วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สคร.7 เตือนระวังโรคไข้เลือดออกและให้กำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์

เตือนประชาชนทุกวัยมีโอกาสเสี่ยงป่วยไข้เลือดออกสูงกว่าฤดูกาลอื่น ขอให้ทุกบ้านช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 5-7 วัน พร้อมแนะวิธีดูแลผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออก ช่วงสำคัญที่สุด คือช่วงที่ไข้ลดลงประมาณวันที่ 3-4 หากพบซึมลง กินและดื่มไม่ได้ ขอให้สงสัยว่าอาจเกิดอาการช็อก ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรักษาให้ทันท่วงที

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้ จำนวนยุงลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้การแพร่เชื้อของโรคไข้เลือดออกมีเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ประชาชนและหน่วยงานในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมมือกันทำลายแหล่ง เพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันไม่ให้โรคไข้เลือดออกเกิดการระบาดหนักเช่นในปี 2556 ที่ผ่านมา จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 7 จังหวัดอีสานใต้ ของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สคร. 7 อุบลราชธานี พบว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2557 พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วทั้งสิ้นจำนวน 229 ราย แต่ยังไม่มีรายงานเสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 90 ราย อุบลราชธานี จำนวน 65 ราย มุกดาหาร 65 ราย นครพนม 23 ราย ยโสธร 14 ราย อำนาจเจริญ 10 ราย และสกลนคร 3 ราย โดยพบผู้ป่วย โรคไข้เลือดออกเป็นวัยรุ่นอายุ 15-24 ปีมากที่สุดซึ่งแสดงว่ามีการระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี ได้มอบให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียนและประชาชน ร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 5-7 วัน โดยเน้นกิจกรรม 5ป 1ข ได้แก่ 1.ป ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด 2.ป เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน 3.ป ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ 4.ป ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ5.ป ปฏิบัติเป็นประจำให้เป็นนิสัย ส่วน 1ข คือ ขัดภาชนะที่อาจมีคราบไข่ยุงเกาะอยู่ รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันไม่ให้ยุงกัด และการค้นหาผู้ป่วยโดยเร็ว เพราะหากผู้ป่วยได้รับการรักษาแต่ระยะแรก อย่างถูกต้อง จะลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน อาการของโรคไข้เลือดออกคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วัน และมีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ตับ และในบางรายที่มีอาการรุนแรง จะมีภาวะช็อก แทรกซ้อน เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก ด้วยการหมั่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่อยู่อาศัยทุกๆ สัปดาห์ หลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้ยุงกัด และหากมีอาการไข้สูงเกิน 2 วันให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที




พงษ์สถิตย์ อรอินทร์
ส.ปชส.อุบลราชธานี
081 924 8609 /ข่าว
6 มิ.ย. 57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น