วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กรมทางหลวงจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 2 หลังสรุปจุดก่อสร้างสะพานแห่งที่ 5

วันนี้ (08-05-57 ) เวลา 09.00 น.  ณ โรงแรมเดอะวัน อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ นายชโลธร ผาโคตร ผวจ.บึงกาฬ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 หลังกรมทางหลวง สรุปผลการคัดเลือกแนวทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบรายละเอียดสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - ปากซัน) เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะสรุปผลการคัดเลือกแนวทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ ตำแหน่งสะพาน รูปแบบโครงสร้างสะพานตลอดจนผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ และประชาชนในพื้นที่ ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะต่อแนวเส้นทางเลือก และตำแหน่งสะพานที่เหมาะสมของโครงการ

นายชโลธร ผาโคตร ผวจ.บึงกาฬ กล่าวว่า โครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 บึงกาฬ – ปากซัน พร้อมโครงข่ายเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในกลุ่มอนุภาคตอนบนและยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียง ที่เกี่ยวข้องการการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศในการเชื่อมโยงโครงการเส้นทางการคมนาคมและขนส่งระหว่างประเทศไทยกับสปป.ลาว สำหรับรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นโดยแนวเส้นทางประกอบด้วยโครงข่ายทางหลวงทั้งในฝั่งประเทศไทยและสปป.ลาวผ่านทางสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 บึงกาฬ – ปากซัน ในการศึกษาต้องพิจารณาถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศ พัฒนาทางหลวงให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน ฉบับล่าสุด โดยออกแบบปรับปรุงเป็นทางหลวงขนาดที่เหมาะสมตามผลวิเคราะห์ทางด้านวิศวกรรมและการจราจร ดังนั้นกรมทางหลวงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ – ปากซัน นอกจากนี้กรมทางหลวงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจึงได้มีการจัดประชุมขึ้นในวันนี้เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ ในการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมาที่ปรึกษาได้สำรวจพื้นที่ในภาคสนามเบื้องต้น ทั้งในฝั่งประเทศไทย และฝั่ง สปป.ลาว และได้กำหนดแนวเส้นทางเลือกของโครงการไว้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ โดยหลีกเลี่ยงชุมชนหนาแน่น และสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ เป็นต้น และให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาทางหลวงของ สปป.ลาว ที่จะทำการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองปากซันในอนาคต จากประเด็นการพิจารณาเปรียบเทียบแนวเส้นทางเลือก สามารถคัดกรองแนวเส้นทางเลือกเบื้องต้นเหลือ 3 แนวเส้นทางโดยที่แนวเส้นทางเลือกทุกแนวจะมีแนวเส้นทางร่วม (SPUR LINE) จากทางหลวงหมายเลข 212 มาเชื่อมกับแนวเส้นทางหลักในฝั่งประเทศไทย และมีแนวเส้นทางส่วนต่อขยายในอนาคต ในฝั่ง สปป.ลาว ดังแสดงในรูปโดยมีรายละเอียดของแต่ละแนวเส้นทางเลือก ทั้งนี้ได้มีการเลือกแนวเส้นทางเลือกที่ 2 (A+B+D) จุดเริ่มต้นโครงการที่ฝั่งประเทศไทย ที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 บริเวณกิโลเมตรที่ 123+560 ใกล้กับที่ดินกรมทางหลวงเหมือนแนวเส้นทางเลือกที่ 1 แนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแนวเดียวกับแนวเส้นทางเลือกที่ 1 และตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก.5004 ที่บ้านห้วยดอกไม้ ใกล้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านห้วยดอกไม้ ก่อนจะแยกออกจากแนวเส้นทางเลือกที่ 1 มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านพื้นที่เกษตรกรรมและเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านด่านพรมแดนฝั่งประเทศไทย ก่อนยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 212 ที่บ้านดอนยม บริเวณกิโลเมตรที่ 125+860 ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 200 เมตร ก่อนจะข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งมีความกว้างบริเวณนี้ประมาณ 700 เมตร แนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านจุดสลับทิศทางจราจรและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว ต่อจากนั้นแนวเส้นทางจะผ่านไปทางฝั่งตะวันตกของหนองง้า และสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ซึ่งห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 2 กิโลเมตร รวมระยะทางของแนวเส้นทางหลักประมาณ 14.88 กิโลเมตร และแนวเส้นทางร่วม (Spur line) จากทางหลวงหมายเลข 212 มีระยะทาง 1.96 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 16.84 กิโลเมตร โดยกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกแนวเส้นทางและตำแหน่งสะพานที่เหมาะสมของโครงการ ได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบใน 3 ด้าน คือด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญของแต่ละด้านซึ่งแต่ละปัจจัยจะพิจารณาจากความได้เปรียบ/เสียเปรียบหรือข้อดี/ข้อด้อยโดยการให้ค่าตัวคูณ (Multiplier Factor) นำไปคูณกับน้ำหนักคะแนนในแต่ละปัจจัย ซึ่งจะได้ผลคูณเป็นคะแนนของแต่ละปัจจัยตามแนวเส้นทางเลือกนั้นๆ เมื่อนำผลรวมของคะแนนในแต่ละด้านของแต่ละแนวเส้นทางเลือกมาเปรียบเทียบกันแล้ว แนวเส้นทางเลือกที่ได้คะแนนรวมมากที่สุดจะเป็นแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมกับโครงการค่าตัวคูณที่จะใช้สำหรับปัจจัยแต่ละด้านเพื่อที่จะทำให้การคัดเลือกได้แนวเส้นทางเลือกที่มีความเหมาะสมอย่างแท้จริงสำหรับนำไปใช้ในการสำรวจและออกแบบในขั้นรายละเอียดต่อไป ดังนั้นจึงได้พิจารณากำหนดน้ำหนักคะแนนของแต่ละด้านดังนี้ 1. หลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบด้านวิศวกรรม 35 คะแนน 2. ด้านเศรษฐกิจ 30 คะแนน และ 3. ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม 35 คะแนน นายชโลธร ผวจ.บึงกาฬ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 บึงกาฬ – ปากซัน หลังจากรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันนี้คาดว่าน่าจะออกแบบก่อสร้างได้แล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ ทางจังหวัดบึงกาฬก็จะนำเรื่องเสนอต่อรัฐบาลเพื่อของบประมาณในการก่อสร้างราว 2,800 ล้านบาทอาจจะใช้เวลาราว 1 ปี หลังจากได้งบประมาณดังกล่าวแล้วก็จะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 3 ปีและในปี พ.ศ.2560-2561 หรืออีก 4 ปีข้างหน้านี้สะพานแห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน ก็คงจะแล้วเสร็จ แต่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลที่จะอนุมัติเงินงบประมาณให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น