศในทุกชั้นปี ว่า หากเริ่มดำเนินการพร้อมกันทุกระดับชั้นอาจจะมีปัญหาในเรื่องงบประมาณและความพร้อมของผู้ปฏิบัติ ดังนั้นจะเริ่มใช้ข้อสอบกลางในระดับชั้นที่มีผลต่อการเรียนในระดับสูงขึ้นก่อน คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3, 4 และ 5 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 โดยข้อสอบกลางจะเป็นข้อสอบมาตรฐานที่ผ่านกระบวนการพิจารณาตรวจสอบโดยชุมนุมนักวัดผลการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำลังจะตั้งขึ้น ซึ่งจะมีค่าความเชื่อมั่นเพียงพอที่จะส่งผลให้ทราบได้ว่า จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขการจัดการศึกษาในด้านใด เพื่อให้ได้มาตรฐานของนักเรียนทั่วประเทศที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งข้อสอบวัดผลกลางนี้จะใช้ในการสอบปลายภาคของทุกโรงเรียนที่จัดสอบ ปีละ 2 ครั้ง และจะใช้สอบทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เด็กเรียน ทั้งนี้สำนักงานคณะการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเริ่มใช้ข้อสอบกลางในระดับชั้นดังกล่าวในปีการศึกษา 2557 ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีกประมาณครึ่งปีจึงเชื่อว่าจะสามารถออกข้อสอบและดำเนินการเรื่องนี้เสร็จได้ทัน

นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องมีการปรับปรุงระบบการวัดผล ประเมินผลใหม่ด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบให้ทบทวนระบบการตกซ้ำชั้น ซึ่งขณะนี้ สพฐ. กำลังปรับปรุงโดยยกร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการวัดผล ประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ เพื่อจะใช้ในปีการศึกษาปี 2557 มีเนื้อหาสาระที่จะให้มีการตกซ้ำชั้นในระดับชั้นประถมศึกษา หากไม่ผ่านวิชาใดวิชาหนึ่ง จะต้องตกซ้ำชั้นเพราะเป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ส่วนระดับมัธยมศึกษานั้นหากไม่ผ่านในรายวิชาใด จะต้องลงเรียนรายวิชานั้นใหม่ในภาคเรียนถัดไป หรือเมื่อโรงเรียนเปิดให้โดยไม่ต้องช้ำชั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อจัดทำร่างแล้วเสร็จจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะต้องนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยเมื่อประกาศใช้จะมีผลบังคับใช้ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. โรงเรียนเอกชน ส่วนโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน สามารถอนุโลมนำไปใช้ได้ ซึ่งปกติแล้วโรงเรียนเหล่านี้จะยึดกฎของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว ส่วนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับความสมัครใจว่าจะใช้การวัดผลดังกล่าวนี้หรือไม่



ที่มาสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น