วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

เกษตรกรชัยภูมิ ปรับวิธีการทำการเกษตร ลดต้นทุนเพิ่มรายได้ รักษาสิ่งแวดล้อม

เกษตรกร ยุคใหม่ ที่ชัยภูมิ หันมาทำการเกษตร แบบไร่ นา สวน ผสม มีการทำเกษตรที่หลากหลาย ที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แต่ทุกกิจกรรมมุ่งลดต้นทุน เพิ่มรายได้ รักษาสภาพแวดล้อม และทำกิจกรรมที่สนองความต้องการของตลาดเป็นหลัก ตัวไหนตลาดไม่ดี นำกลับมาเป็นต้นทุน ในการเลี้ยงสัตว์ได้ ไม่ต้องง้อตลาด

ที่แปลงไร่นาสวนผสม ของ นายปราโทย์ และนางสุภาพ ใยโนนตาด เกษตรกรตำบลบ้านเขว้า อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ สองสามี ภรรยา ที่ใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำ มาปรับปรุงพื้นที่ 30 กว่าไร่ ให้สามารถปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ มีรายได้ตลอดทั้งปี ฉีกแนวการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ต้องเจอปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ มาเป็นเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง และพึ่งพาซึ่งกันและกันของพืชและสัตว์เลี้ยง ที่สำคัญลดการพึ่งพาต้นทุนการผลิตจากภายนอก หันมาทำเกษตรอินทรีย์ สร้างความมั่นคง ให้กับชีวิต เมื่อยามแก่เฒ่า สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้


นางสุภาพ ใยโนนตาด เล่าให้ฟังว่า เดิมที่ 30 ไร่ จะปลูกข้าวทั้งหมด เกิดปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ไม่คุ้มทุน จึงปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน เริ่ม ขุดบ่อเลี้ยงปลา 3 บ่อ บริเวณขอบบ่อปลูกกล้วยหอมทอง ส่งขายให้กับกลุ่มแม่บ้านแปรรูปเป็นกล้วยกรอบแก้ว ซึ่งเป็นตลาดที่แน่นอน มีเท่าไหร่รับซื้อทั้งหมด นอกจากนั้นยังปลูกไผ่กิมซุง มะม่วงพันธุ์ดี เพื่อสร้างร่มเงา และเก็บผลผลิตขาย เป็นของฝากผู้มาเยี่ยมสวนอีกด้วย ส่วนในสระน้ำ

นอกจากปลูกพืชผักไว้รอบๆบริเวณขอบสระแล้ว ยังมีการเลี้ยงเป็ดไข่ จำนวน 200 ตัว ได้ไข่เป็ด 150- 200 ฟอง ต่อวัน เป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่งด้วย ใช้รูปแบบการเลี้ยงเป็ดแบบกึ่งธรรมชาติ โดยจะให้กินหัวอาหารผสมข้าวเปลือก 1ต่อ 3 ส่วน ช่วงเย็นมื้อเดียว ช่วงเช้า เป็ดจะออกไข่ ที่นี่จะไม่ให้อาหารเช้า แต่จะปล่อยให้เป็ดกินแมลง ที่ใช้ไฟแมงดา ดักเอาไว้

หลังจากนั้นจึงปล่อยให้เป็ดลงหากินในหนองน้ำ โดยเฉพาะหน้าที่นาข้าวเจริญเติบโต จะปล่อยเป็ดลงไปกินหอย ในนาข้าวทุกวัน ไปจนถึงช่วงข้าวเริ่มออกรวง จึงกักเป็ดไว้ไม่ให้ลง และจะปล่อยลงอีกครั้ง ช่วงเก็บเกี่ยวเสร็จ ช่วงไม่มีข้าวในนา ก็จะปล่อยลงสระน้ำ 3 บ่อ

ส่วนการทำนาที่นี่ จะเน้นทำนาแบบอินทรีย์ เพิ่มผลผลิตข้าวโดยการใช้เครื่องดำนา ควบคุมน้ำแบบแห้งสลับเปียก ใช้น้ำหมักชีวภาพ แทนปุ๋ยเคมี ใช่เป็ดลงกินหอย และได้ปุ๋ยจากมูลเป็ด และที่สำคัญใช้แหนแดง (อ่านว่า แ-หน- ) เป็นพืชน้ำ ช่วยดึงไนโตรเจน เร่งการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ช่วยลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง ข้าวได้ผลผลิต 600 กิโลกรัมต่อไร่ขึ้น จากภาวะอากาศร้อน เป็ดที่เลี้ยงไว้ 200 กว่าตัว เกิดอาการเครียด ส่งผลให้ปริมาณไข่ลดน้อยลง กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะขาดทุน เนื่องจาก หัวอาหารมีราคาแพง กะสอบละ 400 กว่าบาท หน้าแล้งแหล่งอาหารตามธรรมชาติ มีน้อยลง




สุระพงค์ สวัสดิ์ผล /ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น