วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สนข. จัดเวทีถกโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช มั่นใจชาวโคราช 85% เห็นด้วย คาดสร้างเสร็จได้ในปี 62

วันนี้ (13 มิ.ย. 56) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอรพิมพ์ โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สนข. เป็นประธาน และมีตัวแทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมกว่า 500 คน โดยการประชุมครั้งนี้เพื่อนำเสนผลสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวเส้นทาง โครงสร้างที่เหมาะสม สถานี รูปแบบการให้บริการ ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการบรรเทา และแก้ไขผลกระทบ โดยเฉพาะข้อมูลเจาะลึกของพื้นที่ย่อยที่ 3 ช่วงสถานีกลางดล – สถานีนครราชสีมา เพื่อให้ชาวจังหวัดนครราชสีมา ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนในพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมรับฟังรายละเอียดของโครงการฯ พร้อมทั้งสามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สำหรับนำไปใช้ปรับปรุงผลการศึกษาในขั้นต่อไป นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า จากการศึกษาแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เหมาะสมของสายกรุงเทพฯ – หนองคาย แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 แนวเส้นทางสถานีชุมชนทางบ้านภาชี – นครราชสีมา รวมระยะทาง 169.5 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ซึ่งจากการจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งแรก พบว่าประชาชนชาวโคราชร้อยละ 85 เห็นด้วยกับโครงการนี้ จึงคาดว่าจะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2562 ส่วนช่วงที่ 2 คือแนวเส้นทางที่ต่อจากนครราชสีมาไปสิ้นสุดถึงหนองคาย รวมระยะทาง 355.1 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564

ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบนั้น สนข. ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน โดยจะมีรูปแบบโครงสร้าง ทั้งทางยกระดับ ในช่วงที่มีจุดตัดกับถนนหลายแห่ง หรือผ่านชุมชนขนาดใหญ่ อาทิ อำเภอเมืองสระบุรี แก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน และอำเภอเมืองนครราชสีมา ทางระดับดิน รวมถึงสะพานบกในช่วงพื้นที่ราบที่มีจุดตัดรถไฟกับถนนไม่มาก และอยู่นอกเขตชุมชน และอุโมงค์ในช่วงภูเขาสูงชันและกระทบต่อแหล่งอนุรักษ์ เช่นที่จังหวัดสระบุรีในช่วงเขาพระพุทธฉายและช่วงที่ผ่านอุทยานแห่งชาติ น้ำตกสมหลั่น รวมไปถึงพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา บริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคอง


ผลการศึกษายังพบอีกว่า ความเร็วที่เหมาะสมคือ 250 – 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีอัตราค่าโดยสารประมาณ 2.30 บาท/กม. นอกจากนี้ยังได้ศึกษาบนสมมติฐานสำหรับการคิดค่าโดยสารแบบเก็บค่าเดินทางแรก เข้า 55 บาท หลังจากนั้นคิดในอัตรา 2.10 บาท/กม. ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะอยู่ที่ กิโลเมตรละ 3 – 4 บาท สำหรับการออกแบบสถานีจะใช้มาตรฐาน Universal Design เน้นความทันสมัย ผสานอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่นที่สถานีปากช่อง จะนำลักษณะของภูเขาและธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ ส่วนสถานีนครราชสีมา จะนำความสวยงามของผ้าไหมปักธงชัย ประสาทหินพิมาย เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน หมี่โคราช รวมไปถึงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ที่คนโคราชนับถือมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสถานี โดยคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นหลัก มีจุดอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ มีทางลาดขึ้นลงไม่มีบันได และมีห้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาไว้ให้บริการ


ในส่วนของรูปแบบของขบวนรถไฟความเร็วสูง คือ Electric Multiple Unit หรือ EMU มีความยาว 8 ตู้ต่อขบวน สามารถจุผู้โดยสารได้ประมาณ 500 – 700 ที่นั่ง แบ่งการบริการเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ชั้น VIP ชั้น 1 และชั้นธรรมดา มีบริการคล้ายเครื่องบิน ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม มีสัญญาณ Wi-Fi ครอบคลุมทั้งขบวน มีที่นั่งสำหรับคนพิการ ห้องน้ำและที่เก็บสัมภาระ และจากการศึกษาเบื้องต้น หากขนส่งตลอดสายทุกวันทั้งปี จะใช้พลังงานไฟฟ้าเท่ากับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 1 ห้าง ใน 1 ปี ซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและพลังงานไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี นายชัยวัฒน์ฯ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น