วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

เลขาธิการ กปร. ประชุมเชิงปฎิบัติการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

วันนี้ (7 มี.ค.57)  เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.) ในลักษณะการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการ โดยมี ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผู้แทนกรมชลประทาน พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มผู้ใช้น้ำ จำนวนทั้งสิ้น 120 คน เข้าร่วมประชุม เพื่อค้นหาปัญหา แนวทางการแก้ไข และตัวแบบความสำเร็จของพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำนับตั้งแต่ปี 2525 มีโครงการด้านแหล่งน้ำถึง 3,031 โครงการ โดยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีโครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำรวมทั้งสิ้น จำนวน 47 โครงการในการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน วิธีการที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ดังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2532 ความว่า โครงการชลประทานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว ควรจัดการให้ราษฎรมีการใช้น้ำอย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการ ด้วยเหตุดังกล่าว สำนักงาน กปร. จึงได้ร่วมกับกรมชลประทาน และจังหวัดนครราชสีมา จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในลักษณะการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น

ซึ่งได้ดำเนินการแล้วในปี2555 จำนวน 7 จังหวัด การประชุมครั้งนี้ ได้กำหนดให้มีบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริและการเสวนาเรื่อง การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังได้แบ่งกลุ่มเพื่อค้นหาปัญหา อุปสรรค แนวทางการแก้ไข และตัวแบบความสำเร็จด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำให้แก่กลุ่มผู้ใช้น้ำ อีกทั้งสามารถปรับปรุงพัฒนาทั้งทางโครงสร้างการพัฒนาแหล่งน้ำและรูปแบบการบริหารจัดการน้ำ ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและต่อยอดกิจกรรมการพัฒนาบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมั่งคงและความยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น