วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จังหวัดสระแก้วปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษา มหาราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2556

วันนี้ (19 ส.ค. 56) ที่ โครงการขุดลอกหนองปรือ บ้านหนองปรือ ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว นายชูศักดิ์ ตรีสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานกิจกรรมโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษา มหาราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2556 สำหรับกิจกรรมรณรงค์ปลูกต้นไม้ในวันนี้มการปลูกต้นไม้จำนวน 960 ต้น พันธุ์ไม้ประกอบด้วย สะเดา แคนา หว้า ตะเคียนทอง ประดูป่า ต้นแดง นนทรี พะยูง มะค่าโมง ตะเคียนทอง ราชพฤกษ์ และยางนา รวมทั้งพันธุ์หญ้าแฝก จำนวน 15,000 ต้น และโครงการนี้ได้จัดขึ้นบริเวณพื้นที่โครงการขุดลอกหนองปรือ ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการฟื้นฟู บูรณะแหล่งน้ำเดิมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัย ปี 2556 บนเนื้อที่ 40 ไร่

นางจรัส ใยเยื่อ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้จัดทำโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษา มหาราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2555 ทูลเกล้าถวายเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยดำเนินการเป็นระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2555 – 2559 ดังนั้น จังหวัดสระแก้ว โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสระแก้ว ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 3 ปราจีนบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว สถานีพัฒนาที่ดินสระแก้ว อำเภอตาพระยา องค์การบริหารส่วนตำบลทัพราช กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกป่าเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้แสดงความจงรักภักดีและร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและหน่วยงานราชการได้มีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้และปลูกหญ้าแฝก สนองแนวพระราชดำริที่ทรงห่วงใยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงการป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเพื่อลดความเสี่ยงภัยและลดผลกระทบภัยพิบัติทั้งภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ รวมถึงเป็นการป้องกันยับยั้งภัยพิบัติได้ดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น