วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จังหวัดสุรินทร์ประกอบพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวัน วันปิยมหาราช

พสกนิกรทุกหมู่เหล่าชาวจังหวัดสุรินทร์ เป็นจำนวนมากร่วมในพิธีวางพวงมาลา ราชสดุดีเนื่องในวันปิยมหาราช

วันนี้ 23 ต.ค. 2556 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นำคณะส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคม องค์กร ชมรม มูลนิธิ นักเรียน นักศึกษา กลุ่มพลังมวลชน ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ร่วมประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช และกล่าวถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติฯ ที่บริเวณราชาอนุสาวรีย์หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ เนื่องในวันปิยมหาราช ทั้งนี้สืบเนื่องจากวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทุกปีจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง ด้านการปกครอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่าง ๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะไม่ก้าวก่ายกัน การสาธารณูปโภค ทรงให้กักเก็บน้ำจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จ.ปทุมธานี และขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2452

การคมนาคม วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์เพื่อประเดิมการสร้างทางรถไฟไปนครราชสีมา แต่ทรงเปิดทางรถไฟกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาก่อน จึงนับว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทย การสาธารณสุข เนื่องจากการรักษาแบบยากลางบ้านนี้ล้าสมัยไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงพยาบาล ณ บริเวณริมคลองบางกอกน้อย และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200 ชั่ง โรงพยาบาลแห่งนี้เปิดทำการรักษาประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ.2431 และใช้ชื่อโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลศิริราช" การไฟฟ้า พระองค์ทรงมอบหมายให้ กรมหมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่งานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2433

การศึกษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ขยายการศึกษา ในปี พ.ศ.2414 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นภายในพระบรมมหาราชวังโดยมีท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนอีกแห่งซึ่งสอนภาษาอังกฤษมีนาย ยอซ แปตเตอร์สัน เป็นอาจารย์ใหญ่ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงเรียนหลวงอีกหลายแห่ง โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่สร้างขึ้นในวัดคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม

ในปี พ.ศ.2427 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร เขียนตำราเรียนขึ้นมา เรียกว่า แบบเรียนหลวง 6 เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาห์นิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าผู้หญิงก็สมควรที่จะได้รับความรู้เช่นเดียวกับผู้ชาย ในปี พ.ศ.2444 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนสตรีขึ้น โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่ตั้งขึ้น คือ โรงเรียนบำรุงสตรีวิทยา การปกป้องประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น