วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

สัมมนาอนาคตการทำสวนยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ

นายสาโรช บุญบุตร ประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์วุฒิสภา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกันจัดสัมมนาครั้งประวัติศาสตร์ของจังหวัดบึงกาฬ ในหัวข้อ "อนาคตการทำสวนยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ” ในวันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ น. – ๑๕.๐๐ น. ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมเดอะวัน อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการทำสวนยางพาราแบบประณีตในจังหวัดบึงกาฬอย่างยั่งยืน และเพื่อหาแนวทางการพัฒนาการปลูกยางพารา การดูแลรักษา การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี การปลูกพืชแซมยาง การปลูกพืชผสมผสานเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ การปลูกพืชทดแทน การเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนราคายางพารา และการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้บรรยายพิเศษ เรื่อง แนวโน้มราคายางพาราตลาดโลกหลังการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียนและนโยบาย/แนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐบาล สำหรับเจ้าภาพหลักในการจัดสัมมนาครั้งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของ พลตำรวจตรี ขจร สัยวัตร์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาการเกษตรกรรมแบบประณีต กรณีศึกษาจังหวัดบึงกาฬ และจะมีผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและสื่อมวลชนทั้งสิ้น ๖๗๓ คน

ประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ ให้ข้อมูลต่อว่าจังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ ๗๗ จัดตั้งตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ และจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๔ จังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่ทั้งหมด ๒,๖๙๐,๖๒๕ ไร่ การปกครองมี ๘ อำเภอ ๕๓ ตำบล ๖๓๔ หมู่บ้าน ๕๙,๗๐๓ ครัวเรือน มีเทศบาล ๑๔ แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล ๔๔ แห่ง พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว พืชไร่ มันสำปะหลัง พืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ สมุนไพรและเครื่องเทศ เนื้อที่รวม ๑,๕๖๙,๗๓๑ ไร่ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าว และปาล์มน้ำมัน สำหรับยางพารา มีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด ๗๒๑,๙๒๑ ไร่ เกษตรกร ๕๑,๑๘๑ ราย จังหวัดบึงกาฬมีการปลูกยางพาราเป็นอาชีพตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ เป็นต้นมา และขยายมากขึ้นทั้งการส่งเสริมจากรัฐบาลและทุนของตนเอง ปี ๒๕๕๔ ยางพารามีราคาเป็นแรงจูงใจในการตัดสินใจเลือกปลูก มีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ ๗-๘ แสนไร่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะมีทั้งการปลูกโดยการส่งเสริมของรัฐและเอกชนปลูกเอง เกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว จึงไม่มีรายได้ด้านอื่นเป็นเหตุให้ต้องกรีดยางพาราก่อนอายุ ทำให้ต้นยางเสื่อมเร็ว อีกทั้งจุดอ่อนของจังหวัดบึงกาฬ คือ ชุดดินเป็นดินโพนพิสัย ที่มีหน้าดินตื้น มีธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อดินน้อย ส่วนใหญ่เป็นดินลูกรัง ดังนั้น คุณภาพดินจึงสู้ภาคใต้ไม่ได้ ต้นยางจึงโตช้ากว่าในเรื่องพันธ์ยาง ผลงานวิจัยที่ออกมาหลักๆ คือ การวิจัยพันธุ์ยางพารา RRIM ๔๐๘ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับพอสมควร แต่ปัญหาคือ การกระจายพันธุ์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ที่ผ่านมาการปลูกพันธุ์ RRIM ๖๐๐ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นการปลูกพันธุ์เดียวกันในพื้นที่เดียวกัน อาจเกิดปัญหาการอ่อนแอต่อโรคใบจุดก้างปลา และได้เริ่มต้นระบาดแล้ว นอกจากนี้การปลูกยางพาราในจังหวัดบึงกาฬยังเกิดปัญหาอีกหลายประการ ได้แก่ ปัญหาราคาตกต่ำเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม เป็นเรื่องที่ระดับนโยบายจะต้องแก้ไขปัญหา เพราะยางพาราเป็นพืชการเมือง ราคาสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปัญหาการกรีดยางต้นเล็ก ซึ่งเป็นอันตรายต่อต้นยางมาก จากสถิติพบว่าการกรีดยางต้นเล็กจะทำให้ต้นยางตายประมาณร้อยละ ๗๐ นอกจากนั้นยังมีการใช้สารเคมีป้ายหน้ายางเพื่อให้น้ำยางไหล เนื่องจากผู้รับจ้างกรีดต้องการการปันผลประโยชน์ให้ได้จำนวนมาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจทำให้ต้นยางตายจำนวนมาก บางแห่งเกือบหมดสวน ปัญหายางพารารุกพื้นที่นาข้าว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เนื่องจากเกษตรกรปลูกยางพาราแล้วจะมีฐานะดีขึ้นในขณะที่ชาวนาปลูกข้าวแล้วมีแต่หนี้สิน จึงไม่สามารถห้ามเกษตรกรปลูกยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (นาข้าว) ได้ ดังนั้น เกษตรกรควรมีการเตรียมการเพื่อเตรียมรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต




สาโรช บุญบุตร ข่าว
วีรนุช ภักดีวิเศษ นำเสนอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น