ศาลปกครองนครราชสีมา
วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา
ศาลปกครองนครราชสีมาได้ออกอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๓/๒๕๕๓
คดีหมายเลขแดงที่ ๑๙๙/๒๕๕๖ ระหว่างนายเสมียน จารุแพทย์ ที่ ๑
และนางศุภลักษณ์ เชิดชู ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี กับ เทศบาลตำบลขามใหญ่ ที่ ๑
นายกเทศมนตรีตำบลขามใหญ่ ที่ ๒ ปลัดเทศบาลตำบลขามใหญ่ ที่ ๓ เทศบาลตำบลอุบล
ที่ ๔ นางสุดารัตน์ วามสิงห์ ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองรวมทั้งชาวบ้านหัว
คำ หมู่ที่ ๘ ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
อ้างว่า เทศบาลตำบลขามใหญ่นำขยะมาทิ้งในที่ดินของเอกชนในท้องที่ตำบลขามใหญ่
โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณบ่อกำจัดขยะทราบ
และไม่มีการทำประชาคมหมู่บ้าน เมื่อขยะมีปริมาณมากและกำจัดโดยไม่ถูกวิธี
ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน
ศาลปกครองนครราชสีมาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๕๘
และมาตรา ๖๗ ได้บัญญัติถึงสิทธิของบุคคลและชุมชนที่จะได้รับการคุ้มครอง
ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากภาครัฐ
เพื่อให้บุคคลหรือชุมชนสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวด
ล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ
หรือคุณภาพชีวิตของตน
เมื่อกิจการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ว่าจะดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐเอง
หรือดำเนินการโดยเอกชนซึ่งได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ
เป็นกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย
คุณภาพชีวิต รวมทั้งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลและหรือชุมชน
ทั้งยังอาจจะก่อให้เกิดปัญหาเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณ
ใกล้เคียง จนทำให้ไม่สามารถดำรงชีพได้อย่างปกติสุข ดังนั้น
ก่อนเริ่มดำเนินกิจการ
หน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่ต้องเผยแพร่ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจาก
ประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณาว่า
สมควรดำเนินกิจการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่นั้นหรือไม่ อย่างไร
และต้องกำหนดแนวทางที่เหมาะสมและเพียงพอในการป้องกันหรือเยียวยาผลกระทบที่
อาจเกิดขึ้นจากการพิจารณาตัดสินใจนั้น
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (เทศบาลตำบลขามใหญ่)
นำขยะมูลฝอยไปกำจัดในที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ (นางสุดารัตน์ วามสิงห์)
ในท้องที่ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
โดยไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่
จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและชุมชน
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
และไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๘
ถือได้ว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรูปแบบขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่
กฎหมายกำหนด
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
กำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการฝังกลบ
ไม่มีการปูผ้ายางหรือวัสดุกันซึมรองพื้นหลุมบ่อขยะ
เป็นกรรมวิธีที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้มาตรฐานด้านการกำจัดมูลฝอย
ทั้งยังไม่สามารถดำเนินการฝังกลบขยะได้ทั้งหมด
เป็นเหตุให้มีขยะบางส่วนถูกทิ้งบริเวณรอบบ่อขยะ รวมถึงถนนทางเข้า
แม้บางส่วนของขยะจะถูกฝังกลบปิดทับด้วยดินก็ตาม
แต่ก็ยังมีขยะจำนวนมากที่กองอยู่และยังไม่ได้ถูกฝังกลบภายในเวลาอันสมควร
ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น บ่อขยะมีน้ำขัง
กรณีดังกล่าวย่อมทำให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลผู้มีที่อยู่อาศัยใน
ละแวกใกล้เคียง การกำจัดขยะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
จึงไม่ถูกหลักสุขาภิบาลและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญนั้นเอง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น จึงมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา
๒๕ และมาตรา ๒๖ แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
ที่จะระงับและแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ก็ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา
กลับปล่อยปละละเลยไม่กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ
รวมทั้งไม่คุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใน
เขตรับผิดชอบของตน ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ สามารถดำเนินการได้
และสามารถหาวิธีป้องกันการฟุ้งกระจายของขยะ
รวมทั้งวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันน้ำจากบ่อขยะไหลเข้าสู่
ที่ดินของประชาชนหรือแหล่งน้ำสาธารณะ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
ไม่ได้ดำเนินการใดๆ จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕๐ (๓) แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ประกอบมาตรา
๑๘ แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
