วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

นักท่องเที่ยวนับหมื่นร่วมงานประเพณีขึ้นเขาสวาย เคาะระฆังพันใบ กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำปี 2557

จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ จัดประเพณีขึ้นเขาสวาย เคาะระฆัง 1,080 ใบ กราบไหว้ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำปี 2557 ซึ่งในปีนี้อากาศค่อนข้างดี ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานนับหมื่น

วันที่ 31 มี.ค.57 เมื่อเวลา 09.09 น. ที่วนอุทยานเขาสวาย ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงานประเพณี ขึ้นเขาสวาย เคาะระฆังพันใบ กราบไหว้สิ่งศักดิ์ ประจำปี 2557 ซึ่งจังหวัดสุรินทร์ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้ร่วมกันจัดขึ้น สำหรับประเพณีขึ้นเขาสวาย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญของชาวจังหวัดสุรินทร์มาแต่โบราณ เมื่อถึงเดือนห้าของทุกปี บรรพบุรุษชาวสุรินทร์จะถือว่าเป็นงานประเพณีหยุดงาน ซึ่งประเพณีการหยุดงานตามช่วงระยะเวลาดังกล่าว ในทุกปีชาวจังหวัดสุรินทร์จะร่วมมือร่วมใจจัดงานบุญประเพณีขึ้นเขาสวาย ประกอบกับวันดังกล่าว ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ ดังนั้นชาวสุรินทร์จะหยุดงานและพากันเดินทางไปขึ้นเขาสวายเพื่อกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคลชีวิตต่อตนเองและครอบครัว โดยจะพากันประกอบกิจกรรมกราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาสวายหลัก ทั้ง 9 คือ พระใหญ่หรือพระพุทธสุรินทรมงคล รอยพระพุทธบาทจำลอง อัฐิหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระพุทธรูปองค์ดำ หลวงปู่สวน ปราสาทหินพนมสวาย ศาลเจ้าแม่กวนอิม เต่าหินศักดิ์สิทธิ์ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ และร่วมเคาะระฆัง 1,080 ใบ เพื่อเป็นศิริมงคลด้วย

จังหวัดสุรินทร์ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมสำคัญ ซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นเมืองมาอย่างยาวนานแห่งหนึ่ง คือ "เขาสวาย” หรือ "พนมสวาย” ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาสวาย ในพื้นที่ตำบลนาบัวและตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 22 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ ติดต่อกัน รอง ๆ บริเวณ มีเวิ้งน้ำใหญ่ ทิวทัศน์สวยงาม มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด มียอดเขาที่สำคัญ 3 ยอด ยอดที่ 1 เรียกว่า ยอดเขาชาย(พนมเปร๊าะ) สูง 220 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรทรมงคลและระฆังมหากุศล 1,080 ใบ จาก 1,080 วัด ยอดที่ 2 เรียกว่ายอดเขาหญิง(พนมสรัย) สูง 210 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม ยอดเขาที่ 3 เรียกว่า เขาคอก (พนมกรอล) สูง 150 เมตร เป็นที่ตั้งศาลาอัฐฐะมุข ซึ่งเป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง เขาสวาย มีความสำคัญต่อชาวสุรินทร์มาตั้งแต่โบราณกาล กล่าวคือ เมื่อถึงเดือนห้าของทุกปีบรรพบุรุษชาวสุรินทร์จะถือว่าเป็นงานประเพณีหยุดงาน ซึ่งการหยุดงานจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ตอมตู๊จ ซึ่งหมายถึงวันหยุดงานเล็ก จะมีการหยุดงาน ทำงานเพียง 3 วัน นับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือนห้า ช่วงที่ 2 ช่วงตอมธม หมายถึง วันหยุดใหญ่ จะมีการหยุดทำงานทั้งหมด 7 วัน นับแต่วันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 7 ค่ำ เดือนห้า ซึ่งประเพณีการหยุดงานตามช่วงระยะเวลาดังกล่าว ชาวสุรินทร์มีความเชื่อว่า ต้องหยุดการทำงานทั้งหมด หากใครไม่หยุดทำงานก็จะมีอันเป็นไปและในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ชาวจังหวัดสุรินทร์จะร่วมมือร่วมใจจัดงานบุญประเพณีขึ้นเขาสวายขึ้น ประกอบกับวันดังกล่าวถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ

ดังนั้น ชาวสุรินทร์จะหยุดงานและพากันเดินทางไปขึ้นเขาสวายเพื่อกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคลชีวิตต่อตนเองและครอบครัว สิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาสวายประกอบด้วย พระใหญ่หรือพระพุทธสิรนทรมงคล รอยพระพุทธบาทจำลอง อัฐิหลวงปู่ดุล อตุโล พระพุทธรูปองค์ดำ หลวงปู่สวน ปราสาทหินพนมสวาย ศาลเจ้าแม่กวนอิม เตาหินศักดิ์สิทธิ์ และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาปี 2551 จังหวัดสุรินทร์ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราช โดยได้ดำเนินการจัดหาระฆัง จำนวน 1,080 ใบ จากวัดทุกวัดในจังหวัดสุรินทร์ และวัดสำคัญอีก 10 วัด นำไปติดตั้งบริเวณทางขึ้นบันไดไปนมัสการพระพุทธสุรินทรมงคล และบริเวณรอบ ๆ สถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ดุล อตุโล ซึ่งมีความยิ่งใหญ่ สวยงาม ปรากฏต่อสื่อสาธาณะอย่างกว้างขวาง และคาดว่าน่าจะเป็นจำนวนมากที่สุดในโลกอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้เคาะระฆังเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการประกวดขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ขบวนรถบุปผาชาติ ขบวนธงชาติธงเฉลิมฉลองฯ ตวง (ตุง) ขบวนรถแห่นางงาม และการประกวดขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น หมู่บ้าน ซึ่งงานประเพณีขึ้นเขาสวาย ในปีนี้อากาศไม่ร้อนมากนัก จึงทำให้ให้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวแห่เข้าร่วมงานประเพณีเป็นจำนวนมาก โดยในงานและตามหมู่บ้านก็จะเริ่มเห็นบรรยากาศของการเล่นน้ำสงกรานต์อีกด้วย




ส.ปชส.สุรินทร์ กำชัย วันสุข / ข่าว
ไวยวิทย์ สถขเก่า / ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น