วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

วิสาขบูชา Vesak Day วันสำคัญสากลของโลก

วันวิสาขบูชา องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 54 ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ 174 International recognition of the Day of Visak  ระบุว่า พระพุทธศาสนาเป็น ศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก ที่ได้หล่อหลอมจิตวิญญาณของมนุษยชาติมานาน ควรที่จะยกย่องกันทั่วโลก จึงประกาศให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลนานาชาติ (International Day)

สหประชาชาติตั้งวันวิสาขบูชา Vesak Day เป็นวันสำคัญสากลของโลก โดยการเสนอของประเทศศรีลังกา และมีมติเป็นเอกฉันท์ในที่ประชุมสมัชชาครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความ เมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยไม่คิดค่าตอบแทน ในการพิจารณาประธานสมัชชาฯ ครั้งนั้นได้เชิญผู้แทนจากประเทศศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย พม่า สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน เนปาล ปากีสถาน อินเดีย สเปนขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความได้ว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติอีกด้วย

วันวิสาขบูชาหรือ Vesak Day เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันวิสาขชบูชาคำว่า "วิสาขะ”นั้น เป็นภาษาบาลีแปลว่า เดือน 6 ส่วนในภาษาสันสกฤตเรียกว่า            " ไวศาขะ”  พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเรียกเป็นภาษาบาลีว่า วิสาขะ  วิสาขบูชาคือการบูชาในเดือน 6 ศรีลังกาเรียกว่า วีสัค หรือ เวสัค (Vesak) จนกลายเป็นชื่อภาษาอังกฤษติดปากว่า Vesak หรือ Vesak Day อีกทั้งองค์การสหประชาติประกาศยอมรับวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยใช้คำแทนวันวิสาขบูชาว่า Vesak ตามชาวศรีลังกา

ดวิสาขประทีปเพื่อทำการเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา Vesak Day

ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ แถบเอเชียอาคเนย์จะจัดฉลองในวันวิสาขบูชาหรือวันเพ็ญกลางเดือน 6 คือ เดือนวิสาขะ แต่ในประเทศอื่นที่เป็นนิกายมหายาน เช่น ญี่ปุ่น จะไม่ฉลองวันวิสาขบูชาในเดือน 6  เพราะวันวิสาขบูชาของนิกายมหายานตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน 8 ประเทศญี่ปุ่นกำหนดวันวิสาขบูชาตรงกับวันที่ 8 เมษายนของทุกปีปฏิทินสุริยคติ บางนิกายในบางประเทศไม่ได้กำหนดวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าในวันเดียวกัน ประเทศที่นับถือมหายานถือว่าพระพุทธเจ้าประสูติวันหนึ่ง ตรัสรู้วันหนึ่ง และปรินิพพานอีกวันหนึ่ง เช่นประสูติวันที่ 8 เมษายน ตรัสรู้วันที่ 8 ธันวาคม และปรินิพพานวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เราจึงเห็นได้ว่าในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามหายาน จะถือเอาวันสำคัญที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแตกต่างกันออกไป




สุภาวดี อัมไพพันธ์
ส.ปชส.มุกดาหาร/รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น