และถือว่าการดำเนินกิจการกำจัดขยะมูลฝอยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
ในพื้นที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
สุขภาพอนามัย และเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
และประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงโดยตรง
ทำให้ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ
อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
ประกอบกับได้ความจากคำชี้แจงของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีและ
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มิได้มีส่วนได้เสียกับคู่กรณี ฟังเป็นยุติว่า
สภาพบ่อขยะในพื้นที่พิพาทตั้งอยู่ติดกับแหล่งน้ำสาธารณะ
น้ำบาดาลบริเวณใกล้เคียงมีกลิ่นเหม็นและมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน
น้ำผิวดินบริเวณข้างบ่อขยะเน่าเสีย
การทิ้งขยะมูลฝอยไม่มีการฝังกลบเป็นชั้นๆ ไม่มีการฉีดยากำจัดสัตว์และแมลงนำโรคอย่างต่อเนื่อง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
ไม่มีแผนงานหรือโครงการที่แสดงถึงการปรับปรุงพัฒนาบ่อกำจัดขยะมูลฝอย
ประกอบกับพื้นที่ข้างเคียงมีการขุดดินเป็นบ่อขนาดใหญ่เพื่อเตรียมรองรับขยะ
มูลฝอย ซึ่งคาดว่าจะมีการทิ้งขยะมูลฝอยในรูปแบบเดิมอีก
อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
ตั้งใจจะนำขยะมาทิ้งในพื้นที่พิพาทต่อไปเรื่อยๆ
โดยไม่มีมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชนและสภาพแวดล้อมอย่าง
จริงจัง ดังนั้น
เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเป็นการขจัดปัญหาความเดือดร้อนรำคาญที่
เกิดขึ้นและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองและประชาชนใน
พื้นที่รอบๆ บ่อขยะพิพาท
และเพื่อมิให้บ่อขยะพิพาทเป็นแหล่งกำเนิดมลภาวะที่เป็นพิษต่อทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนในบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้นจนมีสภาพเลวร้ายยาก
ที่จะเยียวยาแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้หมดสิ้นไป
ศาลปกครองนครราชสีมาจึงมีคำพิพากษาดังนี้
๑. ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕
เปิดพื้นที่ทิ้งขยะเพิ่มเติม และห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒
นำขยะมูลฝอยมาทิ้งในที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ อีกต่อไป ทั้งนี้
ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒
ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่ศาลมีคำพิพากษา
๒. ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕
อนุญาตหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการยินยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔
องค์การบริหารส่วนตำบลแจระแม องค์การบริหารส่วนตำบล
ไร่น้อย องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเรือ เทศบาลตำบลปทุม รวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น บุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ นำขยะมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูลมาทิ้งที่บ่อขยะพิพาท หากมีการกระทำฝ่าฝืน ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ไร่น้อย องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเรือ เทศบาลตำบลปทุม รวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น บุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ นำขยะมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูลมาทิ้งที่บ่อขยะพิพาท หากมีการกระทำฝ่าฝืน ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
๓. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒
เร่งกำจัดขยะมูลฝอยที่เหลือตกค้างทั้งในพื้นที่บ่อขยะและพื้นที่ข้างเคียง
ให้ถูกสุขลักษณะ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
และให้ปรับปรุงสภาพแวดล้อม
รวมทั้งตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับน้ำใต้ดินและแหล่งน้ำผิวดิน
ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
ตลอดจนดำเนินการอื่นตามอำนาจหน้าที่เพื่อมิให้ปัญหาเกี่ยวกับสถานที่ทิ้งขยะ
ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้
ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่ศาลมีคำพิพากษา
ให้คำสั่งศาลเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ที่สั่งห้ามมิให้องค์การบริหารส่วนตำบลแจระแม องค์การบริหารส่วนตำบลไร่น้อย
และเทศบาลตำบลปทุม นำขยะมาทิ้งที่บ่อขยะพิพาท
และห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
อนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นนำขยะมาทิ้งที่บ่อขยะพิพาท
กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยตามอำนาจหน้าที่
และตามความเห็นของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
ตลอดจนดำเนินการอื่นตามอำนาจหน้าที่เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่ง
แวดล้อมจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
สิ้นผลลงนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
สำนักงานศาลปกครองนครราชสีมา โทรศัพท์ ๐๔๔-๓๐๗๓๐๐
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น