วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อธิบดีกรมประมงตรวจเยี่มกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกที่จังหวัดอุดรธานี

อธิบดีกรมประมงลงพื้นที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกที่อุดรธานี เตรียมนำระบบไอทีเชื่อมนโยบายจากส่วนกลาง แนะหน่วยงานในพื้นที่เร่งขยายผลพื้นที่เลี้ยงปลาดุก เสริมการแปรรูปเพื่อเสริมรายได้แก่เกษตรกร รองรับการเปิดประชาคมอาเซีนปี 2558

เช้าวานนี้ ( 18 ต.ค.56 ) ที่ฟาร์มปลานางประครอง ศรียาคะบุตร บ้านเลขที่ 53 บ้านดงผักหนาม ตำบลนากว้าง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย ผู้ตรวจราชการกรมประมงเขตตรวจาชการที่ 10 และคณะผู้บริหารกรมประมงลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกในเครือข่ายบริษัทเบทาโกเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ในพื้นที่เขตอำเภอเมืองอุดรธานี โดยมีนายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดอุดรธานี ข้าราชการในสังกัด 5จังหวัดในเขตพื้นที่ตรวจราชการที่ 10 อาทิ อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย เลย หนองบังลำภู และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกในเครือเบทาโกร บ้านดงผักหนาม เริ่มก่อตั้งเริ่มเมื่อเดือนเมษายน 2553 เริ่มแรกมีสมาชิก 7 ราย ปัจจุบันมีสมาชิก 71 ราย สำนักงานประมงจังหวัดอุดรธานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุดรธานี ได้เข้าสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เพาะเลี้ยงปลาดุกอุยเทศเข้าสู่มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผ่านการรับรอง GAP จำนวน 31 ราย

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังดูบ่อเลี้ยงปลาดุกว่า จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นเขตภาคอีสานตอนบนปริมาณน้ำก็ยังดีกว่าอีสานตอนล่าง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าสามารถที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสัตว์น้ำได้โดยเฉพาะปลา ในภาคอีสานนี้เนื่องจากเราจะเปิด AEC ในปี 2558 ถึงแม้ความพร้อมของน้ำในลาวและเขมรจะมีมากว่า แต่เรื่องเทคโนโลยีบ้านเราเก๋งกว่า เท่าที่ฟังการบรรยายของตัวแทนเกษตรกร รวมถึงเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ของกรมประมง ทำให้ทราบว่าเรายังมีโอกาสที่จะพัฒนาการเลี้ยงปลาโดยเฉพาะปลาดุกของพื้นที่อำเภอ ตำบล หมู่บ้านนี้ ซึ่งการรับฟังทำให้ทราบว่าเขาสามารถพัฒนาการเลี้ยงไปถึงขั้นมาตรฐาน GAP ผลผลิตที่ได้ภายใน 120 วัน สามารถขายเข้าสู่ท้องตลาด และทราบว่ามีกำไรตัวละประมาณ 1 บาท 10 สตางค์ ถึง 1 บาท 20 สตางค์ ซึ่งถ้าเราสามารถที่จะส่งเสริมกลุ่มนี้แปรรูปได้เพื่อที่จะนำไปขายให้เพื่อนบ้านเรา หรือในจังหวัดก็จะทำให้ได้กำไรมากกว่านี้ ตรงนี้ก็เป็นจุดที่ได้สั่งการให้ข้าราชการกรมประมงเร่งขยายผลของพื้นที่ และในการมาครั้งนี้นอกจากจะได้มาพูดคุยกับเกษตรกรแล้ว มีโอกาสได้มาบันทึกทะเบียนเกษตรกร บันทึกพื้นที่ของการเลี้ยงให้ชัดเจนจากแผนที่หรือจากระบบไอทีที่กรมประมงพัฒนา โดยจะใช้ไอที หรือคอมพิวเตอร์ หรือระบบสารสนเทศไปสู่ความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กับส่วนกลาง เพื่อให้แผนและนโยบายเดินได้

ในขณะที่นางประครอง ศรียาคะบุตร เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกบ้านดงผักหนาม กล่าวว่า การเลี้ยงปลาดุกทำให้มีรายได้ดี ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันอย่ามีความสุข ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง ถ้าฝนตก ตนเลี้ยงปลาดุกในพื้นที่ 20 ไร่ 10 บ่อ รวม400,000 ตัว หรือบ่อละ 40,000 ตัว ในการเลี้ยงปลาดุกใช้แรงงาน 2 คนสามีภรรยา จะมีการจ้างแรงงานเฉพาะในช่วงจับปลาเท่านั้น โดยเลี้ยงเพียง 120 วันก็จับได้ ในเรื่องของรายได้นั้นในปีที่ผ่านมาก็มีรายได้ 2 ครั้ง ๆแรก 150,000 บาท ส่วนครั้งที่ 2 มีรายได้ 210,000 บาท นอกจากการเลี้ยงปลากดุกแล้ว นางประครองฯยังเลี้ยงกบ และปลูกผักปลอดสารพิษไว้บริโภคในครอบครัวอีกด้วย

สำหรับในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนี้ ( 18 ต.ค.56 ) นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง ได้เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เพื่อประชุมข้าราชการในสังกัดในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 10 ที่ห้องประชุมพระพุทธบาทบัวบก ชั้น 6 เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2556 ของหน่วยงานในสังกัดทั้ง 5 จังหวัด และได้เข้าพบนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ที่ห้องประชุมภูฝอยลม ชั้น 2 เพื่อหารือข้อราชการ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และอธิบดีกรมประมงได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ เรื่องการพัฒนาหนองประจักษ์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์แบบเปิด พัฒนาเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธ์ปลา พัฒนาประมงเชิงอนุรักษ์ พร้อมกันนี้อธิบดีกรมประมง ได้ฝากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีจัดทำโซนนิ่งด้านการประมง เพาะขยายพันธ์ปลาเศรษฐกิจ ส่งเสริมการและขยายการเลี้ยงปลาสู่มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP)

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้นำเสนอเกี่ยวกับการบูรณาการด้านการเกษตรที่ดำเนินการในไร่สวนเงินเวียนมาของผู้ว่าฯ ว่า ได้มีการบูรณาการการเกษตรทั้งปลา พืช สัตว์น้ำ เพื่อเป็นจุดสาธิต และเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่ ได้เดินทามาศึกษาดูงาน ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่เดินทางมาศึกษาดูงานจำนวนมากและทุกครั้งที่เดินทางมาศึกษางานผู้ว่าจะเลี้ยงข้าว 1 มื้อ  



ทีมข่าว ส.ปชส.อด.
ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น