วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ม.มหาสารคาม ขุดค้นพบฟอสซิลเต่าหับเก่าแก่ที่สุดในโลก

นิสิตปริญญาเอกสาขาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศึกษาฟอสซิลเต่าจากเหมืองเชียงม่วน จังหวัดพะเยา พบเป็นเต่าชนิดใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อาศัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อ 12 ล้านปีก่อน ช่วยเผยความลับวิวัฒนาการและการแพร่กระจายของเต่าหับในทวีปเอเชีย

นางสาววิไลลักษณ์ นาคศรี นิสิตปริญญาเอกสาขาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของผลงานการศึกษาฟอสซิลเต่าชนิดนี้ เปิดเผยว่า ฟอสซิลเต่าชนิดใหม่ของโลก นาม คูโอร่า เชียงม่วนเอนซิส (Cuora chiangmuanensis) เป็นเต่าน้ำจืดในสกุลเดียวกับเต่าหับปัจจุบัน แต่ชิ้นส่วนฟอสซิลที่ค้นพบนี้มีอายุประมาณ 11-12 ล้านปี พบที่บริเวณเหมืองถ่านหินเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เมื่อ 11 ปีก่อน โดย นายนิกร วงค์ไชย พนักงานธรณีวิทยาประจำเหมือง ชื่อชนิด เชียงม่วนเอนซิส จึงหมายถึง เต่าคูโอร่าแห่งเชียงม่วน และจากหลักฐานการค้นพบครั้งนี้จึงเป็นการ เผยโฉมฟอสซิลเต่าสกุลปัจจุบันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย และถือว่าเต่าคูโอร่าแห่งเชียงม่วนเป็นบรรพบุรุษเต่าหับที่เก่าแก่ที่สุดใน โลก แพร่กระจายพันธุ์เฉพาะในทวีปเอเชียเท่านั้น และอาจกล่าวได้ว่าเต่าหับที่แพร่กระจายทั่วเอเชียในปัจจุบัน มีจุดกำเนิดมาจากประเทศไทย เมื่อ 12 ล้านปีก่อน ในยุคสมัยไมโอซีนตอนกลาง


ด้าน รศ. ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ในฐานะที่มหาสารคามเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ที่มีการค้นพบซากฟอสซิลเป็นจำนวนมาก จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัยด้านบรรพชีวินวิทยา รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่เป็นคนในพื้นที่ ให้ได้มีโอกาสทำความรู้จัก และเรียนรู้ฟอสซิลอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของท้องถิ่นภาคอีสาน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังได้จัดทำเว็บไซต์แหล่งเรียนรู้เสมือนจริงขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แหล่งรวมความรู้ผ่านทางหน้าจอ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ smart phone ผ่านทางเว็บไซต์ www.vkp.msu.ac.th


ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น