วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงท่าทีของรัฐบาลต่อร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ณ บริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นายสกลสฤษฏ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า ตามที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงท่าทีของรัฐบาลต่อร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ณ บริเวณตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารขอประชาสัมพันธ์ คำกล่าวของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีให้หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ และองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น ชี้แจงและทำความเข้าใจกับบุคคลกรให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ให้ทราบอย่างทั่วถึงและสามารถดาวน์โหลดคำกล่าวได้ที่ www.thaigov.go.th
คำกล่าวของ

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ณ บริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2556 เวลา 12.00 น. กราบเรียนพี่น้องประชาชนที่เคารพรัก จากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาร่วม 10 ปีได้สร้างความบอบช้ำให้กับประเทศอย่างมาก และเมื่อดิฉันได้รับเลือกตั้งเข้ามา ดิฉันเชื่อว่าคนไทยทุกคนเห็นตรงกันว่าหากความขัดแย้งดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปจะเป็นการบั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ดังนั้น นับแต่ที่รัฐบาลนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศ ดิฉันได้ประกาศที่จะใช้นโยบายอย่างชัดแจ้งว่าจะร่วมกันสร้างความปรองดองของคนในชาติโดย ยึดหลักนิติธรรม และต้องการให้กลไกอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยได้แก่นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เป็นไปโดยสมดุล ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ซึ่งเจตจำนงของรัฐบาลนั้นต้องการที่จะเห็นความปรองดอง ความสมานฉันท์ของคนในชาติอย่างไม่ลดละ จนในที่สุดเมื่อเร็วๆนี้ดิฉันก็ได้เสนอแนวทางในการสร้างเวทีปฏิรูปการเมืองร่วมกับทุกฝ่ายที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างและความเห็นที่หลากหลาย อันเป็นกลไกหนึ่งในหลาย ๆ กลไกที่หวังว่าจะร่วมสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ได้ ในขณะเดียวกัน ภายใต้กลไกที่สมดุลของอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยนั้น จะทำให้เห็นได้ในหลายๆเวลาว่าเมื่อฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างกฎหมายต่างๆหรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ในซีกของรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีก็มิได้ก้าวก่ายกลไกการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเลย จนกระทั่งดิฉันเองกลับถูกกล่าวหาว่าละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ด้วย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วดิฉันต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ สำหรับการที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันนั้นโดยข้อเท็จจริงแล้วในหลายประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองถึงขั้นรุนแรง มีการเสียชีวิตและการสูญเสียทรัพย์สินนั้น ก็มีการนิรโทษกรรมมาก่อนและเป็นบทเรียนที่ประเทศไทยต้องศึกษาและหลักของการนิรโทษกรรมนั้น ก็เป็นทางออกทางหนึ่งที่ควรพิจารณา เพราะหากทุกฝ่ายเรียนรู้ที่จะให้อภัยซึ่งกันและกันแล้ว ดิฉันเชื่อว่าความขัดแย้งย่อมลดลง ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา มีพี่น้องประชาชน จำนวนนับร้อยที่ต้องสูญเสียชีวิตและอีกหลายพันคนที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงที่มาจากความขัดแย้งที่มีต้นตอจากความคิดล้มล้างรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น การนิรโทษกรรมไม่ได้หมายความว่า ให้เราจะลืมบทเรียนอันเจ็บปวด เราทุกคนต้องเรียนรู้ ต้องเข้าใจเพื่อไม่ให้ลูกหลานของเราต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้อีก ขณะเดียวกัน ต้องร่วมมือกันให้ประเทศเดินหน้าได้ เราจะมาติดหล่มจนประเทศชาติต้องอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งต่อไปไม่ได้ และหากจะให้บ้านเมืองสงบ การให้อภัยนั้นต้องปราศจากอคติ ไม่ใช้อารมณ์ และเปิดใจกว้างให้ทุกฝ่ายของความขัดแย้ง มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งดิฉันเข้าใจดีว่าทำใจได้ยาก