วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จัดระเบียบขี้ยางครั้งใหญ่ เลยนำร่องจังหวัดแรกของประเทศ

สสจ.เลย จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกระเบียบธุรกิจรับซื้อ-ขาย และขนส่งขี้ยางพาราเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย หลังถูกประชาชนร้องเรียนอื้อ เดือดร้อนกลิ่นเหม็น  ถนนลื่นเกิดอุบัติเหตุอุบัติทำลายบรรยากาศเมืองท่องเที่ยว วางมาตรการจุดที่ตั้งต้องห่างจากชุมชนไม่ต่ำกว่า 500 เมตร  โกดังต้องปิดมิดชิด  ทำระบบบำบัดน้ำเสีย  รถขนขี้ยางห้ามทำน้ำหกเรี่ยราด  ฝ่าฝืนไม่ต่อใบอนุญาต-สั่งปิดถาวร

นายกายสิทธิ์  แก้วยาศรี  รองนายแพทย์ สสจ.เลย เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมพิจารณาข้อกำหนดเรื่อง "การควบคุมสถานประกอบกิจการและดำเนินกิจการรับซื้อ  สะสมยางก้อน หรือยางก้อนถ้วย พ.ศ…..”  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สถาบันการศึกษา  ผู้ประกอบการ  ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเกษตรกร และสื่อมวลชน

นางปณิศา  อุทังบุญ  หัวหน้างานอนามัยสิ่งแวดล้อม สสจ.เลย กล่าวว่า  การจัดประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากจังหวัดเลย ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก ครอบคลุมทุกอำเภอ และมีแนวโน้มการปลูกเพิ่มขึ้นทุก ๆ  ปี    โดยเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราส่วนใหญ่มีการแปรรูปเป็นยางก้อน หรือยางก้อนถ้วย   แต่คนส่วนมากนิยมเรียกว่าขี้ยาง   การขายยางก้อนของเกษตรกรในจังหวัดเลย มี 2  ลักษณะคือ  ขายโดยวิธีประมูลตามจุดประมูล ที่ดำเนินการโดยสำนักงานสงเคราะห์กองทุนการทำสวนยาง (สกย.) หรือการรวมกลุ่มของเกษตรกร และขายให้แก่สถานประกอบกิจการรับซื้อยางก้อน หรือยางก้อนถ้วย ซึ่งสามารถขายได้ทุกวันจึงเป็นที่นิยมของเกษตร เนื่องจากไม่ต้องจัดหาสถานที่สะสมยางก้อน  เพื่อรอจำหน่ายที่จุดประมูล  สถานประกอบกิจการรับซื้อยางก้อนจึงมีกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางการปลูกยางพารา

จากการที่ผู้ประกอบกิจการของสถานประกอบกิจการรับซื้อยางก้อนทุกวัน  จึงมีการสะสมยางก้อนไว้ที่สถานประกอบกิจการ  เพื่อรอขนส่งไปจำหน่ายที่โรงงานครั้งละหลายตัน  ประหยัดต้นทุนในการขนส่ง  ก่อให้เกิดเหตุรำคาญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงสถานประกอบกิจการ เนื่องมาจากกลิ่นเหม็นจากก้อนยางและน้ำเสีย นำไปสู่การร้องเรียนเกี่ยวกับเหตุรำคาญจากกลิ่นเหม็น โดยในปีงบประมาณ 2555-2556  สสจ.เลย ได้รับเรื่องร้องเรียนเนื่องจากกลิ่นเหม็นที่มีสาเหตุมาจากสถานประกอบกิจการรับซื้อ หรือสะสมยางก้อน จำนวน 15 ครั้ง ร้องเรียนไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย 1 ครั้ง และสื่อมวลชน 1  ครั้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สั่งปิดกิจการไปแล้ว 2 แห่ง  ที่ผ่านมาการดำเนินการเพื่อระงับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว  ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากกิจการรับซื้อสะสมยางก้อนนี้ถูกกำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535  หมวด 7  ว่าด้วยเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ข้อ 5 (2) การล้าง การอบ การรม การสะสมยางดิบ แต่ยังไม่มีข้อกำหนดกับเกี่ยวกับสุขลักษณะของสถานที่ตั้งและการดำเนินกิจการ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2555-2556  สสจ.เลยโดยงานอนามัยสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำโครงการแก้ปัญหาเหตุรำคาญจากการประกอบกิจการรับซื้อสะสมยางก้อน โดยจัดทำสุขลักษณะของสถานที่ตั้งและการดำเนินกิจการรับซื้อ สะสมยางก้อน และข้อกำหนดท้องถิ่น เรื่องการควบคุมสถานประกอบกิจการและการดำเนินกิจการรับซื้อ หรือสะสมยางก้อน  เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และเจ้าพนักงานท้องถิ่นใช้เป็นแนวทางในการตรวจ แนะนำ  เพื่อการออกใบอนุญาต และควบคุมกำกับการประกอบกิจการ   ไม่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น