วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประมงจังหวัดสุรินทร์ เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในหน้าหนาว ให้ระวังโรคระบาดในช่วงนี้

นายสมชาย เจียรทิพย์วิไล ประมงจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีอากาศเย็น คุณภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลงมากส่งผลให้สัตว์น้ำ ในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ปลาต่างๆ ที่เกษตรกรเลี้ยงไว้มักจะเกิดโรคระบาดได้ง่าย ความแข็งแรงและความต้านทานโรคลดลง ปลาจะเครียด อ่อนแอไม่กินอาการ และเกิดโรคได้ง่าย โรคระบาดปลามักจะเกิดในช่วงปลายฤดูฝนต่อกับต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพแวดล้อมและคุณสมบัติของน้ำมีการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันนี้ยังไม่มียาหรือสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อราที่ฝังตัวอยู่ภายในกล้ามเนื้อและอวัยวะภายในของตัวปลา แต่ถ้าอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นหรือหมดฤดูหนาว ปลาจะมีภูมิต้านทานโรคสูงขึ้นและสามารถหายป่วยได้เอง ดังนั้น จึงเป็นช่วงที่ต้องระวังไม่ให้ปลาที่เลี้ยงเป็นโรคระบาดปลา ไม่ว่าจะเป็นโรคจุดขาวในปลาดุก ปลาสวาย โรคหนอนสมอในปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ โรคเห็บปลา ในปลาที่มีเกล็ด ปลาที่มีหนัง เป็นต้น เกษตรกรควรรีบจับปลาที่ไม่เป็นโรคจำหน่ายแม้จะได้ราคาไม่ดี

อย่างไรก็ตาม หากเกษตกรมีความจำเป็นต้องเลี้ยงปลาต่อไปอีก เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคแผลเน่าเปื่อยจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด นายสมชาย เจียรทิพย์วิไล ประมงจังหวัดสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า แนวทางในการป้องกันการเกิดโรคระบาดปลาในบ่อเลี้ยงสามารถทำได้ หลายวิธี อาทิ ควรวางแผนการจัดการเลี้ยงปลาให้ปลามีขนาดใกล้เคียงกันกับขนาดที่ตลาดต้องการก่อนช่วงฤดูหนาว ในกรณีที่พบปลาในธรรมชาติป่วย ให้รีบจับปลาที่เลี้ยงไว้ ขายให้หมดก่อนที่โรคแพร่เข้ามาในฟาร์ม ถ้าจะเลี้ยงปลาให้โตจับได้หลังฤดูหนาวก็ควรจะเลี้ยงปลาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ระบาดน้อย เช่น ปลานิล ปลาจีน และปลาอื่นๆ ที่ไม่มีเกล็ด แต่เกษตรกรจะต้องไม่เลี้ยงจนหนาแน่นมากเกินไป และให้อาหารที่พอเหมาะเนื่องจากฤดูหนาวปลาจะกินอาหารลดลงไป ถ้าพบปลาป่วยเป็นโรคระบาดปลาในธรรมชาติในช่วงปลายฤดูฝนต่อกับฤดูหนาวให้รีบปิดน้ำ หรืองดการเติมน้ำเข้าบ่อโดยทันที ในระหว่างที่ปิดน้ำจำเป็นต้องลดปริมาณอาหารที่ให้ปลากินเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสียควบคุมคุณภาพของน้ำในบ่อโดยใช้ปูนขาวในอัตรา 60-100 กิโลกรัมต่อบ่อขนาด 1 ไร่ ถ้าน้ำในบ่อเริ่มเน่าเสียโดยมีแก๊สผุดขึ้นมาจากพื้นบ่อให้สาดเกลือแกงบริเวณที่มีแก็สประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อบ่อขนาด 1 ไร่ เมื่อพบว่าปลาในธรรมชาติหายป่วยแล้วและอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นหรือหมดฤดูหนาวแล้วจึงทำ การถ่ายเทน้ำและเพิ่มปริมาณอาหารของปลาได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรที่ยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคปลา หรือปลาที่เลี้ยงไว้ มีความผิดปกติ ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว และขอเข้ารับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดสุรินทร์ ในเวลาราชการ โทร 044-514590,044518136

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น