แต่เราต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าความเจ็บปวดส่วนตน มาถึงวันนี้ มีปัญหาว่าร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเสร็จแล้วนั้น ได้มีการนำเสนอสู่การพิจารณาของวุฒิสภาซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกลไกปกติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างหนัก จนเกิดข้อขัดแย้งของคนในชาติหลายกลุ่ม หลายสถาบัน แม้กระทั่งระหว่างพรรคการเมืองและภายในพรรคการเมืองด้วยกัน ตลอดจนประชาชนในหลายหมู่เหล่า อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ยังเห็นได้ว่ามีคนไทยหลายกลุ่มที่ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และยังไม่พร้อมที่จะให้อภัย ทั้งยังมีทีท่าที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ดิฉันไม่อยากเห็นการนำพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้เกิดข้อถกเถียงและมีการให้ข้อมูลที่สับสนและถูกบิดเบือน โดยมีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง การบิดเบือนนั้น ทำให้มีเกิดความเข้าใจผิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงิน เพราะหากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องลงนามรับรอง ซึ่งดิฉันไม่เคยลงนามใดๆ ที่สำคัญมีความพยายามที่จะบิดเบือนว่ากฎหมายจะกลบเกลื่อนการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ยกโทษให้ผู้ได้รับผลพวงทางการเมือง การรัฐประหารที่ไม่อยู่ในหลักนิติธรรม รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ดิฉันขอยืนยันว่า รัฐบาลนี้จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และจะไม่ใช้เสียงข้างมากมาฝืนความรู้สึกของประชาชนโดยเด็ดขาด เพราะรัฐบาลของดิฉันเป็นรัฐบาลของประชาชนทุกคน และย่อมต้องฟังเสียงทั้งที่สนับสนุนและเสียงคัดค้าน เป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้คือการสร้างความปรองดองและทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ภายใต้วิถีทางประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยใช้เหตุและผล ไม่ใช่การใช้อารมณ์ ภายใต้บรรยากาศของความขัดแย้งที่ปะทุอยู่นี้ รัฐบาลเห็นว่าทุกฝ่ายน่าที่จะหยุดคิด หยุดการกระทำที่จะสร้างความแตกแยกต่อไป ทั้งนี้ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากถือตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมาย อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ดิฉันจึงใคร่ขอเสนอให้วุฒิสภาโดยวุฒิสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากการแต่งตั้งและการเลือกตั้ง ทั้งจากกลุ่มเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลได้กรุณาใช้ดุลยพินิจอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าวุฒิสภานั้นไม่มีใครก้าวก่ายได้ ได้โปรดใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา โดยอาศัยพื้นฐานความปรองดอง ความเมตตาธรรมกับผู้ที่เดือดร้อนและผู้ที่เจ็บปวดมาเป็นเวลานานให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค ซึ่งการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และไม่ว่าวุฒิสภาจะตัดสินใจอย่างไร จะไม่เห็นด้วยและยับยั้งกฎหมาย หรือมีการแก้ไขก็ตาม ดิฉันเชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงคะแนนผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนั้นไปแล้ว จะยอมรับการตัดสินใจนั้นด้วยเหตุด้วยผลเพื่อความปรองดองของคนในชาติเช่นกัน ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดจะเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันเป็นเป้าหมายหลักที่เราต้องช่วยกันรักษาไว้ เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทยทุกคน สุดท้ายนี้ ดิฉันขอขอบคุณทุกฝ่ายได้ทำงานอย่างหนักในฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อสนับสนุนแนวทางปรองดอง ถือว่าทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว เพื่อประเทศชาติ และขอให้ใช้เวลาต่อจากนี้เป็นเวลาของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมกันคิดและร่วมกันตัดสินใจในการพิจารณาแนวทางเพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันโดยไม่มีอคติและไม่ใช้อารมณ์ ด้วยใจที่เปิดรับและเห็นอกเห็นใจอันเป็นพื้นฐานของความปรองดองที่ประชาชนคนไทยต้องการ

                                                                                     ขอบคุณค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น